Revolutionary Press Agency : Online Journal and News Agency for Peace
สำนักสื่อปฏิวัติ  : วารสารข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
8 มิ.ย. 2554 กองหน้าประชาชนรุ่นใหม่ อนุสรณ์ สมอ่อน ตอบคำถามคาใจทำไมต้องปฏิวัติประชาธิปไตย? 
ความจริงของสถานการณ์
- ตอน ๑ -

เขียนโดย นางแก้ว
เผยแพร่ครั้งแรก ๒๓ ต.ค.๒๕๕๑ 
 
 
 “ การประกาศยื้อเกมใหม่ของขบวนการแนวร่วมและการใช้พลังสันติทางยุทธวิธีเป็นเพียงของปลอม”
 
     
        เช้าของวันที่ 21 ตุลาคม 2551  ศาลพิพากษาตัดสินคดีที่ดินรัชดาของทักษิณ ชินวัตรว่ามีความผิดจริงและต้องโทษระวางจำคุก 2 ปี    ส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาต่างๆกันไป   ในส่วนของนปก.อาจเคียดแค้น  ส่วนของพันธมิตรนั้นแสดงออกถึงความสะใจ พอใจ ถึงขั้นทับถมแบบ “ ล้มแล้วยังซ้ำ”   ข้อเท็จจริงที่มิอาจปฏิเสธคือ ไม่ว่าผู้ปราศรัยบนเวทีจะอ้างอย่างไรก็แล้วแต่ว่าพวกเขาไม่ซ้ำเติมคน มีจิตใจเป็นธรรมแต่คำพูดของพวกเขาสะท้อน “วจีกรรม” ยุคใหม่ที่ขัดแย้งอย่างยิ่งกับการกระทำ  คือพูดว่าไม่ทำแต่กลับทำเดี๋ยวนั้นให้ดู   เช่นนี้แล้ว ย่อมไม่ใช่วิถีของผู้ใฝ่สันติอหิงสาจริงเพราะไม่สามารถปฏิบัติธรรมได้จริงเลย

         คนไทยเองอาจไม่เคยสังเกตเลยว่าสังคมไทยมีต้นทุนทางสังคมภราดรภาพสันติสูงกว่าชาติตะวันตกมาก ซึ่งเป็นทุนรอนดั้งเดิมของสังคมที่ได้บ่มเพาะมาจากวัฒนธรรมชาวพุทธที่รู้จักการให้อภัย   ไม่อาฆาตมาดร้าย  รู้จักการผ่อนปรน เพราะเชื่อเรื่องศาสตร์ของการชดใช้กรรม   และการไม่จองเวร สรุปออกมาเป็นคำพูดว่า “สุดแต่เวรแต่กรรม”   
     
          ดังนั้นรูปแบบการชุมนุมของพันธมิตรและผลสะท้อนที่ออกมาทำให้คนไทยจำนวนมากต้องหยุดพิจารณา ฉุกคิดและทบทวนกันมากขึ้นถึงการมีส่วนร่วมทางหนึ่งทางใดว่าที่ดำเนินอยู่นั้นถูกต้องเหมาะสมอย่างไร   มีคำถามอย่างมากต่อบทบาทของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและการแสดงออกบนเวทีและนอกเวทีตามที่ปรากฏเป็นข่าวนั้น สอดคล้องกับต้นทุนเดิมทางวัฒนธรรมของคนไทยหรือไม่  
 
           อหิงสาจริงหรืออหิงสาปลอม ?                  
 
          บทความของหมอประเวศ วะสีเรื่องอนาคตประเทศไทยในไทยโพสต์ฉบับวันที่ 21 ตุลาคม กล่าวยกย่องถึงบทบาทของสันติอโศกในฐานะผู้ “เคี่ยวกรำ” สันติอหิงสาและช่วยชะลอความรุนแรงให้กับพันธมิตรนั้น  ขบวนฯกลับเห็นตรงข้ามว่า  แท้จริงสันติอโศกภายใต้การนำของสมณะ โพธิรักษ์ผ่านลีลาของสมณะจันทร์เป็นความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงของการต่อสู้แบบอหิงสา  การต่อสู้แบบสันติอหิงสาพุทธ เป็นการต่อสู้ที่สูงส่งของนักปฏิบัติธรรม  (อ่านเพิ่มเติมไฟล์แนบเรื่อง “การต่อสู้แบบพุทธอหิงสาคืออะไร” ) พึ่งพาบทบาทการนำทางจิตวิญญาณอย่างมาก  เพราะถ้าหากนำทางจิตวิญญาณได้ตั้งแต่ต้นแล้ว  สันติอหิงสาด้วยการแสดงอออกทั้งทางกาย วาจา ใจ จะไม่ส่อเค้ารุนแรงถึงขั้นนั้น  ผลที่ได้จะต่างกัน  การสร้างวจีกรรม การส่อเสียด ความรุนแรง อาฆาตมาดร้ายเอาคืนจนถึงขั้นนำสู่การต่อสู้และสูญเสียชีวิต  เป็นผลมาจากเหตุที่ผิดอย่างแท้จริง  

