Revolutionary Press Agency : Online Journal and News Agency for Peace
สำนักสื่อปฏิวัติ  : วารสารข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
8 มิ.ย. 2554 กองหน้าประชาชนรุ่นใหม่ อนุสรณ์ สมอ่อน ตอบคำถามคาใจทำไมต้องปฏิวัติประชาธิปไตย? 
ทำไมจึงต้องถวายคืนพระราชอำนาจ ?
โดย นางแก้ว
- ๔ -
ปลี่ยนจากรัฐบาลรักษาการไปเป็นรัฐบาลเฉพาะกาล
(From Caretaker Government to Provisional Government)
 
                                         
"สุขใดในโลกล้วน
มาจากการนึกปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข
ทุกข์ใดในโลกล้วน
มาจากการต้องการความหฤหรรษ์เพียงเพื่อตัวเอง
จำต้องสาธยายอีกหรือ
ผู้เขลามองเห็นแต่ตัวเอง
ขณะที่พุทธะเพียรพยายามเพื่อผู้อื่น
นั่นแลคือความแตกต่าง ! "
 
Shantideva, The Way of the Bodhisattva (Bodhicaryavatara)หรือวิถีแห่งพระโพธิสัตว์ แปลโดย Padmakara Translation Groupจัดพิมพ์โดย Shambhala บอสตันและลอนดอน พ.ศ. 2540

               ปลายสัปดาห์แรกของเดือนกันยายน 2551 คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญทำให้นายกสมัคร สุนทรเวชพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยสิ้นเชิง สถานภาพของนายกนอมินีในระบอบทักษิณของเขามีอันสิ้นสุดลง เหตุการณ์นี้ก่อผลสะเทือนต่อการจัดรูปแบบความสัมพันธ์ภายในของรัฐบาลปัจจุบันและสภาปัจจุบันอย่างมิอาจปฏิเสธได้  การเกาะเกี่ยวเชื่อมโยงสัมพันธ์กันระหว่างสมาชิกพรรคการเมืองต่างๆและการพึ่งพิงอิงอำนาจของการจัดสรรระบบการจัดการถูกสั่นคลอน  รัฐบาลพรรคพลังประชาชนถูกลดสถานภาพจากรัฐบาลปรกติกาลเป็นรัฐบาลรักษาการ (Caretaker Government)  ในฉับพลันทันที ความอ่อนแอของรัฐบาลที่เกิดจาดก่อรูปของพรรคการเมืองแบบหลวมๆก็ปรากฎชัดอย่างยิ่ง ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือในฐานะผู้ปกครองและที่สำคัญที่สุดผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในประเทศที่รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญมากยิ่งกว่าอื่นใด

               ปัญหาชาติอันเรื้อรังกำลังส่งผลเสียหายกระทบทุกภาคส่วนของสังคมโดยถ้วนหน้าและในทุกมิติ  กระแสของการเปลี่ยนแปลงและความต้องการเปลี่ยนแปลงขึ้นสูงจนมิอาจยับยั้งได้    ประชาชนส่วนใหญ่แสดงความเห็นกันทั่วไปว่ารัฐบาลไม่สามารถปกครองได้อีกต่อไปและเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างเร่งด่วน มีข้อสรุปตรงกันว่าไม่มีผู้ใดต้องการเห็นประเทศนี้หยุดชะงักอยู่กับโครงสร้างปัญหาเดิมที่ไม่สามารถหาทางออกได้อีกต่อไปแล้ว  ข้อเสนอเรื่องรัฐบาลเฉพาะกาลกำลังเป็นที่ขบคิดของหลายฝ่ายโดยเฉพาะกองทัพไทย!!

                ในสัปดาห์ที่สองของเดือนกันยายน 2551 เกิดปรากฏการณ์ใหม่ขึ้นในสังคมไทยคือการที่พรรคร่วมฝ่ายรัฐบาลหกพรรค รวมทั้งพรรคฝ่ายค้านซึ่งเป็นพรรคเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยคือพรรคประชาธิปัตย์ได้ทำการตอบรับรัฐบาลแห่งชาติหรือรัฐบาลเฉพาะกาลอย่างไม่เคยมีปรากฎมาก่อนในประวัติศาสตร์  แต่ทว่าความเข้าใจของบรรดานักการเมืองในระบอบเผด็จการรัฐสภาเดิมยังไม่ถ่องแท้เสียทีเดียว เพราะยังคงยึดรูปแบบ "วิป" ฝ่ายรัฐบาล และ"วิป" ฝ่ายค้าน ซึ่งไม่ใช่การสร้างรัฐบาลแห่งชาติอย่างแท้จริง  เพราะเหตุว่าส.ส.ลูกพรรคส่วนใหญ่ของพรรคพลังประชาชนยังไม่มีทีท่าจะสนใจแนวทางใหม่นอกจากให้ความเห้นผสมกลมกลืนไปกับหัวหน้าพรรคตนระหว่างให้ข่าวต่อสื่อมวลชน

