Revolutionary Press Agency : Online Journal and News Agency for Peace
สำนักสื่อปฏิวัติ  : วารสารข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
8 มิ.ย. 2554 กองหน้าประชาชนรุ่นใหม่ อนุสรณ์ สมอ่อน ตอบคำถามคาใจทำไมต้องปฏิวัติประชาธิปไตย? 
 
 ตามรอยกรรมสัญจร
ตอน ๑
ดุสิตธานี...เมืองประชาธิปไตยในอุดมคติ
 
โดย  ยอดมณี วัชรธรรม
สำนักสื่อปฏิวัติ - Revolutionary Press Agency (RPA) 
กรุงเทพ : ๒๖ พ.ย. ๒๕๕๒
     
 
             ในสิ่งที่ดูคล้ายคลึงกลับมีความแตกต่าง ในสิ่งที่มีความแตกต่างกลับมีความคล้ายคลึงกันจนนึกไม่ถึง  ชาวไทยคุ้นเคยกับดุสิตธานีในฐานะโรงแรมชื่อดังตรงหัวถนนสีลมและชื่อสวนสัตว์แห่งแรกของประเทศไทยคือสวนสัตว์ดุสิต ในบรรดาชื่อสวรรค์ชั้นต่างๆในคติความเชื่อทางพุทธศาสนาตามคำบอกเล่าต่อๆกันมาพบว่าสวรรค์ชั้นดุสิตธานีเป็นชั้นที่มีการเอ่ยถึงบ่อยที่สุด    "ดุสิตธานี" ในความหมายที่แท้จริงคือสวรรค์ชั้นที่สี่มีความหมายสำคัญคือเป็นที่อยู่ของพระโพธิสัตว์และพระมหาโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายตามคติความเชื่อของชาวพุทธ  แต่มีคนส่วนน้อยคนที่จะรู้ว่า  “ดุสิตธานี “ ยังเป็นชื่อเมืองประชาธิปไตยในพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ อีกด้วย 
               
             สืบเนื่องจากวโรกาสวันสวรรคตของพระมหาธีรราชเจ้าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่๖ ที่เวียนมาบรรจบในวันที่ ๒๕ พฤศจิกายนของทุกปี ตามรอยกรรมสัญจรปฐมฤกษ์จึงตั้งใจเขียนเรื่อง “ดุสิตธานี” ในทัศนะที่ต่างไปจากความเข้าใจที่รับรู้กันโดยทั่วไป

            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ ทรงสร้างเมืองจำลองดุสิตธานีขึ้นด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เมื่อยังทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นพระบรมโอรสาธิราชเจ้า   เพื่อจำลองการปกครองระบอบประชาธิปไตยขึ้นให้ประชาชนในเมืองดุสิตธานีรู้จักปกครองตนเอง    มีหลักฐานบันทึกไว้ในหนังสือชื่อ “ดุสิตธานี เมืองประชาธิปไตยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” ที่รวบรวมขึ้นโดยจมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช)  ตามมติโครงการสัมมนาเรื่องดุสิตธานี ที่จัดพิมพ์ขึ้นเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๑๓  
       
             หลักฐานชิ้นสำคัญเกิดขึ้นจากโครงการสัมมนาดังกล่าว ที่ได้เก็บรวบรวมรูปภาพเมืองดุสิตธานีและหนังสือพิมพ์ ที่ประกอบด้วย โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ซึ่งเขียนโต้ตอบใน หนังสือพิมพ์สามฉบับที่ออกจำหน่ายในเมืองดุสิตธานีคือ ดุสิตสมัย และดุสิตสมิธ และดุสิตรีคอร์เดอร์ที่เป็นการริเริ่มของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ ทั้งสิ้น  
 
  

     
         เรื่อเรื่อสุริยะโพล้        เพล้แสง 
           จวนจะสิ้นแสงแดง      จับน้ำ 
           จวบจันทร์แจ่มโลกแปลง มาเปลี่ยน 
           แสงต่อแสงทอกล้ำ      ทั่วท้องชโลทร 

           จันทราคลาเคลื่อนขึ้น   เวหา 
           แสงส่องทั่วพารา       แหล่งน้อย 
           นามจังหวัดดุสิตธา     นีรุ่ง เรืองเฮย 
           งามสุดจะกล่าวถ้อย    ถูกถ้วนขบวนงาม
  
