Revolutionary Press Agency : Online Journal and News Agency for Peace
สำนักสื่อปฏิวัติ  : วารสารข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
8 มิ.ย. 2554 กองหน้าประชาชนรุ่นใหม่ อนุสรณ์ สมอ่อน ตอบคำถามคาใจทำไมต้องปฏิวัติประชาธิปไตย? 
 
พระพุทธศาสนาแนวคิดเพื่อพัฒนาสังคมและการเมือง
ดร.บี อาร์ อัมเบดการ์
ถอดความโดย
พระดร.สมชัย กุสลจิตฺโต พระราชปัญญาเมธี
 
              (ต่อจากตอนที่แล้ว)
 
 
   
                เรื่องศาสนาเป็นเรื่องสำคัญ
 
                มีนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามของข้าพเจ้าบางคน  ซึ่งเฝ้าติดตามกิจกรรมทางการเมืองของข้าพเจ้าอย่างจริงจัง กล่าวหาข้าพเจ้าว่า เป็นคนเจ้าเล่ห์ พวกเขาโจมตีว่า ข้าพเจ้าต้องการได้สิทธิพิเศษมากที่สุดแก่พวกจัณฑาล

               อีกประการหนึ่ง มีบางคนประหลาดใจว่า ทำไมข้าพเจ้าจึงใช้เวลานานเหลือเกินในการตัดสินใจเปลี่ยนศาสนา เขาถามว่า  “ คุณมัวทำอะไรกันอยู่ตั้งหลายปี ” คำตอบที่ข้าพเจ้าอาจตอบได้ก็คือว่า ปัญหาเรื่องศาสนาจัดเป็นปัญหาที่ยากที่สุดและเป็นปัญหาที่ต้องเอาจริงเอาจังมากๆ มันเป็นความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่จริงๆ โดยเฉพาะการอบรมสั่งสอนให้ประชาชนเห็นคุณค่าของพระศาสนาและปฏิบัติตามหลักการของพระศาสนา  ไม่มีผู้ใดยอมเอาบ่าลงมาแบกรับภาระอันแสนหนักอึ้งอันนี้  และข้าพเจ้าก็ไม่คิดว่าจะมีใครถูกขอร้องให้มาช่วยแบ่งเบาภาระและรับผิดชอบงานนี้ แม้ในอนาคตถ้าโชคดีว่าข้าพเจ้ามีอายุยืนยาวไปอีกหลายๆปี ข้าพเจ้าก็จะพยายามสานต่องานที่ตัวเองก่อไว้ในวันนี้ให้สำเร็จลุล่วงไปให้จนได้
 
 
                ถึงจนก็ต้องการศาสนา
 
 
                มักมีบางคนถามปัญหานี้กับข้าพเจ้าว่า “ พวกจัณฑาลจะได้อะไรเมื่อหันมาสมาทานนับถือพระพุทธศาสนา” สำหรับปัญหานี้ควรจะพูดว่ามันเป็นปัญหาที่เหลวไหล ไม่น่าถามเลย
                
                ศาสนาจำเป็นสำหรับคนร่ำรวยอยู่ดีกินดีแล้วเท่านั้นหรือ ? เปล่า! บางทีไม่ใช่จำเป็นสำหรับคนร่ำรวยเท่านั้น  แม้คนที่ดำรงอยู่ในตำแหน่งสูงในชีวิตอยู่บังกะโลหลังหรูๆ มีเงินใช้จ่ายซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกได้ทุกอย่างและมีคนคอยรับใช้ คนพวกนี้อาจเห็นว่า ศาสนามีประโยชน์น้อยมาก ข้อนี้เตือนข้าพเจ้าให้คิดถึงศาสตราจารย์ชาวเยอรมันชื่อ วินเตอร์นิทช์ (Winternitz) ท่านได้แนะนำให้ข้าพเจ้าอ่านหนังสือชื่อ “The Watergang Rabelan Depth” ซึ่งได้สร้างแรงบันดาลใจอย่างมากให้แก่ข้าพเจ้าว่า “ มีแต่คนยากจนเท่านั้นที่ต้องการศาสนา” เขาพูด ความหวังเป็นน้ำพุแห่งการกระทำ ศาสนาสร้างความหวังเช่นนี้ เพราะเหตุนี้ มวลมนุษยชาติพบการปลอบประโลมใจในศาสนา นี่คือเหตุผลที่คนจนมีความยึดถือในเรื่องพระศาสนา

