Revolutionary Press Agency : Online Journal and News Agency for Peace
สำนักสื่อปฏิวัติ  : วารสารข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
8 มิ.ย. 2554 กองหน้าประชาชนรุ่นใหม่ อนุสรณ์ สมอ่อน ตอบคำถามคาใจทำไมต้องปฏิวัติประชาธิปไตย? 
จะรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ให้มั่นคงได้อย่างไร?
เขียนโดย ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร  โพสเมื่อ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๒ ๐๓.๕๐น.
        
   
                                                - ตอน ๓ -
 
                                                                                                      
             เราตั้งหัวเรื่องว่าจะรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ให้มั่นคงได้อย่างไร คำว่า “มั่นคง” มีความหมายอย่างเดียวกับคำว่า “ปลอดภัย” ตรงกับศัพท์อังกฤษว่า Secure เช่นคำว่า Security Council แต่ก่อนแปลเป็นไทยว่า “คณะมนตรีความปลอดภัย” เวลานี้แปลว่า “คณะมนตรีความมั่นคง” และในปัจจุบันคำว่า Security ก็ยังใช้ศัพท์คำไทย 2 คำอยู่ เช่น National Security Centre ใช้คำว่า “ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ” National Security Council ใช้ว่า “สภาความมั่นคงแห่งชาติ” เป็นต้น 
             Secure แปลว่า Untroubled by danger of apprehension (The Concise Oxford Dictionary) แปลเป็นไทยว่า ไม่ยุ่งยาก ไม่ลำบาก หรือไม่กังวลด้วยอันตรายหรือความกลัว 
             ฉะนั้น ความมั่นคงจึงหมายถึง ความไม่ยุ่งยาก ไม่ลำบาก หรือไม่กังวลด้วยอันตรายหรือความกลัว พูดง่าย ๆ ว่าไม่มีอันตรายหรืออันตรายทำอะไรไม่ได้นั่นเอง 
             ฉะนั้น การรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ให้มั่นคง ก็คือการทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่มีอันตรายหรืออันตรายทำอะไรต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ได้นั่นเอง 
             เรายกคำของคุณบุญชู โรจนเสถียร มาในฉบับก่อนว่า “ทุกคนกำลังกังวลห่วงใยบ้านเมืองของเรา ห่วงใยสถาบันต่าง ๆ ที่เราเคารพบูชา ว่าตกอยู่ในฐานะที่อันตรายมาก” คำของคุณบุญชูนี้ พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ สถาบันต่าง ๆ ที่เราเคราพบูชา ตกอยู่ในฐานะที่ไม่มั่นคงมาก คือ สถาบันชาติ สถาบันศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ ตกอยู่ในฐานะที่ไม่มั่นคงมากนั่นเอง
 เพราะฉะนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องรักษาสถาบันชาติ สถาบันศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ให้มั่นคง ในที่นี้เราเริ่มต้นด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงตั้งหัวเรื่องว่า จะรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ให้มั่นคงได้อย่างไร
