Revolutionary Press Agency : Online Journal and News Agency for Peace
สำนักสื่อปฏิวัติ  : วารสารข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
8 มิ.ย. 2554 กองหน้าประชาชนรุ่นใหม่ อนุสรณ์ สมอ่อน ตอบคำถามคาใจทำไมต้องปฏิวัติประชาธิปไตย? 
อุปสรรคความสำเร็จการปฏิวัติประชาธิปไตยในประเทศไทย ตอน ๕
เขียนโดย ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร โพส ๗ กรกฏาคม ๒๕๕๒ :๒๒.๒๐ น.
 
แนวความคิดเรื่องสหกรณ์ส่วนหนึ่งของแนวคิดด้านเศรษฐกิจของอาจารย์ปรีดี
 
 
            (ต่อจากตอนที่แล้ว)
 
 
        “ สหกรณ์นี้จะได้ประกอบการเศรษฐกิจตามแผนเศรษฐกิจแห่งชาติ  เช่น สหกรณ์ในทางกสิกรรมก็จะประกอบกสิกรรม เช่นการเพาะปลูกพืชพันธุ์    การเลี้ยงสัตว์ ฯลฯ และการกระทำกิจการอื่นเมื่อมีแรงงานเหลืออยู่ เช่น การสร้างถนนหนทาง การสร้างบ้านและสถานที่ในสหกรณ์นั้น

        “ ราษฎรที่เป็นสมาชิกสหกรณ์นั้นนอกจากจะได้รับเงินเดือนประจำตามอัตรายังคงได้รับเงินรางวัลเป็นพิเศษตามผลที่สหกรณ์นั้นทำได้อีกสถานหนึ่ง ด้วยวิธีนี้ไม่ว่าคนจนอนาถาก็ย่อมเป็นสมาชิกของสหกรณ์ได้ ซึ่งต่างกับสหกรณ์ที่รัฐบาลจัดอยู่ในเวลาปัจจุบัน คือผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดินนั้นจึงจะเข้าเป็นสมาชิกของสหกรณ์ได้ ส่วนชาวนาที่ต้องเช่านาทำอันมีจำนวนมากในเวลานี้ไม่มีโอกาสที่จะเป็นสมาชิกสหกรณ์

        “ สหกรณ์จะมีอาณาเขตเท่าใด และจะมีสมาชิกสักเท่าใดนั้น ก็แล้วแต่สมาชิกของสหกรณ์ประเภทหนึ่งเช่นสหกรณ์อุตสาหกรรม ย่อมมีสมาชิกที่เป็นคนงานของอุตสาหกรรมนั้น    ตามแต่อุตสาหกรรมจะใหญ่น้อยปานใด และสหกรณ์ในทางกิกรรมก็สุดแท้แต่ความเหมาะสมแห่งการที่จะแบ่งเขตที่ดินที่จะประกอบกสิกรรมว่าควรจะเพียงใด และจะต้องใช้คนงานเท่าใดจึงจะควบคุมและใช้วิชาเทคนิคได้สะดวก

        “ สหกรณ์เหล่านี้ผู้เป็นสมาชิกของสหกรณ์ย่อมรวมกันประกอบการเศรษฐกิจควบรูปคือ

          1.ร่วมกันในการประดิษฐ์ (Production) โดยรัฐบาลเป็นผู้ออกที่ดินและเงินทุน สมาชิกสหกรณ์เป็นผู้ออกแรง
         2.ร่วมกันในการจำหน่ายและขนส่ง (Transportation) กล่าวคือ ผลที่สหกรณ์ทำได้นั้นสหกรณ์ย่อมทำการขนส่งและจำหน่ายในความควบคุมของรัฐบาล
        3.ร่วมกันในการจัดหาของอุปโภคให้แก่สมาชิก เช่น อาหาร เครื่องนุ่มห่ม แต่อาหารนั้นไม่จำเป็นที่สหกรณ์จะต้องทำอาหารสุกจำหน่าย สหกรณ์อาจจำหน่ายอาหารดิบ เช่น ข้าวสาร เนื้อดิบ เหล่านี้ให้สมาชิกซื้อไปจัดปรุงเองตามใจชอบใจสมัคร
         4. ร่วมกันในการสร้างสถานที่อยู่คือสหกรณ์จะได้จัดสร้างที่อยู่ในความควบคุมของรัฐบาล สมาชิกครอบครัวหนึ่งก็จะมีบ้านอยู่หลังหนึ่ง และปลูกตามแผนผังของสหกรณ์ให้ถูกต้องตามอนามัยและสะดวกในการที่จะจัดการปกครองและระวังเหตุภยันตราย

