Revolutionary Press Agency : Online Journal and News Agency for Peace
สำนักสื่อปฏิวัติ  : วารสารข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
8 มิ.ย. 2554 กองหน้าประชาชนรุ่นใหม่ อนุสรณ์ สมอ่อน ตอบคำถามคาใจทำไมต้องปฏิวัติประชาธิปไตย? 
ความจริงของสถานการณ์
- ตอน ๒ -

เขียนโดย นางแก้ว โพส ๒ ก.ค.๒๕๕๒:๒๓.๔๕ น.
เผยแพร่ครั้งแรก ๗ พ.ย.๒๕๕๑ 
 
“ การเคลื่อนพลังสันติสู่การถือดุลทางการเมืองโดยขบวนการประชาชนแห่งสัมมาทิฎฐิด้วย
การปกครองเฉพาะกาล”
 
  
   ตามที่กล่าวไว้ในตอนก่อนว่าการปรากฏของกลุ่มสันติเป็นเพียงการแสดงออกถึงความปรารถนา  มิได้สะท้อนถึงรูปธรรมและวิธีการ  ปรากฏการณ์กลุ่มผู้ไม่ฝักใฝ่ความรุนแรง หรือกลุ่มผู้ใช้แนวทางสันติออกมาขับเคลื่อนยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง แต่การประกาศแนวสันติเช่นนี้มีลักษณะแบบลัทธิสันติ (Pacifism) ที่แตกต่างพลังสันติที่ประกอบด้วยมรรคมีองค์ 8 ของพุทธศาสนา   เพราะว่าพระพุทธศาสนามุ่งเน้นที่การใช้ปัญญา ใช้สัมมาทิฎฐิ และมีรูปธรรมของมรรควิธีตามแนวทางมรรคมีองค์ ๘   อย่างไรก็ดีปรากฏการณ์การไม่เอาด้วยกับความรุนแรงได้สะท้อนลักษณะเด่นชัดที่สุดหนึ่งในสามลักษณะของอุปนิสัยคนไทยคือเป็นผู้ใฝ่สันติอหิงสา (Non-Violence) รักความเป็นไท (Love of Independence)  และรู้จักการประสานประโยชน์ (Power of Assimilation) ซึ่งปราชญ์ราชบัณฑิตได้กล่าวสรุปถึงอุปนิสัยคนไทยเอาไว้    ลักษณะประการที่หนึ่งและสองนั้นได้ปรากฏเป็นจริงชัดเจนแล้ว   ส่วนประการที่สุดท้ายเรื่องการประสานประโยชน์นั้น ยังต้องหาข้อพิสูจน์กันต่อ ท่ามกลางความแตกแยกจนปั่นป่วนทั่วแผ่นดินในขณะนี้ 

           กลุ่มบุคคลที่พยายามจะทำหน้าประสานประโยชน์เช่น สถาบันพระปกเกล้าฯที่กำลังเดินสายเข้าพบหลายฝ่ายจนตกเป็นข่าวรายวันนั้น  ยังไม่มีวี่แววว่าจะทำให้เกิดเป็นจริงได้     ภายใต้ข้อเสนอวิธีการ “สานเสวนา” ของนักวิชาการสายรัฐธรรมนูญนั่นเอง   มีผู้วิจารณ์ว่าล้มเหลวตั้งแต่การตั้งชื่อเลยทีเดียว เพราะว่าปัญหาประเทศชาติถึงขั้นสูญเสียชีวิต จะเป็นเพียงแค่   “ สานเสวนา”  นั้นไม่น่าจะเป็นไปได้   เพราะนี่คือ “ความขัดแย้งระดับโครงสร้างทางการเมือง” ไม่ใช่แค่คู่ขัดแย้งทำตาม “คำสั่งนาย” อีกต่อไป 

          จะเห็นว่าการเรียกร้องของประชาชนทุกฝ่ายทั้งฝ่ายพันธมิตรฯ ต้องการประชาธิปไตยจริง   แต่โครงสร้างเก่าเป็นระบอบเผด็จการ   ฝ่ายหนึ่งอ้างว่าเป็นประชาธิปไตยต้องรักษาไว้(นปช.)  อีกฝ่ายหนึ่งบอกว่าไม่เป็นประชาธิปไตยต้องทำลายลง (พธม.)   นี่คือความขัดแย้งระดับโครงสร้าง ไม่ใช่ความขัดแย้งระดับต่ำ   การเสนอให้นั่งเสวนากัน คงไม่ใช่ทางออกที่ถูกวิธี   และยังเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ 

          ข้อเสนอเรื่องการให้พลเอกเปรม มาเป็นคนกลางนั้นยิ่งพาให้เข้าใจต่ออีกว่านี่คือการเสนอแบบยุทธวิธี  เป็นความ “ยอกย้อนซ่อนเงื่อน” ให้ปลดล็อคไม่ออกยิ่งขึ้นไปอีก  เพราะข้อกล่าวหาเรื่องพลเอกเปรมอยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯโดยผนึกกำลังกับพรรคประชาธิปัตย์นั้นยังไม่จางหาย   ในขณะที่พันธมิตรฯโห่ร้องดีใจกับการประกาศการเข้าร่วมของตระกูล “จาติกวณิชย์” พวกเขาจะรู้หรือไม่ว่า  นี่คือปรากฏการณ์สะท้อนกลุ่มทุนเก่าที่อยู่เบื้องหลัง สู้กับกลุ่มทุนใหม่อย่างที่สนธิ ลิ้มทองกุลใช้อธิบายมาอย่างต่อเนื่อง   มองวิเคราะห์เจาะลึกกันถึงเบื้องลึกก็จะเห็นว่า สถานการณ์ “ขว้างงูไม่พ้นคอ” แบบนี้กำลังทำให้นักเคลื่อนไหวทุกฝ่ายผะอืดผะอมกับบทบาท ของการเข้าพวก  ถือหาง ช่วงชิงอำนาจแบบลิงได้แก้วตามที่ขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติได้เคยวิจารณ์ไปในบทความชิ้นก่อน
 
