Revolutionary Press Agency : Online Journal and News Agency for Peace
สำนักสื่อปฏิวัติ  : วารสารข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
8 มิ.ย. 2554 กองหน้าประชาชนรุ่นใหม่ อนุสรณ์ สมอ่อน ตอบคำถามคาใจทำไมต้องปฏิวัติประชาธิปไตย? 
จะรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ให้มั่นคงได้อย่างไร?
เขียนโดย ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร  โพสเมื่อ ๒๙ กันยายน ๒๕๕๒ ๐๑.๓๐ น.
 
 
                                               - ตอน ๒๓-
 
 
            รัชกาลที่๖ทรงทำการปฏิรูปประชาธิปไตยต่อไป  ด้วยพระราชประสงค์ที่จะทำการปฏิวัติประชาธิปไตยในที่สุดเช่นกัน  และด้วยเหตุนี้เมื่อคณะร.ศ. ๑๓๐ ดำเนินการเพื่อปฏิวัติประชาธิปไตย  จึงไม่ทรงเอาโทษในข้อหาว่าคิดจะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเป็นประชาธิปไตย  แต่เอาโทษเฉพาะในข้อหาว่าจะประทุษร้ายองค์พระประมุขเท่านั้น  และเอาโทษสถานเบาเมื่อเปรียบกับข้อหาอันเป็นอันอุกฉกรรจ์ยิ่ง  ซึ่งตามปกติต้องตัดหัวเจ็ดชั่วโคตรทีเดียว

           รัชกาลที่๗ ทรงทำการปฏิวัติประชาธิปไตยด้วยพระองค์เอง โดยทรงช่วยเหลือสนับสนุนคณะราษฎรอย่างเต็มที่และเมื่อคณะราษฎรจะเปลี่ยนระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบเผด็จการก็ทรงคัดค้านเต็มที่เช่นกัน  เมื่อคัดค้านไม่ไหวก็ทรงสละราชสมบัติและทรงฝากหัวใจของระบอบประชาธิปไตยไว้กับประชาชนว่า

          “ ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่เดิมให้แก่ราษฎรทั่วไป  แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าอยู่เดิมให้แก่ผู้ใดคณะใดเพื่อใช้อำนาจโดยสิทธิ์ขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร ” ซึ่งจารึกอยู่ ณ ฐานพระราชอนุสาวรีย์หน้ารัฐสภา

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน  ทรงมีพระราชดำรัสในท่ามกลางกระแสเรียกร้องรัฐธรรมนูญอันไหลเชี่ยวในกรณี ๑๔ ตุลาคม แก่รัฐมนตรีชุดนายสัญญา  ธรรมศักดิ์  เมื่อวันเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนรับหน้าที่วันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๑๖ ว่า    “ ต้องทำหน้าที่เพื่อให้บรรลุผลตามจุดประสงค์ให้สภาพการปกครองเข้าสู่สภาพปกติ  ให้มีการปกครองแบบประชาธิปไตยที่เหมะสมกับสภาพของประเทศชาติ “

           เหล่านี้เป็นการทบทวนโดยย่อถึงพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ไทยที่ทรงดำเนินการเพื่อประชาธิปไตยอันเป็นการส่งเสริมความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์  แม้ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ตลอดจนถึงระบอบเผด็จการในปัจจุบัน

            พระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงตอบคณะเจ้านายและขุนนางตอนหนึ่งว่า
 
           “ เราขอท่านทั้งปวงเข้าใจว่า  เราไม่ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินซึ่งต้องบีบคั้นให้หันมาทางกลางเหมือนอย่างพระเจ้าแผ่นดินในยุโรป  ซึ่งมีมาในพงศาวดาร  และเพราะความเห็นความรู้ซึ่งเราได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินมาถึง ๑๘ ปี ได้พบเห็นและได้เคยทุกข์ร้อนในการหนักในการแรงการเผด็จการร้อนของบ้านของเมือง  ซึ่งมีอำนาจจะมากดขี่ประการใด  ทั้งได้ยินข่าวคราวจากเมืองอื่นๆซึ่งมีเนืองๆ มิได้ขาด  แลการซึ่งเราได้ขวนขวายตะเกียกตะกายอยู่ในการที่เปลี่ยนแปลงมาแต่ก่อนจนมีเหตุบ่อยๆ ซึ่งเป็นพยานของเราที่จะยกขึ้นชี้ได้ว่าเราไม่ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินซึ่งเหมือนคางคกอยู่ในกะลาครอบ  ที่จะพึงทรมานให้สิ้นทิษฐิถือว่าตัวโตนั้นด้วยอย่างหนึ่งอย่างใดเลย  ”
 
และพระราชบันทึกของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  เสนอต่อรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรตอนหนึ่งว่า
 
            “ ข้าพเจ้าได้เล็งเห็นอยู่นานแล้วว่าเมื่อประเทศสยามได้มีการศึกษาเจริญขึ้นมากแล้ว   ประชาชนคงจะประสงค์ที่จะให้เปลี่ยนแปลงการปกครองของบ้านเมืองเป็นแบบนี้   และตั้งข้าพเจ้าได้รับสืบราชสมบัติจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ   ข้าพเจ้าก็ได้คิดการที่จะบันดาลให้การเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปโดยราบรื่นที่สุดที่จะเป็นไปได้   และได้กล่าวถึงความประสงค์นั้ยโดยเปิดเผยหลายครั้งหลายหนโดยเหตุนี้เมื่อคณะผู้ก่อการฯ ร้องขอให้ข้าพเจ้าเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ  ข้าพเจ้าจึงรับรองได้ทันทีโดยไม่มีข้อข้องใจแต่อย่างใดเลย “
 
             ตัวอย่างเหล่านี้ตรงกับคำกลอนของนายเทียนวรรณ นักประชาธิปไตยสมัยรัชกาลที่๕ ที่เขียนไว้ว่า
 
ขอให้เห็นเช่นเราผู้เฒ่าทัก
บำรุงรักษาชาติสะอาดศรี
ทั้งเจ้านายฝ่ายพหลและมนตรี
จงเป็นศรีวิไลซ์จริงอย่านิ่งนาน
ให้รับหาปาลีเมนต์ขึ้นเป็นหลัก
จะได้ชักน้อมในไพร่สมาน
เริ่มเป็นฟรีปรีดาอย่าช้ากาล
รักษาบ้านเมืองเราช่วยเจ้านาย
 
และตรงกับทรรศนะของร.ท.แม้น สังขวิจิตร มหาดเล็กของรัชกาลที่ ๖ ซึ่งให้เหตุผลในการเข้าร่วมปฏิวัติประชาธิปไตยของคณะ ร.ศ. ๑๓๐ ว่า
 
              “ การร่วมปฏิวัติของเขา  ก็คือความหวังที่จะดำรงไว้ซึ่งความเป็นประมุขของพระองค์ในภาวะประชาธิปไตยนั่นเอง  โดยเห็นว่า  การปกครองแบบราชาธิปไตยนี้จะเป็นยาพิษแก่ราชบัลลังก์อย่างแน่แท้ “ (จากบันทึกร.ต.เหรียญและร.ต.เนตร)  ซึ่งตรงกับบันทึกของพ.อ.มนูญ รูปขจรที่ว่า “ เราพวกแม่ทัพนายกอง ทหาร ทุกกรมกอง หัวใจยังเต็มเปี่ยมด้วยความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ทุกลมหายใจเข้าออก “ (จากหนังสือพิมพ์ชาวไทย ๒๒ พ.ค. ๒๕๒๔)

            ข้อเท็จจริงที่ยกมาเพียงเล็กน้อยนี้เพียงพอที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่าเมื่อสภาวการณ์ทางประวัติศาสตร์และทางสังคมเปลี่ยนแปลงไป  พระมหากษัตริย์ไทยมิได้ทรงอยู่ในขบวนการเผด็จการ  แต่ทรงอยู่ในขบวนการประชาธิปไตย  ซึ่งเป็นขบวนการที่มีความเห็นว่า   ในสภาวการณ์เช่นนี้สถาบันพระมหากษัตริย์จะมีความมั่นคงได้  ต้องเป็นสถาบันพระมหากษัตริย์ปริมิตาญาสิทธิราชย์  และประเทศชาติต้องมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย
  
   
 
           
                                                                                                       
             
 
