Revolutionary Press Agency : Online Journal and News Agency for Peace
สำนักสื่อปฏิวัติ  : วารสารข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
8 มิ.ย. 2554 กองหน้าประชาชนรุ่นใหม่ อนุสรณ์ สมอ่อน ตอบคำถามคาใจทำไมต้องปฏิวัติประชาธิปไตย? 
อุปสรรคความสำเร็จการปฏิวัติประชาธิปไตยในประเทศไทย
เขียนโดย อ.ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร
 
บทที่ ๑

แนวความคิดทางการเมืองของอาจารย์ปรีดี

 
            อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เป็นคนสำคัญทางการเมืองระดับสูงของประเทศไทย  อสัญกรรมขอท่านจึงเป็นอนุสสติอย่างสูงสำหรับประชาชนชาวไทยผู้เป็นพุทธมามกชน  สมดังพระบาลีว่า
 
พุทธา นุสสติ เมตตา จ
อสุภํ มรณสฺสติ
อิจฺจิมา จตุรา รกฺขา
กาตพฺพา จ วิปสฺสนา
 
            แปลว่า ภาวนาทั้งสี่นี้ คือพุทธานุสติระลึกถึงพระพุทธเจ้า เมตตาปรารถนาจะให้เป็นสุข อสุภ เห็นเป็นของไม่งาม  มรณัสสติระลึกถึงความตาย เป็นวิปัสสนาอันพึงบำเพ็ญ และนี่คือวิปัสสนาซึ่งคนไทยทั้งชาติควรบำเพ็ญ  โดยเฉพาะคนที่เป็นศัตรูกับอาจารย์ปรีดี  อย่างเช่นอาจารย์หม่อมคึกฤทธิ์  ซึ่งวันก่อนผมได้อ่านคำให้สัมภาษณ์ของท่านว่า ต่อสู้กับคุณปรีดีมานาน  เดี๋ยวนี้ก็แก่ชราลืมไปหมดแล้ว ผมว่าอย่าเพ่อลืมครับ  ยิ่งอาจารย์ปรีดีถึงอสัญกรรมยิ่งต้องไม่ลืม เพราะอีกไม่นานอาจารย์คึกฤทธิ์ก็จะถึงอสัญกรรมอย่างปรีดี  พึงยึดมั่นในมรณสติไว้  ซึ่งรับรู้ว่าหมดฤทธิ์ในโลกนี้จะได้มีฤทธิ์ไปต่อสู้กันใหม่ในนรก  หรือบนสวรรค์ต่อไป 
            คนที่เป็นหมอไม่ใช่ว่าจะต้องยกย่องเสมอไป  หมอที่รักษาไข้ให้หายจึงควรยกย่องแต่หมอที่รักษาไข้ให้ตายควรตำหนิ เว้นแต่คนไข้ที่จะต้องตายอยู่แล้ว  หมอเทวดาก็รักษาไม่หาย  ญาติสนิทของผมคนหนึ่งตายเสียเปล่าๆ เมื่ออายุยังไม่ถึงสามสิบ  เพราะหมอรักษาให้ตายคือ ญาติผมปวดท้องอย่างแรง.......... 
            นิตยสาร “หลักไท” ส่งคำถาม 8 ข้อ เกี่ยวกับอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ไปให้ผมตอบคือ  1.อาจารย์เริ่มรู้จัก   อาจารย์ปรีดีตั้งแต่เมื่อไหร่และมีความสัมพันธ์อย่างไร  2.ในสายตาของอาจารย์เห็นว่าอาจารย์ปรีดีเป็นคนมีบุคลิกทั้งทางส่วนตัวและการเมือง(ด้านการเป็นผู้นำ) เป็นอย่างไร  3 .สภาพการเมืองในระยะที่อาจารย์ปรีดีเรืองอำนาจอยู่เป็นอย่างไร  และในสายตาของอาจารย์เห็นอย่างไร 4. มีการถกเถียงกันมากเรื่องแนวความคิดของอาจารย์ปรีดีในการแก้ปัญหาของชาติ  อาจารย์ช่วยอธิบายรายละเอียดเรื่องนี้ให้เข้าใจขึ้นอีกได้หรือไม่ และอาจารย์มองปัญหานี้อย่างไร โดยเฉพาะสมุดปกเหลืองที่อาจารย์ปรีดีต้อการให้นำมาแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจขณะนั้น 5. ตามความเห็นของอาจารย์คิดว่าระยะเวลาที่ผ่านมา  ถ้ามีการนำเอาแนวความคิดของอาจารย์ปรีดีมาแก้ไขปัญหาของชาติจะประสบผลสำเร็จอย่างไรหรือไม่ เพราะอะไร  6.และแนวความคิดของอาจารย์ปรีดีในระยะหลัง  อาจารย์ได้ติดตามบ้างหรือไม่ และมีความเห็นอย่างไรถ้าจะนำมาแก้ไขปัญหาของชาติ 7.เพราะเหตุใดอาจารย์ปรีดีจึงต้องลี้ภัยไปอยู่ฝรั่งเศสแทนที่จะอยู่เมืองจีนต่อ  และที่ว่าอาจารย์ปรีดีไม่ลงรอยกับทางพคท.ที่มาชักชวนให้ร่วมพรรคด้วยกันนั้นเป็นอย่างไร อาจารย์พอจะบอกรายละเอียดได้หรือไม่  8.ตอนที่อาจารย์ไปอยู่เมืองจีนระยะหนึ่งนั้น  ได้ติดต่อกับอาจารย์ปรีดีบ้างหรือไม่หรือมีความสัมพันธ์กันอย่างไร 
            เนื่องจากผมเคยตำหนิอาจารย์ปรีดีไว้มาก  ทั้งเมื่ออยู่ในเมืองไทยและเมื่อไปพบกันในเมืองจีน  เป็นการตำหนิต่อหน้า  ไม่ใช่ตำหนิลับหลังและไม่เพียงต่อหน้าสองต่อสองหากต่อหน้าท่านกับบุคคลในคณะของท่าน  ซึ่งเวลานี้ก็ยังมีตัวตนอยู่  เช่นคุณสงวน ตุลารักษ์  คุณสุรีย์ ทองวาณิชย์  คุณสมศักดิ์ พัวเวส  คุณวัชรชัย ชัยสิทธิเวช เป็นต้น  เมื่อผมกลับมาเมืองไทยใหม่ๆพบคุณสังข์ พัธโนทัย ครั้งแรก เขาถามว่า “ลื้อไปคัดค้านอาจารย์หรือ ?” ผมถามว่า “รู้ได้ยังไง ? ” คุณสังข์บอกว่า “รู้ซิ” และเมื่อไม่นานมานี้ผมยังเขียนตำหนิอาจารย์ปรีดีลงใน “ตะวันใหม่ ”  ซึ่งท่านก็ได้อ่านที่ปารีสทุกฉบับ  แต่ผมไม่ได้ตำหนิอาจารย์ปรีดีข้างเดียวดอก  อาจารย์ปรีดีก็ตำหนิผมเหมือนกัน แต่ผมรู้สึกว่าผมตำหนิอาจารย์ปรีดีหนักกว่าอาจารย์ปรีดีตำหนิผม เพราะผมตำหนิท่านในปัญหาหลักการของการปฏิวัติประชาธิปไตยเป็นสำคัญโดยผมเปรียบเทียบท่านเป็นหมอที่รักษาไข้ให้ตาย 
            อาจารย์ปรีดีเป็นนักปฏิวัติประชาธิปไตยที่สำคัญที่สุดของ “คณะราษฎร”  กล่าวได้ว่าท่านเป็นผู้นำที่แท้จริงของคณะราษฎร   แต่แทนที่ท่านจะนำการปฏิวัติประชาธิปไตย ของไทยไปสู่ความสำเร็จ ท่านกลับเป็นต้นเหตุให้การปฏิวัติพัง  พังมาจนถึงวันอสัญกรรมของท่าน และยังจะพังต่อไปอีกนานทีเดียว
            เมื่อพูดถึงอาจารย์ปรีดีในฐานะที่ท่านเป็นผู้นำของการปฏิวัติประชาธิปไตยของคณะราษฎร  ผมมีแต่การตำหนิอย่างเดียว  เพราะหมอที่รักษาไข้ให้ตายนั้น ไม่มีอะไรที่จะสรรเสริญกันได้ และหมอปฏิวัติประชาธิปไตยนั้นสำคัญกว่าหมอแพทย์และหมอยาหลายร้อยหลายพันเท่า เพราะไม่รับผิดชอบชีวิตของบุคคลเอกชน  แต่รับผิดชอบชีวิตของประเทศชาติและประชาชน ฉะนั้นหมอปฏิวัติที่ทำให้การปฏิวัติประชาธิปไตยพังจะต้องตำหนิทั้งต่อหน้าและลับหลัง ทั้งสองต่อสองและต่อมวลชน ทั้งเมื่อยังไม่ตายและเมื่อตายแล้ว เพราะถ้าจะทำการปฏิวัติประชาธิปไตยในประเทศไทยให้สำเร็จ  ก็จะต้องตำหนิอาจารย์ปรีดีในการนำปฏิวัติที่ผิดพลาดของท่านตามความเป็นจริง และถ้าไม่แก้ไขความผิดพลาดที่อาจารย์ปรีดีปลูกฝังไว้เป็นเวลายาวนานแล้ว  การปฏิวัติประชาธิปไตยในประเทศไทยจะไม่มีทางสำเร็จ 
            เนื่องจากผมยกอาจารย์ปรีดีไว้ในฐานะผู้นำการปฏิวัติประชาธิปไตยของคณะราษฎร  ดั้งนั้นเมื่อ “หลักไท” หรือใครๆถามมา ไม่ว่า เมื่อท่านมีชีวิตอยู่หรือเมื่อถึงอสัญกรรมแล้วคำตอบของผมจึงมีแต่การตำหนิ และถ้าจะสรรเสริญท่านก็มีแต่อย่างเดียวว่า  ท่านได้สร้างความผิดพลาดไว้เป็นบทเรียนแก่คนรุ่นหลังสำหรับแสวงหาแนวทางที่ถูกต้องเพื่อความสำเร็จของการปฏิวัติประชาธิปไตยต่อไปเท่านั้น  และดังนั้นเพื่อตำหนิให้เป็นระบบยิ่งขึ้น ผมจึงขอเขียนเป็นบทความให้แก่ “หลักไท” แทนที่จะตอบคำถามเป็นข้อๆ เท่ากับรวมคำถามทุกข้อตอบเป็นข้อใหญ่ข้อเดียวเลย 
            ในด้านการเมือง อาจารย์ปรีดีเขียนอธิบายนโยบายและวิธีการปฏิวัติไว้ในเรื่องการก่อตั้งคณะราษฎรที่ปารีสว่า ในขณะนั้นคำว่า Revolution ยังไม่ได้แปลเป็นศัพท์ว่าปฏิวัติจึงแปลเป็นคำธรรมดาว่าเปลี่ยนแปลงการปกครองจากกษัตริย์อยู่เหนือกฎหมายเป็นการปกครองที่กษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย   โดยไม่ได้อธิบายให้ชัดเจนว่าระบอบการปกครองที่กษัตริย์อยู่ใต้กฎหมายนั้น เป็นระบอบอะไร เราจึงไม่รู้ว่าระบอบที่จะสร้างขึ้นใหม่ตามทัศนะของอาจารย์ปรีดีนั้นเป็นระบอบเผด็จการนั้นเป็นระบอบประชาธิปไตยหรือระบอบเผด็จการ  เพราะระบอบที่กษัตริย์อยู่ได้กฎหมายนั้นอาจเป็นระบอบประชาธิปไตยก้ได้ อาจเป็นระบอบเผด็จการก็ได้  แสดงว่าความต้องการของอาจารย์ปรีดีนั้น  ขอแต่ให้เป็นระบอบที่กษัตริย์อยู่ใต้กฎหมายก็แล้วกัน 
            ความไม่ชัดเจนข้อนี้แสดงให้เห็นด้านหนึ่งในบทรัฐธรรมนูญซึ่งอาจารย์ปรีดีเป็นผู้ร่างหรือมีส่วนสำคัญในการร่าง  คือรัฐธรรมนูญฉบับแรกซึ่งเรียกว่า “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวพ.ศ. 2475” ซึ่งอาจารย์ปรีดีเป็นผู้ร่าง มาตรา1. บัญญัติว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย ” ซึ่งแสดงว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยเพราะระบอบประชาธิปไตยก็คือระบอบที่อำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของราษฎร (ต่อมาอำนาจสูงสุดของประเทศใช้เป็นศัพท์ว่าอำนาจอธิปไตยและราษฎรใช้ว่าปวงชน)
            รัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475  ต่อมาได้ตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร  ซึ่งมีอาจารย์ปรีดีเป็นกรรมการคนสำคัญที่สุดในคณะกรรมการชุดนั้น  รัฐธรรมนูญถาวรดังกล่าวประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 หัวใจของรัฐธรรมนูญฉบับนั้นคือ ยกเลิกระบอบประชาธิปไตย  โดยบัญญัติไว้ในมาตรา 2 ว่า “อำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวสยาม” จะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับแรกบัญญัติให้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวสยาม  แต่รัฐธรรมนูญฉบับที่สองบัญญัติให้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวสยาม   รัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับนี้ร่างโดยคนเดียวกันคืออาจารย์ปรีดี  แต่มีหลักสาระตรงกันข้าม  คืออำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนนั้นเป็นระบอบประชาธิปไตย(โดยหลักการ)  แต่อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนนั้น  หมายความว่าอำนาจอธิปไตยไม่ได้เป็นของปวงชน  แต่เป็นการบิดเบือนและหลอกลวงประชาชนโดยใช้ถ้อยคำใกล้เคียงกันให้เข้าใจผิด   และนำไปสู่ข้อยุติว่าการเลือกตั้งคือระบอบประชาธิปไตย  ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งแบบชั่วช้าสามานย์สักเพียงใดก็ตาม  ก็ถือว่าเป็นระบอบประชาธิปไตย อย่างการเลือกตั้งที่ผ่านมาหยกๆ  ซึ่งก็รู้กันทั่วบ้านทั่วเมืองว่าเลือกตั้งกันอย่างไร  ก็ยังอุตส่าห์บอกกันว่าการปกครองของเราเป็นระบอบประชาธิปไตย
            เวลานี้ ถ้าถามนักการเมืองและนักวิชาการว่า การปกครองของประเทศไทยเป็นระบอบอะไร  เขาจะตอบว่าเป็นระบอบประชาธิปไตย และถามต่อไปว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยเพราะอะไร เขาจะตอบว่าเพราะอำนาจอธิปไตยมาจากปวงชน ถามอีกว่าอำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนหมายความว่าอะไร เขาจะตอบว่าส.ส.ซึ่งทำหน้าที่นิติบัญญัติและควบคุมการบริหารนั้น เลือกตั้งมาจากประชาชน 
            นี่คือการบิดเบือนและหลอกลวงประชาชนในความหมายของระบอบประชาธิปไตยอย่างร้ายแรงที่สุด และแก้ยากที่สุด เหตุที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะการเปลี่ยนแปลงอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน เป็นอำนาจอธิปไตยมาจากปวงชน  ซึ่งอาจารย์ปรีดีเป็นผู้เปลี่ยนแปลงหรือมีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงนั่นเอง
            จึงเห็นได้ว่า การที่อาจารย์ปรีดีแปลคำ Revolution ว่าเปลี่ยนแปลงการปกครองที่กษัตริย์อยู่เหนือกฎหมายเป็นการปกครองที่กษัตริย์อยู่ใต้กฎหมายนั้น กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้วอาจารย์ปรีดีไม่ได้คิดที่จะเปลี่ยนแปลงระบอบเผด็จการเป็นระบอบประชาธิปไตย   แต่คิดที่จะเปลี่ยนแปลงระบอบเผด็จการรูปหนึ่งเป็นระบอบเผด็จการอีกรูปหนึ่งเท่านั้นเอง  ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม  จึงเป็นดังที่รัชกาลที่7 ทรงบันทึกไว้ว่า “ผลร้ายของการปกครองแบบ Absolute Monarchy มิได้เสื่อมคลาย  แต่เปลี่ยนตัวเปลี่ยนคณะกันเท่านั้น” (จากพระราชบันทึกของร.7 เสนอต่อรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2475)
            อีกประการหนึ่ง นโยบายของคณะราษฎรที่เรียกว่าหลัก 6 ประการนั้น ขาดหลักสำคัญที่สุดของระบอบประชาธิปไตยไป  ขอให้ดูหลัก 6 ประการของคณะราษฎรดังนี้

               “1. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่นเอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง 
                2. จะต้องรักษาความปลอดภัยในประเทศให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก  
                3. จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ  โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกๆคนทำ  จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ  ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก 
                4. จะต้องให้ราษฎรได้สิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่) 
                5. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพมีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น 
                6. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
 
          หลักสำคัญที่สุดอันเป็นหัวใจของระบอบประชาธิปไตย คือหลักอธิปไตยของปวงชน  หลักเอกราชนั้นเป็นหลักสำคัญที่สุดของระบอบประชาธิปไตยในประเทศเมืองขึ้น  การที่ประเทศเมืองขึ้นจะเป็นประเทศประชาธิปไตยได้นั้น  ต้องมีเอกราชของประชาชาติเสียก่อน แล้วจึงจะมีอธิปไตยของประชาชนได้  ถ้าไม่มีเอกราชของประชาชาติก็ไม่ต้องพูดถึงอธิปไตยของประชาชน   แต่ประเทศที่มีเอกราชของประชาชาติแล้ว อาจไม่มีอธิปไตยของประชาชนก็ได้ เพราะอธิปไตยไปตกอยู่ในกำมือของชนส่วนน้อย จะเห็นได้ว่าประเทศที่เป็นเอกราชไม่จำเป็นต้องเป็นประเทศประชาธิปไตยเสมอไป  ประเทศเอกราชที่เป็นประเทศเผด็จการก็มีอยู่มากอย่างเยอรมันสมัยฮิตเลอร์มีเอกราชของประชาชาติอย่างสมบูรณ์  แต่อธิปไตยของประชาชนไม่มีเลย  ฉะนั้น การเป็นระบอบประชาธิปไตยนั้นมีเอกราชอย่างเดียวไม่เพียงพอ   แต่จะต้องมีอธิปไตยของประชาชนด้วย 
             ประเทศไทยในสมัยที่อาจารย์ปรีดีเป็นผู้นำการปฏิวัติประชาธิปไตยของคณะราษฎรนั้น   ขาดทั้งเอกราชของประชาชาติและอธิปไตยของประชาชน  แต่ 2 อย่างนี้ขาดมากน้อยกว่ากัน  คือขาดอธิปไตยของประชาชนมากกว่าขาดเอกราชของประชาชาติ  เพราะถึงแม้จะยังขาดเอกราชขอประชาชาติอยู่บ้างแต่ประเทศไทยก็เป็นที่ยอมรับแก่คนไทยและแก่ชาวโลก ว่าเป็นประเทศเอกราชประเทศหนึ่งในทวีปอาเซีย  ซึ่งกล่าวกันว่า  ในตะวันออกไกลมีประเทศเอกราชเพียง 2 ประเทศ คือไทยและญี่ปุ่น  ข้อเท็จจริงประการหนึ่งก็คือในขณะนั้นประเทศไทยเป็นสมาชิกของสมาคมโลกคือสันนิบาตชาติ  ซึ่งเอกราชเท่านั้นที่จะเป็นสมาชิกได้  และความหมายของเอกราชนั้นย่อมหมายถึงเอกราชทางการเมือง  ไม่หมายถึงปัญหาเศรษฐกิจ   ตามสภาพความเป็นจริงของประเทศไทยในสมัยนั้นก็เช่นเดียวกันกับสมัยนี้ คือขาดอธิปไตยขอประชาชนมากกว่าขาดเอกราชของประชาชาติ สมัยนั้นประเทศไทยเป็นเอกราชที่ไม่สมบูรณ์ แต่เป็นเผด็จการที่สมบูรณ์ คือเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งแม้ว่าจะมีเสรีภาพของบุคคลพอสมควรแต่อธิปไตยเป็นของชนส่วนน้อยโดยสิ้นเชิง  ปัญหาเอกราชของประชาชาติจึขึ้นต่อปัญหาอธิปไตยของประชาชน  จะต้องแก้ปัญหาอธิปไตยขอปวงชนให้ตกไปก่อน  จึงจะแก้ปัญหาเอกราชของประชาติให้ตกไปได้    ปัญหาเอกราชก็จะแก้ตกไปโดยง่าย  แต่ถ้าเอาปัญหาประชาธิปไตยไปขึ้นต่อปัญหาเอกราช จะแก้ปัญหาไม่ตก
              หลัก 6 ประการของคณะราษฎร  ซึ่งกำหนดโดยอาจารย์ปรีดีเป็นสำคัญ  ยกเอาหลักเอกราชเป็นหลักที่หนึ่งแต่ไม่มีหลักประชาธิปไตยหรือหลักอธิปไตยของปวงชนปรากฏอยู่เลย  ซึ่งที่ถูกแล้วหลักที่หนึ่งควรจะเป็นหลักประชาธิปไตยหรือหลักอธิปไตยของปวงชนปรากฎอยู่เลยซึ่งที่ถูกแล้วหลักที่หนึ่งควรจะเป็นหลักประชาธิปไตยหรือหลักอธิปไตยเป็นของปวงชนนี่ก็เป็นหลักฐานอีกข้อหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า Revolution หรือการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากกษัตริย์อยู่เหนือกฎหมายเป็นกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมายของอาจารย์ปรีดีนั้น หาได้มีความมุ่งหมายเพื่อจะทำการปฏิวัติประชาธิปไตยเปลี่ยนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใดไม่  หากเพียงแต่เปลี่ยนแปลงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบเผด็จการอีกรูปหนึ่งเท่านั้นเอง
              นี่ผมพูดถึงนโยบายปฏิวัติประชาธิปไตยของอาจารย์ปรีดี ในแง่ของหัวใจของระบอบประชาธิปไตย  ซึ่งนักรัฐศาสตร์ย่อมรู้กันดีว่าหลักการปกครองที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตยในลัทธิประชาธิปไตยสากลนิยมนั้น  ประกอบด้วย 1) อธิปไตยของปวงชน (Sovereignty of the People หรือ Popular Sovereignty)  2) เสรีภาพ (Freedom) 3) เสมอภาค (Equality) 4) หลักนิติธรรม (Rule of Law) 5)รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง (Elected Government) 
              ในบรรดาหลักเหล่านี้ หัวใจคืออธิปไตยของปวงชน จะต้องมีอธิปไตยของปวงชนจึงจะเป็นระบอบประชาธิปไตย ถ้าปราศจากอธิปไตยของปวงชนแล้ว  ถึงจะมีหลักอื่นๆครบถ้วนก็ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย 
              แต่เนื่องจากอาจารย์ปรีดี นำคณะราษฎรและประชาชนทั่วไปให้เข้าใจผิดเสียว่า  ระบอบประชาธิปไตยคืออำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนอันหมายถึงการเลือกตั้ง ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นหลักการปกครองที่ไม่ใช่หัวใจของระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น  ยังเป็นหลักข้อท้ายๆ  ซึ่งในบางกรณีอาจมีและในบางกรณีอาจไม่มีอีกด้วย เช่นในระยะเริ่มแรกของการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน นั้นถ้าเลือกตั้งทันทีก็จะยุ่งกันใหญ่ ต้องรอไปอีกปีกว่าจึงจะเลือกตั้งได้ และการเลือกตั้งก็เป็นหลักการปกครองของทุกระบอบ   หาใช่เป็นหลักการปกครองแต่เฉพาะของระบอบประชาธิปไตยเท่านั้นไม่ ในระบอบเผด็จการก็มีการเลือกตั้ง ในระบอบคอมมิวนิสต์ก็มีการเลือกตั้งหากแต่เนื้อหาของการเลือกตั้งแตกต่างไปจากการเลือกตั้งของระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น เช่นการเลือกตั้งครั้งที่แล้วมีเนื้อหาแตกต่างจากการเลือกตั้งเมื่อพ.ศ. 2476  และ 2480 อย่างเปรียบกันไม่ได้ การเลือกตั้ง พ.ศ. 2476 และ 2480 เป็นการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยจึงไม่มีเรื่องชั่วช้าสามานย์  เช่นระบบหัวคะแนนเอาการเล่นพนันมาหาเสียง  ใช้อำนาจ อิทธิพล เงิน  ซึ่งผู้ซื้อก็ทุ่มไม่อั้น  ผู้ขายก็ไม่ได้ขายเพราะถ้าไม่ขายจะถึงอดตาย  แต่ขายด้วยความสนุก  เพราะเห็นว่าพรรคการเมืองและผู้สมัครส.ส.ไม่ได้คิดจะแก้ไขบ้านเมืองอะไร   เลือกหรือไม่เลือกพวกเราก็ไส้แห้งเหมือนเดิม สู้ขายคะแนนๆละร้อยสองร้อยไม่ได้  เอาไปกินเหล้าให้ครึกครื้นกันดีกว่า ฯลฯ นี่คือการเลือกตั้งในระบอบเผด็จการ ซึ่งไม่อาจจะหลีกเลี่ยงความชั่วช้าสามานย์เหล่านี้ไปได้ ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงหลักการอธิปไตยเป็นของปวงชนไปเป็นอธิปไตยมาจากปวงชน ก็คือเอาเงื่อนไขที่ไม่สำคัญของระบอบประชาธิปไตยคือรัฐบาลจากการเลือกตั้งไปเป็นหัวใจของระบอบประชาธิปไตยคืออธิปไตยของปวงชน ซึ่งเมื่อกล่าวถึงที่สุดแล้วก็คือเปลี่ยนแปลงระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบเผด็จการนั่นเอง
              หลักการปกครอง 5 ประการของระบอบประชาธิปไตยที่กล่าวข้างต้นนั้น  ถ้าจะย่อลงไปก็ได้เป็น 2 ประการ คืออธิปไตยของปวงชนและเสรีภาพของบุคคล หมายความว่าถ้าจะพูดง่ายๆ ระบอบประชาธิปไตยก็คืออธิปไตยของปวงชนและเสรีภาพของบุคคล 
              เมื่อได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า  อาจารย์ปรีดีได้ทำลายอธิปไตยของปวงชนอย่างไร  ต่อไปนี้จะขอชี้ให้เห็นในแง่ที่ว่า อาจารย์ปรีดีได้ทำลายเสรีภาพของบุคคลอย่างไร 
              เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า กฎหมายว่าด้วยคอมมิวนิสต์เป็นกฎหมายทำลายเสรีภาพของบุคคลอย่างร้ายแรงเพียงใด กฎหมายคอมมิวนิสต์นั้น ไม่ว่าจะเป็นฉบับใดๆ หาใช่กฎหมายป้องกันหรือปราบปรามคอมมิวนิสต์ไม่ แต่เป็นกฎหมายทำลายเสรีภาพของบุคคล ซึ่งขัดต่อหลักการปกครองอันสำคัญเป็นอันดับสอง แต่อาจารย์ปรีดีซึ่งกลับมาเป็นผู้นำของคณะราษฎรอีกครั้งหนึ่งหลังจากพญามโนฯหมดอำนาจไปแล้ว  กลับรักษากฎหมายฉบับนี้ไว้ต่อไปและเมื่อผมเสนอให้ยกเลิกกฎหมายนี้  ทีแรกอาจารย์ปรีดีก็ไม่ยอมสนับสนุน  โดยอ้างว่าการกระทำของผมเป็นลูกไม้ของพรรคประชาธิปัตย์  ผมต้องอาศัยคุณเตียงช่วยทำความเข้าใจเสียแทบล้มแทบตาย   อาจารย์ปรีดีจึงยอมสนับสนุนให้ยกเลิกซึ่งถ้าอาจารย์ปรีดีรักเสรีภาพของบุคคลจริงๆแล้ว ถึงแม้การยกเลิกกฎหมายคอมมิวนิสต์จะเป็นลูกไม้ของใครก็ตามทีก็จะต้องสนับสนุน เพราะเป็นลูกไม้ที่ดี เป็นลูกไม้ที่ทำให้ประชาชนมีเสรีภาพมากขึ้น   แต่ความจริงการเสนอยกเลิกกฎหมายคอมมิวนิสต์เป็นการกระทำของผมเองไม่เกี่ยวกับใครๆทั้งสิ้น อาจารย์ปรีดีก็ยังหาข้ออ้างที่จะไม่สนับสนุนจนได้ (เรื่องนี้ผมเคยเขียนไว้ใน”ตะวันใหม่”)
              อีกเรื่องหนึ่งคือร่างกฎหมายแรงงานซึ่งผมร่างมาด้วยมือเองร่วมกับผู้แทน  กรรมกรและคุณดุสิต บุญธรรม ส.ส.นครนายกเป็นผู้เสนอเมื่อ พ.ศ. 2490 ภายหลังยกเลิกกฎหมายคอมมิวนิสต์เพียงเล็กน้อย แต่ร่างกฎหมายนี้ก็ตกไปในสภาผู้แทนราษฎร เวลานั้นสภาผู้แทนราษฎรเต็มไปด้วยส.ส.ฝ่ายอาจารย์ปรีดีเพราะพรรคฝ่ายค้านมีแต่พรรคประชาธิปัตย์เพียงพรรคเดียว  นอกนั้นเป็นฝ่ายอาจารย์ปรีดีทั้งสิ้น เช่นสหชีพ แนวรัฐธรรมนูญ อิสระเป็นต้น ถ้าอาจารย์ปรีดีสนับสนุนร่างกฎหมายแรงงาน สภาก็จะรับหลักการและออกเป็นกฎหมายได้  เช่นเดียวกับร่างกฎหมายคอมมิวนิสต์ 
              นอกจากนั้น  อาจารย์ปรีดี  ยังมีแนวโน้มคัดค้านการนัดหยุดงานของกรรมกร  มีข้อเท็จจริงให้เห็นบางเรื่อง  เช่นคัดค้านการนัดหยุดงานของกรรมกรรถไฟ  โดยอ้างว่ากรรมกรรถไฟเป็นข้าราชการเป็นต้น  ซึ่งผมเองก็ได้เห็นเรื่องนี้มากับตา  
              จึงเห็นได้ว่าอาจารย์ปรีดีไม่แต่เพียงเป็นปฏิปักษ์ต่ออธิปไตยของปวงชน  แต่ยังเป็นปฏิปักษ์ต่อเสรีภาพของบุคคลด้วย  ก็คือเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยนั่นเอง  
              ข้อควรกล่าวว่าที่จะขาดเสียมิได้อีกประการหนึ่งคือ  การยกรัฐธรรมนูญสูงเกินไปและถือเอารัฐธรรมนูญเป็นเครื่องสร้างระบอบประชาธิปไตย 
              ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 สถาบันสูงสุดของประเทศมีเพียงสามคือ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ แต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเพิ่มเป็นสี่คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และรัