Revolutionary Press Agency : Online Journal and News Agency for Peace
สำนักสื่อปฏิวัติ  : วารสารข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
8 มิ.ย. 2554 กองหน้าประชาชนรุ่นใหม่ อนุสรณ์ สมอ่อน ตอบคำถามคาใจทำไมต้องปฏิวัติประชาธิปไตย? 
การต่อสู้แบบอหิงสาพุทธคืออะไร ?
 

โดย ขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติ
เผยแพร่ครั้งแรก ๒๓ ต.ค.๒๕๓๗ 
 
 
 “ การต่อสู้แบบอหิงสา
ตามหลักพระพุทธศาสนา
อหิงสา  ปรโม ธัมโม  :  อหิงสาเป็นธรรมอันยิ่ง"
 
 
        “อหิงสา”  หมายถึง  การต่อสู้แบบไม่เบียดเบียน ไม่รุนแรงทำร้ายผู้อื่น เป็นการต่อสู้อันอยู่บนพื้นฐานแห่งความรักและความเมตตาในเพื่อนมนุษย์และสัตว์โลกทั้งปวง การต่อสู้โดยทั่วไปมี 2 แนวทาง  คือ

1.       แนวทางรุนแรง
2.       แนวทางสันติ

        การต่อสู้แนวทางรุนแรง  คือ การฆ่าฟัน  ทำสงคราม ซึ่งทำความสูญเสียทั้งแก่ผู้ต่อสู้และผู้ต่อต้านอย่างถึงที่สุดการต่อสู้แนวทางรุนแรงนั้นไม่มีผู้ชนะ  มีแต่ผู้แพ้และผู้สูญเสียทุกฝ่ายเท่านั้น เป็นวิธีการต่อสู้ของสัตว์ที่มิใช่มนุษย์ ที่มีใจสูงส่งดีงาม
         การต่อสู้แนวทางสันติ หรือแบบอหิงสานั้น  เป็นการต่อสู้ที่มีพลังอำนาจสูงสุด เป็นการต่อสู้ที่ปราศจากอาวุธ ความกลัว ความโกรธ ความโลภ และความหลงอันเป็นกิเลสเป็นการต่อสู้ของปราชญ์  บัณฑิต  ผู้รู้โดยแท้ ซึ่งศาสดาทั้งหลายของโลกได้ยึดถือต่อสู้เพื่อพิทักษ์ปกป้องมนุษยชาติมาแล้วในอดีต  อหิงสา มี  2  แบบ คือ 

1.       อหิงสาธรรมดา (อหิงสาฮินดู)
2.       อหิงสาชั้นสูงสุด  (อหิงสาพุทธ)
        อหิงสาธรรมดา  เป็นอหิงสาที่เกิดจากสภาวจิตใจที่ยังไม่สามารถขจัดความโกรธ  ความโลภ  และความหลง  อันเป็นกิเลสออกไปได้ด้วยตนเอง  แต่อาจอาศัยการยึดมั่นในพระผู้เป็นเจ้าต่าง ๆ  หรือการเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้า เช่น มหาตมะคานธี ในศาสนาฮินดู เมื่อเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว ความกลัว ความโกรธ ความหลง  ความโลภจะเบาบาง  ซึ่งเรียกในทางศาสนาว่า “อัตตา” เบาบาง คือ ต้องอาศัยพระผู้เป็นเจ้าและสิ่งต่าง ๆ เป็นที่พึ่งยึดเหนี่ยว  อหิงสาธรรมดา  เป็น อหิงสาบนพื้นฐานแห่งอัตตา   เพราะยังไม่สมารถขจัดอัตตาตัวตนออกไปได้โดยสิ้นเชิง  เพียงแต่ยึดมั่นในพระเจ้าและศาสดาเท่านั้น พระผู้เป็นเจ้าหรือศาสดาก็คืออัตตาชนิดหนึ่ง นั่นเอง

