Revolutionary Press Agency : Online Journal and News Agency for Peace
สำนักสื่อปฏิวัติ  : วารสารข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
8 มิ.ย. 2554 กองหน้าประชาชนรุ่นใหม่ อนุสรณ์ สมอ่อน ตอบคำถามคาใจทำไมต้องปฏิวัติประชาธิปไตย? 
 
อุปสรรคความสำเร็จการปฏิวัติประชาธิปไตยในประเทศไทย
เขียนโดย ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร โพสเมื่อ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๒ เวลา ๐๐.๕๐ น.
 
แนวความคิดทางการเมืองของอาจารย์ปรีดี
 
 
 
            (ต่อจากตอนที่แล้ว)
 
 
            ประเด็นสำคัญของข้อเท็จจริงที่เล่ามานี้อยู่ที่ว่าอาจารย์ปรีดีเมื่อตั้งขบวนเสรีไทยขับไล่ญี่ปุ่นออกไปแล้ว  ไม่เป็นอิสระแก่ตนเองแต่กลับไปหวังพึ่งอเมริกา ผมเองได้พบเสรีไทยชั้นใหญ่ๆ หลายคน ล้วนแล้วแต่เชียร์อเมริกาก็จะมาเล่นงานจอมพลป.เองก็เห็นได้ชัดทันทีว่า อาจารย์ปรีดีหวังพึ่งอเมริกาสุดตัวเสียแล้ว   แต่จอมพลป.พึ่งอเมริกาเก่งกว่า  จึงทำรัฐประหารโค่นอาจารย์ปรีดีได้ง่ายดาย  แล้วก็พึ่งอเมริกาเต็มเหยียดตลอดมาจนเกือบจะไม่เป็นตัวของตัวเองเลยอย่างที่รู้กันทั่วไปอยู่แล้ว 
             จึงเห็นได้ว่า การที่นโยบายต่างประเทศของไทยหลังสงครามเสียหายไปอย่างมากสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน  ต้นตอก็อยู่ที่การหวังพึ่งอเมริกาจนเกินขอบเขตของอาจารย์ปรีดีตั้งแต่สมัยทำเสรีไทยนั่นเอง  จอมพลป.และคนอื่นๆ เป็นแต่เพียงผู้สืบทอดการหวังพึ่งอเมริกาของอาจารย์ปรีดีเท่านั้นเอง
             ผมคิดว่า ถ้าอาจารย์ปรีดีหวังพึ่งตนเองไม่หวังพึ่งอเมริกา จอมพลป.คงจะทำรัฐประหารต่อท่านไม่สำเร็จ
             ส่วนนโยบายภายในประเทศหลังสงคราม อาจารย์ปรีดีก็คงรักษาระบอบเผด็จการไว้ตามเดิม จะเห็นได้จากรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2489
ซึ่งท่านร่างเองก็คงบัญญัติไว้ว่า “อำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวไทย” ตัดเสรีภาพทางการเมืองอย่างรุนแรงโดยกำหนดให้มีพรรคการเมืองภายใต้กฎหมายพรรคการเมืองและไม่อนุญาตให้ตั้งสหภาพแรงงาน นอกจากการไม่สนับสนุนให้มีกฎหมายแรงงานดังกล่าวมาแล้ว 
             สำหรับทัศนคติต่อพรรคคอมมิวนิสต์นั้น อาจารย์ปรีดีถือว่าตนเองเป็นผู้รู้ลัทธิมาร์กซ์ลัทธิเลนิน  แต่ตามความเห็นของผม ท่านรู้ไม่ถึงแก่นแท้  แต่ท่านไม่ปฏิเสธการติดต่อกับพรรคคอมมิวนิสต์  พคท.พยายามทำแนวร่วมกับท่านหลายครั้งแต่ไม่เคยสำเร็จ ครั้งหลังสุดพคท.ตั้งแนวร่วมรักชาติ  มีพ.ท.พโยม จุลานนท์เป็นผู้แทนในต่างประเทศ มีหน้าที่สำคัญในการทำแนวร่วมกับอาจารย์ปรีดี  แต่เขาเล่ากันว่า พ.ท.พโยมกลับเป็นต้นเหตุให้การทำแนวร่วมกับอาจารย์ปรีดีพัง  อาจารย์ปรีดีนั้น เพียงแต่เป็นแนวร่วมกับพคท.ก็ยังไม่ได้   แต่ก็ยังมีคนพูดไปได้ว่าอาจารย์ปรีดีเป็นคอมมิวนิสต์ ส่วนความสัมพันธ์กับประเทศสังคมนิยมนั้น  อาจารย์ปรีดีทำได้เหนือกว่านายกรัฐมนตรีคนอื่นๆ  คือเป็นผู้เปิดความสัมพันธ์การทูตกับสหภาพโซเวียตและกำลังเตรียมจะเปิดความสัมพันธ์การทูตกับจีนคอมมิวนิสตืเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์ชนะในแผ่นดินใหญ่เมื่อพ.ศ. 2492 แต่อาจารย์ปรีดีถูกโค่นเสียก่อน ความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนจึงเพิ่งจะมีขึ้นเมื่อม.ร.ว.คึกฤทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี  