นาครผู้หนึ่ง ใช้นามปากกาว่า “ ขันตี” ได้ประพันธ์โคลงสี่ชมความงามของเมืองดุสิตธานีไว้
  
  
   พระราชวังพระวัชรินทร์ราชนิเวศน์ริมน้ำดุสิต
 
    
             การสร้าง “วิถีประชาธิปไตย” จำลองโดยพระมหากษัตริย์
  
              หากจะทำความเข้าใจโครงการเมืองประชาธิปไตยดุสิตธานีในพระราชดำริพระมหาธีรราชเจ้ารัชกาลที่ ๖ ก็จำเป็นต้องศึกษาย้อนหลังไปยังพระราชภารกิจแห่งประวัติศาสตร์ของพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่๕  ที่ได้ทรงริเริ่มแนวทางสร้างประชาธิปไตยโดยพระมหากษัตริย์เป็นแนวทางเปลี่ยนแปลงสยามสู่รัฐชาติสมัยใหม่สู่ระบอบประชาธิปไตย นับเวลาจนถึงปัจจุบันยาวนานกว่าร้อยปี  กล่าวได้ว่าขบวนการสร้างประชาธิปไตยก่อกำเนิดขึ้นมานับแต่รัชกาลพระพุทธเจ้าหลวงเป็นต้นมา   ผ่านต่ออีก ๒ รัชกาลคือพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่๖ และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ ตามลำดับ     แต่การสร้างประชาธิปไตยโดยพระมหากษัตริย์ไทยเป็นการสร้างจากด้านบนโดยต้องการการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปอย่างปราศจากความรุนแรง    การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมหรือเปลี่ยนระบอบโดยสิ้นเชิงให้ประชาชนปกครองตนเองนั้นใช้เวลาเนื่องจากความยึดมั่นในแนวทางประชาธิปไตยทางจิตวิญญาณแบบวิถีพุทธและการไม่หักหาญน้ำใจของคนในชาติเป็นหลัก

              การเปลี่ยนโครงสร้างสังคมนับว่าเป็นงานหนักที่สุด แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่๕ ก็ทรงทำสำเร็จในเบื้องต้นด้วยการเลิกทาส คือการปฏิบัติหลัก “ความเสมอภาค” ให้ราษฎรเป็นหลักแรกเพื่อนำสู่อีกหลักหนึ่งคือ “เสรีภาพ”  ดังหลักฐานปรากฏอยู่ในหนังสือว่า ร.๖ ทรงเรียกการปกครองแบบนี้ว่าแบบเสรีภาพ ยังมิได้ทรงใช้คำว่าประชาธิปไตย โดยทรงให้เหตุผลว่า ประชาธิปไตยจะใช้ได้ก็ต่อเมื่อประชาชนมีโอกาสเท่าเทียมกันแล้ว 

              หากในรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่๕ คือการเริ่มต้น “รื้อโครงสร้าง” เดิม จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชในระบบเศรษฐกิจศักดินา (Feudalism) เมือง “ดุสิตธานี” ในรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ คือขั้นตอนใหม่ของการลงมือ “ปฏิบัติหลักการ” เพื่อทดสอบความพร้อมนั่นเอง

             ดังจะเห็นว่า ดุสิตธานี มิใช่เมืองปิด เป็นเมืองเปิด ก้าวหน้า  เมื่อครั้งมีการประกาศยุติสงครามโลกครั้งที่ ๑  ดุสิตธานีได้เฉลิมฉลองสัญลักษณ์ของสันติภาพด้วยการติดธงประดับประดา ก่อนล่วงหน้า  อันเป็นเหตุให้สยามประเทศรวมทั้งกรุงเทพฯในสมัยนั้นหันมาประดับประดาด้วยเช่นกัน
  
             ประวัติศาสตร์จารึกช่วงนี้ไว้ให้เห็นชัดว่า ความคิดริเริ่มเพื่อสร้างระบอบประชาธิปไตยนั้นนำโดยสถาบันพระมหากษัตริย์ก่อนหน้า   ที่จะเกิด “ขั้วหักทางการเมือง” โดยคณะราษฎรในปี ๒๔๗๕  หลักฐานการทำงานและทดลองลงมือปฏิบัติอย่างละเอียดรอบคอบได้รับการสานต่อโดยพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ ในกาลต่อมานั่นเอง  
  