        อหิงสาขั้นสูงสุด เป็นอหิงสาที่เกิดจากสภาวจิตใจที่สามารถขจัดความโกรธ  ความกลัว ความโลภ ความหลงอันเป็นกิเลสออกไปได้แล้วด้วยตนเอง  (พุทธะ : ผู้รู้  ผู้ตื่น  ผู้เบิกบาน)  ไม่ต้องอาศัยหรือยึดมั่นเอาพระผู้เป็นเจ้าหรือศาสดาเป็นที่พึ่ง  แต่ยึดและเข้าถึงธรรมะเป็นที่พึ่งหรือธรรมาธิปไตยนั่นเอง โดยรู้แจ้งว่าเราเกิดมาไม่มีอะไร เป็นธรรมชาติต้องแตกดับสลายไปตามสภาพไม่เที่ยงแท้ ไม่จีรัง  แก่ เจ็บ ตายไป  เมื่อถึงกาลเวลา  การฝึกจิตใจให้เข้าถึงสภาวจิตใจของอหิงสาขั้นสูงสุดนั้น จะสามารถทำได้และตรวจสอบรู้ได้ด้วยหลัก 4 ประการ คือ

1.  จาโค  ละความเห็นแก่ตัวออกทิ้งไป ไม่เห็นแก่ตัวเราและของเรา
2.  ปฏินิสสัคโค  ไม่มีอุปสรรค ความติดขัด ความขัดข้องในจิตใจ
3.  มุตโต  หลุดพ้นจากความกลัว ความโกรธ ความโลภ และความหลง
4.  อนาลโย  ไม่อาลัย ต่อทุกสิ่งแม้ชีวิตของตนเอง
 
           เมื่อสามารถทำจิตใจฝึกจิตใจให้ผ่านทั้ง 4 ประการได้แล้ว ก็จะเข้าถึงอหิงสาขั้นสูงสุดได้  อันเป็นพลังอำนาจสูงสุดเหนือกว่าพลังอำนาจทั้งปวง  เป็นพลังอหิงสา (Power of Non-Violence) ซึ่งศาสดาต่าง ๆ ได้ใช้ชนะมาแล้วในอดีต และมหาตมะ คานธี ได้นำออกมาใช้อีกครั้งในการกอบกู้เอกราชของประเทศอินเดียในประวัติศาสตร์สมัยใหม่  (Modern  History) แต่คานธี  ได้นำเอาอหิงสาธรรมดาหรืออหิงสาแบบอัตตามาใช้เท่านั้น  ยังไม่ใช่อหิงสาสูงสุด

          กฎของการต่อสู้แบบอหิงสา คือ จิตใจที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความรักและความเมตตาเพื่อนมนุษย์ ไม่มีความเกลียดชัง  ความโกรธ ความแค้นอาฆาต คู่ต่อสู้หรือศัตรูของนักสู้อหิงสาทั้งหลายคือ ความไม่ถูกต้อง ความไม่เป็นธรรมต่าง ๆ มิใช่เพื่อนมนุษย์ด้วยกันเองอย่างเด็ดขาด ซึ่งโดยปกติทางการเมืองและทางสังคมจะเป็นระบอบการปกครอง ระบบสังคม  กฎหมาย  ระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ มิใช่รัฐบาล คณะรัฐมนตรี ข้าราชการ  ทหาร ตำรวจ  พลเรือน ดังนั้น  คู่ต่อสู้หรือศัตรูของนักสู้อหิงสาไทยจึงมิใช่คนด้วยกันเอง แน่นอนเหลือเกินว่าคนหรือคณะบุคคล  ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล คณะรัฐมนตรี ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พลเรือน ย่อมจะต้องรักษาและปฏิบัติตามระบอบการปกครองปัจจุบัน ระบบสังคม ปัจจุบัน กฎหมายปัจจุบัน ระเบียบข้อบังคับปัจจุบันนั้น