             ข้อเท็จจริงคือวัฒนธรรมม็อบพันธมิตรที่มีมือตบเป็นสัญลักษณ์ได้ครอบงำธรรมะบนเวทีไว้ได้หมดสิ้น    ไม่ว่าจะเป็นพิธีกรที่จัดร่วมกับสมณะจันทร์เอง ที่บุคลิกภาพเปลี่ยนแบบฉับพลัน ได้แปลงร่างนำแนวทางการปราศรัยของผู้นำม็อบไปใส่บุคลิกของตนเองหมดแล้ว ทั้งนำเสียงและลีลา 
 
              ดูเหมือนกับว่าการวัดความสำเร็จของนักพูดบนเวที “ม็อบพันธมิตร 24 ชั่วโมง”  ถ้าไม่จบด้วยการปรบมือหรือการขานรับของคนฟังดูจะทำให้ผู้พูดไม่ประสบความสำเร็จ ในการประคองอารมณ์ร่วมของม็อบไว้ให้คงระดับเดิม  จากนักพูดคนที่หนึ่งไปสู่นักพูดคนที่สองตั้งแต่เช้ายันค่ำกลางดึกและสว่าง   รูปแบบม็อบล้อมกรอบให้คนพูดไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย ต่างคาดหวังปฏิกิริยาพอใจ สะใจ เห็นพ้อง เอาด้วย สู้ด้วย เมื่อพวกเขาพูดจบประโยคลงด้วยเสียงก้องดังผ่านการลากเสียงยาวๆ ท้ายประโยคหรือตะโกนกึกก้องไปไกล 

               วัฒนธรรมม็อบอิสซึ่ม( Mobism Culture ) มิได้นำไปสู่การเมืองใหม่ได้จริง  เป็นเพียง “ ภาพมายา ” ของการต่อสู้    และถึงแม้ในบทความจะอธิบายถึงการต่อสู้และการตีความ “ประชาธิปไตย” ต่างกันจึงนำมาสู่การต่อสู้ห้ำหั่นกันนั้น แต่ในข้อเท็จจริงทั้งพันธมิตรและนปช.มิเคยสะท้อนให้เห็นว่าทั้งคู่เข้าใจถึงอุดมการณ์ของลัทธิประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหนเพียงไร  หรืออย่างน้อยได้สะท้อนความพยายามที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่เพื่อให้ “ลุถึง” สิ่งที่ต้องการนอกจากแสดงทัศนะประหนึ่งว่าประชาธิปไตยที่พวกเขาจะสร้างนั้นคิดฝันเอาเองได้โดยไม่ต้องอาศัยวิชาความรู้มากมาย   
 
              ผลของม็อบพันธมิตร 24 ชั่วโมง
 
           ดังได้กล่าวในตอนที่แล้วว่า พลังสันติที่ก่อรูปขึ้นหลังการเสียชีวิตของอังคณาหนึ่งในพันธมิตรนั้นสะท้อนอุปนิสัยของคนไทยที่ไม่นิยมความรุนแรงและใฝ่สันติ  แต่ในงานพระราชทานเพลิงศพของอังคณา นอกจากการโห่ขับไล่ผบทบ.อนุพงศ์ เผ่าจินดาแล้วมวลชนชายวัยฉกรรจ์กลุ่มหนึ่งในนามการ์ดของพันธมิตรก็ยังรุมทำร้ายร่างกายสมาชิกของขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติคือคุณวิชาญ ทับซ้อนในชุดขาวปฏิบัติธรรมที่นำเอกสาร “ ข้อมติอหิงสาพุทธ” ไปแจกจ่าย     เหตุการณ์ทั้งสองอย่างเกิดขึ้นในงานศพพระราชทานอังทรงเกียรติ  สมกับเกียรติภูมิของผู้ตาย   ทว่า...การกระทำของพันธมิตรฯกลุ่มนี้ กลับสะท้อนสภาพจิตใจอันตกต่ำราวสัตว์ร้ายที่บาดเจ็บและใช้ “สัญชาตญาณ” (Instinct) ในการดำรงอยู่  มิใช่ “ญาณทัศนะ” (Intuition)ของผู้เจริญแล้วด้วยปัญญา   เฉกเช่นสมาชิกพันธมิตรฯที่อ้างอหิงสา มาโดยตลอด (อ่านเพิ่มเติมไฟล์แนบเรื่อง “การต่อสู้แบบพุทธอหิงสาคืออะไร” ) 

