Revolutionary Press Agency : Online Journal and News Agency for Peace
สำนักสื่อปฏิวัติ  : วารสารข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
8 มิ.ย. 2554 กองหน้าประชาชนรุ่นใหม่ อนุสรณ์ สมอ่อน ตอบคำถามคาใจทำไมต้องปฏิวัติประชาธิปไตย? 
อุปสรรคความสำเร็จการปฏิวัติประชาธิปไตยในประเทศไทย ตอน ๔
เขียนโดย ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร โพส ๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๒ :๒๑.๕๐ น.
 
แนวความคิดด้านเศรษฐกิจของอาจารย์ปรีดี
 
 
            (ต่อจากตอนที่แล้ว)
 
 
            ด้านเศรษฐกิจ นโยบายเศรษฐกิจของอาจารย์ปรีดีก็คือ “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” ซึ่งอาจารย์ปรีดีเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และขณะเตรียมเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร  พระยามโนฯนายกรัฐมนตรีก็ปิดสภาเสียก่อน

            มีผู้เข้าใจว่า “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” ของอาจารย์ปรีดีนั้น เป็นแผนเศรษฐกิจแห่งชาติ  จึงเข้าใจว่าอาจารย์ปรีดีเป็นผู้วางแผนเศรษฐกิจแห่งชาติคนแรก  ความจริง “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” หรือ “สมุดปกเหลือง” ของอาจารย์ปรีดีนั้นเป็นนโยบาย (Policy) ไม่ใช่แผน อาจารย์ปรีดีเพียงแต่เสนอนโยบายเศรษฐกิจ ยังไม่ได้เสนอแผนเศรษฐกิจ อาจารย์ปรีดีจะเสนอแผนเศรษฐกิจ ยังไม่ได้เสนอแผนเศรษฐกิจ  อาจารย์ปรีดีจะเสนอแผนเศรษฐกิจเมื่อสภาผู้แทนราษฎรรับนโยบายเศรษฐกิจแล้ว  แต่นโยบายเศรษฐกิจไม่ได้เข้าสภา อาจารย์ปรีดีจึงไม่ได้เสนอแผนเศรษฐกิจเลย  ฉะนั้นการที่มีผู้เข้าใจว่าอาจารย์ปรีดีเป็นผู้วางแผนเศรษฐกิจคนแรก จึงไม่ตรงกับความจริง ผู้เสนอแผนเศรษฐกิจคนแรกคือ จอมพลสฤษฎิ์ ธนะรัชต์

           ความจริงคือ ในระยะแรกของการปฏิวัติประชาธิปไตย 2475 นั้น มีนโยบายเศรษฐกิจอยู่สองนโยบาย คือนโยบายของฝ่ายสมเด็จพระปกเกล้า ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของพระยามโนฯและนโยบายของฝ่ายอาจารย์ปรีดีทั้งสองฝ่ายอาจร่างแผนเศรษฐกิจแห่งชาติของตนไว้แล้วก็ได้  แต่ทั้งสองฝ่ายก็ยังไม่ได้เสนอแผนออกมา  สิ่งที่ทั้งสองฝ่ายเสนอออกมาคือนโยบายเศรษฐกิจ ส่วนจอมพลสฤษฎิ์นั้นเสนอแผนเศรษฐกิจและนำออกปฏิบัติด้วย ฉะนั้นจอมพลสฤษฎิ์จึงเป็นคนแรกที่วางแผนเศรษฐกิจแห่งชาติในประเทศไทย

           การที่จะเข้าใจนโยบายเศรษฐกิจของอาจารย์ปรีดี จำเป็นต้องไปอ่านนโยบายนั้นคือ “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” หรือ “ สมุดปกเหลือง” พร้อมด้วยคำชี้แจงของอาจารย์ปรีดีซึ่งยาวพอสมควร ซึ่งไม่เหมาะที่จะคัดลอกมาใส่ไว้ในที่นี้ทั้งหมด จึงเพียงแต่ขอนำคำชี้แจงบางส่วนของท่านมาใส่ไว้ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการพิจารณาเท่านั้น
    
