Revolutionary Press Agency : Online Journal and News Agency for Peace
สำนักสื่อปฏิวัติ  : วารสารข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
8 มิ.ย. 2554 กองหน้าประชาชนรุ่นใหม่ อนุสรณ์ สมอ่อน ตอบคำถามคาใจทำไมต้องปฏิวัติประชาธิปไตย? 
อุปสรรคความสำเร็จการปฏิวัติประชาธิปไตยในประเทศไทย ตอน ๗
เขียนโดย ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร โพส ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๒ :๒๓.๕๐ น.
 
ประเสริฐโต้ปรีดีที่ปักกิ่งเรื่องรัฐประหารไม่เชื่อว่าจอมพลป.จะทำ
 "เป็นเรื่องระหว่างผมกับอาจารย์ปรีดี "
 
 
            (ต่อจากตอนที่แล้ว)
 
 
            การที่ผมวิจารณ์อาจารย์ปรีดีและการที่อาจารย์ปรีดีวิจารณ์ผม เป็นเรื่องของ 2 คน ระหว่างอาจารย์ปรีดีกับผมเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับคนอื่น เพราะการโต้แย้งระหว่างผมกับอาจารย์ปรีดีนั้นทีแรกเป็นการโต้แย้งตัวต่อตัว ซึ่งรู้กันเพียง 2 คน และผมก็ไม่ได้บอกกับใคร ต่อมาจึงรู้เพิ่มขึ้นอีกราว 10 คน เพราะเรื่องนี้ที่ผมโต้แย้งกับอาจารย์ปรีดีสองต่อสองเกิดนำมาพูดกันขึ้นในคณะของอาจารย์ปรีดีประมาณ 10 คน แต่ก็เป็นเรื่องที่โต้แย้งกันระหว่าง 2 คนนั่นเอง จึงถือได้ว่ายังเป็นเรื่องระหว่างอาจารย์ปรีดีกับผม ไม่เกี่ยวกับคนอื่น ถึงคนอื่นจะร่วมวงอยู่ด้วย เขาก็พูดกับอาจารย์ปรีดีในเรื่องที่เกี่ยวกับปัญหาระหว่างอาจารย์กับพวกเขาเป็นสำคัญ

           ในบรรดาผู้ที่ร่วมวงเหล่านั้น  ไม่มีใครโต้แย้งความเห็นของผมที่วิจารณ์อาจารย์ปรีดี แต่ผมรู้สึกแปลกใจว่าคนที่ไม่ได้รู้เห็นการโต้แย้งระหว่างอาจารย์ปรีดีกับผม กลับมาโต้แย้งผมในเรื่องที่เขาไม่ได้รู้เห็นเหล่านั้นและโต้แย้งเสมือนว่ารู้ดีกว่าคู่โต้แย้งและผู้ร่วมวงเสียอีก

           ด้วยเหตุนี้ถ้าในส่วนที่เป็นทรรศนะเฉพาะตัวของอาจารย์ปรีดีแล้ว  ควรเป็นเรื่องระหว่างอาจารย์ปรีดีกับผม  ไม่เกี่ยวกับคนอื่น ผมจึงถือว่าผมโต้แย้งกับอาจารย์ปรีดีเท่านั้น ไม่ได้โต้แย้งกับคนอื่น  ถึงแม้ว่าอาจารย์ปรีดีจะถึงอสัญกรรมไปแล้ว แต่ทรรศนะของอาจารย์ปรีดียังอยู่  และที่ผมโต้แย้งก็โต้กับทรรศนะของท่าน ฉะนั้นจึงยังคงเป็นการโต้แย้งระหว่างอาจารย์ปรีดีกับผมอยู่นั่นเอง เวลานี้มีบางคนเขียนแย้งผมในเรื่องนี้ที่ผมโต้แย้งกับอาจารย์ปรีดี ผมจึงไม่โต้แย้งเขา เพราะผมโต้แย้งอาจารย์ปรีดีเท่านั้น