          ดังนั้นนักสู้อหิงสาจึงหลีกไม่พ้นการถูกบังคับให้ต่อสู้กับบุคคลหรือคณะบุคคลดังกล่าวต่าง ๆ นั้นด้วยแม้เราจะปฏิเสธก็ตาม ดังนั้น  นักสู้อหิงสาทั้งหลายจะต้องมีความอดทนอย่างไม่มีที่สิ้นสุด มีความรักและความเมตตาในเพื่อนมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องมีความรักและความเมตตาต่อผู้ที่ตั้งตัวเป็นศัตรูของเราและผู้ที่เกลียดชังเราให้ได้ ถ้าทำไม่ได้ เมื่อถึงเวลาการต่อสู้จะเกิดการตอบโต้ด้วยความรุนแรง อันมีความโกรธความเกลียดชังเป็นอารมณ์ จะต้องมีการฆ่าฟันทำร้ายกันเกิดขึ้น นักสู้อหิงสาทุกคนจะไม่กระทำการเบียดเบียน ทำร้ายผู้อื่นอย่างเด็ดขาด แต่กลับจะยอมรับความเจ็บปวด  ความทุกข์มาไว้ที่เราฝ่ายเดียวอย่างเต็มใจและยินดียิ่ง แต่ต้องรู้สิ่งเหล่านั้นด้วยปัญญาอันชอบ
นักสู้อหิงสาทั้งหลาย  จะมีจุดประสงค์อันเดียวกันคือ ต่อสู้อย่างไม่ใช้อาวุธ ไม่เบียดเบียนทำร้ายผู้อื่นอย่างเด็ดขาดเพื่อความสันติสุขของทุกคนในสังคม  นักสู้อหิงสาจะมีสภาวจิตใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรักและความเมตตาอย่างไม่ยกเว้นต่อผู้ใด  มีสภาวจิตใจที่ปราศจากความกลัว  เป็นพลังอหิงสาเข้าต่อสู้กับศัตรูของมนุษย์ เช่น  ระบอบการปกครอง ระบบสังคม  กฎหมาย  ระเบียบข้อบังคับที่ไม่ถูกต้อง  ความคิดผิด ๆ ทั้งที่เป็นความคิดธรรมดาและที่เป็นระบบ เช่น ลัทธิอันเบียดเบียนทำร้ายมนุษย์ทั้งร่างกาย และจิตใจ  การยอมรับความเจ็บปวด ความทุกข์ยากหิวโหยทรมาน การกระทำอันโหดร้ายของศัตรู อีกทั้งการยอมสละชีวิต เพื่อให้เกิดผลแห่งความสันติสุขแก่มวลมนุษยชาติในสังคม  เป็นสิ่งที่นักสู้อหิงสาจะต้องกระทำและยอมเสียสละ มิฉะนั้น จะเกิดความสูญเสียแก่ส่วนรวมอย่างประมาณมิได้ นักสู้อหิงสาจงปฏิบัติ…

1.       ยอมรับความเจ็บปวด  และความทุกข์ทรมานอย่างไม่มีที่สิ้นสุดจากทุกฝ่ายด้วยปัญญาอันชอบ และจากการกระทำพลีกรรมปฏิบัติอหิงสาธรรมดาต่อตนเองจนถึงสละชีวิต แต่อหิงสาพุทธจะต่อสู้ด้วยปัญญาอันชอบเป็นสำคัญ
2.        ให้ความรักและความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ และผู้ที่เกลียดชังอันเป็นศัตรูเรา
3.       ปฏิบัติภารกิจอย่างไม่ท้อถอย ไม่ลดละ แต่เต็มเปี่ยมไปด้วยความอดทนไม่มีที่สิ้นสุด แม้จะผิดหวังล้มเหลวกี่ครั้ง กี่หนก็ตาม  เดินต่อไป สู้ต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด
4.       ไม่กลัว (Fearlessness) ต่อสิ่งทั้งปวง  ความตาย คุกตะราง ความเจ็บปวด ทรมาน  เป็นเพียงสิ่งพิสูจน์ทดสอบและรับรองความเป็นนักสู้อหิงสาอันแท้จริงของเรา  ปัจจุบันนี้หาไม่มีแล้วนักสู้อหิงสาที่แท้จริงโดยเฉพาะอย่างยิ่งอหิงสาพุทธอันเกิดจากสัมมาทิฎฐิ เราจะต้องสร้างขึ้นมาให้ได้
5.       เสียสละ คือลักษณะสำคัญอหิงสา  เสียสละเวลา ทรัพย์สิน อวัยวะร่างกาย ชีวิต  เพื่อความสันติสุขของ มนุษย์ในสังคม  ตามหลัก “ พึงสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ พึงสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต  เมื่อระลึกถึงคุณธรรมพึงสละแม้ทรัพย์ แม้อวัยวะ แม้ชีวิต ทั้งมวล ” แต่อหิงสาพุทธนั้นจะต้องไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นศาสดาต่างๆทุกพระองค์ได้พิสูจน์จิตใจอันเป็นสุดยอดอหิงสามาแล้ว  ในอดีตมหาตมะคานธี  ได้ใช้ อหิงสาฮินดูมาพิสูจน์พลังอำนาจในการกอบกูเอกราชอินเดียและปัจจุบันเราจะเป็นกองทัพอหิงสาพุทธพิสูจน์  และสอนโลกทั้งโลกให้รู้จักพลังอำนาจแห่งอหิงสาพุทธ  เราจะร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ด้วยการต่อสู้ของกองทัพอหิงสาพุทธ  โดยการช่วยให้คนไทยทุกคนพบกับความสันติสุข ด้วยการนำเอาอำนาจอธิปไตยอันเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศอันเป็นธรรมมาธิปไตย  มามอบให้แด่ปวงชนชาวไทยให้จงได้

