Revolutionary Press Agency : Online Journal and News Agency for Peace
สำนักสื่อปฏิวัติ  : วารสารข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
8 มิ.ย. 2554 กองหน้าประชาชนรุ่นใหม่ อนุสรณ์ สมอ่อน ตอบคำถามคาใจทำไมต้องปฏิวัติประชาธิปไตย? 
จะรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ให้มั่นคงได้อย่างไร?
เขียนโดย ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร  โพสเมื่อ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๒ ๐๑.๒๐ น.
        
   
                                                - ตอน ๑๒ -
 
 
           รัฐธรรมนูญฉบับแรก คือรัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ.2475 ซึ่งร่างโดยคณะราษฎร มาตรา 3 บัญญัติว่า “  กษัตริย์เป็นประมุขสูงสุดของประเทศ  ”   รัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 คือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.2475 มาตรา 1 บัญญัติว่า “  สยามประเทศเป็นราชอาณาจักร  ”   ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยคณะราษฎรเช่นเดียวกัน          และรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 คือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2489 ซึ่งผู้ที่เป็นหลักในการร่างก็คือชาวคณะราษฎร มาตรา 1 ก็บัญญัติว่า “  ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักร  ”
 
        จากข้อเท็จจริงที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า ในระหว่างที่คณะราษฎรดำเนินระบอบประชาธิปไตยในระยะแรกของการปฏิวัติประชาธิปไตยนั้น การปฏิวัตินั้นมิได้กระทบกระเทือนความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใดเลย แม้ว่าจะเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างสมเด็จพระปกเกล้ากับคณะราษฎรในทรรศนะประชาธิปไตย ถึงกับสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงสละราชสมบัติ      แต่การปฏิวัติประชาธิปไตยครั้งนั้นก็รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้สมตามรัฐธรรมนูญของคณะราษฎรที่ว่า “   กษัตริย์เป็นประมุขสูงสุดของประเทศ  ”   และ   “  ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักร  ”
 
       และถ้าเปรียบกับการเคลื่อนไหวปฏิวัติประชาธิปไตยของคณะ ร.ศ.130   ซึ่งมีความวิตกห่วงใยต่อความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์อันเกิดจากความกลัวข่าวกุและการปฏิวัติในประเทศจีนแล้ว กล่าวได้ว่าการปฏิวัติประชาธิปไตยของคณะราษฎรไม่กระทบกระเทือนความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์เลย และถ้าคณะราษฎรได้รับความสำเร็จในการปฏิวัติประชาธิปไตย สถาบันพระมหากษัตริย์ก็จะมีความมั่นคงอย่างเต็มที่
 
        การปฏิวัติประชาธิปไตยของคณะราษฎรได้รับความสำเร็จเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ ที่ถือได้ว่าเป็นความสำเร็จจริง ๆ นั้นก็เฉพาะในช่วงเวลาที่ใช้รัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ.2475     เพราะว่าในช่วงเวลาดังกล่าวอำนาจอธิปไตยได้เปลี่ยนแปลง จากเป็นของพระเจ้าแผ่นดินมาเป็นของปวงชน    ซึ่งสะท้อนออกมาอย่างตรงกับความเป็นจริงในมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญฉบับนั้นว่า “  อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย  ” และตรงกับพระราชประสงค์ของสมเด็จพระปกเกล้าฯ ซึ่งปรากฏในพระราชดำรัสและพระราชหัตถเลขาหลายครั้งว่า “  ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิม ให้แก่ราษฎรทั่วไป... ” รัฐธรรมนูญฉบับแรกสิ้นสุดเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 โดยประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 แทน ชื่อว่า “ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.2475" (แก้ไขเพิ่มเติมเป็นราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2482)
 
        ก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 นั้น อำนาจอธิปไตยค่อย ๆ เปลี่ยนมือจากของปวงชนไปเป็นของชนส่วนน้อยและสะท้อนออกมาในรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 โดยเปลี่ยนข้อความในมาตราที่ 1 ของรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ว่า “ อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย ” มาเป็นข้อความในมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ว่า “  อำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวสยาม  ”

