Revolutionary Press Agency : Online Journal and News Agency for Peace
สำนักสื่อปฏิวัติ  : วารสารข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
8 มิ.ย. 2554 กองหน้าประชาชนรุ่นใหม่ อนุสรณ์ สมอ่อน ตอบคำถามคาใจทำไมต้องปฏิวัติประชาธิปไตย? 
จะรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ให้มั่นคงได้อย่างไร?
เขียนโดย ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร  โพสเมื่อ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๒ ๐๓.๑๕ น.
        
   
                                                - ตอน ๘ -
 
 
      การปฏิวัติประชาธิปไตยของคณะ ร.ศ.130 มีการเคลื่อนไหวสูงสุดภายหลังการปฏิบัติของพรรคก๊กมินตั๋งในประเทศจีนเพียง 1 ปี ซึ่งเป็นการปฏิวัติที่โค่นล้มสถาบันพระมหากษัตริย์และตั้งสาธารณรัฐขึ้นในประเทศจีน ข่าวการล้มราชบัลลังก์จีนสร้างความหวั่นวิตกให้แก่ชาวไทยเมื่อปรากฏการณ์เคลื่อนไหวของคณะ ร.ศ.130 และมีการข่าวกุแพร่สะพัดว่า พวกนี้จะประทุษร้ายองค์พระประมุขและจะเปลี่ยนแปลงราชอาณาจาจักรเป็นสาธารณรัฐ ก็ยิ่งเพิ่มความวิตกกังวล นี่คือความไม่มั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์อันเนื่องด้วยการปฏิวัติประชาธิปไตยของคณะ ร.ศ.130

       ดังกล่าวในตอนต้นแล้วว่า ความไม่มั่นคงคือความลำบากยุ่งยากหรือห่วงใย จาก อันตรายหรือความกลัว

       แต่ข้อเท็จจริงพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า คณะ ร.ศ.130 ไม่เป็นอันตรายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ความไม่มั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์จากการปฏิวัติของคณะ ร.ศ.130 จึงไม่มีความไม่มั่นคงมีแต่เพียงความห่วงใยจากความกลัว ต่อข่าวกุและข่าวการปฏิวัติในประเทศจีนเท่านั้น คือกลัวไปว่า คณะ ร.ศ.130 จะโค่นล้มสถาบันพระมหากษัตริย์เช่นเดียวกับที่พรรคก๊กมินตั๋งได้กระทำในประเทศจีนเมื่อ พ.ศ.2454
  
      รวมความว่า การปฏิวัติประชาธิปไตยของข้าราชการระดับล่างและพ่อค้าประชาชนนั้น ตัวการปฏิวัติไม่กระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่นเดียวกับการปฏิวัติประชาธิปไตยซึ่งกระทำโดยพระมหากษัตริย์และเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่เหมือนกัน ต่างกันแต่ว่าการปฏิวัติประชาธิปไตยของพระมหากษัตริย์แต่การปฏิวัติของข้าราชการการระดับร่างและพ่อค้าประชาชนเกิดความไม่มั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยความห่วงใยจากความกลัวไปเอง หาใช่ความห่วงใยที่เกิดจากเหตุการปฏิวัตินั้นจะมีอันตรายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์แต่อย่างใดไม่
 
      ในตอนก่อน เราชี้ให้เห็นว่า การปฏิวัติประชาธิปไตยในประเทศไทยซึ่งกระทำโดยข้าราชการระดับล่างและพ่อค้าประชาชน เป็นการกระทำเพื่อความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่นเดียวกับการปฏิวัติประชาธิปไตยซึ่งกระทำโดยพระมหากษัตริย์เจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่เหมือนกัน และถ้าการปฏิวัติประชาธิปไตยเหล่านั้นสำเร็จ สถาบันพระมหากษัตริย์ก็จะมั่นคงและยั่งยืนตลอดไป คนไทยก็จะไม่ต้องมาวิตกห่วงใยถึงความไม่มั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างในขณะนี้เลย และเราชี้ให้เห็นว่า การปฏิวัติประชาธิปไตยซึ่งกระทำโดยข้าราชการระดับล่างและพ่อค้าประชาชนนั้น ตัวการปฏิวัติเองไม่ก่อให้เกิดความไม่มั่นคงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ความไม่มั่นคงที่มีอยู่บ้างนั้นเป็นเพียงความกลัวที่เกิดจากข่าวกุและจากข่าวการปฏิวัติประชาธิปไตยในประเทศจีนเท่านั้น
 
      แต่การปฏิวัติประชาธิปไตย ซึ่งกระทำโดยข้าราชการระดับล่างและพ่อค้าประชาชนนั้น ไม่ได้เพียงแต่การปฏิวัติของคณะ ร.ศ.130 (พ.ศ.2455) ซึ่งถูกจับเสียก่อนที่จะลงมือดังกล่าวแล้วนั้น แต่ยังมีอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งประสบความสำเร็จในช่วงเวลาสั้น ๆ คือ การปฏิวัติประชาธิปไตยของคณะราษฎรกระทบกระเทือนความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่ อย่างไร
 
