Revolutionary Press Agency : Online Journal and News Agency for Peace
สำนักสื่อปฏิวัติ  : วารสารข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
8 มิ.ย. 2554 กองหน้าประชาชนรุ่นใหม่ อนุสรณ์ สมอ่อน ตอบคำถามคาใจทำไมต้องปฏิวัติประชาธิปไตย? 
กฎไดเลคติคที่มาของความรุนแรงในประเทศไทย
โดย ยอดมณี วัชรญาณ
 
      การเผชิญหน้ากับความรุนแรงในท่ามกลางปัญหาวิกฤตชาติในประเทศไทย กำลังทำลายขวัญกำลังใจคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศ สำนักสื่อปฏิวัติขอนำเสนอบทความที่ได้เคยนำเสนอไปแล้วตั้งแต่ปี 2549 และได้รับการเผยแพร่ต่อๆกันไปหลายครั้งในโลกไซเบอร์  ในโอกาสเปิดตัวสำนักสื่อปฏิวัติด้วยสันติธรรมในปี 2552  กองบรรณาธิการจึงใคร่นำเสนอบทความครั้งนี้อีกครั้งหนึ่ง  เพื่อตอบรับปรากฏการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องนับแต่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในรอบกว่า 3 ปีที่ผ่านมา
 
 
พุทธธรรมค้านทฤษฎีวิภาษวิธีของคอมมิวนิสต์….มูลเหตุของซ้ายไร้เดียงสาไม่ใช่ซ้ายทมิฬ
 
       คุณคำนูณ สิทธิสมานเขียนบทความเรื่อง ” ซ้ายทมิฬ “  ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการเมื่อต้นสัปดาห์ กล่าวถึงทฤษฎีทางสังคมวัตถุนิยมวิภาษวิธี (Dialectical Materialism) ของมาร์กซ์เลนิน  โดยผูกโยงเข้ากับคำพูดที่ใช้แถลงข่าวโดยคุณไทกร พลสุวรรณเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว       แต่บทความของคุณคำนูณก็ไม่ได้ชี้ชัดไปทางไหนแต่อย่างใด  นอกจากประเด็นเรื่อง “ วิจิกิจฉา “   หรือการตั้งข้อสงสัยส่วนตัวของคุณคำนูณต่อ การดำรงอยู่ของพคท.ว่าเป็นขบวนการบ่อนทำร้ายทำลายประเทศชาติที่มีการจัดตั้งแบบพร้อมกระทำการ  “ ทมิฬ ” จริงหรือไม่
 
       วัตถุนิยมวิภาษวิธีหรือกฎไดเลคติคคืออะไร    เป็นของสูงจริงหรือไม่     และมีอิทธิพลต่อความคิดของอาจารย์มหาวิทยาลัยกลุ่มหนึ่งที่เคยไปอยู่ป่าสมัยตุลาคม 2519 อย่างไร    และทฤษฎีนี้คือเหตุปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกไม่เข้าร่วมกับประชาชนจริงหรือไม่ 
 
        ขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติและขบวนการศาสนาเพื่อมนุษยชาติขอถือโอกาสนี้ทำการอรรถาธิบายเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรมอีกครั้งหนึ่ง    เพราะเห็นว่าการชี้แจงน่าจะเป็นการขยายผลของบทความและมีส่วนช่วยเสริมให้การชี้นำสังคมเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎเกณฑ์         และนี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ต่อการนำมาชี้แจง   กฎว่าด้วยความขัดแย้งแบบไดเลคติคเป็นทฤษฎีของนักปฏิวัติ    จะเป็นนักปฏิวัติแบบสังคมนิยมหรือประชาธิปไตยก็แล้วแต่     ย่อมเข้าใจเรื่องกฎเกณฑ์ของความขัดแย้งที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิงของวัตถุเป็นแนวทางอันเป็นมูลเหตุของการ ” ปฏิวัติ “ แบบวิทยาศาสตร์สังคมได้เป็นอย่างดี    
       วัตถุนิยมวิภาษวิธี หรือกฎไดเลคติค  ตามทฤษฎีที่เฮเกล (HEGEL)  พูดถึงการดำรงอยู่ของสิ่งหนึ่งที่มีอีกสิ่งหนึ่งเข้ามา ก่อให้เกิดการขัดแย้ง  สิ่งใหม่ที่เข้ามานั้นตามทฤษฎีจะเรียกว่า “ ปฏิกิริยา”   (ANTI  THESISX  สภาวะขัดแย้งระหว่าง  ANTI THESIS กับ “ กิริยา”   ( THESIS)     ก่อให้เกิดการเปลี่ยนรูป  ไม่สามารถดำรงรูปเก่าได้  เกิดการเปลี่ยนรูปใหม่มาเป็น SYNTHESIS       ซึ่งก็หมายถึง “ สหกิริยา “    การเกิดการขัดแย้งที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้คือการปฏิวัติ  เป็นสหกิริยาที่เกิดจากการสังเคราะห์เอาส่วนที่ดีของตัวเก่าและใหม่มารวมกันไว้ 
       กล่าวโดยสรุปกฎนี้ว่าด้วยเรื่องการมีอยู่ของสรรพสิ่ง  มีของเก่า มีของใหม่  เกิดความขัดแย้งกันระหว่างของสองสิ่ง เกิดปฏิกิริยาและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิงในที่สุด   การเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิงนี้คือการ “ปฏิวัติ”  เป็นข้อสรุปที่ว่าหากมีเหตุปัจจัยของการขัดแย้งในลักษณะนี้ในสถานการณ์หนึ่งๆ ย่อมหลีกเลี่ยงที่จะไม่ให้เกิด “การปฏิวัติ”  ไม่ได้นั่นเองตามกฎเกณฑ์      ในสถานการณ์ที่สุกงอมตามกฎไดเลคติดที่ว่า ” การปฏิวัติ “  จึงย่อมดีกว่าการไม่ปฏิวัติแน่นอน    อันนี้เป็นกฎ