              โดยข้อเท็จจริงแล้วผู้ใฝ่สันติทั้งประเทศหวังจะแสดงการเคารพศพเพราะความเศร้าใจแทนครอบครัวผู้เสียชีวิต  ไม่ว่าฝ่ายไหนหากเข้าร่วมด้วยความบริสุทธิ์ใจประสงค์ที่จะส่งดวงวิญญาณให้ผู้ตายทั้งสิ้น   ในทางตรงกันข้ามใครก็แล้วแต่หากใช้งานศพและความอาลัยผู้เสียชีวิตเป็นเครื่องมือเคลื่อนไหวทางการเมืองของผู้ “เล่นเกม ”  ด้วยการสร้างกรรมหมู่ต่อกลับเป็นสิ่งเลวร้ายกว่า   หากการเล่นเกมนั้นนำไปสู่เกมทางการเมืองที่รุนแรงยิ่งขึ้นไปอีกก็เท่ากับว่า  คนกลุ่มนั้นกำลังก่อ    “ อนันตริยกรรมทางจิตวิญญาณ ”  ต่อทั้งเพื่อนมนุษย์และจิตวิญญาณผู้ล่วงลับ   หากการนำทางจิตวิญญาณของสันติอโศกสำเร็จจริง จะต้องเปลี่ยนให้พันธมิตรฯเป็นผู้มีจิตใจกว้างขวาง มีทัศนะเปิดกว้าง   และจะต้องให้อนุสติสมาชิกพันธมิตรฯได้ว่าการทำลายผู้อื่นไม่ว่าทางกายกรรมหรือวจีกรรม  เป็นการไม่เคารพผู้ตาย การปล่อยละเลยให้เกิดการทำร้ายทำลายกันต่อเนื่องในทุกสถานที่เช่นนี้เป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของ “อหิงสา” พันธมิตรลงอย่างสิ้นเชิงไปเรียบร้อยแล้ว  

           อหิงสาจริงต่อสู้ด้วยความรักเป็นกุศลจิต 
          อหิงสาปลอมสู้ด้วยความโกรธเป็นอกุศลจิต
 
           จดมุ่งหมายของการต่อสู้ด้วยอหิงสาคือการต่อสู้ เหนี่ยวนำไปสู่การชำระจิตใจของผู้ต่อสู้   คือใช้เงื่อนไขการต่อสู้เป็นการปฏิบัติธรรม   การที่จิตไม่ถูกกระทบด้วยสิ่งปลุกเร้าต่างๆ   ไม่ถูกกระทบด้วยวจีกรรม (ด่าทอ) ไม่ไหวติงหากถูกกระทบด้วยกายกรรม (การทุบตี)  ไม่ถูกกระทบด้วยมโนกรรม (ไม่คิดอกุศล)   

              การต่อสู้ด้วยอหิงสาพุทธเป็นการสู้จากจิตภายในที่พัฒนาแล้ว  หรือกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา คือเป็นการต่อสู้ระหว่างจิตอกุศลและจิตกุศล    การระงับความโกรธได้คือชัยชนะ การระงับความเคียดแค้นคือชัยชนะขั้นต่อไป  การระงับการจองเวรได้ การระงับความขุ่นมัวในจิตได้  นำสู่การยุติของจิตด้านมืดสู่จิตด้านสว่าง  เห็นด้วยปัญญาเพราะเข้าใจสถานการณ์  มีสติรู้ชัดก็จะตามด้วยปัญญามิใช่ตามด้วยอารมณ์   นำสู่การวางเฉย  ด้วยจิตที่ปราศจากการปรุงจนเข้าใจสิ่งต่างๆรวมทั้งสถานการณ์ด้วยใจที่เป็นกลาง  เมื่อจิตยกระดับแล้ว  มีความละเอียดประณีตพอแล้ว จึงจะปรากฏความสลด สังเวชต่อเงื่อนไขรุมเร้าต่างๆ จนถึงขั้นประจักษ์แจ้งในเหตุที่มา  เกิดเวทนา จนถึงขั้นเผื่อแผ่ความรักความเมตตาได้  นั่นจึงจะเป็นการสู่ด้วยสันติอหิงสาที่สำเร็จด้วยจิตได้จริง (อ่านไฟล์แนบ_การต่อสู้แบบอหิงสาพุทธคืออะไร)
 
            การต่อสู้ด้วยความรัก ความเข้าใจในเพื่อนมนุษย์ มิใช่การต่อสู้เพื่อเอาชนะ  แต่เป็นการต่อสู้ที่เหนี่ยวนำจิตใจผู้ร่วมต่อสู้ไปสู่ภาวะจิตที่สูงขึ้น  เป็นครรลองการพัฒนาของจิตแต่ละขั้นตอน  มิใช่พากันฉุดรั้งให้จิตตกต่ำ หม่นหมอง อ่อนแอ และพ่ายแพ้ในที่สุด