               มีการตั้งข้อสังเกตว่าพรรคประชาธิปัตย์นำโดยอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเข้าร่วมแนวทางนี้เป็นไปตามคาดเพราะประชาธิปัตย์สามารถเกลี่ยความต้องการของตนไปได้เรื่อยๆ  แต่ก็เป็นการเลือกแนวทางเพราะหาทางออกไม่ได้เช่นกัน

               งานอธิบายของฝ่ายปฏิวัติที่ทำต่อเนื่องมาโดยตลอดต้องเริ่มอธิบายใหม่ถึงปรากฏการณ์นี้ว่า เพราะเหตุไรหลายฝ่ายจึงพูดเรื่องใกล้เคียงกันได้ แต่ว่าไม่มีความแน่นอนว่าแท้จริงแล้วทุกฝ่ายเข้าใจเรื่องรัฐบาลเฉพาะกาลถูกต้องพอเพียงหรือไม่   การตอบรับแนวทางรัฐบาลเฉพาะกาลอาจเป็นเพราะพวกเขากำลังถึงทางตันและยอมรับแนวทางนี้โดยดุษณีหากยังขาดความเข้าใจในอีกหลายมิติ
 

                   Bargaining for Power สะท้อนธาตุแท้ผลประโยชน์ท่าน

 
               ในรุ่งเช้าของวันที่ 11 กันยายน 2551ที่อากาศอึมครึมทั่วประเทศไทยและมีข่าวปรากฎแผ่นดินไหวในอินโดนีเซียและญี่ปุ่นมีคำเตือนเรื่องคลื่นสึนามิในเอเชียและโลกตะวันตกกำลังรายงานข่าวอย่างครึกโครมของการทดลองปฏิบัติการบิ๊กแบงสุดยอดของวิทยาการตะวันตก     ใครจะล่วงรู้ได้ว่าสัปดาห์เดียวกันนักการเมืองไทยกำลังวิ่งเข้าออกล็อบบี้ซึ่งกันและกันท่ามกลางห่าฝนและน้ำท่วมฉับพลันในหลายท้องที่ของกรุงเทพมหานครและบางส่วนในต่างจังหวัด   พวกเขากำลังแย่งชิงพื้นที่ข่าวด้วยการชิงแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนสลับกันตลอดทั้งวันโดยยังไม่มีข้อยุติแน่ชัดว่าพรรคพลังประชาชนจะเสนอใครเป็นนายกรัฐมนตรีแทนสมัคร สุนทรเวช ในขณะที่เวทีพันธมิตรประกาศเสียงกร้าวปฏิเสธตัวแทนระบอบทักษิณอย่างสิ้นเชิงแต่ไม่ได้ยื่นข้อเสนอทางออกที่เป็นรูปธรรมแต่อย่างใด

               หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ (Bangkok Post) หน้าหนึ่งรายงานข่าวการเคลื่อนไหวของนักการเมืองไทย ในช่วงเช้าของวัน 11กันยายนเช่นเดียวกันทางเว็บไซท์ข่าวและพาดหัวข่าวเรื่องเด่นประจำวันว่า Bargaining for Power หรือการต่อรองอำนาจเสมือนหนึ่งว่าการเมืองไทยเป็นตลาดค้าอำนาจ   สามารถต่อรองกันได้  ให้รายละเอียดชัดเจนถึงความสัมพันธ์ภายในระหว่างพรรค  ใครจะร่วมกับใคร แบ่งเป็นกี่ฝ่ายในพรรคพลังประชาชนและพรรคร่วมอื่นๆ

