Revolutionary Press Agency : Online Journal and News Agency for Peace
สำนักสื่อปฏิวัติ  : วารสารข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
8 มิ.ย. 2554 กองหน้าประชาชนรุ่นใหม่ อนุสรณ์ สมอ่อน ตอบคำถามคาใจทำไมต้องปฏิวัติประชาธิปไตย? 
อุปสรรคความสำเร็จการปฏิวัติประชาธิปไตยในประเทศไทย
เขียนโดย ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร โพส ๒ มิถุนายน ๒๕๕๒ :๐๔.๒๕ น.
 
แนวความคิดทางการเมืองของอาจารย์ปรีดี
 
 
            (ต่อจากตอนที่แล้ว)
 
 
            ดร.เกษม  ศิริสัมพันธ์  เขียนไว้ในคอลัมน์ ”เทศกาลบ้านเมือง” ในหนังสือพิมพ์ ”สยามรัฐ” ฉบับวันที่ 11กรกฎาคม 2521ว่า “คนไทยเราเข้าใจคำว่ารัฐธรรมนูญผิดหมดเพราะคำว่า “รัฐธรรมนูญ” นั้น   คณะราษฎรท่านนำมาใช้เมื่อหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แล้ว   คณะราษฎรท่านเชื่อว่า ท่านจะใช้รัฐธรรมนูญสร้างระบอบประชาธิปไตยขึ้นมาได้  ซึ่งความคิดเช่นนี้ก็ได้สร้างความล้มเหลวในทางการเมืองตลอดมา อย่างที่เห็นกันแม้จนทุกวันนี้...คนไทยเรา   ด้วยการปลูกฝังของคณะราษฎรทำให้เชื่อมั่นว่า “รัฐธรรมนูญ” เป็นของคู่กับประชาธิปไตย    และเชื่อว่าเราสามารถสร้าง “ประชาธิปไตย” ด้วยการเขียน”รัฐธรรมนูญ”   ฉะนั้น  เมื่อประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญฉบับหนึ่งล้มเหลวในทางการเมืองตลอดมา อย่างที่เห็นกันแม้จนทุกวันนี้....คนไทยเราด้วยการปลูกฝังของคณะราษฎรทำให้เชื่อมั่นว่า “รัฐธรรมนูญ” เป็นของคู่กับประชาธิปไตย    และเชื่อว่าเราสามารถสร้าง “ประชาธิปไตย” ด้วยการเขียน “รัฐธรรมนูญ “ ฉะนั้น เมื่อประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญฉบับหนึ่งล้มเหลว  ก็ “ฉีก” รัฐธรรมนูญฉบับนั้นทิ้งเสียแล้วก็มานั่ง “ร่าง” รัฐธรรมนูญรัฐธรรมนูญเพื่อประชาธิปไตยกันใหม่ พอร่างเสร็จ พิจารณาเสร็จ ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่  ก็โล่งอกโล่งใจ  นึกว่าบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยแล้ว   เพราะมีรัฐธรรมนูญ  แต่ต่อมาประชาธิปไตยก็ล้มเหลวอีก  ก็ต้อง “ฉีก” รัฐธรรมนูญเพื่อ “ร่างรัฐธรรมนูญสร้างประชาธิปไตยกันใหม่”            ทำวนเวียนกันอยู่อย่างนี้จนชาวบ้านชาวเมืองเบื่อ “รัฐธรรมนูญ” และ”ประชาธิปไตย” กันหมดแล้ว ผมว่าทั้งคนฉีกและคนร่างรัฐธรรมนูญต่างฝ่ายต่างเข้าใจความหมายของ “รัฐธรรมนูญ” และ “ประชาธิปไตย” ผิดด้วยกันทั้งคู่....ปัญหามีอยู่ว่าทุกวันนี้เราตัดสินใจกันหรือยังว่าเราเป็นประชาธิปไตยกันโดยแน่แท้   ถ้าเรามั่นใจในเรื่องนี้แล้ว เราก็ลงมือเป็นประชาธิปไตยกันได้เลย แล้วเราจะมีรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยขึ้นมาเอง  โดยไม่ต้องมาเสียเวลานั่งลับเดือยเพื่อโต้คารมในสภานิติบัญญัติฯ เรื่องร่างรัฐธรรมนูญกันอีก ” 
            นี่คือข้อเขียนของดร.เกษม ศิริสัมพันธ์
