Revolutionary Press Agency : Online Journal and News Agency for Peace
สำนักสื่อปฏิวัติ  : วารสารข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
8 มิ.ย. 2554 กองหน้าประชาชนรุ่นใหม่ อนุสรณ์ สมอ่อน ตอบคำถามคาใจทำไมต้องปฏิวัติประชาธิปไตย? 
ความจริงของสถานการณ์
- ตอน ๓ -

เขียนโดย นางแก้ว โพส ๑๔ ก.ค.๒๕๕๒:๒๑.๔๕ น.
เผยแพร่ครั้งแรก ๑๗ พ.ย.๒๕๕๑ 
 
“ กระบวนการเข้าถึงสัมมาทิฎฐิของพลังสันติเพื่อแก้ปัญหาทุกข์ของชาติด้วยการเข้าถึงความจริงหลายระดับ”
 
  
         คราวที่แล้วได้กล่าวถึงแก่นปัญหา ของประเทศไทยที่จำต้องลอก “กระพี้ปัญหา” ออกก่อนจึงจะพบ “แก่นปัญหา” ได้    ทั้งนี้เพราะปัญหาทั้งหลายบนโลกใบนี้เกิดจากฝีมือมนุษย์เสียส่วนใหญ่   การเริ่มคลำทางแก้ปัญหาจึงต้องเริ่มที่ตัวมนุษย์เอง    เมื่อใคร่ครวญปัญหาให้ตีวงจำกัดลงปรากฎเห็นปัญหาของบุคคลสัมพันธ์กับปัญหาทั้งระบบอันสืบเนื่องมาจาก “กระพี้มนุษย์” ที่จะนำสู่ “แก่นมนุษย์”   ย่อแคบลงกว่านั้นและว่ากันให้ถึงที่สุดก็การทำความเข้าใจปัญหา “กระพี้นักวิชาการ” สู่สาระของ “แก่นนักวิชาการ”  นั่นเอง
      
        ก่อนหน้านี้ขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติในฐานะผู้เสนอแนวทาง “ปฏิวัติ”  และได้รับการคัดค้านจากนักวิชาการ   “ ปฏิรูปนิยม” ทั้งหลายในสาย “เสาค้ำรัฐธรรมนูญ”  ต่างเป็นห่วงหลังการจับตาดูชีพจรนักวิชาการไทยที่เต้นแผ่วลงทุกที  แต่ในที่สุดก็ถอนหายใจครั้งใหญ่เมื่อร่องรอยการตอบโต้เรื่อง “ราชประชาสมาศัย” แบบไม่ชัดเจน   ปรากฏออกมา ทว่ากลับหาร่องรอยของจุดยืนและอุดมการณ์แทบไม่พบ (อ่านเพิ่มเติมไฟล์แนบ “ภัยจากลัทธิรัฐธรรมนูญ” )

            บทความชิ้นล่าสุดสืบเนื่องจากการวิพากษ์ “ราชประชาสมาศัย” ของขบวนฯ ทำให้เกิดการอธิบาย “สวนทาง” แบบไม่มีเจตนาโต้ในบทความชิ้นล่าสุดของ อ.ลิขิต ธีรเวคิน  ท่วงทำนอง “ยอยก” สถาบันฯในฐานะ “บุคคล” ด้วยการเอ่ยพระนาม “ภัทรมหาราช”   แต่หาสัมพันธภาพทางวิชาการแทบไม่พบ  

             เมื่อซ้ายลุกขึ้นมาพูดแบบขวา อะไรจะเกิดขึ้น ?  และการพูดเช่นนั้นหมายความตรงตัวตามอักษรหรือไม่ ?
หรือเป็นการผิดศีลข้อมุสาของขบวนการทำแนวร่วมเช่นเคย  ที่นิยมพูดอย่างแต่ทำอีกอย่างหนึ่ง  ! ปรากฏการณ์นี้สะท้อนอะไร ?  
 
             เริ่มต้นจากข้อเท็จจริง.....กระบวนการลอกกระพี้
 
 
            นี่ไม่ใช่ประเด็นความวิปลาสทางปัญญาของนักวิชาการไทย  แต่นี่คือปรากฏการณ์ใหม่สะท้อนอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ  หากสังเกตให้ชัดขึ้นก็จะค้นพบว่าคนเสนอแนวทางกับคนปกป้องแนวทางเป็นคนละคนกัน  คนเสนอเป็นสาย “เสาค้ำรัฐธรรมนูญ”  แต่ฝ่าย “แก้ต่าง”  (Defend)  กลับเป็นพวกเอียงซ้ายกะเท่เร่  ที่เรียกล้อเล่นกับในหมู่นักเคลื่อนไหวแบบพี่ๆน้องๆว่า “ซ้ายศักดินา” บ้าง  “ซ้ายเสพสุข” บ้าง 

              ที่สำคัญการเขียนถึงราชประชาสมาสัยของสว.คำนูณ สิทธิสมาน ศิษย์สำนักฝ่ายซ้ายของอ.ผิน บัวอ่อน (อ่านเพิ่มเติมในไฟล์แนบอ.ประเสริฐชี้แจงตอนที่ 10)   และล่าสุดจากอ.ลิขิต ธีรเวคินแห่งธรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยของอ.ปรีดี พนมยงค์แห่งคณะราษฎร  นั้นเป็นแค่การนำเสนอที่มิได้นำไปสู่การดำเนินการปฏิบัติให้เกิดจริง  เป็นเพียงการแสดงทัศนะบนหน้ากระดาษเท่านั้น   

