Revolutionary Press Agency : Online Journal and News Agency for Peace
สำนักสื่อปฏิวัติ  : วารสารข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
8 มิ.ย. 2554 กองหน้าประชาชนรุ่นใหม่ อนุสรณ์ สมอ่อน ตอบคำถามคาใจทำไมต้องปฏิวัติประชาธิปไตย? 
พระพุทธศาสนาแนวคิดเพื่อพัฒนาสังคมและการเมือง
ดร.บี อาร์ อัมเบดการ์
ถอดความโดย
พระดร.สมชัย กุสลจิตฺโต พระราชปัญญาเมธี โพสเมื่อ ๓ มิ.ย. ๒๕๕๒ เวลา ๐.๕๐ น.
 
                 (ต่อจากตอนที่แล้ว)
 
              พระโลกนาถกับดร.อัมเบดการ์
 
 
              เมื่อทราบข่าวว่า ดร.อัมเบดการ์กับบริวารได้ตัดสินใจประกาศไม่เอาศาสนาฮินดูแล้วในการประชุมที่เยียลา (Yeola) ในเดือนตุลาคมพ.ศ.๒๔๗๘ พระโลกนาถครูสอนพระพุทธศาสนา เชื้อสายอิตาเลี่ยนซึ่งเสมือนเป็นรูปกายที่ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ของพระพุทธเจ้า  ได้เดินทางเข้ามาอินเดีย เมื่อตอนปลายปี พ.ศ.๒๔๗๘ และได้พบกับดร.อัมเบดการ์หลายครั้ง ณ ห้องสมุดส่วนตัวของท่าน บ้านราชคฤห์ เขตดาดาร์ มหานครบอมเบย์ งานของพระโลกนาถประสบความสำเร็จอย่างสูง ที่สามารถทำให้อัมเบดการ์มั่นใจยิ่งขึ้นว่า พระพุทธศาสนาเท่านั้นเป็นศาสนาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับบริวารของดร.อัมเบดการ์
              ดังนั้นต่อมา ดร.อัมเบดการ์กับท่านพระโลกนาถก็ได้ติดต่อกันทางจดหมาย มีหนังสือเล่มเล็กๆเกี่ยวกับเรื่องนี้ตีพิมพ์เผยแพร่ออกไป ๓ เล่ม ในจำนวนนี้มีเล่มหนึ่งชื่อว่า “ พระพุทธศาสนาจะให้อิสรภาพแก่ท่าน (Buddhism Will Make You Free) ” พิมพ์ที่ปานทุระ (Panadura) ประเทศศรีลังกา เมื่อปีพ.ศ.๒๔๗๙ นอกจากจะมีเนื้อหาด้านอื่นแล้ว ในหนังสือเล่มนั้นยังมีจดหมายที่พระโลกนาถได้ลิขิตถึง ดร.อัมเบดการ์ตีพิมพ์รวมอยู่ด้วย ๒ ฉบับ
 
              จดหมายของพระโลกนาถที่มีถึง ดร.อัมเบดการ์
 
              จดหมายฉบับแรกลงวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๔๗๙ จากกรุงโคลัมโบ มีข้อความดังต่อไปนี้