                                                                    - ตอน ๒๔ -
 
       
           ขบวนการเผด็จการในอดีตสมัยเท่านั้นสอดคล้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์เมื่อสภาวการณ์เปลี่ยนแปลงไป    แม้ขบวนการเผด็จการนั้นก็ไม่สอดคล้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์แล้ว จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงเป็นสถาบันพระมหากษัตริย์ปริมิตาญาสิทธิราชย์   ซึ่งจะสอดคล้องก็แต่กับขบวนการประชาธิปไตยเท่านั้น  ใช่ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์กับสถาบันพระมหากษัตริย์ปริมิตาญาสิทธิราชย์จะสอดคล้องกับขบวนการเผด็จการก็หาไม่

          ในปัจจุบันประเทศไทยครอบงำอยู่ด้วยขบวนการเผด็จการ   ซึ่งยังคงรักษาระบอบเผด็จการไว้  เป็นระบอบเผด็จการรัฐสภาบ้าง  ระบอบเผด็จการรัฐประหารบ้าง จึงไม่สอดคล้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ปริมิตาญาสิทธิราชย์
 
           ดังนั้นขบวนการเผด็จการในปัจจุบันจึงเป็นยาพิษแก่ราชบัลลังก์ปริมิตาญาสิทธิราชย์  เช่นเดียวกับขบวนการเผด็จการก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕   เป็นยาพิษแก่ราชบัลลังก์สมบูรณาญาสิทธิราชย์เหมือนกัน   แต่ยาพิษนี้ทำอันตรายแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ได้ไม่มากก็เพราะว่านอกจากจะได้เปลี่ยนสถาบันพระมหากษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นสถาบันพระมหากษัตริย์ปริมิตาญาสิทธิราชย์มาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๕ แล้วพระมหากษัตริย์ก็มิได้ทรงอยู่ในขบวนการเผด็จการ  แต่ทรงอยู่ในขบวนการประชาธิปไตยอีกด้วย

          ปัญหาการรักษาความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น  นอกจากจะพิจารณาประสบการณ์ของประเทศเราเองแล้ว ยังต้องพิจารณาประสบการณ์ของประเทศเราเองโดยเฉพาะจาก ๓ ขบวนการคือขบวนการเผด็จการ  ขบวนการประชาธิปไตย และขบวนการคอมมิวนิสต์หรือ ขวา กลาง ซ้าย

           ตลอดประวัติศาสตร์แห่งสมัยกลาง ขบวนการเผด็จการการสอดคล้องกับความต้องการของประเทศชาติและประชาชน  จึงส่งเสริมระบอบพระมหากษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นอย่างดี  ความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่มีปัญหา

            แต่ในระยะสุดท้ายของประวัติศาสตร์สมัยกลาง (ราวศตวรรษที่ ๑๕ ) เกิดขบวนการประชาธิปไตยขึ้น    ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของประเทศชาติและประชาชนทำให้ขบวนการเผด็จการไม่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศชาติและประชาชนอีกต่อไป  และถ้าระบอบพระมหากษัตริย์สนับสนุนขบวนการเผด็จการก็จะไม่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศชาติและประชาชนเช่นกัน

            แต่ขบวนการประชาธิปไตยโดยทั่วไปและประชาชนทั่วไปต้องการระบอบพระมหากษัตริย์  ไม่ต้องการละทิ้งระบอบพระมหากษัตริย์  ขบวนการประชาธิปไตยและประชาชนจึงต้องการให้ระบอบพระมหากษัตริย์ยืนอยู่ฝ่ายขบวนการประชาธิปไตยและประชาชน  และถ้าระบอบพระมหากษัตริย์หันมายืนอยู่ฝ่ายขบวนการประชาธิปไตยและประชาชน  เงื่อนไขอย่างหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ ความเปลี่ยนแปลงจากระบอบพระมหากษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy)   เป็นระบอบพระมหากษัตริย์ปริมิตาญาสิทธิราชย์ (Limited Monarchy)    หรือเรียกให้ยาวออกไปว่าระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ
 
           ในยุคแห่งความเปลี่ยนแปลงจากประวัติศาสตร์สมัยกลางเป็นประวัติศาสตร์สมัยใหม่  โดยทั่วไปแล้วระบอบพระมหากษัตริย์ที่ยืนอยู่ฝ่ายขบวนการเผด็จการจะสูญเสียความมั่นคง กระทั่งอาจถูกทำลายไป  แต่ระบอบพระมหากษัตริย์ที่ยืนอยู่ฝ่ายขบวนการประชาธิปไตย จะมีความมั่นคงดังตัวอย่างเช่น....