              ข้อเท็จจริงคือได้ปรากฎร่องรอยการกระทำให้ปรากฏได้เกิดขึ้นมาก่อนในปี 2549 เมื่อนักวิชาการคนสำคัญอ.ชัยอนันต์ สมุทธวณิชผู้เสนอแนวทางนี้มาก่อนหน้าอ.ปราโมทย์ นาครทรรพ ได้นำสู่การปฏิบัติด้วยการถวายฎีกาพร้อมราชนิกูลชนชั้นสูงกลุ่มหนึ่งเพื่อขอรัฐบาลพระราชทาน (ซึ่งไม่น่าจะมีชื่อของสว.คำนูณ สิทธิสมานและอ.ลิขิต ธีรเวคิน รวมอยู่ด้วยในขณะนั้น)     ในช่วงเวลาก่อนหน้านั้นสองสัปดาห์ขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติก็ได้ทำการถวายฎีกาเช่นกันเพื่อขอ “ รัฐบาลเฉพาะกาล ”  แต่ไม่ปรากฏเป็นข่าวเท่ากับการเสนอของนักวิชาการมีชื่อซึ่งประกอบด้วยราชสกุล  ประเด็นการถกเถียงกลายเป็นการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 7 เพื่อหาความชอบธรรมด้วยการตีความทางกฎหมายเพื่อนำสู่การขอรัฐบาลพระราชทาน 

              กลุ่มนักวิชาการฝั่งซ้าย  ต่างกล่าวหาว่ากลุ่มราชนิกูลชนชั้นสูงว่าเป็นพวกศักดินาล้าหลังที่กระทำเรื่องถอยหลังเข้าคลองสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช     และข้อเสนอของขบวนฯก็ถูก “เหมารวม” ว่าเป็น “พวกขวา” ไปด้วยโดยปริยาย     
 
 
              แก่นมนุษย์...แก่นนักวิชาการ...แก่นปัญหา
 
             ในบทความของทั้งคู่มีข้อเหมือนกันคือการอ้างถึงหม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ผู้เป็นต้นคิดของราชประชาสมาศัย ที่เป็น “อเนกนิกรสโมสรสมมุติ”  ที่เหลือคือข้อสรุปลงมีข้อใหญ่ใจความรับรองแนวทางราชประชาสมาศัยตรงที่เป็นความสัมพันธ์อันเกิดจากความรักระหว่างประชาชนกับพระมหากษัตริย์   แต่มิได้อธิบายถึงวิธีดำเนินการแบบรูปธรรมว่าจะทำให้สำเร็จได้อย่างไร หรือมี “เครื่องมือ” อะไรในการทำให้เกิดปรากฏเป็นจริง   นอกจากการนำเสนอเพียงหลักการเท่านั้น อ.ลิขิตมิได้ระบุชี้ชัดว่า จะทำ “อเนกนิกรสโมสรสมมุติ” ให้เกิดนั้นจะเริ่มต้นด้วยการขอรัฐบาลพระราชทานด้วยการถวายฎีกาและ/หรือ การร่วมใช้อำนาจระหว่างประชาชนและพระมหากษัตริย์นั้นมี “สมมุติ” อะไรเป็นกรอบกติกาในการกำหนดเงื่อนไข  และควรเริ่มที่ขั้นตอนใด ?  นี่คือการผิดวิสัยนักวิชาการประการหนึ่งที่นิยมเขียนถึงเหตุผลหลักการเพื่อนำสู่วิธีการและข้อสรุป

               บทความของอ.ลิขิต มาจบลงตรงหลักการประชาธิปไตยอ้างแม็กซ์  เวเบอร์ มีศัพท์ภาษาอังกฤษสามข้อ แต่อ.ลิขิตมิได้อธิบายความหมายของ ราชสังคหวัตถุ4 และจักรวรรดิวัตร 12 ว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง และต้นตอที่มาว่าใครเขียนหรือกำหนดขึ้น  ท่าทางอ.ลิขิตจะถนัดอธิบายแนวทางตะวันตกมากกว่าและมีความชำนาญในภาษาตะวันตกมากกว่าจึงบอกที่มาได้   บทความอ.ลิขิตจึงกล่าวถึงราชสังคหวัตุและจักรวรรดิวัตรแบบ “โปรยยาหอม”    

               แท้จริงแล้วนักวิชาการแท้ๆ จะเคยชินกับการอ้างอิงที่มาของตำรา  เพราะนักวิชาการส่วนใหญ่จะเคารพหลักวิชา    เป็น “วิสัย” ที่ต้องอ้างอิงแหล่งที่มาของความรู้   อ.ลิขิตเลือกบอกที่มารากศัพท์ภาษาอังกฤษของนายแม็กซ์ เวเบอร์  แต่มิได้บอกที่มารากศัพท์ บาลีสันสกฤตของ  หรือว่าอ.ลิขิตอาจคิดว่าคนไทยรู้แล้ว จึงละไว้ในฐานที่เข้าใจหรือ อ.ลิขิตอาจเห็นว่าแค่ใช้ศัพท์อ้างก็คงพอ (อ่านเพิ่มเติมบทความของนิสิตปริญญาโทเรื่องกฎหมายมหาชน ในบริบทพุทธศาสนา)  นับว่าเป็นความผิดวิสัยนักวิชาการเป็นประการที่สอง