             "....ประชาชนผู้ถูกกดขี่ทั้งหลายจะต้องทิ้งศาสนาฮินดูไปนับถือศาสนาอื่น ซึ่งจะให้สถานภาพทั้งทางสังคมและทางศาสนาที่เท่าเทียมกันแก่พวกเรา  นี้คือมติเอกฉันท์ของพวกท่าน  สอดคล้องกับการประกาศตัดสินใจอันโด่งดังของพวกท่านในการประชุมกันที่เยียลา (Yeola) นาสิก เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา 
            มันเป็นแรงบันดาลใจที่เป็นทิพย์จริงๆ ที่ทำให้ท่านมุ่งไปที่การเปลี่ยนศาสนา...ไม่ต้องสงสัยเลย สักวันหนึ่งอินเดียจะเป็นอิสระ(จากการเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ) ดร.อัมเบดการ์กับบริวาร ๖๐ ล้านคน กลับมาสมาทานนับถือพระพุทธศาสนา พม่าและศรีลังกาคงปลาบปลื้มยินดีร่วมกับอินเดียอีก ขอให้ท่านใช้วิสัยทัศน์เชิงพยากรณ์มองไปในอนาคตให้ไกลเถิด  และมาสมาทานยกย่องพระพุทธศาสนา...ศาสนาที่บริสุทธิ์ผุดผ่องที่สุดในโลกกันเถิด 
            โปรดอย่าด่วนเชื่อผู้ที่ชอบพูดว่า “พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาไม่มีพระเจ้า (Buddhism is Godless) แต่พระพุทธศาสนามิใช่ไม่มีการยอมรับนับถือพระเจ้าเท่านั้น  พระพุทธศาสนายังเป็นศาสนาแห่งสัจธรรมอีกด้วย 
            ท่านดร.อัมเบดการ์ โปรดอย่าหลงเชื่อคนที่พูดว่า นิพพานมีสภาวะสูญ ไม่มีอะไร นิพพานในพระพุทธศาสนา มิใช่สภาวะสูญ  ไม่มีอะไร แต่นิพพานเป็นความจริงสูงสุด เป็นปรมัตถสัจจะ อยู่เหนือการเปลี่ยนแปลงใดๆ  โลกนี้คือความไม่จริง เป็นอสัจจะหรือสมมุติสัจจะที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา พระนิพพานเป็นแสงสว่างท่สว่างไสวที่สุด(เพราะ)เป็นแสงสว่างแห่งปัญญา โลกนี้กำลังตกอยู่ในความมืดมนที่เลวร้ายรุนแรงที่สุด (เพราะ) เป็นความมืดมนอนธการแห่งอวิชชา  พระนิพพานเป็นสภาวะที่สิ้นไปแห่งราคะ โทสะและโมหะ โลกนี้เต็มไปด้วยกิเลสดุจไฟเหล่านี้  ซึ่งร้อนแรงที่สุด ร้อนยิ่งกว่าไฟธรรมดามากมายนัก... 
           ท่านดร.อัมเบดการ์ โปรดอย่าหลงเชื่อผู้ที่พูดว่าพระพุทธศาสนาเป็นต้นเหตุให้อินเดียล่มสลาย มิใช่พระพุทธศาสนา แต่คือศาสนาพราหมณ์ต่างหากที่เป็นสาเหตุให้อินเดียล่มสลาย  ศาสนาพราหมณ์ทำความพินาศให้แก่อินเดียโดยการสร้างระบบวรรณะขึ้นมา  ความรักความเมตตาสร้างสามัคคีเอกภาพ  แต่ความเกลียดชังสร้างความแบ่งแยกแตกต่าง... 
           ท่านดร.อัมเบดการ์ ขอให้ท่านมองให้ไกลไปในอนาคตเถิด และกลับมาสมาทานนับถือพระพุทธศาสนา  ซึ่งเป็นศาสนาที่จะนำท่านไปสู่พระนิพพานแดนบรมสุข  พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของอินเดียเพียงศาสนาเดียวที่พิชิต(หัวใจของ) เอเชียไว้ได้  ชาวเอเชียนอกจากประเทศอินเดีย ประมาณ ๕๐๐ ล้านคนต่างเป็นพุทธศาสนิกชน พวกเราเห็นคลื่นพระพุทธศาสนาที่เอาจริงเอาจังลาดไหลไปทั่วอินเดีย  ส่อแสดงถึงการกลับฟื้นคืนตัวของพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาอนาคตที่กำลังรุ่งเรืองก้าวล้ำนำหน้าวิทยาศาสตร์ และจะต้องได้รับการยอมรับในวงสากลในฐานะเป็นความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์(ทางจิตใจ) ด้วย... 
           ในท้ายที่สุดนี้ กรุณาให้อาตมภาพย้ำคำพูดครั้งสุดท้ายที่เคยพูดกับท่านที่บอมเบย์อีกครั้ง  ท่านดร.อัมเบดการ์ ขอให้ท่านทนแบกรับภาระความรับผิดชอบที่แสนหนักนี้ด้วยบ่าของท่าน  ท่านมีอำนาจที่จะดลบันดาลให้ผู้ถูกกดขี่ทั้งหลายประสบบรมสุขหรือเจอกับความทุกข์มหันต์ชะตากรรมทางจิตวิญญาณของพวกเขากำลังวางอยู่ในอุ้งมือของท่าน  ถ้าท่านเลือกนับถือศาสนาต่ำทราม ท่านและบริวารจะสูญเสีย(ขาดทุน) โปรดช่วยพวกเขาด้วย นำพวกเขาเข้าไปสู่(ร่มเงาของ) พระพุทธศาสนา  ศาสนาแห่งพระนิพพานแดนบรมสุข และศาสนาแห่งมรรคานำไปสู่พระนิพพานแดนบรมสุข พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งสัมมาทิฎฐิ อาตมภาพยังจำถ้อยคำสดุดีพระพุทธศาสนาอันซาบซึ้งตรึงใจของท่านได้ และยังจำรูปภาพของพระพุทธเจ้าที่กลมกลืนและงดงามที่สุด  ซึ่งแขวนอยู่บนผนังในห้องสมุดของท่านได้  ดังนั้น อาตมภาพจึงเชื่อมั่นที่สุดว่าท่านจะนำบริวารของท่านเดินไปบนสัมมามรรค  โดยการยอมรับนับถือพระพุทธศาสนา  เพราะท่านเองได้บอกอาตมภาพที่บอมเบย์ว่า “พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาที่งดงามที่สุดในโลก (Buddhism is the Finest Religion in the World).