     ถ้าพิจารณาตามบทรัฐธรรมนูญในมาตรานี้หมายความว่าอำนาจอธิปไตยมิได้เป็นของปวงชนอีกต่อไปแต่ไม่ได้บอกว่าเป็นของใคร เพราะไม่กล้าบอกว่าเป็นของใคร จึงเลี่ยงไปบอกว่าอำนาจอธิปไตยมาจากปวงชน เพื่อให้ฟังดูแล้วก็นึกว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนนั่นแหละ

      แต่ถ้าพิจารณาตามความเป็นจริง จะเห็นได้ว่าอำนาจอธิปไตยยังเป็นของปวงชนอยู่โดยพื้นฐาน เพราะคณะราษฎรยังมีลักษณะเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยอยู่โดยพื้นฐาน   ชนส่วนน้อยที่ส่งผู้แทนเข้ามาช่วงชิงอำนาจภายในคณะราษฎรยังช่วงชิงอำนาจไปได้ไม่มากนัก ฉะนั้นถือได้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าวอำนาจอธิปไตยยังเป็นของปวงชน ระบอบการปกครองยังเป็นประชาธิปไตย การปฏิวัติประชาธิปไตยของคณะราษฎรยังมีผลสำเร็จ

       แต่กระบวนการช่วงชิงอำนาจจากปวงชนชาวไทยเป็นของชนส่วนน้อยคงรุดหน้าไม่หยุดยั้งจนถึง พ.ศ.2481 ปวงชนก็สูญเสียอำนาจโดยสิ้นเชิง อำนาจอธิปไตยกลับไปเป็นของคนส่วนน้อย ระบอบประชาธิปไตยสิ้นสุด การปกครองกลับไปสู่ระบอบเผด็จการ

       ในระยะแรกที่ระบอบประชาธิปไตยค่อย ๆ เปลี่ยนกลับไปเป็นระบอบเผด็จการนั้น สมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงต่อสู้กับคณะราษฎรอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในปลายปี พ.ศ.2475 ทรงโต้แย้งด้วยพระราชดำรัสและพระราชหัตถเลขาต่อคณะราษฎรเป็นอันมาก เช่นพระราชหัตถเลขาฉบับหนึ่งมีข้อความว่า “ข้าพเจ้าขอชี้แจงเสียโดยชัดเจนว่า เมื่อพระยาพหลฯ และคณะผู้ก่อการฯ ร้องขอให้ข้าพเจ้าอยู่ครองราชย์สมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญนั้น ข้าพเจ้ายินดีรับรอง ก็เพราะข้าพเจ้าเข้าใจและเชื่อมั่นว่าคณะผู้ก่อการฯ ต้องการจะสถาปนาการปกครองแบบ “ประชาธิปไตย” หรือ Democratic Government ตามแบบอย่างของประเทศอังกฤษและประเทศอื่น ซึ่งมีพระมหากษัตริย์ปกครองภายใต้อำนาจอันจำกัดโดยรัฐธรรมนูญ ”
 
       พระราชหัตถเลขาอีกตอนหนึ่งมีข้อความว่า “  ครั้นต่อมาในระหว่างที่กำลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรอยู่ ข้าพเจ้าได้พยายามตักเตือนและโต้เถียงกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญอยู่ตลอดว่า ควรถือหลัก Democracy อันแท้จริงจึงจะถูก ถ้ามิฉะนั้น จะเกิดความไม่พอใจขึ้นแก่ประชาชน ซึ่งส่วนมากต้องการให้มีการปกครองแบบ Democracy อันแท้ ”  และต่อมาทรงวิจารณ์การปกครองของคณะราษฎรว่า “  เป็นการผิดหลักผิดทางของลัทธิ Democracy โดยแท้ ”