               ประเด็นสำคัญที่สุดก็คือบทความชี้นำให้เห็นว่านักวิชาการคิดเห็นอย่างไรต่อสถาบันฯ และประชาชน  แต่ไม่เคยทำความเข้าใจว่าสถาบันฯเองต้องการอะไร !!  ที่พึงสังวรณ์ก็คือการเสนอทฤษฎีใดๆหากยังมิได้ผ่านการพิสูจน์ทราบและอยู่ระหว่างถูกทักท้วงคัดค้าน  ฝ่ายนำเสนอทฤษฎีก็ยังคงนำเสนอต่อโดยไม่ตอบโต้โดยเนื้อหากับฝ่ายท้วงเลยนั้น   นอกจากจะมีลักษณะของการยัดเยียดทางความคิดแล้วยังมีลักษณะไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงอีกต่างหาก       ดังที่ขบวนฯได้เคยอธิบายว่าพระมหากษัตริย์ไทยทั้ง ๓ รัชกาลคือร.๕ ร.๖ และ ร.๗ ทรงนำแนวทาง “ปฏิวัติประชาธิปไตย” และได้อธิบายชัดเจนว่า พระราชภารกิจนี้ยังรอเวลาทำให้สำเร็จ   การยัดเยียดแนวทางเท่ากับเป็นการไม่เคารพ “พระปรีชาญาณ” ของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงสืบสานแนวทางมาทั้งสามรัชกาล  

              ข้อเท็จจริงก็คือสถาบันฯได้ทรงสะสมแนวทางไว้ก่อนหน้าแล้ว   จะพร้อมลงมือทำให้ปรากฎเป็นจริงได้ทุกฝ่ายก็ต่อเมื่อถึงเวลาที่ประชาชนทุกหมู่เหล่าพร้อม   และได้รับรู้ข้อเท็จจริงครบถ้วนแล้วจนเกิด “มหาสัจธรรม”  ขึ้นบนแผ่นดินและกลายเป็นมติมหาชนได้      ส่วนผู้เข้าไม่ถึงธรรมในระดับปัญญาชน อาทิ นักวิชาการเป็นต้น อาจต้องการ “ ตัวช่วย ” ด้วยการกระตุก “เงื่อนปมแห่งปัญญา” ให้แรงหนักกว่าประชาชนตาดำๆทั่วไปด้วยวิชาพุทธศาสตร์   ที่เหนือชั้นกว่ารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์รวมกัน   
 
              ในปีนี้การนำเสนอ เรื่องราชประชาสมาสัยอ.ปราโมทย์ นาครทรรพ เป็นผู้นำเสนอบนเวทีพันธมิตรฯ  หากแต่ยังมิได้ดำเนินการถวายฎีกา   หากอ.ปราโมทย์ มีการดำเนินการจริงก็ไม่อาจทราบว่าอ.ลิขิตและสว.คำนูณ จะ ร่วมลงชื่อขอทูลเกล้าถวายฎีกาให้สมประสงค์ตามหลักฐานข้อเขียนบทความด้วยหรือไม่   ขบวนฯในฐานะผู้วิพากษ์แนวทางราชประชาสมาศัยแต่เพียงผู้เดียวในบทความชิ้นก่อนเรื่องความเป็น “ อนุรักษ์นิยมขวา ”  จึงใคร่ขอเสนอต่อ.ลิขิต มีความเชื่อมั่นอย่างจริงจังและจริงใจ ให้แปรคำพูดบนกระดาษนำสู่การปฏิบัติให้ปรากฏเป็นจริงด้วยการนำทูลเกล้าถวายฎีกาฯ และ/หรือ กระทำการใดๆก็แล้วแต่อย่างเป็นรูปธรรม  อ.ลิขิตจะถือไม้ผลัดนำแบบ take action ก่อนหรือหลังอ.ปราโมทย์นั้นไม่สำคัญเท่าอ.ลิขิต จะลงมือกระทำให้บังเกิดขึ้นได้จริง  ถ้าเป็นเช่นนั้นขบวนฯจึงจะเชื่อว่านี่คือการนำทางความคิดที่ “ ครบเครื่อง ” มีแก่นสารจับต้องลูบคลำสัมผัสได้  เป็นเนื้อแท้ตัวจริง  มิใช่เป็นเพียงตัวหนังสือในกระดาษเท่านั้น 
 
               Fact, Truth & Reality
 
               เมื่อต้นสัปดาห์ ผู้ปราศรัยบนเวทีพันธมิตรฯ ชื่อประพันธ์ คุณมี ทำหน้าที่อธิบายเรื่องขบวนการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ในประเทศไทยว่ามีมานานแล้ว  และได้ยกตัวอย่างว่าจอมพลป.พิบูลสงครามคือหนึ่งในตัวอย่างของผู้ทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์   ซึ่งเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง    ข้อเท็จจริงคือผู้ที่มิได้ประสงค์ดีต่อสถาบันฯนั้นคืออ.ปรีดี พนมยงค์มิใช่จอมพลป.พิบูลสงคราม   ทั้งอ.ปรีดี และจอมพลป.ต่างเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ทั้งคู่แต่ต่างเป็นสมาชิกที่แย่งชิงอำนาจกันเองและจัดเป็น “คู่ขัดแย้ง” คู่สำคัญที่อยู่กันคนละขั้ว   เพราะต่างทำรัฐประหารยึดอำนาจกันเอง     ความแตกต่างเห็นชัดของทั้งสองท่านคืออ.ปรีดี คือผู้ที่ไม่ต้องการสถาบันพระมหากษัตริย์และมิได้รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์และเพียรลดทอนบทบาทของสถาบันฯมาโดยตลอด    แต่จอมพล.ป.แม้จะเป็นเผด็จการหากแต่ต้องการดำรงไว้ซึ่งสถาบันฯ    
 