       “ เมื่อราษฎรได้รวมกันเป็นสหกรณ์มีบ้านอยู่เป็นหมู่ด้วยกันแล้ว การจัดให้สหกรณ์ได้มีการปกครองแบบเทศบาล (Municipality) ย่อมทำได้สะดวก ตลอดจนการอนามัยและการสาธารณสุข เช่น สหกรณ์จะได้จัดให้มีแพทย์ออกข้อบังคับว่าด้วยการรักษาอนามัยและการศึกษาอบรมหมู่คนก็ทำได้ง่าย เพราะสมาชิกอยู่ใกล้กัน เมื่อเสร็จจากทำงานวันหนึ่งๆ สหกรณ์อาจออกข้อบังคับให้มาเรียนหรือมาอบรม การเรียนอาจเป็นโดยวิธีหนังสือหรือวิธีแสดงภาพ ฉายภาพ และการแสดงอื่นๆ การระงับปราบปรามโจรผู้ร้ายก็สะดวก นอกจากนี้ในทางทหาร อาจอาศัยสหกรณ์เป็นเครื่องมือที่จะอบรมวิชาทหารบุคคลที่ถูกเกณฑ์หรือพวกกองเกินอัตรา (Military Preparation) การเกณฑ์ทหาร การระดมเหล่านี้ ย่อมสะดวกด้วยประการทั้งปวง...”

        แม้ว่าอาจารย์ปรีดีจะไม่ได้เสนอแผนเศรษฐกิจแห่งชาติไว้ แต่ก็ได้วางหลัก 3 ประการในการวางแผนเศรษฐกิจไว้ โดยสรุปก็คือหลักการคำนวณสืบสวนเกี่ยวกับปัจจัยการครองชีพ ที่ดินแรงงาน ทุน ฯลฯ

        สุดท้ายว่าด้วย “เค้าร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร” หมวดที่ 1 ว่าด้วยเงินเดือนและเบี้ยบำนาญของราษฎร บัญญัติไว้ว่า

       “มาตรา 3 ตั้งแต่วันที่ประกาศใช้แผนเศรษฐกิจแห่งชาติเป็นต้นไปนั้น ในบรรดาบุคคลที่มีสัญชาติไทยซึ่งอยู่ในประเทศไทยถ้วนทุกคน ได้รับเงินเดือนจากรัฐบาลหรือจากสหกรณ์ ซึ่งจะได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดไว้ ตามอัตราขั้นต่ำ ดังต่อไปนี้
 
        1.บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปี เดือนละ......บาท
        2.บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปี ถึง 5 ปี เดือนละ.....บาท  
        3.  ฯลฯ

       “มาตรา 4 บุคคลที่มีคุณวุฒิหรือความสามารถพิเศษ หรือมีกำลังพิเศษจะได้รับเงินเดือนสูงขึ้นไปตามคุณวุฒิ ความสามารถกำลังและตามชนิดที่ทำ

       “มาตรา 5 นอกจากเงินเดือนที่ได้รับให้ผู้ที่ทำงานหรือรับราชการได้รับเงินรางวัลอีกโสดหนึ่ง ผลแห่งการงานของตน ซึ่งรัฐบาลหรือสหกรณ์จะได้กำหนดส่วนลงไว้