        และอีกตอนหนึ่งทรงวิจารณ์ว่า  “  การปกครองที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้เป็นลัทธิเผด็จการทางอ้อม ๆ ไม่ใช่ Democracy จริง ๆ เลย    ”

       และบางตอนทรงวิจารณ์รุนแรงมาก โดยใช้คำว่า การเปลี่ยนแปลงเมื่อ 24 มิถุนายน นั้น   “  กลายเป็นการยึดอำนาจกันเฉย ๆ ไม่ได้ทำให้มีเสรีภาพในทางการเมืองมากขึ้น ก็กลายเป็นขมขื่นกลืนไม่ลง เพราะผลร้ายของการปกครองแบบ Absolute มิได้เสื่อมคลายแต่เปลี่ยนตัวเปลี่ยนคณะกันเท่านั้น เสรีภาพกลับน้อยลงไปเสียอีก เพราะต้องระวังจับกุมผู้ไม่พอใจ และปิดปากผู้ที่กล่าวร้ายรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของพระเจ้าแผ่นดิน ยังมีผู้นับถือเป็นส่วนมากเพราะเคยชินมาแต่ปู่ย่าตายาย แต่สมบูรณาญาสิทธิของคณะย่อมไม่มีใครนับถือ มีแต่ต้องทนไปเพราะกลัวอาญา และกลัวรถถังและปืนกลน่ากลัวว่าความไม่พอใจจะอยู่เรื่อยไป ข้าพเจ้าต้องขอให้แก้ไข  ”
(ทั้งหมดนี้คัดจากพระราชบันทึกถึงรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรเมื่อปลายปี 2477 ก่อนทรงสละราชสมบัติเล็กน้อย)

        ที่ทรงวิจารณ์ว่า การปกครองในขณะนั้น “ เป็นลัทธิเผด็จการทางอ้อม ๆ ไม่ใช่ Democracy จริง ๆ เลย  ” นั้นทรงวิจารณ์ในระยะแรกของกระบวนการเปลี่ยนแปลงกลับไปเป็นระบอบเผด็จการคือหลัง 24 มิถุนายน 2 ปีกว่าซึ่งยังเป็นระบอบประชาธิปไตยอยู่ หากแต่กำลังก้าวไปสู่ระบอบเผด็จการทีละก้าว ๆ เท่านั้น ถ้าหากได้ทรงมีมีพระชนม์ชีพอยู่ต่อมาจนได้ทอดพระเนตรเห็นระบอบการปกครองภายหลัง พ.ศ.2481 แล้วจะไม่ทรงใช้คำว่า “  เผด็จการทางอ้อม ๆ  ” แต่จะทรงใช้คำว่า “  เผด็จการอันแท้  ” เป็นแน่ ซึ่งในที่สุดก็ตรงกับที่ทรงคาดคะเนไว้ว่า การกระทำของคณะราษฎรกลายเป็นการยึดอำนาจกันเฉย ๆ เป็นการเปลี่ยนตัวเปลี่ยนคณะกันเท่านั้น คือเปลี่ยนสมบูรณาญาสิทธิ์ของพระเจ้าแผ่นดิน เป็น สมบูรณาญาสิทธิ์ของคณะเท่านั้นเอง
 

                    
                                                                                                       
             
 
                                                                    - ตอน ๑๓ -
 
            จะเห็นได้ว่าคณะราษฎรได้ยกเลิกระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ของพระเจ้าแผ่นดิน และสถาปนาระบอบประชาธิปไตยขึ้นแทน เมื่อ พ.ศ.2475 แต่หลังจากวันยึดอำนาจประมาณ 6 เดือน คณะราษฎรก็ค่อย ๆ เปลี่ยนระบอบประชาธิปไตยกลับไปเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ของคณะ จนถึง พ.ศ.2481 จึงยกเลิกระบอบประชาธิปไตย และสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ของคณะขึ้นแทนอย่างชัดเจน