       อุปมาดั่งเช่นว่า.....ถ้าคุณสมบัติของน้ำตรงกันข้ามกับไฟ  มีความขัดแย้งกัน  แต่ถ้าเอากาน้ำไปตั้งบนเตาร้อนๆ  ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นตามลำดับ  อุณหภูมิจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงนี่เราเรียกปฏิรูป  (Reform) น้ำจะร้อนไปเรื่อยๆไปจนถึงขั้น จุดเดือด  และเป็นจุดที่ไม่สามารถรักษารูปทรงเดิมไว้ได้ กลายเป็นควันพวยพุ่งออกมา  การเปลี่ยนรูปทันทีอย่างนี้เรียกว่าการปฏิวัติ (Revolution)  จากนั้นเราใช้ประโยชน์จากไอน้ำกลั่นออกมาเป็นน้ำที่บริสุทธิ์กว่าน้ำในกาที่มีตะกอนนอนก้นมากกว่า  เฮเกลพิสูจน์ว่ากฎไดเล็คติด เมื่อขัดแย้งกันแล้วเกิดรูปใหม่จะบริสุทธิ์กว่ารูปใหม่เสมอ  เหมือนดั่งเช่นน้ำกลั่นย่อมดีกว่าน้ำเดิม   กฎทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้เมื่อเปลี่ยนแปลงแล้วจะดีขึ้นกว่าเดิมเสมอไป
      มีนักวิชาการบางคนแย้งว่าถ้าเปลี่ยนแปลงแล้วไม่ดีขึ้น  อันนั้นไม่ใช่กฎ แต่เป็นการคิดเอาเอง   จากกฎที่เฮเกลคิดขึ้นมานี่เอง ทำให้มาร์กซ์นำมากำหนดเป็นทฤษฎีขึ้นและเป็นที่มาของกฎไดเล็คติค ซึ่งมีกฎพื้นฐานอยู่ 3 อัน คือกฎการเปลี่ยนแปลงจากปริมาณไปสู่คุณภาพ  กฎสิ่งตรงข้ามกันต้องขัดแย้งกัน  และกฎปฏิเสธซ้อนปฏิเสธ  หมายความว่าไม่คงที่   เหมือนกับว่าเราจะไปยึดให้มันเป็นตัวตนอยู่ไม่ได้  ไม่มีอะไรอยู่ที่เดิม  คลื่นลูกหลังจะต้องไล่คลื่นลูกหน้า 
เฮเกลบอกว่าสิ่งที่ขัดแย้งกันนี้เรียกว่า “ วิภาษวิธีจิตนิยม ”  คือสิ่งที่เกิดขึ้นนี้จิตเป็นตัวกำหนดให้มันเป็นไป  สรรพสิ่งดำรงอยู่แล้วมีสิ่งอื่นมาขัดแย้ง เกิดจากจิตเท่านั้นที่กำหนดให้เป็นไป
       ปรากฏว่าคาร์ลมาร์กซ์ เอาทฤษฎีนี้มาศึกษาเป็นการใหญ่   เกิดข้อสงสัย  เลยไปค้นคว้าเอาทฤษฎีของ ลุดวิก ฟอยเออบัค   ( LUDWIG FEUERBACH) ซึ่งเป็นคนละขั้ว  ฟอยเออบักบอกว่าสรรพสิ่งในโลกนี้ล้วนแต่เป็นวัตถุนิยม  ไม่ใช่จิต  แต่ว่าวัตถุนิยมมันเป็นธรรมชาติของมันเองและมีกลไกแต่ไม่ได้บอกว่ากลไกเป็นอย่างไร
        มาร์กซ์ก็เลยผสมสองทฤษฎีนี้เข้าด้วยกันที่เรียกว่า “ วิภาษวิธีวัตถุนิยม ”  โดยปฏิเสธว่าทุกสิ่งเป็นไปตามกลไก คล้ายๆมีบางสิ่งบางอย่างดลบันดาลอยู่เหมือนมีพระเจ้า        
      ทีนี้เรื่องมันเริ่มวุ่นก็ตรงที่มาร์กซ์ไปจับเอาทฤษฎีใหม่ที่คิดค้นขึ้นมาจากการอ่านมามองสังคมและเศรษฐกิจ   เขากำหนดทฤษฎีขึ้นมาหลายๆอย่าง  เช่นทฤษฎีเศรษฐศาสตร์  กำหนดว่าสรรพสิ่งเกิดการขัดแย้งทางเศรษฐกิจ  เพราะมาร์กซ์ไปเอาวัตถุนิยมประวัติศาสตร์มาเทียบเคียง    รวมทั้งทฤษฎีคู่ขัดแย้งระหว่างนายทุนกับกรรมกรในโลกทุนนิยมด้วย    มาร์กซ์กำหนดกฎตายตัวว่าชนชั้นกรรมาชีพต้องมีผู้นำโค่นล้มนายทุนให้หมด  แล้วเอาทุกอย่างมาเป็นของส่วนกลางแบบสังคมนิยมให้หมด