           ข้อเสนอ “ขว้างงูไม่พ้นคอ” แบบนี้ นอกจากจะไม่ได้สร้างการเมืองใหม่แล้วยังเป็น “การประสานผลประโยชน์”แบบเก่า มากกว่า “การประสานประโยชน์” ที่นำไปสู่การเมืองใหม่ สังคมใหม่ได้จริง   การเสนอแบบนี้หากผู้เสนอไม่รู้ที่มาก็เท่ากับเป็นการสร้างปมเงื่อน “ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก” สำหรับพลเอกเปรมโดยแท้   ระหว่างการเล็งดูปฏิกิริยาการตอบรับของพลเอกเปรมในสถานการณ์เช่นนี้อาจกลายเป็นเรื่องชวนหัวสำหรับฝ่ายนปช.ไป   ไม่ต่างกันกับประโยคที่วีระ มุสิกพงษ์กล่าวบนเวทีในวันที่ทักษิณโฟนอินเรื่องราชประชาสมาศัยว่าทำให้เขา “ขนลุก”  อย่างปรีดาปราโมทย์เต็มที่อย่างไรอย่างนั้น
 
           กระบวนการลอกกระพี้
 
           อย่างไรก็ดีนี่มิใช่เกมที่จะเล่นลิ้นกันไปมา  หากผู้เสนอชื่อคนกลาง อ่อนต่อการเมืองและไม่สามารถสะท้อนธาตุแท้ของปรากฏการณ์ได้จริง ก็ต้องถือว่าผู้เสนอ ไม่สมควรทำหน้าที่คนกลางต่อไปได้อีก  เพราะได้สะท้อนความอ่อนหัดทางการเมืองตั้งแต่เริ่มเสนอชื่อบุคคลเลยทีเดียว 

         การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุไม่ใช่ทางออก แต่ผู้แก้ปัญหาจะต้องมีความรู้พอที่จะ “สาวหาเหตุ” ให้พบ ผู้ที่จะมาเป็นคนกลางทำให้ความขัดแย้งนี้ยุติลงจะต้องมีแนวทางสายกลางที่ถูกต้องจริงมานำเสนอ  ซึ่งเป็นแนวทางที่สะท้อนความจริงและธาตุแท้ของปรากฏการณ์อย่างถึงที่สุด มากกว่าความน่าเชื่อถือทางสังคมของบุคคลผู้นั้นหรือกลุ่มบุคคลกลุ่มนั้น  

          สังคมไทยผ่านประสบการณ์การเรียนรู้ “กระพี้ปัญหา” มาหลายต่อหลายครั้ง แต่ไม่เคยทำความเข้าใจให้ถ่องแท้    การแสวงหา “แก่นปัญหา” นั้นจำต้องลอกเปลือก ลอกกระพี้ออกให้หมด  และเป็นการเรียนรู้ที่ต้องอาศัย “ความรู้เท่าทัน” เป็นเครื่องมืออุปกรณ์   หลายต่อหลายครั้งที่ทำให้ผู้คนผิดหวังเมื่อได้ค้นพบว่าภายใต้ความน่าเชื่อถือนั้นเป็นภาพลวงตาแบบ “ข้างนอกสุกใสข้างในเป็นโพรง” พันธมิตรฯเองผ่านประสบการณ์การแฉข้อมูลเขายายเที่ยงในช่วงอดีตนายกสุรยุทธ จุลานนท์  และก่อนหน้านั้นในช่วงรัฐบาลทักษิณ พวกเขาแฉเรื่องความเป็นนักกฎหมายรับใช้การเมืองเผด็จการของ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรโณและขุมข่ายผลประโยชน์ของกลุ่มทุนผ่านวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรในนามสถาบันพระปกเกล้าฯ  ส่งผลให้ดร.บวรศักดิ์ลาสิกขาบท เป็นพระบวรศักดิ์จนกลับเข้ามาใหม่อีกครั้งภายใต้ต้นสังกัดเดิมคือสถาบันพระปกเกล้าฯ 
 
 
         หากความผิดพลาดในการกระทำของมนุษย์เกิดจากความไม่รู้หรือ “อวิชชา” ดั่งพุทธธรรม การออกแรงเชียร์นายกฯสุรยุทธ์ในฐานะตัวบุคคลจนเกินเหตุของพันธมิตรฯจนทำให้พวกเขาอกหักไปตามๆกัน  และการออกบวชเพื่อแก้ไขสิ่งผิดของดร.บวรศักดิ์นั้น ล้วนแต่เกิดจากความไม่รู้ทั้งสิ้น   กล่าวถึงบรรทัดนี้ก็ได้ข้อสรุปที่ว่า  สังคมไทยต้องเรียนรู้จากความผิดพลาดของการ “ไม่รู้” ในอดีต เพื่อไม่ให้เกิดการทำผิดซ้ำอีก  สู่การ “รู้จริง” เพื่อแก้ปัญหาได้ถูกทาง จึงจะสานประโยชน์ได้   การประมวลเหตุการณ์ทบทวนที่มาของมูลเหตุ เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้   การมองทะลุผ่านภาพลวงตาต่างๆ ในสถานการณ์ขณะนี้เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง  และการเริ่มต้นจากข้อเท็จจริงที่ว่าประเทศชาติต้องการ “ความรู้” มิได้ต้องการ “ความน่าเชื่อถือ” ของผู้ที่จะมาเป็นคนกลางแก้ปัญหาประเทศชาตินั้นคือความจริงที่ใครอีกบ้างหาญกล้าปฏิเสธ ?   

