Revolutionary Press Agency : Online Journal and News Agency for Peace
สำนักสื่อปฏิวัติ  : วารสารข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
8 มิ.ย. 2554 กองหน้าประชาชนรุ่นใหม่ อนุสรณ์ สมอ่อน ตอบคำถามคาใจทำไมต้องปฏิวัติประชาธิปไตย? 
ภัยจากลัทธิรัฐธรรมนูญต่อประเทศไทย
โดย ขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติ
๑๖ มิ.ย.๒๕๕๒  ๒๓.๕๐ น.
เผยแพร่ครั้งแรก ๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๙
 
 
      การโค่นล้มรัฐบาลสมเด็จพระปกเกล้าฯ ที่กำลังสร้างประชาธิปไตยตามพระบรมราโชบาย สถาปนาการปกครองแบบประชาธิปไตยในขั้นตอนที่ 2 ต่อจากพระบรมราโชบายแก้ไขการปกครองแผ่นดินสยาม ของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ขั้นตอนที่ 1 ลงเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 แล้วสถาปนาการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญขึ้น โดยคณะราษฎรนั้นเป็นการทำลายการสร้างประชาธิปไตยของพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 และ รัชกาลที่ 7 ลงอย่างน่าเสียดายยิ่ง และเป็นการเริ่มต้นของการปกครองลัทธิรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการปกครองแบบเผด็จการ ภัยของลัทธิรัฐธรรมนูญ จึงเกิดขึ้นต่อประเทศไทยตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา จนถึงบัดนี้เป็นเวลากว่า 74 ปี

         การสร้างประชาธิปไตยในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์โดยพระมหากษัตริย์ ร.5 เมื่อ พ.ศ.2435 จนถึง ร.7 พ.ศ.2475 เป็นเวลา 40 ปี ประสบความสำเร็จเพราะทรงใช้นโยบายเป็นเครื่องมือสร้างประชาธิปไตย

        แต่การสร้างรัฐธรรมนูญในระบอบเผด็จการรัฐสภาโดยคณะราษฎร เมื่อ พ.ศ.2475 จนถึง พ.ศ.2549 โดยคณะรัฐประหาร และคณะพลเรือนในรูปของพรรคการเมืองประสบความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาชาติสร้างประชาธิปไตยตลอดมากกว่า 74 ปี เพราะสร้างรัฐธรรมนูญอย่างเดียว

        หรือแม้จะสร้างประชาธิปไตยก็สร้างผิดเพราะใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือสร้างประชาธิปไตย ไม่ใช้นโยบายสร้างตามแบบอย่างอันถูกต้องตามหลักวิชา ของพระมหากษัตริย์ที่ทรงสร้างประชาธิปไตยสำเร็จในขั้นตอนที่ 1
 
         ดังนั้นภัยของลัทธิรัฐธรรมนูญต่อประเทศไทยจึงเกิดขึ้นครั้งแรกด้วยการทำลายการ
สร้างประชาธิปไตยของพระมหากษัตริย์ ร.5-ร.7 ลงเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 
 
 
      และภัยต่อมาคือการสร้างการปกครองของลัทธิรัฐธรรมนูญขึ้นตามแนวทางของคณะราษฎร คือ "เปลี่ยนแปลงการปกครองจากกษัตริย์อยู่เหนือกฎหมาย มาเป็นการปกครองกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย"
 
 
         นี่คือระบอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของทฤษฎีผิดมิจฉาทิฐิตามหมุดทองเหลือง
ที่รัฐบาลจอมพล ป.ได้ฝังไว้ ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า เมื่อ พ.ศ.2483 ว่า "ณ ที่นี่ วันที่ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ"
 
 
        การรัฐประหาร เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ได้เป็นจุดเริ่มต้นการก่อกำเนิด "วงจรอุบาทว์ทางการเมือง" ของประเทศไทย คือ รัฐประหารเพื่อสร้างรัฐธรรมนูญแล้วต่อมาคณะราษฎรก็ได้จัดให้มีการเลือกตั้งครั้งแรกขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2476 เพื่อพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญไว้ต่อไป  ดังนั้น รัฐธรรมนูญจึงกลายเป็นแกนกลางหรือนิวเคลียส (Nuclease) ของวงจรอุบาทว์ที่มีการรัฐประหาร และการเลือกตั้งวิ่งวนอยู่โดยรอบ
 
