Revolutionary Press Agency : Online Journal and News Agency for Peace
สำนักสื่อปฏิวัติ  : วารสารข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
8 มิ.ย. 2554 กองหน้าประชาชนรุ่นใหม่ อนุสรณ์ สมอ่อน ตอบคำถามคาใจทำไมต้องปฏิวัติประชาธิปไตย? 
 
พระพุทธศาสนาแนวคิดเพื่อพัฒนาสังคมและการเมือง
ดร.บี อาร์ อัมเบดการ์
ถอดความโดย
พระดร.สมชัย กุสลจิตฺโต พระราชปัญญาเมธี
 
              (ต่อจากตอนที่แล้ว)
 
 
 
   
               พระพุทธศาสนา: มหาสมุทรแห่งความเสมอภาค
 
 
              เมื่อระบบวรรณะนับเป็นจุดบอดของศาสนาฮินดู   ความคิดแบ่งชั้นวรรณะเป็นพฤติกรรมที่แสดงการรังเกียจกันด้วยชาติกำเนิด เพราะระบบวรรณะนำความแบ่งแยกแตกต่างกันในชีวิตทางสังคม  การรังเกียจกันด้วยชาติกำเนิดนี้เป็นบ่อเกิดแห่งความอิจฉาริษยาและเป็นการต่อต้านระหว่างบุคคลที่มีวรรณะแตกต่างกัน  ยิ่งกว่านั้นในตัวโครงสร้างระบบวรรณะเอง ทางด้านหนึ่งก็มีการกดขี่เย่อหยิ่ง จองหอง ถือตัว เห็นแก่ตัว ละโมภ เป็นต้น ในอีกด้านหนึ่งก็มีความหวาดระแวงไม่ปลอดภัย ความต่ำต้อย ความยากจน หมดเสรีภาพ และสูญเสียการพึ่งตนเอง ความเป็นอิสระ เกียรติภูมิและการนับถือตัวเอง

              เมื่อชั่งดูปริมาณน้ำหนักด้านบวกและด้านลบของศาสนาฮินดูแล้ว ดร.อัมเบดการ์จึงหันมาสู่พระพุทธศาสนา ซึ่งสาระสำคัญสามารถสรุปลงใน ๓ คำคือ “เสรีภาพ” “สมภาพ” และ “ภราดรภาพ” ดังที่ดร.อัมเบดการ์กล่าว(อย่างเปรียบเทียบกับศาสนาฮินดู) ไว้ดังนี้ ๑๖

              ความไม่เสมอภาคระหว่างมนุษย์เป็นคำสอนอย่างเป็นทางการของศาสนาพราหมณ์(ฮินดู)
              พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนธรรมตรงกันข้ามกับศาสนาฮินดูทุกแง่ทุกมุม
             พระพุทธองค์ทรงวางพระองค์พระองค์ตรงข้ามกับระบบวรรณะที่เข้มแข็งที่สุด และทรงหนุนหลักการแห่งความเสมอภาคในยุคแรกๆและคงเส้นคงวาที่สุด
              ไม่มีข้อตกลงใดๆ ที่สนับสนุนระบบวรรณะและความไม่เสมอภาค ซึ่งพระพุทธองค์ไม่ทรงคัดค้าน 
             พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกับวาเสฏฐะว่า “อุดมคติที่สูงส่งต่างหากเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด มิใช่กำเนิดในตระกูลสูงส่ง”                  
             ไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะ ความไม่เสมอภาค ความไม่เท่าเทียมกัน ความเป็นคนสูงส่งและความเป็นคนต่ำต้อย (แต่) ทุกคนเท่าเทียมกัน นี่คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงยืนยัน
              “จงเปรียบเทียบตัวเจ้ากับคนอื่น พวกเขาเป็นอย่างไร เราก็เป็นอย่างนั้น เราเป็นอย่างไร พวกเขาก็เป็นอย่างนั้น”
              พระพุทธเจ้าตรัสแสดงดังนั้น
 