        นี่คือความประหลาดของสังคมไทยที่ยังไม่สามารถกำหนดรู้ได้ว่าแท้จริงแล้วประเทศชาติต้องการอะไร ขาดสิ่งไหน และต้องเติมเต็มด้วยอะไรจึงจะแก้ปัญหาได้ถูกทาง   ข้อเสนอแบบนี้จะแก้ปัญหาได้ถูกจุดได้อย่างไร เพียงเริ่มต้นเสนอก็สะท้อนความพ่ายแพ้ตั้งแต่ต้นเลยทีเดียว !

           กระบวนการเข้าสู่แก่น....ประเทศไทยต้องการการสร้างประชาธิปไตย   
 
           มีข้อน่าสังเกตว่าทั้งสองฝ่ายคือพันธมิตรฯและนปช.มีคำอธิบายเหตุของการกระทำโดยใช้คำพูดเดียวกันคือ  จะต้องนำเอาการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขกลับคืนมาอีกครั้งให้จงได้   ฝ่ายพันธมิตรบอกว่าจะเอาคืนจากฝ่ายรัฐบาลสมชายหรือรัฐบาลทักษิณ ส่วนฝ่ายนปช.บอกว่าจะต้องแก้ปัญหาการละเมิดกติกาของพันธมิตรต่อระบอบประชาธิปไตยด้วยการยุติการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตร  ประชาธิปไตยจึงจะกลับคืนมาได้
 
           ในอีกความหมายหนึ่งทั้งสองต่างกล่าวหาซึ่งกันและกันว่าคือตัวการทำลายระบอบประชา
ธิปไตย และทั้งสองมิได้ผิดแต่อย่างใดที่ทำการเคลื่อนไหวฝ่ายตนเพื่อสู้ในสิ่งที่เขาคิดว่าถูกสำหรับประเทศชาติ ทั้งสองฝ่ายต่างบอกว่าตนเองทำเพื่อประเทศชาติด้วยกันทั้งสิ้น 
 
          หากจะละเว้นไม่พูดถึงขบวนการแนวร่วมคอมมิวนิสต์ที่อยู่เบื้องหลังทั้งพันธมิตรและนปช.ไว้ในฐานที่เข้าใจ เพราะผู้ไม่รู้เรื่องลัทธิและเคลื่อนไหวอย่างประชาชนผู้บริสุทธิ์นั้นย่อมมีอยู่ทั้งสองฝ่าย ปรากฏการณ์เช่นนี้กำลังสะท้อนความต้องการที่แท้จริงว่าประเทศชาติต้องการการสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นจริง  !

           คำตอบง่ายๆก็คือหากประเทศชาติต้องการประชาธิปไตยก็ให้เร่งสร้างประชาธิปไตย 
ปัญหาจะได้ยุติลง  แต่คำถามคือเพราะเหตุไรจึงแก้ปัญหาประชาธิปไตยไม่เคยสำเร็จ  ?
 
           สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นชัดเป็นรูปธรรมปัญหาเรื่องความเข้าใจประชาธิปไตยบนเวทีบน
เวทีพันธมิตรฯ   กล่าวคือผู้ปราศรัยบนเวทีหลายคนได้หยิบยกเรื่องปัญหาระบอบมาพูดและยอมรับว่าระบอบที่มีอยู่ปัจจุบันนั้นคือ “ระบอบเผด็จการรัฐสภา” มิใช่ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างที่ว่าตามกันมาแต่อย่างใด  แต่เมื่อถึงคราต้องโต้อธิบายด้วยเหตุผลเพื่อ “เอาชนะ” นปช. นักปราศรัยบนเวทีพันธมิตรก็กลับไปประเด็นเดิมเพื่ออ้างความชอบธรรมในการเคลื่อนไหวสรุปลงในประโยคที่ว่า ต้องการนำเอาการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขกลับคืนมา        ร่องรอยความไม่เป็นเหตุเป็นผล สร้างความสับสนมากกว่าความเข้าใจ  ทำให้มีข้อกังขาว่าผู้ปราศรัยบนเวทีพันธมิตรนั้น รู้เรื่องที่ตนเองกำลังพูดอยู่หรือไม่ หรือรู้แค่ไหน และระดับใด
 
           เมื่อมองรูปธรรมปัญหาถึงขั้นนี้ ขบวนฯจึงได้ข้อสรุปว่าการแก้ปัญหาประชาธิปไตยไม่
สำเร็จนั้นเกิดจาก “ความไม่รู้” นั่นเอง  การสาวหาเหตุแก้ปัญหาประชาธิปไตยที่ถูกต้องสำหรับทั้งพันธมิตรและนปช.นั้นในเบื้องต้นต้องยอมรับก่อนว่าระบอบที่มีอยู่มิใช่ประชาธิปไตย  แต่คือเผด็จการรัฐสภาฯ จึงจะเริ่มต้นแก้ปัญหาร่วมกันได้ถูกต้องทั้งสองฝ่าย การเคลื่อนไหวด้วยความไม่รู้จริงนำสู่ความรุนแรงด้วยอาการอาฆาตมาดร้ายต่อตัวบุคคลก็จะบรรเทาความรุนแรงลง  เพราะหากจะโทษความเห็นผิดต่อตัวบุคคลแล้วก็จะหันไปเพ่งโทษความเห็นผิดของการมีระบอบผิดแทน    จะเป็นวิธีการเดียวที่จะลดความรุนแรง เกลียดชังในจิตใจของทั้งสองฝ่ายได้ 
           