 
        และแล้วตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาจึงมีการรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ ร่างรัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้ง ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ร่างรัฐธรรมนูญ มีรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ ร่างรัฐธรรมนูญ เลือกตั้งๆๆๆ วนเวียนสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนตลอดมาจนถึงบัดนี้  สร้างความหายนะวิบัติล่มจมให้แก่ชาติบ้านเมืองและสร้างความยากจนให้แก่ประชาชนตลอดมา
 
 
       การรัฐประหารกับการเลือกตั้งภายใต้ลัทธิรัฐธรรมนูญปกครองประเทศนั้น เป็นภัยต่อประเทศชาติและประชาชนตลอดมากกว่า 74 ปี ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
 
1.วิธีการ คือ รัฐประหารและการเลือกตั้ง
2.ความมุ่งหมาย คือ ระบอบรัฐธรรมนูญ
 
       วิธีการย่อมรับใช้ความมุ่งหมาย คือ การรัฐประหาร และการเลือกตั้งย่อมรับใช้ระบอบรัฐธรรมนูญ อันเป็นระบอบเผด็จการเสมอไป นั่นคือ ย่อมรักษาและพัฒนาและกระชับระบอบเผด็จการการเลือกตั้งของระบอบเผด็จการ ย่อมรักษา และกระชับระบอบเผด็จการเสมอไป ดังนั้น ยิ่งรัฐประหาร ยิ่งเลือกตั้ง ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญยิ่งเป็นเผด็จการ เช่น ระบอบเผด็จการทักษิณ เป็นต้น
 
         ต่อมาได้มีกระแสความเรียกร้องต้องการประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น วงจรอุบาทว์ที่มีการ
รัฐประหาร กับการเลือกตั้งวิ่งรอบรัฐธรรมนูญ อันเป็นแกนกลาง ได้เปลี่ยนแปลงมาเป็นการนำเอาวงจรอุบาทว์ มาสร้างประชาธิปไตย โดยใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือสร้างยิ่งทวีความผิดพลาด และสร้างความสับสนสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น
 
 
         นอกจากจะใช้การรัฐประหารและการเลือกตั้งเพื่อสร้างประชาธิปไตยแล้วยังเพิ่ม "การชุมนุมใหญ่" เพื่อสร้างประชาธิปไตยขึ้นมาอีก เช่น เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 โดยนิสิตนักศึกษาที่มีเจตนาประชาธิปไตย แต่ข้อเรียกร้องกลับเป็นรัฐธรรมนูญ เพราะเข้าใจผิดว่ารัฐธรรมนูญ คือ ประชาธิปไตย เพราะรัฐบาลจอมพล ป.ปีกหนึ่งของคณะราษฎร สร้างอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญแต่กลับตั้งชื่อว่า "อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย"
 
        ดังนั้น จะรัฐประหารหรือเลือกตั้งหรือชุมนุมใหญ่เพื่อประชาธิปไตยอย่างไร ก็จบลงด้วยการได้รัฐธรรมนูญไม่ได้ประชาธิปไตยสักครั้งเดียว ประเทศไทยจึงร่ำรวยรัฐธรรมนูญตั้ง 17 ฉบับ แต่ยากจนประชาธิปไตยไม่มีเสรีภาพของบุคคลบริบูรณ์ไม่มีอำนาจอธิปไตยของปวงชน ไม่มีความเสมอภาค ไม่มีหลักนิติธรรม ไม่มีการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยที่แท้จริง    มีแต่เผด็จการ ทั้งเผด็จการรัฐประหาร และเผด็จการรัฐสภาของลัทธิรัฐธรรมนูญตลอดมา
 
         คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปค.) ซึ่งได้เข้ายึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 โค่นล้มระบอบเผด็จการทักษิณลง แล้วเริ่มเดินตามวงจรอุบาทว์เดิมอีกแล้ว คือ ยึดอำนาจเพื่อสร้างรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ คือ สร้างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2549 และสร้างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร พ.ศ.2550 โดยใช้เวลาประมาณ 1 ปี ซึ่งก็จะจบลงด้วยการได้รัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ แต่ไม่ได้ประชาธิปไตยอะไรทั้งสิ้น เพราะไม่มีขั้นตอนในการสร้างประชาธิปไตย คือ นโยบายสร้างประชาธิปไตย   มีแต่รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2549 เพื่อสร้างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร พ.ศ.2550 และมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวร เพื่อปฏิรูปการเมืองภาค 2 หรือ สร้างหรือพัฒนาประชาธิปไตยภาคที่นับครั้งไม่ถูกโดยตั้งสมัชชาแห่งชาติ และสภาร่างรัฐธรรมนูญแยกต่างหากออกจากรัฐธรรมนูญไม่เป็นผลก็ให้กลับไปนำเอารัฐธรรมนูญเก่า ที่ล้มเหลวยกเลิกมาแล้วในอดีตมาปัดฝุ่นใช้ใหม่
 