            ผมเข้าใจว่าการที่อาจารย์ปรีดีไปลี้ภัยในประเทศจีนก็เพื่อหลบคดีลอบปลงพระชนม์และจิตใจของอาจารย์ปรีดีคงชอบเสรีนิยมมากกว่าสังคมนิยม เมื่อหมดอายุความล้วจึงย้ายจากจีนไปอยู่ฝรั่งเศส และที่ท่านไม่กลับเมืองนั้น ผมคิดว่าท่านอาจจะกลัวมากไปหน่อย ผมเคยบอกกับคนใกล้ชิดของอาจารย์ปรีดีว่า  กลับมาเมืองไทยดีกว่า  จะได้หมดปัญหาที่สงสัยกันไปต่างๆนานา คนใกล้ชิดบอกว่าท่านกลัวว่าจะไม่ปลอดภัย  ผมบอกว่าเมื่อหนุ่มไม่กลัว กล้าล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งน่ากลัวที่สุด  แก่แล้วทำไมจึงกลัว   ตอนหนุ่มต่างหากน่ากลัว  เพราะจะยังอยู่อีกนานแก่แล้วอยู่อีกไม่กี่ปีจะกลัวไปทำไม และที่จริงก็ไม่เห็นจะมีอะไรขอให้ดูจอมพลถนอมจอมพลประภาสถูกหาว่าเป็นถึงทรราชก็มาอยู่บ้านสบายดีผมเคยฝากคนใกล้ชิดไปเรียนอาจารย์ปรีดีว่า กลับมาเมืองไทยเสียดีกว่า 
             เหล่านี้ คือปัญหาการเมืองในด้านนโยบายอย่างย่อๆของอาจารย์ปรีดีตามที่ผมเคยเห็นมา 
             ทีนี้จะขอกล่าวถึงด้านวิธีการของท่าน วิธีการของอาจารย์ปรีดีคือวิธีรัฐประหาร  จะเห็นได้จากคำอธิบายของอาจารย์ปรีดี เกี่ยวกับวิธีการปฏิวัติประชาธิปไตย  ในเอกสารเรื่อง   “บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย” ว่า  
             “ โดยคำนึงถึงสภาพของสยามที่ถูกแวดล้อมโดยอาณานิคมของอังกฤษและฝรั่งเศสซึ่งชาติทั้งสองนี้มีข้อตกลงกันถือเอาสยามเป็นประเทศกันชน   แต่เขาอาจพร้อมกันยกกำลังทหารเข้ามายึดครองแล้วแบ่งดินแดนสยามไปเป็นเมืองขึ้นหรืออยู่ใต้อำนาจอิทธิพลของประเทศทั้งสอง   ดังนั้นเราจึงเห็นว่าวิธีการเปลี่ยนการปกครองดังกล่าวจะต้องกระทำโดยวิธี Coup d’etat ซึ่งเราเรียกกันด้วยคำไทยธรรมดาว่าการยึดอำนาจโดยฉับพลัน   เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีผู้ใดตั้งศัพท์ไทยว่า  “รัฐประหาร” เพื่อถ่ายทอดศัพท์ฝรั่งเศสดังกล่าวนั้น  ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันการแทรกแซงของมหาอำนาจเพราะเมื่อคณะราษฎรได้อำนาจโดยฉับพลันแล้ว  มหาอำนาจก็จะต้องเผชิญต่อสถานการณ์ที่เรียกเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า Fait accompli คือพฤติการณ์ที่สำเร็จรูปแล้ว” 
             รัฐประหาร หมายถึงการเปลี่ยนรัฐบาลเท่านั้น แต่เป็นการเปลี่ยนรัฐบาลด้วยวิธีผิดกฎหมาย  รัฐประหารไม่หมายความถึงการเปลี่ยนรัฐหรือเปลี่ยนระบอบการปกครอง  ฉะนั้นโดยทั่วไปแล้วจะนำเอารัฐประหารมาใช้ในการเปลี่ยนรัฐหรือเปลี่ยนระบอบการปกครองมิได้ หากจะมีได้ก็ในกรณีพิเศษโดยแท้เท่านั้น 
             แต่อาจารย์ปรีดีกำหนดให้ใช้วิธีการรัฐประหารในการปฏิวัติประชาธิปไตย   ซึ่งใช้ไม่ได้สำหรับประเทศไทย   และนี่คือเหตุสำคัญประการหนึ่งของความล้มเหลวของการปฏิวัติประชาธิปไตยของคณะราษฎร  ซึ่งนำโดยอาจารย์ปรีดี  