                 เมื่อศาสนาคริสต์เริ่มเบิกทางสู่ยุโรป สถานการณ์ทั้งในและรอบๆกรุงโรมขณะนั้นน่าสะพรึงกลัว ประชาชนไม่ได้อาหารพอยาไส้ พวกเขาอาศัยอยู่ในภาวะยากจนอย่างน่าสมเพช แต่คุณจะต้องจำไว้ด้วยว่า ใครคือกลุ่มประชาชนที่ได้ขยายการตอบสนองอย่างเห็นอกเห็นใจต่อข้อเรียกร้องของชาวคริสต์ เมื่อศาสนา (คริสต์นิกาย) คาทอลิกแทรกซึมเข้าสู่กรุงโรมนั้น ผู้ที่มีความเชื่อในเรื่องจิตวิญญาณของศาสนา มิใช่คนร่ำรวย แต่เป็นคนยากจนซึ่งเลี้ยงชีพด้วยข้าวโอ๊ตต้มที่แจกฟรี  คนเหล่านั้นยากจนเป็นทุกข์และถูกกดขี่  เลี้ยงชีวิตด้วยข้าวต้มข้าวโอ๊ตกับนมที่แจกฟรีเป็นอาหาร ประชาชนดังกล่าวซึ่งทำงานเป็นทาสและข้าของแผ่นดินสำหรับเจ้านายโรมัน คนทุกข์ยากและถูกกดขี่เหล่านี้แหละที่เปลี่ยนไปสมาทานนับถือศาสนาคริสต์ยุคแรก นายกิบบอน (Gibbon) นักประวัติศาสตร์ชื่อดัง  เจ้าของบทประพันธ์ชื่อดัง เจ้าของบทประพันธ์ชื่อ “ ความรุ่งเรืองและล่มสลายของจักรวรรดิโรมัน (Rise and Fall of the Roman Empire) ”   นายคนนี้ได้ให้ยี่ห้อแก่ศาสนาคริสต์ยุคนั้นอย่างหยันๆ ในฐานะศาสนาของพวกทาสและขอทาน ถ้านายกิบบอนเกิดมีชีวิตมาถึงปัจจุบัน เขาคงจะตกใจมากที่เห็นทวีปยุโรปทั้งหมดถูกครอบงำด้วยศาสนาคริสต์

                ไม่ต้องใส่ใจเลย ถ้าจะมีคนอินเดียบางคนบางพวกอาจพูดว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของคนจัณฑาล  นี้เป็นการตั้งข้อสังเกตอย่างดูแคลนและพยายามใส่ร้ายพระพุทธศาสนา  พวกพราหมณ์ในสมัยพุทธกาลไม่เคยละเว้นพระพุทธองค์ พวกเขากล่าวถ้อยคำแสดงความไม่เคารพว่า “โอ้! โคดม หรือโภ โคตมะ” พวกเขาต้องการแสดงความไม่เคารพพระพุทธองค์เสมอ  พวกเขาต้องการหมิ่นประมาทพระพุทธองค์
 
                 แม้การสบประมาทและการกล่าวหาทั้งหลายจะพรั่งพรูลงสู่ (พระพุทธ) ศาสนานี้  พระพุทธศาสนาได้ปรับตัวให้คุ้นเคยกับชาวยุโรปและอเมริกาได้ดีกว่าศาสนาฮินดู  คุณจะต้องประหลาดใจที่ทราบว่าถ้ารูปปฏิมาของพระราม  พระกฤษณะ พระศังกร หรือพระเจ้าฮินดูอื่นๆ นำออกมาวางขายหรือส่งออก ไม่มีใครสนใจจะเลือกซื้อไป แต่ถ้าเป็นพระพุทธปฏิมา นำเข้าร้านเพื่อขายในตอนเช้า พอตอนเย็นวันเดียวกันนั้นจะไม่มีองค์ไหนเหลือให้เห็นอยู่เลย

                 พวกเราจะเดินไปข้างหน้าบนหนทางที่บรรจงเลือกแล้วอย่างมั่นใจ ไม่ท้อแท้  พวกเราเพิ่งได้พบกับวิถีทางแห่งชีวิตใหม่  พวกเราจะปฏิบัติตามวิถีทางนี้ต่อไป นี่คือมรรคาที่จะนำพวกเราไปสู่ความก้าวหน้า (และความเจริญรุ่งเรือง)      
 
                  ความจริงนี่มิใช่สิ่งใหม่ (ของใหม่) หรือมิใช่ศาสนาที่พวกเรานำเข้าจากต่างประเทศ พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของประเทศอินเดีย กำเนิดในประเทศนี้ พระพุทธศาสนามีอายุมากกว่า ๒,๐๐๐ ปีแล้ว   ข้าพเจ้ารู้สึกเสียใจ เพราะความจริงอย่างหนึ่งที่ว่า ข้าพเจ้าไม่ได้สมาทานนับถือพระศาสนานี้แต่ตอนแรกๆ
 
 
  
 
          

 
 
 
 
  
                            
  
  
  
  (อ่านความเดิมตอนที่แล้ว)
  
  
  

ปฏิวัติสันติ

 
สมัคร ยกเลิก
 
 
Revolutionary Press Agency
Online Journal and News Agency for Peace  :  วารสารและข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
Copyright © 2024 www.rpathailand.com All Rights Reserved.
ทำเว็บ  ออกแบบเว็บ  Web Design  เว็บสำเร็จรูป  เว็บไซต์สำเร็จรูป