 
         กล่าวคือ การยึดอำนาจครั้งนี้ก็จบลงด้วยการมีรัฐธรรมนูญ แต่ไม่มีประชาธิปไตยผิดพลาดล้มเหลวซ้ำรอยประวัติศาสตร์ เช่นในอดีตกว่า 74 ปี
 
 
         คณะปฏิรูปฯ คณะ คมช.และรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็จะถูกประชาชนคัดค้าน ต่อต้าน โค่นล้ม เช่นเดียวกับทุกคนในอดีตประเทศชาติจะวิกฤตล่มจมล่มสลายในท้ายที่สุด
 
 
        ปัญหาพื้นฐานที่สุดของประเทศไทย คือ ปัญหาประชาธิปไตยไม่ใช่ปัญหารัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับทุกประเทศทั่วโลก เมื่อก้าวขึ้นสู่ยุคประวัติศาสตร์สมัยใหม่แล้ว จะต้องแก้ปัญหาพื้นฐานของชาติแห่งยุคสมัย 2 ปัญหา คือ ปัญหาเอกราชและปัญหาประชาธิปไตย
 
         สำหรับประเทศไทยไม่มีปัญหาเอกราชเพราะมิได้ตกเป็นเมืองขึ้น มีอธิปไตยเป็นของ
ชาติเป็นประเทศเอกราชอยู่แล้ว เพียงแต่เปลี่ยนจากประเทศแบบรัฐเจ้าครองนคร เป็นรัฐแห่งชาติสมัยใหม่ แล้วแก้ปัญหาประชาธิปไตยต่อไป ด้วยการยกเลิกการปกครองแบบเผด็จการ สร้างการปกครองแบบประชาธิปไตย
 
         พระมหากษัตริย์ ร.5 ร.6 และ ร.7 ทรงแก้ปัญหาประชาธิปไตยสำเร็จในขั้นตอนที่ 1 แต่การสร้างประชาธิปไตยในขั้นตอนที่ 2 นั้นกำลังทรงแก้ปัญหาจวนจะสำเร็จ ได้เกิดเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 ขึ้นเสียก่อน การแก้ปัญหาประชาธิปไตยจึงสะดุดหยุดลงตั้งแต่บัดนั้นมา
 
         คณะราษฎรไม่แก้ปัญหาประชาธิปไตยแต่กลับไปแก้ปัญหารัฐธรรมนูญซึ่งไม่ใช่ปัญหาพื้น
ฐานของประเทศไทย จึงเป็นการแก้ปัญหาชาติที่ไม่ถูกกับปัญหาของชาติ  ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลแห่งความล้มเหลวในการแก้ปัญหาของชาติตลอดมา
    
         ความจริงแล้วรัฐธรรมนูญเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาประชาธิปไตย แต่เป็นส่วนหรือขั้นตอนสุดท้าย นั่นคือ จะต้องใช้นโยบายมาสร้างประชาธิปไตยให้แล้วเสร็จเสียก่อน แล้วจึงใช้รัฐธรรมนูญมารักษาประชาธิปไตย ที่สร้างเสร็จแล้วไว้ต่อไป

         ดังนั้น การแก้ปัญหาประชาธิปไตยเริ่มต้นด้วยการสร้างประชาธิปไตยด้วยนโยบาย เสร็จแล้วจึงจบลงด้วยการรักษาประชาธิปไตยไว้ด้วยรัฐธรรมนูญ  กล่าวคือการแก้ปัญหาประชาธิปไตยนั้นจะต้องมีเครื่องมือ 2 ชนิด คือ ใช้นโยบายสร้างประชาธิปไตย ใช้รัฐธรรมนูญรักษาประชาธิปไตย กล่าวคือ จะต้องใช้นโยบายสร้างให้มีประชาธิปไตยเกิดขึ้นจริงเสียก่อน แล้วจึงจะมีประชาธิปไตยให้รัฐธรรมนูญได้ทำหน้าที่รักษาไว้ต่อไป   ถ้าไม่สร้างประชาธิปไตยด้วยนโยบายเสียก่อน แต่กลับไปร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาก็จะไม่มีประชาธิปไตยให้รักษา มีแต่ระบอบเก่าที่ดำรงอยู่ก่อนให้รักษา คือ ระบอบเผด็จการ หรือไม่แม้จะร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ก็จะเป็นประชาธิปไตยแต่รัฐธรรมนูญเท่านั้น ส่วนระบอบการปกครองจริงของประเทศเป็นเผด็จการ จะเกิดปรากฏการณ์ขัดแย้งระหว่างรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยกับระบอบเผด็จการในการปกครองจริงของประเทศ