           เว้นแต่ในปัญหาที่ทรรศนะของอาจารย์ปรีดีไปเกี่ยวพันกับบุคคลอื่น กลุ่มอื่น คณะอื่น พรรคอื่น หรือขบวนการอื่น เช่น คณะราษฎร เป็นต้น ก็ย่อมจะเป็นเรื่องระหว่างเขาเหล่านั้นกับผมได้

           เดิมที ผมไม่ได้เกี่ยวข้องทางการเมืองกับอาจารย์ปรีดี  แม้ว่าผมจะเกี่ยวข้องกับบางส่วนของคณะราษฎร แต่ก็ไม่ใช่ฝ่ายอาจารย์ปรีดี เกี่ยวข้องกับอาจารย์อยู่บ้างในทางการงาน ไม่ใช่ทางการเมือง

            ผมเริ่มเกี่ยวข้องทางการเมืองกับอาจารย์ปรีดีเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยผ่านทางคุณเตียง ศิริขันธ์ อันที่จริงหลังสงครามผมน่าจะอยู่ฝ่ายอาจารย์ปรีดีในทางการเมือง เพราะเพื่อนฝูงที่สนิทอยู่ฝ่ายอาจารย์ปรีดีกันทั้งนั้น  เพื่อนสนิทที่สุดคือคุณเตียง เพราะเป็นจุฬาฯด้วยกัน  เขาสำเร็จอักษรศาสตร์ก่อนผม 2-3 รุ่น ตั้งแต่คณะอักษรศาสตร์ยังไม่มีหลักสูตรปริญญา มีเพียงหลักสูตร ปม. นอกจากสนิทสนมเป็นการส่วนตัวแล้วยังถูกเส้นกันมากในด้านการเมือง ร่วมคิดสมัครส.ส.ด้วยกัน และร่วมกันสมัครส.ส.ครั้งแรกด้วยกันเมื่อพ.ศ. 2480 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งโดยตรงครั้งแรก และเป็นการเลือกตั้งที่ยังเป็นประชาธิปไตยอยู่มาก ผมเป็นผู้เขียนใบโฆษณา เวลาพิมพ์เปลี่ยนรูปและเปลี่ยนจังหวัดเท่านั้น ชุดหนึ่งเป็นรูปคุณเตียง จังหวัดสกลนคร อีกชุดหนึ่งเป็นรูปผม จังหวัดสุราษฎร์ธานี คุณเตียงได้ที่ 1 ผมได้ที่ 2 แต่จังหวัดสุราษฎร์ฯมีส.ส.คนเดียว ผมจึงเป็นส.ส.สอบตก

            ขณะเป็นส.ส.นั้น ผมสังเกตเห็นว่าคุณเตียงก็ยังไม่ได้เกี่ยวข้องกับอาจารย์ปรีดีเป็นส.ส.กลางๆ และสัมพันธ์กับผมตามปกติ ส่วนผมเกี่ยวข้องกับจอมพลป.มาตั้งแต่ยังเป็นนายพันเอกหลวงพิบูลสงครามและเกี่ยวข้องเรื่อยมาโดยไม่ได้เป็นส.ส.