              ด ร. อั ม เ บ ด ก า ร์ พู ด ต่ อ ไ ป อี ก ว่ า
 
 
             พระพุทธศาสนาเปรียบดุจห้วงมหาสมุทร ๑๗  เพราะในมหาสมุทรไม่มีการถือสูงถือต่ำ พระพุทธเจ้าทรงใช้ความเมตตาการุณย์เอาชนะหัวใจของคนชั้นต่ำที่ถูกเหยียดหยามในสมัยโน้น และทรงแสดงสัมมามรรคหนทางที่ถูกต้องแก่พวกเขา ศาสนาอินดูทุกวันนี้เน่าเละถึงรากแล้ว ดังนั้น พวกเราจะต้องเลือกยอมรับนับถือศาสนาที่ดีกว่า ในทัศนะของข้าพเจ้า  พระพุทธศาสนานับเป็นศาสนาที่เหมาะที่สุด เพราะในคำสอนของพระพุทธศาสนานั้นไม่มีการถือความแตกต่างกัน  ไม่มีสูงมีต่ำไม่มีความมั่งมีหรือยากจน ไม่มีการแบ่งชนชั้นวรรณะและสีผิว เป็นต้น

             พวกเราจะต้องยอมรับนับถือศาสนาเช่นนี้ ๑๘ ซึ่งไม่มีคำสอนเรื่องความแตกต่างระหว่างมนุษย์ด้วยกัน ศาสนาที่ตั้งอยู่บนฐานแห่งความเสมอภาคและความเป็นพี่น้องกันทั้งโลก อุดมคติที่สูงส่งปานนี้จะพบได้แต่ในพระพุทธศาสนาเท่านั้น ประดุจดังกระแสธารและแม่น้ำหลายสายรวมกันเป็นห้วงน้ำใหญ่หนึ่งเดียวเมื่อไหลลงสู่มหาสมุทรแล้วฉันใด กุลบุตรจากวรรณะทั้งสี่ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อเปลี่ยนมายอมรับนับถือพระพุทธศาสนาก็เท่าเทียมกันหมด ไม่มีความเสมอภาคและความแตกต่างกันเลยในพระพุทธศาสนา

             พระพุทธเจ้าไม่เคยสั่งสอนว่า ๑๙ ในโลกนี้มีบุคคลบางคนที่มีความพิเศษอยู่  จุดหมายปลายทางของมนุษย์ทุกชาติชั้นวรรณะอยู่ที่การบรรลุพระนิพพานแดนบรมสุข สันติสุข และความรุ่งเรืองในธรรม

             พระพุทธเจ้าทรงย้ำเตือนสาวกของพระองค์มิให้หลงลืมว่า๒๐ มนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน  ไม่มีใครใหญ่โตปกครองอีกพวกหนึ่งเพราะเหตุเพียงการเกิดในตระกูลผู้ปกครอง ไม่มีความแตกต่างกันเลยระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ พวกเราได้รับฐานะยศ ตำแหน่งต่างกันในโลกนี้ ก็ด้วยผลการกระทำ(กรรม) หรือหน้าที่การงานของตนเอง มิใช่ด้วยชาติกำเนิด

             พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า๒๑ เปรียบเหมือนสายน้ำไม่ว่าจะมาจากแม่น้ำคงคา ยมุนาหรือแม่น้ำสายอื่นใด เมื่อไหลลงสู่ทะเลก็กลายเป็นน้ำทะเลเสมอกันหมดฉันใด ความแตกต่างระหว่างมนุษย์ด้วยกัน ก็ไม่มีฉันนั้น เมื่อพวกเขาเข้ามาสู่พระธรรมวินัยนี้ ทุกคนจะเท่าเทียมกันในพระศาสนาของพระพุทธเจ้า
 
 
              พระพุทธศาสนาสร้างความนับถือตัวเองมากขึ้น
 
              เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๔๙๙ ดร.อัมเบดการ์ได้ปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะอย่างเป็นทางการ  พร้อมกับบริวารประมาณ ๕ แสน
คน โดยประกอบพิธีครั้งประวัติสาสตร์นี้ ณ เมืองนาคปูร์(รัฐมหาราษฎร์) เพื่อจะอธิบายถึงเหตุผลที่เลือกมรรควิถีของพระพุทธเจ้า ท่านพูดไว้ดังนี้