        “ มาตรา 6 ผู้ที่รับราชการหรือทำงานได้เงินเดือนสูงกว่าชั้นสามัญ
          ค. เมื่ออกจากราชการจะได้รับเบี้ยบำนาญสูง
          ง.กว่าอัตราขั้นต่ำที่กำหนดไว้ในมาตรา 3

        “มาตรา 7 เงินเดือนและเงินรางวัลและเบี้ยบำนาญจะเพิ่มส่วนขึ้นได้ตามส่วนจ.แห่งการที่รัฐบาลหรือสหกรณ์ได้ผลในทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น
         หมวดที่ 2 ว่าด้วยการทำงาน บัญญัติไว้ดังนี้

        มาตรา 8 ให้บรรดาบุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปจนถึง 55 ปี รับราชการตามประเภทงานให้กำหนดแบ่งตามกำลังความสามารถคุณวุฒิและตามเพศ อายุ ดังนี้....”

        เหล่านี้คือข้อความบางตอนในนโยบายเศรษฐกิจของอาจารย์ปรีดี ท่านที่ต้องการข้อความสมบูรณ์โปรดหาอ่านจากต้นฉบับ ซึ่งมีจำหน่ายแพร่หลายอยู่แล้ว

        ทีนี้ ผมจะขอเปรียบเทียบกับอีกนโยบายหนึ่ง คือนโยบายของร.7ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของพระยามโนฯ

        แต่ควรทราบไว้ด้วยว่า ตั้งแต่สมัยการเคลื่อนไหวปฏิวัติประชาธิปไตยครั้งแรกในประเทศไทย คือ สมัย “คณะร.ศ. 130” ได้มีผู้เสนอนโยบายเศรษฐกิจสำหรับประเทศไว้แล้ว  เขียนโดยพระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) พิมพ์ครั้งแรกเมื่อพ.ศ. 2454 ปีเดียวกับการเคลื่อนไหวของคณะร.ศ. 130 นับว่าเป็นตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรกในประเทศไทย  เป็นหนังสือขนาด 16 หน้ายก หนา 547 หน้า นายฉัตรทิพย์ นาถสุภา เขียนคำนำในการพิมพ์ครั้งที่ 3 เมื่อพ.ศ. 2517 ไว้ตอนหนึ่งว่า

        “ ความสำคัญของหนังสือทรัพย์ศาสตร์อยู่ที่การวิเคราะห์เศรษฐกิจไทยภายใต้ระบบสมบูรณาญาสิทธิราช  ชี้สภาพความยกจนของชาวนาไทยและอธิบายว่า   ความยากจนนี้เกิดจากการถูกขูดรีดส่วนเกิน  ทั้งนี้ เป็นผลจากโครงสร้างกรรมสิทธิ์อันไม่เป็นธรรมในปัจจัยการผลิตที่ดินและทุน  นับว่าเป็นหนังสือเศรษฐกิจศาสตร์การเมืองไทยเล่มแรกที่วิเคราะห์และวิจารณ์ระบบศักดินาเสริมด้วยนายทุนของไทยพร้อมกับวิจารณ์ระบบที่เป็นมา พระยาสุริยานุวัตรเสนอให้เปลี่ยนโครงสร้างระบบกรรมสิทธิ์ของไทยใหม่ กระจายกรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตก่อนแล้วสมาชิกนำปัจจัยมาร่วมกันในขบวนการผลิต ในรูปสหกรณ์ “ร่วมกระทำการ” ยึดหลักการช่วยเหลือซึ่งกันและกันแทนการแข่งขันและการขูดรีด

