Revolutionary Press Agency : Online Journal and News Agency for Peace
สำนักสื่อปฏิวัติ  : วารสารข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
8 มิ.ย. 2554 กองหน้าประชาชนรุ่นใหม่ อนุสรณ์ สมอ่อน ตอบคำถามคาใจทำไมต้องปฏิวัติประชาธิปไตย? 
จะรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ให้มั่นคงได้อย่างไร?
เขียนโดย ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร  โพสเมื่อ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๒ ๑๑.๔๕ น.
        
   
                                                - ตอน ๗ -
 
 
          เมื่อทอดพระเนตรเห็น ร.ท.แม้น อยู่ในรายชื่อของคณะ ร.ศ.130 ไม่ทรงเชื่อว่า ร.ท.แม้น จะร่วมด้วย และรับสั่งกับทูลกระหม่อมจักรพงษ์ว่า “  ถ้าไอ้แม้นไปกับพวกเขาด้วย ก็ต้องเฆี่ยนหลังมันเสีย  ”

          รับสั่งนี้ไปเข้าหู ร.ท.แม้น ในคุก เข้าจึงเขียนจดหมายซุกซ่อนไปในอาหารที่รับประทานเหลือถึงบิดาของเขา ขอให้วิ่งเต้นด้วยวิธีต่าง ๆ รวมทั้งวิธีไสยศาสตร์เพื่อไม่ให้เขาถูกเฆี่ยนหลังเพราะถือว่า   การถูกเฆี่ยนหลังเป็นการเสื่อมด้วยเกียรติของชายชาตินักรบ ตลอดทั้งวงศ์ตระกูลด้วย  แม้แต่จะลงพระราชอาญาประหารชีวิตก็ไม่ว่า จดหมายนี้ผู้คุมจับได้ และส่งขึ้นไปตามลำดับจนถึงในหลวง เพียงไม่กี่วันต่อมา เมื่อพระองค์เสด็จโดยรถยนต์พระที่นั่งไปตามถนนราชดำเนินทอดพระเนตรเห็น ร.ต.ฟู ซึ่งอยู่ใต้บังคับบัญชาของ ร.ท.แม้น จึงรับสั่งให้หยุดรถพระที่นั่งและกวักพระหัตถ์ให้ ร.ต.ฟู เข้าเฝ้าฯ ณ กลางถนนนั้นรับสั่งว่า “  เอ็งไปบอกเจ้าแม้นมันว่า ข้าเลิกเฆี่ยนหลังแล้ว มันจะได้สบายใจ ”
 
         ชาวคณะ ร.ศ.130 ทุกคนยืนยันว่า ข่าวที่ว่าคณะ ร.ศ.130 จะปลงพระชนม์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นข่าวกุ เมื่อ ร.ท.จรูญ ณ บางช้าง ผู้นำคนหนึ่งของคณะได้ทราบข่าวนี้ คิดว่าเป็นเรื่องจริง จึงเขียนจดหมายถึงพรรคพวกที่อยู่นอกคุกแช่งด่าพวกนั้นอย่างรุนแรงและเรียกร้องให้สมนาคุณบุคคลต่าง ๆ อันประกอบด้วย K ( หมายถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ) “  เจ้าพ่อนโปเลียน  ” ( หมายถึงเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ) และ “  วังบูรพาผู้เฒ่า  ” ( หมายถึงสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช )   ตอนหนึ่งมีข้อความว่า “  เราผู้เป็นมนุษย์จึงควรบูชาคุณของท่านทั้งสามนี้ไว้เหนือเกล้าฯ ของเราทุกเวลาตลอดชีพของเรา  ” (กองจดหมายเหตุแห่งชาติ)
 