            กฎเกณฑ์แห่งกรรม....พระปกเกล้ารัชกาลที่ ๗ ไม่ใช่สถาบันพระปกเกล้าฯ
 
           ขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติในฐานะผู้อธิบายเรื่อง “ระบอบเผด็จการรัฐสภา” สวนทางกับนักวิชาการสายรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ ในประเทศไทยทุกสถาบัน จนทำให้ข้อเท็จจริงนี้ปรากฏเป็นที่ยอมรับของปัญญาชนคนไทยเพิ่มขึ้นจำนวนมาก โดยมีการต่อสู้ของขบวนการประชาชนผ่านพันธมิตรและนปช.(รัฐบาล) เป็นเงื่อนไขสำคัญ   

           แท้จริงแล้วสาเหตุที่ทำให้เกิดความขัดแย้งขั้นแตกหักในระหว่างนี้คือการที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการรัฐสภา  จึงทำให้เกิดคู่ขัดแย้งดังกล่าว  หากมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง  ความขัดแย้งก็จะไม่ลุกลามใหญ่โตถึงขั้นนี้  ขบวนฯจึงได้เสนอให้ทำการเปลี่ยนระบอบด้วยการสร้างประชาธิปไตย  หรือที่เรียกว่า “ปฏิวัติประชาธิปไตย”  ขึ้นมานั่นเอง  โดยมั่นใจว่าการให้ความรู้เรื่องการปฏิวัติประชาธิปไตย (Democratic Revolution) จะเป็นทางออกทางเดียวของประเทศไทยที่จะกู้วิกฤตชาติครั้งนี้ได้สำเร็จ   
 
            ความไม่รู้ต้องแก้ไขด้วยความรู้ซึ่งเป็นคู่ตรงข้ามกัน อุปสรรคของ “ความไม่รู้” ชัดเจนที่สุดของประเทศไทยเรื่องประชาธิปไตย มีสาเหตุหลักมาจากบทบาทของ“คณะราษฎร”ที่ทำให้คนไทยเชื่อว่าหลังการยึดอำนาจจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้ารัชกาลที่ ๗ ในวันที่ ๒๔มิถุนายน ๒๔๗๕ ได้แล้วคือการสร้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยสำเร็จ คณะราษฎรได้ดำเนินการทำให้ “รัฐธรรมนูญ” มีมนต์ขลังสะกดผู้มีโอกาสทางสังคมในประเทศ บินข้ามลัดฟ้าไปเรียนวิชากฎหมายฝรั่งเศสกันอยู่ชั่วอายุคน ความเป็นผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย  เป็นใบเบิกทางนำนักกฎหมายเข้าสู่สภาฯการเมือง  
 
            ดูเหมือนว่าในปัจจุบันการทำงานระดับนโยบายในประเทศไทยจะขึ้นอยู่กับการตีความทางกฎหมายประการเดียว คือถ้าชอบธรรมตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรานี้หรือมาตรานั้นแล้วจึงจะดำเนินการได้ หาเช่นนั้นแล้ว จะต้องยุติลง จนทำให้เกิดคำถามความหมายว่ากฎหมายนั้นมีไว้เพื่ออะไรกันแน่ ระหว่างเป็นข้อจำกัดและ/หรือเพื่อความชอบธรรมในการดำเนินการบางอย่าง  และมีเจตจำนงอะไรในแต่ละตัวบทกฎหมาย
 
           มรดกของคณะราษฎรสะท้อนผ่านสถาบันพระปกเกล้าในระยะหลายสิบปีที่ผ่านมา
สวนทางกับแนวทางปฏิวัติประชาธิปไตยในแนวทางของพระปกเกล้าฯรัชกาลที่ ๗ อย่างสิ้นเชิง  การใช้แนวทางของคณะราษฎรดำเนินงานภายใต้ชื่อ “สถาบันพระปกเกล้าฯ” นั้นเป็นการบิดเบือนความจริงโดยมิชอบ  และเป็นการตบตาคนทั้งประเทศอย่างไม่สง่างามเท่าไรนัก  เพราะคณะราษฎรคือผู้แย่งชิงบทบาทการสร้างประชาธิปไตยของสถาบันฯ  เมื่อแย่งชิงไปแล้วยังกลับมาใช้พระนามของพระองค์ในนามสถาบันฯ นี่คือความ “ยอกย้อนซ่อนเงื่อน” ไม่ซื่อตรงอีกคำรบหนึ่งของชนชั้นปกครองไทย
 
         แนวทางการสร้างประชาธิปไตยพระปกเกล้าฯด้วยการปฏิวัติประชาธิปไตยซึ่งเป็น “การปฏิวัติสันติ” (Peaceful Revolution) นั้นมีหลักฐานปรากฏอยู่ในพระราชหัตถเลขาของพระปกเกล้ารัชกาลที่๗ ถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ ๕ เมื่อพ.ศ.๒๔๗๐ ว่า
 “การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากแบบเดิมเป็นตั้งกระทรวง ๑๒ กระทรวงนี้ต้องนับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง ซึ่งเรียกได้อย่างพูดกันธรรมดาว่า “พลิกแผ่นดิน” ถ้าจะเรียกตามภาษาอังกฤษก็ต้องเรียกว่า “เรโวลูชั่น”
 
          “การเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงดังนี้มีน้อยประเทศนักที่จะทำสำเร็จไปได้
โดยราบคาบปราศจากการจลาจล หรือว่าจะไม่มีเลยก็เกือบว่าได้ ประเทศญี่ปุ่นได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างพลิกแผ่นดินเหมือนประเทศสยาม แต่หาดำเนินการได้สงบราบคาบอย่างประเทศสยามไม่ ยังมีการจลาจลในบ้านเมือง เช่น กบฏสัตสุมา เป็นต้น”
 