            คุณเตียงเกี่ยวข้องกับอาจารย์ปรีดีเมื่อทำเสรีไทย และเป็นส.ส. มาตลอด เพราะจอมพลป.ต่ออายุส.ส. ผมเองอยู่ทางทำเนียบรัฐบาล ร่วมทำเผด็จการอยู่กับจอมพลป. และเป็นครูอยู่ร.ร.สวนกุหลาบ ต่อมาย้ายไปอยู่ ร.ร.ฝึกหัดครูวังจันทน์เกษม เวลานั้น ส.ส.ไม่ใคร่มีอะไรทำเพราะการเมืองต่างๆ จอมพลป.เอาไปทำหมด เว้นแต่มีเรื่องจะต้องทำเป็นรูปพระราชบัญญัติทีก็เอาไปเข้าสภาเสียที  การเมืองอยู่ที่ทำเนียบทั้งนั้น คุณเตียงอยากรู้ปัญหาการเมืองภายในอะไรก็มาถามผม  เพราะพวกอยู่ในทำเนียบรู้กิจกรรมการเมืองมากกว่าพวกอยู่ในสภา คุณเตียงทำเสรีไทยครึกครื้นอยู่กับอาจารย์ปรีดี ผมก็ทำเผด็จการไม่ใคร่จะครึกครื้น (เพราะไม่พอใจมากขึ้นทุกที) อยู่กับจอมพลป. พอปลายสงครามจอมพลป.ตกเก้าอี้ ผมก็หมดหน้าที่ทางทำเนียบ แต่ก็ได้เป็นเสรีไทยกับเขาเหมือนกัน แต่ไม่ใช่สายคุณเตียง เขาจะให้ผมลงเรือดำน้ำที่ประจวบไปแคนดีแต่ไม่ได้ไป เพราะเรือดำน้ำเกิดไม่มาตามนัด  เวลานั้นใครๆก็ต่อต้านญี่ปุ่นกันทั้งนั้น แม้แต่จอมพลป.ซึ่งทำสัญญาร่วมรบร่วมรุกกับญี่ปุ่น เมื่อเรียกผมไปร่วมทำเผด็จการกับท่านในทำเนียบ ท่านก็บอกว่าเรามาร่วมกันต่อต้านญี่ปุ่น  แต่วิธีต่อต้านญี่ปุ่นของท่านไม่ครึกครื้นเหมือนเสรีไทย ผมจึงค่อยๆเบื่อหน่ายที่จะร่วมมือกับท่าน  จอมพลป.ตั้งผมให้เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสาร “วรรณคดีสาร” มีท่านวรรณ (กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์) เป็นบรรณาธิการ ออกได้ไม่กี่เล่มผมก็ไม่ยอมเขียน นึกในใจว่าคงโดนจอมพลป.เล่นงานแน่  แต่แล้วท่านก็ไม่ได้ว่าอะไร เป็นปกติกับผมตามเดิมจนท่านตกเก้าอี้ไป และเมื่อไม่ได้ไปแคนดีก็ไม่มีอะไรทำ โรงเรียนก็หยุด เพราะสงครามรุนแรงยิ่งขึ้น จึงได้แต่นั่งนอนดูคุณควง “ตลกกู้บ้านกู้เมือง” กับญี่ปุ่นอย่างสนุกสนานไปจนเสร็จสงคราม

            หลังสงครามผมก็ยังไม่ได้เกี่ยวข้องทางการเมืองกับอาจารย์ปรีดี ที่จริงน่าจะเกี่ยวข้องเพราะเพื่อนฝูงที่เป็นส.ส.ด้วยกัน  โดยเฉพาะคือคุณเตียงซึ่งสนิทสนมกันเป็นพิเศษ ต่างก็หวังกันว่าผมจะต้องอยู่พรรคสหชีพซึ่งกำลังเริ่มตั้งอย่างแน่นอน ผมไปร่วมประชุม2-3 ครั้ง มีคุณทองอินทร์ ภูริพัฒน์ เป็นประธาน แต่ยังไม่ได้เข้าเป็นสมาชิก การประชุมทุกครั้งเห็นมีแต่เรื่องเดียวคืออภิปรายกันไปมายืดยาวแล้ว ประธานก็ประกาศว่าอาจารย์ปรีดีให้เอาอย่างนั้นอาจารย์ให้เอาอย่างนี้ทุกทีไป  ผมรู้สึกว่าพรรคแบบนี้คงไปไม่รอด เพราะถ้าอาจารย์ให้เอาอย่างนั้นให้เอาอย่างนี้ถูกทุกอย่างก็ใช้ได้และดีมากทีเดียว แต่ผมรู้สึกว่าที่อาจารย์ให้เอาอย่างนั้นให้เอาอย่างนี้ บางอย่างก็น่าจะไม่ถูก ฉะนั้นหลังจากร่วมประชุม 2-3 ครั้ง ผมก็ไม่ไปอีกเลย แต่ความสัมพันธ์ฉันเพื่อนฝูงโดยเฉพาะกับคุณเตียง ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

           เวลานั้นคุณควงเป็นนายกรัฐมนตรี พรรคสหชีพโดยคุณทองอินทร์ ภูริพัฒน์เสนอร่างพ.ร.บ.คุ้มครองค่าใช้จ่ายของประชาชนในภาวะคับขัน สภารับหลักการ คุณควงบอกว่าทำไม่ได้จึงลาออก