       บุคคลชั้นนำของคณะราษฎรหลายคน เป็นมหาดเล็กของเจ้านายหรือผู้ใกล้ชิดเจ้านาย เช่นเดียวกับบุคคลชั้นนำของคณะ ร.ศ.130 เช่น พล.ท. ประยูร ภมรมนตรี (ขณะนั้นเป็น ร.ท.) ซึ่งนับว่าเป็นคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งของคณะราษฎรในฐานะเป็นผู้ประสานงานของคณะราษฎรทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นมหาดเล็กของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและเป็นผู้บังคับหมวดทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ซึ่งมีความจงรักภักดีต่อพระราชบัลลังก์ไม่ต่างกัน ร.ท.แม้น สังขวิจิตร ในคณะ ร.ศ.130 หลวงอดุลย์เดชจรัส ซึ่งเป็นคนสำคัญที่สุดอีกคนหนึ่ง ก็เป็นมหาดเล็กของสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ และหัวหน้าคณะราษฎร คือ พระยาพหลพยุหเสนา
 
       เมื่อเช้าวันที่ 24 มิถุนายน 2475 หลังจากคณะราษฎรยึดอำนาจแล้ว เมื่อกรมพระนครสวรรค์วรพินิจทรงเผชิญหน้ากับพระยาพหลฯ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระองค์รับสั่งกับพระยาพหลด้วยความประหลาดพระทัยว่า “ ตาพจน์ก็เอากับเขาเหมือนกันรึนี่?” ทำนองเดียวกับสมเด็จพระมงกุฎเกล้ารับสั่งทอดพระเนตรเห็นชื่อ ร.ท.แม้น ว่า “เจ้าแม้นมันเป็นศิษย์ของฉันแท้ ๆ เห็นจะเป็นไปไม่ได้?” พระยาพหลฯ ถวายคำนับแด่กระพระนครสวรรค์ฯ ด้วยกิริยาอันสุภาพนอบน้อม เช่นพันเอกจะพึงกระทำความเคารพต่อจอมพล (พจน์ เป็นนามเดิมของพระยาพหลฯ) เมื่อ พ.ศ.2472 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พระยาพหลฯ ตามเสด็จพระราชดำเนินประพาสสิงคโปร์และชวาในหน้าที่ราชองครักษ์ประจำ
        ไม่เฉพาะแต่กรมพระนครสวรรค์เท่านั้น บรรดาเจ้านายที่คุ้นเคยกับพระยาพหลฯ ต่างก็มีความประหลาดใจกันทั่วไป ก็เพราะตามปกติท่านผู้นี้มีกิริยาวาจาสงบเสงี่ยมสุภาพเรียบร้อยและอ่อนน้อมต่อผู้บังคับบัญชาและนายทหารผู้ใหญ่ทั่วไป และเป็นที่ปรากฏแก่คนทั้งหลายว่า พระยาพหลฯ เป็นผู้จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และเคารพต่อเจ้านาย ทำนองเดียวกับขุนทวยหาญพิทักษ์ หัวหน้าคณะ ร.ศ.130 เหมือนกัน
                     
 
                    
                                                                                                       
             
 
                                                                    - ตอน ๙ -
 
         ไม่มีหลักฐานว่าบุคคลชั้นนำของคณะราษฎรคนใด มีแผนจะล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ แม้แต่หลวงประดิษฐ์ธรรมนูญ หรือ ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งถือกันว่าเป็นปีกซ้ายของคณะราษฎรและถูกกล่าวหาเป็นอันมากกว่าเป็นปรปักษ์ต่อราชบัลลังก์ เจ้าตัวก็ได้แสดงหลักฐานไว้ในเอกสารจำนวนมากว่าตนเองเทิดทูนราชบัลลังก์และจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์อย่างไร
 
       จากสภาพบุคคลสำคัญของคณะราษฎรดังกล่าวนี้ ที่ประชุมของบุคคลชั้นนำของคณะราษฎรจึงลงมติให้กำหนดความมุ่งหมายของแผนปฏิบัติไว้ 2 ประการ คือ
 
        1.        พยายามที่จะให้เกิดความกระทบกระเทือนทางพระเกียรติยศของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแต่น้อยที่สุด
        2.        หลีกเลี่ยงการเสียเนื้อระหว่างคนไทยด้วยกันอย่างดีที่สุดที่จะทำได้

       ที่ประชุมมอบให้พระยาทรงสุรเดชไปร่างแผนยึดอำนาจโดยยึดถือความมุ่งหมาย 2 ประการนี้ ซึ่งข้อเท็จจริงในการยึดอำนาจโดยในการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ก็พิสูจน์แล้วว่าเป็นไปตามความมุ่งหมาย 2 ประการนี้ และเมื่อยึดอำนาจแล้ว คณะราษฎรก็ได้มีหนังสือไปกราบบังคมทูล ณ พระราชวังไกลกังวล ดังต่อไปนี้
 