           อนึ่ง ควรกล่าวไว้ด้วยว่า นโยบายเศรษฐกิจของอาจารย์ปรีดีนั้น ยึดถือคำสอนเรื่องสังคมนิยมของศาสตรจารย์เดสชองป์ส (Deschamps) แห่งมหาวิทยาลัยปารีสเป็นหลัก อาจารย์ปรีดีเริ่มคำอธิบายไว้ว่า

          “การคิดที่จะบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรนี้ ข้าพเจ้าได้เพ่งเล็งถึงสภาพอันแท้จริงตลอดจนนิสัยใจคอของราษฎรส่วนมาก ว่าการที่จะส่งเสริมให้ราษฎรมีความสุขสมบูรณ์นั้น  ก็มีอยู่ทางเดียวซึ่งรัฐบาลจะต้องเป็นผู้จัดการเศรษฐกิจเสียเอง โดยแบ่งการเศรษฐกิจนั้นออกเป็นสหกรณ์ต่างๆ
 
          “ น่าเสียใจซึ่งที่ดินของเราอันอุดมอยู่แล้วนี้ ยังมิได้ใช้ให้เป็นประโยชน์ ทั้งนี้เพราะการประกอบการเศรษฐกิจตามทำนองที่เอกชนต่างคนต่างทำดังที่เป็นมาแล้ว ทำให้แรงงานสูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์บ้าง และขาดเครื่องจักรกลที่จะช่วยแรงงานให้ได้ผลดียิ่งขึ้นบ้าง มีพวกหนักโลก (Parasite) บ้าง ดั่งจะได้พรรณนาต่อไปนี้...

          “ จะเห็นได้ว่าชาวนาซึ่งเป็นพลเมืองส่วนมากของประเทศไทย ทำนาปีหนึ่งคนหนึ่งไม่เกิน 6 เดือน (รวมทั้งไถ หว่าน เกี่ยว ฯลฯ) ยังมีเวลาเหลืออีก 6 เดือน ซึ่งต้องสูญเสียไปถ้าหากเวลาที่เหลือ 6 เดือนนี้ราษฎรมีทางที่จะใช้ให้เป็นประโยชน์ในการประกอบการเศรษฐกิจได้แล้ว  ความสมบูรณ์ของราษฎรก็ย่อมจะเพิ่มขึ้นได้ ข้าพเจ้ายินดีที่จะได้รับคำชี้แจงจากผู้สนใจในการเศรษฐกิจว่า การที่แก้ไขให้ราษฎรได้ใช้เวลาว่างที่เหลืออยู่นี้ให้เป็นประโยชน์ได้ โดยวิธีที่ปล่อยให้เอกชนต่างคนต่างทำนั้นสำเร็จได้อย่างไร  ข้าพเจ้าเห็นว่าจะมีอยู่ก็แต่รัฐบาล  ที่จะกำหนดวางแผนเศรษฐกิจแห่งชาติให้ราษฎรได้ใช้เวลาที่เหลืออีก 6 เดือนนี้เป็นประโยชน์...

          “ แม้แรงงานที่ใช้ในการประกอบการเศรษฐกิจในระหว่าง 6 เดือนก็ดี แรงงานเหล่านี้ยังเปลืองไปโดยใช่เหตุ เพราะเอกชนต่างคนต่างทำ เช่น ชาวนาที่ต่างแยกกันทำเป็นรายๆไป ดังนี้แรงงานย่อมเปลืองมากกว่ารวมกันทำ ชาวนารายหนึ่งย่อมเลี้ยงกระบือของตนเอง ไถ หว่าน เกี่ยวของตนเอง (ยกเว้นมีการลงแขกบางครั้งบางคราว) ต้องหาอาหารเอง แต่ถ้าชาวนารวมกันทำก็อาจประหยัดแรง ......แห่งชาติ เช่นกระบือหนึ่งตัว ชาวนาที่แยกกันทำจะต้องเลี้ยงเอง   ถ้ารวมกันหลายๆตัวแล้ว กระบือนั้นก็อาจรวมกันเลี้ยง และใช้คนเลี้ยงรวมกันได้ เป็นการประหยัดแรงงานได้ส่วนหนึ่ง นอกจากนั้น การบ้าน เช่นอาหารก็อาจรวมกันทำได้เหมือนดังเช่นสโมสรหรือร้านจำหน่ายอาหาร
 
