Revolutionary Press Agency : Online Journal and News Agency for Peace
สำนักสื่อปฏิวัติ  : วารสารข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
8 มิ.ย. 2554 กองหน้าประชาชนรุ่นใหม่ อนุสรณ์ สมอ่อน ตอบคำถามคาใจทำไมต้องปฏิวัติประชาธิปไตย? 

ข้อมติเอกฉันท์
สภาเกษตรกรแห่งชาติ
เรื่อง “ปฏิรูปที่ดินด้วยการปฏิวัติประชาธิปไตยแก้ไขวิกฤตชาติที่สุดในโลก”
ณ ห้องประชุมศาลาการเปรียญ วัดตะล่อม ซอยจรัลสนิทวงศ์ 13 ภาษีเจริญ กรุงเทพฯ
ในวันเสาร์ที่  9 พฤษภาคม 2552 เวลา 13.00 น.-20.00 น.
 
 
 
          เมื่อได้มีการประชุมสัมมนากันอย่างลึกซึ้งและกว้างขวางรอบด้านแล้ว ที่ประชุมของสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติซึ่งเป็นผู้แทนผลประโยชน์ประชาชนคนทั้งประเทศโดยมีกรรมกร เกษตรกรชาวไร่ชาวนาเป็นรากฐาน ได้มีข้อมติเป็นเอกฉันท์ ดังต่อไปนี้

             1.ที่ประชุมสภาเกษตรกรแห่งชาติได้มีมติเอกฉันท์ให้ถือเอา “ข้อมติเอกฉันท์ของสภาเกษตรกรแห่งชาติ” เรื่อง “การปฏิรูปที่ดินให้เป็นของคนไทย สู้กับการขายแผ่นดินให้เป็นของคนต่างชาติ” ในการประชุมใหญ่สามัญครั้งที่ 1/2543 ณ ห้องประชุมใหญ่ “ต้นตาล” มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม วันอาทิตย์ที่ 29 ตุลาคม 2543  จำนวน 7 หน้ากระดาษ ที่ลงนามโดย นายสุธี จำเล ประธานกรรมการสภาเกษตรกรแห่งชาติและ นายอุทัย อินพานิช ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ มาเป็นข้อมติเอกฉันท์ของการประชุมครั้งนี้ด้วยเพราะสถานการณ์และเงื่อนไขต่างๆของประเทศไทยยังมิได้มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใดทั้งสิ้น นั่นคือ ยังมิได้มีรัฐบาลใดดำเนินการใดๆทั้งสิ้นตามมติเอกฉันท์เมื่อปี พ.ศ. 2543 ทั้งการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติเพื่อกู้ชาติสร้างประชาธิปไตยหรือการปฏิรูปที่ดินสร้างระบบเศรษฐกิจแห่งชาติให้สำเร็จอันเป็นมาตรการสำคัญที่สุด คือ ปฏิวัติประชาธิปไตยในทางการเมือง  ปฏิรูปที่ดินในทางเศรษฐกิจ (ตามเอกสารที่แนบมา ข้อมติเอกฉันท์ 1/2543 ) 
             กล่าวอย่างเป็นรูปธรรมคือ กระจายอำนาจอธิปไตยสู่ปวงชนชาวไทยและกระจายกรรมสิทธิ์ทางเศรษฐกิจของเอกชน(ทุน) สู่คนส่วนใหญ่ ชาวไร่ชาวนาเกษตรกรทั้งประเทศ กล่าวอย่างเป็นรูปธรรมที่สุดคือ มีสภาที่ประกอบด้วยตัวแทนของปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริงทั้งผู้แทนเขตและผู้แทนอาชีพอย่างถ้วนทั่วเป็นสัดส่วน เช่นชาวนาชาวไร่เกษตรกรเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศก็จะมีตัวแทนของตนเองมากในสภา  มีนโยบายสร้างประชาธิปไตยเพื่อสะท้อนประโยชน์แก่ปวงชนชาวไทยในระยะเปลี่ยนผ่าน  ส่วนในด้านเศรษฐกิจมีการกระจายกรรมสิทธิ์ในที่ดินจากกรรมสิทธิ์ที่ดินของคนส่วนน้อยไปสู่กรรมสิทธิ์ในที่ดินของเกษตรกรชาวไร่ชาวนาคนส่วนใหญ่ของประเทศด้วยมาตรการยกเลิกการรวมศูนย์ทุนคือยกเลิกระบบเจ้าที่ดิน เปลี่ยนไปเป็นนายทุนอุตสาหกรรมต่างๆ กระจายทุนทางที่ดินคือ กระจายกรรมสิทธิ์ในที่ดินของเอกชนคนส่วนน้อยออกไปอย่างกว้างขวาง เป็นกรรมสิทธิ์เอกชนคนส่วนใหญ่ในที่ดินชาวไร่ชาวนาเพื่อให้เกิดการขยายตัวทางเกษตรกรรมไปสู่การขยายตัวทางอุตสาหกรรม ไปสู่การขยายตัวทางการพาณิชยกรรม ไปสู่การขยายตัวทางการขนส่ง ไปสู่การขยายตัวทางการเงินการคลัง ที่รวมเรียกว่า “ระบบเศรษฐกิจแห่งชาติ” ให้บรรลุความหลุดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจสำเร็จ เจริญรุ่งเรืองไปสู่ความมั่งคั่งร่ำรวยแห่งชาติ (National Wealth) และหมดสิ้นความยากจนบรรลุความมั่งมีศรีสุขของปวงชนชาวไทยอย่างยั่งยืนต่อไป
             2. ณ ปัจจุบันนี้สถานการณ์ทางที่ดินมีแนวโน้มวิกฤตเลวร้ายลงอย่างรุนแรง คือประเทศไทยมีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 320.7 ล้านไร่ หรือมีพื้นที่ทั้งสิ้น 513,115.02 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่ถือครองทางการเกษตร 132.5 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ป่า 82.2 ล้านไร่ (ปี2504 มีพื้นที่ป่าร้อยละ 50 ของพื้นที่ทั้งประเทศ ปีพ.ศ.2541 เหลือประมาณร้อยละ 25% คือสูญเสียพื้นที่ป่าเฉลี่ยปีละ 1.2 ล้านไร่) พื้นที่ที่เหลือไม่ได้จำแนกประมาณ 160 ล้านไร่ 
             เกษตรกรผู้ไร้ที่ดินทำกินประมาณ 454,819 ครอบครัวหรือมีพื้นที่ดินไม่เกิน 5 ไร่ 565,799 ไร่  และผู้เกือบไร้ที่ทำกินถึงผู้ไร้ที่ทำกินมีอยู่มากกว่า 1 ล้านครัวเรือน  สำหรับพื้นที่เช่าผู้อื่น 18,764,791 ไร่ในปีพ.ศ. 2531 และ 14,458,491 ในปีพ.ศ.2535 มีพื้นที่ที่ใช้ที่ดินไม่เหมาะสม 133.75 ล้านไร่ และมีพื้นที่ที่มีปัญหาการชะล้างพังทลายในระดับรุนแรงและปานกลางทำให้สูญเสียธาตุอาหารในดิน 108 ล้านไร่ 
             เมื่อระบบทุนนิยมได้รุกเข้ามาเป็นครั้งแรกโดยการเปิดการค้าขายกับต่างประเทศหลังสนธิสัญญาเบาริ่งในปี พ.ศ.2398 ในรัชสมัยรัชกาลที่ 3 มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตจากการผลิตเพื่อบริโภคมาเป็นการผลิตเพื่อขายต่างประเทศ จึงมีความต้องการที่ดินในการผลิตทางการเกษตรสูงขึ้นตามความต้องการผลผลิตของตลาด  โดยรัฐเองได้ให้ความสนับสนุนให้ประชาชนเข้าไปบุกเบิกจับจองที่ดินว่างเปล่าเพื่อทำการผลิตทางการเกษตร 
             นี่คือจุดเริ่มต้นของการคุ้มครองกรรมสิทธิ์ที่ดินของเอกชนในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งประกอบด้วยปัจจัย3 ประการ คือ (1) เกิดจากปัจจัยภายนอกที่เป็นแรงผลักดันชองการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่างประเทศมีความต้องการสินค้าจากประเทศไทยภายหลังการทำสัญญาเบาริ่งกับชาติตะวันตก  (2) ปัจจัยภายในคือมีข้อพิพาทที่ดินสูง (3) ปัจจัยที่มาจากการบริหารงานที่ดินของรัฐที่ยังไม่เป็นระบบทั้ง 3 ประการนี้ทำให้ระบบการถือครองที่ดินเปลี่ยนมาจากการให้ความสำคัญกับการทำประโยชน์มาเป็นให้ความสำคัญต่อหลักฐานในการแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน 
             ระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินของเอกชนเริ่มต้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ปรากฏในประกาศออกโฉนดที่ดิน ร.ศ. 120 (พ.ศ. 2444) ลงวันที่ 15 กันยายน ร.ศ. 120 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ว่าด้วยการจัดทำทะเบียนที่ดินและสิทธิของผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดิน โดยยึดถือว่าโฉนดเป็นหนังสือสำคัญแสดงถึงกรรมสิทธิ์ในที่ดินของเอกชน โดยนำระบบ “ทอร์เรนส์” (Torrens System) เข้ามาใช้ 