          กฎเกณฑ์แห่งกรรมอันนี้ทำให้สถาบันพระปกเกล้าฯไม่สามารถเป็นตัวกลางเจรจาแก้
ปัญหาประเทศชาติท่ามกลางขบวนการแนวร่วมคอมมิวนิสต์ได้เลยแม้แต่น้อย เพราะสถาบันพระปกเกล้าฯคือผู้สืบทอดมรดกทางความคิดของคณะราษฎร  นี่คือผลแห่งกรรมที่สะท้อนข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการปฏิวัติประชาธิปไตย  จะไม่สามารถดำเนินการได้สำเร็จ
 
         นี่คือฝ่ายอุปสรรคของการปฏิวัติประชาธิปไตยในประเทศไทยกลุ่มหนึ่ง ที่ขบวนฯเรียกว่านักวิชาการ  “เสาค้ำรัฐธรรมนูญ” (อ่านเพิ่มเติมภัยจากลัทธิรัฐธรรมนูญ)  ยังมีอีกอุปสรรคหนึ่งนอกเหนือจากสายเสาค้ำนี้คือ  สายนักคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ โดยตรงที่ไม่ต้องผ่านแนวร่วม นั่นก็คือ การต่อสู้ระดับความคิดของฝ่ายประชาธิปไตยกับฝ่ายสำนักคิดคอมมิวนิสต์นั่นเองซึ่งจะกล่าวถึงในบทต่อไป
 
          ใครเข้าถึงสัจธรรมก่อนดำเนินการก่อน
 
          นักเคลื่อนไหว นักปราศรัยบนเวที นักวิชาการ นักจัดรายการ  มักชอบอ้างว่า เรื่องที่เขาพูด คิดขึ้นมาก่อนใคร  เป็นการแสดงตนแบบมีอัตตา  ทั้งๆที่ข้อเท็จจริงคือคนเราสามารถคิดเรื่องเดียวกันได้  และแสดงออกมาด้วยการพูดหรือการกระทำเกือบจะพร้อมๆกัน  แต่มักไม่ยอมกัน เรื่องนี้สะท้อนความมี “อัตตา” ของปัญญาชนไทย ที่เข้าไม่ถึงหลักศาสนา  

          เรื่องการปฏิวัติประชาธิปไตยนี้ จริงๆแล้วพระมหากษัตริย์ดำเนินการมาก่อนใครทั้งสิ้น  และดำเนินการมาร้อยกว่าปีแล้ว แต่ยังไม่สำเร็จ  เพราะมีอุปสรรคจากนักเรียนหัวนอกตะวันตกเสียเป็นส่วนใหญ่  เช่นอ.ปรีดีเป็นต้น หมดจากยุคอ.ปรีดี ในสมัยนี้เราก็มีอ.บวรศักดิ์ อุวรรโณ ฯลฯ
 
         ที่ทรงดำเนินการมาก่อนเพราะทรงเห็นสัจธรรมก่อนใคร คือสัจธรรมของการเปลี่ยนแปลงในโลก  ในยุคที่มีการปฏิวัติประชาธิปไตยนั้นการเมืองโลกเปลี่ยน  ประเทศสยามภายใต้สังคมโลกก็จะต้องเปลี่ยนไปด้วย  และเป็นการเปลี่ยนที่สอดคล้องกับยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลง  คือการเปลี่ยนจากยุคประวัติศาสตร์เก่าสู่ประวัติศาสตร์สมัยใหม่ในช่วงลัทธิล่าอาณานิคม  การสื่อสารด้วยพิธีทางการทูต การคุกคามทางการทหาร  ฯลฯ  เปลี่ยนจากยุคเกษตรกรรมสู่ยุคอุตสาหกรรม  โลกทั้งใบกำลังเปลี่ยนจากยุคเจ้าครองนคร และเศรษฐกิจแบบศักดินาสู่การผลิตแบบใหม่  ที่ต้องปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการผลิตใหม่ที่ส่งผลต่อสังคม เศรษฐกิจ การเมืองการปกครองทั้งองคาพยพ
 
         การเห็นพลวัตการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้  ทำให้พระมหากษัตริย์ผู้ทรงมองการณ์ไกล เริ่มต้นการเปลี่ยนระบอบด้วยพระองค์เอง  พระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ ๕ มิได้ทรงจะยึดอำนาจไว้กับพระองค์เอง   ทรงมีพระราชปณิธานอันแรงกล้าที่จะมอบให้แก่ประชาชน  เมื่อได้รับการกราบบังคมทูลจากกรมพระนเรศวรฤทธิ์ให้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยนั้น   ทรงตอบโต้เป็นพระราชหัตถเลขา   ว่ามิได้ทรงเป็น “คางคกตกอยู่ในกะลาครอบ”  ดังปรากฏในวรรคที่ว่า
 
         “ ไม่ต้องห่วงระแวงอย่างหนึ่งอย่างใดว่าเราจะเป็นผู้ขัดขวางในการที่จะเสียอำนาจซึ่งเรียกว่าแอบโซลูตเป็นต้นนั้นเลย...แลการที่ควรจะทำการทำนุบำรุงให้เจริญอย่างไรเล่า  เรามีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะจัดการนั้นให้สำเร็จตลอดไปได้...แลการซึ่งเราได้ขวนขวายตะเกียกตะกายอยู่ในการที่จะเปลี่ยนมาแต่ก่อนจนมีเหตุบ่อยๆ เป็นพยานของเราที่จะยกขึ้นชี้ได้ว่า เราไม่ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินซึ่งเหมือนอย่างคางคกตกอยู่ในกะลาครอบ  ที่จะทรมานให้สิ้นทิฎฐิ ถือว่าตัวโตนั้น ด้วยอย่างหนึ่งอย่างใดเลย”
 