              ในจดหมายฉบับที่สองจากเมืองปานทุระ ประเทศศรีลังกา ลงวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๔๗๙ ที่ท่านโลกนาถภิกขุ มีลิขิตถึงดร.อัมเบดการ์ ขณะพำนักอยู่ในบอมเบย์ มีใจความดังนี้

             "....ท่านได้ศึกษาหนังสือพระพุทธศาสนามามากพอควรแล้ว  บัดนี้ขอให้ท่านพิจารณาดูพระพุทธศาสนาที่มีชีวิตชีวาอยู่จริงๆ ด้วยตาของท่านเอง เพียงแต่การมองดูหยาบๆเผินๆเท่านั้น  ก็สอนท่านมากมาย  คิดเป็นเล่มๆหนังสือเลยทีเดียว  ขอท่านจงดูความสงบสุขและความเจริญรุ่งเรืองของศรีลังกา พม่า และสยาม แล้วลองเปรียบเทียบกับความเศร้าสร้อยและความทุกข์ยากของอินเดียเถิด... 
          ท่านดร.อัมเบดการ์ โปรดจำไว้ด้วยว่า มีอยู่เพียงศาสนาเดียวเท่านั้นที่จะยกสถานภาพของพวกจัณฑาลให้สูงขึ้นและจะให้ความเสมอภาคทั้งทางศาสนาและทางสังคมที่พวกเขาต้องการ ศาสนาที่ว่านั้นก็คือพระพุทธศาสนา ทุกวันเวลาที่ท่านมัวรีรอลังเลอยู่  ก็รังแต่จะเป็นวันเวลาแห่งความสูญเสีย ท่านได้ปล่อยให้เวลาแห่งฤกษ์งามยามดีผ่านไปๆ ด้วยการคิดๆๆ...บัดนี้ท่านไม่ต้องรีรออะไรอีกต่อไปแล้ว... 
          จงเพิ่มความปิติสุขด้วยการปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ เป็นชาวพุทธพร้อมกับบริวารของท่านเถิด  ท่านจะเป็นผู้นำคนเดียวของพระพุทธศาสนาในอินเดีย!!! และประเทศที่นับถือพระพุทธ
ศาสนาในเอเชียทั้งหมดจะสนับสนุนท่านอย่างหมดหัวใจแน่นอน!!!...ท่านจะได้รับการต้อนรับ-สดุดีทั่วไปในฐานะผู้นำในการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในอินเดีย!!!"