 
 
        “...การปฏิรูปการปกครองนับว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะไม่เพียงแต่เปลี่ยนแปลงวิถีทางการงาน แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงความรู้สึกในจิตใจด้วยทีเดียว พระองค์จึงได้ทรงทำเป็นการทดลองขึ้นก่อนเพื่อเป็นการหยั่งดูถึงความคิดจิตใจของบุคคลทั้งหลายด้วย ”
  
 
 
 
 
   
 
              บ้านคหบดีในอำเภอเขาหลวง 
    
               การสอนประชาธิปไตยด้วยหลักการและการลงมือปฏิบัติ
 
  
              มีประเด็นที่น่าสนใจว่ารัชกาลที่ ๖ ทรงริเริ่มการสร้างเมืองจำลองเพื่อเหตุผลใด   หลักฐานชี้ชัดว่าทรงสร้างขึ้นและดูแลในระหว่างที่ยังทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นพระบรมโอรสสาธิราชก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ และทรงสร้างเมืองจำลองขึ้นครั้งแรกที่บริเวณพระที่นั่งอนันตสมาคมเดิมและได้ย้ายมาอยู่บริเวณวังพญาไททีหลัง  พระราชดำริโครงการดุสิตธานีถือว่าเป็นความคิดริเริ่มเพื่อเตรียมการให้สยามเตรียมตัวจัดระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยเป็นของตนเอง   และเพื่อเป็นการปลูกฝังลัทธิการปกครองตามแบบประชาธิปไตยให้กับประชาราษฎร์  ได้ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ ผู้ว่าราชการจังหวัด สมุหเทศาภิบาล และนายอำเภอเข้าไปฝึกอบรมการปกครองตามระบอบดังกล่าวที่ดุสิตธานีด้วย
 
              “...สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ..เสด็จออกไปศึกษาในทวีปยุโรปนั้นทรงมีพระชนม์ ๑๓ พรรษาเท่านั้น ก่อนออกเดินทางเพียง ๓๘ วัน ฝรั่งเศสก็นำเรือรบเข้ามาบุกรุกประเทศไทยเมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๖  การกระทำของฝรั่งเศสเป็นผลที่ทำให้ไทยเจ็บแค้นมาก  สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ แม้จะทรงพระเยาว์เช่นนั้น ก็ย่อมตระหนักพระทัยดีว่าอะไรเป็นอะไร ...”
  
               จากข้อเขียนนี้สรุปให้เห็นว่า ทรงเห็นภัยจากต่างชาติด้วยประสบการณ์ตรงของพระองค์เอง  หลังจากทรงใช้เวลาศึกษาอยู่ที่อังกฤษจนเสด็จนิวัติพระนครในพระชนม์ ๒๒ พรรษา เพื่อทรงทำหน้าที่องค์มหามกุฎฯสืบสันตติวงศ์ต่อจากเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่ในยุโรป    ทรงสร้างดุสิตธานีขึ้นครั้งแรกที่บริเวณพระที่นั่งอนันตสมาคมเดิมและย้ายมาสู่บริเวณวังพญาไทภายหลังเนื่องจากสถานที่เดิมคับแคบเกินไป
 

             “ เมืองดุสิตธานี เป็นพระราชประสงค์ที่จะทรงฝึกฝนอบรมเสนาอำมาตย์ราชบริพาร นับแต่เสนาบดีลงมาให้ซาบซึ้งในพระบรมราโชบาย  และวิธีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย  จึงมีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ไปสมัครเป็นทวยนาครด้วยมาก...”
 
               "...เรื่องการตั้งเมืองดุสิตธานีนั้น เป็นการปลุกคนไทยขึ้นให้รู้จักแนวทางของประชาธิปไตย เพราะทรงทราบดีว่า การที่ประเทศสยามจะยึดการปกครองอย่างสมบูรณาญาสิทธิราชอย่างแบบของเก่า จะคงอยู่ต่อไปหาได้ไม่ จำต้องให้เรียนรู้เอาไว้เพื่อความเจริญในอนาคต..."
                 
                เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ?  ทั้งที่พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราช เมื่อมีพระราชดำริหรือพระราชประสงค์ในสิ่งใดประการใด เพียงตรัสออกไปก็ย่อมสำเร็จได้ดังพระราชประสงค์ 
 
                “...การปฏิรูปการปกครองนับว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะไม่เพียงแต่เปลี่ยนแปลงวิถีทางการงาน แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงความรู้สึกในจิตใจด้วยทีเดียว พระองค์จึงได้ทรงทำเป็นการทดลองขึ้นก่อนเพื่อเป็นการหยั่งดูถึงความคิดจิตใจของบุคคลทั้งหลายด้วย ”
 
                นี่คือข้อสรุปจากหนังสือที่สะท้อนให้เห็นความละเอียดรอบคอบของรัชกาลที่๖อย่างยิ่ง ที่ทรงได้เสียงสะท้อนจากความไม่เข้าใจในหลักการปกครอง และเสียงสะท้อนนั้นปรากฏเห็นชัดจากมหาดเล็กที่ได้รับใช้ใกล้ชิดนั่นเอง
 
 

 
                นำสู่การปฏิบัติ
 
              “นายราม ณ กรุงเทพ” ไม่มีพระราชอิสริยยศ เป็นหนึ่งใน”ทวยนาคร” แห่งนครดุสิตธานี นายรามหรือพระเจ้าอยู่หัวเองก็ทรงเข้าร่วมทะเบียนราษฎร์เป็นหนึ่งใน “ทวยนาคร” มีฐานเทียบเท่า “ทวยนาคร” คนหนึ่งในเมืองดุสิตธานี  นี่คือความหมายที่แอบซ่อนอยู่ในการสร้างหลักความเสมอภาคอันเป็นหลักการสำคัญอันหนึ่งของลัทธิประชาธิปไตย  การสร้างสมมุติบัญญัตินายรามขึ้นมาเท่ากับว่าทรงมีส่วนร่วมในวิถีประชาธิปไตยด้วยพระองค์เอง  ทั้งที่ทรงสามารถกำหนดบทบาทอื่นด้วยการเป็นเพียงผู้กำกับละครโดยไม่ต้องเข้าร่วมก็ย่อมทรงทำได้  แต่กลับทรงเลือกลดพระราชฐานะลงมา "เล่นด้วย"  ในสมมุติของนายรามราษฎรธรรมดาที่มีอาชีพเป็นทนายความที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ รับรู้บรรยากาศเมืองดุสิตธานีและแสดงทัศนะของความเป็น”ทวยนาคร”ของดุสิตธานีไม่ต่างจากทวยนาครคนอื่นๆ   นอกจากนี้แล้วยังทรงเข้าร่วมกระบวนการนำทางความคิดของสังคมประชาธิปไตยด้วยทรงเป็นหนึ่งใน "คอลัมนิสต์" ต้นแบบให้กับหนังสือพิมพ์ดุสิตสมัยอีกด้วยภายใต้ชื่อสามัญว่า "ราม รามจิตติ"

               เมื่อทรงลงมือปฏิบัติเอง จึงทรงหยั่งถึงและประเมินความพร้อมของราษฎรถูกต้องและแม่นยำ ไม่ต่างกับงานวิจัยชิ้นหนึ่งนั่นเอง
 
               ในรัชสมัยของพระองค์ เกิดการวางรากฐานการศึกษาอย่างกว้างขวางเพราะทรงให้ความสำคัญของการศึกษาอย่างยิ่งและได้ทรงริเริ่มก่อตั้งโรงเรียน สถานศึกษาขึ้นทั่วราชอาณาจักร เพื่อนำหลักการความเสมอภาคในขั้นตอนต่อไปมาให้ราษฎร การได้มาซึ่งการศึกษาจะทำให้ราษฎรมีเสรีภาพมากขึ้น เป็นเงาตามตัว