         วิบากของประเทศ สะท้อนผ่านการทำงานและความไม่เข้าใจของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เมื่อมีผู้คิดค้นการประยุกต์แนวทางการปฏิวัติสันติอีกครั้งหนึ่งผ่านนโยบาย๖๖/๒๓ พลเอกเปรมได้นำนโยบาย ๖๖/๒๓มาปฏิบัติเพียงขั้นตอนที่หนึ่งแต่มิได้ปฏิบัติภารกิจขั้นตอนที่สองให้แล้วเสร็จ    เท่ากับเป็น “การปฏิวัติครึ่งเดียว”    สาเหตุของการปฏิวัติครึ่งเดียวของพลเอกเปรมนั้น  มิได้เกิดจากต้องการให้ประเทศชาติล่มจมไปตามกาลเวลาหากแต่เกิดจาก “ ความไม่รู้ ”  หรือการเข้าไม่ถึงสัจธรรมของพลเอกเปรมเอง  ดังนั้นเมื่อมีการเสนอการเปลี่ยนระบอบอีกครั้งด้วยข้อเสนอ
“ สภาปฏิวัติ ” ในปี ๒๕๓๑ โดยคณะบุคคลหนึ่ง  ริเริ่มโดยอ.ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร นั้น พลเอกเปรมกลับแสดงการไม่เอาด้วยกับสภาปฏิวัติที่เสนอการถวายคืนพระราชอำนาจ  ด้วยการชิงเดินทางไปต่างประเทศเสียก่อน    ในครั้งนั้นฝ่ายปฏิวัติประชาธิปไตยได้ทูลเกล้าถวายฎีกา แต่ขาดผู้สนองพระบรมราชโองการขั้นตอนสำคัญของการถ่ายโอนอำนาจนั่นเอง  

         ผู้คิดค้นนโยบาย ๖๖/๒๓นั้นมิได้ยกตนข่มท่านว่าเป็นผู้คิดค้นทฤษฎีนี้มาก่อน  หากแต่ได้อธิบายว่านโยบายนี้มาจากการนำแนวทางสร้างประชาธิปไตยของพระปกเกล้าฯรัชกาลที่ ๗ มาประยุกต์ใช้   ผู้ที่เริ่มเห็นจริงแล้วว่าแนวทางนี้เป็นคำตอบของปัญหาหากแต่ยังตะขิดตะขวงใจกลัวการผิดพวกผิดพ้องก็จะได้สบายใจ  เพราะว่าผู้นำเสนอแนวทางมิได้อ้างตนว่าเป็นเจ้าของผลงานเหมือนการเลื่อนขั้นของระบบราชการ หรือผู้ถือยศติดศักดิ์ทั้งหลายตามโลกธรรม ๘   แต่เป็นเพียงผู้ปฏิบัติทฤษฎีให้บังเกิดเป็นจริง หากน้อมใจกันนำไปปฏิบัติก็เท่ากับว่าได้แสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อบูรพมหากษัตราธิราชเจ้า ๓ พระองค์ที่ได้ทรงเพียรสะสมความรู้ทิ้งไว้ให้มากมาย
 
         เป็นไปดังที่ปราชญ์ราชบัณฑิตสรุปไว้ว่า ผู้ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงประเทศไทยได้นั้น  จะต้องเป็นผู้บรรลุโมกษธรรมระดับหนึ่ง   เพราะขบวนเผด็จการในประเทศไทย ได้กระชับแน่นและวางหมากกลตบตาไว้หลายชั้นจนผู้ไม่ถึงธรรม จะไม่มีวันมองทะลุไปถึงแก่นของปัญหาได้ 
 
         จะหยั่งรู้ทุกข์ของประเทศได้ ต้องละการมองปัญหาด้วยการใช้หลังพิงพวกพ้อง ละวางสักกายทิฎฐิระดับกลุ่มบุคคล   พิจารณาความไม่เที่ยงของการรวมตัว  มองเห็นปัญหาโดยปราศจากฉันทาคติต่อพวกตนและอคติต่อฝั่งตรงข้ามได้   เป็นการรุกคืบด้วยการถึงสัจธรรม ใครถึงก่อนก็ได้กำไรทางจิตวิญญาณไปก่อน 
 
          วิธีคิดแบบนี้จึงจะแก้ปัญหาการอ้างว่ากลุ่มตน พวกตนคิดและทำเรื่องนี้มาก่อนใคร และจึงจะละตัวตนไม่เป็นเจ้าของทฤษฎีได้  สามารถทำงานส่วนรวมโดยไม่ต้องแสวงหาบทบาทอย่างเป็นไปเอง            
 
           การรุกคืบของฝ่ายสันติด้วยการปกครองเฉพาะกาลต่อทุกฝ่าย
 
          ปรากฏการณ์การเดินธรรมยาตราของเกษตรกรชาวนาจำนวนหลายพันคนเพื่อเสนอ “การปกครองเฉพาะกาล” เป็นทางออก  เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคมหลังการชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้าของคนจำนวนนับหมื่นพร้อมการปราศรัยนำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาด้วยการถวายฎีกา “ การปกครองเฉพาะกาล ” (Provisional Government)  เป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน
 
          เกิดสิ่งใหม่ขึ้นเมื่อหนึ่งในแกนนำพันธมิตรคือพลตรีจำลอง ศรีเมืองประกาศยอมรับแนวทาง “ การปกครองเฉพาะกาล ” ที่ขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติเสนอ  ไล่เลี่ยกันกับการตอบรับการปกครองเฉพาะกาลโดยอ.บวรศักดิ์ อุวรรโณในนามสถาบันพระปกเกล้าฯผู้สืบทอดแนวทางคณะราษฎรตามที่ปรากฏเป็นข่าว พร้อมๆกับพรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะก็ยอมรับ “รัฐบาลแห่งชาติ” ซึ่งเสนอโดยขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติ ด้วยเช่นกัน

          นี่คือเหตุการณ์สะท้อนความพ่ายแพ้ของลัทธิรัฐธรรมนูญต่อประชาธิปไตยอย่าง
สิ้นเชิง   ปรากฎชัดเมื่อเกิดกรณีการถกเถียงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และสสร.๓นั้น จนได้ข้อสรุปว่าการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญไม่เกิดประโยชน์อันใด  และไม่ใช่ทางออกของประเทศ !  
 
