Revolutionary Press Agency : Online Journal and News Agency for Peace
สำนักสื่อปฏิวัติ  : วารสารข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
8 มิ.ย. 2554 กองหน้าประชาชนรุ่นใหม่ อนุสรณ์ สมอ่อน ตอบคำถามคาใจทำไมต้องปฏิวัติประชาธิปไตย? 
 
พระพุทธศาสนาแนวคิดเพื่อพัฒนาสังคมและการเมือง
ดร.บี อาร์ อัมเบดการ์
ถอดความโดย
พระดร.สมชัย กุสลจิตฺโต พระราชปัญญาเมธี
 
              (ต่อจากตอนที่แล้ว)
 
บทที่ ๒
ทำไมต้องเป็นพระพุทธศาสนา
(Why Buddhism
)
 
 
              พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
 
 
              เมื่อมองไม่เห็นที่พึ่งพิงทางจิตวิญญาณหรือช่องทางใดที่จะพัฒนาตนเองได้ในศาสนาฮินดู  สำหรับชนชั้นผู้ถูกกดขี่เหยียดหยาม ดร.อัมเบดการ์ได้เริ่มคิดหาศาสนาทางเลือกใหม่  ซึ่งท่านและบริวารควรจะเลือกรับนับถือได้ หลังจากศึกษาวิเคราะห์อย่างระมัดระวังมาเป็นเวลานาน ดร.อัมเบดการ์ก็ปฏิเสธศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม ศาสนาเซนและศาสนาซิกข์  แต่ได้แนะนำให้บริวารของตนยึดพุทธธรรมเป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึก  การตัดสินใจเช่นนี้ ดร.อัมเบดการ์ผู้กู้อิสรภาพของประชาชนผู้ถูกกดขี่เหยียดหยามได้รับอิทธิพลและความประทับใจจากพระบุคลิกลักษณะและพระจริยาวัตรของพระพุทธเจ้าผู้ยิ่งใหญ่อย่างแน่นอน(เพราะว่า) พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นมิใช่เป็นเพียงผู้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองเท่านั้น แต่พระองค์ยังทรงเป็นเนื้อแท้แห่งความรัก ความเมตตาการุณย์ต่อสรรพสัตว์อีกด้วย   

              “มารดาพึงถนอมรักษาลูกน้อยคนเดียวของตนด้วยการเสี่ยงชีวิตของนางฉันใด  น้ำพระทัยของพระพุทธเจ้าก็ทรงแผ่ความรัก ความเมตตาการุณย์ และความรักความปรารถนาดีมากมายอย่างหาขอบเขตมิได้   มุ่งตรงไปยังหมู่สรรพสัตว์ทั้งหลายฉันนั้น พระเมตตาจิตของพระพุทธองค์อันไร้ขอบเขตนี้ แพร่หลายขยายไปทั่วโลก ทั้งทิศเบื้องบนเบื้องล่าง และเบื้องขวาง โดยปราศจากเครื่องกีดขวางและศัตรูคู่อาฆาตใดๆ”
    
              ในทัศนะของ ดร.อัมเบดการ์ คุณธรรมข้อนี้นี่เองที่ทำให้พระพุทธองค์เป็นพระพุทธเจ้าผู้ยิ่งใหญ่
       
              บรรดาพระศาสดาของศาสนาต่างๆ ในโลกนี้ ๑๕ มีพระศาสดาเพียง ๔ องค์เท่านั้นที่ศาสนาของท่านมีอิทธิพลต่อจิตใจพลเมืองของโลกในอดีตและยังคงครองใจพลเมืองจำนวนมหาศาลอยู่ในโลกปัจจุบัน  พระศาสดาดังกล่าวได้แก่ พระพุทธเจ้า  พระเยซู พระมะหะหมัด และพระกฤษณะ การเปรียบเทียบพระบุคลิกและสถานภาพของพระศาสดาทั้ง ๔ องค์ในการเผยแผ่ศาสนาของตนเปิดเผยให้เราทราบถึงจุดต่างระหว่างพระพุทธเจ้าและพระศาสดาที่เหลือ ซึ่งก็มิใช่เรื่องไร้สาระเลย
 