           คำเตือนเร้ากุศลที่คัดสรรจากพระโลกนาถภิกขุเช่นนั้นได้เพิ่มปริมาณความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาแก่ ดร.อัมเบดการ์มากขึ้น หลังจากนั้นความภักดีต่อพุทธธรรมในตัวท่านดูเหมือนจะกล้าแข็งขึ้นเรื่อย  และสะท้อนออกมาให้เห็นวิถีทางต่างๆ ไม่นานจากนั้นนัก ดร.อัมเบดการ์ก็ได้ออกเดินทางไปนมัสการพุทธสังเวชนียสถานอันศักดิ์สิทธิ์  พร้อมทั้งได้ร่วมวางแผนฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในอินเดียกับพระมหาเถระและบุคคลอื่นๆ พระธรรมรักษิตเถระ๖ได้บันทึกเรื่องราวที่ดร.อัมเบดการ์มีท่านอาจารย์เมาะรติแห่งกานปูร์  นำไปกราบพระพุทธไสยาสน์ที่กุสินารา ณ ที่นั้นเองท่านได้เข้านมัสการและสนทนาธรรมกับพระจันทรมณีมหาเถระเป็นเวลาหลายชั่วโมงเมื่อปี ๒๔๘๖ 
           ในเดือนพฤศจิกายน๒๔๘๘ มีการประชุมใหญ่ที่เมืองอาห์เมดาบัด (Ahmedabad) ปะรำใหญ่ในมณฑลพิธีประดับตกแต่งเป็นพิเศษ  ตั้งชื่อให้ว่า “พุทธนคร” เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึงความเลื่อมใสศรัทธาต่อพระพุทธสาสนาของ ดร.อัมเบดการ์อย่างเด่นชัด ดังนั้น บริวารของท่านจึงมักไต่ถามและขอคำแนะนำในการศึกษาและปฏิบัติพระสัทธรรมชั้นเยี่ยมกับท่านเนืองๆ เพื่อสนองตอบความต้องการของพวกเขา ดร.อัมเบดการ์จึงได้พิมพ์หนังสือชื่อ “แก่นของพระพุทธศาสนา (The Essence of  Buddhism)  ” ของศาสตราจารย์ พี.ลักษมี นราสุ ซ้ำอีก และนำนำให้ผู้ที่เตรียมตัวเป็นพุทธมามกะศึกษาบทนำของหนังสือเล่มนี้ ดร.อัมเบดการ์กล่าวไว้ด้วยว่า ท่านเองกำลังเขียนหนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาอยู่เหมือนกัน
 
 
           พิธีพุทธชยันตีที่เดลี กับการสังเกตการณ์กิจการพระพุทธศาสนาในศรีลังกา
 
 
         ในปีพ.ศ. ๒๔๙๓ เรื่องการจะเปลี่ยนมาสมาทานนับถือพระพุทธศาสนาของ ดร.อัมเบดการ์ชัดเจนแน่นอนยิ่งขึ้น  เพียงแต่รอจังหวะเวลาที่เหมาะสมเท่านั้น ในปีเดียวกันนี้  ท่านได้แนะนำให้บริวารชนของท่านจัดเฉลิมฉลองวันพุทธชยันตี ๗ มีการจัดงานดังกล่าวขึ้นในกรุงนิวเดลี ท่านเองก็ได้ไปร่วมงานนี้ด้วย 
          วันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ ชาวอินเดียในกรุงนิวเดลีก็ได้ชื่นชมกับขบวนแห่ของชาวพุทธเป็นครั้งแรกในรอบพันปีแต่พระพุทธสาสนาอันตรธานไปจากอินเดีย 
          ในช่วงปีนั้นเช่นกัน ดร.อัมเบดการ์ได้เขียนบทความชื่อ “พระพุทธเจ้ากับอนาคตของพระพุทธศาสนา (Buddha and the Future of His Religion)" ตีพิมพ์ในวารสาร “มหาโพธิ” ฉบับวิสาขบูชาของสมาคมมหาโพธิ เมืองกัลกัตตา(โกลกาตา) ในบทความนี้ท่านได้สรุปแนวคิดเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาไว้ว่า
“พระพุทธศาสนาเป็นเพียงศาสนาเดียวเท่านั้นที่ชาวโลกควรยอมรับนับถือเพราะพระพุทธศาสนาสอนทั้งหลักศีลธรรม อิสรภาพ สมภาพ และภราดรภาพ” 
          และในเดือนพฤษภาคมของปีนั้น(พ.ศ.๒๔๙๓) ดร.อัมเบดการ์ ได้รับเชิญให้เดินทางไปร่วมประชุมใหญ่ขององค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.) ครั้งแรก ซึ่งจัดขึ้นในประเทศศรีลังกา ขณะพำนักอยู่ในศรีลังกา เป้าหมายหลักของท่านก็คือการเฝ้าสังเกตการณ์เรื่องการประกอบพิธีกรรม ได้ไปศึกษาวิธีการเผยแผ่พระศาสนาและการรักษาประทีปธรรมของพระพุทธเจ้าให้โชติช่วงมาจนถึงปัจจุบันโดยพระเถระชาวสิงหลและชาวพุทธสิงหล  หลังกลับจากศรีลังกาแล้วดร.อัมเบดการ์จะเดินทางไป  ณ สถานที่ใดก็ตามมักจะพูดถึงพระพุทธศาสนา ซึ่งมีทั้งอดีตอันรุ่งเรืองและมีอนาคตอันสดใสอยู่เนืองๆในการประชุมเมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๓ ดร.อัมเบดการ์ได้ประกาศว่า “ท่านจะอุทิศช่วงสุดท้ายของชีวิตเพื่อการฟื้นฟูและเผยแผ่พระพุทธศาสนาในอินเดีย”
         