“ อหิงสาพุทธ ”
ตุลาคม  2537
 
หมายเหตุ   การกรีดเลือด การเผาตัว การทำร้ายตัวเองต่าง ๆ ไม่ใช่แนวทางอหิงสาพุทธ
 
           และข้อความบางตอนในแถลงการณ์ของขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติ  เรื่อง “ บทเรียนการต่อสู้อย่างสันติวิธี :   การรุกรานของทุนนิยมโลก ”  ในกรณีการต่อต้านการวางท่อก๊าซจากพม่า  - ราชบุรี  ลงวันที่  7 มีนาคม 2542  ดังต่อไปนี้…

“ 3… การต่อสู้อย่างสันติวิธี
สันติเป็นวิธีการ (Means) วิธีการเป็นสิ่งที่จะนำไปสู่ความมุ่งหมาย วิธีการจึงรับใช้ความมุ่งหมาย ถ้าเราพูดเพียงแต่วิธีการไม่พูดถึงความมุ่งหมายก็ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ แม้วิธีการจะเป็นสันติแต่ความมุ่งหมายไม่ถูกต้องก็เป็นโทษมีผลร้ายสันติวิธีก็แก้ปัญหาไม่ได้ต้องประสบความล้มเหลว  ฉะนั้น  เราจะต้องพิจารณาทั้งวิธีการ  และความมุ่งหมายอย่างสัมพันธ์กัน ความมุ่งหมาย (END) เป็นส่วนที่สำคัญที่สุด  ถ้าตั้งความมุ่งหมายผิด  แม้จะใช้วิธีการถูก  ก็ไร้ความหมายหรือแม้แต่จะมีวิธีการที่ถูกต้องมากมายสักปานใด  หรือสันติเพียงใดก็ตาม ถ้าความมุ่งหมายผิดก็ต้องประสบกับความปราชัยล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง วิธีการและความมุ่งหมายเป็นเงื่อนไขซึ่งกันและกัน  ในการต่อสู้นั้นความมุ่งหมายคือยุทธศาสตร์ วิธีการคือยุทธวิธี

          ความมุ่งหมายหรือยุทธศาสตร์ ที่เรากำหนดขึ้นนั้นถูกต้องหรือไม่ เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุหรือแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ และเป็นการแก้ถูกปัญหาหรือไม่ ในการแก้ปัญหานั้นจะต้องพิจารณาปัญหา เหตุของปัญหา การแก้ปัญหา และวิธีแก้ปัญหาเป็นลำดับเช่น ทุกข์ สมุห์ทัย นิโรธ มรรค ดังเช่น การประยุกต์อริยสัจ 4  เข้ากับการแก้ปัญหาของประเทศไทย  คือ..

ทุกข์    คือ    ความยากจน  และปัญหาสิ่งแวดล้อม  ฯลฯ
สมุห์ทัย คือ    ระบอบเผด็จการรัฐสภา
นิโรธ   คือ    ระบอบประชาธิปไตย
มรรค    คือ  สร้างประชาธิปไตย
ความมุ่งหมาย คือ สร้างประชาธิปไตย
วิธีการ  คือ สันติวิธี  อหิงสาฮินดู อหิงสาพุทธ
 
       การต่อสู้อย่างสันติวิธีในประเทศไทยกับต่างประเทศ  ไม่เหมือนกันอย่างสิ้นเชิง  เพราะในประเทศไทยมีปัญหาพื้นฐานของชาติที่ยังแก้ไม่ตกมานานแล้วนับ  100  ปีเศษ  ปัญหาอื่นๆ   ของประเทศ เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสังคม  ปัญหาวัฒนธรรม และปัญหาสิ่งแวดล้อมขึ้นต่อปัญหาพื้นฐานที่สุดคือปัญหาประชาธิปไตย ถ้าแก้ปัญหาประชาธิปไตยสำเร็จจะเป็นเงื่อนไขให้แก่การแก้ปัญหาอื่นๆ แก้ไขได้สำเร็จต่อไป ดังนั้น  การต่อสู้อย่างสันติในประเทศไทย คือ  ต่อสู้อย่างสันติเพื่อสร้างประชาธิปไตย   หรือต่อสู้อย่างสันติเพื่อแก้ปัญหาพื้นฐานของชาติ  ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่โตที่สุดของประเทศชาติ