        มาร์กซ์ยืนยันว่าสิ่งนี้ถูกต้องที่สุดในโลก  ไม่มีอะไรในโลกเหนือกว่านี้อีกแล้ว    และยังชี้นำสูงสุดอีกว่าการไม่มีชาติ  ไม่มีรัฐ จะทำให้เกิดความเสมอภาคหลายๆด้าน  ที่สำคัญที่สุดคือ เศรษฐกิจเสมอภาคกันเป็นโลกอุดมคติของเขา    คนจนนั้นเมื่อได้ยินคำพูดว่าเสมอภาคก็เข้าร่วมกับมาร์กซ์เต็มที่
        คนที่ศึกษาพุทธธรรม อภิธรรมมา  บอกไม่เชื่อมาร์กซ์  ถึงแม้ว่ากฎไดเลคติคดังกล่าวจะใกล้เคียงกับการพิจารณาสังขารและความไม่เที่ยงของสรรพสิ่ง   ตามบาลีที่ว่า “ สัพเพสังขารา “ คือสรรพสิ่งทั้งหลายเมื่อมีสิ่งหนึ่งเข้ามาร่วม มันจะไม่เที่ยง มันจะต้องเปลี่ยนแปลง   พระพุทธเจ้าสอนชาวโลกว่าสรรพสิ่งเป็นอนิจจัง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ท่ามกลางความแปรปรวน (ขัดแย้งกัน) แล้วก็ดับไป ด้วยความไม่เที่ยง   นั่นคือความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้ว  
       ว่ากันตามพุทธธรรม กฎของมาร์กซ์นั้นมองความขัดแย้งด้านเดียว   แต่ของพระพุทธเจ้าความขัดแย้งตรงนี้เป็นสังขฎธรรมก็ได้ หรือเรียกว่าสังขารก็ได้  แต่พุทธศาสนามีอีกตัวที่สูงกว่านั้นคือ อสังขฎธรรม  ที่มาร์กซ์คิดไม่ถึง และคงไม่เชื่อว่ามีอยู่จริง      อสังขฎธรรมเป็นกฎพื้นฐานคู่กันเฉกเช่น “ รูปและนาม “     
       อ.ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร นำเรื่องนี้มาพิจารณา  แล้วก็ค้านหัวชนฝาว่าทฤษฎีของมาร์กซ์แก้ปัญหาโลกไม่ได้   เพราะมันมี “ อัตตา “  อยู่เต็มที่  และจะนำไปสู่การโค่นล้มช่วงชิงอำนาจกัน   แต่ถ้าเอากฎพื้นฐานอีกตัวหนึ่งคือความไม่ขัดแย้ง เข้าไปแก้ปัญหา  และเข้าถึงกฎนี้ก็จะใช้แก้ปัญหาของโลกได้หมด   เพราะลึกซึ้งกว่ามาร์กซ์  นิพพานคือความไม่ขัดแย้ง  ความหลุดพ้นจากอาสวะกิเลสทั้งปวง  ซึ่งจะต้องเริ่มจาก “อนัตตา” ไม่ใช่ “ อัตตา” แบบมาร์กซ์
       เราไปมองว่าศาสนาเป็นเรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตาย จริงๆแล้วทางพุทธกำหนดให้รู้ว่าจักกับสิ่งภายนอกที่เข้ามาก่อให้เกิดความขัดแย้งภายใน  ทำให้เกิดความรู้สึกตามมา เกิดกิเลส เกิดโลภ เกิดหลง   แต่ถ้าใครทำให้สิ่งเหล่านี้หมดไป  ก็จะพบอีกโลกหนึ่ง คือโลกของนิพพานหรือโลกของการหลุดพ้น    “ สังขาร” เป็นเรื่องของการเข้ามาร่วม ภาษาอังกฤษเรียกว่า Relative     ถ้าอสังขฎธรรมจะเรียกว่า  Absolute  ซึ่งจริงๆแล้ว  ความหมายก็เหมือนปรัชญาทั่วไป