        “เมื่อพิจารณา ในปัจจุบันหนังสือทรัพย์ศาสตร์ชี้ให้เราเห็นว่าสภาพโครงสร้างกรรมสิทธิ์และการผลิตของเศรษฐกิจไทยในอดีต  โดยเฉพาะชี้ให้เห็นสภาพความยากจนอย่างยิ่งของชาวนาไทย  ซึ่งมักถูกกลบเกลื่อนบิดเบือนโดยข้อเขียนมากหลาย  ให้เห็นไปว่าชีวิตชาวนาไทยในอดีตเป็นชีวิตที่สุขสบาย มีกินมีใช้ “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” หนังสือทรัพย์ศาสตร์ เปิดเผยความจริงว่าชาวนาไทยภายใต้ระบบศักดินามีชีวิตยากเข็ญ  เมืองไทยมีชนชั้นและมีการขูดรีดระหว่างชนชั้นตลอดมา  แนวคิดอีกข้อหนึ่งที่ได้จากการอ่านทรัพย์ศาสตร์คือ เศรษฐกิจไทยขาดการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างอย่างสิ้นเชิงตลอดเวลา 63 ปี ก่อน มีความรู้สึกเหมือนกับอ่านหนังสือว่าด้วยโครงสร้างและปัญหาเศรษฐกิจไทยปัจจุบัน...”

        นโยบายเศรษฐกิจของพระยามโนฯ สอดคล้องกับหลักในหนังสือ “ทรัพย์ศาสตร์” ของพระยาสุริยาวัตร จะเห็นได้จากคำแถลงนโยบายเศรษฐกิจบางตอนของพระยามโนฯในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ว่า “ว่าโดยทั่วๆไป รัฐบาลนี้รับรองหลัก 6 ประการที่คณะกรรมการราษฎรได้ดำเนินการอยู่แล้ว เป็นจุดหมายที่จะดำเนินการต่อไปให้บรรลุถึงซึ่งความสำเร็จ...
 
 
 
          “3.เศรษฐกิจ
 
          “ข้อนี้สำคัญมาก จุดที่หมายของการนี้ย่อมรู้อยู่ทั่วกันแล้ว และปรากฏอยู่ในหนังสือตำราปัจจุบันเป็นอันมากว่า ความสุขสมบูรณ์ของมนุษยชนจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยได้รับความสุขกายสุขใจ ที่พูดดังนี้ถ้าหวังแต่เพียงจะพูดอย่างเทศน์ให้ฟัง ก็เป็นของง่ายดายเต็มที แต่ที่จะให้ได้รับผลสำเร็จจริงจังแล้วเป็นการยากแสนยาก

          “ โดยปกติ คนเราถ้ารู้สึกมีเสรีภาพ ไม่ถูกบีบคั้น มีความเสมอภาคในกฎหมายและโอกาสทำมาหาเลี้ยงชีพอยู่แล้ว  ย่อมได้ความสุขใจพอควร

          “ความสุขกาย คนเราถ้ามีที่อยู่ มีอาหารกิน มีอาชีพ หรืออีกนัยหนึ่งมีเครื่องอุปโภคบริโภคพอควรแก่ชีวิต ก็จัดว่าเป็นการสุขกายพอควรอยู่แล้ว    แต่ว่าราษฎรในเมืองเรามี 11 ล้านเศษ ความรู้ความสามารถกำลังกายและอาชีพย่อมต่างๆกันอยู่ เป็นการยากหนักหนาที่จะจัดให้ได้รับความพอใจทั่วหน้า  แต่ว่ารัฐบาลนี้และเชื่อว่ารัฐบาลใดๆ ในโลกก็จะมีความรู้สึกเช่นเดียวกันคือความรู้สึกหน้าที่ที่จะต้องดำริวางโครงการให้ราษฎรมีโอกาสได้รับความสุขกายสบายใจทั่วกันอย่างมากที่สุดที่จะทำได้

          “ ในเวลานี้บังเอิญเป็นเวลาที่เศรษฐกิจของโลกตกต่ำ การเงินฝืดเคืองทั่วๆไป สินค้าสำคัญของเราคือข้าวราคาตกต่ำ ชาวนาของเราได้รับความยากแค้น มีกรรมกรที่ไม่มีงานทำเกิดขึ้น บ้านเมืองจนลงโดยทั่วๆไป คณะกรรมการราษฎรได้ช่วยไปแล้วในเรื่องที่จำเป็นต้องช่วยทันที เช่นลดภาษีอากร คุ้มครองทรัพย์ที่จะต้องถูกยึด ควบคุมการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราในกฎหมาย เหล่านี้เป็นต้น