       แต่การต่อสู้อย่างสันติในต่างประเทศนั้น เป็นการต่อสู้อย่างสันติเพื่อแก้ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ เพราะปัญหาใหญ่หรือปัญหาพื้นฐานของประเทศนั้นแก้ตกมานับ  100-200  ปีแล้ว  คือ ประเทศเขาสร้างประชาธิปไตยแล้วเสร็จมาแล้ว นักต่อสู้อย่างสันติวิธีในประเทศเหล่านั้นจึงไม่มีเงื่อนไขได้ต่อสู้อย่างสันติในปัญหาใหญ่โตอันเป็นปัญหาพื้นฐานของชาติเหมือนดังบรรพบุรุษของเขาในอดีตอีกต่อไปแล้ว  นักต่อสู้อย่างสันติของต่างประเทศจึงมีโอกาสแค่ต่อสู้เพื่อแก้ไขปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ดังที่เห็นอยู่เท่านั้น เช่น ต่อสู้อย่างสันติวิธีเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

         วิธีการ เมื่อเรารู้ความมุ่งหมายที่แท้จริงแล้วว่าจะต่อสู้เพื่อแก้ปัญหาอะไร เช่น มหาตมะคานธีต่อสู้อย่างสันติเพื่อกอบกู้เอกราชอธิปไตยของประเทศอินเดีย คนไทยและองค์การต่าง ๆ ต่อสู้อย่างสันติวิธีเพื่อสร้างประชาธิปไตยของประเทศไทย คนอเมริกันต่อสู้อย่างสันติเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  เราจึงมาพิจารณาวิธีการต่อสู้อย่างสันติว่ามีกี่ชนิด

การต่อสู้ตามแนวทางสันติ มี 4  แบบคือ

-          สันติแบบธรรมดา
-          สันติแบบดุเดือด
-          สันติแบบอหิงสาฮินดู
-          สันติแบบอหิงสาพุทธ

        สันติแบบธรรมดา คือ การชุมนุม  การเดินขบวน  การปราศรัย การยื่นหนังสือ การหยุดงานแบบธรรมดาฯลฯแต่ไม่มีความมุ่งหมายเพื่อบรรลุโมกษธรรมทางศาสนา  (จิตใจ)
        สันติแบบดุเดือด  คือ การปลุกม็อบ  การกรีดเลือด  การทำร้ายตนเองอย่างรุนแรง   เช่น  ปาดคอ ตัดนิ้วตัดแขนตัดขา เผาตัว   นอนขวางถนนให้รถเหยียบ เป็นต้น แต่ไม่มีความมุ่งหมายเพื่อบรรลุโมกษธรรมทางศาสนา

        สันติแบบอหิงสาฮินดู  คือ เป็นการนำเอาวิธี  ปฏิบัติศาสนธรรมของศาสนาฮินดู เช่น  อดอาหาร  ทรมานตนเองให้เข้าถึงสิ่งสูงสุด  เช่น  พระเจ้าอาตมันหรือปรมาตมัน  มาประยุกต์ใช้กับการต่อสู้ทางการเมือง  เช่น  เพื่อเอกราช  เพื่อประชาธิปไตย  อันเป็นการทำเพื่อความสุขและประโยชน์ของผู้อื่นจำนวนมหาศาล  ไม่เบียดเบียนผู้อื่น   แต่เบียดเบียนตนเอง  เป็นสันติในศาสนาฮินดู  ศาสนาฮินดูเป็นศาสนาอัตตา  ดังนั้นจึงเป็น “อหิงสาแบบอัตตาหรืออหิงสาฮินดู” จะเป็นอหิงสาฮินดูต้องถือศาสนาฮินดูและดำเนินไปตามแบบอย่างนั้น เพื่อบรรลุอาตมันหรือ  ปรมาตมัน
สันติแบบอหิงสาพุทธ  คือ เป็นการนำเอามรรค 8  และวิธีปฏิบัติธรรมทั้งหลายของศาสนาพุทธมาประยุกต์ใช้กับการต่อสู้ทางการเมือง เช่น  กู้เอกราช  สร้างประชาธิปไตย  เป็นการนำเอาการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยมาเป็นเงื่อนไขในการปฏิบัติธรรมเผากิเลส  ละตัณหาของตนเอง เพื่อบรรลุสิ่งสูงสุดคือนิพพาน  จึงเป็นสันติวิธีตามหลักพุทธอหิงสาธรรม  คือไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เพื่อยังประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อม  เป็นสันติวิธีในศาสนาพุทธ  ศาสนาพุทธเป็นศาสนาอนัตตา  ดังนั้นจึงเป็น  “ อหิงสาแบบอนัตตาหรืออหิงสาพุทธ ”  จะเป็นอหิงสาพุทธต้องถือศาสนาพุทธ  และดำเนินตามแบบของพุทธศาสนาเพื่อบรรลุโมกษธรรมเฉพาะตน  และตามอุดมการของ ศาสนาพุทธ  คือ เพื่อประโยชน์แห่งมหาชน  เพื่อความสุขแห่งมหาชน  และเพื่ออนุเคราะห์โลก ท่านพุทธทาสภิกขุยืนยันไว้ว่า  “อหิงสาพุทธคืออรหันต์”  เมื่อปี พ.ศ.  2532  ณ  วัดสวนโมกข์ อำเภอไชยา  จังหวัดสุราษฎร์ธานี