               เมื่อทรงขึ้นครองราชย์ได้ทรงมีพระราชภารกิจอย่างหนึ่ง ทรงเร่งรัดให้มีการศึกษาภาคบังคับเรียนเพิ่มขึ้นจากชั้น ม.๖ เป็นชั้นม.๘ เพื่อเตรียมความพร้อมนักเรียนให้พอเพียงต่อความรู้ระดับมหาวิทยาลัย   พระองค์ทรงรอนานอยู่ถึง ๕ ปี จึงสามารถเปิดจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยขึ้นเป็นหมาวิทยาลัยแห่งแรกในปี ๒๔๕๘   นอกจากนั้นได้ใช้ประกาศพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับแก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินให้เป็นพลเมืองที่มีการศึกษาทั่วประเทศ     ได้ทรงก่อตั้งโรงเรียนขึ้นทั่วราชอาณาจักร  โดยใช้วัดเป็นศูนย์กลาง  ที่เรียกว่าโรงเรียนวัดในปัจจุบัน ด้วยวิธีการนำระบบคุณธรรมของพุทธศาสนาไปใส่ไว้ในระบบการศึกษา  คือที่มาของโครงการ “บวร” อันประกอบด้วย บ้าน วัด และโรงเรียน  ที่กำลังนำมาปัดฝุ่นทำกันใหม่ในขณะนี้นั่นเอง
 
 
 

กลุ่มปราสาทราชวัง
        
  " ดุสิตธานี เป็นเมืองจำลองเล็กๆ สร้างขึ้นแห่งแรกในพระราชวังดุสิต ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีเนื้อที่ประมาณ ๒ ไร่ครึ่ง มีลักษณะเกือบจะเป็นรูปสี่เหลี่ยม ทางด้านใต้ติดพระที่นั่งอุดร ทางด้านเหนือติดอ่างหยกเฉพาะบ้านทั้งหมดมีจำนวนประมาณสามร้อยกว่าหลัง ถ้านับตัวอาคารด้วยก็ประมาณ ๑,๐๐๐ หลัง ประกอบด้วยปราสาทราชวัง วัด สถานที่ราชการ โรงทหาร โรงเรียน โรงพยาบาล ตลาด ร้านค้า ธนาคาร โรงละคร โรงภาพยนตร์ สโมสรบริษัท สำนักงาน ที่ขาดไปคือมหาวิทยาลัย ปั๊มน้ำมัน และสถานโบว์ลิ่ง เท่านั้น อาคารเหล่านี้มีขนาดย่อส่วนเท่ากับ หนึ่งในยี่สิบส่วนของของจริง คือมีขนาดโตกว่าศาลพระภูมิเพียงเล็กน้อย สร้างขึ้นด้วยฝีมือประณีต ทาสีและฉลุสลักลวดลายอย่างวิจิตร มีไฟฟ้าติดสว่างทุกบ้าน มีถนนเชื่อมเหมือนของจริง ปลูกต้นไม้เล็กๆ ร่มรื่นทั้งสองข้างทาง”     
 
     
                รูปธรรมการพัฒนาการเมืองไทยโดยสถาบันพระมหากษัตริย์
 
                บันทึกประวัติศาสตร์มักเขียนถึงดุสิตธานีเมืองประชาธิปไตยในแง่ของเมืองจำลองในอุดมคติที่ต้อง “ฝันให้ถึง”  นอกจากจะเป็นเมืองในอุดมคติ มีความนำสมัยและสวยงามราวเมืองฟ้าเมืองสวรรค์ ยังมีระบบสาธารณรูปโภคพร้อมเพรียง   แม้ข้าราชบริพารเดิมในอดีตที่ไม่เข้าใจในเรื่องการปกครองแบบเสรีภาพใหม่เอี่ยมถอดด้ามที่ทรงพยายามจะปลูกฝังให้แก่ราษฎรโดยเริ่มจากข้าราชบริพารใกล้ชิด อาทิมหาดเล็กหลวงทั้งหลาย   ยังมีการแอบกล่าวหาว่าพระเจ้าอยู่หัวสร้างเมืองตุ๊กตาขึ้นมาทำเล่นเพื่อความเพลิดเพลิน   หารู้ไม่ว่านั่นคือขั้นตอนการลงมือปฏิบัติในภาคสนาม  เป็นการเตรียมการสร้างบ้านแปงเมืองขนานใหญ่เพื่อสานต่อพระราชบิดาในการเปลี่ยนแปลงสยามประเทศ อันเป็นพระราชภารกิจอีกขั้นตอนหนึ่งหลังจากการเลิกทาสโดยพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ ๕