 
          นอกจากข่าวกุ ซึ่งกำลังแพร่สะพัดอย่างครึกโครมแล้ว ยังมีพยานเท็จจาก “  ผู้หักหลัง  ” คือ ร.อ.ยุทธ คงอยู่ หรือหลวงสินาด โยธารักษ์ ซึ่งให้การว่าพวก ร.ศ.130 จะปลงพระชนม์ในหลวง และจะเปลี่ยนการปกครองเป็นรีปับลิค (  บุคคลผู้นี้ต่อมาได้เป็น พ.อ.พระยากำแพงราม ถูกจับในคดีกบฏบวรเดช และผูกคอตายในคุกบางขวาง  )
          เมื่อคณะ ร.ศ.130 ถูกจับได้ใหม่ ๆ มีข่าวเป็นที่เชื่อถือได้ว่า ศาลทหารจะตัดสินลงโทษเพียง 3 ปี 5 ปี และว่าในหลวงจะไม่ทรงเอาโทษ แต่ครั้นมีข่าวกุและพยานเท็จดังกล่าว จึงตัดสินโทษสถานหนักแต่ถ้าดูจากเหตุผลข้อเท็จจริงในคำพิพากษาแล้ว ก็ยังต้องถือว่าเป็นการลงโทษสถานเบา ดังคำพิพากษาตอนหนึ่งว่า
 
          “ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้นายทหารบก นายทหารเรือ รวม 7 นาย เป็นกรรมการพิจารณาทำคำปรึกษาโทษขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา มีใจความที่วินิจฉัยตามที่ได้พิจารณาได้ความว่า ผู้ที่ร่วมคิดในสมาคมนี้มีความเห็นจะเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นรีปับลิคบ้าง เป็นลิมิเต็ดมอนากีบ้าง ส่วนที่จะจัดการอย่างไรจึงจะเปลี่ยนแปลงการปกครองได้นั้น ปรากฏชัดในที่ประชุมถึงการกระทำประทุษร้ายต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย แม้บางคนจะไม่มีเจตนาโดยตรงที่จะประทุษร้ายต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี แต่ก็ได้สมรู้เป็นใจกันและช่วยกันปกปิดความเพราะฉะนั้นตามลักษณะความผิดนี้กระทำผิดต่อกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 97 ตอนที่ 2 มีโทษประหารชีวิตด้วยกันทุกคนไป บางคนกระทำผิดมากไม่สมควรลดโทษเลย แต่บางคนกระทำความผิดน้อยบ้าง ได้ให้การสารภาพให้เป็นประโยชน์ในการพิจารณาบ้าง และมีเหตุผลอื่นสมควรจะลดหย่อนความผิดบ้างอันเป็นเหตุให้ควรลดโทษฐานปราณีตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 37 และมาตรา 59 จึงกำหนดโทษเป็น 5 ขั้น ดังนี้ ขั้นที่ 1 ให้ลงโทษประหารชีวิต 3 คน ขั้นที่ 2 ลดโทษเพียงจำคุกตลอดชีวิต 20 คน ขั้นที่ 3 ลดโทษลงเพียงจำคุก มีกำหนด 20 ปี 32 คน ขั้นที่ 4 ลดโทษลงเพียงจำคุก มีกำหนด 15 ปี 6 คน ขั้นที่ 5 ลดโทษลงเพียงจำคุกมีกำหนด 12 ปี 30 คน” (คัดจากคำพิพากษาคดี กบฏ ร.ศ.130)
          พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยเด็ดขาด ดังนี้
 
          “ได้ตรวจคำพิพากษา ซึ่งได้พิจารณาปรึกษาโทษ ในคดีผู้มีชื่อ 91 คน ก่อการกำเริบ ลงวันที่ 5 พฤษภาคม นั้น ตลอดแล้วเห็นว่ากรรมการพิจารณาลงโทษพวกเหล่านั้นมีข้อสำคัญที่จะทำร้ายต่อตัวเรา เราไม่ได้มีจิตพยาบาทคาดร้ายต่อพวกนี้ เห็นควรที่จะลดหย่อนผ่อนโทษโดยฐานกรุณา ซึ่งเป็นอำนาจของพระเจ้าแผ่นดินที่จะยกโทษให้ได้ เพราะฉะนั้นบรรดาผู้ที่มีชื่อ 3 คน ซึ่งวางโทษไว้ในคำพิพากษาของกรรมการว่าเป็นโทษขั้นที่ 1 ให้ประหารชีวิตนั้นให้จำคุกตลอดชีวิต” และทรงให้ลดโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นจำคุก 20 ปี และที่วางโทษ 20 ปี 15 ปี และ 12 ปีนั้น ให้รอการลงอาญาและจะเห็นได้ตามพระราชวินิจฉัยว่า คำพิพากษาถือเอาการประทุษร้ายพระเจ้าแผ่นดินเป็นความผิดสำคัญ มิใช่ถือเอาการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นความผิดสำคัญ

          สมเด็จพระมงกุฎเกล้าทรงมีพระราชประสงค์จะปลดปล่อยนักโทษคดี ร.ศ.130 ตั้งแต่ติดคุกมาได้เพียง 4-5 ปี แต่เจ้านายผู้ใหญ่บางพระองค์ทรงท้วงไว้ จนถึง พ.ศ.2468 จึงได้ทรงปลดปล่อยทั้งหมด    ก่อนปลดปล่อยเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม คือ เจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธรให้นักโทษทำทัณฑ์บนไว้ว่า “   เมื่อได้รับการปลดปล่อยแล้ว นักโทษการเมืองจะไม่คิดร้ายใด ๆ ต่อองค์พระประมุขของชาติเป็นอันขาด ”    นักโทษทุกคนยอมทำทัณฑ์บนโดยไม่มีอะไรแสลงใจ เพราะตรงกับเจตนาของนักโทษการเมืองเหล่านั้นอยู่แล้ว   พวกเขาเพียงแต่ต้องการทำการปฏิวัติประชาธิปไตยเพื่อความก้าวหน้าของประเทศชาติ    มิได้คิดประทุษร้ายหรือเป็นศัตรูต่อองค์พระประมุขของชาติแต่ประการใดเลย และส่วนใหญ่ก็ต้องการปฏิวัติเพื่อความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์นั่นเอง   ถ้าคณะ ร.ศ.130 คิดร้ายต่อองค์พระประมุขหรือต้องการจะเปลี่ยนการปกครองเป็นรีพับลิคแล้ว พวกเขาจะไม่ยอมทำทัณฑ์บนเช่นนั้น
 
          จึงเห็นได้ว่า การปฏิวัติประชาธิปไตย ซึ่งกระทำโดยข้าราชการระดับล่างและพ่อค้าประชาชน เมื่อ ร.ศ.130 (พ.ศ.2455) นั้นมิได้กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด ทุกคนปรารถนาให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศในระบอบประชาธิปไตย และในเมื่อคนสำคัญของคณะ ร.ศ.130 ส่วนมากที่สุดเป็นมหาดเล็กของเจ้านายผู้ใหญ่ และบางคนก็เป็นราชองค์รักษ์ผู้เป็นที่โปรดปราน พิจารณาจากสามัญสำนึกแล้ว ไม่อาจจะคาดคิดไปได้ว่า ตามนิสัยของคนไทยซึ่งถือความกตัญญูเป็นใหญ่ จะคิดร้ายต่อพระเจ้าแผ่นดินหรือทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ แต่ความเป็นจริงแล้วส่วนมากจะเป็นอย่างทรรศนะของ ร.ท. แม้น สังขวิจิตร ที่ว่า “การร่วมคณะปฏิวัติของพระองค์ในภาวะประชาธิปไตยตามสมัยนั่นเอง โดยเห็นว่า การปกครองแบบราชาธิปไตยนี้จะเป็นยาพิษแก่ราชบัลลังก์อย่างแน่แท้” (จากบันทึกของ ร.ต.เนตร) เสียมากกว่า
 
          
                                                                                                       
             
 