               ถ้าหากการพาดหัวข่าวในระหว่างรัฐบาลปรกติกาลคงจะไม่เป็นไรเท่าไรนัก  แต่เมื่อประเทศชาติอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาลรักษาการตกอยู่ในภาวะวิกฤต ขนาดต้องการการผ่าตัดด่วนด้วยการ "เปลี่ยนระบอบ" สื่อภาคภาษาอังกฤษอธิบายเรื่องการสรรหานายกใหม่และ "ความเพ่นพ่าน" ของนักการเมืองที่อ้างว่ามาจากการเลือกตั้งในวันที่ไร้แสงแดดและเปียกแฉะไปด้วยสายฝน แต่กลับเลือกที่จะไม่รายงานเรื่องข้อเสนอรัฐบาลแห่งชาติที่กำลังได้รับการตอบรับจากหลายฝ่ายและปรากฎรายงานจากสื่อท้องถิ่นครบทุกสื่อทั้งสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์
การพาดหัวข่าวอาจไม่สวิงสวายแต่แฝงด้วยความเยาะหยันในแบบที่นักการเมืองเหล่านั้นจะรู้ตัวบ้างหรือไม่

               อย่างไรก็ดีเนื้อหาข่าวกับการตีความตามวิชาการของขบวนการประชาธิปไตยย่อมต่างกัน ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นการต่อรองผลประโยชน์มากกว่า  "อำนาจ" หรือถ้าหากจะโยงมาถึงคำว่าอำนาจก็ต้องกล่าวว่าเป็นการต่อรองอำนาจเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์   ไม่ต่างจากการเก็งกำไรทางการค้าเท่าไรนัก ปรากฏการณ์นี้สะท้อนความล้าหลังของการเมืองไทยอย่างยิ่งยวดในสถานการณ์ปฏิวัติกระแสสูง  "ตัวแทนคนส่วนน้อย" กำลังแสดงความอ่อนแอและใกล้การพังทลายของโครงสร้างอำนาจบิดเบือนแบบเดิมเข้าเต็มที

              หากยังมองว่าการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีคือการต่อรองขั้วอำนาจ  นี่คือความเข้าใจผิดที่สุดอีกคำรบหนึ่งของคำว่า "อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน"  เพราะโดยข้อเท็จจริงอำนาจอันชอบธรรมเมื่อนำมาใช้ในการปกครองตามโครงสร้างการถ่วงดุลอำนาจแล้วจะไม่มีวันนำมาต่อรองกันได้นอกสภา หรือปรากฎเป็นข่าวเหมือนการซื้อหุ้นทีมฟุตบอล  ยกเว้นว่าการต่อรองวิ่งเต้นกันอยู่นั้นเป็นไปเพื่อพวกพ้องวงศ์วานของกลุ่มคณะบุคคลแต่ละกลุ่มเท่านั้น 
 
              ปรากฏการณ์นี้กำลังสะท้อนธาตุแท้ว่าแท้จริงแล้วนักการเมืองที่อ้างว่ามาจากการเลือกตั้งกำลังวิ่งปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มผลประโยชน์เดียวกันไม่ใช่ของชาติแต่อย่างใด

 
               ตัวแทนคนส่วนน้อยในสภาใหม่

               ตามข้อเท็จจริงการทำหน้าที่ตัวแทนของคนส่วนน้อยพวกเขาเหล่านั้นไม่น่าที่จะวุ่นวายกันมากเกินไป  หากมีจุดยืนในการทำงานเพื่อส่วนรวมด้วยกันทุกฝ่าย  ความขัดแย้งเรื่องคัดสรรตัวบุคคลบนพื้นฐานและหลักการเดียวกันก็ไม่น่าที่จะกลายเป็นเรื่องที่ต้องทำให้เกิดการวิ่งเต้นวุ่นวายตลอดทั้งวันขนาดนี้   แต่การวิ่งวุ่นอย่างนี้ย่อมแสดงว่าบรรดานักล็อบบี้ยิสต์ที่กำลังทำงานการคัดเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ขึ้นมาทดแทนสมัคร สุนทรเวช  ยังไม่เข้าใจว่าตนเองกำลังทำหน้าที่ตัวแทนคนส่วนน้อยของประเทศอยู่

