Revolutionary Press Agency : Online Journal and News Agency for Peace
สำนักสื่อปฏิวัติ  : วารสารข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
8 มิ.ย. 2554 กองหน้าประชาชนรุ่นใหม่ อนุสรณ์ สมอ่อน ตอบคำถามคาใจทำไมต้องปฏิวัติประชาธิปไตย? 
จะรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ให้มั่นคงได้อย่างไร?
เขียนโดย ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร  โพสเมื่อ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ ๐๓.๒๕ น.
 
 
                                               - ตอน ๒๗-
 
 
        ส่วนประเทศที่พรรคคอมมิวนิสต์ได้อำนาจในขณะที่ยังเป็นราชอาณาจักรนั้นมีอยู่ ๔ ประเทศคือ บัลแกเรีย รูมาเนีย ยูโกสลาเวีย และลาว
      
       บัลแกเรีย พรรคคอมมิวนิสต์ได้อำนาจปี ๑๙๔๔ โดยกองทัพโซเวียตเข้าไปขับไล่กองทัพเยอรมนี   ขณะนั้นพระเจ้าไซมิออนที่ ๒ เป็นพระมหากษัตริย์      ครั้นถึงปี ๑๙๔๖  พรรคคอมมิวนิสต์จัดให้มีการลงประชามติเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ผลคือ ประชาชนลงมติยกเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์

        รูมาเนีย  พรรคคอมมิวนิสต์ได้อำนาจในปี ๑๙๔๔  ทำนองเดียวกับบัลแกเรียขณะนั้น  พระเจ้าไมเคิลเป็นพระมหากษัตริย์และทรงสละราชสมบัติในปี ๑๙๗๗

        ยูโกสลาเวีย   พรรคคอมมิวนิสต์ภายใต้การนำของจอมพลตีโต้ยึดอำนาจได้เมื่อเยอรมนีแพ้สงคราม  และจัดให้สภาแห่งชาติลงมติเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์  ซึ่งขณะนั้นพระเจ้าปีเตอร์แห่งยูโกสลาเวียประทับอยู่ที่กรุงลอนดอน  สภาลงมติยกเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์และทรงสละราชสมบัติ
 
       ลาว  พรรคคอมมิวนิสต์ลาวได้อำนาจเมื่อปี ๑๙๗๕ ขณะเมื่อพระเจ้าศรีสว่างวัฒนาเป็นพระมหากษัตริย์   ประสบการณ์ในนานาประเทศแสดงให้เห็นว่า  การปฏิวัติประชาธิปไตยมีทั้งส่งเสริมสถาบันพระมหากษัตริย์และยกเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์
 
       ประเทศไทยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

       รัฐธรรมนูญทุกฉบับบัญญัติว่า พระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศไทยแต่เขียนแตกต่างกัน  ฉบับแรกที่เรียกว่า “ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว  พุทธศักราช ๒๔๗๕ “  บัญญัติไว้ในมาตรา ๓ ว่า “ กษัตริย์เป็นประมุขสูงสุดของประเทศ คือพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก  พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว”
 