            ปัญญาชนคนไทยรุ่นก่อนมีจำนวนไม่มากนักในช่วงก่อตั้งมหาวิทยาลัยในประเทศไทยต่างก็ทราบดีว่าอ.ปรีดีสร้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญในการบ่มเพาะแนวทางความเชื่อของคณะราษฎร   เป็นเหตุให้จอมพลป.ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งหันไปใช้จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยที่สร้างขึ้นโดยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของรัชกาลที่ ๖  มาเป็นเครื่องมือต่อสู้กันทางความคิด   ความผิดพลาดของจอมพลป.นั้นมิได้ทำลายสถาบันฯแต่ทำลายวัฒนธรรมอันเป็นรากเหง้าของคนไทยด้วยการปฏิวัติวัฒนธรรมแบบตามก้นตะวันตกด้วยความไม่รู้    เรื่องการต่อสู้ของสถาบันฯกับผู้ที่หวังจะเปลี่ยนระบอบนั้นมีมาแต่สมัยพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖   แต่ไม่มีผู้ใดเป็นอันตรายต่อสถาบันฯเท่ากับคณะราษฎรอีกแล้วในประวัติศาสตร์ไทย และ คนที่ไม่ต้องการสถาบันฯเลยแต่ต้นจนจบคืออ.ปรีดี ต่างหาก (อ่านในไฟล์แนบเรื่องอ.ปรีดี คืออุปสรรคการปฏิวัติประชาธิปไตยในประเทศไทย) 
 
              การดำเนินการบางอย่างของชนชั้นปกครองล้วนแล้วแต่มีจุดหักเหของการกระทำต่างกรรมต่างวาระกัน     แต่นี่คือข้อเท็จจริง (Fact) ที่ประชาชนชาวไทยต้องยอมรับ  ไม่ว่าจะเป็นศิษย์เก่าธรรมศาสตร์หรือศิษย์เก่าจุฬาฯ ก็จำเป็นต้องรับรู้ข้อเท็จจริง  หรือแม้แต่ประชาชนธรรมดาสามัญที่มิได้เป็นศิษย์ทั้งสองสถาบันก็มีสิทธิรับรู้ข้อเท็จจริงที่ถูกกลบฝังมาช้านาน    และขบวนฯมีหน้าที่ทำความจริงให้ปรากฏเมื่อถึงเวลาที่สถานการณ์คลี่คลายขยายผลพอจะรับฟังกันได้ด้วยเหตุและผล       
 
             อย่างไรก็ดีการบ่มเพาะอุดมการณ์ตามความเชื่อของอ.ปรีดี และจอมพลป.สำเร็จหรือไม่นั้น  เป็นเรื่องที่ต้องประเมินกันให้ชัดอีกทีเหตุเพราะตัวแปรต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมมีมากมาย    นิสิตนักศึกษาในสมัยปัจจุบันเกือบจะไม่เข้าใจความหมายของการบ่มเพาะการศึกษาในสถานการศึกษาของตนเองเลย   ซึ่งแตกต่างจากสถานการณ์ในช่วงต้นๆของการก่อตั้งมหาวิทยาลัยในยุคต้นๆ
 
               สัจธรรมในกรณีพระปกเกล้าฯ สู้กับคณะราษฎร
 
            “  ข้าพเจ้าเห็นว่าคณะรัฐบาลและพวกพ้องใช้วิธีการปกครองที่ไม่ถูกต้องตามหลักการของเสรีภาพในตัวบุคคลและหลักความยุติธรรมตามความเข้าใจและยึดถือของข้าพเจ้า  ข้าพเจ้าไม่สามารถที่จะยินยอมให้ผู้ใดคณะใดใช้วิธีการปกครองอย่างนั้นในนามของข้าพเจ้าต่อไปได้
             ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่สละอำนาจอันเปนของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป  แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใดคณะใดโดยฉะเพาะ   เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร”
 
              พระราชบันทึกพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗
            วันที่ ๒ มีนาคม ๒๔๗๗ พ.ศ. ๒๔๗๗
            เวลา ๑๓ นาฬิกา ๔๕ นาที
 
             การพูดผิดของประพันธ์ คุณมี นับว่าเป็นคุณูปการทำให้ขบวนฯได้มีโอกาสย้อนรอยต้นตอทางความคิดของอ.ปรีดีกลับไปยังการก่อตัวของคณะราษฎรก่อนการยึดอำนาจสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งนับเป็นข้อเท็จจริง (Fact) ที่ถูกต้องที่สุดและไม่ได้รับการบอกเล่าอย่างเป็นระบบ 
 
             กรณีพระปกเกล้าฯสู้กับคณะราษฎร  เป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่ถูกกลบฝังมาช้านาน ฝ่ายถูกคือพระปกเกล้าฯเป็นฝ่ายพ่ายแพ้   ฝ่ายชนะคือคณะราษฎรเป็นฝ่ายผิด  อันนี้คือข้อเท็จจริง (Fact)  คือสิ่งที่ดำรงอยู่จริง เกิดขึ้นจริง   เมื่อระบอบเผด็จการรัฐสภาได้รับการสถาปนาและได้รับการบิดเบือนว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยมานับแต่นั้น  
 
             อย่างไรก็ดี ยังมีความจริงที่สูงกว่านั้น คือสัจธรรม ( Truth)  ที่อยู่เหนือกว่านั้น   สัจธรรมก็คือการที่ “ อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชน”    มิใช่ “ อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ”   ตั้งแต่ต้น  เป็นเหตุให้อ.ประเสริฐ ทรัพย์สุนทรออกมาอธิบายความผิดพลาดทางประวัติศาสตร์ที่ถูกกลบฝัง มาช้านานเพื่อคัดค้านแนวทางคณะราษฎรมาตลอดชีวิตของท่าน   โดยยึดคำอธิบายเรื่องที่มาของ “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน” ที่ถูกคณะราษฎรบิดเบือนจนสำเร็จ ปรากฏเป็นที่ยอมรับมาจวบจนพ.ศ.นี้  (อ่านเพิ่มเติมไฟล์แนบอ.ปรีดี พนมยงค์อุปสรรคความสำเร็จของการปฏิวัติประชาธิปไตย)   
 