               การใช้ตัวเลขอธิบายสัดส่วนผู้แทนปวงชนเพื่อสร้าง "รัฐบาลเฉพาะกาลเพื่อกระทำภารกิจแห่งชาติ " (Provisional Government Undertaking National Missions) เป็นการปรับภาษาตามยุคสมัยของนักการตลาดพ้องกับจริตนักบริหารผู้นิยมตัวเลขในการประเมิน  ก็จำเป็นต้องขยายผลการอธิบายกันให้ครบสมบูรณ์ความป้องกันการเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อน  ทุกฝ่ายต้องทำความเข้าใจร่วมกันก่อนถึงโครงสร้างอำนาจก่อนที่จะนำไปสู่การร่วมกันสถาปนา"รัฐบาลแห่งชาติ" หรือ "รัฐบาลของคนส่วนใหญ่" หรือ"รัฐบาลที่อำนาจอธิปไตยเป็นของคนส่วนใหญ่ "  จะต้องสร้างความเข้าใจพื้นฐานร่วมกันก่อนว่าบรรดานักการเมืองที่กำลังวิ่งวุ่นล็อบบี้กันอยู่ขณะนี้ว่าพวกเขาทำหน้าที่เป็นเพียง"ตัวแทนคนส่วนน้อย"ของสังคมอยู่    เมื่อเข้าใจได้ดังนี้ จึงจะยอมรับเงื่อนไขตัวเลขสมมุติ  30/70 ได้อย่างถูกต้องถ้วนหน้า

               ดังนั้นสัดส่วนของการเข้าร่วมของพรรคต่างๆ อาจถูกจำกัดเพียงแค่ 10ใน 100 หรือ 15 ใน100  ด้วยซ้ำไป หากจะประเมินตามดีกรีการกระชับของระบอบเผด็จการนั้นๆยิ่งมีความเป็นตัวแทนของคนส่วนน้อยที่เป็นทุนผูกขาดมาก สัดส่วนอาจเป็นเพียงแค่ 5-10% จาก 100 หากเป็นตัวแทนของคนส่วนน้อยที่ไม่ใช่ทุนผูกขาดเบ็ดเสร็จ  อาจเพิ่มเป็น 15ในร้อยแทน  ทิ้งจำนวน 85 ไว้ให้ตัวแทนปวงชนส่วนใหญ่ของประเทศ
 
                หรืออธิบายอีกนัยหนึ่งคือผู้แทนคนส่วนน้อยยินยอมที่จะให้มีการขยายสภาเปิดพื้นที่เพิ่มให้กับผู้แทนประชาชนอื่นๆมีส่วนร่วมในการ
ใช้อำนาจอธิปไตยผ่านองค์กรแห่งอำนาจอธิปไตยคือรัฐสภาและรัฐบาล

               ทว่า ในเบื้องต้นพวกเขามีความเข้าใจเพียงพอหรือไม่ว่าเขาคือผู้แทนคนส่วนน้อยที่เข้ามาใช้อำนาจอธิปไตย   และมีจิตใจกว้างขวางพอที่จะยอมรับหรือไม่  ?

               ในเช้าของวันศุกร์ที่ 12 กันยายนเมื่อการประชุมสภาวาระพิเศษจำเป็นต้องยุติลงอันเนื่องมาจากผู้แทนคนส่วนน้อยสังกัดพรรคพลังประชาชนพากันเดินออกนอกสภาเพราะหาข้อตกลงร่วมกันไม่ได้ว่าพรรคยังต้องการให้สมัคร สุนทรเวชเป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกวาระหรือไม่ นี่คือปรากฏการณ์แสดงความไร้อำนาจของสภาคนส่วนน้อยอย่างถึงที่สุด  !!
         
               แล้วสภาปวงชนส่วนใหญ่อีก 70 จะมาจากที่ใดได้อีกบ้างที่จะทำให้สภาปวงชนหรือสภาปฏิวัติปรากฎเป็นจริงขึ้นมาได้ ?
 

               ท่ามกลางความว่างเปล่า
 

               " If there is a sin in the world, it is weakness. Avoid all weakness, weakness is sin, weakness is death, be strong !! Strength is truth, the highest truth, the highest truth is the simplest thing, simple as your own existence"
                  "ถ้าจะมีบาปสักอย่างในโลกนี้  บาปนั้นคือความอ่อนแอ จงหลีกหนีความอ่อนแอไปให้พ้น ความอ่อนแอเป็นบาป ความอ่อนแอคือความตาย จงเข้มแข็ง ความเข้มแข็งคือสัจธรรม สัจธรรมสูงสุด สัจธรรมสูงสุดเป็นสิ่งเรียบง่ายที่สุด เรียบง่ายเหมือนอย่างการมีชีวิตอยู่ของท่านเอง"
สวามีวิเวกนันทะ ผู้นำทางจิตวิญญาณของอินเดีย
 