       ต่อมาทรงอธิบายแก่คณะราษฎรว่า  ใช้คำว่า “ กษัตริย์ ”  นั้นไม่ถูกเพราะกษัตริย์หมายความถึงนักรบ  ถ้าหมายความถึงพระเจ้าแผ่นดินต้องใช้คำว่า “ พระมหากษัตริย์ ”  คณะราษฎรจึงได้ใช้คำนี้มาจนถึงปัจจุบัน
       บทแรกซึ่งบัญญัติเมื่อพ.ศ. ๒๔๙๒ ว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข  โดยเปลี่ยนคำว่า “ และ ”  ซึ่งละไว้เป็นคำว่า
“ อัน ”  ทำให้ความหมายเปลี่ยนแปลงไปเป็นว่า พระมหากษัตริย์นั้นเป็นประมุขของการปกครอง   แทนที่จะเป็นประมุขของประเทศ   ซึ่งไม่ชอบด้วยหลักวิชารัฐศาสตร์  เพราะ ตามหลักวิชารัฐศาสตร์นั้น พระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศหรือประมุขของรัฐ  ไม่ใช่ประมุขของการปกครอง   ซึ่งได้แก่องค์กรแห่งอำนาจอธิปไตย  ๓ องค์กร คือรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล  ซึ่งแต่ละองค์กรจะมีประมุขของตน  ประมุขของรัฐสภาคือประธานรัฐสภา   ประมุขของคณะรัฐมนตรีคือนายกรัฐมนตรี   ประมุขของศาลคือประธานศาลฎีกา  สามสถาบันนี้คือประมุขของการปกครอง  ส่วนพระมหากษัตริย์นั้นเป็นประมุขของประเทศหรือของรัฐซึ่งอยู่เหนือประมุขของการปกครอง

        ความจริง  ทั้งๆที่รัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ เขียนไว้อย่างถูกต้อง  แต่ในการเขียนการพูดโดยทั่วไป  ก็มักจะเขียนผิดอย่างในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๓๔ อยู่ก่อนแล้ว  คือเมื่อพูดหรือเขียนถึงระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย  ก็มักจะมีคำ “ อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข  ”  หรือ “  อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ”  ต่อท้ายอยู่เสมอ    ซึ่งทำให้เข้าใจว่าพระมหากษัตริย์นั้นเป็นประมุขของการปกครอง   แต่ถ้าจะเขียนหรือพูดอย่างนี้ก็ได้เหมือนกัน   แต่ต้องเติม “ แห่งรัฐ ”  ลงไปด้วย  เป็น “  การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐ  ” เพื่อให้รู้ชัดว่าพระมหากษัตริย์นั้นเป็นประมุขของรัฐ  ไม่ใช่ประมุขของการปกครอง   จะเห็นได้ว่า  คำนี้ในภาษาอังกฤษ ใช้ว่า  Democratic Government with the King as the Head of State เสมอไป   ซึ่งแปลว่า “  การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐ  ” ซึ่งทำให้เห็นชัดว่าพระมหากษัตริย์นั้นไม่ใช่เป็นประมุขของการปกครอง  แต่เป็นประมุขของรัฐหรือของประเทศ

        นี่กล่าวในด้านวิชารัฐศาสตร์  ส่วนในด้านหลักภาษาไทยนั้น การเติม “ทรง” เข้าไปในประโยคนี้  เป็นการใช้ราชาศัพท์ไม่ถูกต้อง  เพราะ “ พระมหากษัตริย์ ” ในที่นี้เป็นสถาบัน  ไม่ใช่เป็นบุคคล  ในการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๔๙๒ มาตรา ๒ ที่สมาชิกรัฐสภาเสนอให้เติมคำว่า “ ทรง ” เป็น “ มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  ”  พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ซึ่งเรียกกันโดยทั่วไปว่า “ ท่านวรรณ ”  ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาไทย  ทรงอธิบายว่าไม่ต้องเติม “ ทรง ” เพราะพระมหากษัตริย์ในมาตรานี้เป็นสถาบัน ไม่ใช่บุคคล  จึงไม่ต้องใช้ราชาศัพท์ จึงควรยึดถือตามพระองค์ท่าน
 
        ในเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า “ พฤษภาทมิฬ ” นั้น  ถ้าประเทศไทยไม่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข  ก็น่ากลัวว่าจะไปไกลกว่าในพม่า  และอาจจบลงด้วยความเสร้าสลดใจที่ไม่อาจบรรยายได้ก็ได้ แม้ว่าจะไม่ถึงกับ “สิ้นชาติ” ก็ตาม
 