 แต่ไหนแต่ไรมา คนไทยไม่เคยรู้จักและไม่เคยคิดถึงความไม่มั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยมีความมั่นคงมาโดยตลอด คนไทยเคยรู้จักแต่ความไม่มั่นคงขององค์พระมหากษัตริย์บางองค์ในบางสมัยเท่านั้น เช่นในสมัยกรุงศรีอยุธยา คนไทยรู้จักความไม่มั่นคงของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระเยาว์ หรือความไม่มั่นคงของพระมหากษัตริย์ซึ่งประชาชนไม่ยอมรับ (คือขุนวรวงศาธิราช) หรือพระมหากษัตริย์ผู้ทรงมีผู้คิดชิงราชสมบัติมาก หรือเมื่อกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งหลัง พระมหากษัตริย์ต้องเสด็จหนีและสิ้นพระชนม์ เหล่านี้คือความไม่มั่นคงขององค์พระมหากษัตริย์บางพระองค์ซึ่งคนไทยรู้จัก 
             แต่ในขณะที่พระมหากษัตริย์บางพระองค์ไม่มั่นคงนั้นสถาบันพระมหากษัตริย์มั่นคงโดยตลอดตรงนี้ เราเห็นควรชี้แจงไว้ด้วยคำว่า “พระมหากษัตริย์” นั้นมี 2 ฐานะ คือ ฐานะสถาบัน และฐานะบุคคล ถ้ากล่าวถึงพระมหากษัตริย์ในฐานะบุคคลต้องใช้ราชาศัพท์ ปัญหานี้เคยมีการโต้เถียงกันในระหว่างการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ร่างของคณะกรรมาธิการใช้คำว่า “...มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” มีสมาชิกโต้แย้งว่า ต้องเติม “ทรง” เข้าไป เป็น “...มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงอธิบายให้สมาชิกสภาฟังว่า “พระมหากษัตริย์” ในประโยคนี้ ไม่ใช่บุคคลจึงไม่ต้องใช้ราชาศัพท์ การโต้เถียงจึงยุติ 
             ดังกล่าวแล้วว่า แต่ก่อนไทยไม่เคยรู้จักความไม่มั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ เคยรู้จักแต่ความไม่มั่นคงของพระมหากษัตริย์บางพระองค์ แล้วเหตุใดเวลานี้คนไทยจึงเกิดความรู้สึกถึงความไม่มั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างมาก ดังตัวอย่างที่คุณบุญชู ว่าตกอยู่ในฐานะที่อันตรายมาก? 
             คนไทยเริ่มห่วงใยถึงความไม่มั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์เมื่อมหาอำนาจเจ้าอาณานิคมคุกคามเอกราชของประเทศไทยรุนแรงยิ่งขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เพราะถ้ามหาอำนาจยึดประเทศไทยได้ อาจทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังตัวอย่างที่อังกฤษยกเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์ในพม่าเป็นต้น 
             ก่อนยุคล่าอาณานิคมอย่างรุนแรงนั้น แม้ว่าประเทศไทยจะเคยแพ้สงคราม ก็ไม่กระทบกระเทือนความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ ผู้ชนะสงครามไม่ทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ เพียงแต่ทำอันตรายต่อพระมหากษัตริย์พระองค์เดิมเท่านั้น เช่นเมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยาแพ้สงครามแก่พม่าเมื่อ พ.ศ.2112 สถาบันพระมหากษัตริย์ยังอยู่ และเมื่อกรุงศรีอยุธยาแตกเมื่อ พ.ศ.2310 พระยาตากสินก็ยกสถาบันพระมหากษัตริย์ขึ้นมาอีกในทันทีทั้ง ๆ ที่สุกี้ยึดกรุงศรีอยุธยาอยู่ 
             แต่ถ้าประเทศไทยตกเป็นเมืองขึ้นแก่มหาอำนาจตะวันตกก็ไม่แน่ว่ามหาอำนาจจะไม่ทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ นี่คือเริ่มแรกที่คนไทยเกิดความห่วงใยต่อความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์แต่ความห่วงใยนี้ก็เลือนหายไปเมื่อแน่ใจแล้วว่าประเทศไทยสามารถรักษาเอกราชไว้ได้ ด้วยพระปรีชาญาณของพระมหากษัตริย์ไทย 