             แท้จริงแล้วระบบสิทธิในที่ดินแบ่งออกเป็น  2 ช่วง ช่วงแรกคือ สิทธิในที่ดินแบบดั้งเดิมและสิทธิในที่ดินตั้งแต่ไทยก่อตั้งชาติสมัยใหม่ “รัฐแห่งชาติ” (Nation State) ที่ได้ปฏิรูปกฎหมายมาเป็นแบบสากลระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของพระมหากษัตริย์มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา(พ.ศ. 1893-2310) ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่1 (พระเจ้าอู่ทอง) ได้กำหนดการปกครองแบบจตุสดมภ์ คือ เวียง วัง คลัง นา   มีขุนเกษตราธิการเป็นเสนาบดีกรมนา  ในสมัยนั้นขุนเกษตราธิการได้รับพระบรมราชโองการให้ตรากฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จที่ว่าด้วยเรื่องการไร่นาและสัตว์พาหนะ   ซึ่งกำหนดการถือครองที่ดินรวมอยู่ด้วย  โดยได้วางหลักการไว้ว่า “ที่ดินทั้งหลายเป็นของพระเจ้าแผ่นดิน แต่พระราชทานให้ราษฎรอยู่อาศัยทำมาหากิน ราษฎรผู้ใดประสงค์จะได้ที่ดินไปทำประโยชน์ ต้องไปบอกเสนา นายระวาง นายอากร ให้ออกไปตรวจสอบสภาพที่ดินที่จะก่อสร้างเลิกรั้ง ยกขึ้นเป็นไร่นาสวน คือไปบอกคำนับขออนุญาตก่อน ให้เสนา นายระวาง นายอากรซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในการนั้นเขียนใบอนุญาตซึ่งเรียกว่า “โฉนด” ให้ผู้ขอยึดถือไว้เป็นสำคัญ  หนังสือคู่มือสำหรับที่ดินและเก็บอากรเข้าท้องพระคลัง” 
             การจับจองที่ดินนั้น ไม่ได้จำกัดเนื้อที่ถือครองไว้ และส่งเสริมให้ราษฏรบุกเบิกที่ป่าดงรกร้างพื่อทำกินเป็นที่นาที่สวน  ใครมีกำลังเท่าไหร่ก็ทำตามกำลังความสามารถ  ที่ดินในกรุงศรีอยุธยานั้นหากจับจองเป็นเจ้าของเพียงแต่มีสิทธิ์ทำกินเท่านั้น หากมีความกัน ผู้เข้ามาทีหลังต้องชดใช้ค่าเสียหายให้และต้องคืนที่ดินให้ ห้ามซื้อขายแก่กัน ส่วนที่ดินนอกกรุงศรีอยุธยาถ้าว่างเปล่าลงก็ให้เจ้าหน้าที่จัดคนเข้าอยู่ทำกินเสีย และถ้าได้ผลให้ลดอากรในปีแรกเป็นการจูงใจแล้วค่อยเพิ่มอากรภายหลังแต่ผู้ใดทิ้งร้างที่ดินเกิน1 ปีก็ถือว่าขาดสิทธิ์  
             ต่อมาสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงรวบรวมปรับปรุงและวางหลักเกณฑ์ศักดินา  ตราขึ้นเป็นพระราชกำหนดศักดินา  คำว่า “ศักดินา” (Feudal) หมายถึง “ศักดิ์จากการมีสิทธิในที่นา” ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ มีพระมหากษัตริย์เป็นองค์รัฎฐาธิปัตย์ ทรงมีอำนาจพระราชทานสิทธิในที่นาให้แก่เจ้านาย ขุนนางและพสกนิกร ดังนี้คือ 
             พระมหาอุปราชมีศักดินา  100,000 ไร่ เจ้านายมีศักดินาตั้งแต่ 50,000 ไร่ลงมาถึง 1,500  ไร่ ขุนนางมีศักดินา 10,000 ไร่ลงมาถึง 50 ไร่ ราษฎรสามัญแบ่งศักดินาเป็น 5 ชั้นคือไพร่หัวงานมีศักดินา 25 ไร่ ไพร่มีครัว 20ไร่ ไพร่ราบ 15 ไร่ ไพร่เลว 10 ไร่ ยาจก วณิพก ทาส ลูกทาส5 ไร่ พระครู 1,000 -2,400 ไร่ ภิกษุธรรมดา 500-600 ไร่ สามเณร 200-300 ไร่ ซึ่งเรียกว่าระบบศักดินา (Feudalism) และถูกยกเลิกไปด้วยการปฏิรูปที่ดิน (Land Reform) ในกระบวนการทำให้สังคมเกษตรกรรมเป็นสังคมอุตสาหกรรมหรือการสร้างประชาธิปไตยหรือเปลี่ยนจากยุคสมัยกลางมาเป็นยุคประวัติศาสตร์สมัยใหม่  จึงเป็นภารกิจแบ่งยุคสมัยแบ่งสมัยที่เรียกว่า “ภารกิจทางประวัติศาสตร์” (Historical Mission) 
             อนึ่ง ในสมัยเมื่อยังมีศักดินาในเมืองไทย บุคคลไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินมีแต่สิทธิในการใช้ที่ดิน รัชกาลที่5 ทรงยกเลิกศักดินาให้บุคคลมีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ผู้เคยมีสิทธิ์ใช้ที่ดินหมื่นๆไร่พันๆไร่ กลายมาเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินหมื่นๆพันๆไร่เรียกว่าเจ้าที่ดิน (Landlord)
             3.ระบบศักดินาหรือระบบเจ้าครองนคร (Feudalism) หมายถึงระบบเศรษฐกิจสมัยกลางคือเศรษฐกิจเป็นแบบทำเองใช้เองหรือพอกินพอใช้ (Self Sufficient Economy) และถ้าเป็นระบบการเมืองก็คือระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชที่มีพระเจ้าแผ่นดินปกครองประเทศซึ่งประกอบด้วยเขตแคว้นต่างๆของเจ้าครองนครที่รวมกันอย่างหลวมๆในสมัยฟิวดัล (Feudal) เขตแคว้นต่างๆอยู่ได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยกัน ทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ทุกเมือง ทำเองใช้เองกันทั้งนั้น เขตแคว้นฟิวดัลจึงต่างคนต่างอยู่ในลักษณะปิดพรมแดน 
             ต่อมาประมาณศตวรรษที่ 15 เกิดมีเศรษฐกิจระบบใหม่แตกหน่อขึ้นในระบบเศรษฐกิจฟิวดัลเรียกว่าระบบเสรีนิยม (Liberalism) หรือระบบทุนนิยม (Capitalism) เศรษฐกิจเสรีนิยมหรือทุนนิยมคือเศรษฐกิจสินค้า (Commodity Economy) สมัยนี้นิยมเรียกกันว่าเศรษฐกิจตลาด (Market Economy) เมื่อถึงศตวรรษที่ 18 ได้คิดค้นเครื่องจักรสมัยใหม่ได้และนำมาใช้กับอุตสาหกรรมเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) ซึ่งเปลี่ยนเครื่องจักรใช้พลังงานธรรมชาติมาเป็นเครื่องจักรใช้พลังงานวิทยาศาสตร์ประกอบด้วยประดิษฐกรรมใหม่ๆได้ผลักดันเศรษฐกิจทุนนิยมให้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งต้องการตลาดอันกว้างขวาง  ทำให้เกิดความจำเป็นที่จะต้องทะลายพรมแดนของเขตแคว้นฟิวดัล  เพื่อให้สินค้าเดินทางได้สะดวก เป็นเหตุให้ต้องเปลี่ยนแปลงการปกครอง  โดยรวบรวมเขตแคว้นและหัวเมืองฟิวดัลให้เข้ามาอยู่ภายใต้นครหลวงอันเดียวกัน  ไม่กระจัดกระจายกันอยู่หรือขึ้นต่อนครหลวงอย่างหลวมๆเหมือนแต่ก่อน  กระบวนการนี้คือกระบวนการเปลี่ยนแปลงรัฐแบบเก่าหรือรัฐฟิวดัล (Feudal State) มาเป็นรัฐแบบใหม่หรือรัฐแห่งชาติก็คือกระบวนการรวมประเทศ รวมราชอาณาจักร รวมชาติ หรือ ก่อตั้งชาติ (Nation) ซึ่งเป็นเงื่อนไขอันจำเป็นของพัฒนาการของระบบทุนนิยม
             4. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงยกเลิกระบบเศรษฐกิจฟิวดัลอันเป็นมาตรการเปลี่ยนยุคสมัยจากยุคประวัติศาสตร์สมัยกลางขึ้นสู่ยุคประวัติศาสตร์สมัยใหม่จากสังคมเกษตรกรรมขึ้นสู่สังคมอุตสาหกรรม เป็นการนำพาประเทศชาติขึ้นสู่ความทันสมัย (Modernization) มาตรการแรกที่สุดคือเปลี่ยนรัฐเจ้าครองนครหรือ Feudal State มาเป็นรัฐสมัยใหม่ คือ รัฐแห่งชาติ (Nation State) ยกเลิกระบบเศรษฐกิจฟิวดัลคือยกเลิกระบบ  จตุสดมภ์เป็นตั้งกระทรวงทบวงกรม เลิกทาส คือปลดปล่อยชาวนาชาวไร่ในสังกัดของเจ้าศักดินาหรือเอกชน (Serf) ให้เป็นเสรีชน  ขั้นตอนนี้สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงทำสำเร็จอย่างสมบูรณ์โดยสันติไม่เสียเลือดเนื้อแม้แต่หยดเดียว ทรงเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจฟิวดัลมาเป็นระบบเจ้าที่ดิน  (Landlordism)  โดยใช้ระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินของเอกชน ทรงออกโฉนดที่ดิน พ.ศ. 2444 (ร.ศ. 120) ขั้นตอนที่ 2 คือปฏิรูปที่ดินโดยเปลี่ยนเจ้าที่ดิน (Landlord) ที่พัฒนามาจากเจ้าศักดินาเป็นนายทุนนักอุตสาหกรรมโดยทรงตั้งรัฐวิสาหกิจเป็นหลักนำและช่วยเหลือส่งเสริมอีกทั้งให้การศึกษาแก่เอกชนที่เป็นเจ้าที่ดินและเสรีชนที่พัฒนามาจากทาสเอกชน  แต่ยังไม่ได้ทรงทำขั้นตอนที่ 2 แล้วเสร็จคือยกเลิกระบบเจ้าที่ดิน นำเอาที่ดินนั้นมามอบเป็นกรรมสิทธิ์ของชาวไร่ชาวนาที่ไม่มีที่ดินและเสรีชนที่มาจากทาส  ทรงเสด็จสวรรคตเสียก่อน การปฏิรูปที่ดินคือทรงมอบอำนาจให้แก่ปวงชนชาวไทยจึงยังไม่แล้วเสร็จ  แม้ว่าจะยังไม่แล้วเสร็จในขั้นตอนที่ 2 ก็มีผลอันใหญ่หลวงรักษาเอกราชของชาติไว้ได้และเป็นรากฐานให้แก่การสร้างประชาธิปไตยในขั้นตอนสุดท้ายต่อไป อีกทั้งทำให้ไทยสามารถก้าวขึ้นสู่ยุคสมัยใหม่ได้โดยพื้นฐานจึงดำรงความเป็นชาติไทยมาได้จนถึงบัดนี้ 