          ในที่สุดรัฐธรรมนูญก็จะถูกฉีกเพราะไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง นี่คือเหตุที่รัฐธรรมนูญถูกฉีกตลอดมา

          นโยบายทำสิ่งในอนาคตให้เกิดปรากฏเป็นจริงในปัจจุบัน รัฐธรรมนูญรักษาสิ่งที่เกิด
ขึ้นดำรงอยู่จริงให้มีอยู่ต่อไป ดังคำกล่าวนักปราชญ์ทางรัฐศาสตร์ที่ว่า "Social Change,Law Change" กล่าวคือ นโยบายมาก่อนสถานการณ์ กฎหมายมาหลังสถานการณ์ เช่นเดียวกับการเปลี่ยนสังคมโดยนโยบายแล้วการกำหนดวินัย หรือศีลของพระพุทธเจ้าจะต้องมีเหตุการณ์เกิดขึ้นก่อนแล้วจึงมีการกำหนดเป็นวินัยหรือศีล จะต้องมีเหตุการณ์เกิดขึ้นก่อนแล้วจึงมีการกำหนดเป็นวินัยหรือศีลภายหลัง

          ที่มาของนโยบายมาจากหลังนโยบาย ที่มาของหลักนโยบายมาจากแนวทางทฤษฎี ที่มาของแนวทางทฤษฎีมาจากอุดมการณ์ ซึ่งมีอุดมการณ์ อยู่ 3 ลัทธิ คือ ลัทธิประชาธิปไตย ลัทธิคอมมิวนิสต์ และลัทธิเผด็จการ แต่รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายซึ่งเป็นส่วนประกอบหนึ่งของรัฐที่เป็นภาพสะท้อนของระบอบการปกครองของรัฐ

          ดังนั้น นโยบายสร้างระบอบการปกครองของรัฐ รัฐธรรมนูญสะท้อนภาพการปกครองของรัฐที่สร้างขึ้นเสร็จแล้ว นโยบายสร้างเนื้อแท้ตัวจริงของระบอบ รัฐธรรมนูญสะท้อนภาพของระบอบเพื่อรักษาไว้ต่อไป ถ้าเปรียบกับการสร้างตึก นโยบาย คือ พิมพ์เขียว รัฐธรรมนูญ คือภาพถ่าย หรือกฎระเบียบข้อบังคับของตึก

          การสร้างประชาธิปไตยโดยรัฐธรรมนูญ หรือการสร้างประชาธิปไตยในรัฐธรรมนูญ ก็คือ การไม่สร้างประชาธิปไตย หรือการไม่แก้ไขปัญหาประชาธิปไตยนั่นเอง เพราะการสร้างประชาธิปไตยต้องสร้างระบอบการปกครองในระบบเศรษฐกิจ ในแบบวัฒนธรรม มิใช่สร้างประชาธิปไตยในกฎหมายรัฐธรรมนูญที่เป็นเพียงภาพสะท้อนมิใช่เนื้อแท้ตัวจริง

          ดังนั้น การสร้างประชาธิปไตยจึงมีแต่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เพราะมีนโย
บายสร้างประชาธิปไตย เช่น พระบรมราโชบายแก้ไขการปกครองแผ่นดินสยามของ ร.5 และพระบรมราโชบายสถาปนาการปกครองแบบประชาธิปไตยของ ร.7 เป็นเครื่องมือสร้างประชาธิปไตยที่ถูกต้องตามหลักวิชา แต่ไม่มีการสร้างประชาธิปไตยสำเร็จภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ พ.ศ.2475 ถึง พ.ศ.2549  เพราะไม่มีนโยบายสร้างประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือมีแต่การรักษาและกระชับการปกครองแบบเผด็จการตลอดมายาวนาน ตั้งแต่การปกครองแบบเผด็จการแบบใหม่ คือ การปกครองแบบเผด็จการรัฐประหาร และการปกครองแบบเผด็จการรัฐสภา เพราะไม่มีนโยบายสร้างประชาธิปไตย

