Revolutionary Press Agency : Online Journal and News Agency for Peace
สำนักสื่อปฏิวัติ  : วารสารข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
8 มิ.ย. 2554 กองหน้าประชาชนรุ่นใหม่ อนุสรณ์ สมอ่อน ตอบคำถามคาใจทำไมต้องปฏิวัติประชาธิปไตย? 
อุปสรรคความสำเร็จการปฏิวัติประชาธิปไตยในประเทศไทย ตอน ๖
เขียนโดย ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร โพส ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๒ :๒๓.๕๐ น.
 
แนวความคิดด้านเศรษฐกิจของอาจารย์ปรีดี
 
 
            (ต่อจากตอนที่แล้ว)
 
 
            นโยบายเศรษฐกิจที่ถูกต้องของระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย  ตั้งแต่สมัย ร.ศ. 130 สมัย 2475 จนถึงปัจจุบันยังคงเป็นนโยบายเปลี่ยนแปลงระบบเสรีนิยมโบราณเป็นระบบเสรีนิยมสมัยใหม่  และเปลี่ยนแปลงระบบเสรีนิยมผูกขาดเป็นระบบเสรีนิยมเสรี  ซึ่งนอกจากจะเป็นปัจจัยอันสำคัญของความเติบโตของเศรษฐกิจแห่งชาติ เพราะสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงแล้ว ยังเป็นผลประโยชน์สำหรับทุกฝ่ายด้วย

           แต่นโยบายเศรษฐกิจของอาจารย์ปรีดีซึ่งเป็นนโยบายสังคมนิยมของอาจารย์สังคมนิยมต่างๆ ดังเช่นศาสตราจารย์เดสชองป์สนั้น  ไม่เฉพาะแต่จะไม่สอดคล้องกับสภาพของประเทศไทยเท่านั้น  ที่ไหนๆในโลกก็ไม่สอดคล้องทั้งสิ้น จึงเป็นนโยบายที่ทำไม่ได้ และถ้ามีเพียงทำไม่ได้ก็ไม่เป็นไร แต่ยังจะทำความพังทลายให้แก่ระบบเศรษฐกิจของชาติทั้งระบบอีกด้วย  ถ้าอาจารย์ปรีดีนำเอานโยบายของท่านออกปฏิบัติ ท่านก็มาต้องรบกับเจ้าที่ดินและนายทุน  เพราะท่านต้องรบกับชาวนาและคนทั่วไป ซึ่งเป็นฝ่ายข้างมากที่สุดของประเทศอยู่แล้ว ชาวนาและเกษตรกรนั้น ไม่มีอะไรจะหวงแหนเท่ากับกรรมสิทธิ์ในที่ดิน และไม่ใช่คนไทยเท่านั้นที่มีนิสัยชอบทำราชการ คนฝรั่ง  คนแขก คนจีน ก็มีนิสัยนี้เช่นเดียวกัน  แต่ราชการประเภทขุดดิน ประเภทเทขยะ ประเภทแบกข้าวสาร   ฯลฯ คนชาติไหนๆ ก็ไม่มีนิสัยชอบทั้งนั้น นโยบายแบบของอาจารย์ปรีดีนี้จะทำได้ก็แต่ด้วยเอาเผด็จการที่เหนือกว่าเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพก็ยังใช้ได้แต่กับนโยบายที่เบากว่าของอาจารย์ปรีดีเป็นอันมาก ฉะนั้น ตามที่ ร.7 ทรงพระราชวิจารณ์ว่า นโยบายนี้ถ้าสตาลินไม่เอาอย่างหลวงประดิษฐ์ฯ หลวงประดิษฐ์ก็เอาอย่างสตาลินนั้น ผิดพลาดมากเพราะนโยบายของสตาลินกับของอาจารย์ปรีดีเป็นคนละเรื่องกันเลยทีเดียว นโยบายสตาลินเป็นนโยบายสังคมนิยมมาร์กซ์-เลนิน ซึ่งดำเนินการด้วยเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ แต่นโยบายอาจารย์ปรีดีเป็นนโยบายสังคมนิยมผัน (แต่อาจารย์ปรีดีเรียกว่า “โปลีซีของข้าพเจ้านั้นเดินแบบโซเชียลลิสม์ผสมลิเบอรัล” จากรายงานการประชุมพิจารณาเค้าโครงการเศรษฐกิจ) และสังคมนิยมผันนี้ ต้องใช้เผด็จการที่เหนือกว่าเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพคือเผด็จการนายทุนน้อย เช่นฮิตเลอร์ พลพต แก๊ง 4 คน ดังที่อาจารย์ปรีดีกล่าวไว้ในตอนท้ายของคำชี้แจงว่า

