Revolutionary Press Agency : Online Journal and News Agency for Peace
สำนักสื่อปฏิวัติ  : วารสารข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
8 มิ.ย. 2554 กองหน้าประชาชนรุ่นใหม่ อนุสรณ์ สมอ่อน ตอบคำถามคาใจทำไมต้องปฏิวัติประชาธิปไตย? 
จะรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ให้มั่นคงได้อย่างไร?
เขียนโดย ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร  โพสเมื่อ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๒ ๐๓.๕๐น.
        
   
                                                - ตอน ๕ -

           ...การปฏิวัติประชาธิปไตยสมัยรัชกาลที่ 7 ซึ่งประสบความสำเร็จอยู่ในระยะเวลาสั้น ๆ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีส่วนสำคัญที่สุดอยู่ส่วนหนึ่ง และถ้าไม่ได้รับความช่วยเหลือสนับสนุนจากพระองค์ท่านแล้วการปฏิวัติครั้งนั้นอาจล้มเหลวโดยสิ้นเชิงก็เป็นได้

            พระราชบันทึกฉบับหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ พ.ศ.2475 มีข้อความ  ตอนต้นว่า

            “ ก่อนอื่นหมด ข้าพเจ้าขอชี้แจงเสียโดยชัดเจนว่า เมื่อพระยาพหลฯ และคณะผู้ก่อการฯ ร้องขอให้ข้าพเจ้าอยู่ครองราชย์สมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญนั้น ข้าพเจ้ายินดีรับรองก็เพราะเข้าใจและเชื่อมั่นว่า คณะผู้ก่อการฯ ต้องการจะสถาปนาการปกครองแบบ “ประชาธิปไตย” หรือ Democratic Government ตามแบบอย่างของประเทศอังกฤษและประเทศอื่น ซึ่งมีพระมหากษัตริย์ปกครองภายใต้อำนาจอันจำกัดโดยรัฐธรรมนูญ”
           จะเห็นได้ว่า พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่จะทำการปฏิวัติประชาธิปไตยนั้น ในด้านประมุขแห่งรัฐแล้ว ก็เพื่อรักษาระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) ตามแบบอังกฤษและประเทศอื่นที่มีการปกครองระบอบนั้น
  
          แต่การที่ทรงขัดแย้งกับคณะราษฎรก็ไม่ได้ขัดแย้งกันในปัญหาพระมหากษัตริย์สมเด็จพระปกเกล้าฯ กับคณะราษฎรมีความเห็นตรงกันในปัญหานี้ ข้อขัดแย้งอยู่ที่ว่าสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะทำให้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ถ้าอำนาจอธิปไตยซึ่งคณะราษฎรยึดกุมไว้นั้นนำไปใช้ให้เป็นไปตามความต้องการของปวงชนแล้ว พระองค์ท่านก็จะทรงเห็นชอบด้วย ดังพระราชหัตถเลขาตอนหนึ่งว่า
 
 
            “ข้าพเจ้าได้พูดไว้นานแล้วว่า ข้าพเจ้าจะยอมสละอำนาจของข้าพเจ้าให้แก่ราษฎรทั้งปวง แต่ไม่สมัครที่จะสละอำนาจให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือคณะใดคณะหนึ่ง เว้นแต่ว่าเป็นความประสงค์ของประชาชนอันแท้จริงเช่นนั้น” 
  
            อย่างไรก็ดี ความล้มเหลวของการปฏิวัติประชาธิปไตยครั้งนั้นและความขัดแย้งระหว่างสมเด็จพระปกเกล้าฯ กับคณะราษฎรในปัญหาอำนาจอธิปไตยก็มิได้กระทบกระเทือนความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ประการใดเพียงแต่สมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงสละราชสมบัติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบสันตติวงศ์ต่อไป สถาบันพระมหากษัตริย์มีความมั่นคงดังเดิม
  
            จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า การปฏิวัติประชาธิปไตยซึ่งดำเนินการโดยพระมหากษัตริย์และเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่นั้นเป็นไปเพื่อความมั่น
คงของสถาบันพระมหากษัตริย์