           จริงอยู่ว่าในระหว่างการต่อสู้นั้นผู้เข้าต่อสู้อาจเพลี่ยงพล้ำต่อศัตรู  ด้วยจิตดวงที่ต่ำกว่า มีอกุศลมากกว่า  แต่จิตก็พัฒนาได้  ยกระดับได้  และเป็นกระบวนการเรียนรู้ของนักสู้ทุกคนที่ต้องพัฒนาจิตด้วยตัวเอง 
          ดังนั้นขบวนฯจึงได้เสนอมาตลอดว่าการนำทางจิตวิญญาณจึงมีความสำคัญมากต่อการต่อสู้เช่นนี้  การนำทางจิตวิญญาณด้วยสันติอหิงสานั้นคือการปฏิบัติธรรมอย่างเข้มข้นทุกขณะจิตที่เผชิญต่อศัตรู    ในขบวนต่อสู้ที่ใช้พลังสันติเป็นพลานุภาพในการขับเคลื่อนนั้นจำเป็นต้องมีการนำทางจิตวิญญาณที่เข้มแข็ง    นำพาให้ผู้ต่อสู้แบบอหิงสาได้มีกิจกรรมอันเป็น “ กุศลมูล ”  สำหรับเป็นแรงจูงใจ  มิใช่กิจกรรมแบบ “ อกุศลมูล ”    เพราะนั่นคือขั้นตอนในการแยกแยะว่าจิตดวงที่ใช้ดำเนินกิจกรรมต่างๆเป็นจิตกุศลหรือจิตอกุศล     อาทิ การนั่งสมาธิผจญการด่าทอด้วยคำผรุสวาท  การขว้างปาข้าวของจากฝ่ายตรงข้าม  ผู้ปฏิบัติการอหิงสาจะต้องกำหนดจิตให้ถูกต้อง รู้ทั้งนอกรู้ทั้งใน  คือรู้ว่าเกิดสิ่งใดบ้างรอบตัว และรู้ภายในจิตว่าจิต ไม่มีความเคียดแค้น ทุนรนทุรายไปกับคำด่าทอหรือกิริยาเช่นนั้น

          จึงมิได้เป็นการกล่าวอย่างเกินเลยแต่อย่างใดว่าการต่อสู้แบบอหิงสาพุทธนั้น เป็นการปฏิบัติธรรมขั้นสูง  ต้องอาศัยผู้ที่ฝึกฝนมา  การนำเช่นนี้หากผู้นำเข้าไม่ถึงอุดมการณ์ ไม่เข้าใจธรรม ปฏิบัติไม่ได้แล้วละก็ จะไม่สามารถทำสำเร็จได้จริง    

            การต่อสู้ด้วยอาวุธที่เท่าเทียมกันระหว่างแนวร่วมนปช.VSแนวร่วมพันธมิตร
 
            ปรากฏการณ์การนำพระสงฆ์จำนวนนับหมื่นรูปออกมาทำพิธีกรรมสงฆ์โดยพล ต อ.สล้าง บุนนาคที่ลานพระรูปทรงม้านั้นเป็นการฉุกคิดได้หรือว่าเป็นเพียงความต้องการเอาชนะฝ่ายพันธมิตร  หลังการหยุดชะงักไม่นำกองทัพตำรวจไปยึดทำเนียบรัฐบาลคืนจากพันธมิตรมาสู่ขั้นตอนนำพระสงฆ์ออกมาปฏิบัติกิจสงฆ์ที่บริเวณลานพระรูปทรงม้าแทน  จังหวะและเวลาก็คือหลังการพิพากษาคดีทักษิณ ชินวัตรในวันที่ 21 ตุลาคมหนึ่งวัน 

             เกิดปรากฏการณ์ฝนฟ้าคะนองฉับพลันในระหว่างพิธีกรรม   พระสยามเทวาธิราช เทวดาอารักษ์ พระเสื้อเมือง พระทรงเมืองทรงเป็นพยาน  หากพลังบริสุทธิ์นั้นจะกลายเป็นดุลสำคัญในการเปลี่ยนแปลงประเทศชาติ แต่หากจะถูกใช้เป็นเพียงเครื่องมือสร้างความชอบธรรมเพื่อเอาชนะกันแล้ว ธรรมชาติจะสำแดงศักดาให้ปรากฏ   ไม่ต่างกันเลยกับเหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลันในวันที่ลูกเห็บตกที่ทำเนียบรัฐบาลฉันใด ฉันนั้น
 
             ระหว่างพิธีกรรมพล ต.อ.สล้างได้แจ้งข่าวบอกสื่อมวลชนถึงแผนการของเขาที่จะทำการล้อมทำเนียบในอีกสามวันข้างหน้าเพื่อตัดเสบียงกรังพันธมิตรภายในบริเวณทำเนียบ  โดยอ้างว่าไม่ใช่วิธีการรุนแรงและมิได้ระบุชัดว่ากำลังที่จะมาล้อมนั้นจะเป็นกำลังมาจากไหน    พล ต.อ. สล้างในชุดเสื้อขาวกางเกงดำระหว่างยืนให้ข่าวกับจำนวนคนรายล้อมในเครื่องแต่งกายสองสีเหมือนกัน  ในพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์กำลังแสดงความชอบธรรมในการประกาศแผนการผ่านพิธีสงฆ์ที่จัดมาเบ็ดเสร็จโดยรัฐบาลสมชาย   