              จุดแรกที่ทำให้พระลักษณะของพระพุทธเจ้าต่างจากพระศาสดาองค์อื่นก็คือ การถอนซึ่งอัตตา ความถือตัวถือตน ตลอดพระคัมภีร์ไบเบิล พระเยซูยืนยันเสมอว่า พระองค์เป็นพระบุตรของพระเจ้าและผู้ที่ประสงค์จะเข้าสู่อาณาจักรแห่งพระเจ้าก็จะล้มเหลวไม่สมหวังเลยหากไม่ยอมรับว่า พระองค์เป็นพระบุตรของพระเจ้า  ส่วนพระมะหะหมัดยังไปไกลกว่านั้นอีกขั้นหนึ่ง คือพระองค์เหมือนกับพระเยซูในการอ้างว่าเป็นผู้นำพระวรสาส์นของพระเจ้ามาสู่โลกนี้  เพียงแต่ยืนยันต่อไปว่าพระองค์เป็นศาสนทูตองค์สุดท้าย บนพื้นฐานนี้พระมะหะหมัดจึงประกาศว่าผู้ปรารถนาความหลุดพ้นไม่เพียงแต่ยอมรับว่าพระองค์เป็นผู้นำพระวรสาส์นของพระเจ้าเท่านั้น แต่ต้องยอมรับด้วยว่าพระองค์เป็นผู้นำพระวรสาส์นองค์สุดท้าย

              ส่วนพระกฤษณะกลับไปไกลยิ่งกว่าพระเยซูแลพระมะหะหมัดอีกขั้นหนึ่ง  พระองค์ไม่ทรงพอพระทัยกับการเป็นเพียงพระบุตรของพระเจ้าหรือเป็นเพียงผู้นำวรสาส์นของพระเจ้าองค์สุดท้าย  พระองค์อ้างว่าพระองค์เองเป็น “พระปรเมศวร(พระเจ้าสูงสุด)” เสียเองหรืออย่างที่สาวกของพระองค์เองสวดสรรเสริญว่า พระองค์เป็นเทวาธิเทพคือทรงเป็นเทพผุ้ยิ่งใหญ่กว่าเทพทั้งปวง

              แต่สำหรับพระพุทธเจ้าแล้ว ไม่ทรงมีความเย่อหยิ่ง ถือพระองค์ยกตนเองว่าดำรงอยู่ในฐานะเช่นว่านั้น  ถึงแม้พระองค์ประสูติเป็นพระโอรสของกษัตริย์ ก็ทรงพอพระหฤทัยกับความเป็นมนุษย์สามัญ ทรงประกาศพรหมจรรย์ในฐานะมนุษย์ธรรมดา  ไม่เคยอ้างแหล่งกำเนิดเหนือธรรมดาหรืออานุภาพพิเศษใดๆเพื่อพิสูจน์พลังอำนาจเหนือธรรมดาของพระองค์ พระพุทธองค์ทรงแสดงความแตกต่างระหว่างมารคทาตา (ผู้บอกทาง) และโมกษทาตา(ผู้ประทานความหลุดพ้น) อย่างชัดเจน พระองค์ทรงพอพระหฤทัยต่อบทบาทในการเป็นมารคทาตา (ผู้บอกทาง) ของพระองค์เองเท่านั้น

              ข้อแตกต่างอีกประการหนึ่งระหว่างพระศาสดาทั้ง ๔ องค์ก็คือพระเยซูและพระมะหะหมัดมักอ้างว่า คำสอนของพระองค์เป็นพระวจนะของพระเจ้า เพราะสิ่งที่พระศาสดาทั้งสององค์สั่งสอนนั้นเป็นพระวจนะของพระเจ้านี่เอง  จึงมีลักษณะผิดพลาดไม่ได้และอยู่เหนือการซักถามตรวจสอบ  ส่วนพระกฤษณะนั้น  โดยสมมุติฐานเดิมของพระองค์ที่ว่า เป็นเทวาธิเทพ (เทพยิ่งใหญ่กว่าเทพอื่น) ดังนั้น สิ่งที่พระองค์สั่งสอนทั้งหมดจึงเป็นพระวจนะเปล่งออกมาโดยพระเจ้า  ผู้เป็นจุดเกิดเบื้องต้นและจุดสุดท้าย ตรงนี้ปัญหาเรื่องความผิดพลาดบกพร่องของพระวรสาส์นจึงเกิดขึ้นไม่ได้เลย  แต่พระพุทธเจ้าไม่เคยอ้างความไม่ผิดพลาดบกพร่องของพระธรรมที่พระองค์ทรงสั่งสอนเลย
  