             การเปลี่ยนจากสังคมเกษตรกรรมมาสู่สังคมอุตสาหกรรมมี 2 ขั้นตอน คือ (1) “เลิกทาส” คือด้านระบบยกเลิกระบบฟิวดัลมาเป็นระบบเจ้าที่ดิน ด้านบุคคลเปลี่ยนเจ้าศักดินาเป็นเจ้าที่ดินและเปลี่ยนทาสเป็นเสรีชน (2) “ปฏิรูปที่ดิน” คือด้านระบบ ยกเลิกระบบเจ้าที่ดิน มาเป็นระบบเสรีนิยม (Liberalism) ด้านบุคคลเปลี่ยนเจ้าที่ดินเป็นนักอุตสาหกรรมและเปลี่ยนเสรีชนเป็นเกษตรกรที่มีที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง  ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงจากขั้นตอนที่ 2 นั้นจะต้องมีความเหมาะสมพอดี คือ ให้เวลาปรับตัวแก่ทั้งฝ่ายเจ้าที่ดินที่จะพัฒนาไปเป็นนักอุตสาหกรรมและเสรีชนที่จะพัฒนาไปเป็นเกษตรกรผู้เป็นเจ้าของที่ดิน แต่ถ้าเลิกทาสแล้วไม่ได้ปฏิรูปที่ดินจะเกิดระบอบเผด็จการทางการเมืองและเกิดระบบทุนนิยมผูกขาดทางเศรษฐกิจ ดังเช่น ประเทศไทยปัจจุบันนี้ ประเทศชาติจะวิกฤตหายนะและประชาชนจะอดอยากยากจน
             5. ได้เกิดวิกฤตชาติตลอดมานับแต่เริ่มเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน 24 มิถุนายน 2475 เป็นต้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ วิกฤตเศรษฐกิจปี พ.ศ. 2540” มีสาเหตุมาจากการปฏิรูปที่ดินที่แก้ไม่ตก และไม่เกิดการปฏิรูปที่ดินเพราะไม่มีการปฏิวัติประชาธิปไตย  รูปธรรมคือ ไม่มีรัฐบาลแห่งชาติ หรือรัฐบาลเฉพาะกาล ปฏิบัตินโยบายสร้างประชาธิปไตยที่มีการปฏิรูปที่ดินอยู่ภายใน  นั่นคือ “ปฏิรูปที่ดินในปฏิวัติประชาธิปไตย” ดังเช่น  รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์โดยมูลนิธิสถาบันที่ดิน 15 มีนาคม 2544 ตอนหนึ่งว่า “ การเปลี่ยนแปลงประเทศจากเกษตรกรรมไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ในช่วงปี พ.ศ. 2530 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตลาดที่ดินขนานใหญ่ เนื่องจากทุนของต่างประเทศที่ระดมเข้ามาลงทุนในประเทศเพื่อประกอบอุตสาหกรรม ประกอบกับนโยบายของรัฐที่ต้องการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคเพื่อกระจายความมั่งคั่งมิให้กระจุกตัวอยู่ในเมือง  ที่ดินจำนวนมากถูกกว้านซื้อเพื่อเก็งกำไรจากการขายให้กับนักลงทุนในการก่อสร้างโรงงาน  ที่อยู่อาศัยหรือสถานพักผ่อนหย่อนใจ  และยังรวมไปถึงบริเวณแนวการขยายตัวของสาธารณูปโภคของรัฐ การปั่นราคาที่ดินทำให้ที่ดินเป็นสินค้าที่ซื้อง่ายขายคล่อง  ผู้คนเปลี่ยนอาชีพมาเป็นนายหน้าขายที่ดิน  จากการจองซื้อและบอกขายต่อในทันที ทำให้ราคาเพิ่มขึ้นจากเดิมเป็น10 เท่าตัว  เหตุการณ์ดังกล่าวสิ้นสุดเมื่อเกิดปรากฏการณ์ฟองสบู่  แต่ในปี พ.ศ. 2540 ทำให้ประเทศเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจซึ่งมีสาเหตุมาจากที่ดิน” 
             “จากการศึกษาพบว่าที่ดินส่วนมากยังใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ ข้อมูลจากการสำรวจของโครงการนี้พบที่ดินประมาณร้อยละ 70 ของประเทศนั้นใช้ประโยชน์พอสมควรที่เหลือใช้ประโยชน์ต่ำกว่าร้อยละ 50 คือมีการใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่หรือไม่มีเลย....การสูญเสียจากการใช้ประโยชน์จากที่ดินไม่เต็มที่  ประเทศไทยต้องสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยประเมินขั้นต่ำ  127,384.03 ล้านบาทต่อปี  ...อาจสรุปได้ว่าการเก็งกำไรในที่ดินนั้นทำให้เศรษฐกิจเสียหายไม่ต่ำกว่า 2 ล้านล้านบาท การเก็งกำไรนำไปสู่ความเสียหายทางเศรษฐกิจ ภาวะไร้ที่ทำกิน และทำให้ก่อเกิดปัญหาทางสังคม.... 2)ไม่มีกฎหมายจำกัดการถือครองที่ดินของเอกชนทำให้ผู้มีฐานะดีสามารถถือครองที่ดินได้ไม่จำกัด โดยไม่จำกัดและโดยไม่ต้องทำประโยชน์ในที่ดินอย่างเต็มที่  ในขณะที่ยังมีเกษตรกรและผู้ไม่มีที่ดินทำกินต้องการที่ดินอีกมาก  และยังไม่มีมาตรการทางภาษีที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมออกบังคับใช้ที่จะแก้ไขปัญหาการกระจุกตัวของที่ดิน  และกว้านซื้อเพื่อเก็งกำไรที่ดินเพื่อให้มีการกระจายที่ดินที่ปฏิบัติได้และสร้างความเป็นธรรมในสังคม  ถึงแม้จะมีกฎหมายปฏิรูปที่ดินก็ไม่ได้เน้นดำเนินการในที่ดินเอกชนถือครองเนื่องจากนโยบายของรัฐให้เน้นไปที่การแก้ปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ จึงทำให้กฎหมายปฏิรูปที่ดินไม่ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกระจายสิทธิการถือครองที่ดินอย่างจริงจัง...5)กฎหมาย เศรษฐกิจที่ออกมาในช่วงวิกฤตของประเทศหลังปี พ.ศ. 2540 ไม่มีผลอย่างเด่นชัดที่จะทำให้เกิดการขยายตัวของการถือครองที่ดินของคนต่างด้าวอันจะกระทบถึงการถือครองที่ดินของคนไทย  เพราะมีเงื่อนไขกำกับการได้มาและการถือครอง  อย่างไรก็ตามหากประเมินผลแล้วว่าเป็นการเปิดช่องให้คนต่างชาติถือครองที่ดินโดยไม่จำเป็นและประเทศไทยไม่ได้ประโยชน์จากการกระตุ้นภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ภายในประเทศด้วยวิธีนี้  หรือภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศฟื้นตัวแล้วก็อาจพิจารณาแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายดังกล่าว” 
             ปัจจุบันนี้มีความเชื่อว่าประเทศไทยมีปัญหาการ
กระจุกตัวของการถือครองที่ดิน  ซึ่งหมายถึงภาวะที่ดินส่วนใหญ่ตกอยู่กับคนส่วนน้อย และมีข้อมูลที่มีการอ้างถึงร้อยละ 90 ของการถือครองที่ดินเป็นการถือครองที่ดินขนาดเล็กกว่า 1 ไร่ต่อคน  ในขณะที่ร้อยละ 10 ของการถือครองที่ดินเป็นการถือครองที่ดินแปลงใหญ่กว่า 100 ไร่ต่อคน 
             ไม่ว่าในบ้านเมืองใด เมื่ออุตสาหกรรมขยายตัวขึ้นถึงระดับหนึ่งแล้ว จำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลงการปกครองให้เป็นแบบประชาธิปไตย  มิฉะนั้นการขยายตัวของอุตสาหกรรมซึ่งจะต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของเศรษฐกิจเสรีนิยม จะทำลายเกษตรกรรม และทำลายการประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดเล็ก  นำความหายนะมาสู่เศรษฐกิจของชาติ  แต่ถ้าเปลี่ยนแปลงการปกครองให้เป็นประชาธิปไตย  การพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติก็จะเป็นไปอย่างสมดุล บรรลุถึงความเป็นประเทศอารยะหรือประเทศพัฒนา สามารถขจัดความจน ดังเช่นในยุโรป อเมริกาเหนือและญี่ปุ่น  
             6. สภาวการณ์ที่กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นลักษณะของระบบทุนนิยมด้อยพัฒนา อันเป็นภาพสะท้อนว่าเป็นประเทศด้อยพัฒนา (Under-developed Country) โดยหลักวิชาแล้วระบบเสรีนิยมหรือระบบทุนนิยมในโลกปัจจุบันมี 3 ระดับคือ 
             6.1 ระบบทุนนิยมด้อยพัฒนา (Under -developed Capitalism) คือระบบทุนนิยมที่ยังอยู่ในระยะแรก และอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการรูปใดรูปหนึ่ง 
             6.2 ระบบทุนนิยมกำลังพัฒนา (Developing Capitalism) คือระบบทุนนิยมที่ยังอยู่ในระยะแรก หรือก้าวหน้าไปสู่ทิศทางแห่งความเป็นอุตสาหกรรมและอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย 
             6.3 ระบบทุนนิยมพัฒนา (Developed Capitalism) คือระบบทุนนิยมที่เป็นอุตสาหกรรมแล้วและอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย
             ดังนั้นประเทศไทยเป็นประเทศด้อยพัฒนาเพราะมีระบบเศรษฐกิจเข้าสู่ทุนนิยมหรือทุนนิยมเติบโตพอสมควรแล้ว แต่ระบอบการปกครองยังเป็นเผด็จการรูปใดรูปหนึ่งระหว่างระบอบเผด็จการรัฐสภากับระบอบเผด็จการรัฐประหาร  จึงเป็นสาเหตุให้ทำการปฏิรูปที่ดินที่ถูกต้องไม่ได้มีเพียงแต่ “ปฏิรูปหลอกๆ” เช่น ส.ป.ก. 4-01 และที่ทำมาทั้งหมดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  ดังเช่น มูลนิธิสถาบันที่ดินได้ยืนยันไว้ในรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์เมื่อ 15 มีนาคม 2545 ว่า... “ถึงแม้จะมีกฎหมายปฏิรูปที่ดินก็ไม่ได้เน้นดำเนินการในที่ดินเอกชนถือครองเนื่องจากนโยบายของรัฐให้เน้นไปที่การแก้ปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ  จึงทำให้กฎหมายปฏิรูปที่ดินไม่ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกระจายสิทธิ์การถือครองที่ดินอย่างจริงจัง”  กล่าวอย่างชัดเจนคือ ไม่ได้ยกเลิกระบบเจ้าที่ดิน คือกระจายกรรมสิทธิ์เอกชนในที่ดินของคนส่วนน้อยไปสู่กรรมสิทธิ์เอกชนในที่ดินของคนส่วนใหญ่ชาวไร่ชาวนา กลับไปเอาที่ดินของรัฐมาปฏิรูป 
             ณ ขณะนี้ ประเทศไทยจะต้องก้าวขึ้นสู่ประเทศกำลังพัฒนาออกจากประเทศด้อยพัฒนา คือ ทำให้เป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีระบบทุนนิยมกำลังพัฒนาอันมีลักษณะที่มี “ระบบทุนนิยมระยะแรกหรือกำลังก้าวหน้าไปสู่ทิศทางแห่งความเป็นอุตสาหกรรม และอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย” นั่นคือ ยกเลิกระบอบเผด็จการรัฐสภา สร้างระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง  และก้าวไปสูทิศทางแห่งความเป็นอุตสาหกรรมด้วยการปฏิรูปที่ดิน เพราะการปฏิรูปที่ดินเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการเปลี่ยนจากสังคมเกษตรกรรมเป็นสังคมอุตสาหกรรม 
             ระบบทุนนิยมมีหัวใจ 2 ประการคือ “อุตสาหกรรมและประชาธิปไตย” การปฏิรูปที่ดินก็เพื่อสร้างอุตสาหกรรม กล่าวคือ อุตสาหกรรมจะเติบโตเข้มแข็งจะต้องมีวัตถุดิบจากภาคเกษตรกรรมอย่างมากมายเพียงพอ  จะต้องกระจายกรรมสิทธิ์ในที่ดิน(ปฏิรูป) ไปสู่ชาวไร่ชาวนาเพื่อทำการเพาะปลูกสร้างผลิตผลป้อนอุตสาหกรรมและเป็นตลาดซึ่งกันและกัน ดังรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ว่า...  “แนวคิดเชิงระบบทุนโดยถือว่าที่ดินเป็นปัจจัยการผลิตทางเกษตรกรรมที่ทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจและที่ดินเป็นสินทรัพย์ที่ผู้ครอบครองสามารถใช้จำนองหรือค้ำประกันเงินกู้ผู้ครอบครองจึงควรมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินอย่างสมบูรณ์เพื่อประโยชน์ในการประกอบกิจการต่างๆ ดังนั้นที่ดินจึงควรนำมาใช้ประโยชน์ทางการผลิตตามศักยภาพเพื่อให้ผลตอบแทนสูงสุด...หรือในกรณีที่เจ้าของที่ดินไม่ได้นำที่ดินไปจำนองหรือประกันเพื่อกู้ยืมเงินไปใช้ในการลงทุนแต่ถือครองที่ดินนั้นไว้เพื่อการออม  ในเชิงเศรษฐศาสตร์ก็ยังถือว่าที่ดินนั้นก็ยังมีการใช้ประโยชน์อยู่และอาจเป็นลักษณะของการออมที่มั่นคงกว่าการถือครองทรัพย์สินประเภทอื่น เนื่องจากที่ดินเป็นทรัพย์สินที่ไม่เสื่อมสภาพ (Depreciate) และมูลค่าไม่สูญหายเมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อ” 
              ลัทธิประชาธิปไตย(Democracy) เป็นตัวสร้างความสมดุลและทำให้เกิดดุลยภาพ (Equilibrium) ในสังคมประชาธิปไตย คือ เมื่ออุตสาหกรรมอันหมายถึงระบบเศรษฐกิจทุนนิยมขยายตัวขึ้นถึงระดับหนึ่งแล้ว จำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลงการปกครองให้เป็นแบบประชาธิปไตย มิฉะนั้นการขยายตัวของอุตสาหกรรมซึ่งจะต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของเศรษฐกิจเสรีนิยมจะทำลายเกษตรกรรมและทำลายการประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก  นำความหายนะมาสู่เศรษฐกิจของชาติ  แต่ถ้าเปลี่ยนแปลงการปกครองให้เป็นประชาธิปไตย  การพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติก็จะเป็นไปอย่างสมดุล บรรลุความเป็นประเทศอารยะหรือประเทศพัฒนา สามารถขจัดความยากจนได้และเป็นไปตามกฎเกณฑ์แห่งวิวัฒนาการ   เมื่อเศรษฐกิจเสรีนิยมหรือทุนนิยมพัฒนาขึ้น จะเกิดขบวนการของชนชั้นกลาง (Bourgeoisie)  หรือนายทุนคือขบวนการเสรีนิยม (Liberalist Movement) คือ ขบวนการประชาธิปไตย ขบวนการรัฐธรรมนูญและขบวนการชาตินิยม ผู้คนที่สังกัดขบวนการประชาธิปไตยก็จะต่อสู้เอาชนะขบวนการต่างๆแล้วนำเอาลัทธิประชาธิปไตยไปสร้างการปกครองแบบประชาธิปไตยขึ้นจนสำเร็จในท้ายที่สุด
    