             พวกเราเกลียดกลัวรัฐประหารกันมาก และเมืองไทยมีรัฐประหารมากครั้งจนผมเองก็จำไม่ได้  แต่พวกเรามักจะโยนเรื่องรัฐประหารไปให้ทหาร  ที่จริง ต้นคิดรัฐประหารของไทยเป็นพลเรือน  ไม่ใช่ทหาร ทหารเพียงแต่เอาอย่างพลเรือนเท่านั้นเอง  และพลเรือนผู้ต้นคิดรัฐประหารให้พวกเราเกลียดกลัวกันหนักหนา  ก็คืออาจารย์ปรีดีนั่นเอง  อาจารย์ปรีดีคิดอะไรและทำอะไรไว้  ผู้คนมักจะเอาอย่างและแก้ยาก   ดังเรื่องราวในด้านนโยบายที่ผมเล่ามาในด้านวิธีการก็เช่นเดียวกัน   ความคิดรัฐประหารและการทำรัฐประหารของอาจารย์ปรีดี  ผู้คนก็เอาอย่างและแก้ยากเช่นเดียวกัน  แม้จนถึงวันนี้ผู้คนก็ยังไม่นอนใจว่าจะเกิดรัฐประหารหรือไม่ ทั้งๆที่ต้นคิดรัฐประหารถึงอสัญกรรมไปแล้ว 
             ฉะนั้น  ความคิดรัฐประหารและการทำรัฐประหารจึงเป็นความผิดพลาดร้ายแรงของอาจารย์ปรีดีในด้านวิธีการ   ไม่น้อยกว่าในด้านนโยบาย 
             เมื่อได้กล่าวถึงนโยบายและวิธีการในการปฏิวัติของคณะราษฎร  ซึ่งนำโดยอาจารย์ปรีดีแล้ว  เนื่องจากในระยะเดียวกัน  มีนโยบายและวิธีการปฏิวัติประชาธิปไตยของอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งควรเอานำมาเปรียบเทียบเพื่อประกอบการพิจารณา 
             พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ทรงรับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์  ได้ทรงพระราชดำริที่จะทำการปฏิวัติประชาธิปไตยมาโดยตลอด   และเมื่อเสด็จประพาสสหรัฐฯ  ได้พระราชทานสัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ในสหรัฐฯว่า  เมื่อเสด็จนิวัตพระนครแล้วจะทรง “ ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย  ฉะนั้นหลังจากเสด็จนิวัติพระนคร  จึงทรงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ ทรงจัดการร่างรัฐธรรมนูญ  กรมหมื่นเทววงศ์ทรงมอบให้นายเรมอนด์ บี สตีเวน อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ และเป็นที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศกับพระยาศรีสารวาจา  ปลัดทูลฉลองกระทรวงการต่างประเทศไปพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ   บุคคลทั้งสองเห็นว่ายังไม่ควรให้มีการเลือกตั้งทั่วไปเพื่อตั้งสภาผู้แทนราษฎรในทันที แต่ควรดำเนินการเป็นขั้นๆ   โดยขยายการใช้กฎหมายเทศบาล (เวลานั้นเรียกว่าสุขาภิบาล)  ออกไปทั่วประเทศ  เพื่อให้ราษฎรชำนาญในการเลือกตั้งตามหลักของระบบรัฐสภา  ในขณะเดียวกันก็ให้จัดตั้งสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราวขึ้น  โดยใช้สภาองคมนตรีเป็นแกนของสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราว  เพราะว่าสภาองคมนตรีซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 40 คนนั้น  เป็นผู้แทนของปัญญาชนในประเทศไทยอยู่แล้ว  ถ้าใช้สภาองคมนตรีเป็นแกนและขยายสมาชิกภาพให้กว้างออกไป  โดยประกอบด้วยผู้แทนของสาขากิจการและสาขาอาชีพต่างๆ  สภาองคมนตรีจะกลายเป็นสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราวได้   และดำเนินการเลือกตั้งทั่วไป  เพื่อเอารัฐสภาซึ่งประกอบด้วยสมาชิกจากการเลือกตั้งเข้าแทนที่สภาผู้แทนราษฎรชั่วคราว  พร้อมทั้งโอนอำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นของพระมหากษัตริย์ไปให้แก่รัฐสภา  รัชกาลที่ ๗ ทรงเห็นชอบกับนโยบายนี้  และทรงกำหนดให้เปิดรัฐสภาในวันที่ ๖ เมษายน ๒๔๗๕  ซึ่งเป็นวันจักรีครบรอบ ๑๕๐ ปี ” 
 