            เป็นที่แน่ชัดว่าการประกาศเกมใหม่กำลังเกิดขึ้นแล้วเพื่อยื้อให้เกมนี้จบช้าลงกว่าเดิม  คือการทำให้ม็อบพันธมิตรมีเงื่อนไขเคลื่อนการต่อสู้ต่อไป  โดยมีพล ต.อ. สล้างในฐานะแม่ทัพอาสาปราบม็อบเป็นภารกิจพิเศษ
 
            หากเทียบการต่อสู้กันแล้ว แนวร่วมพันธมิตรได้ใช้สถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเครื่องมือแสดงความชอบธรรมในการเคลื่อนไหวด้วยการประกาศว่าสถาบันฯ(สมเด็จพระบรมราชินีนาถ) อยู่ฝ่ายตนและพวกเขาในฐานะทหารเสือพระราชินีพร้อมจะต่อสู้พิทักษ์ราชบัลลังก์    บัดนี้แนวร่วมนปช.กำลังจะใช้อาวุธที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือ สถาบันสงฆ์เป็นเครื่องมือในการต่อสู้   ด้วยการระดมนิมนต์ (สั่ง) ให้พระสงฆ์รุดเข้ากรุงเพื่อทำพิธีสวดมนต์

             ขบวนฯ จึงจำเป็นต้องอธิบายถึงเหตุที่มาของปรากฏการณ์เช่นนี้ให้ครบสมบูรณ์ในจุดมุ่งหมายที่ซ่อนแอบมาอย่างแท้จริง   ดังนั้นเพื่อเป็นการปกป้องสถาบันสงฆ์อันเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันศาสนา ขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติ  ได้นำเอกสารชิ้นสำคัญคือ “ ข้อมติอหิงสาพุทธ ” เพื่อนำไปเผยแผ่ที่มหามงกุฎราชวิทยาลัย และมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย   เพื่อชี้แจงให้เข้าใจตรงกันว่าข้อมติอหิงสาพุทธคืออะไร  การนำพระสงฆ์ออกมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองแบบผิดๆ  เป็นเพียงอีก “ภาพมายาหนึ่ง” ของนักตบตา เล่นเกมทางการเมืองของรัฐบาลสมชายประกาศการปราบม็อบพันธมิตรใหม่ภายใต้การนำของพล ต. อ.สล้าง บุนนาค ที่ได้รับมอบหมายมาเป็นการพิเศษ
 
            ลัทธิความรุนแรงซ่อนแอบอยู่ในสถาบันการศึกษาของพระสงฆ์
 
            แท้จริงการทำแนวร่วมคอมมิวนิสต์พระสงฆ์เกิดขึ้นมานานแล้วในสถาบันการศึกษาของพระสงฆ์ทั้งสองสถาบัน     คือมหามกุฎราชวิทยาลัยและมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  สิ่งที่สะท้อนชัดมากก็คือการเป็นผู้ฝักใฝ่ศาสนาแบบตกขอบ   ทั้งสองสถาบันนี่เองที่เป็นแหล่งกระจายเอกสารยั่วยุความเกลียดชังระหว่างชาวไทยพุทธและมุสลิมอย่างเปิดเผย (ซึ่งจะอธิบายในตอนต่อไป)   โดยอาจารย์พระสงฆ์ที่กลายเป็นแนวร่วมมุมกลับโดยไม่รู้ตัว
            
       การตกเป็นกำลังของฝ่ายทำแนวร่วมนั้นปรากฏชัด ด้วยการปลุกปั่นพระสงฆ์ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องพุทธศาสนาในรัฐธรรมนูญ จนทำให้เกิดปรากฏการณ์พระบุกสภาขึ้นเมื่อปี 2550  โดยมีขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติเคลื่อนพระสงฆ์ฝ่ายสันติเข้าไปสกัดแผนร้ายได้ทันท่วงที    เกิดการชิงการนำกันขึ้นระหว่างพระสงฆ์สองฝ่ายในสองฟากถนนหน้ารัฐสภา  ขบวนฯในฐานะผู้ขับเคลื่อนแนวทางสันติได้ทำวารสารพิเศษชื่อรัฐสภาวนารามขึ้นมาเพื่อใช้อธิบายแนวทางสันติ  ต่อสู้กับการครอบงำพระสงฆ์ฝ่ายรุนแรงผ่านการนำของพระมหาโช ทัศนีโยผ่านรายการวิทยุสถานี FM 88.75
  
           การเคลื่อนไหวแนวรุนแรงกระทำผ่านเครือข่ายองค์กรชาวพุทธ ๗ องค์กรโดยมีพล อ.ธงชัย เกื้อสกุลเป็นประธาน   การต่อสู้หน้าสภานำมาซึ่งการรวมตัวของชาวพุทธที่มีทัศนะต่างกัน ทั้งฝ่ายเข้าร่วมและฝ่ายคัดค้าน การปักหลักหน้าสภาฯใช้เวลาประมาณสี่เดือนเต็ม  ทำให้ขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติได้มีโอกาสร่วมงานกับพระนักสู้แนวสันติเพิ่มขึ้นอีกหลายรูปและส่งผลต่อเนื่องโยงใยไปถึงการประกาศแนวทางสันติที่เขาพระวิหาร           

          ปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวของพระสงฆ์ผ่านหลายองค์กร นำมาถึงเหตุการณ์พระมหาโช ทัศนีโย นำพระสงฆ์ที่จัดตั้งมาจากวัดธรรมกายเข้าบุกสภา   ขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติได้ทำการเคลื่อนไหวประกบในนาม “รัฐสภาวนาราม” ภายใต้การนำของพระราชปัญญาเมธีในช่วงต้นและสู่การนำในช่วงที่สองโดยพระมหาบุญถึง ชุตินฺธโร (ประธานรัฐสภาวนารามและประธานสภาธรรมาธิปไตยคนปัจจุบัน)   ใช้การเจริญมนต์แบบสันติต่อสู้กับความรุนแรงระหว่างที่พระมหาโชใช้เครื่องเสียงอีกด้านหนึ่งของริมถนนระดมพระให้ไปออกันที่บริเวณประตูทางเข้า เพื่อทำการบุก    ระหว่างความชุลมุนนั้นก็เกิดการประทุษร้ายทางวาจาขึ้นจากพระปลอมกลุ่มหนึ่งที่เผยโฉมความรุนแรงออกมาด้วยการกระทำต่อแกนนำคนสำคัญคืออ.สมาน ศรีงาม ถึงขั้นพร้อมทำร้ายร่างกาย      เรื่องจบลงได้ด้วยบารมีธรรมของพระมหาบุญถึง ชุตินฺธโรที่ได้ทำการยุติการบุกสภาของพระสงฆ์ทั้งจริงและพระปลอมกลุ่มหนึ่งสำเร็จด้วยตาลปัตรหนึ่งอัน  โดยมีพระราชปัญญาเมธีนำสวดมนต์   

         เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ขบวนฯได้ยุติความรุนแรงและความเสื่อมเสียที่จะเกิดขึ้นกับสถาบันสงฆ์หรือสถาบันศาสนาได้เป็นผลสำเร็จอีกครั้งหนึ่ง  ไม่อาจคาดเดาได้ว่าหากมีการนำพระบุกสภาสำเร็จสถาบันศาสนาและพระสงฆ์ไทยจะได้รับความเสื่อมเสียถึงขั้นไหนในสายตาชาวโลก

       จะเห็นว่าแนวสันติได้ขับเคลื่อนต่อกรกับการทำงานฝ่ายรุนแรงที่แอบซ่อนอยู่กับสถาบันศาสนามาช้านาน และเช่นกัน  การเคลื่อนพระสงฆ์ไปใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมของทุกฝ่าย และนี่เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการต่อสู้กันอย่างเป็นรูปธรรมของแนวสันติและแนวรุนแรงที่ซ่อนแอบมากับสถาบันสงฆ์
 
 
                 บทบาทของสถาบันฯในฐานะพลังสันติถ่วงดุลกับแนวทางรุนแรงมาตลอด 76 ปี
 
         ดังที่ได้อธิบายในเมล์ฉบับก่อนว่า  สถาบันพระมหากษัตริย์นั้นยึดแนวทางสันติมาโดยตลอด   หากไม่ยึดแนวทางสันติโดยใช้ขันติบารมีอย่างยิ่งแล้ว  ประเทศไทยอาจมิได้มีสภาพเช่นนี้  อาจตกอับมากกว่าเท่าที่ปรากฎในปัจจุบัน

            เมื่อพูดถึงบทบาทของสถาบันในฐานะผู้ใฝ่สันติแล้ว  ยังต้องพูดถึงบทบาทสถาบันกับผลประโยชน์ชาติด้วย  ความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ของคนต่างกลุ่มนั่นเอง ที่นำประเทศไทยสู่ความรุนแรง   กรณีการสวรรคตของพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลรัชกาลที่ 8 นั้นเป็นกรณีหนึ่งสะท้อนความรุนแรงของการขึ้นสู่อำนาจ

          ในทัศนะนี้จะเห็นว่าแนวทางสันติกับผลประโยชน์ชาติสวนทางกับผลประโยชน์ของคนส่วนน้อยที่กระทำความรุนแรง  การสร้างเงื่อนไขของความรุนแรงสะท้อนได้หลายทาง  แต่สูงสุดของความรุนแรงคือการคร่าเอาชีวิตคน  เป็นอย่างนี้ทุกครั้งไปในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ  ประเทศไทยก็ไม่พ้นเงื่อนไขนี้เช่นกัน