          ฉะนั้น คณะราษฎรจึงประสบผลสำเร็จในการปฏิวัติประชาธิปไตยอยู่ประมาณ 6 ปี คือ ตั้งแต่ พ.ศ.2475 ถึง พ.ศ.2481 หลังจากนั้นการปฏิวัติประชาธิปไตยของคณะราษฎรก็ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

          ระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ของพระเจ้าแผ่นดินกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ของคณะนั้น โดยเนื้อก็คือ ระบอบเผด็จการอันเดียวกัน แตกต่างกันแต่เพียงรูปแบบเท่านั้น

          และระบอบเผด็จการในรูปแบบของสมบูรณาญาสิทธิ์ของคณะนั้น ยังจำแนกออกไปอีกหลายรูปแบบ แต่ในประเทศไทยมี 2 รูปแบบ คือ ระบอบเผด็จการรัฐประหาร และระบอบเผด็จการรัฐสภา ซึ่งสลับกันมาตั้งแต่ พ.ศ.2481 จนถึงปัจจุบัน

          การปฏิวัติประชาธิปไตย คือการเปลี่ยนแปลงระบอบเผด็จการในรูปของระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ของพระเจ้าแผ่นดิน เป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อประเทศไทยอยู่ในระบอบเผด็จการในรูปของสมบูรณาญาสิทธิ์ของคณะ การปฏิวัติประชาธิปไตยก็คือการเปลี่ยนระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ของคณะเป็นระบอบประชาธิปไตย

         คณะราษฎร ทำการปฏิวัติประชาธิปไตยโดยเปลี่ยนระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ของพระเจ้าแผ่นดินเป็นระบอบประชาธิปไตยแต่ก็ล้มเหลว โดยเปลี่ยนระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ของคณะเสีย
 
           ดังนั้น ตั้งแต่นั้นมาประเทศไทยจึงต้องมีการปฏิวัติประชาธิปไตยต่อไป โดยเปลี่ยนแปลงระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ของคณะไม่ว่าจะในรูปของระบอบเผด็จการรัฐสภา หรือในรูปของเผด็จการรัฐประหาร ให้เป็นระบอบประชาธิปไตย

           และดังนั้น จึงมีการเคลื่อนไหวปฏิวัติประชาธิปไตยหลายครั้งหลายหน ( หมายถึงการปฏิวัติ ไม่ใช่รัฐประหาร) ทั้งโดยวิธีทางประชาธิปไตย และโดยวิธีทางรัฐประหาร ที่เด่น ๆ ก็เช่น การเคลื่อนไหวที่นำโดย พ.อ.เนตร เขมะโยธิน และหลวงศรานุชิต ซึ่งจะใช้วิธีการรัฐประหาร และการเคลื่อนไหวซึ่งนำโดย พล.อ.แสวง เสนาณรงค์ ซึ่งใช้วิธีทางประชาธิปไตย ครั้งหลังสุดคือการเคลื่อนไหวปฏิวัติประชาธิปไตยโดยทางรัฐประหารของคณะทหารซึ่งเรียกว่า “ทหารหนุ่ม” หรือ “ยังเติร์ก” เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2524

          การเคลื่อนไหวปฏิวัติประชาธิปไตยเหล่านี้มีผลต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เช่นเดียวกับการเคลื่อนไหวปฏิวัติประชาธิปไตยครั้งก่อน ๆ ที่ได้บรรยายมาแล้ว คือไม่กระทบกระเทือนความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด แต่เป็นการเคลื่อนไหวที่มีความมุ่งหมายเพื่อรักษาความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น อย่างน้อยที่สุด จะเห็นได้จากข้อเท็จจริงในระหว่างทำการปฏิวัติประชาธิปไตย 1 เมษายน 2524 ว่ามีการแสดงออกซึ่งการเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์แล้วก็ไม่มีถ้อยคำใดนอกเหนือไปจากความเทิดทูนและจงรักภักดี ส่
ส่วนด้านจิตใจของบุคคลที่ทำการปฏิวัติก็จะเห็นได้จากบันทึกของ พ.อ.มนูญ รูปขจร ตอบโต้คำกล่าวหาว่าจะล้มล้างราชบัลลังก์ไว้ดังต่อไปนี้