       เรื่องอย่างนี้คุยกับคอมมิวนิสต์ คงไม่มีวันเข้าใจ   ไม่ว่าจะเป็นพคท.ฝ่ายรัฐบาล  พคท. ฝ่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย   พคท.ฝ่ายบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์  หรือฝ่ายกาฝากแอบแฝงบนเวทีปราศรัยต่างๆเพื่อสร้างและดำรง “ฐานะ”  ให้ตัวเอง   นอกจากไม่มีวันเข้าใจ ก็อาจทุ่มเถียงกันแบบไม่มีใครยอมใคร  เพราะเขาไม่เคยเรียน และเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ที่ว่าความไม่ขัดแย้งไม่มีในโลก   
       อ.ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร  ในฐานะนักปฏิบัติธรรมเป็นคนแรกที่นำพุทธธรรมไปโต้คอมมิวนิสต์จนชนะ  ใช้อสังขฏธรรมในการอธิบายเรื่องนี้   และโดยประสบการณ์ที่เคยไปร่ำเรียนทฤษฎีมาร์กซ์มาหมด  จึงรู้แจ้งแทงตลอด   ท่านได้ชี้แจงให้เห็นว่ารูปธรรมของความไม่ขัดแย้งก็คือสงบ สันตินั่นเอง  โดยยกกรณีศึกษาสำคัญของประวัติศาสตร์โลกมาเป็นข้อพึงสังวรณ์ คือการกลายพันธุ์ของทฤษฎีของเฮเกลเป็นลัทธิเผด็จการฟาสซิสต์ที่มุสโสลินีรวมทั้งฮิตเลอร์นำไปใช้รุกรานโลก  เอาความขัดแย้งไปเป็นเงื่อนไขบังคับขู่เข็ญโลก  พร้อมการฆ่าทิ้งชีวิตบริสุทธ์จำนวนมหาศาล  ทิ้งไว้แต่ร่องรอยความชอกช้ำทางประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติที่เกิดจากทฤษฎีผิดอันเป็นอวิชชาล้วนๆ     สิ่งนี้ต่างหากคือบทเรียนที่มนุษย์ควรจดจำและหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดขึ้นอีก
       ทีนี้ย้อนกลับไปประเด็นของคุณคำนูณที่ว่า  ทำไมอาจารย์มหาวิทยาลัยกลุ่มดังกล่าวจึงอยู่เฉย  ทั้งๆ ที่ปรากฏการณ์การขัดแย้งตามกฎเกณฑ์มันเกิดขึ้นอย่างชัดแจ้งขนาดนี้แล้ว   และเป็นไปตามครรลอง ปรากฎชัดเป็นรูปธรรม    ยกทฤษฎีความขัดแย้งมาว่ากัน   คุณคำนูณบอกว่า นักวิชาการไม่เอาศักดินาล้าหลัง   เชื่อว่าทุนนิยมผูกขาดย่อมดีกว่า  ความขัดแย้งเกิดขึ้นแล้ว  กิริยากับปฏิกิริยา     แต่ยังยืนยันจะเลือกเอาทุนนิยมผูกขาดแบบทักษิณไม่เอาศักดินา   เพราะคิดว่านี่คือความฉลาดที่ทึกทักเอาว่าการนำ “ ทุนสังเคราะห์ “ ข้ามชาติมาเป็น” แนวร่วม”  เป็นของดี       แล้วสหกิริยาที่จะเกิดต่อไปคืออะไรเล่า........ ?   ไม่ใครก็ใครก็บ้าแน่ ที่ไม่รู้ว่าสหกิริยากำลังจะเกิดขึ้นตามกฎเกณฑ์   คำถามที่ถูกต้องคือใครกันแน่ที่ปฏิเสธกฎเกณฑ์ที่เรียนมา  ?
 