 
              แต่นโยบายนี้ถูกคัดค้านจากวงการที่มีอิทธิพลสูง  รัชกาลที่ ๗ จึงทรงเลื่อนวันพระราชทานรัฐธรรมนูญออกไป  เพื่อศึกษาเรื่องนี้ให้ดี
ยิ่งขึ้น   แต่ขณะที่เสด็จประทับอยู่  ณ พระราชวังไกลกังวล  หัวหิน คณะราษฎรก็ทำรัฐประหารปฏิวัติเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ 
              สำหรับวิธีการนั้น รัชกาลที่ ๗ ไม่ทรงมีพระราชดำริที่จะใช้วิธีการรัฐประหาร  แต่จะทรงดำเนินการด้วยอำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์ที่ทรงมีอยู่แล้ว   
              จะเห็นได้ว่า ในระยะแรก คณะราษฎรกับรัชกาลที่ ๗ มีความเห็นตรงกัน คือสถาปนาอำนาจอธิปไตยของปวงชน  ทางด้านคณะราษฎรแม้ว่าจะไม่สู้ชัดเจนในเรื่องนี้  เพราะในนโยบายเพียงแต่กำหนดว่า “การเปลี่ยนแปลงการปกครองของกษัตริย์เหนือกฎหมายเป็นการปกครองที่มีกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย”  ก็ตาม  แต่ในรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ชัดเจนว่า “ อำนาจสูงสุดนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” ซึ่งรัชกาลที่ ๗ ไม่ได้ทรงขัดแย้งในข้อนนี้  แต่ทรงยืนยันตลอดมาว่า “ ข้าพเจ้าได้พูดไว้นานแล้วว่า  ข้าพเจ้าจะยอมสละอำนาจของข้าพเจ้าให้แก่ราษฎรทั้งปวง...” และว่า “ โดยเหตุนี้ เมื่อคณะผู้ก่อการฯ ร้องขอให้ข้าพเจ้าเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ  ข้าพเจ้าจึงรับรองได้ทันที โดยไม่มีเหตุข้องใจอย่างใดเลย ” (จากพระราชบันทึก) 
              ต่อมา  เกิดความขัดแย้งในปัญหาการเมืองระหว่างร.๗ กับคณะราษฎรมากมายหลายเรื่อง  แต่มูลเหตุมาจากเรื่องเดียวคือคณะราษฎรยกเลิกเรื่องหลักสาระสำคัญของระบอบประชาธิปไตยเสีย โดยเปลี่ยนหลัก “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน” ซึ่งก็คือเปลี่ยนระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบเผด็จการนั่นเอง   และโดยเหตุนี้ ร.๗ จึงทรงประโยคต่อไปในพระราชบันทึกว่า “ แต่ไม่สมัครที่จะสละอำนาจให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือคณะใดคณะหนึ่ง  เว้นแต่จะรู้ว่า เป็นความประสงค์ของประชาชนอันแท้จริงเช่นนั้น ” 
              การที่คณะราษฎร ภายใต้การนำของอาจารย์ปรีดี เริ่มเปลี่ยนระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบเผด็จการ  ตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม  ๒๔๗๕ นั้น  ไม่ “ เป็นความประสงค์ของประชาชนอันแท้จริงเช่นนั้น ” เพราะประชาชนต้องการระบอบประชาธิปไตย  ต้องการอำนาจอธิปไตยของปวงชน  
              ฉะนั้น เมื่อนำเอานโยบายและวิธีการปฏิวัติประชาธิปไตยของร.๗ กับของคณะราษฎรภายใต้การนำของอาจารย์ปรีดีมาเปรียบเทียบกันแล้ว จะเห็นได้ว่า นโยบายและวิธีการของร.๗ ถูกต้องกว่า ถ้า ร.๗ ทรงทำการปฏิวัติประชาธิปไตยเอง  ตามนโยบายและวิธีการดังกล่าว  โดยคณะราษฎรไม่ชิงทำเสียก่อนการปฏิวัติประชาธิปไตยในประเทศไทยก็คงจะสำเร็จไปนานแล้ว 
              ผมขอกล่าวถึงด้านการเมืองของอาจารย์ปรีดี เพียงย่อๆเท่านี้

 
            
               (อ่านต่อตอนหน้า)
 
 
 
 
 
 
                  อ่านย้อนหลัง...
 
 
 
 
 
 

ปฏิวัติสันติ

 
สมัคร ยกเลิก
 
 
Revolutionary Press Agency
Online Journal and News Agency for Peace  :  วารสารและข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
Copyright © 2024 www.rpathailand.com All Rights Reserved.
ทำเว็บ  ออกแบบเว็บ  Web Design  เว็บสำเร็จรูป  เว็บไซต์สำเร็จรูป