          “ ในเรื่องกรรมกร รัฐบาลได้คิดแล้วและได้ลงมือทำบ้างแล้วคือ ได้จัดให้มีทะเบียนกรรมกรที่ไม่มีงานทำขึ้น เพื่อให้รู้ว่าใครไม่มีงานทำบ้าง เมื่อเวลาต้องการจักได้เรียกหาได้  การงานที่อยู่ในความคิดแล้ว  เช่นการที่จะให้สัมปทานต่อไปรัฐบาลจะได้กำหนดเป็นเงื่อนไขไว้ว่า  ให้ผู้รับสัมปทานใช้กรรมกรชาวสยามตามส่วน การงานของรัฐบาลก็จะเพียรใช้กรรมกรชาวสยามอย่างมากที่สุดที่จะทำได้  เช่น ในเวลานี้รัฐบาลได้เริ่มจัดให้กรรมกรแผนกช่างก่อสร้างได้มีงานทำบ้างแล้ว แต่ในการที่จะเริ่มให้มีงานใดๆขึ้นย่อมต้องใช้เงินซึ่งกำลังฝืดเคืองอยู่ทั่วไป แม้เช่นนั้นรัฐบาลก็มิได้วางมือ กำลังพากเพียรหาช่องทางที่จะทำอยู่เหมือนกัน  และก็มีความรู้สึกแน่ใจอยู่ว่าพอจะทำได้บ้าง อย่างน้อยก็ผ่อนหนักให้เป็นเบา มีเสียงร่ำร้องให้รัฐบาลตั้งโรงงาน  ความคิดในการตั้งโรงงานนั้น มิใช่ว่าผ่านพ้นความคิดของรัฐบาลไปก็หาไม่   แต่ว่าก่อนที่จะเริ่มการใดๆ จะต้องคิดทางได้ทางเสียอย่างรอบคอบ ต้องหาสถิติ ต้องพิจารณาว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ เมื่อแน่ใจแล้วว่ามีทางได้มากกว่าทางเสีย จึงควรทำ ขอให้เป็นที่มั่นใจว่ารัฐบาลไม่ได้ลืมความข้อนี้เลย

          “ ในเรื่องกสิกร การช่วยเหลือโดยตรงที่มีอยู่ในเวลานี้ คือสหกรณ์ให้กู้เงิน นอกจากนี้รัฐบาลมีความจำนงใจที่จะจัดให้มีการร่วมกันในการกำเนิดผล (Production) เช่นร่วมมือกันในทางเทคนิคเป็นต้น ความร่วมมือกันในทางจำหน่าย ความร่วมมือกันในทางซื้อของอุปโภคบริโภค การที่รัฐบาลดำริดังนี้ก็เพราะแน่ใจว่าคนเดียวทำ กับคนหลายคนร่วมกำลังกันทำนั้น หลายคนร่วมกำลังกันทำย่อมได้ผลดีกว่า  ที่กล่าวมานี้เป็นหลักใหญ่ซึ่งถ้าจะพูดถึงรายละเอียดแล้วก็จะเป็นสมุดเล่มหนึ่งทีเดียว  และไม่ใช่เป็นของทำได้โดยเร็ววัน คือจะต้องอาศัยการสอบสวนและคำนวณสถิติ การวางแผนเศรษฐกิจของชาตินี้ ถ้าไม่ทำให้ถี่ถ้วน คือรีบด่วนเกินไปแล้ว ความปั่นป่วนย่อมเกิดขึ้น ไม่ว่าประเทศใดๆ การวางแผนต้องใช้เวลา ทั้งนี้มิใช่ว่ารัฐบาลจะนอนใจ รัฐบาลก็รีบเร่งทำอยู่  แต่ลักษณะของกิจการนั้นเองต้องการเวลา ซึ่งจะเนรมิตให้ทันทีไม่ได้ รัฐบาลได้กำหนดที่จะแบ่งระยะเวลาออกเป็นสมัยๆคือ สมัยสอบสวนเตรียมการทดลอง และสมัยลงมือปฏิบัติ