        ในตอนก่อนเราชี้ให้เห็นว่า ความไม่มั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์เริ่มมีขึ้นเมื่อมหาอำนาจเจ้าอาณานิคมคุกคามเอกราชของประเทศไทยอย่างรุนแรงในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 5 ครั้งนั้นถ้ามหาอำนาจยึดประเทศไทยได้ ความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ก็จะสูญสิ้นหรือลดลงอย่างมาก ดังตัวอย่างในประเทศเพื่อนบ้าน แต่ด้วยพระราชปรีชาญาณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประเทศไทยก็ผ่านพ้นอันตรายจากมหาอำนาจไปได้ สถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงความมั่นคงต่อไป  และเราได้ชี้ว่า ความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ได้รับความกระทบกระเทือนอยู่บ้างในช่วงของการปฏิวัติประชาธิปไตย แต่จะกระทบกระเทือนอย่างไรนั้น จะต้องดูสภาพความเป็นจริงของกระบวนการปฏิวัติประชาธิปไตยอย่างรอบด้านและละเอียดถี่ถ้วน จึงจะมองเห็นและเข้าใจอย่างถูกต้องได้

         แต่เราจำเป็นต้องขอย้ำไว้ในที่นี้ด้วยว่า เมื่อพูดถึง การปฏิวัติประชาธิปไตย เราหมายถึงจินตภาพ (Concept) ของศัพท์วิชาการ (Technical term) ของคำนี้ในวิชารัฐศาสตร์ อันได้แก่การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบเผด็จการรูปใดรูปหนึ่งเป็นระบอบประชาธิปไตย การปกครองระบอบเผด็จการนั้นมีหลายรูป เช่น ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ระบอบเผด็จการทหาร ระบอบเผด็จการฟาสซิสต์ ระบอบเผด็จการรัฐสภาเป็นต้น การเปลี่ยนแปลงระบอบเผด็จการเหล่านี้เป็นระบอบประชาธิปไตย คือ การปฏิวัติประชาธิปไตย (Democratic Revolution) ซึ่งในศัพท์วิชาการในวิชารัฐศาสตร์ เราหมายถึงจินตภาพนี้เท่านั้นโดยไม่เกี่ยวกับจินตภาพอื่นของปฏิวัติประชาธิปไตย ซึ่งมีผู้ให้ความหมายไปต่าง ๆ นานาตามที่นึกคิดเอาเอง เช่น หมายถึงรัฐประหาร หมายถึงการยึดอำนาจ หมายถึงวิธีการรุนแรง กระทั่งหมายถึงทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์และหมายถึงสายโซเวียต เป็นต้น เหล่านี้เป็นจินตภาพปฏิวัติประชาธิปไตยที่หลายคนกำหนดขึ้นเองตามอำเภอใจ ซึ่งนอกจากจะไม่เอื้อเฟื้อแก่ศัพท์วิชาการแล้ว ยังน่าขายหน้าแก่ชาวต่างประเทศและแก่ผู้รู้ในบ้านเราเองอีกด้วย บางคนไปไกลถึงกับกล่าวว่า คำว่า “การปฏิวัติประชาธิปไตย” นั้นไม่มี คนบางคนตั้งขึ้นมาเอง ก็ประธานาธิบดีมากอสเขียนหนังสือเล่มใหญ่เล่มหนึ่ง ให้ชื่อว่า The Democratic Revolution is the Philippines (การปฏิวัติประชาธิปไตยในฟิลิปปินส์) ท่านผู้นี้ตั้งคำนี้ขึ้นมาเองหรือ ?