                หากจะเรียกโครงการดุสิตธานีในภาษาปัจจุบัน ก็ต้องเรียกว่าเป็นโครงการนำร่องต้นแบบหรือ Pioneering Pilot Project เพื่อพัฒนาการปกครองต้นแบบให้ราษฎร (ทวยนาคร) รู้จักการปกครองตัวเองในรูปแบบบริหาร (นคราภิบาล) และรูปแบบสภาที่มีการลงคะแนนเสียงในระบบสภาเลือกสรร "เชษฐบุรุษ" เพื่อเข้ามาทำหน้าที่บริหาร  
 
                 การทดลองการปกครองแบบดุสิตธานีนั้นแบ่งเป็น ๓ ช่วง ช่วงที่สองนคราภิบาลหรือMunicipality โดยแบ่งโครงสร้างการปกครองออกตามลักษณะการบริหาร ทรงโปรดเกล้าให้มีหนังสือพิมพ์ขึ้นในเขตนคราภิบาล มีแผนกคลัง แผนกตำรวจ ตั้งแบงค์ (สมัยนั้นยังไม่เรียกธนาคาร) เพื่อรับฝากเงิน  ส่วนช่วงที่สามคือ การปกครองแบบสภา  คือมีลักษณะเข้มข้นเหมือนการเปิดโรงเรียนแบบทัศนศึกษาให้ผู้ศึกษามีส่วนร่วมในการปกครองอย่างเต็มรูปแบบด้วยการลงคะแนนเลือกตั้ง
 
                 ดังปรากฏอยู่ในหนังสือว่า
 
                “ เกี่ยวกับธรรมนูญการปกครองดุสิตธานีนั้น ในสารานุกรมกล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้คำว่า “เสรีภาพ”  แทนคำ “ประชาธิปไตย” มีพระราชปรารภว่า การปกครองแบบเสรีภาพนั้น จะใช้การปกครองได้ก็ต่อเมื่อประชาชนมีการศึกษาเท่าเทียมกันแล้ว คำว่า”ประชาธิปไตย” มีปรากฏเป็นชื่อถนนสายหนึ่งในดุสิตธานีที่วังพญาไท  ”
 
 
“…เกี่ยวกับธรรมนูญการปกครองดุสิตธานีนั้น ในสารานุกรมกล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้คำว่า “เสรีภาพ”  แทนคำ “ประชาธิปไตย” มีพระราชปรารภว่า การปกครองแบบเสรีภาพนั้น จะใช้การปกครองได้ก็ต่อเมื่อประชาชนมีการศึกษาเท่าเทียมกันแล้ว คำว่า”ประชาธิปไตย” มีปรากฏเป็นชื่อถนนสายหนึ่งในดุสิตธานีที่วังพญาไท  ” 
 
  
ศาลารัฐบาลดุสิตธานี(เทียบเท่าทำเนียบรัฐบาลในปัจจุบัน)
 
                   ในส่วนของการสร้างสังคมประชาธิปไตย ได้ทรงสร้างหนังสือพิมพ์รายวันขึ้น ๒ ฉบับ คือ ดุสิตสมัย และดุสิตเรคอร์เดอร์ และหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ชื่อ ดุสิตสมิตขึ้นทีหลัง โดยมีสาเหตุปรากฏดังนี้คือ  "...แต่ละฉบับเที่ยวหาข่าวอันเป็นสาระอะไรลงไม่ได้ ต่างก็หันเข็มไปเขียนโจมตีเรื่องส่วนตัวของพวกเดียวกันเอง ถึงตอนนี้คนอ่านก็พลอยสนุกและชอบใจ  เพราะฟังเรื่องแปลกๆดี ส่วนองค์สมเด็จพระปรมาจารย์นั้นไม่พอพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง  ได้พยายามสอนด้วยพระองค์เองว่า  คนที่เขียนเรื่องอันไม่ก่อประโยชน์ต่อสาธารณะมาลงในหนังสือพิมพ์เชนนี้ เป็นวิธีที่เลวมาก  และเป็นวิธีการของนักหนังสือพิมพ์ชาวตะวันตกเขาทำกันเมื่อเป็นเวลาผ่านมาตั้ง ๑๐๐ ปีแล้ว  และเป็นการเลวร้ายเสียกว่าบัตรสนเท่ห์  เพราะบัตรสนเท่ห์รู้กันเฉพาะแต่ตัวผู้รับ คนอื่นไม่พลอยรู้ไปด้วย  จึงทรงแนะนำให้นักหนังสือพิมพ์หันเข็มไปในทางแปลบทความบ้าง เรื่องน่ารู้บ้าง แต่พอนานวันเข้าไม่รู้จะหาอะไรมาเขียนก็หันมาเล่นงานกันอีกเช่นเคย คราวนี้ล้นเกล้าฯ ก็เลยออกหนังสือพิมพ์ดุสิตสมิตขึ้นมาบ้าง” 
 
