Revolutionary Press Agency : Online Journal and News Agency for Peace
สำนักสื่อปฏิวัติ  : วารสารข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
8 มิ.ย. 2554 กองหน้าประชาชนรุ่นใหม่ อนุสรณ์ สมอ่อน ตอบคำถามคาใจทำไมต้องปฏิวัติประชาธิปไตย? 

 
"จิตนิยม" กับ "วัตถุนิยม" ปัญหาปรัชญา...จดหมายนมัสการท่านพุทธทาส
โดย อ.ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร
 
 
 
นมัสการท่านพุทธทาสในปัญหาปรัชญา
 
 
          กระผมขอกราบนมัสการ ปัญหาสำคัญปัญหาหนึ่ง ซึ่งตั้งใจว่าจะนมัสการเมื่อสนทนากับใต้เท้าสองต่อสองครั้งหลังสุดนานมาแล้ว แต่พูดเรื่องอื่นจนหมดเวลา จึ่งไม่ได้นมัสการเรื่องนี้
          เรื่องนี้ คือเรื่องที่กระผมได้อ่านคำปราศรัยของใต้เท้าในที่ประชุมสังคายนาที่ประเทศพม่า จากเอกสารภาษาอังกฤษ ซึ่งใต้เท้าได้กล่าวถึงคำ “วัตถุนิยม” โดยได้ให้ความหมายคลาดเคลื่อนจากหลักวิชาปรัชญากระผมคิดจะมีจดหมายนมัสการใต้เท้าจากต่างประเทศแล้วแต่ไม่สะดวก และคิดอยู่เสมอที่จะนมัสการท่านในเรื่องนี้ก็ไม่มีโอกาส ที่ตั้งใจจะนมัสการก็เพราะรู้สึกว่า ความคลาดเคลื่อนข้อนี้จะบั่นทอนฐานะอันสูงส่งของใต้เท้า ซึ่งกระผมถือว่า เป็นหน้าที่ต้องพิทักษ์
          ความหมายของ “วัตถุนิยม” ที่ใต้เท้ากล่าวในคำปราศัยที่ประเทศพม่านั้น ใต้เท้ายังคงยึดถืออยู่จนถึงปัจจุบันนี้ ซึ่งแสดงออกในที่ต่าง ๆ อยู่เสมอ โดยสาระสำคัญคือ “วัตถุนิยม” นั้น ใต้เท้าหมายถึงความนิยมในวัตถุหรือหลงใหลในวัตถุ ก็คือหลงใหลใน รูป รส กลิ่น เสียง
     
           วัตถุนิยม (Materialism) มิใช่หมายความถึงความหลงใหลในวัตถุ แต่เป็นปรัชญาสาขาหนึ่ง คู่กับ จิตนิยม (Idealism หรือ Spiritualism)
  
         ปรัชญาวัตถุนิยม มีมาแต่โบราณและพัฒนามาเป็นลำดับจนถึงขั้นล่าสุด ปรัชญาวัตถุนิยมในปัจจุบันเป็นปรัชญาวัตุนิยมวิภาษ(Dialectical Materialism) หลักทั่วไปของปรัชญาวัตถุนิยมแต่โบราณคือ จิตเป็นผลิตผลของวัตถุ ไม่ใช่วัตถุเป็นผลิตผลจิต แต่จิตซึ่งเป็นผลิตผลของวัตถุนั้นมีบทบาทเปลี่ยนแปลงวัตถุได้ หลักปรัชญาวัตถุนิยมดังกล่าวนี้ ยึดถือกันมาแต่อินเดียโบราณ กรีกโรมันปลายสมัยกลาง จนถึงปัจจุบัน
           นักปรัชญาวัตถุนิยมของอินเดียโบราณคนสำคัญที่สุดคือ พระพุทธเจ้า ซึ่งถือว่า เมื่ออายตนะภายในกับอายตนะภายนอก กระทบหรืสัมผัสกัน วิญญาณจึงเกิด ซึ่งเป็นขั้นต้นของจิต แล้วจิตก็พัฒนาจนถึงขั้นสูงสุด นี้คือจิตเป็นผลิตผลของวัตถุ ซึ่งพิสูจน์แล้วด้วยวิทยาศาสตร์สมัยใหม่             นักปรัชญาวัตถุนิยมกรีกโรมันก็ยึดถือหลักนี้ นักปรัชญาวัตถุนิยมปลายสมัยกลางและต้นสมัยใหม่ เช่น ฟรานซิส เบคอน ฟอย เออบัค ก็ยึดถือหลักนี้ นักปรัชญาวัตถุนิยมล่าสุด คือ วัตถุนิยมวิภาษ ซึ่งสรุปโดยมาร์กซ์และเองเกลล์ ก็ยึดถือหลักนี้ รวมความผู้ยึดถือ “จิตเป็นผลิตผลของวัตถุ” คือนักวัตถุนิยม และผู้ยึดถือ “วัตถุเป็นผลิตผลจิต” คือ นักจิต 
          1.   ความแตกต่างนิยมระหว่างวัตถุทางปรัชญา กับวัตถุทางวิทยาศาสตร์นั้น คือ วัตถุทางปรัชญาหมายความถึงจินตภาพวัตถุ (Concept Matter) จินตภาพวัตถุ นั้น ไม่ว่าในภาษาใด ๆ เป็นจินตภาพที่กว้างที่สุด ไม่มีคำใดในโลก จะมีจินตภาพกว้างไปกว่าคำว่าวัตถุ นี้คือวัตถุทางปรัชญา แต่วัตถุจะสัมผัสได้ต้องแสดงออกเป็นรูปของวัตถุ (From of Matter) ตั้งแต่ใหญ่ที่สุดจนถึงเล็กที่สุด ตั้งแต่เอกภพ (Universe) จนถึงปรมาณู ซึ่งรวมเรียกว่า รูป รส กลิ่น เสียง นี้คือ วัตถุทางวิทยาศาสตร์ (วัตถุเป็นเพียง Concept ที่กว้างที่สุด จึงไม่สามารถหลงใหลได้ สิ่งที่หลงใหลได้คือ รูปของวัตถุ การหลงใหลในรูป รส กลิ่น เสียง คือการหลงใหลในรูปของวัตถุ) ฉะนั้นเมื่อพูดถึงวัตถุทางปรัชญา คือจินตภาพทางวัตถุ (Concept Matter) จึงหมายถึงจินตภาพที่กว้างที่สุด
          2.   วัตถุคือความจริงแท้ (Reality) จิตเป็นผลิตผลของวัตถุ โดยวัตถุได้พัฒนาถึงขั้นสูงเป็นสมองมนุษย์ ซึ่งอาศัยระบบประสาทสัมผัสกับสรรพสิ่ง สะท้อนภาพของสรรพสิ่งออกมาได้ โลกจึงสามารถรู้ตัวเองด้วยสมองมนุษย์ ซึ่งเป็นรูปของวัตถุที่ประณีตที่สุด เปรียบเหมือนกระจกเงาที่สามารถสะท้อนภาพต่าง ๆ ได้ ฉะนั้นจิตก็คือภาพสะท้อนของวัตถุในสมองของมนุษย์ 
          3.   จิตนั้นเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็เป็นคุณภาพอีกชนิดหนึ่ง และเป็นตัวมันเองที่มีความสามารถเปลี่ยนแปลงวัตถุได้ 
          4.   ความเคลื่อนไหวเป็นวิธีการดำรงค์อยู่ของวัตถุ ไม่มีวัตถุที่ไม่เคลื่อนไหวหรือไม่มีความเคลื่อนไหวโดยปราศจากวัตถุ 