              “ประเทศเยอรมนีเห็นว่าบ้านเมืองจะสุขสมบูรณ์ได้  ก็แต่รัฐบาลเป็นผู้ประกอบการเศรษฐกิจ จึงได้มอบตำแหน่งในรัฐบาลให้แก่ฮิตเลอร์   ซึ่งฮิตเลอร์เป็นผู้นิยมในลัทธิที่รัฐบาลจัดทำเศรษฐกิจเอง”  แต่ถึงจะเผด็จการขนาดนั้นแล้ว ฮิตเลอร์ก็ให้รัฐเป็นผู้ประกอบเศรษฐกิจเองไม่สำเร็จอยู่ดี  ผู้ประกอบเศรษฐกิจของเยอรมันกลายเป็นพวกผูกขาดระดับยอด “ยุงเกอร์” * ไปเสีย  ถ้าอาจารย์ปรีดีเอานโยบายเศรษฐกิจของท่านมาทำ ผลของมันอย่างน้อยก็เท่าๆกับของฮิตเลอร์  ที่ท่านอ้างถึงนั่นแหละ เพราะเผด็จการนายทุนน้อยนั้นย่อมนำไปสู่เผด็จการของนายทุนใหญ่ระดับสูงสุดอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง

            ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นการถูกต้องที่พระยามโนฯสะกัดเค้าโครงการเศรษฐกิจของอาจารย์ปรีดีไว้  ด้วยการปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2476 และออกแถลงการณ์ของรัฐบาล มีข้อความประโยคหนึ่งว่า “เป็นที่เห็นได้ชัดโดยแน่นอนทีเดียวว่านโยบายเช่นนั้นจักนำมาซึ่งความหายนะแก่ประชาราษฎร และเป็นมหันตภัยแก่ความมั่นคงของประเทศ”
            ตั้งแต่นั้นมา นโยบายเศรษฐกิจเต็มรูปของอาจารย์ปรีดีก็ไม่ได้เสนอขึ้นอีกเลยจนกระทั่งถึงหลังสงครามเมื่ออาจารย์ปรีดีได้อำนาจเต็มที่  จึงได้นำนโยบายนั้นบางส่วนออกใช้คือโครงการ “สรรพาหาร” ยังผลให้อลเวงกันใหญ่โต   ถึงขนาดประชาชนต้องเข้าคิวซื้อข้าวสาร ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญให้ “คณะรัฐประหาร” ทำรัฐประหารโค่นอาจารย์ปรีดีสำเร็จเมื่อ พ.ย. 2490

           นโยบายเศรษฐกิจของอาจารย์ปรีดีนอกจากจะเป็นสาเหตุสำคัญของความแตกแยกอย่างรุนแรงในขบวนการปฏิวัติประชาธิปไตย 2475 โดยเฉพาะความแตกแยกระหว่างร.7 กับคณะราษฎรแล้ว ยังได้สร้างปัญหาคอมมิวนิสต์ที่ผิดพลาดขึ้นในประเทศไทย ก่อผลร้ายแรงแก่ประเทศชาติมาเป็นเวลานานจนถึงปัจจุบัน คือว่านโยบายเศรษฐกิจของอาจารย์ปรีดีนั้น เป็นนโยบายสังคมนิยมผัน (Utopian Socialism) โดยเฉพาะเป็นนโยบายสังคมนิยมของนายทุนน้อย  แต่ร.7 ทรงพระราชวิจารณ์ว่าเป็นนโยบายคอมมิวนิสต์ และพระยามโนฯก็เห็นเช่นนั้นเหมือนกันดังตอนหนึ่งของแถลงการณ์ของรัฐบาลในการปิดสภาว่า “ในคณะรัฐมนตรี ณ บัดนี้เกิดแตกกันเป็นสองพวกมีความเห็นแตกต่างกัน และไม่สามารถที่คล้อยตามกันได้ ความเห็นข้างน้อยนั้นปรารถนาที่จะวางนโยบายเศรษฐกิจไปในทางอันมีลัษณะเป็นคอมมิวนิสต์  ความเห็นข้างมากนั้นเห็นว่านโยบายเช่นนั้น เป็นการตรงข้ามแก่ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวสยาม”