     “   พระที่นั่งอนันตสมาคม
         วันที่ 24 มิถุนายน 2475

         ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม
 
         ด้วยคณะราษฎร ข้าราชการ ทหาร พลเรือน ได้ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินไว้ได้แล้ว และได้เชิญเสด็จพระบรมวงศานุวงศ์ สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นต้น ไว้เป็นประกัน ถ้าหากคณะราษฎรนี้ถูกทำลายด้วยประการใดก็ดี หรือไม่ตอบภายในหนึ่งชั่วโมงนับแต่ได้รับหนังสือนี้ก็ดี คณะราษฎรจะได้ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินโดยเลือกเอาเจ้านายพระองค์อื่นที่เห็นสมควรขึ้นเป็นกษัตริย์
ควรมิควรแล้วแต่จะทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม
 
         พ.อ.พระยาพหลพยุหเสนา
         พ.อ.พระยาทรงสุรเดช
         พ.อ.พระยาฤทธิ์อัคเณย์  ”
 
        จะเห็นได้ว่า คณะราษฎรไม่มีความมุ่งหมายจะทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ เพียงแต่ว่า ถ้าสมเด็จพระปกเกล้าฯ ไม่ทรงรับเป็นพระมหากษัตริย์ต่อไป คณะราษฎรก็จะอัญเชิญเจ้านายพระองค์อื่นขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ทำนองเดียวกับความคิดของ คณะ ร.ศ.130 นั่นเอง และก็ปรากฏว่าเมื่อสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงสละราชสมบัติ คณะราษฎรก็อัญเชิญพระองค์เจ้าอานันทมหิดลขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ถ้าคณะราษฎรมีความมุ่งหมายจะทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์จะดำเนินการเช่นนี้ได้อย่างไร
 
        คณะราษฎร ถือว่าเป็นผู้สืบทอดภารกิจของ คณะ ร.ศ.130 ดังที่พระยาพหลฯ กล่าวแก่ขุนทวยหาญพิทักษ์ เมื่อพบกันในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ว่า “ ถ้าไม่มีคณะคุณก็ไม่มีคณะผม ” และหลวงประดิษฐ์มนูธรรมก็กล่าวแก่ขุนทวยหาญฯว่า “ พวกผมถือว่าการปฏิวัติครั้งนี้เป็นการกระทำต่อเนื่องกันมาจากการกระทำเมื่อ ร.ศ.130 ” 
 
        ชาวคณะราษฎรเห็นด้วยกับชาวคณะ ร.ศ.130 ในการทำทัณฑ์บนว่าจะไม่ประทุษร้ายองค์พระประมุข เพราะคณะราษฎรก็ไม่คิดจะประทุษร้ายองค์พระประมุขและไม่คิดทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์เช่นเดียวกับคณะ ร.ศ.130

       กรณีที่ชวนให้คิดว่า คณะราษฎรจะทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ คือ “ประกาศของคณะราษฎร” ซึ่งออกแจกจ่ายในทันทีภายหลังการยึดอำนาจเมื่อเช้าตรู่วันที่ 24 มิถุนายน 2475   ซึ่งมีข้อความปรักปรำต่อองค์พระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์และถึงแม้ว่าจะมีคำอัญเชิญสมเด็จพระปกเกล้าฯ ให้ครองราชย์สมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญต่อไป แต่ก็มีข้อความด้วยว่าถ้าทรงปฏิเสธก็จะให้ประมุขของประเทศเป็นบุคคลสามัญ ถ้าทรงปฏิเสธก็จะเลือกเจ้านายพระองค์อื่นขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์  จะต้องถือเอาคำกราบบังคมทูลเป็นหลัก จะถือเอา “ ประกาศของคณะราษฎร ” เป็นหลักมิได้ และในทางปฏิบัติโดยตลอด ก็เป็นไปตาม “ ประกาศของคณะราษฎร ”
 
        ยิ่งกว่านั้น คณะราษฎรมิได้ถือคำประกาศอันเป็นการปรักปรำและล่วงเกินต่อองค์พระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นเป็นเรื่องจริงจังแต่หวังผลเพื่อความสำเร็จในการยึดอำนาจเท่านั้นและเมื่อยึดอำนาจสำเร็จแล้ว คณะราษฎรก็ได้ขอพระราชทานอภัยโทษโดยนำดอกไม้ธูปเทียนทูลเกล้าฯ ถวายตามประเพณี กล่าวคือ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ประธานคณะกรรมการราษฎร ได้นำบุคคลสำคัญของคณะราษฎร ซึ่งมีหลวงประดิษฐ์มนูธรรมผู้ร่างคำประกาศฉบับนั้นรวมอยู่ด้วยเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2475 ณ วังสุโขทัย และพระยาพหลฯ หัวหน้าคณะราษฎร กราบบังคมทูลดังต่อไปนี้
                                 
         
                                                                           
              
           (อ่านต่อตอนหน้า)
 
 
 
 
        อ่านย้อนหลัง...
 
 
 

ปฏิวัติสันติ

 
สมัคร ยกเลิก
 
 
Revolutionary Press Agency
Online Journal and News Agency for Peace  :  วารสารและข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
Copyright © 2024 www.rpathailand.com All Rights Reserved.
ทำเว็บ  ออกแบบเว็บ  Web Design  เว็บสำเร็จรูป  เว็บไซต์สำเร็จรูป