           เป็นเรื่องยากที่จะบิดเบือนว่าสถาบันฯใช้ความรุนแรงเป็น “มือที่สาม” เบื้องหลังการเมืองของสถาบัน ฯ เหตุเพราะว่าย้อนหลังกลับไปในอดีต    ประเทศไทยได้เผชิญความรุนแรงถึงขั้นสูญเสียชีวิตพระมหากษัตริย์ไปแล้วหนึ่งพระองค์    สถาบันฯย่อมเรียนรู้ที่จะดำรงอยู่ภายใต้เงื่อนไข “ ความเป็นไปได้ในการก่อความรุนแรง ”  มาตลอดระยะเวลาที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันขึ้นครองราชย์ในเป็นเวลากว่า 60 ปี    ทรงดำรงอยู่ภายใต้คลื่นใต้น้ำที่พร้อมโหมกระพือเป็นคลื่นยักษ์ได้ทุกเมื่อ    พระองค์ทรงบำเพ็ญภายใต้แนวทางแห่งทศพิธราชธรรมและใช้พลังสันติเข้าสู้มาโดยตลอด   พลังสันติสำแดงตนเองแล้วต่อชาวโลกเมื่อเกิดปรากฏการณ์คนเสื้อเหลืองในปี 2549 พิสูจน์บารมีธรรมท่ามกลางสายตาประชาคมโลก 

            ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่ต้องจารึกไว้ก็คือหลายต่อหลายครั้งพระองค์ทรงมีบทบาทสำคัญที่สุดคือการยุติความรุนแรงของกลุ่มผลประโยชน์หลายฝ่าย  เช่นกรณีพฤษภาทมิฬเป็นต้น  กรณีตุลาวิปโยคนั้น ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าสถาบันฯ ให้ความร่วมมือกับฝ่ายขวาจัด ทำหน้าที่เข่นฆ่าชีวิตนักศึกษาจำนวนมา  จนทำให้อดีตนักศึกษาหลายคนที่กลายเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองฝ่ายซ้ายแสดงอาฆาตมาดร้ายมาจนปัจจุบัน

           คนไทยอาจลืมง่าย เรื่องนี้จำต้องบอกเล่าขยายผลข้อเท็จจริงต่อถึงขบวนการแนวร่วมคอมมิวนิสต์ที่ฝังตัวอยู่ในทุกภาคส่วนของสังคม  ผู้ที่สะท้อนความเป็นผู้จงรักภักดีต่อสถาบันฯด้วยความชิงชังต่อฝ่ายซ้ายมักตกเป็นแนวร่วมมุมกลับได้เสมอ  กลุ่มคนที่มีทัศนะขวาจัดก็กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการเข่นฆ่าได้เช่นกัน  เหตุการณ์ปี 2516  และ 2519    จึงเป็นเหตุการณ์สะท้อนความสำเร็จของขบวนการแนวร่วมในการสร้างเงื่อนไขก่อความรุนแรงสู่การก่อจลาจลได้สำเร็จ  และนำประเทศไทยก้าวเข้าสู่ภาวะสงคราม    นักศึกษาจำนวนมากหนีเข้าป่าและเข้าร่วมรบกับกองทัพแดง 

             ภาวะสงครามห้ำหั่นกันด้วยอาวุธนั้นมายุติลงในปี 2523 ด้วยนโยบาย 66/23 หรือคำสั่งนายกรัฐมนตรีฉบับที่ 66 ออกในวันที่ 23 เมษายน พ.ศ.2523  เป็นนโยบายที่ใช้หลักพุทธศาสนามาประยุกต์เข้ากับแนวทางด้วยการกำหนด “ไม่ฆ่า ไม่ด่า ไม่จับ” และเปิดโอกาสให้ผู้หลงผิดออกจากป่ามาเป็น “ ผู้ร่วมพัฒนาชาติ ” อย่างมีเกียรติ   นั่นคือหลักการของ    “ อหิงสา อโหสิ” นั่นเอง   เป็นอีกครั้งหนึ่งที่แนวทางสันตินำมาใช้ยุติความรุนแรงได้อีกครั้งหนึ่งผ่านการกำหนด “นโยบายชาติ”  หรือนโยบาย 66/23ที่นำมาปฏิบัติเสร็จเพียงครึ่งเดียว (อ่านเพิ่มเติมไฟล์แนบ_กระทู้Manager Radio_จลาจลหน้าบ้านป๋าเปรมสะท้อนอะไรบ้าง)
 
 
               ถิ่นกาขาวไม่ใช่ครึ่งดำครึ่งขาว                 
    
           จะเห็นว่าทั้งสองสถาบันคือสถาบันพระมหากษัตริย์(ผ่านสมเด็จพระบรมราชินี) และสถาบันศาสนา (ผ่านพระสงฆ์กลุ่มหนึ่ง)  กำลังถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือของการเคลื่อนไหวเผชิญหน้ากันของทั้งสองฝ่าย   สะท้อนให้เห็นว่าสองในสามสถาบันอันศักดิ์สิทธิ์ที่คนไทยต้องช่วยกันธำรงไว้ กำลังอยู่ในสภาวะไม่มั่นคง   หรืออีกนัยหนึ่งปรากฏการณ์นี้กำลังสะท้อนปัญหาความมั่นคงของชาติ  ไม่ต่างจากปัญหาความมั่นคงของอธิปไตยดินแดนในกรณีเขาพระวิหารเลยทีเดียว