               อย่างไรก็ดีในหนังสือระบุไว้ว่าข้าราชการสมัยก่อนทำหน้าที่ซื่อสัตย์สุจริต  และการทำหน้าที่ของสื่อยุคดุสิตสมิต ทำให้เกิดความเกรงกลัวว่าชื่อตนจะไปปรากฏอยู่ในหนังสือพิมพ์หากปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกควร    สังคม “เสรีภาพ” เพื่อวางพื้นฐานสังคมประชาธิปไตยในสมัยล้นเกล้าฯรัลกาลที่๖ จึงดูล้ำสมัยแบบค่อยเป็นค่อยไป 
    
 

   บ้านใหญ่ 
 
 
     
                บ้านน้อย
 
             เป็นธรรมดาว่าสิ่งที่ก้าวหน้าอาจมีคนตามที่ไม่เข้าใจ แต่ถึงอย่างไรก็ดีก็ยังมีส่วนข้าราชการที่เข้าใจในแนวทางสมดังพระราชประสงค์ด้วยเช่นกัน ดังปรากฎอยู่ในหนังสือเป็นหลักฐานว่า “...พระยาราชนกุล (อวบ เปาโรหิต) ปลัดกระทรวงมหาดไทยในสมัยนั้น ซาบซึ้งในพระบรมราโชบายและพระราชดำริโดยถ่องแท้แล้ว ประกอบกับที่ได้ทรงมีพระราชปฏิสันฐาน  และเพ็ดทูลเรื่องการปกครองบ้านเมืองอยู่บ่อยๆ ครั้งหนึ่งเมื่อมีโอกาส เป็นการเฉพาะได้กราบทูลขึ้นว่า “ กระทรวงมหาดไทยได้ซาบซึ้งถึงพระบรมราโชบายและวิธีการของดุสิตธานีแล้ว  ถ้าต้องด้วยพระราชประสงค์ กระทรวงมหาดไทยจะรับสนองพระบรมราโชบายนำแบบอย่างของดุสิตธานีไปปฏิบัติในจังหวัดต่างๆ ตามที่เห็นสมควรและเหมาะสม เป็นอันดับไปจนกว่าจะทั่วถึง”    มีพระราชดำรัสตอบว่า “นั่นน่ะซี ฉันต้องการให้การปกครองท้องที่มีการปรับปรุงกันเสียที จึงได้วางระเบียบไว้เพื่อให้เห็นเป็นตัวอย่าง”

            
   
 
      พระราชวังพญาไทกับดุสิตธานีริมคลองสามเสน
        วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม    
 
                ความลึกซึ้งของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  เริ่มต้นให้การศึกษาเรียนรู้ต่อมหาดเล็กส่วนพระองค์ได้เรียนูรู้ก่อน และได้เป็นองค์ผู้ให้กำเนิดทหารมหาดเล็กส่วนพระองค์    ที่มีการเฉลิมฉลองกันทุกปีในวันที่ ๑๑ พ.ย. ของทุกปี     ความลึกซึ้งนี้กระจายขยายผลไปยังข้าราชการที่ปกครองอยู่ในจังหวัดต่างๆที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อนำแนวทางและวิธีการดุสิตธานีไปใช้ในการปกครองในจังหวัดของตน  ดังปรากฎอยู่ในพระราชดำรัสวันเปิด "ศาลารัฐบาล" ดุสิตธานีดังนี้

                "...วิธีการดำเนินการในธานีเล็กๆของเราเป็นเช่นไร ก็ตั้งใจว่าจะให้ประเทศสยามได้ทำเช่นเดียวกัน  แต่จะให้เป็นการสำเร็จรวดเร็วทันใจดังธานีเล็กนี้ ก็ยังทำไปทีเดียวยังไม่ได้ โดยมีอุปสรรคบางอย่าง   เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าขอให้ราชการทั้งหลายตลอดจนทวยนาคร จงตั้งใจกระทำกิจการของตนตามหน้าที่ให้สมกับธานีซึ่งได้จัดตั้งขึ้นนี้ ในไม่ช้าจะได้แลเห็นผลของประเทศสยามว่าจะเจริญไปได้เพียงไร.."