            สัจธรรม (Truth) ดังกล่าวสะท้อนอยู่ในข้อเท็จจริง (Fact) ที่ว่าพระปกเกล้าฯมิได้ยินยอมให้คณะราษฎรปกครองประเทศนี้ภายใต้ระบอบเผด็จการ  เหตุเพราะอำนาจมิได้เป็นของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่ทรงใช้คำว่า “ประชาราษฎร”   อ.ประเสริฐ ได้เรียกร้องมาตลอดชั่วอายุขัยให้ดำเนินการถวายคืนพระราชอำนาจที่ “ ขโมย” มาจากสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้คืนเจ้าของเดิมเสีย  จึงจะถูกต้องตามหลักธรรมและกฎเกณฑ์แห่งกรรม    
 
             และนี่คือสัจธรรม( Truth ) ที่เหนือกว่าข้อเท็จจริง (Fact) ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า Fact ที่เกิดขึ้นต่างกรรม ต่างวาระกันนั้นอาจไม่สอดคล้องกับ Truth เลยก็ได้   และในกรณีที่ Fact กับ Truth ขัดแย้งกัน  ผู้ถือธรรมเป็นใหญ่ ย่อมไม่ประนีประนอมกับข้อเท็จจริงแบบนั้น  จึงต้องใช้เหตุผลของ สัจธรรมที่สูงกว่ามาอธิบาย   จึงจะชนะกันด้วยเหตุและผลได้  เนื่องจาก fact  อาจจะตรงกับ truth หรือไม่ตรงกับ truth ก็ได้ หมายความว่ายังไม่ได้รับการพิสูจน์ truth ก็อาจผิดได้  ดังปรากฎเห็นชัดในกรณีพระปกเกล้าฯสู้กับคณะราษฎรซึ่งไม่เคยได้รับการบอกเล่าสู่สาธารณะอย่างเป็นระบบมาก่อนเลยในประวัติศาสตร์ !!
 
             สู่ความจริงแท้ของสถานการณ์ด้วยหลักธรรม
 
            ยังมีความจริงอีกระดับหนึ่งซึ่งเป็นความจริงสูงสุดที่มิอาจเปลี่ยนแปลงได้ ที่เรียกว่า “ความจริงแท้” (Reality)    นั้นยิ่งสูงไปกว่านั้น  ความจริงเดิมแท้ (Reality) ที่เกิดมาก่อนสิ่งอื่น เป็นสภาววิสัยอยู่เหนือสมองมนุษย์  ซึ่งเกิดขึ้น ดำรงอยู่ และดับไป     เพราะคือความจริงอันเป็นกฎธรรมชาติที่ไม่อาจฝืนได้  เช่น การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ของสรรพสิ่งซึ่งเป็นสภาพเดิมแท้ที่มีมาก่อนและอยู่เหนือการควบคุมของมนุษย์   เป็นกฎไตรลักษณ์ตามอนิจจลักษณะของสรรพสิ่ง ที่จำต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา   อาทิ การเกิดขึ้นของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชในยุคเจ้าครองนครที่จำต้องเปลี่ยนแปลงไปตามเงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงของโลกสู่การสร้างระบอบใหม่คือประชาธิปไตยที่พระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ ๕ ทรงศึกษาเพื่อนำมาเปลี่ยนแปลงประเทศ   และได้รับการสืบสานต่อเนื่องมายังพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ และพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่๗ ตามลำดับ   เป็นการริเริ่มการเปลี่ยนแปลงเพราะทรงเข้าถึงกฎเกณฑ์ก่อนใคร   กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือผู้ค้นพบ Reality นี้ก็คือสถาบันพระมหากษัตริย์ มากว่าร้อยปี  

             ในช่วงรอยต่อทางประวัติศาสตร์ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕    ฝ่ายถูกได้พ่ายแพ้ต่อฝ่ายผิด   กล่าวคือ พระปกเกล้าฯ รัชกาลที่ ๗  พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีผู้สะท้อนความถูกต้องของ ความจริงแท้มาอยู่ในห้วงความคิดของพระองค์ได้ด้วยการริเริ่มการเปลี่ยนแปลงด้วย “การปฏิวัติประชาธิปไตย”  ได้ทรงร่างรัฐธรรมนูญและเตรียมโอนพระราชอำนาจสู่สภาปวงชนไว้แล้ว  หากความไม่ชำนาญทางยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี จึงแพ้ต่อคณะราษฎรที่ชิงเปลี่ยนแปลงการปกครองเสียก่อน  และนี่คือสัจธรรม( This is the Truth) ที่ต้องลบล้างข้อเท็จจริง (Fact) ผิดๆที่เกิดจากการบิดเบือนข้อมูลของคณะราษฎรเองมาตั้งแต่ต้น
 
               เมื่อเข้าใจตรงกันตามนี้ก็จะเห็นว่าปัญหาของประเทศไทยในขณะนี้ก็คือ นอกจากคนไทยจะเข้าไม่ถึงสัจธรรม (Truth)  อันเป็นเหตุและผลต่อเนื่องมาจากข้อเท็จจริง (Fact) แล้ว เพราะถูกครอบงำด้วยการบิดเบือนข้อเท็จจริง   หากจะแก้ปัญหาให้ถูกทางจึงจำเป็นต้องเริ่มต้นกันที่ความจริงระดับต้นก่อน ด้วยการให้คนไทยได้รับ fact ที่ถูกต้องก่อน  จึงจะนำไปสู่การยอมรับ Truth  ได้  