          ดังนั้น  การหยุดงานทั่วไป  เพื่อยกเลิกระบอบเผด็จการรัฐสภา  สร้างระบอบประชาธิปไตยเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชน (ปวงชน)  และมีความมุ่งหมายทางศาสนา  ถือเป็นมาตรการปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุโมกษธรรม ก็ถือว่าเป็น “ อหิงสาพุทธ ”

         4.  ฉะนั้น  การต่อสู้ที่เป็นอหิงสาพุทธที่แท้จริง  คือ   การรู้อริยสัจสี่และปฏิบัติมรรคมีองค์  8  คือ “ รู้ว่าปัญหา รฟ. ราชบุรี (ทุกข์)  เกิดจากระบอบเผด็จการรัฐสภา  (สมุห์ทัย)  รู้ว่าแก้ปัญหาด้วยระบอบประชาธิปไตย  (นิโรธ) รู้ว่าการสร้างประชาธิปไตยเป็นวิธีแก้ปัญหา  (มรรค)”  การรู้เช่นนี้เรียกว่า  “ มีสัมมาทิฎฐิหรือมีความเห็นถูก ”  ยกเลิกระบอบเผด็จการรัฐสภาคือ การขจัดความเบียดเบียนให้แก่มหาชน และการสร้างประชาธิปไตยคือการยังประโยชน์สุขให้แก่ปวงชนโดยต่อสู้ผลักดันให้เป็นไปดังกล่าวนี้ด้วยวิธีตามหลักพุทธอหิงสาธรรม(อหิงสาพุทธ) คือ การหยุดงานทั่วไปที่ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น  นั่นคือหยุดงานทั่วไปด้วยความสมัครใจและสัมมาทิฎฐิอย่างกว้างขวางทั่วไป   การขจัดความกลัวในการหยุดงานทั่วไปด้วยจิตใจที่ไม่กลัวที่เกิดจากการเห็นอริยสัจ 4  ด้วยปัญญาอันชอบคือ การบรรลุโมกษธรรมนั่นเอง  และขจัดอหังการ มมังการในจิตใจต่อการหยุดงานทั่วไป  จึงเป็นอหิงสาพุทธที่ถูกต้องทั้งวิธีการและความมุ่งหมาย