          5.   ความเคลื่อนไหวของวัตถุเป็นไปตามกฎซึ่งเกิดขึ้นเอง ไม่มีผู้สร้างและไม่อาจเป็นผู้ทำลาย กฎทั่วไปคือการกำเหนิดขึ้น ดำรงค์อยู่
และการสลายไปของรูปวัตถุ
          6.   เมื่อจิตเป็นภาพสะท้อนของวัตถุ จิตก็มีความเคลื่อนไหวไปตามกฎอันเดียวกันกับวัตถุ คือ เกิดขึ้น ดำรงค์อยู่ และสลายไป 
          7.   กฎการเคลื่อนไหวของวัตถุ และจิตคือวิภาษวิธี ดังที่ คาร์ลมาร์กซ์ กล่าวว่า  “ วิภาษวิธีคือศาสตร์ว่าด้วยกฎทั่วไปของการ
เคลื่อนไหวทั้งของโลกภายนอกและความคิดมนุษย์ ” 
         8.   สาระสำคัญของกฎทั่วไปของการเคลื่อนไหว ของวัตถุและจิต (วิภาษวิธี) คือ “เอกภาพของสิ่งตรงกันข้าม (Unity of the Opposites)” คือในสิ่ง ๆ หนึ่ง ย่อมไม่มีสิ่งนั้นอยู่ในตัวของมัน และความขัดแย้งภายในระหว่าสิ่งนั้นกับความไม่มีสิ่งนั้น คือ พลังผลักดันการพัฒนาการอันไม่มีที่สิ้นสุดของวัตถุ
          เหล่านี้ คือหลักสำคัญของวัตถุนิยม ซึ่งไม่เกี่ยวกับความหลงใหลในวัตถุหรือ รูป รส กลิ่น เสียง แต่ประการใด แต่ตามข้อเท็จริงกลับปรากฎว่าพวกจิตนิยมหลงใหลในวัตถุมากกว่าพวกวัตถุนิยม เพราะพวกจิตนิยมถือจิตเป็นใหญ่ ทำให้เน้นความสุข ความทุกข์ส่วนตัว การถือจิตเป็นใหญ่ ก็คือ การถือตัวเองเป็นใหญ่นั้นเอง จึงต้องการหนีทุกข์และแสวงสุข ตั้งแต่สุขทางกายต่ำ ๆ จนถึงสุขทางใจขั้นสูง
          แต่พวกวัตถุนิยมถือวัตถุ(ทางปรัชญา) เป็นใหญ่ ก็คือถือกฎเกณฑ์สิ่งต่าง ๆ เป็นใหญ่ ทำให้ไม่นึกถึงตัวเอง  จึงไม่แสวงหาความสุขส่วนตัว ดังที่ เองเกลล์ เขียนไว้ว่า “ความสุขส่วนตัวนั้นไม่มี ถ้าใครจะแสวงหาความสุขส่วนตัวจะหาไม่พบ สิ่งที่มีอยู่คือวัตถุที่เคลื่อนไหวไปตามกฎ คนเรามีหน้าที่ทางประวัติศาสตร์ที่จะปฏิบัติไปตามกฎนั้น ๆ เท่านั้น”
          ข้อเท็จจริงที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ ประเทศคอมมิวนิสต์ ซึ่งถือปรัชญาวัตถุนิยม ไม่หลงใหลในวัตถุตรงกันข้ามกับประเทศเสรีนิยม ซึ่งถือปรัชญาจิตนิยม กลับหลงใหลในวัตถุ ดังตัวอย่างในประเทศจีน ที่คัดลอกมานี้ ยังไม่มีการปฏิวัติทางเพศในประเทศจีน อิสเบล ฮิลตัน นักศึกษาภาษา และประวัติศาสตร์จีนของมหาวิทยาลัยเอดินเบิร์ก ซึ่งได้เดินทางไปศึกษาต่อที่ปักกิ่ง และมหาวิทยาลัยที่ปูซานในเซี่ยงไฮ้ และปัจจุบันเธอเป็นผู้สื่อข่าวนิตยสารเดย์ไทม์ ของลอนดอน  อิสเบลได้เขียนบทความเกี่ยวกับหนุ่มสาวชาวจีนไว้บทหนึ่ง ซึ่งเธอตั้งชื่อว่า “No sex please we’re Chinese” บทความนี้ถูกนำลงมาพิมพ์ใน นิตยสารคอสโมโพลิแตน ของอังกฤษ และได้เป็นที่สนใจของคนตะวันตกอย่างมากเธอเขียนไว้ดังนี้ 
          ในฐานะนักทัศนาจร คุณอาจจะต้องตั้งปัญหาให้กับตัวเองว่าจะทำอะไรดีในบ้านเมืองที่ไม่มีดิสโกคลับ ไม่มีบาร์ และคำว่า “ปาร์ตี้” นั้นมีความหมายถึง กลุ่มบุคคลชั้นนำทางการเมือง ไม่เกี่ยวกับเรื่องของความบันเทิงแต่อย่างใด คนจีนจะบอกกับคุณว่า “นั่นเป็นความสุขแบบชาวตะวันตก คนหนุ่มสาวของเรามีเรื่องอื่นที่สำคัญกว่าที่จะใช้เวลาให้หมดไป”