            ทรรศนะเช่นนี้ของดร.เกษมต่อคณะราษฎรในปัญหารัฐธรรมนูญ ถูกต้อง ผมเชื่อว่าถึงแม้ว่าตอนนี้ดร.เกษมจะเป็นใหญ่เป็นโตก็คงยึดถือทรรศนะที่ถูกต้องนี้อยู่  และด้วยเหตุผลนี้กระมัง ดร.เกษมจึงสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญนิดๆหน่อยๆของพรรคกิจสังคมเพราะรู้อยู่ว่าถึงแม้จะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยวิเศษวิโสสักเพียงใด  แต่ถ้าไม่แก้ระบอบให้เป็นประชาธิปไตย ก็ไร้ประโยชน์
            ทรรศนะที่ยกรัฐธรรมนูญขึ้นสูงลิ่วของคณะราษฎรซึ่งนำโดยอาจารย์ปรีดี  ยังครอบงำวงการเมืองไทยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งไม่เพียงแต่ความผิดพลาดที่แก้ยากที่สุดเรื่องหนึ่งเท่านั้น  หากยังเป็นเครื่องมือสำคัญของการแสวงอำนาจของพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองอีกด้วย  โดยเฉพาะคือกรณี 14 ตุลาคม 2516  
            ก่อนที่ญี่ปุ่นจะรุกรานไทย  รัฐบาลไทยซึ่งมีจอมพลป.พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรีและอาจารย์ปรีดีเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  ได้ประกาศนโยบายเป็นกลางไว้  ครั้นเมื่อญี่ปุ่นยกพลเข้าไทย   และเอกอัคราชทูตญี่ปุ่นเข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อขอเดินทัพผ่านไทย ระหว่างที่ยังไม่มีการตกลงกันมีการสู้รบกับญี่ปุ่นหลายแห่งในที่สุดคณะรัฐมนตรีลงมติอนุญาตให้ญี่ปุเดินผ่านไทย ซึ่งไม่ผิดนโยบายเป็นกลางแต่อย่างใด ถึงกระนั้นคนไทยทั่วประเทศก็ไม่พอใจญี่ปุ่น  และมีการต่อต้านญี่ปุ่นโดยทั่วไป
            ต่อมาจอมพลป.พิบูลสงคราม ได้ทำลายนโยบายเป็นกลางโดยพลการด้วยการเข้าเป็นมิตรร่วมรบร่วมรุกรานกับญี่ปุ่น และประกาศสงครามกับอังกฤษและอเมริกา อาจารย์ปรีดีในระหว่างดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ก่อตั้งขบวนเสรีไทยต่อต้านญี่ปุ่น  และร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติ  ครั้นเมื่อญี่ปุ่นยอมจำนน อาจารย์ปรีดี ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ออกประกาศสันติภาพมีความตอนหนึ่งว่า ”โดยที่ประทศไทยได้เคยถือนโยบายอันแน่วแน่ที่จะรักษาความเป็นกลางอย่างเคร่งครัดและจะต่อสู้กับการรุกรานของต่างประเทศทุกวิถีทาง ดังปรากฎเห็นได้ชัดจากการที่ได้มีกฎหมายกำหนดหน้าที่คนไทยในเวลารบ เมื่อพุทธศักราช 2484 อยู่แล้วนั้น   ความจำนงอันแน่วแน่ดังกล่าวนี้ได้แสดงให้เห็นประจักษ์แล้ว   ในเมื่อญี่ปุ่นได้ยาตราทัพเข้าในดินแดนประเทศไทยในวันที่8 ธันวาคม 2484 โดยได้มีการต่อสู้การรุกรานทุกแห่ง  และทหาร ตำรวจประชาชนพลเมืองได้เสียชีวิตไปในการนี้เป็นอันมาก