-   ตอน ๒๘   -
 

 
         กระผมเคยพูดและเขียนไว้หลายแห่ง  เช่นในนิตยสาร ” ตะวันใหม่ ”  ว่าประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้น ได้เปรียบประเทศที่มีคนสามัญเป็นประมุข  อย่างน้อยที่สุดในยามที่บ้านเมืองตกอยู่ในภาวะคับขัน  ชนิดที่ไม่มีสถาบันใดๆ จะแก้ปัญหาได้แล้ว  แต่สถาบันพระมหากษัตริย์ช่วยได้  และได้ยกตัวอย่าง ๓ ประเทศอักษะในสงครามโลกครั้งที่ ๒ มาเปรียบเทียบให้ดู คือญี่ปุ่น อิตาลี และเยอรมนี

        เมื่อญี่ปุ่นจะแพ้สงครามแน่แล้ว  แต่รัฐบาลไม่ยอมจะรบต่อไปให้ฉิบหายวายวอด  สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโต   ทรงมีพระบรมราชโองการเรียกคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้า  ตรัสสั่งให้หยุดรบ  มีทหารหมู่หนึ่งไปยึดสถานีวิทยุกระจายเสียงเพื่อขัดขวางไม่ใช้ออกอากาศพระบรมราชโองการ  ตรัสสั่งให้ทหารหมู่นั้นไปรายงานตัวต่อผู้บังคับบัญชาเพื่อลงโทษ  ทรงปลด พล.อ.โตโจ  ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  และทรงตั้งจอมพลเรือคนหนึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี  ซึ่งยุติสงครามได้
 
       ในอิตาลี  เมื่อสถานการณ์สงครามสิ้นหวังย่างถึงที่สุด สมเด็จพระเจ้าวิคเตอร์ เอมานูเอลที่ ๒ ทรงมีพระบรมราชโองการสั่งปลดมุสโสลินีออกจากตำแหน่งผู้นำและหัวหน้าฝ่ายบริหาร  ทรงตั้งจอมพลบาโดกลิโอ  เป็นนายกรัฐมนตรี และยุติสงครามได้

       ในเยอรมนี  ฮิตเลอร์ประกาศว่า ถ้าเขาจะต้องแพ้ก็ให้ฉิบหายกันทั้งประเทศ จอมพล นายพล พยายามจะกำจัดฮิตเลอร์เพื่อยุติสงคราม  แต่ถูกฮิตเลอร์กำจัดเสียก่อนทุกราย   ขนาดจอมพลรอมเมล  วีรบุรุษทะเลทราย  ก็ถูกฮิตเลอร์ส่งยาตายให้ไปกิน   และฮิตเลอร์ยิงตัวตายในทำเนียบใต้ดิน  เมื่อกำลังทหารสัมพันธมิตรจากแนวระวันออกและแนวตะวันตกบุกเข้าถึงใจกลางของนครเบอร์ลิน  เยอรมนีฉิบหายวายวอดตามความต้องการของฮิตเลอร์  ผู้เป็นทั้งประมุขของรัฐและประมุขของฝ่ายบริหาร
 
        นี่คือตัวอย่างประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข  ที่มีความได้เปรียบต่อประเทศที่มีคนสามัญเป็นประมุข  ซึ่งพอจะเปรียบกันได้ระหว่างไทยกับพม่า  ที่กระผมกล่าวถึงข้างต้น

       แต่สถาบันพระมหากษัตริย์ของประเทศไทยนั้น ยิ่งใหญ่ด้วยพระบรมเดชานุภาพและพระบารมีเหนือสถาบันพระมหากษัตริย์ในประเทศทั้งปวง เพราะหลักสาระสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย  คือทศพิธราชธรรม ซึ่งสืบทอดมาแต่บรรพกาล  โดยประสานอหิงสาซึ่งเป็นลักษณะพิเศษประจำชาติไทยเข้ากับพุทธอหิงสาธรรมคือ
ทศพิธราชธรรม – ธรรมะ ๑๐ ประการของสถาบันพระมหากษัตริย์
 