              พระคุณเจ้าที่เคารพและพี่น้องสหธรรมิกทั้งหลาย ข้าพเจ้าต้องการจะบอกความรู้สึกของตัวเองว่า เพราะเหตุผลใด ข้าพเจ้าจึง
ต้องมารับผิดชอบงานที่ยิ่งใหญ่ คืองานฟื้นฟูและเผยแผ่พระธรรมของพระพุทธเจ้านี้  พิธีรับไตรสรณคมน์(ทิกษา) เสร็จสิ้นไปเมื่อวานนี้ ตามที่ท่านทั้งหลายทราบแล้ว มันเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจและคิดให้เห็นคุณค่าและความสำคัญของพิธีดังกล่าวซึ่งจัดทำไปอย่างยิ่งใหญ่เมื่อวานนี้ ณ สถานที่นี้ เพื่อนของพวกเราบางคนเสนอแนะว่า การกล่าวปราศรัยนี้ควรมีก่อนพิธีปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะน่าจะเหมาะกว่าการจัดให้มีขึ้นภายหลัง ในการต่อสู้กับข้อยุ่งยากและจัดการกับเรื่องสำคัญๆ นั้นบางครั้งลำดับก่อน-หลังทางเหตุผลเราก็ไม่อาจรักษาไว้ได้เหมือนกันเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ก็คล้ายกับกฎแห่งเหตุผลเกือบทั้งหมดก็ดำเนินคล้อยตามแนวลำดับก่อน-หลังแห่งผลที่ตามมา  จะมีเว้นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ที่พบว่าสลับลำดับกัน(เอาเรื่องเกิดหลังขึ้นก่อน เรื่องเกิดก่อนอยู่หลัง)

            ในการเลือกมรรควิถีนี้ ข้าพเจ้าได้ตกเป็นเป้าแห่งการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงมาก บางพวกก็เผ็ดร้อนมากบางพวกก็หยาบคาย มีประชาชนกลุ่มหนึ่งกล่าวหาข้าพเจ้าว่า ได้นำพวกจัณฑาลยากจนและถูกเหยียดหยามเหล่านี้ไปสู่ทางผิด เพราะพวกเขาคิด (ผิด) ว่ามรรควิถีที่ข้าพเจ้าเลือกไปแล้วนั้น จะเป็นต้นเหตุให้พวกจัณฑาลเสียสิทธิพิเศษและประโยชน์ต่างๆซึ่งพวกเขาได้รับกันอยู่ในปัจจุบัน บางคนถึงกับยืนยันว่า พวกจัณฑาลก็จะยังคงเป็นจัณฑาลต่อไป (วันยังค่ำ) ไม่เปลี่ยนแปลง  สิ่งที่ข้าพเจ้าทำลงไปก็จะไม่เกิดผลใดๆกับการกำจัด(การดูถูกเหยียดหยาม) นั้นเลย หลายคนแนะนำว่า การละทิ้งศาสนาของบรรพบุรุษที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน เพียงเพื่อยกฐานะทางเศรษฐกิจของพวกเขาให้ดีขึ้น  นับว่าเป็นการกระทำที่โง่เง่าไม่ฉลาดเอาเสียเลย  การพูดจาโดยไม่รับผิดชอบเช่นนี้ก่อให้เกิดความลังเล สงสัยและหวาดกลัวแก่มวลชนชั้นจัณฑาล ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจำต้องตอบปัญหาเหล่านี้  การกำจัดความสงสัยและความหวาดกลัวเสียได้ จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งแก่ขบวนการของเรา ต่อปัญหานี้ข้าพเจ้าขอชี้แจงหลายแง่หลายมุมสักหน่อย คนที่พูดว่า พวกเราจะถูกปล่อยให้อยู่อย่างอ่อนแอและล้าหลังทางเศรษฐกิจต่อไปอีกนั้น ล้วนแต่เป็นผู้ที่ยังอาลัยอาวรณ์อยู่กับงานต่ำๆ น่ารังเกียจทั้งหลาย เช่นงานเก็บขยะ ลอกท่อคูคลอง และฟอกหนังสัตว์อยู่
           