             สังคมไทยเต็มไปด้วยการตบตาหลอกลวงกันเอง ว่าขาวคือดำ ว่าดำคือขาว อ้างอิงยกย่องกันโดยปราศจากผู้รู้และการลงมือกระทำให้บังเกิดได้จริง  แนวทางอหิงสาเป็นแนวทางสูงส่งสำหรับนักปฏิบัติธรรม  จะนำลงมาอธิบายให้คุณค่าต่ำไปกว่าความเป็นจริงไม่ได้  ผิดหลักวิชา  เป็นการดูแคลนธรรมะพระพุทธองค์  ยังคงต้องคงสถานะไว้  อย่าให้การตีความเข้าข้างพวกเดียวกันพาความหมายที่แท้จริงตกต่ำไปกว่านี้   ต้องเคารพปราชญ์และผู้นำทางจิตวิญญาณทุกคนที่ได้ลงมือกระทำให้บังเกิดมาก่อน และต้องอย่าเหยียบย่ำวิชาความรู้ด้วยคำพูดสรุปเอาเองตามใจพวกเดียวกันแบบง่ายๆ
 
              ถึงเวลาที่ต้องนำธรรมะพระพุทธเจ้ามาอธิบายปรากฏการณ์  สถานการณ์ การเมือง ความเป็นไปของประเทศไทยในขณะนี้   ไม่ว่าจะเป็นพันธมิตรหรือนปช.และพล ต.อ. สล้างไม่ใช่กลุ่มคนที่จะปฏิบัติแนวทางสันติได้จริงสมดังที่ลั่นวาจา   เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่ธรรมะจะเข้ามามีบทบาท ต้านความเห็นผิดทั้งหลาย  เป็นหน้าที่ของผู้นำทางจิตวิญญาณทุกคนที่จะต้องสะท้อน “หัวข้อธรรม” ในทุกๆเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดความเห็นผิดในสังคมอันนำมาซึ่งการก่อความรุนแรงทุกฝ่าย   ธรรมะพระพุทธเจ้ามิได้มีอยู่แต่ในวัด  ความสูงส่งของพุทธิปัญญา สามารถนำมาใช้อธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมและความผิดเพี้ยนของลัทธิมิจฉาทิฎฐิในประเทศนี้ได้อย่างหมดจดที่สุด 

              ปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนข้อเท็จจริงที่ว่าการเมืองและการศาสนาผูกร้อยสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก   เพราะทั้งสองอย่างมีไว้สำหรับจัดระเบียบสังคม  ทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข  การเมืองที่จะสร้างสันติสุขให้กับประเทศชาติได้อย่างถาวร  จะต้องเป็นการเมืองที่ใช้การศาสนาเข้าไปประสาน  จึงจะถูกต้องได้   การเมืองที่ปราศจากศาสนาเป็นเพียงการใช้อำนาจของผู้ปกครองที่อาจเห็นถูกเป็นผิดได้ เพราะการจะทำให้ถูกนั้น การถูกตามกฎเกณฑ์เป็นเรื่องสำคัญที่สุด  
               พุทธศาสนามีหลักอธิบายโดยพุทธิปัญญา ไม่เคยพึ่งพาโฆษณาชวนเชื่อ ไม่ครอบงำผู้ใด  ความสูงส่งของพุทธศาสนาคือความมีกฎเกณฑ์แบบวิทยาศาสตร์แต่มีความเหนือกว่าวิทยาศาสตร์ทางโลก   การอ้างพุทธศาสนาหรือข้อธรรมมาอ้างผิดเพื่อให้การกระทำของตนเองหรือกลุ่มก้อนของตนเองให้มีความชอบธรรมเป็นการหลอกลวงทั้งต่อตนเองและต่อผู้อื่น   และเป็นการผิดกฎเกณฑ์ทั้งทางโลกและทางธรรม   เป็นเรื่องน่าละอายของผู้แอบอ้างทุกกลุ่ม

              เป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคนต้องแสดงการรู้เท่าทันกลเกมของผู้ที่มุ่งหวังแต่เพียงเอาชนะคะคาน  และเป็นช่วงเวลาสำคัญที่พุทธบริษัท 4 จะต้องออกมาทำหน้าที่ดำรงไว้บรรทัดฐานเดิมของอุดมการณ์สูงสุดของพระพุทธศาสนา  หากมุ่งหวังจะสืบสานให้ประเทศนี้เป็นแผ่นดินแห่งพระพุทธศาสนาสมดังคำทำนายสืบไป 
 
 
         
(อ่านต่อตอนหน้า)
  
 
         
  
  

 
  
  อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง..
 

ปฏิวัติสันติ

 
สมัคร ยกเลิก
 
 
Revolutionary Press Agency
Online Journal and News Agency for Peace  :  วารสารและข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
Copyright © 2024 www.rpathailand.com All Rights Reserved.
ทำเว็บ  ออกแบบเว็บ  Web Design  เว็บสำเร็จรูป  เว็บไซต์สำเร็จรูป