              ในพระมหาปรินิพพานสูตร  พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกับพระอานนท์ว่า พระธรรมวินัยของพระองค์นั้นตั้งอยู่บนฐานของเหตุผลและประสบการณ์ตรง  พระพุทธสาวกจึงไม่ควรด่วนสรุปว่า  คำสั่งสอนของพระองค์ถูกต้องทั้งหมดและผูกมัดอยู่เพียงเพราะเป็นคำสั่งสอนเกิดจากพระปัญญาตรัสรู้ของพระองค์  ก็เมื่อพระธรรมวินัยตั้งอยู่บนหลักเหตุผลและประสบการณ์ตรงอย่างนี้แล้ว  คำสั่งสอนจึงให้อิสระเต็มที่ในการแก้ไขปรับปรุงหรือแม้แต่ยกเลิกคำสอน(สิกขาบทเล็กน้อย)  บางข้อ หากในบางกาลเวลาและในบางสถานการณ์พวกเราพบว่าพระวินัยบางข้อไม่อาจนำไปปฏิบัติได้  ระพุทธเจ้าไม่ทรงปรารถนาให้พระศาสนาของพระองค์มีลักษณะกีดขวางด้วยไม้ตายซากในอดีต พระองค์ทรงประสงค์ให้คงความเขียวขจีและคงยังใช้ประโยชน์ได้ทุกยุคทุกสมัย

              นี่คือเหตุผลที่พระพุทธองค์ทรงประทานเสรีภาพแก่ชาวพุทธคือภิกษุสงฆ์ให้ถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้ในกรณีจำเป็นจริงๆ ซึ่งไม่มีพระศาสดาองค์ใดจะกล้าหาญชาญชัยอย่างนี้เลย  พระศาสดาทั้งหลายต่างก็เกรงกลัวการอนุมัติให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงทั้งสิ้น เพราะพวกท่านเหล่านั้นวิตกไปว่า  เสรีภาพในการแก้ไขปรับปรุงคำสอนอาจถูกใช้ไปเพื่อทำลายโครงสร้างเดิมที่ตนเองก่อร่างสร้างไว้จนหมด แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าหาได้มีความกริ่งเกรงอย่างนี้ไม่ เพราะพระองค์ทรงมั่นพระทัยในรากฐานแห่งพระศาสนาของพระองค์  พระองค์ทรงทราบชัดจนว่า แม้คนร้ายศัตรูศาสนาที่เหี้ยมโหดที่สุดก็ไม่ทีทางที่จะทำลายล้างแก่นแท้พระศาสนาของพระองค์ลงได้
 
 
              พระพุทธศาสนา: ศาสนาสมบูรณ์แบบ
 
 
              ดร.อัมเบดการ์พิจารณาศาสนาว่าเป็นสารธรรมเพื่อการพัฒนามวลมนุษย์อย่างเหมาะสม   ท่านไม่เห็นด้วยกับนักคิดบางคนที่กล่าวว่า “ศาสนาเป็นกาฝากของสังคม (Religion is a Parasite)” หรือที่ว่า “ศาสนาเป็นยาเสพติด (It is an opiate)” ในทัศนะของดร.อัมเบดการ์ “มนุษย์ไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้ด้วยเพียงอาหารเลี้ยงร่างกายเท่านั้น มนุษย์(มีทั้งกายและ) ยังมีใจด้วย จึงต้องการอาหารทางความคิด  ศาสนาปลูกเพาะความหวังให้เกิดแก่มนุษย์และเร้าให้พวกเขาลงมือกระทำกิจกรรม แต่ศาสนาไหนเล่า! ที่มนุษย์ยุคใหม่ทั้งหลายควรจะเลือกรับนับถือกัน”
 
              หลังจากศึกษาเทียบเคียงพระพุทธศาสนากับศาสนาอื่นๆ ดูแล้ว ดร.อัมเบดการ์ก็ออกมายืนยันว่า “ถ้าโลกสมัยใหม่จำเป็นต้องมีศาสนากันแล้วละก็  ศาสนานั้นจะต้องเป็นศาสนาของพุทธเจ้าเท่านั้น”
 