              เรียกร้องให้หยุดทำงานสกปรกต่างๆ
 
              การปฏิเสธของพวกท่านมุ่งไปที่งาน(คือ) การนำซากสัตว์ตายไปทิ้งในป่าช้า พวกเราจากวรรณะมหาร์และฉมาร์จงอย่ายอม
ขนซากกระบือและโคที่ตายแล้วไปทิ้ง เพราะพวกเราชาวมหาร์กับฉมาร์ก็มิได้กินซากเน่าเหล่านั้นเป็นอาหาร

              นี้เป็นคำขวัญที่ข้าพเจ้าคิดขึ้นเมื่อ ๓๐ ปีที่แล้วขณะเริ่มขบวนการนี้ดูเหมือนว่าได้สร้างความขัดเคืองให้แก่พวกเพื่อนฮินดูของเราไม่น้อย ข้าพเจ้าขอถามพวกเขาว่า “พวกคุณดื่มน้ำนมของโคและกระบือกัน แต่พอมันตาย พวกคุณไม่มีปัญญาลากซากศพมันไปทิ้ง กลับมาใช้ให้พวกเราทำแทน ถ้าพวกคุณนำศพของแม่ของคุณไปเผากันเองได้ ทำไมพวกคุณไม่นำซากของโคและกระบือที่เปรียบเสมือนแม่ของพวกคุณเช่นกันไปทิ้งเสียเองล่ะ! ”
 
             เมื่อข้าพเจ้าตั้งปัญหาอย่างนี้กับพวกฮินดู ดูเหมือนว่าพวกเขาจะพากันเดือดดาลหนักขึ้น ข้าพเจ้าบกพวกเขาต่อไปว่า “ ถ้าพวกคุณจะยอมให้พวกเรานำศพแม่ของคุณไปเผา พวกเราก็จะยินดีมากที่จะนำซากของโคและกระบือของพวกคุณไปทิ้งด้วย”

             ต่อประเด็นนี้ ได้มีจดหมายหลายฉบับที่เขียนโต้ตอบกัน โดยพวกพราหมณ์และฮินดูท่านอื่นๆ ก็เขียนโต้ตอบ ซึ่งตีพิมพ์อยู่ใน”เกสารี” พราหมณ์คนหนึ่งชื่อจิตปาวัน ได้พยายามพิสูจน์ผ่านจดหมายเหล่านี้ว่า ถ้าพวกจัณฑาลหยุดการนำซากสัตว์ตายของพวกวรรณะฮินดูไปทิ้ง พวกเขาจะสูญเสียรายได้ไปจำนวนมหาศาล  นายจิตปาวันได้ขยายประโยคนี้ให้เชื่องขึ้นโดยอ้างข้อมูลทางสถิติมาสนับสนุนความคิดของตนว่า พวกจัณฑาลวรรณะฉมาร์คนหนึ่งทำงานขนซากสัตว์ตายไปทิ้งจะมีรายได้จากการขายหนัง เขา ฟัน กลีบเท้า และกระดูก เป็นต้น ถึงปีละ ๕๐๐-๖๐๐ รูปี นายคนนี้ได้กล่าวหาข้าพเจ้าว่า ได้ชักพาพวกจัณฑาลออกจากการทำมาหากิน  โดยสอนสิ่งที่ตรงข้ามกับการกระทำอย่างนี้  พวกจัณฑาลของข้าพเจ้าจึงตกอยู่ในภาวะพะวักพะวน ไม่รู้ว่าข้าพเจ้าจะพาพวกเขาไปทางไหน

              วันหนึ่งข้าพเจ้าได้เดินทางไปเยี่ยมนายสังฆมาเนอร์ (Sanghamaner) ณ อำเภอเทห์สีล (Tehsil) จังหวัดเบลกาอุม(Belgaum) ผู้เป็นเจ้าของจดหมายที่ตีพิมพ์ใน “เกสารี” เมื่อพบกัน เขาได้ย้ำปัญหาเดียวกันนี้กับข้าพเจ้า ข้าพเจ้าขอผลัดเขาว่า จะขอตอบในภายหลัง ดังนั้น วันนี้ข้าพเจ้าจึงนำปัญหานี้มาตอบในที่ประชุมครั้งสำคัญนี้ดังต่อไปนี้

              ประชาชนของข้าพเจ้าไม่มีอาหารพอกิน ผู้หญิงไม่มีส่าหรีพอพันกาย เหนือศีรษะของพวกเขาไม่มีหลังคาคุ้มแดดกันฝน พวกเขาไม่มีพื้นดินเพื่อปลูกข้าวและพืชผัก ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงถูกเหยียดหยามและยากไร้เหลือประมาณ ถูกกดขี่ เบียดเบียนและขูดรีดเอาผลประโยชน์ พวกคุณทราบไหมว่า เพราะเหตุไรจึงเป็นอย่างนี้ !