               7. ประเทศไทยมี 3 ขบวนการต่อสู้กันมานับเวลากว่า 10 ปีคือขบวนการประชาธิปไตย ขบวนการเผด็จการ ขบวนการคอมมิวนิสต์ ถ้าขบวนการใดชนะประเทศก็เป็นไปตามอุดมการณ์ของชนชั้นนั้น 
               ขบวนการประชาธิปไตยได้ก่อกำเนิดขึ้นโดยการนำของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้ทรงสถาปนาการปกครองแบบประชาธิปไตยด้านพื้นฐานจนสำเร็จในขั้นตอนที่ 1 แต่ต่อมาคณะราษฎรได้ทำการรัฐประหารระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่กำลังทรงสร้างประชาธิปไตยลงเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 
               ขบวนการรัฐธรรมนูญได้ก่อกำเนิดขึ้นโดยการทำรัฐประหารของคณะราษฎร และใช้ลัทธิรัฐธรรมนูญสร้างระบอบรัฐธรรมนูญปกครองประเทศ  ต่อมาพัฒนามาเป็นระบอบเผด็จการรัฐสภาและระบอบเผด็จการรัฐประหารปกครองประเทศมาจนถึงบัดนี้เป็นเวลากว่า 76 ปี ในขณะที่ขบวนการคอมมิวนิสต์ได้ก่อตั้งเป็นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและตั้งกองทัพปลดแอกประชาชนทำสงครามกลางเมือง (Civil War) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 – พ.ศ. 2525 
               ขบวนการคอมมิวนิสต์ได้ต่อสู้เพื่อยึดครองอำนาจรัฐเพื่อเปลี่ยนประเทศไปสู่คอมมิวนิสต์ด้วยการทำสงครามปฏิวัติ แต่ต้องยุติสงครามลงเมื่อปีพ.ศ. 2525 โดยนโยบาย 66/23 และยังเคลื่อนไหวอยู่ในรูปของ  “พรรคคือความคิด” และ “แนวร่วมคือเผด็จการ 2 รูป” 
               แต่ทั้งเผด็จการลัทธิรัฐธรรมนูญและเผด็จการลัทธิคอมมิวนิสต์ก็ประสบความพ่ายแพ้ต่อขบวนการประชาธิปไตย  ไม่สามารถจะรักษาความคิดทฤษฎีลัทธิของตนเองไว้ได้ในประเทศไทย ประชาชนไม่ต้องการเผด็จการทั้ง 2 ลัทธิ ประชาชนต้องการประชาธิปไตยตามภาววิสัยของประเทศชาติตามแนวโน้มทางประวัติศาสตร์และเงื่อนไขทางสังคมไทย  เผด็จการทั้ง 2 ขบวนประสบความพ่ายแพ้ในระดับความคิด ต่างก็หันมาเรียกร้องประชาธิปไตยเช่นเดียวกัน แต่เป็นแค่ยุทธวิธีไม่ใช่ยุทธศาสตร์ โดยบิดเบือนลัทธิประชาธิปไตย กำลังจะพ่ายแพ้ทางการเมืองนำไปสู่การพ่ายแพ้ทางการจัดตั้งสูญสลายไป ขบวนการประชาธิปไตยก็จะเป็นฝ่ายมีชัยชนะอย่างเด็ดขาดสิ้นเชิงในไม่ช้านี้ 
               ได้เกิดสถานการณ์ปฏิวัติกระแสสูง 4 ลักษณะคือผู้ปกครองไม่สามารถปกครองได้ ประชาชนไม่ยินยอมให้ปกครอง คนล้าหลังตื่นตัว และขบวนการปฏิวัติประชาธิปไตยเข้มแข็ง นี่คือลักษณะของสถานการณ์ปฏิวัติในประเทศตะวันตกซึ่งเป็นการปฏิวัติรุนแรง  แต่ในประเทศไทยต้องมีลักษณะที่ 5 ชี้ขาดคือต้องใช้แนวทางประชาธิปไตยของพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า ร.5 ร.6 และ ร.7 แนวทางสันติวิธีตามหลักพุทธอหิงสาธรรมนั่นคือ
“ ใช้แนวทางปฏิวัติประชาธิปไตยด้วยอหิงสาพุทธ” นั่นคือ แม้ว่าจะสถานการณ์ปฏิวัติกระแสสูงทั้ง 4 ลักษณะแล้วก็ยังสร้างประชาธิปไตยไม่ได้ หรือทำปฏิวัติประชาธิปไตยไม่ได้  เช่น การปฏิวัติของคณะราษฎร หรือการรัฐประหาร หรือการชุมนุมใหญ่ การเลือกตั้ง การทำสงครามปฏิวัติของคอมมิวนิสต์ หรือการปฏิรูป ฯลฯ  ดังคำกล่าวของนายประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ในหนังสือนายประเสริฐชี้แจงฉบับที่ 13 วันที่ 23 ตุลาคม 2537 ว่า “...แต่ก็เห็นความจำเป็นว่าถ้าจะแก้ไขประเทศไทยให้ได้แล้ว  ต้องเข้าถึงโมกษธรรมสักระดับหนึ่ง  เพราะระบอบเผด็จการรัฐสภาในประเทศไทยแข็งมาก  เพราะหลอกประชาชนให้เชื่อถือว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยเสียแล้ว  พอดีพอร้ายไม่สามารถจะสร้างประชาธิปไตยในประเทศไทยได้ กระผมจึงเสนอให้ผู้ต้องการจะแก้ไขประเทศไทยปฏิบัติโมกษธรรมเพื่อยึดถือแนวทางการต่อสู้สันติตามหลักพุทธอหิงสาธรรมให้ได้จริง  ถ้าไม่จริงต่อแนวทางนี้แล้วก็อย่ามาแก้ไขประเทศไทยเสียให้ยากเลย...”  คือการประสานโมกษธรรมเข้ากับการเมืองอันเป็นการสร้างการนำทางจิตวิญญาณ(Spiritual Leadership) มิใช่แค่เพียงการนำทางความคิดสูงคือการรู้ลัทธิประชาธิปไตย มิใช่แค่เพียงการนำทางการเมืองสูงคือต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย หรือมิใช่เพียงการ นำทางการจัดตั้งสูงคือมีการจัดตั้งองค์การที่เข้มแข็ง
    