          “ ดังนี้ แรงงานในการทำอาหาร ในการเลี้ยงกระบือ ฯลฯ นั้น เมื่อชาวนารวมกันทำแล้วก็จะประหยัดได้อีกมาก และแรงงานที่ยังเหลืออยู่ก็จะนำไปใช้เป็นประโยชน์ในการประกอบการเศรษฐกิจที่เรายังขาดอยู่  ก็ถ้าหากปล่อยให้เอกชนต่างคนต่างทำอยู่เช่นนี้ตลอดไปแล้ว การประหยัดแรงงานก็ย่อมจะมีไม่ได้...
 
         “ ในประเทศไทยนี้มีบุคคลที่เกิดมาหนักโลกอาศัยบุคคลอื่นกินมีจำนวนไม่น้อย กล่าวคือตนไม่เป็นผู้ประกอบการเศรษฐกิจหรือกิจการใดให้เหมาะสมกับแรงงานของตน อาศัยเครื่องนุ่งห่มและสถานที่ของผู้อื่น หรือบางทีก็ทำงานเล็กๆน้อยๆ เช่นในกรุงเทพฯ หรือในหัวเมือง เมื่อสังเกตตามบ้านของคนชั้นกลางหรือบ้านของคนมั่งมีแล้ว ก็จะเห็นว่าผู้ที่อาศัยกินมีอยู่เป็นจำนวนมาก  บุคคลจำพวกนี้นอกจากจะหนักโลกแล้วยังเป็นเหตุที่ทำให้ราคาสิ่งของเพิ่มขึ้นได้  เช่นในประเทศหนึ่งมีคนทำงาน 100 คน ทำข้าวได้คนหนึ่ง 1 ตัน ได้ข้าว 100 ตัน  แต่มีคนที่อาศัยอยู่เปล่า 50 คน ดังนี้ ถ้าพวกหนักโลกนี้ทำงานร่วมกับอีก 100 คน ก็คงจะได้ข้าวเพิ่มขึ้นอีก 50 ตันเงินก็ย่อมได้เพิ่มขึ้น เพราะข้าวมีจำนวนมากขึ้น บุคคลจำพวกนี้ถ้าปล่อยให้คงอยู่ตราบปัจจุบันนี้ก็จะกลายเป็นคนขี้เกียจไป การปล่อยให้เอกชนต่างคนต่างทำ และปล่อยให้มีคนเกียจคร้านคอยอาศัยกิน ดังนั้นผลเศรษฐกิจของประเทศก็จะลดน้อยลง ไม่มีวิธีใดที่ดีกว่าที่รัฐบาลจะประกอบการเศรษฐกิจเสียเอง และหาทางที่จะบังคับให้ราษฎรประเภทนี้ทำงานจึงจะใช้แรงงานของผู้ที่หนักโลกนี้เป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองได้...
 
           หลักที่ควรคำนึงก็คือ รัฐบาลจำต้องดำเนินวิธีละม่อม คือต้องอาศัยการร่วมมือระหว่างคนมั่งมีกับคนจน รัฐบาลจะต้องไม่ประหัตประหารคนมั่งมี
  
           “เวลานี้ที่ดินซึ่งทำการเพาะปลูกได้ตกอยู่ในมือของเอกชน นอกนั้นเป็นป่าที่จะต้องโค่นสร้าง ที่ดินซึ่งอยู่ในมือเอกชนเวลานี้ ผลจากที่ดินนั้นย่อมได้แทบไม่คุ้มค่าใช้จ่ายและค่าอาหาร หรือค่าดอกเบี้ยเพราะชาวนาเวลานี้แทบกล่าวได้ว่า 99 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นลูกหนี้เอาที่ดินไปจำนองหรือเป็นประกันต่อเจ้าหนี้  ฝ่ายเจ้าของเองก็เก็บดอกเบี้ยหรือต้นทุนไม่ได้หรือผู้ที่มีนาให้เช่า เช่นนาในทุ่งรังสิต เป็นต้น เจ้าของนาแทนที่จะเก็บค่าเช่าได้ กลับจำต้องออกเงินเสียค่านาเป็นการขาดทุนย่อยยับกันไป ไม่ว่าคนจนหรือคนมีเงิน เจ้าของนาส่วนมากนิยมขายนา แม้จะต้องขาดทุนลงบ้าง หรือฝ่ายเจ้าหนี้ให้ชาวนายืมเงินก็อยากได้เงินของตนคืน
    