          “ อย่างไรก็ดี นโยบายอันเป็นหลักสำคัญของรัฐบาลที่จะดำเนินต่อไปในทางเศรษฐกิจนั้น มีจุดที่หมายอยู่ว่า จะสมัครสมานผลประโยชน์ของคนทุกจำพวกให้ได้ผลดีด้วยกันทุกๆฝ่าย

          “หลักการในเรื่องนี้มีเถียงกันอยู่เป็น 2 ทาง ทางหนึ่งรัฐบาลเข้าจัดทำเองเสียทั้งหมด ซึ่งเป็นการตึงเกินไป อาจจะมีเสียยิ่งกว่าได้ และอาจเป็นการเดือดร้อนแก่บุคคลบางจำพวก อีกทางหนึ่งก็คือรัฐบาลไม่ทำอะไรเลยปล่อยให้ราษฎรทำกันเอง ใครดีใครได้ใครกำลังน้อยก็ย่อยยับไป ใครกำลังมากก็ฟุ่มเฟือยดังนี้ก็เป็นการหย่อนเกินไป  มีเสียมากกว่าได้เหมือนกัน  เพราะฉะนั้นจุดที่หมายของรัฐบาลนี้ จึงคิดเข้ามีส่วนในกิจการที่เห็นเป็นสำคัญสำหรับประเทศสมควรทำเสียเองก็ทำ สมควรเพียงแต่เข้าควบคุมก็เพียงแต่ควบคุม สุดแต่จะเห็นว่าเป็นประโยชน์ยิ่งสำหรับบุคคลทั่วไปจะเอาประโยชน์ของคนหมู่หนึ่งเป็นที่ตั้ง และไม่คิดถึงประโยชน์ของคนอีกหมุ่หนึ่งนั้นหามิได้...”

          จะเห็นได้ว่า นโยบายเศรษฐกิจของพระยามโนฯ  โดยเฉพาะในข้อที่ว่า “จุดที่หมายของรัฐบาลนี้ จึงคิดจะเข้ามีส่วนในกิจการที่เห็นเป็นสำคัญสำหรับประเทศ สมควรทำเสียเองก็ทำ สมควรแต่เพียงเข้าควบคุมก็เพียงแต่ควบคุม  สุดแต่จะเห็นว่าเป็นประโยชน์ยิ่งสำหรับบุคคลทั่วไปจะเอาประโยชน์ของคนหมู่หนึ่งเป็นที่ตั้งและไม่คิดถึงประโยชน์ของคนอีกหมู่หนึ่งนั้นหามิได้”  นั้น ยังเหมาะสมกับสภาวการณ์ของประเทศไทยแม้กระทั่งปัจจุบันจึงสอดคล้องกับนโยบายของขบวนการประชาธิปไตยในปัจจุบัน เช่นนโยบายของพรรคแรงงานประชาธิปไตยและพรรคปวงชนชาวไทย โดยเฉพาะคือนโยบายของพรรคแรงงานประชาธิปไตยในข้อที่ว่าด้วยการ “ ควบคุมวิสาหกิจที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ของเศรษฐกิจแห่งชาติอย่างเหมาะสม”

 
 
 
              (อ่านต่อตอนหน้า)
 
 
 
 
 
             อ่านย้อนหลัง...
 
 
 
 
 
 
 

ปฏิวัติสันติ

 
สมัคร ยกเลิก
 
 
Revolutionary Press Agency
Online Journal and News Agency for Peace  :  วารสารและข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
Copyright © 2024 www.rpathailand.com All Rights Reserved.
ทำเว็บ  ออกแบบเว็บ  Web Design  เว็บสำเร็จรูป  เว็บไซต์สำเร็จรูป