         5.  ทำไมจะต้องใช้อหิงสาพุทธเข้าต่อสู้จึงจะประสบชัยชนะสามารถแก้ปัญหาตกไปได้ ใช้อหิงสาอื่นๆ  หรือใช้วิธีรุนแรงไม่ได้หรือ ?  สมัชชากรรมกรการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย  ขอชี้แจงว่า…ถ้าไม่ใช้อหิงสาพุทธกลับไปใช้วิธีรุนแรงหรืออหิงสาฮินดูเบียดเบียนตนเองแบบอัตตา เช่น กรีดเลือด ทั้งผู้ปกครอง(ผู้บริหาร)  และปวงชนชาวไทยโดยเฉพาะชาว  กฟผ.  จะไม่เข้าร่วมด้วย  จะโดดเดี่ยวจากประชาชน  ชาว กฟผ.   และผู้ปกครองประเทศ(ผู้บริหาร  กฟผ.)  เมื่อโดดเดี่ยวเพราะใช้วิธีที่ไม่สอดคล้อง  คนเกลียดชัง  ก็จะทำลายตนเองไร้พลังพ่ายแพ้ไปในที่สุด ต้องประยุกต์ใช้วิธีการต่อสู้ที่สอดคล้องถูกต้องตรงกับลักษณะพิเศษของชนชาวไทย  คนจึงจะเข้าร่วมต่อสู้ด้วย  คือ  ชนชาติไทยมีลักษณะพิเศษ 3 ประการ  คือ  รักความเป็นไท (Love  of  Independence)  อหิงสา หรือไม่เบียดเบียน (Non – violent) รู้จักประสานประโยชน์ (Power  of  Assimilation)  ที่ศาสตราจารย์ ยอร์จ เซเดย์ และกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ค้นพบและยืนยันไว้อย่างถูกต้องในอดีด   ตัวอย่างทัศนะของประชาชนต่อวิธีที่ไม่ใช้อหิงสาพุทธ  เช่น  กลัวม็อบ  เกลียดความรุนแรง หวาดเสียวต่อการกรีดเลือดทำร้ายตัวเอง  ไม่ชอบการอดข้าวที่เบียดเบียนตนเอง  ไม่ชอบการประท้วงวุ่นวาย  เป็นต้น  นั่นคือ วิธีการใดตรงข้ามกับพุทธศาสนาคนไทยไม่ยอมรับ  ถ้าเป็นวิธีที่ตรงกับพระพุทธศาสนาคนไทยยอมรับและจะร่วมมือด้วย
คนไทยถือกันว่า  “ต้องใช้วิธีการที่ชอบธรรมเพื่อบรรลุความมุ่งหมายที่ชอบธรรม”  ไม่ยึดถือแบบมิจฉาทฤษฎีของแม็คเคียวเวลลี่ว่า  “ ความมุ่งหมายให้ความชอบธรรมแก่วิธีการ ” (End justified  the mean)  หรือทฤษฎีตะวันตกว่า “ วิธีการให้ความถูกต้องแก่ความมุ่งหมาย” (Mean Rectified The End)  หลักธรรมแห่งพุทธศาสนาในอริยสัจ  4 พอใจให้คนไทยแก้ปัญหา(ทุกข์)ตามมรรคมีองค์  ๘  หรือ “ อริยมรรค ”  อันเป็นวิธีการต่อสู้แก้ปัญหาอันประเสริฐสูงส่งอันเป็นอหิงสาพุทธ  นั่นเอง

        การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ นอกจากจะต้องสอดคล้องกับจิตใจคนไทยที่มีหลักธรรมแห่งศาสนาพุทธประจำใจอยู่แล้ว  ยังจะต้องเป็นวิธีการที่ไม่ให้กิเลส  เช่น  โลภะ  โทสะ  โมหะ  กำเริบขึ้นมา (เป็นอหังการ  มมังการ)  ยังพึงใจอย่างยิ่งต่อวิธีการที่ลดละกิเลสตัณหาอุปาทาน  ฉะนั้น  การต่อสู้แบบอหิงสาพุทธไม่ใช่เป็นเพียงวิธีการที่จะแก้ปัญหาต่าง ๆ  ให้ตกไปเท่านั้น  แต่ยังเป็นการแก้ปัญหาจิตใจภายในไปพร้อมกันอีกด้วย  ฉะนั้น  อหิงสาพุทธนอกจากจะแก้ปัญหาให้เกิดประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อมแล้ว  ยังแก้ปัญหาทั้งภายนอกและภายในจิตใจไปพร้อมกันอีกด้วย  จึงเป็นการแก้ปัญหาได้ครบถ้วนรอบด้านสมบูรณ์บริบูรณ์อย่างแท้จริง
       
         
 
  
 
         
  
  
 
 
  
  
 
 

ปฏิวัติสันติ

 
สมัคร ยกเลิก
 
 
Revolutionary Press Agency
Online Journal and News Agency for Peace  :  วารสารและข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
Copyright © 2024 www.rpathailand.com All Rights Reserved.
ทำเว็บ  ออกแบบเว็บ  Web Design  เว็บสำเร็จรูป  เว็บไซต์สำเร็จรูป