          “ การบังคับจำนองหรือการเอาที่ดินขายทอดตลาดนั้น เวลานี้ราคาที่ดินก็ตกต่ำทั้งนี้เป็นผลที่การประกอบเศรษฐกิจด้วยรัฐบาลปล่อยให้เอกชนต่างคนต่างทำ เมื่อการเป็นเช่นนี้แล้ว ถ้ารัฐบาลจะซื้อที่ดินเหล่านั้นกลับคืนมา ก็เชื่อว่าชาวนา เจ้าของที่ดินผู้รับจำนองทั้งหลายคงจะยินดีไม่ใช่น้อย เพราะการที่ตนยังคงมีกรรมสิทธิ์อยู่ในที่ดินหรือยังคงยึดที่ดินไว้เป็นประกันมีแต่จะขาดทุนอย่างเดียว การซื้อที่ดินกลับคืนมานี้เป็นวิธีแตกต่างกับวิธีริบทรัพย์ของคอมมิวนิสต์...
   
            “รัฐบาลจะเอาเงินที่ไหนมาซื้อที่ดินในเวลานี้  รัฐบาลไม่มีเงินจะซื้อที่ดินได้เพียงพอ  แต่รัฐบาลอาจออกใบกู้ให้เจ้าของที่ดินถือไว้ตามราคาที่ดินของตน ใบกู้นั้นรัฐบาลจะได้กำหนดให้เงินผลประโยชน์แทนดอกเบี้ยให้ตามอัตราดอกเบี้ยของการกู้เงินในขณะที่ซื้อซึ่งไม่เกินร้อยละ 15 อันเป็นอัตราสูงสุดในกฎหมายเช่นที่ดินราคา 1,000 บาท และสมมุติว่าดอกเบี้ยในขณะนั้นเป็นร้อยละ 7 เจ้าของที่ดินก็ได้ดอกเบี้ยปีละ 70 บาทเป็นต้น ดังนี้เป็นการได้ที่แน่นอนยิ่งกว่าการให้เช่าหรือทำเอง ทั้งนี้ก็เท่ากับเจ้าของที่ดินแทนที่จะถือโฉนดหรือหนังสือสำหรับที่ดินบอกจำนวนที่ดิน เจ้าของที่ดินถือใบกู้ของรัฐบาลบอกจำนวนเงินที่รัฐบาลเป็นลูกหนี้
  
             “ ที่ดินชนิดใดบ้างที่รัฐบาลต้องซื้อกลับคืน ที่ดินที่รัฐบาลต้องซื้อกลับคืนนี้ ก็คือที่ดินที่จะใช้ประกอบการเศรษฐกิจ เช่นที่นาหรือไร่เป็นต้น ส่วนที่บ้านอยู่อาศัยนั้นไม่จำเป็นที่รัฐบาลตองซื้อคืน เว้นไว้แต่เจ้าของประสงค์จะขายแลกกับใบกู้  การจัดให้มีบ้านสำหรับครอบครัว (Homestead) ซึ่งเมื่อคิดเทียบกับเนื้อที่ทั้งหมดในประเทศไทยแล้ว ไม่มีจำนวนมากมายที่จะเป็นการขัดขวางต่อการดำเนินการเศรษฐกิจ เหตุฉะนั้นจะยังคงให้มีอยู่ได้ก็ไม่เป็นการแปลกประหลาดอันใด

             “เมื่อที่ดิน  ได้กลับคืนมาเป็นของรัฐบาลเช่นนี้แล้ว รัฐบาลจะได้กำหนดลงไปได้ถนัดว่าการประกอบการเศรษฐกิจในที่ดินนั้นจะแบ่งออกเป็นส่วนอย่างไร และจะต้องใช้เครื่องจักรกลชนิดใดเป็นจำนวนเท่าใด  การทดน้ำจะต้องขุดคูหรือทำคันนาอย่างไร ในเวลานี้ที่ดินที่แยกย้ายอยู่ระหว่างเจ้าของต่างๆนั้น ต่างเจ้าของก็ทำคูทำคันนาของตน  แต่เมื่อที่ดินตกมาเป็นของรัฐบาลเช่นนี้แล้ว ถ้าที่ที่มีระดับเดียวกันก็จะประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากเช่น การทำคูทำคันนาอาจจะทำน้อยลงได้ นอกจากนั้นการใช้เครื่องจักรกล เช่นการไถก็จะได้ดำเนินติดต่อกัน มิฉะนั้นจะต้องไถที่นี่แห่งหนึ่ง ที่โน่นแห่งหนึ่ง เป็นการชักช้าเสียเวลาและการบำรุงที่ดินโดยวิชาเทคนิคย่อมจะทำได้สะดวก  เราจะเห็นได้ว่าวิชาเทคนิคย่อมจะทำได้สะดวก  เราจะเห็นได้ว่าในเวลานี้ราษฎรยังหลงเชื่อโดยวิธีโบราณ  แม้ผู้ชำนาญการกสิกรรมจะพร่ำสอนก็ต้องกินเวลานาน เมื่อรัฐบาลเป็นผู้ประกอบการเศรษฐกิจเอง รัฐบาลอาจกำหนดกฎเกณฑ์ไว้ ราษฎรซึ่งเป็นลูกจ้างของรัฐบาลก็จำต้องปฏิบัติตาม....

            “ นิสัยของคนไทยชอบทำราชการคือชอบเอาแรงงานของตนมาแลกกับเงินเดือนของรัฐบาล นิสัยเช่นนี้มีอยู่แน่ชัด แม้ในหมู่บุคคลที่คัดค้านว่ารัฐบาลไม่ควรทำอุตสาหกรรมเองก็ดี บุคคลเช่นนั้นก็เป็นข้าราชการส่วนมาก  ตนเองหาได้เหลียวแลดูว่า ในขณะที่ตนพูดอยู่นั้นว่าตนเป็นเป็นข้าราชการหรือไม่ ตนเคยแต่กีดกันผู้อื่นมิให้เป็นข้าราชการ  ซึ่งผู้อื่นก็มีนิสัยทำราชการเหมือนดังตน ฉะนั้นคารมของบุคคลจำพวกนี้ ท่านผู้อ่านพึงระวังจงหนักและจงย้อนถามผู้นั้นเสมอว่า “ท่านเป็นข้าราชการหรือเปล่า เมื่อท่านเป็นข้าราชการแล้ว เหตุใดท่านกีดกันราษฎรไม่ให้เป็นราชการบ้างเล่า

            “เมื่อนิสัยของคนไทยชอบทำราชการเช่นนี้แล้ว ไม่เป็นการยากอันใดที่จะรับคนไทยทั้งหมดให้เข้าทำราชการ แต่การทำราชการไม่ได้หมายความว่า เพียงแต่เป็นการนั่งบัญชาในสำนักงาน การประกอบการเศรษฐกิจที่รัฐบาลทำก็เรียกว่าเป็นราชการด้วย
 
            “ในการนี้รัฐบาลอาจจะกำหนดให้ราษฎรที่มีอายุเช่นตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปถึง 55 ปี ต้องทำงานตามคุณวุฒิกำลังและความสามารถของตน ต่อจากนั้นขึ้นไปราษฎรผู้นั้นจะได้รับบำนาญจนตลอดชีวิต และในระหว่างที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีก็ต้องเล่าเรียนและงานเล็กน้อยตามกำลังของราษฎร จะได้รังเงินเดือนจากรัฐบาลหรือจากสหกรณ์เหมือนดังข้าราชการในทุกวันนี้
 
            “เงินเดือนนั้นจำต้องต่างกันตามคุณวุฒิกำลังความสามารถของตน แต่อย่างไรก็ตามเงินเดือนขั้นต่ำที่สุดจะเพียงพอแก่การที่ข้าราชการผู้นั้นจะซื้ออาหาร ซื้อเครื่องนุ่มห่ม สถานที่อยู่ ฯลฯ ปัจจัยแห่งการดำรงชีวิตได้