             ไม่มีเสียงตอบจากที่ประชุม แม้จากคนที่เขียนจดหมายถึง”เกสารี” ข้าพเจ้าได้บอกกับพวกเขาว่า คุณปล่อยพวกเราไว้ตามยถากรรมดีกว่า คุณครับ! พวกเราคงพอมีปัญญาคิดหาทางออกกันเองได้ถ้าพวกคุณเป็นห่วงกลัวว่า พวกเราจะสูญเสียรายได้ ทำไมพวกคุณไม่ส่งเพื่อนและญาติของคุณไปประจำหมู่บ้านต่างๆ จะได้ทำงานสกปรกๆคือ การขนซากสัตว์ตายเล่า! เพื่อว่าพวกเขาจะมีรายได้ปีละ ๕๐๐ รูปี เพื่อนและญาติของพวกคุณจะมีรายได้เป็นสองเท่า คือ ปีละ ๑,๐๐๐ รูปีทีเดียว ทำไมปล่อยให้โอกาสทองเช่นนี้ผ่านไปเสียเล่า! แน่นอน! พวกเรายอมสูญเสีย ยอมจ่ายพวกคุณมีแต่ได้ลูกเดียว

              ช่างโชคไม่ดีเอาเสียเลย! จนป่านนี้ข้าพเจ้าก็ยังไม่เห็นผู้ใดแสดงตัวขอรับรางวัลดังกล่าว  ทำไมหนอคนเหล่านี้จึงพากันตกอกตกใจนัก  เมื่อเห็นพวกเรากำลังทำความเจริญก้าวหน้ากัน  ข้าพเจ้าช่วยดุแลคนของตัวเองในเรื่องอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และปัจจัยจำเป็นอื่นๆที่พวกเขาต้องการ พวกคุณ(ฮินดู) ทั้งหลายไม่จำต้องมากังวลใจกับสิ่งเหล่านี้  ถ้าพวกเราทำงานสกปรกเหล่านี้   อาจถูกกล่าวหาว่า  กำลังแสวงหาประโยชน์ แต่ถ้าพวกคุณมาทำ เรื่องจะกลับเป็นว่ามิใช่การแสวงหาประโยชน์ มันเป็นหลักตรรกะแปลกๆใช่ไหมนี่ ?
 
             คล้ายๆกัน มีหลายคนพูดว่า ปัจจุบันได้มีกาสงวนโควตาที่นั่งในสภานิติบัญญัติไว้  เพราะเหตุไร ? พวกเราจะมาสูญเสียมันไปเล่า ! ข้าพเจ้าได้บอกพวกเขาไปว่า   ข้าพเจ้ายินดีจะสละโควตาเหล่านี้แก่พวกคุณเลย ขอให้พวกพราหมณ์ ราชบุตร และวรรณะฮินดูอื่นๆ นำหลักฐานมาแสดงแล้วรับเอาไป แต่ต้องเปลี่ยนวรรณะมาเป็นฉมาร์ คนกวาดขยะและมหาร์ และจงใช้โอกาสให้เป็นประโยชน์เถิด พวกคุณจะมามัวคร่ำครวญกับความสูญเสียของพวกเราอยู่ทำไม ?
 
 
 
 
 
  
                            
  
  
  
  (อ่านความเดิมตอนที่แล้ว)
  
  
  

ปฏิวัติสันติ

 
สมัคร ยกเลิก
 
 
Revolutionary Press Agency
Online Journal and News Agency for Peace  :  วารสารและข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
Copyright © 2024 www.rpathailand.com All Rights Reserved.
ทำเว็บ  ออกแบบเว็บ  Web Design  เว็บสำเร็จรูป  เว็บไซต์สำเร็จรูป