           “  พี่น้องเพื่อนร่วมชาติ ขณะที่ผมบันทึกเรื่องนี้ ขอเอาเกียรติศักดิ์ของลูกผู้ชายชาติทหารเป็นประกัน แล้วน้อมจิตระลึกถึงพระแก้วมรกต และพระสยามเทวาธิราช ตลอดจนพระราชวงศ์จักรีในอดีตและปัจจุบัน ถ้าผมคิดล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ขออย่าได้ผุดได้เกิดเลย...

           “ ต่อให้เรามีกำลังรบเหนือกว่าฝ่ายตรงข้ามอย่างมหาศาลอย่างมืดฟ้ามัวดินเราก็ไม่รบกับเขาด้วย โดยเฉพาะยิ่งมีคำกล่าวหาอันฉกรรจ์ว่า “  ล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์  ” ด้วยแล้ว...
 
          “ ไม่มีในดวงใจของผมและเพื่อนทหารที่ใช้กำลังในการปฏิวัติครั้งนี้...แม้เพียงนึกคิด!

          “  เรา-พวกแม่ทัพนายกอง ทหารทุกกรมกอง หัวใจยังเต็มเปี่ยมด้วยความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ทุกลมหายใจเข้าออก
 
          “ และเพื่อยืนยันในความคิดว่า “ แขนมอบพระทรงธรรม์เทิดหล้า  ” ที่พวกเราหวงแหน ถือเป็นปูชนีย์อันสูงสุด เราจึงต้องยอมปฏิบัติตามคำขอร้องของฝ่ายกองอำนวยการรักษาความสงบแห่งชาติ ถึงมาตรว่าพวกเราส่วนใหญ่จะต้องเผชิญความสูญเสียตำแหน่งหน้าที่ เสรีภาพ อิสรภาพบั้นปลายสุดท้ายหรือแม้แต่ชีวิตจะถูกตัดหัวคั่วแห้งก็ตาม เราก็ไม่คำนึงถึง
          “ เพราะเราต้องรักษาเกียรติศักดิ์ ถึงมันจะเป็นอย่างไรก็ตาม ! ”
   
         “ ขอเพียงแต่ว่า อย่าให้เราต้องถูกประณามให้มิวหมองมีมลทินว่า เป็นผู้ทรยิศต่อราชบัลลังก์...เท่านั้นก็พอ...” นี่คือบันทึกของ พ.อ.มนูญ รูปขจร เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ (คัดจากหนังสือพิมพ์ “ชาวไทย” ฉบับวันที่ 22 พฤษภาคม 2524)

         จากที่กล่าวมาแต่ต้นจะเห็นได้ว่า การปฏิวัติประชาธิปไตยทั้งหมดที่กระทำในประเทศไทย ตั้งแต่ที่กระทำโดยพระมหากษัตริย์ เจ้านาย ขุนนางผู้ใหญ่ ข้าราชการผู้น้อย พ่อค้าประชาชน ชงมาจนถึง “ทหารหนุ่ม” หรือ “ยังเติร์ก” นั้นไม่แต่จะไม่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์เท่านั้น หากยังมีความมุ่งหมายเพื่อรักษาความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์อีกด้วย
 
 
             
             (อ่านต่อตอนหน้า)
 
 
 
 
          อ่านย้อนหลัง...
 
 
 

ปฏิวัติสันติ

 
สมัคร ยกเลิก
 
 
Revolutionary Press Agency
Online Journal and News Agency for Peace  :  วารสารและข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
Copyright © 2024 www.rpathailand.com All Rights Reserved.
ทำเว็บ  ออกแบบเว็บ  Web Design  เว็บสำเร็จรูป  เว็บไซต์สำเร็จรูป