๑. ทานัง  การให้ทั้งวัตถุทาน  ธรรมทาน และอภัยทาน
๒. ศีลัง  การละเว้นจากความประพฤติผิดทั้งปวง
๓. บริจาค  การบริจาคเรื่องภายในที่เลวๆออกไปเสียเช่น ความเห็นแก่ตัว
๔. อาชวัง  ความซื่อตรงและเข้มแข็งที่จะทำในสิ่งที่ถูก
๕. มัทวัง ความอ่อนโยนสุภาพต่อคนทั้งปวง
๖. ตปัง ความเพียรพยายาม ที่จะเผาผลาญกิเลสที่อาจเกิดขึ้น
๗.อโกธัง  ไม่ถือโกรธหรือกระทำสิ่งใดด้วยอำนาจของความโกรธ
๘. อวิหิงสา  ไม่เบียดเบียนผู้อื่นทั้งทางตรงและทางอ้อม
๙. ขันติ ความอดทนอดกลั้นต่อสิ่งยั่วโลภะและโทสะ โมหะทั้งปวง
๑๐. อริโรธนัง ไม่ขืนทำในสิ่งผิด 
  
         ซึ่งสรุปลงในพระบรมราโชวาท  เมื่อเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันว่า “ เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม  เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม “ ซึ่งพิสูจน์ความประจักษ์เป็นจริง  ด้วยพระราชจริยาวัตร  และพระราชกรณียกิจตลอดเวลากว่าครึ่งศตวรรษ   โดยเฉพาะความประจักษ์เป็นจริงโดยเฉพาะตามที่ได้เห็นกันอย่างชัดแจ้งในเหตุการณ์เฉพาะหน้า  ถึงพระบรมเดชานุภาพและพระมหาบารมีที่สยบ “พฤษภาทมิฬ”  และป้องกันมิให้เกิดขึ้นในรอบสอง   จะเป็นข้อเท็จจริงยิ่งใหญ่ซึ่งสามารถขจัดความเคลือบแคลงสงสัยที่อาจจะหลงเหลืออยู่บ้างในบุคคลบางจำพวก   ซึ่งแม้ว่าจะมีจำนวนน้อยที่สุดก็ตาม   ถึงความจำเป็นและสำคัญสูงสุดที่ประเทศไทยจะต้องมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขไปตลอดกาลให้หมดสิ้นไปได้

          แต่ในยุคปัจจุบันภายใต้การปกครองของประเทศไทยที่ยังไม่เป็นแบบประชาธิปไตย พสกนิกรผู้จงรักภักดีทั้งหลายก็ยังจะต้องเชิดชูบูชาสถาบันพระมหากษัตริย์  ด้วยความรู้แจ้งในวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์แห่งความสัมพันธ์ระหว่างชนชาติไทย  โดยเฉพาะไทยสยามกับสถาบันพระมหากษัตริย์  เพื่อเป็นหลักประกันอันแน่นอนของมาตรการที่ถูกต้องในการรักษาส่งเสริมความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์   เพราะแม้ว่าจะเปี่ยมล้นด้วยความจงรักภักดีเพียงใด  ถ้าขาดความรู้แจ้งหรือเจือปนด้วยความงมงายแล้ว  ก็อาจจะนำไปสู่มาตรการที่ผิดพลาด   ซึ่งผลทางปฏิบัติแทนที่จะเป็นการรักษาส่งเสริมความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์อาจกลายเป็นบั่นทอนหรือทำลายโดยไม่รู้ตัวไปเสียก็เป็นได้
 
 
   
   

            
 
  
    
    
     
     
 
             
               (อ่านต่อตอนหน้า)
 
 
          อ่านย้อนหลัง...
 
 

ปฏิวัติสันติ

 
สมัคร ยกเลิก
 
 
Revolutionary Press Agency
Online Journal and News Agency for Peace  :  วารสารและข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
Copyright © 2024 www.rpathailand.com All Rights Reserved.
ทำเว็บ  ออกแบบเว็บ  Web Design  เว็บสำเร็จรูป  เว็บไซต์สำเร็จรูป