 
                                                                    - ตอน ๔ -

                                                                                           
             ....ความห่วงใยเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งเมื่อเกิดการเคลื่อนไหวปฏิวัติประชาธิปไตยขึ้นในประเทศไทยการเคลื่อนไหวประชาธิปไตย (หรือขบวนการประชาธิปไตย) ในประเทศไทยนั้น แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งดำเนินการปฏิวัติประชาธิปไตยโดยพระมหากษัตริย์ เจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ อีกส่วนหนึ่งดำเนินการปฏิวัติประชาธิปไตยโดยข้าราชการระดับล่างและพ่อค้าประชาชน ส่วนแรกไม่มีใครห่วงใยต่อความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่วนหลังก่อให้เกิดความเป็นห่วงอยู่บ้าง 
             การเคลื่อนไหวปฏิวัติประชาธิปไตยส่วนแรก ซึ่งดำเนินการโดยพระมหากษัตริย์ เจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่นั้น ความมุ่งหมายประการหนึ่งในการปฏิวัติประชาธิปไตยก็เพื่อรักษาความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังเช่นการปฏิวัติประชาธิปไตยในญี่ปุ่น ซึ่งดำเนินการโดยพระจักรพรรดิเป็นต้น 
             ในประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงมีพระราชดำริที่จะทำการปฏิวัติประชาธิปไตยอยู่ เพียงแต่จะทรงทำการปฏิรูปประชาธิปไตยเสียก่อน เท่านั้น และการเคลื่อนไหวปฏิวัติประชาธิปไตยของเจ้านายและขุนนางในสมัยนั้นก็มีความมุ่งหมายอย่างเดียวกัน ดังเช่นคำท้ายถวายคำกราบบังคมทูลแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ทรงรีบทำการปฏิวัติประชาธิปไตย ของคณะเจ้านายและขุนนางเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2428 มีข้อความตอนหนึ่งว่า  
              “ ด้วยความประสงค์อันนี้ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงจึงสามารถกราบบังคมทูลพระกรุณา บังอาจชี้แจงโดยพิสดารแลใช้ถ้อยคำอันเรี่ยวแรงดังนี้ เพราะเป็นความประสงค์ของข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงที่จะกราบบังคมทูลแสดงความกตัญญูรักใคร่ในใต้ฝ่ายละอองธุลีพระบาทแลบ้านเมือง ซึ่งได้เป็นของไทยมาหลายร้อยปี โดยเต็มตามใจคิดทุกอย่าง ไม่ได้คิดยั้งถ้อยคำ ถ้าผิดพลั้งเหลือเกินเรี่ยวแรงไปประการใดแล้ว พระราชอาญาไม่พ้นเกล้าฯ แลที่ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงสามารถกราบบังคมทูลพระกรุณาทั้งนี้หาได้มีความประสงค์แห่งลาภ ยศฐานานุศักดิ์ฦๅช่องโอกาส ด้วยความประสงค์จะหาประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใดไม่ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงมีความประสงค์จะได้ฉลองพระเดชพระคุณซึ่งได้ทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงเกล้าฯ มา แลทำความดีให้แก่บ้านเมืองซึ่งเป็นที่รักของข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายเพื่อให้เป็นเอกราชต่อไปด้วยร่างกายแลชีวิต หาได้คิดถึงความสุขความเจริญแต่ในส่วนตัวต่อไปข้างหน้าไม่”
              และอีกตอนหนึ่งว่า 
              “ ด้วยข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงมีความเชื่อถืออันเป็นแน่ว่า ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทมีพระราชหฤทัยทรงพระอุตสาหะดังที่ได้มีมาเป็นพยานอยู่แต่ก่อนแล้วที่จะทรงพระราชวินิจฉัยในราชกิจทำนุบำรุงราชอาณาเขตและไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ ให้มีความสุขความเจริญต่อไปแลทั้งโดยความกตัญญูสวามิภักดิ์ของข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงเฉพาะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท จึงทำให้ข้าพระพุทธเจ้ามีความประสงค์อันแรงกล้าที่จะได้เห็นรัชกาลของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทรุ่งเรืองยิ่งขึ้นไปด้วยความดีความเจริญ เพราะฉะนั้นข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงจึ่งสามารถขอรับพระราชทานพระบรมราชานุญาติ กราบบังคมทูลใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงพระราชดำริถึงรัชกาลปัตยุบันนี้ ซึ่งตั้งอยู่ในสมัยอันประเสริฐ คือ “ศิวิไลซ์” นี้ ไม่ควรที่จะให้มีความดี ความเจริญเพียงเสมอรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแต่โบราณมาด้วยราชกิจแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินนั้น ใช่แต่จะทรงทำนุบำรุงรักษาพระราชกิจแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินนั้น ใช่แต่จะทรงทำนุบำรุงรักษาพระราชอาณาเขตให้พ้นจากภัยอันตรายตลอดไปชั่วรัชกาลหนึ่งนั้นมิได้ ต้องให้ความดีความเจริญที่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทได้ทรงพระราชอุตสาหะประพฤติมาในรัชกาลปัตยุบันนี้ เป็นการป้องกันรักษาอันแน่นอนของกรุงสยาม แลเป็นรากของความเจริญที่ต่อไปแลเมื่อรัชกาลในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทสิ้นไปแล้วให้ผู้ที่จะมารักษาราชประเพณีสืบไป แลทั้งข้าราชการราษฎรนั้นกลับระลึกได้ถึงรัชกาลของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทด้วยความเคารพนับถือ ว่าเอกราชของกรุงสยามแลกำเนิดของความสุขความสบายที่ตั้งอยู่เจริญรุ่งเรืองมาจนถึงวันนี้นั้น เพราะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทพระองค์เดียวได้ทำนุบำรุงในทางอันประเสริฐมาแลจะได้เป็นแบบอย่างของรัชกาลข้างหน้าสืบไป” 
              นี่คือคำท้ายของคำกราบบังคมทูลของคณะเจ้านายและขุนนางให้พระมหากษัตริย์ทรงทำการปฏิวัติประชาธิปไตย 
              พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชหัตถเลขาตอบว่า พระองค์ท่านทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะทำการปฏิวัติประชาธิปไตยอยู่แล้ว ดังข้อความตอนหนึ่งว่า 
         