          แม้จะมีนโยบายสร้างประชาธิปไตยแต่ก็ไม่ได้รับการปฏิบัติให้แล้วเสร็จปรากฏเป็นจริง เช่น นโยบาย 66/23 เพียงแต่ปฏิบัติขั้นตอนที่ 1 เท่านั้น ยังไม่มีการปฏิบัติขั้นตอนที่ 2 ซึ่งขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติได้ประยุกต์ขึ้นเป็น "นโยบายแห่งชาติ" ก็ยังไม่ได้รับการปฏิบัติจากผู้ปกครองคณะหรือพรรคใดๆ จนกระทั่งบัดนี้

       ดังนั้น ตั้งแต่ประเทศไทยก้าวขึ้นสู่ยุคประวัติศาสตร์สมัยใหม่โครงสร้างหรือระบอบการปกครองของประเทศก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง ยังคงเป็นการปกครองแบบเผด็จการเช่นเดิม เปลี่ยนแต่เพียงจากเผด็จการที่ไม่มีรัฐธรรมนูญมามีรัฐธรรมนูญ จากไม่มีระบบรัฐสภามามีระบบรัฐสภา จากไม่มีเลือกตั้งมาเป็นเผด็จการที่มีการเลือกตั้งเท่านั้นเอง เสรีภาพกลับน้อยลง ความยากจนกลับมากขึ้น

          สรุป คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) คณะรัฐมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ไม่มีนโยบายสร้างประชาธิปไตย มีแต่การสร้างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2549 และรัฐธรรมนูญฉบับถาวร พ.ศ.2550

          ส่วนรัฐบาลเฉพาะกาลที่นำโดยพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็ยังไม่มีนโยบาย
สร้างประชาธิปไตยตามแบบอย่างพระบรมราโชบาย ของพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 7   อีกทั้งยังไม่ปรากฏว่าจะนำเอานโยบาย 66/23 ขั้นตอนที่ 2 หรือนโยบายแห่งชาติมาเป็นนโยบายของรัฐบาลเฉพาะกาล

          ไม่มีขั้นตอนสร้างประชาธิปไตย หรือปฏิวัติประชาธิปไตย มีแต่ขั้นตอนการสร้างรัฐธรรมนูญ หรือขึ้นต่อการสร้างรัฐธรรมนูญเป็นภารกิจของการปกครองเฉพาะกาลทั้งสิ้น ที่ยึดอำนาจมาเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ไม่ว่าจะเป็น คปค. คมช.รัฐบาลเฉพาะกาล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมัชชาแห่งชาติ หรือสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือแม้แต่รัฐธรรมนูญเฉพาะกาล (ชั่วคราว) พ.ศ.2549

          แต่ถ้ารัฐบาลเฉพาะกาลของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้นำเอานโยบาย 66/23 ขั้นตอนที่ 2 หรือนโยบายแห่งชาติมาประยุกต์เป็นนโยบายแห่งชาติมาประยุกต์เป็นนโยบายสร้างประชาธิปไตยของรัฐบาล ก็จะพลิกสถานการณ์ได้อย่างง่ายดายดังพลิกฝ่ามือ  กลายเป็น "ผู้ถือดุล" หรือ "สถาบันหลัก" นำพาการปกครองเฉพาะกาลทั้งหมด ไปสู่การสร้างประชาธิปไตยได้อย่างแน่นอน  ไม่มีฝ่ายใดขบวนใดหรือกลุ่มใดพรรคใดจะมารุกทางการเมืองทำลายโค่นล้มรัฐบาลเฉพาะกาลของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ได้แม้แต่น้อย  รัฐบาลกลับพลิกกลับมาเป็นฝ่ายรุกกลับ (Counter Offensive) ต่อทุกฝ่ายอย่างเด็ดขาดสิ้นเชิงนำไปสู่ชัยชนะในท้ายที่สุด รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ จะได้รับการยกย่องสถาปนาให้เป็น "รัฐบุรุษ" หรือ "มหาบุรุษ" ที่ยิ่งใหญ่สูงส่งตลอดกาล
 
       
 
 

ปฏิวัติสันติ

 
สมัคร ยกเลิก
 
 
Revolutionary Press Agency
Online Journal and News Agency for Peace  :  วารสารและข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
Copyright © 2024 www.rpathailand.com All Rights Reserved.
ทำเว็บ  ออกแบบเว็บ  Web Design  เว็บสำเร็จรูป  เว็บไซต์สำเร็จรูป