            “เหตุการณ์อันปรากฎเป็นสักขีพยานนี้ ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า  การประกาศสงครามเมื่อวันที่ 25 มกราคม พุทธศักราช 2485 ต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา  ตลอดทั้งการกระทำทั้งหลายซึ่งเป็นปรปักษ์ต่อสหประชาชาตินั้นเป็นการกระทำอันผิดจากเจตจำนงของประชาชนชาวไทยและฝ่าฝืนขืนขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายบ้านเมือง  ประชาชนชาวไทยทั้งภายในและภายนอกประเทศซึ่งอยู่ในฐานะที่จะช่วยเหลือสนับสนุนสหประชาชาติผู้รักที่จะให้มีสันติภาพในโลกนี้ ได้กระทำการทุกวิถีทางที่จะช่วยเหลือสหประชาชาติดังที่ประชาชาติส่วนมากย่อมทราบอยู่แล้ว  ทั้งนี้เป็นการแสดงเจตจำนง ของประชาชนอยู่แล้วไทยอีกครั้งหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยต่อการประกาศสงครามและการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อสหประชาชาติดังกล่าวมาแล้ว
           “ บัดนี้ ประเทศญี่ปุ่นได้ยอมปฏิบัติตามคำประกาศของสหรัฐอเมริกา บริเตนใหญ่ จีน และสหภาพโซเวียต ซึ่งได้กระทำ ณ นครปอตสดัมแล้ว  สันติภาพจึงกลับคืนมาประเทศไทย อันเป็นความประสงค์ของประชาชนชาวไทย
            “ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาธิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  จึงขอประกาศโดยเปิดเผยแทนประชาชนชาวไทยว่าการประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่  เป็นโมฆะไม่ผูกพันประชาชนชาวไทย ในส่วนที่เกี่ยวกับสหประชาชาติประเทศไทยได้ตัดสินใจที่จะกลับคืนมาซึ่งสัมพันธไมตรีอันดีอันเคยมีมากับสหประชาชาติเมื่อก่อนวันที่ 8 ธันวาคม พุทธศักราช 2484 และพร้อมที่จะร่วมมือเต็มที่ทุกทางกับสหประชาชาติในการสถาปนาเสถียรภาพในโลกนี้....”
            ภายหลังประกาศสันติภาพ  มีการสวนสนามของขบวนเสรีไทยที่ถนนราชดำเนินผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย  อาจารย์ปรีดีเป็นประธาน ท่านได้กล่าวคำปราศรัยตอนหนึ่งว่า
            “ ผู้ที่ได้ร่วมงานกับข้าพเจ้าครั้งนี้ถือว่าทำหน้าที่เป็นผู้รับใช้ชาติ มิได้ถือว่าเป็นผู้กู้ชาติ  การกู้ชาติเป็นการกระทำของคนไทยทั้งปวงซึ่งแม้ผู้ไม่ได้ร่วมองค์การนี้โดยตรง ก็ยังมีอีกประมาณ 17 ล้านคน  ที่ได้กระทำโดยอิสระของคน ในการต่อต้านด้วยวิถีทางที่เขาเหล่านั้นสามารถทำได้  หรือเอากำลังใจช่วยขับไล่ให้ญี่ปุ่นพ้นไปจากประเทศไทยโดยเร็วก็มีหรือแม้แต่คนไทยที่นั่งอยู่โดยไม่ได้ทำการขัดขวางผู้ต่อต้านญี่ปุ่นหรือผู้รับใช้ชาติ ซึ่งเท่ากับเปิดโอกาสให้ผู้รับใช้ชาติทำงานได้สะดวกฯลฯ เป็นต้น คนไทยทั้งปวงเหล่านี้ ทุกๆคนร่วมกันทำการกู้ชาติของตนด้วยทั้งสิ้น...”
            การตั้งขบวนเสรีไทย  การร่วมมือกับสหประชาชาติ การประกาศสันติภาพ ซึ่งเป็นเงื่อนไขให้ประเทศไทยไม่ต้องเป็นประเทศแพ้สงคราม ตลอดจนคำปราศรัยอย่างถูกต้องว่าการกู้ชาติเป็นเรื่องของคนไทยทั้ง 17 ล้านคนนั้น  จะต้องเป็นความดีความชอบอันยิ่งใหญ่ของอาจารย์ปรีดี  ถ้าหากการกระทำเหล่านั้นไม่ใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงการขึ้นต่อญี่ปุ่นไปเป็นการหวังพึ่งหรือขึ้นต่อหรือรับใช้อเมริกา