              8. รัฐบาลแห่งชาติที่สภาเกษตรกรแห่งชาติได้ทำความเคลื่อนไหวทางความคิดสร้างสัมมาทิฎฐิออกไปอย่างกว้างขวางยาวนานนั้น มาบัดนี้นักการเมือง นักวิชาการ นักเคลื่อนไหว และประชาชนมีความเข้าใจ รัฐบาลแห่งชาติด้านรูปแบบ (Form) แล้วแต่ยังขาดความเข้าใจรัฐบาลแห่งชาติด้านเนื้อหา (Content) ซึ่งเป็นด้านชี้ขาด  จึงต้องยกระดับการให้ความรู้ความเข้าใจของทุกฝ่ายขึ้นสู่ความรู้ขั้นเนื้อหาของรัฐบาลแห่งชาติอันเป็นขั้นตอนสุดท้ายต่อไป และข้อมติเอกฉันท์นี้ก็เป็นการยกระดับจาก “รูปแบบ...สู่....เนื้อหา” ของรัฐบาลแห่งชาตินั่นเอง มิฉะนั้นถ้าไม่รู้เนื้อหาของรัฐบาลแห่งชาติก็จะปฏิเสธรัฐบาลแห่งชาติ 
              การปฏิรูปที่ดิน คือการยกระดับขึ้นสู่ความรู้ขั้นเนื้อหาของรัฐบาลแห่งชาติเพราะเป็นภาพสะท้อนความสัมพันธ์ภายในของการปฏิวัติประชาธิปไตยกับการปฏิรูปที่ดินโดยรัฐบาลแห่งชาติ (วิชาคือภาพสะท้อนของสรรพสิ่งและปรากฏการณ์) ซึ่งอยู่ในรูปของนโยบาย (Platform/Program) ของรัฐบาลแห่งชาตินั่นเอง 
              ส่วนการสร้างประชาธิปไตยโดยสถาบันพระมหากษัตริย์โดย “รัฐบาลเฉพาะกาล” (Provisional Government) ตามกฎเกณฑ์ของประเทศเอกราชเอเชีย 3 ประเทศคือจีน ไทย ญี่ปุ่น ที่ว่าการสร้างประชาธิปไตยในประเทศเอกราชเอเชีย 3 ประเทศมีสถาบันพระมหากษัตริย์เท่านั้นที่จะสร้างประชาธิปไตยสำเร็จได้  ถ้าสถาบันพระมหากษัตริย์ถูกขัดขวางก็ไม่มีทางจะสร้างประชาธิปไตยสำเร็จได้อย่างแน่นอน  เพราะวิธีสร้างประชาธิปไตยของไทยคือ พระมหากษัตริย์ทรงมอบอำนาจให้แก่ประชาชนโดยตรง  ไม่ใช่วิธีโค่นล้มผู้ปกครองแบบตะวันตก  ฉะนั้น เมื่อคณะราษฎรโค่นล้มแย่งชิงอำนาจมาจากพระมหากษัตริย์มาเป็นของคณะรัฐประหารและพรรคการเมืองผู้รับมรดกอำนาจของคณะราษฎรปัจจุบัน  ดังนั้น จะต้องสร้างประชาธิปไตยให้สำเร็จโดยวิธีเดียวคือ “พรรคที่คุมรัฐถวายคืนอำนาจแด่พระมหากษัตริย์เพื่อทรงมอบอำนาจให้แก่ปวงชนชาวไทย” โดยกองทัพแห่งชาติที่เป็นกำลังอันเป็นฐานของอำนาจ ช่วยสร้างประชาธิปไตยด้านกลไกเอกของรัฐ (Principle State Machine)   เพราะทุกสถาบันต้องใช้กองทัพสร้างระบอบการปกครองหรือกองทัพจะทำหน้าที่พรรคปกครองตามธรรมชาติโดยมีผู้นำกองทัพเป็นคณะผู้นำฝ่ายการเมืองคุมรัฐบาล รัฐสภาและองค์กรแห่งอำนาจอธิปไตยลงมือสร้างประชาธิปไตยตามนโยบาย 66/23 ขั้นตอนที่ 2 อันเป็นขั้นตอนสูงสุดขั้นสุดท้ายซึ่งเป็นการสร้างประชาธิปไตยระดับสูง ตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 2 “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” และตามกฎหมายสูงสุด (Supreme Law) คือความมั่นคงแห่งชาติเป็นกฎหมายสูงสุดตามหลักนิติธรรม (Rule of Law)

             9. การสร้างประชาธิปไตยจะต้องมีการช่วยผลักดันโดยประชาชนจึงจะสำเร็จ เสร็จสมบูรณ์ ดังเช่นคณะเจ้านายขุนนางได้ถวายฎีกาแด่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2428    นำโดยกรมพระนเศวรฤทธิ์ในฐานะประชาชน ดังตอนหนึ่งในฎีกาว่า “ ถ้ามิได้กราบบังคมทูลพระกรุณาความรู้เห็นแล้วก็เป็นการขาดความกตัญญูและน้ำพระพัฒน์ทั้งความรักใคร่ในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแลทั้งพระราชอาณาเขตซึ่งเป็นของข้าพระพุทธเจ้าชาวสยามทั่วกันหมด  ความซึ่งข้าพระพุทธเจ้าจะกราบบังคมทูลพระกรุณาต่อไปนี้....” แต่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงมีพระราชดำริจะทรงสร้างประชาธิปไตยอยู่แล้ว ดังพระราชหัตถเลขาตอบว่า  “แต่เราขอแจ้งความแก่ท่านทั้งปวงให้ทราบพร้อมกันด้วยว่า  ความที่น่ากลัวอันตรายอย่างใด  ซึ่งได้กล่าวมานั้นไม่ได้เป็นการที่จะแลเห็นได้ขึ้นใหม่ของเราเลย  แต่เป็นการได้คิดเห็นอยู่แล้วทั้งสิ้น แลการที่ควรจะทำนุบำรุงให้เจริญอย่างไรเล่า เรามีความปรารถนาแรงกล้าที่จะจัดการนั้นให้สำเร็จตลอดไปได้ไม่ต้องมีความห่วงระแวงอย่างหนึ่งอย่างใดว่าเราจะเป็นผู้ขัดขวางในการซึ่งจะเสียอำนาจซึ่งเรียกว่าแอบโซลูดเป็นต้นนั้นเลย...” 
             แต่คณะราษฎรไม่ได้ทำหน้าที่ผลักดันให้สมเด็จพระปกเกล้าทรงสร้างประชาธิปไตยเช่นเดียวกับคณะกรมพระนเรศวรฤทธิ์  กลับโค่นล้มสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่กำลังทรงสร้างประชาธิปไตย  จนเป็นเหตุให้การสร้างประชาธิปไตยไม่สำเร็จจนกระทั่งบัดนี้อันเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของการสร้างประชาธิปไตยในประเทศเอกราชเอเชีย 3 ประเทศ ดังกล่าวข้างต้น 
             สภาเกษตรกรแห่งชาติจึงขอเรียกร้องให้ปวงชนชาวไทยช่วยกันผลักดันการสร้างประชาธิปไตย  ดังเช่นบทบาทของกรมพระนเรศวรฤทธิ์ที่ถูกต้องในอดีต  โดยใช้มาตรการผลักดันอย่างสันติวิธีตามหลักพุทธอหิงสาธรรม คือเดินตามมรรคมีองค์ 8 นั่นเอง คือ ใช้สัมมาทิฎฐิผลักดันต่อผู้ปกครองจนกว่าจะบรรลุความสำเร็จ โดยเฉพาะรัฐบาล  พรรคการเมืองและกองทัพ เป็นต้น
 
 
 
 
            (นายจรูญ ชูฟัก)                                                  (นางนาง วันคำ) 
       เลขาธิการสภาเกษตรแห่งชาติ                    ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ
               
 
 
 

 โทร. 085-135 0270
 
                                                                                                        
 
 
 

ปฏิวัติสันติ

 
สมัคร ยกเลิก
 
 
Revolutionary Press Agency
Online Journal and News Agency for Peace  :  วารสารและข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
Copyright © 2024 www.rpathailand.com All Rights Reserved.
ทำเว็บ  ออกแบบเว็บ  Web Design  เว็บสำเร็จรูป  เว็บไซต์สำเร็จรูป