           ผมรู้สึกว่าพรรคสหชีพจงใจล้มคุณควง โดยยังไม่ได้ให้โอกาสทำงานแก่เขาเท่าที่ควร ผมจึงไปหาคุณควงและเสนอให้ตั้งพรรคขึ้นมาเพื่อไม่ให้ถูกล้มง่ายๆ ผมมารู้ทีหลังว่าคุณควงคิดอยู่แล้ว แต่ผมก็ได้กลายเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์คนหนึ่งไป

           ระหว่างที่ผมอยู่พรรคประชาธิปัตย์อาจารย์ปรีดีเป็นนายกฯ จึงเกี่ยวข้องกับอาจารย์ปรีดีในฐานะฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาล  ครั้งหนึ่งมีเรื่องขัดแย้งกับรัฐบาล เรื่องอะไรก็ลืมไปเสียแล้ว สมาชิกประชาธิปัตย์ 18 คน วอล์คเอาท์ ในนั้นมีผมคนหนึ่ง ทราบว่าอาจารย์ปรีดีโกรธมาก

           ต่อมา ผมลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อเสนอญัตติยกเลิกกฎหมายว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยกับญัตตินี้ ผมจึงต้องไปหาความสนับสนุนจากพรรคฝ่ายอาจารย์ปรีดี ซึ่งมีพรรคใหญ่ๆ 3 พรรค คือพรรคสหชีพ แนวรัฐธรรมนูญ และพรรคอิสระ ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากอาจารย์ปรีดี พรรคเหล่านั้นจึงจะสนับสนุนได้ แต่อาจารย์ปรีดีไม่ชอบหน้าผม โดยเฉพาะกรณีวอล์คเอ๊าท์ดังกล่าวแล้ว ผมจึงไม่กล้าไปหาอาจารย์ปรีดี ถ้าคุณเตียงช่วยก็มีหวัง คุณเตียงรับจะช่วยผม

           คุณเตียงจึงไปชี้แจงต่ออาจารย์ปรีดีและขอให้สนับสนุนร่าง พ.ร.บ. ยกเลิกกฎหมายคอมมิวนิสต์ ทีแรกอาจารย์ปรีดีไม่ยอมฟัง คุณเตียงต้องวิ่งไปมาระหว่างผมกับอาจารย์ปรีดีอยู่หลายเที่ยว อาจารย์ปรีดีจึงยอมสนับสนุน และบอกมากับคุณเตียงว่าให้ผมไปหาหลวงธำรงฯ หัวหน้าแนวรัฐธรรมนูญคุณเดือน บุญนาค หัวหน้าพรรคสหชีพ และคุณวิจิตร ลุลิตานนท์ หัวหน้าพรรคอิสระผมก็ไปหาท่านเหล่านั้น ซึ่งอาจารย์ปรีดีได้สั่งไว้แล้วทั้งสิ้นว่าให้พรรคเหล่านั้นสนับสนุน ด้วยเหตุนี้ร่างพ.ร.บ.ยกเลิกกฎหมายว่าด้วยคอมมิวนิสต์จึงออกเป็นกฎหมายได้ (เรื่องนี้ผมเล่าไว้แล้วใน”ตะวันใหม่”)

           นี่คือความสัมพันธ์ทางการเมืองโดยตรงครั้งแรกของผมต่ออาจารย์ปรีดี แต่ก็ยังไม่ถึงตัว เพิ่งจะมาถึงตัวก่อนหน้ารัฐประหาร 8 พ.ย.90 เล็กน้อย  
 
 
 
 
           (อ่านต่อตอนหน้า)
 
 
 
 
 
 
         อ่านย้อนหลัง...
 
 
 
 
 
 
 

ปฏิวัติสันติ

 
สมัคร ยกเลิก
 
 
Revolutionary Press Agency
Online Journal and News Agency for Peace  :  วารสารและข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
Copyright © 2024 www.rpathailand.com All Rights Reserved.
ทำเว็บ  ออกแบบเว็บ  Web Design  เว็บสำเร็จรูป  เว็บไซต์สำเร็จรูป