            ถ้าอาจารย์ปรีดีนำขบวนขับไล่ญี่ปุ่นสำเร็จ  ทำให้ประเทศไทยเป็นอิสระอย่างแท้จริงและสถาปนาระบอบประชาธิปไตยขึ้นแทนระบอบเผด็จการ  ท่านจะเป็นรัฐบุรุษของประเทศไทย
            ข้อเท็จจริงที่ผมจะเล่าต่อไปนี้แสดงให้เห็นว่า ความคิดของอาจารย์ปรีดีนั้น หวังพึ่งอเมริกาหลังสงคราม เท่าๆกับจอมพลป.หวังพึ่งญี่ปุ่นในระหว่างสงคราม
            เนื่องจากผมรู้ชัดว่าจอมพลป.ซึ่งพ้นคดีอาชญากรสงครามแล้ว  เตรียมการจะทำรัฐประหารโดยตนเองไม่ออกหน้า   แต่อาศัยคนอื่นที่คิดทำอยู่แล้วเหมือนกัน เช่น พล.ท.ผินชุณหะวัณ พ.อ.เผ่า  ศรียานนท์ ที่จริงถ้าว่ากันในทางส่วนตัวแล้ว  จอมพลป.ทำรัฐประหารผมไม่เดือดร้อนอะไร  กลับจะดีเสียอีก  เพราะเป็นพรรคพวกเก่ากับ  จอมพลป. แต่ผมไม่อยากให้เกิดรับประหาร   อยากให้ดำเนินการตามวิถีทางรัฐสภากันไปอย่างนั้นผมจึงไปหาอาจารย์ปรีดีที่ทำเนียบท่าช้าง   ซึ่งผมไม่เคยไปเลย  เพียงแต่พบท่านในสภาตามปกติเท่านั้น  ที่ผมไปหาท่านที่ทำเนียบท่าช้างก็เพื่อเรียนว่าจะเกิดรัฐประหาร ขอให้ป้องกันเสีย และผมเห็นว่าจะป้องกันได้ง่ายๆ  โดยไม่ต้องไปทำอะไรให้ใครเดือดร้อนด้วย อาจารย์ปรีดีบอกผมว่าคุณประเสริฐวิตกไปเปล่าๆ จอมพลป.ไม่มีทางทำรัฐประหาร ผมไปหาคุณเตียง  เขาก็นอนหัวเราะ ผมไปหาอาจารย์ปรีดีอีก 3-4ครั้งจนท่านชักจะโกรธผม เพราะผมไปเตือนซ้ำซากในที่สุดท่านก็พูดกับผมว่าถ้าจอมพลป.ทำรัฐประหารท่านจะถอนประกาศสันติภาพ แล้วอเมริกันก็จะมาเล่นงานจอมพลป.เอง ผมจึงเรียนท่านว่า เดี๋ยวนี้อเมริกันเอากับจอมพลป.แล้ว  และไม่เอากับท่านแล้วครับเท่านั้นเอง อาจารย์ปรีดีก็แสดงความโกรธต่อผมอย่างชัดเจน ผมจึงลากลับ และเดินทางไปสุราษฎร์ นอนรอรัฐประหารอยู่ที่บ้าน   พอรุ่งเช้าเห็นนายอำเภอเดินมาแต่ไกลจะไปจังหวัด ผมด็รู้ทันทีว่าได้เรื่องแล้ว  เพราะนายอำเภอไม่เคยไปจังหวัด แต่เช้าพอนายอำเภอเดินมาถึงก็บอกกับผมว่า เมื่อคืนยึดอำนาจแล้วครับ
            เคราะห์ดีที่อาจารย์ปรีดี เผ่นลงเรือจ้างหลังทำเนียบทัน  เรื่องนี้ผมเอาไปวิจารณ์ท่านต่อหน้าคณะของท่านเมื่อพบกันที่ปักกิ่ง  ซึ่งท่านถือว่าความพ่ายแพ้ที่ผ่านมาเกิดจากความผิดพลาดของคนอื่นทั้งนั้น ท่านนั่งตำหนิพรรคพวกทุกคนอยู่ตลอดเวลา ผมจึงเรียนขึ้นว่าท่านคนเดียวเป็นคนผิด คนอื่นไม่ผิด เพราะท่านนำเขาผิดและคนอื่นเขาทำตามท่าน ท่านเป็นผู้รับผิดชบ  เพราะฉะนั้นอย่าตำหนิใครเลยนอกจากตำหนิตัวท่านเอง  ท่านโกรธผมไปพักใหญ่  แต่ต่อมาก็ชวนผมไปกินข้าวและเรื่องนี้เองที่คุณสังข์ถามผมอย่างที่เล่าไว้ในตอนต้นและเรื่องนี้ผมเขียนไว้ใน”ตะวันใหม่”แล้ว
 
 
 

      (อ่านต่อตอนหน้า)
 
 
 
 
 
 
     อ่านย้อนหลัง...
 
 
 
 
 
 
 

ปฏิวัติสันติ

 
สมัคร ยกเลิก
 
 
Revolutionary Press Agency
Online Journal and News Agency for Peace  :  วารสารและข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
Copyright © 2024 www.rpathailand.com All Rights Reserved.
ทำเว็บ  ออกแบบเว็บ  Web Design  เว็บสำเร็จรูป  เว็บไซต์สำเร็จรูป