              ส่วนขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติ มีหน้าที่มากไปกว่านั้นคือ การอธิบายให้ fact   truth และ reality ตรงกัน  ให้ครบทั้งกระบวนการทางความคิดให้ได้  เพื่อมุ่งสู่การเปลี่ยนแปลงขั้นสูง   คือการเปลี่ยนแปลงจากภายใน  ซึ่งมองเห็นและจับต้องได้ยาก   การปฏิวัติประชาธิปไตยในประเทศไทยจึงจะเป็นการปฏิวัติที่สูงส่งสมความเป็นชาติแห่งวัฒนธรรมจิตวิญญาณได้จริง 
 
 
              การใช้จิตเบารับของหนัก
 
              หากจะรับของหนักได้ จะต้องรับด้วยจิตที่เบา  อุปมาดั่งการประคองตนเองในลำเรือ หากทำให้น้ำหนักเบา เรือก็จะทานน้ำหนักได้โดยไม่พากันล่มลงไปเสียก่อน

              ปฏิกิริยาของมวลชนพันธมิตรหลายคน โกรธเคืองคำอธิบายทางการเมืองจากข้อเท็จจริงขึ้นสู่การอธิบายสู่ที่มาของความคิดของลัทธินั้นๆ

              ความเชื่อในขั้นอุดมการณ์ เป็นความเชื่อขั้นสูงของมนุษย์  ที่มีองค์ประกอบหลายด้าน  มีความสัมพันธ์ภายในของความคิดอย่างเป็นระบบ   เป็นธรรมชาติอย่างยิ่งของนักแสวงหาสัจธรรม หรือนักแสวงหาความหมายในชีวิตจะหันเข้าไปศึกษาลัทธิใดลัทธิหนึ่ง  เช่นการศึกษาลัทธิต่างๆของคนหนุ่มคนสาวในช่วงเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย    ผู้เผยแพร่ลัทธิก็ดูจะเข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี จึงเลือกที่จะเข้าไปเผยแผ่ในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา   ลัทธิความเชื่อต่างๆจึงได้รับการเผยแผ่ผ่านสถาบันการศึกษาไม่เว้นแม้การเผยแผ่ศาสนา  ตัวอย่างของสถาบันการศึกษาที่มีการศึกษาลัทธิคอมมิวนิสต์กันอย่างเปิดเผยคือมหาวิทยาลัยรามคำแหง  หากการถ่ายทอดลัทธิจะถึงขั้นอุดมการณ์หรือไม่นั้นยังเป็นปมปัญหาอยู่   การศึกษาลัทธิความเชื่อและเข้าไม่ถึงอุดมการณ์นั้น  น่าจะเป็นการศึกษาที่น่ากลัวที่สุด  ในปัจจุบันพรรคการเมืองที่ถือนโยบายคอมมิวนิสต์คือพรรคสานแสงทองที่ได้รับการก่อตั้งขึ้นโดยรุ่งโรจน์ นิรันดร์กุล อดีตพคท.ที่ถูกยิงเสียชีวิตไปแล้ว

             การบ่มเพาะธรรมศาสตร์ให้เป็นมหาวิทยาลัยของประชาชนในแนวทางอ.ปรีดีในสมัยก่อนกับสมัยนี้ย่อมต่างกัน  ปัจจุบันนี้คนเข้าศึกษาก็มิได้ล่วงรู้ว่าสถาบันนี้มีจุดกำเนิดจากจุดยืนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศด้วยการไม่รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์มาแต่ต้น  ถ้าหากรู้ก็อาจมีผลต่อคนเข้าเรียนทางหนึ่งทางใด ในการเลือกเส้นทางการศึกษา  ง่ายที่สุดสำหรับการบ่มเพาะก็คือการค่อยๆให้ข้อมูลสะสม หล่อหลอมกันไป   กรณีนักศึกษาสมัยตุลา 16-19 นั้น นักศึกษาถูกเหมารวมว่าเป็นคอมมิวนิสต์  แท้จริงนักศึกษากำลังเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง  แต่เรียกร้องผิด  แทนที่จะเรียกร้องให้เปลี่ยนระบอบจากเผด็จการกดขี่มาเป็นระบอบประชาธิปไตยแต่กลับไปเรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญแทน   เพราะอ.ปรีดีสร้างธรรมศาสตร์บ่มเพาะให้คนเข้าใจไว้แค่นั้น  ว่าประเทศนี้จะต้องแก้ปัญหาด้วยรัฐธรรมนูญเสมอไป   นักศึกษาเมื่อเข้าป่า ก็หันไปศึกษาวิชาสหายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย  ท่ามกลางสงคราม ฆ่าฟันกันเองระหว่างคนไทยด้วยกัน และหลายคนได้หันไปศึกษาวิชาปฏิวัติรุนแรงแบบคอมมิวนิสต์แทน
 
            อย่างไรก็ดีการศึกษาของอดีตนักศึกษาในป่าในฐานะอดีตพคท.นั้น ก็มิได้หมายความว่าทุกคนเข้าถึงอุดมการณ์ของลัทธิคอมมิวนิสต์   การศึกษาใดๆหากมิได้ทำการศึกษาจนถึงรากเหง้าของที่มาแห่งลัทธิและต้นตอความคิดแล้ว  การนำมาประยุกต์ใช้ด้วยความรู้ไม่เพียงพอ เป็นเรื่องที่อันตรายมาก

             ปัจจุบันบทบาทของสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาทำหน้าที่ถ่ายทอดความคิดแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ไม่ใช่ธรรมศาสตร์อีกต่อไป หากแต่เป็นรามคำแหง  ธรรมศาสตร์กลายเป็นสถานศึกษาปรกติและทิ้งร่องรอยเดิมเรื่อง “ธรรมศาสตร์รักประชาชน” และร่องรอยความสับสนทางความคิดผ่านอาจารย์บางคนซึ่งมีอดีตอยู่ในป่าและลายคนเป็นคอลัมนิสต์ให้หนังสือพิมพ์เผยแพร่ทัศนะการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง นักวิชาการที่ปรากฎอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์หากมีสังกัดมาจากสถาบันการศึกษาก็จะจัดอยู่ในข่าย “เสาค้ำรัฐธรรมนูญ”  เสียส่วนใหญ่  (ซึ่งในหลายสถานการณ์กลายเป็นขบวนการแนวร่วมคอมฯ เป็นแนวค้านปฏิวัติและแนวปฏิวัติซ้อน หรือฝ่าย counter ปฏิวัติ)   ส่วนที่มีทัศนะเป็นซ้ายแล้วจะไม่แสดงทัศนะอย่างเปิดเผย  มักใช้วิธีการเขียนแอบแฝง ซ่อนเร้นอำพราง ยกเว้นกลุ่มมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน  ซึ่ง ณ วันนี้มีลักษณะเคารพหลักวิชามากกว่า  นักวิชาการแนวร่วม  สว.แนวร่วม ซ่อนเร้นทั้งหลาย  รามคำแหง กลายเป็นสถานศึกษาให้นักศึกษาได้ผ่านสังเวียนจริงของการเมืองทางความคิด  นักการเมือง นักเคลื่อนไหวหลายคนที่กรุยทางตนเองมาเส้นทางสายนี้เป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่  ปรากฏชัดขึ้นทุกทีๆ 
 
              การพูดถึงการเมืองใหม่  คือไม่เอาการเมืองเก่า  แต่ข้อเท็จจริงคือสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบันมิใช่ปัญหาเรื่องเก่าหรือใหม่ หากแต่เป็นเรื่องระหว่างของสองสิ่ง คือ ถูก กับผิด  ในอีกความหมายหนึ่งคือหากละจากผิดมาเป็นถูกได้คือของใหม่   นั่นคือทำการเมืองผิดให้เป็นการเมืองถูกได้  ก็จะได้การเมืองใหม่ อย่างแท้จริง  หากยังวนเวียนแก้ปัญหาด้วยวิธีการแบบเดิมๆก็จะพบแต่ปัญหาเก่าและนำสู่การเปลี่ยนแปลงใหม่ไม่สำเร็จ

              ผิดกับถูก อยู่ใกล้กันเหมือนเหรียญสองด้าน ก่อนอื่นจะต้องทำความเห็นให้ถูกตรงเสียก่อนจาก ข้อเท็จจริงทั้งหมด  การพูดความจริงให้ครบ จึงเป็นภารกิจรักษาประเทศชาติอีกวิธีการหนึ่ง ก่อนจะนำไปสู่ความเชื่อในขั้นอุดมการณ์ได้
 
 
              สัมมาทิฎฐิเกิดจากการเข้าใจความจริงทุกระดับ
 
             “…..รัฐบาลทุกสมัยไม่บอกความจริงของสถานการณ์บ้านเมืองแก่ประชาชน    ยิ่งรัฐบาลนี้ซึ่งเป็นรัฐบาลในระบอบเผด็จการเช่นเดียวกับรัฐบาลก่อนๆ กลับใช้ข่ายโฆษณาป่าวร้องอึกทึกครึกโครมว่าการปกครองเป็นแบบประชาธิปไตยแล้ว   และเศรษฐกิจกำลังก้าวหน้าอย่างมโหฬาร  แต่สามัญชนได้ประจักษ์ด้วยตนเองว่าอำนาจไม่ได้เป็นของปวงชน  แต่ต้องตกอยู่ใต้อำนาจอธรรมของชนส่วนน้อย  ไม่ว่าการพัฒนาเศรษฐกิจจะก้าวหน้าเพียงใด  ก็รวยและดีกันอยู่ในคนไม่กี่แสนคน  นอกนั้นยิ่งทำยิ่งจน.........แม้แต่คนในฝ่ายรัฐบาลเอง ซึ่งสนับสนุนยกย่องพรรคของตน  แต่ในส่วนลึกของจิตใจก็เป็นห่วงบ้านเมืองว่าจะไปไม่รอด  เป็นห่วงอนาคตของลูกหลานว่าจะอยู่กันได้อย่างไร  รวมความแล้วต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อแก้ไขบ้านเมืองให้พ้นอันตราย ได้กลายเป็นมติมหาชนตรงกันหมดของคนไทยทุกหมู่เหล่า......”