       ในขณะที่การต่อสู้กันทางความคิดกำลังเข้มข้นจากปฏิกิริยาของทุกฝ่ายหลังการเสนอเรื่องการปกครองเฉพาะกาลผ่านพ้นไป   สงครามตัวแทนประชาชนก็กำลังอ่อนล้าลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย      ในขณะที่ภาพการใส่เสื้อสีแดงพร้อมอัฒจรรย์ที่นั่งสีแดงฉาน ณ สนามราชมังคลากีฬาสถานปรากฎเป็นภาพข่าว  จาตุรน ฉายแสงกุนซือผู้ทำแนวร่วมคอมมิวนิสต์คนสำคัญของฝั่งนปช.ในเสื้อสีแดง ทำหน้าที่นั่งแถลงข่าวกลางสนามร่วมกับวีระ มุสิกพงษ์ กำลังสะท้อนให้เห็นการ “ลงมาเล่นเอง” ของขบวนการแนวร่วมแล้ว  
 
        สถานการณ์การต่อสู้ในขณะนี้คือม็อบนปช.คือกองหน้ามวลชนของรัฐบาล  ในขณะที่พันธมิตรคือมวลชนของประชาธิปัตย์  คำถามคือ นี่คือมิติใหม่ของการต่อสู้ใช่หรือไม่ ? หรือเป็นเพียงการหาทางออกไม่พบของทุกฝ่ายกันแน่ ?  

           สถานการณ์ติดล็อคแบบ No Exit คือขบวนการแนวร่วมคอมมิวนิสต์นปช.กับเผด็จการพลเรือน (รัฐบาล) คือเสื้อแดง  ไม่เอาด้วยกับทหาร สะท้อนเห็นชัดว่านปช.พร้อมใจยอมจำนนต่อเผด็จการพลเรือนภายใต้ระบอบทักษิณ
 
           ส่วนพันธมิตรฯนั้นดูเหมือนก้าวหน้ากว่าตรงที่สู้กับเผด็จการรัฐสภาโดยตรง  เพราะมองเห็นยากกว่า  แต่เมื่อถึงเวลาเปิดเกมสู้กลับไปดึงทหารมาสู้ด้วยเนื่องจากความไม่รู้   ทำให้ถูกกล่าวหาจากหลายฝ่ายว่าเป็นพวกถอยหลังเข้าคลองพากันกลับไปสู่เผด็จการทหารอีกครั้งหนึ่ง  ความขัดแย้งในขั้นสูงสุดของสงครามตัวแทนทั้งสองฝ่ายคือการก่อสงคราม  สู่การสูญเสีย   ซึ่งไม่มีใครต้องการให้เกิดและต้องการยุติปัญหาความรุนแรงลงอย่างเป็นเอกฉันท์
 
            เท่ากับว่าได้ทำให้ถึงข้อสรุปที่ว่าทั้งสองฝ่ายสร้างประชาธิปไตยไม่เป็นทั้งคู่  !
 
          คำถามขั้นต่อไปต่อคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายคือ  สุดสายป่านของทั้งสองฝ่ายอยู่ที่ไหน ?  ความรุนแรงเช่นนั้นหรือ ?
 
         นอกจากจะมีอุปสรรคจากนักวิชาการสายเสาค้ำรัฐธรรมนูญแล้ว ยังเกิดปรากฏการณ์ใหม่จากปฏิกิริยาของนักวิชาการซ้ายคนสำคัญเรื่องข้อเสนอการปกครองเฉพาะกาล  ในบทวิจารณ์ของดร.นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์ ต่อพลเอกชวลิต ยงใจยุทธที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชน   ซึ่งนับว่าเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญของ “การยกระดับการต่อสู้ขึ้นสู่การสู้ทางความคิด”   การต่อสู้แบบนี้แตกต่างจากขบวนการแนวร่วมเพราะเป็นการว่ากันโดยความคิดและหลักการล้วนๆ ไม่ใช้ยุทธวิธีพูดดำเป็นขาวพูดขาวเป็นดำแบบพวกแนวร่วมนักเคลื่อนไหวทางการเมืองกลุ่มต่างๆ
 
           กล่าวโดยสรุปว่าผลของการเสนอเรื่องการปกครองเฉพาะกาลส่งผลให้เกิดการโต้กัน
ในระดับสูงคือในระดับนักคิด  เป็นการยกระดับทางปัญญา ทัศนะต่างๆของผู้โต้จะสะท้อนวิธีคิดของสำนักคิดในประเทศไทยให้ปรากฏออกมา   การแลกเปลี่ยนเช่นนี้มิได้เป็นอันตรายต่อประเทศชาติ กลับจะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้รับฟังทัศนะที่แตกต่าง ได้แง่มุมที่เป็นประโยชน์หากคัดเลือกเฉพาะสิ่งดีนำมาใช้   อาจทำให้เกิดการเข้าถึงทางปัญญาของสาธารณชนได้   และทำให้ช่องว่างทางความคิดระหว่างสำนักต่างๆที่ดูลึกลับล่อแหลมเป็นอันตรายต่อสังคมถูกทำให้แคบลง   เกิดความใกล้ชิดกับประชาชนยิ่งขึ้น  ประชาชนเองก็จะไม่รู้สึกว่าห่างไกลความรู้จนพึ่งตัวเองไม่ได้จนต้องพึ่งระบบวีรบุรุษบนเวทีปราศรัยฯลฯ  