          ในสายตาของคนจีนเห็นว่า คนตะวันตกหมกมุ่นอยู่กับเรื่องเซ็กส์กันมาก ในประเทศจีนผู้หญิงจะไม่มีการแสดงออก ถึงความรู้สึกด้านนี้ หรือเอาตัวไปเกี่ยวข้องกับเรื่องเซ็กส์ และเขาถือกันว่าเป็นการปลดแอกทางสังคมอย่างหนึ่ง ไม่มีการโฆษณาสินค้า ด้วยการใช้ผู้หญิงเป็นแบบสื่อชักจูงใจ ดังนั้นภาพของผู้หญิงที่ทอดกายกับสินค้าตามแบบตะวันตก จึงเป็นเรื่องที่ไม่มีใครคิดถึงกันในประเทศจีน
          บทรักในหนังจีน หรือระคร หมายถึงการสบตากันเพื่อแสดงออกถึงความเห็นพ้องต้องกันในแนวความคิดทางการเมือง แต่ถึงอย่างไรพรรคและการปฏิวัติ ย่อมสำคัญกว่าทุกสิ่งทุกอย่าง
           อย่างน้อยที่สุด ลักษณะเช่นนี้ก็คือ สิ่งที่หนุ่มสาว แสดงออกต่อที่สาธารณะ คนหนุ่มสาวจะต้องทุ่มเทตนเองให้แก่การศึกษา หรือการงานจนกว่าจะมีอายุ 20 ปี ขึ้นไป สำหรับผู้หญิงประมาณ 26 ปีและผู้ชาย 28 ปี จากนั้นจึงจะแต่งงานกันได้ โดยได้รับความเห็นชอบจากทางการ และมีลูกได้ 2 คน (อันที่จริงจะใจร้อนแต่งงานก่อนหน้านั้นก็ได้ แต่จะไม่ได้รับความเห็นอย่างเป็นทางการ) เขาถือว่า การแต่งงานอายุยังน้อยนั้น ไม่ดีสำหรับสุขภาพและสมาธิ (จากหนังสือพิมพ์ “มหาชัย” 17 พ.ค. 25) 
          การยกตัวอย่างประเทศคอมมิวนิสต์ว่าไม่หลงใหลในวัตถุ เหมือนอย่างในประเทศเสรีนิยมนั้นไม่ใช่เพื่อโฆษณาให้เลื่อมใสประเทศคอมมิวนิสต์หรือเชื่อถือปรัชญาวัตุนิยมวิภาษ แต่เพื่อยืนยันหลักวิชาที่ว่าวัตถุนิยมไม่ไดหมายความถึงความหลงใหล ในวัตถุ แต่เป็นปรัชญา สาขาหนึ่ง ซึ่งตรงกันข้ามกับปรัชญาจิตนิยมและยืนยันความจริงที่ว่า พวกจิตนิยมหลงใหลในวัตถุมากว่าพวกวัตถุนิยม
         และเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับคอมมิวนิสต์ในแง่ที่ว่า คอมมิวนิสต์เป็นพวกวัตุนิยม คนนี่หลงใหลในคอมมิวนิสต์ จะต้องถือปรัชญาวัตถุนิยม แต่พวกวัตถุนิยมไม่จำเป็นต้องเป็นคอมมิวนิสต์
          วัตถุนิยมกับความหลงใหลในวัตถุ หรือหลงใหลในรูปของวัตถุ อันได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เป็นคนละเรื่อง เป็นคนละปัญหา โปรดอย่าเอาวัตถุนิยมกับความหลงใหลในวัตถุนิยมนิยมมาปะปนกัน
 
 

          โดยความเคารพอย่างสูง

          ป.ทรัพย์สุนทร
 
          โทร. 279-1645
 

ปล.กระผมขอถือโอกาส ถวายความเห็นในจดหมายฉบับนี้เป็นของขวัญวันเกิด แด่ใต้เท้าด้วย
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

ปฏิวัติสันติ

 
สมัคร ยกเลิก
 
 
Revolutionary Press Agency
Online Journal and News Agency for Peace  :  วารสารและข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
Copyright © 2024 www.rpathailand.com All Rights Reserved.
ทำเว็บ  ออกแบบเว็บ  Web Design  เว็บสำเร็จรูป  เว็บไซต์สำเร็จรูป