           ฉะนั้น เมื่อพูดถึงคำว่า การปฏิวัติประชาธิปไตย เราขอให้พูดในฐานะเป็นศัพท์วิชาการ (Technical term) ของวิชารัฐศาสตร์เพื่อจะได้เกิดประโยชน์แก่การพิจารณาปัญหาของชาติบ้านเมือง แม้คำอื่น ๆ ที่เป็น Technical term เราก็ขอให้พิจารณาด้วยทัศนคติเช่นนี้ ปัญหาของชาติบ้านเมืองเป็นปัญหาใหญ่ ๆ ถ้าแม้แต่การใช้ถ้อยคำก็ไม่เอื้อต่อหลักวิชาการเสียแล้วจะพิจารณาปัญหาของชาติบ้านเมืองกันได้อย่างไร

            ในตอนก่อน เราได้กล่าวถึงการปฏิวัติประชาธิปไตยซึ่งกระทำโดยพระมหากษัตริย์ เจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ว่า นอกจากจะไม่
กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์แล้วยังเป็นการส่งเสริมความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์อีกด้วย ถ้าการปฏิวัติประชาธิปไตยในสมัยรัชกาลที่ 5 ประสบความสำเร็จ หรือสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงทำการปฏิวัติประชาธิปไตยสำเร็จตามที่ทรงตั้งปณิธานไว้แล้ว สถาบันพระมหากษัตริย์ของประเทศไทยจะมั่นคงที่สุด ชาวไทยจะไม่ต้องมากังวลห่วงใยต่อความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์กันอยู่ในเวลานี้เลย
 
                                                                                                       
             
 
                                                                    - ตอน ๖ -

         
            ต่อไปนี้ มาดูการปฏิวัติประชาธิปไตยซึ่งกระทำโดยข้าราชการระดับล่าง และพ่อค้าประชาชน ครั้งแรกคือการปฏิวัติประชาธิปไตยซึ่งนำโดยคณะ รศ.130 มี ร.อ.ขุนทวนหาญพิทักษ์ (หมอเหล็ง ศรีจันทร์) เป็นหัวหน้า ผู้นำคนสำคัญ ๆ ของคณะ เช่น ร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์ ร.ต.จรูญ ษตะเมต ร.ต.หม่อมราชวงศ์ แซ่ รัชนิกร นาย อุทัย เทพหัสดิน นายเซี้ยง สุวงศ์ นาย บุญเอก ตันสถิต ฯลฯ คณะ ร.ศ.130 เป็นคนหนุ่ม อายุถัวเฉลี่ย 20 ปี หัวหน้าคือ ร.อ.ขุนทวยหาญพิทักษ์ อายุ 28 ปี ร.ต.เหรียญ ศรีจันทร์ อายุเพียง 18 ปี

           นายทหารของคณะ ร.ศ.130 เกือบจะทุกคนเป็นมหาดเล็กในกรมหลวงพิษณุโลก นอกนั้นเป็นมหาดเล็กในกรมหลวงนครสวรรค์ กรมหลวงราชบุรี กรมหลวงนครชัยศรี บางคนเป็นเชื้อพระวงศ์ บางคนเป็นข้าหลวงเดิม หรือมหาดเล็กในรัชกาลที่ 6 และกรมหลวงพิษณุโลกทรงระแคะระคายอยู่แล้ว ถึงการเคลื่อนไหวของคณะนี้เพราะเป็นข่าวที่ไม่เป็นความลับอีกต่อไป แต่พระองค์ทรงถือว่าเป็นเรื่องของคนหนุ่มหัวก้าวหน้าและพระองค์ท่านก็ทรงมีพระทัยใฝ่ทางก้าวหน้าอยู่เหมือนกัน

            ความมุ่งหมายของคณะ ร.ศ.130 คือ ยกเลิกระบอบพระมหากษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์และเปลี่ยนแปลงเป็นระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญซึ่งครั้งนั้นหมายถึงระบอบประชาธิปไตย

            คณะ ร.ศ.130 ไม่มีความมุ่งหมายที่ยกเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์ สิ่งที่คาดคิดอยู่บ้างก็คือถ้าหากมีความจำเป็นอย่างที่สุด ก็เปลี่ยนแปลงเพียงองค์พระประมุขเท่านั้น มิใช่เปลี่ยนแปลงสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันประธานาธิบดี แต่ คณะ ร.ศ.130 ก็ไม่เชื่อว่าต้องถึงกับเปลี่ยนแปลงองค์พระประมุข ดังบันทึกของ ร.ต.เหรียญ และ ร.ต.เนตร ผู้นำคนสำคัญของคณะ ร.ศ.130 กล่าวไว้ว่า

            “  ไม่เชื่อว่าจะต้องเปลี่ยนองค์พระประมุขของชาติ  เพราะคณะมีเหตุผลอย่างสมบูรณ์ที่ทำให้ถวายความเชื่อในพระเกียรติยศแห่งองค์พระประมุขว่า พระองค์ทรงสืบสายโลหิตมาแต่ตระกูลขัตติยะและทรงศึกษามาจากสำนักที่ทรงเกียรติอันสูงส่ง ณ ประเทศอังกฤษ   ซึ่งเป็นมารดาแห่งการปกครองระบอบประชาธิปไตย..หากคณะจักมีความจำเป็นที่สุดที่จะเดินหน้าจนถึงกับจะต้องเปลี่ยนองค์พระประมุขแห่งชาติแล้วไซร้...เช่นที่เคยมีการปรึกษาหารือกันภายในของแต่ละกลุ่มสมาชิกไว้ดังนี้ ฝ่ายทหารบกจะทูลเชิญทูลกระหม่อมจักรพงศ์ ฝ่ายทหารเรือจะทูลเชิญทูลกระหม่อมบริพัตร และฝ่ายกฎหมายกับพลเรือนจะทูลเชิญในกรมหลวงราชบุรี ”

            และวิธีการของการปฏิวัติประชาธิปไตยครั้งนั้น คณะ ร.ศ.130 ได้กำหนดไว้ว่าจะปฏิบัติการโดยสงบ มิให้มีการต่อสู้กันด้วยกำลัง โดยคณะปฏิวัติจะเข้าเฝ้าทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวันถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา 1 เมษายน 2455 ดังบันทึกของ ร.ต.เนตร และ ร.ต.เหรียญ กล่าวไว้ว่า

            “ ยังเหลือเวลาประมาณ 50 วันเท่านั้นก็จะถึงวาระสำคัญของคณะปฏิวัติที่จะเบิกโรงดำเนินการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายหนังสืออันเป็นประวัติศาสตร์ของชาติไทย แด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระประมุขแห่งชาติด้วยคารวะอย่างสูง   โดยหัวหน้าคณะปฏิวัติ ณ ภายในอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ท่ามกลางพระบรมวงศานุวงศ์ และมวลอำมาตย์ข้าราชบริพารชั้นผู้ใหญ่ในพระราชพิธีศรีสัจจปานกาล คือถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาในต้นเดือนเมษายน ร.ศ.130 (พ.ศ.2455) อันเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยสมัยนั้น โดยมีกำลังทหารทุกเหล่าในพระนครพร้อมด้วยอาวุธ ซึ่งปกติทุกปีมาเคยตั้งแถวเป็นเกียรติยศรับเสด็จพระราชดำเนิน ณ สนามหญ้าหลังวัดพระแก้วโดยพร้อมสรรพ    และเฉพาะปีนี้ก็พร้อมที่จะฟังคำสั่งของคณะปฏิวัติอยู่รอบด้านอีกด้วย เพราะทหารทุกคน ณ ที่นั้นเป็นทหารของคณะปฏิวัติแล้วเกือบสิ้นเชิง........
              แม้แต่ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์และทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ที่ถือปืนสวมดาบปลายปืนยามรักษาพระองค์อยู่หน้าประตูโบสถ์ก็คือทหารคณะปฏิวัตินั่นเองตามแผนของคณะฯ จักไม่มีการต่อสู้กันเลยจากทหารที่ถืออาวุธในพระนคร เพราะหน่วยกำลังที่จะช่วงใช้เพื่อรบราฆ่าฟันกันเองจะมีขึ้นไม่ได้เป็นอันขาด แม้นายทัพนายกองชั้นสูงคนใดจะออกคำสั่งก็หาเป็นผลประการใดไม่    ค่าที่หน่วย   กำลังอันแท้จริงของกองกำลังนั้น   ได้ตกอยู่ในกำมือของพรรคปฏิวัติดังกล่าว นับแต่ชั้นพลทหารและนายสิบขึ้นไป จนถึงนายทหารผู้บังคับบัญชา โดยตรงคือชั้นประจำกอง โดยคณะปฏิวัติจำต้องจัดหน่วยกล้าตายออกคุมจุดสำคัญ ๆ ในพระนครพร้อมกันเมื่อได้ยินเสียงกระหึ่มของปืนใหญ่อาณัติสัญญาณลั่นขึ้นในพระนครสองสามแห่งและพร้อมกันนั้นต้องใช้กำลังเข้าขอร้องเชิงบังคับให้นายทหารชั้นผู้ใหญ่บางคนที่เห็นสมควร และชี้ตัวไว้แล้วมาดำเนินการร่วมด้วยกับคณะในบางตำแหน่งโดยขอให้พิจารณาตัดสินใจทันทีเพื่อความเจริญของชาติไทยในสมัยอารยนิยม  ”

             เมื่อตรวจสอบเจตนาและพฤติกรรมของคณะ ร.ศ.130 โดยละเอียดแล้วจะไม่พบเลยว่าคณะ ร.ศ.130 มีความมุ่งหมายจะยกเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์ และนำเอาสถาบันประธานาธิบดีหรือสถาบันอื่นมาเป็นประมุขของประเทศแทน ตรงกันข้าม จะพบแต่การเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งต้องการจะเชิดชูองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวให้สูงส่งยิ่งขึ้นด้วย โดยปรารถนาที่จะให้พระองค์ท่านทรงร่วมมือกับคณะโดยดำรงฐานะพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเวลานั้นเรียกว่า “ลิมิเต็ดมอนากี” ดังคำให้การของ ร.อ.ขุนทวยหาญฯ หัวหน้าคณะต่อศาลทหารว่า
   
             “ เพียงแต่มีการหารือกันเพื่อทำหนังสือทูลเกล้าฯถวาย ในอันจะขอพระมหากรุณาธิคุณให้องค์พระมหากษัตริย์ ทรงปรับปรุงการปกครองให้สอดคล้องกับกาลสมัย โดยเปลี่ยนการปกครองเป็น ลิมิเต็ดมอนากี นอกจากนั้น สมาชิกของคณะ ร.ศ.130 บางคนเข้าร่วมการปฏิวัติประชาธิปไตย ด้วยความหวังที่จะดำรงไว้ซึ่งความเป็นพระประมุขของสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ด้วยเห็นว่าการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จะเป็นภัยแก่พระองค์ท่าน ในจำนวนนั้นมีอยู่คนหนึ่งชื่อ ร.ท. แม้น สังขวิจิตร ผู้บังคับกองร้อยมหาดเล็กรักษาพระองค์ ซึ่งสมเด็จพระมงกุฎเกล้าทรงโปรดปรานมาก และ ร.ท.แม้น   ก็ถวายความจงรักภักดีต่อพระองค์เสมอด้วยบิดาบังเกิดเกล้า ร.ต.เนตร บันทึกไว้ว่า    “   การร่วมปฏิวัติของเขา ก็คือความหวังที่จะดำรงไว้ซึ่งความเป็นประมุขของพระองค์ในภาวะอนาธิปไตย โดยเห็นว่า การปกครองแบบราชาธิปไตยนี้จะเป็นยาพิษแก่ราชบัลลังก์อย่างแน่แท้  ”
 
               
                                                             
            
                     (อ่านต่อตอนหน้า)
 
 
 
 
               อ่านย้อนหลัง...
 
 
 

ปฏิวัติสันติ

 
สมัคร ยกเลิก
 
 
Revolutionary Press Agency
Online Journal and News Agency for Peace  :  วารสารและข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
Copyright © 2024 www.rpathailand.com All Rights Reserved.
ทำเว็บ  ออกแบบเว็บ  Web Design  เว็บสำเร็จรูป  เว็บไซต์สำเร็จรูป