           ในประเทศอังกฤษ การต่อสู้อันรุนแรงระหว่างขบวนการเผด็จการกับขบวนการประชาธิปไตยในอังกฤษ  คือสงครามระหว่างกองทัพเดิมกับกองทัพรัฐสภาเมื่อ ค.ศ. ๑๖๔๒ กองทัพเดิมของขบวนการเผด็จการกองทัพรัฐสภาคือ กองทัพของขบวนการประชาธิปไตย

          พระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๑ ทรงบัญชาการกองทัพเดิมรบกับกองทัพรัฐสภาภายใต้บัญชาการของโอวิเวอร์ ครอมเวล กองทัพรัฐสภาชนะ สำเร็จโทษพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๑ และยกเลิกระบอบพระมหากษัตริย์  ครอมเวลเป็นผู้ปกครองประเทศเรียกว่าท่านผู้พิทักษ์

           หลังจากครอมเวลถึงแก่กรรมในปี ๑๖๕๘  ก็เกิดความระส่ำระสาย  จึงได้รื้อฟื้นระบอบพระมหากษัตริย์ขึ้นอีก  โดยพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๒ ขึ้นครองราชย์ซึ่งทรงประนีประนอมกับขบวนการประชาธิปไตยเป็นอย่างดี  แต่พระเจ้าเจมส์ที่๒ ซึ่งทรงสืบพระราชสมบัติต่อมา (ปี ๑๖๘๕) ไม่ทรงประนีประนอมกับขบวนการประชาธิปไตยจึงถูกโค่นโดยการปฏิวัติแห่งปี ๑๖๘๘ ทำให้ขบวนการประชาธิปไตยชนะต่อขบวนการเผด็จการอย่างเด็ดขาด  โดยรัฐสภาซึ่งเป็นผู้แทนของขบวนการประชาธิปไตย  เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยอย่างสมบูรณ์เป็นระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภาที่เป็นแบบฉบับมาจนถึงปัจจุบัน

           เป็นที่ทราบกันอยู่ว่าอังกฤษเป็นแบบฉบับของประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา  มีพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (แบบนิติประเพณี)  เป็นประมุขของประเทศ และเป็นระบอบพระมหากษัตริย์ที่มีความมั่นคงอย่างยิ่ง
 
            แต่ก่อนที่จะเป็นเช่นนี้  ระบอบพระมหากษัตริย์ก็เคยถูกโค่นมาแล้ว (สมัยพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๑)  และการที่ระบอบพระมหากษัตริย์ถูกโค่นก็เพราะระบอบพระมหากษัตริย์ไปยืนอยู่ฝ่ายขบวนการเผด็จการ  แต่เมื่อระบอบพระมหากษัตริย์หันมายืนอยู่ฝ่ายขบวนการประชาธิปไตย ก็กลับคืนสถานะอันสูงส่ง  และมีความมั่นคงมาโดยตลอด

            ตัวอย่างของอังกฤษพิสูจน์อย่างชัดเจนว่า  ประชาชนต้องการระบอบพระมหากษัตริย์อย่างมากมายเพียงใด  เพราะแม้แต่พระมหากษัตริย์จะเคยยืนอยู่ฝ่ายขบวนการเผด็จการ  ทำสงครามอย่างรุนแรงกับขบวนการประชาธิปไตย  ถึงกับพระมหากษัตริย์ถูกสำเร็จโทษ  แต่เมื่อระบอบพระมหากษัตริย์หันมาประนีประนอมกับขบวนการประชาธิปไตยก็ยังคงได้รับความสนับสนุนจากประชาชนอย่างเข้มแข็งมาโดยตลอด ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้

            
 
  
    
    
     
     
 
             
               (อ่านต่อตอนหน้า)
 
 
 
          อ่านย้อนหลัง...
 
 

ปฏิวัติสันติ

 
สมัคร ยกเลิก
 
 
Revolutionary Press Agency
Online Journal and News Agency for Peace  :  วารสารและข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
Copyright © 2024 www.rpathailand.com All Rights Reserved.
ทำเว็บ  ออกแบบเว็บ  Web Design  เว็บสำเร็จรูป  เว็บไซต์สำเร็จรูป