            เหตุนี้จึงมีการออกกฎหมายว่าด้วยคอมมิวนิสต์เมื่อ พ.ศ. 2476 ซึ่งความจริงก็คือ กฎหมายต่อต้านนโยบายเศรษฐกิจของอาจารย์ปรีดีซึ่งไม่ใช่คอมมิวนิสต์แต่อย่างใด  และเมื่อพ.ศ. 2495 ได้ออกกฎหมายป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์  ซึ่งก็ไม่ใช่กฎหมายป้องกันคอมมิวนิสต์เช่นกัน  กฎหมายคอมมิวนิสต์ตั้งแต่ฉบับแรก ซึ่งมีข้อความสั้นๆจนถึงฉบับปัจจุบันซึ่งยาวพิมพ์ได้เล่มหนึ่งคือกฎหมายทำลายเสถียรภาพของบุคคลแบบครอบจักรวาลจึงเป็นกฎหมายช่วยคอมมิวนิสต์ ไม่ใช่กฎหมายปราบคอมมิวนิสต์  เพราะถ้าไม่มีการทำลายเสรีภาพแบบบครอบจักรวาลแล้ว คอมมิวนิสต์ก็ไม่รู้ว่าจะเอาเงื่อนไขทางการเมืองอะไรไปเคลื่อนไหวและต่อสู้  แต่นักต่อต้านคอมมิวนิสต์ทั้งหลายก็ยังได้อาศัยกฎหมายนั้นเป็นเครื่องมือรักษาระบอบเผด็จการ  ทั้งระบอบเผด็จการรัฐประหารและระบอบเผด็จการรัฐสภามาโดยตลอด

            นโยบายและวิธีการในการปฏิวัติประชาธิปไตยของอาจารย์ปรีดี เท่าที่อธิบายมาโดยย่อนี้  ได้สร้างความผิดพลาดในทาการกระทำการปฏิวัติประชาธิปไตย  ให้เป็นที่ยึดถือทั้งแก่ผู้เจตนาดีและผู้เจตนาร้าย  และสร้างความสับสนทางความคิดจนไม่รู้ว่าระบอบเผด็จการคืออะไร ระบอบประชาธิปไตยคืออะไร จนกระทั่งเมื่อวานนี้เอง  ประกาศต่อต้านเผด็จการโครมๆจนผู้คนเชียร์กันจม  พอวันนี้เข้าไปหาเผด็จการเสียแล้ว   แต่เผด็จการนั้นเขาก็ยืนยันว่าเขาเป็นประชาธิปไตย คนก็เลยงงไม่รู้ว่าใครคือเผด็จการ ใครประชาธิปไตยกันแน่  แล้วฝ่ายที่ยืนยันว่าว่าเป็นประชาธิปไตยนั้นเอง  ไม่เพียงแต่ถูกหาว่าเป็นเผด็จการ ยังถูกหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์อีกด้วย  ทั้งๆที่เขายืนยันว่าจะต่อสู้คอมมิวนิสต์ให้ชนะด้วย 66/23 ก็ยิ่งงงกันมากขึ้น

           ความผิดพลาด สับสน และงงงวยตลอด50 ปีที่ผ่านมา ต้นเหตุสำคัญอยู่ที่ความผิดพลาดในนโยบายและวิธีการของการปฏิวัติประชาธิปไตยของอาจารย์ปรีดี ซึ่งก่อนอสัญกรรมท่านเรียกว่า “การอภิวัฒน์ประชาธิปไตย” นี่เอง  ฉะนั้นผมจึงถือว่าอาจารย์ปรีดีคืออุปสรรคของความสำเร็จของการปฏิวัติประชาธิปไตยในประเทศไทย
 
           คุณนพพร สุวรรณพาณิชย์ เคยบอกผมว่า อาจารย์ปรีดีบอกกับฝรั่งคนหนึ่งว่า “   When I have power, I have no experience. When I have experience, I have no power. เมื่อข้าพเจ้ามีอำนาจ ข้าพเจ้าไม่มีประสบการณ์ เมื่อข้าพเจ้ามีประสบการณ์ ข้าพเจ้าไม่มีอำนาจ”
 
 
* ยุงเกอร์ คือกลุ่มนายทุนผูกขาดที่สนับสนุนฮิตเลอร์
 
 
           (อ่านต่อตอนหน้า)
 
 
 
 
 
 
         อ่านย้อนหลัง...
 
 
 
 
 
 
 

ปฏิวัติสันติ

 
สมัคร ยกเลิก
 
 
Revolutionary Press Agency
Online Journal and News Agency for Peace  :  วารสารและข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
Copyright © 2024 www.rpathailand.com All Rights Reserved.
ทำเว็บ  ออกแบบเว็บ  Web Design  เว็บสำเร็จรูป  เว็บไซต์สำเร็จรูป