              แถลงการณ์สภาปฏิวัติแห่งชาติ  เรื่องการโอนอำนาจจากรัฐสภามาสู่สภาปฏิวัติแห่งชาติ พ.ศ ๒๕๓๑
 
             สถานการณ์ในขณะนี้ก็คือคำอธิบายของขบวนฯได้ประสบความสำเร็จถึงขั้น fact กับ truth เป็นที่ยอมรับระดับหนึ่งแล้ว    ขาดเพียงขั้นตอนการอธิบายเรื่อง Reality ให้เข้าใจในอีกขั้นต่อไป  ส่วนพวกเฉโก มีอคติ ไม่ยอมรับความจริง ด้วยวิธีการ “ ดื้อแพ่ง”  ไม่เคารพหลักวิชา ไม่ว่าจะอยู่ในสาขาอาชีพใดโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเกิดขึ้นในกลุ่มนักวิชาการ  ขบวนฯก็มีเพียงหน้าที่อธิบายและชี้แจงให้ครบถ้วนกระบวนความเพื่อแยกถูกออกจากผิดให้ชัดเจน   เพราะการชี้นำสังคมด้วยความไม่รู้ของนักวิชาการบางคนนั้นรังแต่จะกลายเป็น “ ปมปัญหา ” ทับซ้อนปัญหาจริงหมักหมมซ้ำซ้อนยากต่อการแก้ไขยิ่งขึ้นไปอีก

             ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเสนอแนวทางปฏิวัติประชาธิปไตยนั้น ขบวนฯได้นำเสนอต่อนักวิชาการและนักคิดซึ่งเป็นที่รู้จักในสังคมอย่างเป็นระบบแต่มิได้รับการปฏิบัติเพราะนักวิชาการส่วนใหญ่มักเลือกแนวทาง “ปฏิรูป” และไม่ยินยอมรับแนวทาง  “ ปฏิวัติ ” (ในความหมายของการเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิงสู่สิ่งใหม่จากธัมมะจักกัปปวัตนสูตร ต่างจากคำว่ารัฐประหาร) 

             ในปี 2539 ได้มีการจัดเสวนาขึ้นระหว่างฝ่ายปฏิวัติคือตัวแทนของขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติคือ อ.สมาน ศรีงามและศิษย์อ.ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ในฝั่งกรรมกร อาทิ วันชัย พรหมพา  สุนทร มุสิกะ  และนิคม เกสร
 
             ส่วนฝ่ายปฏิรูปนำโดยหมอประเวศ วะสี อ.บวรศักดิ์ อุวรรโณ สมเกียรติพงศ์ไพบูลย์ และสุวิทย์ วัดหนู(เสียชีวิตแล้ว )  มีการอภิปรายร่วมกันโดยมีสื่อมวลชนทำรายงานพิเศษลงในคอลัมน์โลกสีฟ้า ของคุณจำลอง บุญสอง  ในหนังสือพิมพ์สยามโพส  ผลที่ออกมาคือ ฝ่ายปฏิรูปซึ่งแพ้ด้วยเหตุผลก็มิได้ยอมรับแนวทางปฏิวัติ  (อ่านเพิ่มเติมในไฟล์แนบ ManagerRadio_ปฏิรูปสู่วิบัติปฏิวัติสู่ความรุ่งเรือง_ย้อนรอยประเวศวะสี_เหลาเหย่เจอมังกร)  กล่าวโดยสรูปว่าความพยายามผลักดันหมอประเวศในฐานะผู้นำทางสังคมและอ.บวรศักดิ์ ให้เข้าใจแนวทางปฏิวัติประสบความล้มเหลว 

             จวบจนปีพ.ศ.2551 ทั้งหมอประเวศ และอ.บวรศักดิ์จึงยอมรับแนวทาง “ การปกครองเฉพาะกาล ” หรือ
“ รัฐบาลแห่งชาติ ” ที่ขบวนฯได้ทำการเสนอไป  หากแต่ก็ยังคงเป็นเพียงการยอมรับในขั้นหลักการอันเนื่องมาจาก
“ ทางตัน” ของการแก้ปัญหา   เนื่องจากการปกครองเฉพาะกาลนั้นประกอบด้วย “นโยบาย” และมรรควิธีในการดำเนินการอย่างเป็นระบบ  หากผู้ต้องการการเปลี่ยนแปลงมีมติเห็นพ้องต้องกันจะนำไปสู่การปฏิบัติ และการแก้ปัญหาได้จริง ซึ่งจะกล่าวถึงในตอนต่อไป
 
             การทำความเข้าใจปัญหาประเทศชาติ  คือการทำความเห็นให้เสมอกันได้นั้น จะต้องเริ่มต้นจากการศึกษาความเห็นผิด  ของแต่ละฝ่าย จนถึงขั้นเกิดความเข้าใจร่วม  แต่ถ้าหากความจริงขั้นพื้นฐานยังไม่ได้รับการเปิดเผยเสียแล้ว  การเข้าใจ เข้าถึงปัญหาเพื่อให้ได้ความเห็นร่วมจนก่อให้เกิดสัมมาทิฎฐิได้นั้น  ย่อมเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้  การทำความจริงให้ปรากฏจึงเป็นภารกิจสำคัญของขบวนฯ ต่อการสร้างสัมมาทิฎฐิร่วมกัน  ซึ่งจะต้องอาศัยภาววะวิสัยที่สอดคล้องอย่างยิ่ง    และจิตที่จะรับเรื่องราวหนักแบบขัดแย้งกับพื้นฐานความเชื่อเดิมที่สะสมกันมาตลอดชีวิตนี้ได้ จะต้องเป็นจิตที่ได้รับการพัฒนาแล้วให้ยินดีรับฟังและมองปัญหาแบบเหรียญสองด้านเสมอไป  

 


         
 (อ่านต่อตอนหน้า)
  
 
         
  
  
  
 อ่านย้อนหลัง ....
  
 

ปฏิวัติสันติ

 
สมัคร ยกเลิก
 
 
Revolutionary Press Agency
Online Journal and News Agency for Peace  :  วารสารและข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
Copyright © 2024 www.rpathailand.com All Rights Reserved.
ทำเว็บ  ออกแบบเว็บ  Web Design  เว็บสำเร็จรูป  เว็บไซต์สำเร็จรูป