             “รัฐบาลบังคับให้ราษฎรทั้งหมดเป็นข้าราชการหรือ
 
             “รัฐบาลไม่จำเป็นต้องบังคับราษฎรทั้งหมดให้เป็นข้าราชการ

             “รัฐบาลอาจยอมยกเว้นให้เอกชนที่มั่งมีอยู่แล้วในเวลานี้  หรือผู้อื่นซึ่งไม่ประสงค์เป็นข้าราชการ ประกอบการเศรษฐกิจของตนเอง เมื่อผู้นั้นแสดงได้ว่าการประกอบการเศรษฐกิจตามลำพังของเขานั้น เขาจะมีรายได้เพียงพอที่จะเลี้ยงชีวิตของเขาได้ตลอด  แม้เจ็บป่วยหรือชราภาพ และสามารถที่จะเลี้ยงดูบุตรของตนให้ได้รับการศึกษาและมีฐานะที่ไม่เที่ยงแท้นั้น   ก็จำเป็นต้องเป็นข้าราชการ เพราะการทำราชการนั้นก็เท่ากับได้ออกแรงสะสมไว้เป็นทุนสำรองในเวลาเจ็บป่วยหรือชราแล้ว
 
            “ แต่เมื่อรัฐบาลประกอบการเศรษฐกิจเสียหมดเช่นนี้ ราษฎรที่เป็นเอกชนจะหาอาชีพตามลำพังได้อย่างไร

            “ การประกอบการเศรษฐกิจนั้นมีลักษณะการบางอย่าง ซึ่งเอกชนจะประกอบตามลำพังได้ผล เช่นการอาชีพอิสระ (Liberal Profession) เช่น นักประพันธ์ แพทย์ ทนายความ ช่างเขียน ครูในวิชาบางอย่าง ฯลฯ เหล่านี้  เมื่อราษฎรใดประสงค์จะทำโดยลำพังไม่อยากเป็นข้าราชการแล้วก็อนุญาตให้ทำได้หรืออาชีพอื่นเช่น  การโรงงานซึ่งเอกชนเป็นเจ้าของอยู่แล้วในเวลานี้  เมื่อผู้นั้นประสงค์จะทำต่อไปโดยไม่อยากเป็นข้าราชการแล้วก็อนุญาตเช่นเดียวกัน นอกจากผู้นั้นจะขายให้แก่รัฐบาลและคนถือใบหุ้นกู้  ได้ดอกเบี้ยจากรัฐบาลเลี้ยงชีพของตนหรือการพาณิชย์   การกสิกรรมบางอย่างเมื่อเอกชนแสดงว่า การที่ตนจะประกอบได้ผลพอเลี้ยงตนแล้ว  จะอนุญาตให้ทำเป็นพิเศษก็ได้

            “ การที่ราษฎรส่วนมากได้สมัครเป็นข้าราชการเช่นนี้ ผลร้ายไม่มีอย่างใด รัฐบาลกลับได้ผลดี คือ แรงงานของราษฎรจะได้ใช้เป็นประโยชน์ได้ตลอด เช่น ในปีหนึ่งเมื่อหักวันเวลาซึ่งต้องหยุดพักผ่อนแล้ว ราษฎรจะได้ทำงานตลอดไป ข้อที่เราวิตกว่าชาวนามีเวลาว่างอีก 6 เดือนนั้น ย่อมจะต้องไม่วิตกอีกต่อไป รัฐบาลลองใช้เวลาว่างอีก 6 เดือนนั้นให้เป็นประโยชน์เช่นเมื่อว่างจากทำนาก็อาจทำไร่อย่างอื่น หรือทำถนนหนทางสุดแต่แผนเศรษฐกิจแห่งชาติจะกำหนดไว้  นอกจากนั้น เมื่อถือว่าราษฎรเป็นที่จะต้องรับราชการทหารได้อีกโสดหนึ่ง....
 