.......สรรพสิ่งกำลังตั้งอยู่ท่ามกลางความแปรปรวน 
.......การปฏิวัติกำลังจะบังเกิด  ซึ่งเป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่ศึกษามาทุกประการ  
 
       ประเด็นคือว่าผู้ศึกษาทฤษฎีปฏิวัติเช่นนี้อย่างเข้าใจ   กลับนิ่งเฉย  อย่างที่คุณคำนูณว่า   อันนี้หมายความว่าอะไร ?   หมายความว่าท่านๆเหล่านั้นต้องการปฏิวัติสังคมนิยมแบบคอมมิวนิสต์จึงไม่เลือกแนวทางปฏิวัติประชาธิปไตยแบบกองทัพและประชาชนเช่นนั้นหรือ  ?   ฤาการนิ่งเฉยคืออาการจิตเป็นใบ้ไม่รับรู้  มากกว่าจิตบริสุทธิ์  อย่างที่คุณคำนูณพยายามให้แก่กันและกันในฐานะของ “ สหาย ”
       คงมิบังอาจวิจารณ์ว่าใครโง่หรือฉลาดกว่าใคร  แต่อยากจะถามใจพวกท่านว่าอดีตอันเจ็บร้าวในป่ามันเกี่ยวข้องกันกับการเปิดใจกว้างยอมรับกฎเกณฑ์และสัจธรรมตามกฎเกณฑ์  ตามทฤษฎีปฏิวัติที่ท่านเคยร่ำเรียนกันมา
มากน้อยขนาดไหนต่างหาก   ?
       ไม่ใช่ว่าขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติหรือขบวนการศาสนาเพื่อมนุษยชาติออกมาโต้เพื่อต้องการเอาชนะ   แต่เห็นว่าน่าจะถึงเวลาแล้วที่บรรดานักวิชาการสายในป่าเก่าน่าจะดวงตาเห็นธรรม   เปลี่ยนจากมิจฉาทิษฐิมาเป็นสัมมาทิษฐิได้แล้ว
        หากเข้าใจกฎเกณฑ์   ก็คงยอมรับ และเข้าร่วมกับประชาชนทางใดทางหนึ่ง  แต่การอยู่เฉยนี่ย่อมหมายความว่า ไม่เอาด้วยเพราะไม่ใช่ “แบบ” ที่ต้องการ  หรือแท้ที่จริงแล้ว อดีตนักศึกษาพคท.ที่เคยเข้าป่าในสมัย เข้าไม่ถึงอุดมการณ์และทฤษฎีไดเลคติคที่คุณคำนูณยกขึ้นมาอธิบาย          ฤาว่า.....แท้จริงแล้วนี่เป็นความ “ ไร้เดียงสา “  ทางวิชาการที่ไม่รู้จริงๆ โดยไม่เจตนา
        นักปฏิวัติแบ่งกลุ่มคนไว้ 3 กลุ่ม กลุ่มก้าวหน้า  กลุ่มกลางๆ และกลุ่มล้าหลัง  วิธีการคือใช้กลุ่มก้าวหน้ากว่ามาดึงกลุ่มกลางๆขึ้นมา  กลุ่มล้าหลังทิ้งไว้ก่อน  ในยามคับขัน  จะเลือกไม่โต้กับกลุ่มล้าหลังให้เสียเวลา
       นักศึกษาพระอภิธรรม ก็อธิบายว่า แบ่งจิตมนุษย์ไว้สามอย่างตามสภาวะจิต คือ กุศลจิต อกุศลจิตและอภยากฤตจิต คือจิตเฉยๆ ไม่เอาอะไร  แต่เป็นจิตที่นักปฏิบัติธรรมไม่สนับสนุนเพราะมันสามารถกลายเป็นอกุศลจิตได้โดยง่าย  เพราะว่าจิตมนุษย์มีแนวโน้มใฝ่ต่ำเสมอ
        จิตเฉยๆ ทำเป็นทองไม่รู้ร้อนอย่างนี้ ไม่น่าจะใช่จิตบริสุทธิ์อย่างที่คุณคำนูณพยายามอธิบายมาในบทความ   แต่เป็นจิตที่ค่อนไปทางอกุศล  และแน่นอนหากดันทุรังไม่เชื่อตามกฎเกณฑ์ปฏิวัติ ทั้งๆที่ศึกษาทฤษฎีปฏิวัติมา   คนกลุ่มนี้ก็จะกลายเป็นพวกล้าหลังในที่สุด  
        กว่าจะปฏิวัติเสร็จ....เรากำลังจะได้ทฤษฎีใหม่ขึ้นในประเทศไทย 
          คือเกิดกลุ่มนักวิชาการล้าหลัง    ประชาชนก้าวหน้า
          และมีผู้บริหารหนังสือพิมพ์ทำตัวเป็นกลาง  !!!  ท่านว่าเป็นไปได้หรือไม่   ?
 
 
 
 
 
 

ปฏิวัติสันติ

 
สมัคร ยกเลิก
 
 
Revolutionary Press Agency
Online Journal and News Agency for Peace  :  วารสารและข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
Copyright © 2024 www.rpathailand.com All Rights Reserved.
ทำเว็บ  ออกแบบเว็บ  Web Design  เว็บสำเร็จรูป  เว็บไซต์สำเร็จรูป