                                                                    - ตอน ๘ -
 
 
            การปฏิวัติประชาธิปไตยของคณะ ร.ศ.130 มีการเคลื่อนไหวสูงสุดภายหลังการปฏิบัติของพรรคก๊กมินตั๋งในประเทศจีนเพียง 1 ปี ซึ่งเป็นการปฏิวัติที่โค่นล้มสถาบันพระมหากษัตริย์และตั้งสาธารณรัฐขึ้นในประเทศจีน ข่าวการล้มราชบัลลังก์จีนสร้างความหวั่นวิตกให้แก่ชาวไทยเมื่อปรากฏการณ์เคลื่อนไหวของคณะ ร.ศ.130 และมีการข่าวกุแพร่สะพัดว่า พวกนี้จะประทุษร้ายองค์พระประมุขและจะเปลี่ยนแปลงราชอาณาจาจักรเป็นสาธารณรัฐ ก็ยิ่งเพิ่มความวิตกกังวล นี่คือความไม่มั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์อันเนื่องด้วยการปฏิวัติประชาธิปไตยของคณะ ร.ศ.130

          ดังกล่าวในตอนต้นแล้วว่า ความไม่มั่นคงคือความลำบากยุ่งยากหรือห่วงใย จาก อันตรายหรือความกลัว

          แต่ข้อเท็จจริงพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า คณะ ร.ศ.130 ไม่เป็นอันตรายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ความไม่มั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์จากการปฏิวัติของคณะ ร.ศ.130 จึงไม่มีความไม่มั่นคงมีแต่เพียงความห่วงใยจากความกลัว ต่อข่าวกุและข่าวการปฏิวัติในประเทศจีนเท่านั้น คือกลัวไปว่า คณะ ร.ศ.130 จะโค่นล้มสถาบันพระมหากษัตริย์เช่นเดียวกับที่พรรคก๊กมินตั๋งได้กระทำในประเทศจีนเมื่อ พ.ศ.2454
 
        รวมความว่า การปฏิวัติประชาธิปไตยของข้าราชการระดับล่างและพ่อค้าประชาชนนั้น ตัวการปฏิวัติไม่กระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่นเดียวกับการปฏิวัติประชาธิปไตยซึ่งกระทำโดยพระมหากษัตริย์และเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่เหมือนกัน ต่างกันแต่ว่าการปฏิวัติประชาธิปไตยของพระมหากษัตริย์แต่การปฏิวัติของข้าราชการการระดับร่างและพ่อค้าประชาชนเกิดความไม่มั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยความห่วงใยจากความกลัวไปเอง หาใช่ความห่วงใยที่เกิดจากเหตุการปฏิวัตินั้นจะมีอันตรายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์แต่อย่างใดไม่

         ในตอนก่อน เราชี้ให้เห็นว่า การปฏิวัติประชาธิปไตยในประเทศไทยซึ่งกระทำโดยข้าราชการระดับล่างและพ่อค้าประชาชน เป็นการกระทำเพื่อความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่นเดียวกับการปฏิวัติประชาธิปไตยซึ่งกระทำโดยพระมหากษัตริย์เจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่เหมือนกัน และถ้าการปฏิวัติประชาธิปไตยเหล่านั้นสำเร็จ สถาบันพระมหากษัตริย์ก็จะมั่นคงและยั่งยืนตลอดไป คนไทยก็จะไม่ต้องมาวิตกห่วงใยถึงความไม่มั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างในขณะนี้เลย และเราชี้ให้เห็นว่า การปฏิวัติประชาธิปไตยซึ่งกระทำโดยข้าราชการระดับล่างและพ่อค้าประชาชนนั้น ตัวการปฏิวัติเองไม่ก่อให้เกิดความไม่มั่นคงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ความไม่มั่นคงที่มีอยู่บ้างนั้นเป็นเพียงความกลัวที่เกิดจากข่าวกุและจากข่าวการปฏิวัติประชาธิปไตยในประเทศจีนเท่านั้น
 