          พิธีพุทธชยันตีกับปรัชญาสังคม
 
 
          ในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ เป็นอีกครั้งหนึ่งที่มีการเฉลิมฉลองวันพุทธชยันตีกันด้วยความกระตือรือร้นและเลื่อมใสศรัทธาภายใต้การอุปถัมภ์ของ ดร.อัมเบดการ์นั่นเอง ขณะกล่าวปราศรัย ณ กรุงนิวเดลีซึ่งจัดโดยสมาคมมหาโพธิแห่งอินเดีย  ท่านได้ประกาศว่า “แม้ว่าศาสนิกของสังคมฮินดูจะไม่ร่วมมือด้วย พวกเราสมาชิกของสังคมจัณฑาลทั้งมวล ก็จะเลือกทางเดินของตนเอง คือจะพยายามนำความรุ่งเรืองและเกียรติภูมิสูงส่งกลับมาสู่พระพุทธศาสนาในประเทศนี้อีกครั้งหนึ่ง” 
          ในปี พ.ศ.๒๔๙๗ แจ่มแจ้งแน่นอนว่า การประกาศเอาพระพุทธเจ้าเป็นสรณะอย่างเป็นทางการของ ดร.อัมเบดการ์นั้น  เป็นแต่เพียงรอเวลาที่เหมาะสมเท่านั้น บ่อยครั้งขึ้นที่มีผู้พบท่านเดินทางไปไหนมาไหนกับพระภิกษุและนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนา  ในบรรดาท่านเหล่านั้น  ท่านที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี ก็มีพระคุณเจ้า ดร.เอช.สัพธาติสสมหาเถระ๘พระคุณเจ้าภทันตะอานันทะ เกาศัลยายานมหาเถระ๙ พระคุณเจ้า แอลงอริยวังสมหาเถระ พระคุณเจ้าชคฑิศกัศปยมหาเถระ๑๐ และท่านมหาบัณฑิตราหุล สังกฤตยายัน๑๑ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้นี่เองพระพุทธศาสนาจึงกลายมาเป็นพื้นฐานปรัชญาชีวิตของท่าน 
          ดังที่ ดร.อัมเบดการ์ได้พูดถึง “ปรัชญาส่วนตัวของข้าพเจ้า” ออกอากาศ (ทางสถานีวิทยุ บี.บี.ซี) ไปเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๗ ว่า 
          “ ทุกคนควรมีปรัชญาชีวิตสำหรับตนเอง เพราะทุกคนจะต้องมีมาตรฐานเป็นเครื่องมือสำหรับวัดเฉพาะตน และปรัชญาก็มิใช่อะไรอื่น ที่แท้ก็คือมาตรฐานซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับวัดสิ่งต่างๆนี่เอง” 

          ในแง่ลบ  ข้าพเจ้าขอปฏิเสธปรัชญาทางสังคมของฮินดูตามที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ภควัทคีตาในเรื่อง “ตรีคุณ”๑๒ของปรัชญาสางขยะ ในข้อพิจารณาของข้าพเจ้าแล้วถือว่าปรัชญาเรื่องนี้ของท่านกปิละเป็นทัศนะวิปริตหยาบโลนที่สุด  เพราะมันก่อให้เกิดการแบ่งชั้นวรรณะและระบบแห่งความไม่เท่าเทียมอย่างเรียงลำดับ เป็นกฎชีวิตทางสังคมของชาวฮินดู 
          ในแง่บวก ปรัชญาทางสังคมของข้าพเจ้าอาจสรุปรวมอยู่ในคำพูดเพียง ๓ คำ คืออิสรภาพ สมภาพ และภราดรภาพ ปรัชญาของข้าพเจ้านี้มีศาสนาเป็นฐาน มิใช่รัฐศาสตร์ ข้าพเจ้าได้ศึกษามาจากคำสั่งสอนของพระบรมครูของข้าพเจ้า คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
 
 
                 
                
 
                                                                      (อ่านต่อตอนหน้า)  
 
 
 
 
 
         อ่านย้อนหลัง...

   
  
       

ปฏิวัติสันติ

 
สมัคร ยกเลิก
 
 
Revolutionary Press Agency
Online Journal and News Agency for Peace  :  วารสารและข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
Copyright © 2024 www.rpathailand.com All Rights Reserved.
ทำเว็บ  ออกแบบเว็บ  Web Design  เว็บสำเร็จรูป  เว็บไซต์สำเร็จรูป