                หนังสือพิมพ์มติชนฉบับวันที่ 12 กันยายนรายงานข่าวว่าผู้เข้าร่วมชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่หน้าทำเนียบรัฐบาลลดลงหลังจากสมัคร สุนทรเวชพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่เป็นที่น่าแปลกใจสำหรับผู้สังเกตการณ์ คือคำวิจารณ์ของบรรดานักเคลื่อนไหวฝ่ายปฏิวัติซึ่งวิเคราะห์แต่แรกว่าข้อเสนอทางการเมืองของพันธมิตรนั้น "ต่ำไป"   นอกเหนือจากนั้นความพยายามของผู้ต้องการให้เกิดความรุนแรงเป็นอันตกไปเมื่อมีผู้หวังดียุติการเคลื่อนไหวของนักศึกษากลุ่ม Young Pad  ได้สำเร็จทันท่วงทีก่อนที่จะเป็นเหยื่อล่อให้กับมวลชนนปก.ที่จัดตั้งเตรียมการปะทะที่หน้ารัฐสภา พร้อมๆกับข่าว "สภาล่ม"

                สื่อโทรทัศน์รายงานการชุมนุมของพันธมิตรชุมนุมต่อท่ามกลางสายฝน ลูกเห็บ และน้ำท่วมเจิ่งนอง ภาพประชาชนสูงวัยนั่งตากฝน อดทนต่อสภาพอากาศ ท่ามกลางการโห่ร้องประกาศเสียงดังของพิธีกรบนเวทีสลับสับเปลี่ยนกันไป อารมณ์ร่วมของฝูงชนยังอยู่  ทว่า....คำถามคาใจจะเริ่มเกิดขึ้นบ้างว่าสมัคร สุนทรเวชพ้นจากตำแหน่งแล้ว และแกนนำพันธมิตรจะนำการชุมนุมนี้ไปสู่อะไรต่อไป !!การแยกกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์เริ่มเกิดขึ้นทั้งในวงและนอกวงพันธมิตรอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้
   
               ผู้เข้าร่วมชุมนุม  มิตรร่วมรบ พี่น้องทั้งตาดำๆและตาฝ้าฟาง คนหนุ่มคนสาวในวัยที่สมควรซึบซับในสิ่งถูกมากกว่าการมีอารมณ์ร่วมแบบม็อบ ถึงแม้จะประวิงไม่ให้ความรุนแรงเกิดขึ้นสำเร็จอีกครั้ง แต่...ความว่างเปล่าย่อมเกิดขึ้นในใจผู้แสวงหาทุกคนเป็นแน่แท้...ไม่มากก็น้อย
 

               ขบวนการประชาชนก้าวหน้าเกิดขึ้นได้จากข้อมูลจริง
     
               ขบวนการประชาธิปไตยให้ความสำคัญเรื่องการสร้างขบวนการประชาชนให้เข้มแข็ง หรือการจัดตั้งองค์การมวลชนให้รอบรู้และคัดค้านกิจกรรมของนักเคลื่อนไหวฝ่ายเผด็จการคอมมิวนิสต์และฝ่ายเผด็จการรัฐสภาทั้งสองรูปแบบในการขับเคลื่อนประชาชนผู้บริสุทธิ์ไปเข้าสู่"ภาพมายา" ของการต่อสู้   ตรงกันข้ามขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติพร้อมสนับสนุนขบวนการประชาชนเข้มแข็งที่เกิดจากพลังของการเปลี่ยนแปลงที่บริสุทธิ์ปราศจากแนวร่วมซ่อนเร้นอำพราง

               การให้ข้อมูลข้อเท็จจริงเป็นหนึ่งในวิธีการที่จะทำให้การเคลื่อนขบวนในครั้งนี้ไม่สูญเปล่า
และผู้นำแกนนำพันธมิตรต้องพร้อมปกป้องประชาชนออกจากการตกเป็นเครื่องมือของขบวนเผด็จการสองกลุ่มคือเผด็จการคอมมิวนิสต์และขบวนเผด็จการรัฐสภาซึ่งตัวแทนของคนส่วนน้อยของพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดคือพรรคประชาธิปัตย์
 
               หากพิจารณาตามข้อเท็จจริงของปรากฏการณ์ความขัดแย้งหลักระหว่างประชาชนกับผู้ปกครองเผด็จการเริ่มปรากฏชัดเจนขึ้นเป็นลำดับ  แต่ประชาชนนำโดยแกนนำพันธมิตรนั้นไม่สามารถมีการเคลื่อนไหวครบทั้ง 3
ระดับ คือ มีองค์การมวลชน มีองค์การพรรค และมีองค์การรัฐ ตามแนวทางประชาธิปไตยที่แท้จริง โดยองค์การมวลชนทำหน้าที่ผลักดัน  องค์การพรรคทำหน้าที่สร้างประชาธิปไตย องค์การรัฐทำหน้าที่รับโอนอำนาจอธิปไตย ภายใต้เอกภาพเดียวกัน
  
               ขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติในฐานะผู้ผลักดันหลักได้เสนอแนวทางให้เกิดการสร้างองค์การต่างๆตามลำดับมาโดยตลอดทั้งในระดับองค์การมวลชน ทั้งในระดับพรรค และ ทั้งในระดับองค์การรัฐ
   
               เมื่อถึงเวลาที่ความขัดแย้งประชาชนกับผู้ปกครองเผด็จการพัฒนาขึ้นเป็นความขัดแย้งชี้ขาดความเปลี่ยนแปลงสถานการณ์เฉพาะหน้า เมื่อเผด็จการพ่ายแพ้ประชาชนก็จะชนะ อำนาจจะตกอยู่ในมือของประชาชน
อำนาจอธิปไตยจะเป็นของปวงชนอย่างเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง
    
               สนธิ ลิ้มทองกุลในฐานะผู้ถือดุลแกนนำพันธมิตรฯจะต้องพิสูจน์ได้ว่าเขาได้ทำให้ขบวนการประชาชนเข้มแข็งขึ้นโดยปราศจากอิทธิพลการทำแนวร่วมของขบวนการคอมมิวนิสต์ที่แฝงเร้นอยู่  และสามารถปลดโซ่ตรวนสมาชิกพันธมิตรทั้งหลายออกจากอิทธิพลของการเป็นมวลชนพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคของคนส่วนน้อย   ขั้นตอนการเตรียมความพร้อมของประชาชนด้วยการติดอาวุธทางปัญญาอย่างแท้จริงก็จะเกิดขึ้นอีกขั้นตอนหนึ่ง  !!
 
 
              เปลี่ยนรัฐบาลรักษาการไปสู่รัฐบาลเฉพาะกาลในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ
 
    
              รัฐบาลเฉพาะกาลเป็นรัฐบาลชั่วคราวทำหน้าที่ในระยะเปลี่ยนผ่าน มิได้หมายความจะดำรงอยู่ถาวรตามที่เข้าใจกันผิดแต่เป็นรัฐบาลแก้ปัญหาชาติในทุกมิติก่อนที่รูปแบบประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นได้จริง  หมายความว่ารัฐบาลเฉพาะกาลอาจเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการเลือกผู้แทนเลยก็ย่อมได้  หากวิธีการคัดสรรผู้แทนสู่ "สภาปวงชน" จะเป็นผู้แทนของประชาชนทุกหมู่เหล่าอย่างแท้จริง
    
              รัฐบาลจะต้องมีนโยบาย (Policy) เช่นเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้ารัชกาลที่ 7 ทรงมีพระบรมราโชบายของพระองค์เตรียมพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยก่อนการรัฐประหารยึดอำนาจในปี 2475   ซึ่งสะท้อนอยู่ในคำให้การของอ.ประเสริฐ ทรัพย์สุนทรระหว่างขึ้นศาลพิสูจน์ตนเองในคดีสภาปฏิวัติ  นำสู่การเปลี่ยนแปลงของคนส่วนน้อยไปสู่รัฐบาลของคนส่วนมาก  นี่คือการแก้ปัญหาชาติ  ประเทศไทยก็จะมีรัฐบาลเฉพาะกาลแห่งชาติ มีนโยบายของคนส่วนใหญ่  มีสภาของคนส่วนใหญ่ เปลี่ยนระบอบเผด็จการรัฐสภาเป็นระบอบประชาธิปไตย และปรับระบบรัฐสภาเสียใหม่      รัฐสภานี้จะไม่ประกอบด้วยฝ่ายค้าน แต่ทุกฝ่ายจะร่วมกันทำงานภายใต้ "เครื่องมือ " เดียวกันคือ  "นโยบาย "
                          
                             

                                                      
 
 
 
 
 
 
           อ่านบทความย้อนหลัง...
 
 
  

ปฏิวัติสันติ

 
สมัคร ยกเลิก
 
 
Revolutionary Press Agency
Online Journal and News Agency for Peace  :  วารสารและข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
Copyright © 2024 www.rpathailand.com All Rights Reserved.
ทำเว็บ  ออกแบบเว็บ  Web Design  เว็บสำเร็จรูป  เว็บไซต์สำเร็จรูป