        แต่การปฏิวัติประชาธิปไตย ซึ่งกระทำโดยข้าราชการระดับล่างและพ่อค้าประชาชนนั้น ไม่ได้เพียงแต่การปฏิวัติของคณะ ร.ศ.130 (พ.ศ.2455) ซึ่งถูกจับเสียก่อนที่จะลงมือดังกล่าวแล้วนั้น แต่ยังมีอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งประสบความสำเร็จในช่วงเวลาสั้น ๆ คือ การปฏิวัติประชาธิปไตยของคณะราษฎรกระทบกระเทือนความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่ อย่างไร

         บุคคลชั้นนำของคณะราษฎรหลายคน เป็นมหาดเล็กของเจ้านายหรือผู้ใกล้ชิดเจ้านาย เช่นเดียวกับบุคคลชั้นนำของคณะ ร.ศ.130 เช่น พล.ท. ประยูร ภมรมนตรี (ขณะนั้นเป็น ร.ท.) ซึ่งนับว่าเป็นคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งของคณะราษฎรในฐานะเป็นผู้ประสานงานของคณะราษฎรทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นมหาดเล็กของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและเป็นผู้บังคับหมวดทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ซึ่งมีความจงรักภักดีต่อพระราชบัลลังก์ไม่ต่างกัน ร.ท.แม้น สังขวิจิตร ในคณะ ร.ศ.130 หลวงอดุลย์เดชจรัส ซึ่งเป็นคนสำคัญที่สุดอีกคนหนึ่ง ก็เป็นมหาดเล็กของสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ และหัวหน้าคณะราษฎร คือ พระยาพหลพยุหเสนา
   
         เมื่อเช้าวันที่ 24 มิถุนายน 2475 หลังจากคณะราษฎรยึดอำนาจแล้ว เมื่อกรมพระนครสวรรค์วรพินิจทรงเผชิญหน้ากับพระยาพหลฯ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระองค์รับสั่งกับพระยาพหลด้วยความประหลาดพระวัยว่า “ ตาพจน์ก็เอากับเขาเหมือนกันรึนี่?” ทำนองเดียวกับสมเด็จพระมงกุฎเกล้ารับสั่งทอดพระเนตรเห็นชื่อ ร.ท.แม้น ว่า “เจ้าแม้นมันเป็นศิษย์ของฉันแท้ ๆ เห็นจะเป็นไปไม่ได้?” พระยาพหลฯ ถวายคำนับแด่กระพระนครสวรรค์ฯ ด้วยกิริยาอันสุภาพนอบน้อม เช่นพันเอกจะพึงกระทำความเคารพต่อจอมพล (พจน์ เป็นนามเดิมของพระยาพหลฯ) เมื่อ พ.ศ.2472 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พระยาพหลฯ ตามเสด็จพระราชดำเนินประพาสสิงคโปร์และชวาในหน้าที่ราชองครักษ์ประจำ
    
         ไม่เฉพาะแต่กรมพระนครสวรรค์เท่านั้น บรรดาเจ้านายที่คุ้นเคยกับพระยาพหลฯ ต่างก็มีความประหลาดใจกันทั่วไป ก็เพราะตามปกติท่านผู้นี้มีกิริยาวาจาสงบเสงี่ยมสุภาพเรียบร้อยและอ่อนน้อมต่อผู้บังคับบัญชาและนายทหารผู้ใหญ่ทั่วไป และเป็นที่ปรากฏแก่คนทั้งหลายว่า พระยาพหลฯ เป็นผู้จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และเคารพต่อเจ้านาย ทำนองเดียวกับขุนทวยหาญพิทักษ์ หัวหน้าคณะ ร.ศ.130 เหมือนกัน
               
                    
         
                                                                          
             
                     (อ่านต่อตอนหน้า)
 
 
 
 
               อ่านย้อนหลัง...
 
 
 

ปฏิวัติสันติ

 
สมัคร ยกเลิก
 
 
Revolutionary Press Agency
Online Journal and News Agency for Peace  :  วารสารและข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
Copyright © 2024 www.rpathailand.com All Rights Reserved.
ทำเว็บ  ออกแบบเว็บ  Web Design  เว็บสำเร็จรูป  เว็บไซต์สำเร็จรูป