                ๗๗ ปีผ่านไป  แนวทางสร้างประชาธิปไตยโดยพระมหากษัตริย์ไทย ยังคงอยู่แต่เกิดการพลัดหลงเข้าไปอยู่ในระบอบเผด็จการรัฐสภา  จนดูเหมือนว่าการเมืองไทยได้หยุดพัฒนาไปแล้ว  และชื่อดุสิตธานีถูกสงวนไว้ให้สิงสาราสัตว์ในสวนสัตว์เขาดินหรือสวนสัตว์ดุสิตอยู่ มิใช่เมืองฟ้าเมืองสวรรค์ของมนุษย์ผู้เจริญแต่อย่างใด เป็นที่น่าเสียดายว่า การวางรากฐานวิถีประชาธิปไตยโดยพระมหากษัตริย์ไทยได้เริ่มต้นอย่างละเอียดรอบคอบ  สืบทอดต่อมายังการเตรียมการมอบรัฐธรรมนูญให้ประชาชนในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่๗ มิได้สำเร็จสมพระราชปณิธานเดิม เนื่องจากคณะราษฎรได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบเผด็จการรัฐสภาอย่างที่เป็นอยู่เสียก่อน  ประชาชนชาวไทยจึงมิได้เห็นผลจากพระวิริยะอุตสาหะของพระมหากษัตริย์นักประชาธิปไตยทั้งสามพระองค์ที่มาสะดุดเสียกลางคัน
 
                ในปีพ.ศ.ปัจจุบัน  ขณะที่ การเมืองไทยกำลังตกขอบวิถี  ในระบบเผด็จการรัฐสภา  และดูราวกับว่าจะถอยหลังตกคลองหยุดการพัฒนาอย่างสิ้นเชิง     การสะท้อนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์จากยุคหนึ่งไปสู่อีกยุคหนึ่งโดยไม่ศึกษาหันเหลียวหลังย้อนรอยดูวิวัฒนาการการเมืองไทยผ่านการปกครองแต่ละยุคสมัยคงจะเหลีกเลี่ยงไม่ได้    การเตรียมการของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่๖ กระทำในท่ามกลางการเมืองโลกและการติดต่อสื่อสารกับโลกตะวันตกนั้นนับว่าเป็นการประคองรัฐนาวาสยามผ่านวิกฤตลัทธิล่าอาณานิคมาอย่างรัดกุมที่สุดในพระบรมราชวินิจฉัยและเท่าที่เหตุการณืจะอำนวย    
                  
                ดุสิตธานีจะสอดคล้องกับไทยไตรยางคธรรมหรือไม่ ?   จะสมกับเป็นเมืองแห่งพระโพธิสัตว์เจ้าสมดั่งพระราชปรารถนาของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวหรือไม่    เป็นสิ่งที่น่าศึกษาเป็นพื้นฐานพัฒนาการสร้างประชาธิปไตยในแนวทางของพระมหากษัตริย์เป็นอย่างยิ่ง  หลักฐานการมีส่วนร่วมของทวยราษฎรในโครงการดุสิตธานีเป็นประจักษ์พยานทางประวัติศาสตร์ที่น่าพิศวง และชวนทำความเข้าใจว่าพระมหากษัตริย์ไทยแต่ละรัชกาล ต่างทรงทำหน้าที่ของพระองค์ในการสร้างสังคมประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นอย่างละเอียดถี่ถ้วนโดยมีพื้นฐานความเข้าใจในโครงสร้างสังคมและรากเหง้าวัฒนธรรมชาวสยามอย่างถ่องแท้
 


   
                    
  
 
                           
            
 
              
  
  
 
  
  
             
             
  
 
  
  
                     
                                                                

                           

   
   
  
  
   
 
 
 



Webboard is offline.