           ความก้าวหน้าของสถาบันฯที่ถูกทำให้ดูล้าหลัง
 
          อีกปรากฏการณ์หนึ่งคือการเสนอ  “ราชประชาสมาศัย”  ของนักวิชาการกลุ่มหนึ่ง   ทำให้กุนซือแนวร่วมพันธมิตรฯ คำนูณ สิทธิสมานออกมาอธิบายแนวทาง “ราชประชาสมาศัย” ในบทความของเขาทันทีทันใดว่ามีที่มาจากท่านอาจารย์ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมทย์    ม.ร.ว.คึกฤทธิ์นั้นถือเป็นตัวแทนอนุรักษ์นิยมขวาจัด   การชิงอธิบายเรื่องที่มาของราชประชาสมาศัยในบทความของคำนูณซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ จึงเป็นการสะท้อนจุดยืนอันน่าสับสนของคำนูณ สิทธิสมานอย่างยิ่งในฐานะลูกศิษย์อ.ผิน บัวอ่อน เจ้าสำนักคิดฝ่ายซ้าย

          ว่ากันตามเนื้อผ้าโดยไม่จำเป็นต้องเจาะลึกถึงแนวร่วมแบบ “อีแอบ” ที่ซ่อนตัวอยู่ แนวทางราชประชาสมาศัยนั้นเป็นความคิดริเริ่มของผู้ประสงค์ดีต่อสถาบันฯก็จริงแต่หารู้ไม่ว่าสถาบันฯในอดีตนั้นก้าวหน้ากว่านั้นมาก

         แท้จริงแล้วสถาบันฯ นอกจากจะได้ทำการศึกษาลัทธิประชาธิปไตยล่วงหน้าตั้งแต่จุดเริ่มต้นการสร้างรัฐชาติสมัยใหม่   ยังทรงคิดริเริ่มดำเนินการถึงขั้นลงมือปฏิบัติให้เกิดขึ้นไว้ในเบื้องต้นแล้ว    ด้วยการนำหลักการประชาธิปไตยมาปฏิบัติให้ปรากฏ ในรัชกาลของพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ ๕  ภายใต้การเปลี่ยนแปลงแบบ “ปฏิรูปในปฏิวัติ” หรือ Reform in Revolution  คือการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากแบบเก่ามาเป็นระบบกระทรวง  และทำการเลิกทาส คือการให้หลักความเสมอภาคของมนุษย์ควบคู่กับการจัดโครงสร้างใหม่ของการปกครอง  ซึ่งนับเป็นความก้าว
หน้าอย่างยิ่งของสถาบันพระมหากษัตริย์
 
         ส่วนราชประชาสมาศัยที่มีการกล่าวถึงแบบยุทธวิธีบนเวทีนปช.โดยวีระ มุสิกพงษ์ เป็นการดูแคลนทั้งสถาบันฯทั้งนักวิชาการไปด้วย   โดยหารู้ไม่ว่าสถาบันฯได้สะสมวิชชาความรู้ผ่านตำราและมีหลักฐานให้สืบค้นได้จริง ข้อเท็จจริงเช่นนี้ทำให้วีระ มุสิกพงษ์กลายเป็นผู้รู้ไม่จริงไปในทันที
 
         สิ่งที่ต้องชี้ให้เห็นชัดก็คือ ความเหมือนโดยรูปการของราชประชาสมาศัยกับการ-
ปกครองเฉพาะกาลนั้นอยู่ตรงที่การถวายฎีกาในหลวง  แต่แตกต่างกันอย่างลิบลับตรงที่ ราชประชาสมาศัยเป็นแนวทางที่พัฒนามาจากแนวอนุรักษ์นิยมขวาจัด   ส่วนการปกครองเฉพาะกาลนั้นมีที่มาจากการสร้างประชาธิปไตยของสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรง !
 
        ดังนั้นราชประชาสมาศัยจึงมีลักษณะอนุรักษ์นิยมขัดแย้งกับการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลก และที่สำคัญสวนทางกับพระราชปณิธานของพระมหากษัตริย์สามรัชกาล คือร.๕ ร.๖ ร.๗ ที่ทรงปรารภความเพียรในการปฏิวัติประชาธิปไตยให้เกิดในแผ่นดินไทยมากว่าร้อยปี !
     
         จำแนกข้อเปรียบเทียบให้เห็นเด่นชัดขั้นนี้ อาการ “ ขนลุก” ของวีระ มุสิกพงษ์ต่อราชประชาสมาศัย อาจเปลี่ยนเป็นอาการ “ขนหัวลุก” ต่อการปกครองเฉพาะกาลก็ย่อมได้หากมีการปฏิบัติปรากฎเป็นจริงขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้นี้ !


         
 
  
 
         
  
  
(อ่านต่อตอนหน้า)
 
  
  
 

ปฏิวัติสันติ

 
สมัคร ยกเลิก
 
 
Revolutionary Press Agency
Online Journal and News Agency for Peace  :  วารสารและข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
Copyright © 2024 www.rpathailand.com All Rights Reserved.
ทำเว็บ  ออกแบบเว็บ  Web Design  เว็บสำเร็จรูป  เว็บไซต์สำเร็จรูป