             “ ท่านผู้อ่านโดยมีอุปทานร้าย มักจะเหมาทันทีว่า รัฐบาลประกอบการเศรษฐกิจเสียเองนี้  จะทำให้มนุษย์กลายเป็นสัตว์ กล่าวคือ ผู้หญิงจะมิเป็นของกลางไปทั้งหมดหรือ ชีวิตในครอบครัวจะไม่มี คนจะหมดความมานะพยายามในการที่จะช่วยกันส่งเสริมความเจริญ คำกล่าวนี้ ถ้าจะมีผู้กล่าว ก็จะใส่ร้ายโดยไม่ตริตรอง

             “ ความจริงเท่าที่ได้กล่าวแล้ว ข้าพเจ้าได้ถือว่าราษฎรเป็นข้าราชการ มีฐานะเหมือนข้าราชการ ทุกวันนี้ที่ทำงานแล้ว ได้เงินเดือน และเมื่อเจ็บป่วยชราได้เบี้ยบำนาญ ข้าพเจ้าได้ระวังมิให้มนุษย์เป็นมนุษย์ยิ่งขึ้น  ปราศจากการประทุษร้ายต่อกันอันเนื่องมาจากเหตึเศรษฐกิจ  ข้าพเจ้ายังเคารพต่อครอบครัวของผู้นั้น ผู้หญิงไม่ใช่เป็นของกลาง ความเกี่ยวพันในระหว่างครอบครัว  ผู้บุพพการี เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย บิดา มารดา กับผู้สืบสันดาน เช่น บุตร หลาน ยังคงมีตามกฎหมายลักษณะผัวเมียยังไม่ยกเลิก ราษฎรคงมีบ้านอยู่ตามสภาพที่จะจัดให้ดีขึ้น ราษฎรคงมีบ้านอยู่ตามสภาพที่จะจัดให้ดีขึ้น ราษฎรก็ยังคงมีมานะที่จะส่งเสริมความเจริญเหมือนดังข้าราชการในทุกวันนี้ ถ้าหากราษฎรหมดมานะที่จะช่วยส่งเสริมความเจริญแล้ว ข้าราชการในทุกวันนี้ก็จะมีเป็นบุคคลจำพวกที่หมดมานะที่จะช่วยส่งเสริมความเจริญหรือ

             “ อาจมีผู้กล่าวอีกว่า การค้นคว้าของนักวิทยาศาสตร์จะมีไม่ได้ ข้อนี้จะเป็นการกล่าวให้ร้ายเกินไป นักวิทยาศาสตร์ยังคงค้นคว้าได้เสมอ รัฐบาลจะมีรางวัลให้ และจะยอมรับกรรมสิทธิ์แห่งการคิดประดิษฐ์สิ่งใดได้  ไม่ต่างกับข้าราชการในทุกวันนี้อย่างไรเลย  ขออย่าให้ผู้อ่านหลงเชื่อคำกล่าวใส่ร้ายว่า มนุษย์จะต้องกินข้าวกระทะ อยู่ในรูถ้าท่านถาม ผู้กล่าวว่าเขาอ่านจากหนังสือเล่มไหนที่กล่าวเช่นนั้น แล้วแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบจะเป็นพระคุณมาก...
 
             “ แม้ตามหลักรัฐบาลจะเป็นผู้ประกอบการเศรษฐกิจเสียงเองก็ดี แต่ในประเทศที่กว้างขวางมีพลเมืองกว่า 11 ล้านคน ดังเช่นประเทศไทยนี้ การประกอบการเศรษฐกิจจะขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลางเสียทั้งนั้น แล้วการควบคุมตรวจตราอาจจะเป็นไปโดยทั่วถึงไม่ได้  ฉะนั้นจำต้องแบ่งการประกอบการเศรษฐกิจนี้เป็นสหกรณ์ต่างๆ
 
 
 
              (อ่านต่อตอนหน้า)
 
 
 
 
 
 
             อ่านย้อนหลัง...
 
 
 
 
 
 
 

ปฏิวัติสันติ

 
สมัคร ยกเลิก
 
 
Revolutionary Press Agency
Online Journal and News Agency for Peace  :  วารสารและข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
Copyright © 2024 www.rpathailand.com All Rights Reserved.
ทำเว็บ  ออกแบบเว็บ  Web Design  เว็บสำเร็จรูป  เว็บไซต์สำเร็จรูป