             “... แต่เราของแจ้งความแก่ท่านทั้งปวงให้ทราบพร้อมกันด้วยว่า ความที่น่ากลัวอันตรายอย่างใดซึ่งได้กล่าวมานั้น ไม่เป็นการที่จะแลเห็นได้ขึ้นใหม่ของเราเลย แต่เป็นการได้คิดเห็นอยู่แล้วทั้งสิ้น แลการที่ควรจะทะนุบำรุงให้เจริญอย่างไรเล่า เรามีความปรารถนาแรงกล้าที่จะจัดการนั้นให้สำเร็จตลอดไปได้ ไม่ต้องมีความห่วงระแวงอย่างหนึ่งอย่างใดว่า เราจะเป็นผู้ขัดขวางให้การซึ่งจะเสียอำนาจ ซึ่งเรียกว่า แอบโซลูต เป็นต้นนั้นเลย  เพราะเราได้เคยทดลองรู้มาแล้วตั้งแต่เวลาเป็นตุ๊กตาซึ่งไม่มีอำนาจอันใดเลยทีเดียวนอกจากชื่อ จนถึงเวลาที่มีอำนาจขึ้นมาโดยลำดับจนเต็มบริบูรณ์ในบัดนี้ ในเวลาที่มีอำนาจน้อยปานนั้นได้ ความยากลำบากอย่างไรแลในเวลาที่มีอำนาจมากเพียงนี้ได้รับความลำบากอย่างไร เรารู้ดีจำได้ดี เพราะที่จำได้อยู่อย่างนี้ เหตุไรเล่าเราจึงไม่มีความปรารถนาอำนาจปานกลาง ซึ่งจะเป็นความสุขแก่ตัวเรา และจะเป็นการมั่นคงถาวรของพระราชอาณาจักรด้วยนั้น เพราะเหตุฉะนี้ เราขอให้ท่านทั้งปวงเข้าใจว่า เราไม่เป็นพระเจ้าแผ่นดินซึ่งจะต้องบีบคั้นให้หันลงมาทางกลางเหมือนอย่างพระเจ้าแผ่นดินในยุโรปซึ่งมีมาในพงศาวดาร และเพราะความเห็นความรู้ซึ่งเราได้เป็นเจ้าแผ่นดินมาถึงสิบแปดปี ได้พบได้เห็นและได้เคยทุกข์ร้อนในการหนักการแรงการเผ็ดการร้อนของบ้านเมือง ซึ่งมีอำนาจจะมากดขี่ประการใด ทั้งได้ยินข่าวคราวจาเมืองอื่น ๆ ซึ่งมีเนือง ๆ มิได้ขาด แลการซึ่งเราได้ขวนขวายตะเกียกตะกายอยู่ในการที่จะเปลี่ยนแปลงมาแต่ก่อน จนมีเหตุบ่อย ๆ เป็นพยานของเราที่จะยกขึ้นได้ว่า เราไม่ได้เป็นประเจ้าแผ่นดินซึ่งเหมือนอย่างคางคกอยู่ในกะลาครอบที่จะทรมานให้สิ้นทิฐิ ถือว่าตัวนั้นโตด้วยอย่างหนึ่งอย่างใดเลย” 

              นี่คือความพยายามเปลี่ยนแปลงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งเวลานั้นเรียกว่า แอบโซลูตโมนากี (Absolute Monarchy) เป็นระบอบปริมิตาญาสิทธิราชย์ซึ่งเวลานั้นเรียกว่าลิมิเต็ดโมนากี (Limited Monarchy) ซึ่งก็คือความพยายามที่จะทำการปฏิวัติประชาธิปไตยโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเจ้านายขุนนางผู้ใหญ่ และถ้าความพยายามนั้นเป็นผลสำเร็จ ก็จะเป็นไปเพื่อความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสำคัญประการหนึ่ง
 
 

               (อ่านต่อตอนหน้า)
 
 
 
 
               อ่านย้อนหลัง...
 
 
 

ปฏิวัติสันติ

 
สมัคร ยกเลิก
 
 
Revolutionary Press Agency
Online Journal and News Agency for Peace  :  วารสารและข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
Copyright © 2024 www.rpathailand.com All Rights Reserved.
ทำเว็บ  ออกแบบเว็บ  Web Design  เว็บสำเร็จรูป  เว็บไซต์สำเร็จรูป