              มันเป็นไปไม่ได้ที่จะนำศาสนาอื่นๆ ทีละศาสนามาเปรียบเทียบกับพระพุทธศาสนาโดยละเอียด แต่สิ่งที่ข้าพเจ้าอาจทำได้ในที่นี้ก็คือ การประมวลมากล่าวโดยย่อๆดังนี้
 
              ๑.สังคมจะต้องออกกฎหมายหรือไม่ก็ต้องใช้หลักศีลธรรม เป็นเครื่องประสานคนในสังคมเข้า(เป็นกลุ่ม) ด้วยกัน ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งสังคมก็คงดำเนินไปสู่ความแตกออกเป็นเสี่ยงๆแน่นอน
 
              ในสังคมทั้งหลายนั้น  กฎหมายแสดงบทบาทได้น้อยนัก มุ่งหมายบังคับได้เพียงคนส่วนน้อยให้อยู่ในกรอบระเบียบทางสังคม  แต่เหลือส่วนใหญ่ไว้ให้อยู่นอกขอบเขตแห่งกฎเกณฑ์นั้นและจำต้องปล่อยให้ดำเนินชีวิตทางสังคมโดยอาศัยข้ออ้างและหลักการศีลธรรม  เพราะฉะนั้น ศาสนาในความหมายของศีลธรรมนี้ ยังคงเป็นหลักการปกครองคนส่วนใหญ่ในทุกสังคม
  
              ๒.ศาสนาตามคำจำกัดความในข้อแรกนั้น จะต้องสอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ด้วย ศาสนารังแต่บ่ายหน้าไปสู่ความเสื่อมจากความเคารพนับถือกลายเป็นเรื่องตลกขบขันในที่สุด  หากไม่สอดคล้องกับวิทยาศาสตร์  โดยนัยนี้ศาสนาไม่เพียงแต่จะสูญพลังในฐานะหลักการปกครองชีวิตเท่านั้น  แต่ในเวลาไม่นานนักก็จะแตกแยก เลื่อนลอยและดับสูญไปในที่สุดถ้าศาสนานั้นไม่สอดคล้องกับหลักการทางวิทยาศาสตร์
   
              อีกประการหนึ่ง ศาสนานั้นถ้าจะยังทำหน้าที่ได้แล้ว ก็จะต้องสอดคล้องกับหลักเหตุผล ที่จริงคำนี้ก็เป็นอีกชื่อหนึ่งของวิทยาศาสตร์นั่นเอง
   
              ๓. ศาสนาในฐานะหลักศีลธรรมของสังคม จำต้องยอมรับหลักคำสอนพื้นฐาน ๓ ประการ คือเสรีภาพ สมาพและภราดรภาพ หากศาสนาใดละเลย ไม่ยอมรับหลักคำสอนพื้นฐาน ๓ ประการนี้ ศาสนานั้นก็กำลังก้าวไปใกล้วาระสุดท้าย
     
              ๔.ศาสนาจะต้องไม่สอนว่าความยากจนเป็นเรื่องของกรรมเก่า การสละโลกียสมบัติออกบวชโดยคนมีอันจะกินนั้น เป็นเรื่องควรแก่การอนุโมทนา  แต่ความยากจนก็มิใช่เรื่องที่น่าชื่นชมยินดีเลย  การสอนว่าความยากจนเป็นเรื่องน่าชื่นชมยินดี  จัดว่าเป็นการทำศาสนาให้วิปริต ก่ออกุศลกรรมและอาชญากรรมบนแผ่นดิน เท่ากับเห็นดีเห็นชอบกับพวกที่กำลังทำโลกนี้ให้เป็นนรกทั้งเป็น
      
              ก็ศาสนาใดเล่า! ที่จะตอบสนองความต้องการเหล่านี้ได้  ในการพิจารณาปัญหานี้ เราจะต้องจำไว้ว่ายุคสมัยของมหาตมะ คือพระศาสดาองค์ใหม่ได้หมดไปแล้ว  ชาวโลกไม่อาจแสวงหาศาสนาใหม่ได้อีกแล้ว พวกเราจำต้องเลือกเอาศาสนาที่มีอยู่นี้แหละมานับถือสักศาสนาหนึ่ง ดังนั้นขอบข่ายของปัญหานี้จึงจำกัดอยู่กับสาสนาทั้งหลายที่มีในปัจจุบัน

             เรื่องอาจจะเป็นว่าศาสนาปัจจุบันเหล่านี้  อาจจะตอบสนองความต้องการได้ไม่เท่ากัน  คือบางศาสนาอาจสนองความต้องการเพียงหนึ่งข้อบ้าง บางศาสนาอาจสนองความต้องการได้สองข้อช้าง มีปัญหาต่อไปว่ามีสักศาสนาไหม? ที่ตอบสนองความต้องการได้ทั้งหมด เท่าที่ข้าพเจ้าทราบ ศาสนาที่สามารถตอบสนองความต้องการของพวกเราได้ทั้งหมดก็คือ พระพุทธศาสนา

              อีกประการหนึ่ง พระพุทธศาสนา คือศาสนาเดียวเท่านั้นที่ชาวโลกควรยอมรับนับถือ  ถ้าชาวโลกยุคใหม่ตามที่เราทราบดีว่า แตกต่างจากชาวโลกยุคเก่าอย่างมาก  ยังจำต้องมีศาสนากันแล้ว และถ้าชาวโลกยุคใหม่ต้องการศาสนามากกว่าชาวโลกยุคเก่าแล้ว (ศาสนานั้น) ก็คงเป็นศาสนาของพระพุทธเจ้าเท่านั้น

              ข้อความทั้งหมดนี้อาจจะดูแปลกประหลาดมาก นี้เพราะเกือบทั้งหมดของนักปราชญ์ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาได้พากันเผยแผ่แนวความคิดที่ว่า สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนนั้นคือหลักอหิงสา (ความไม่เบียดเบียนกัน) ข้าพเจ้าไม่ประสงค์จะลดความสำคัญของคำสอนเรื่องนี้เพราะหลักอหิงสาจัดเป็นคำสอนที่ยิ่งใหญ่ โลกของเราไม่อาจอยู่รอดปลอดภัยและประสบสันติสุขได้เลยหากพวกเราไม่ปฏิบัติตามหลักอหิงสา แต่สิ่งที่ข้าพเจ้าอยากกล่าวย้ำในที่นี้ก็คือว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนหลักธรรมสำคัญอื่นๆ อีกมากมาย นอกจากหลักอหิงสา (เช่น) พระองค์ทรงสอนหลักแห่งเสรีภาพทางสังคม เสรีภาพทางสติปัญญา เสรีภาพทางเศรษฐกิจ และเสรีภาพทางการเมือง ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของคำสอนในศาสนาของพระองค์

              นอกจากนี้ พระพุทธเจ้ายังทรงสอนหลักความเสมอภาค ซึ่งมิใช่แค่ความเสมอภาคระหว่างผู้ชายกับผู้ชายเท่านั้น แต่ทรงสอนแม้กระทั่งความเสมอภาคระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงอีกด้วย

              ดังนั้น เป็นการยากมากที่จะหาพระศาสดาของศาสนาองค์อื่นๆมาเทียบกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งคำสอนครอบคลุมวิถีชีวิตทางสังคมทุกแง่ทุกมุม   เป็นคำสอนที่มีความสมสมัยอยู่เสมอ(อกาลิโก-ทันสมัยอยู่เสมอ) และมีจุดมุ่งหมายปลายทางก็คือ วิมุตติ-ความหลุดพ้นจากกิเลสและกองทุกข์ขณะดำรงชีพอยู่ในโลกนี้ พระพุทธองค์ไม่เคยประทานคำมั่นสัญญาว่าจะประทานความหลุดพ้นบนสวรรค์หลังแตกกายทำลายขันธ์แล้ว
 
              
  
  
  
  (อ่านความเดิมตอนที่แล้ว)
  
  
  

ปฏิวัติสันติ

 
สมัคร ยกเลิก
 
 
Revolutionary Press Agency
Online Journal and News Agency for Peace  :  วารสารและข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
Copyright © 2024 www.rpathailand.com All Rights Reserved.
ทำเว็บ  ออกแบบเว็บ  Web Design  เว็บสำเร็จรูป  เว็บไซต์สำเร็จรูป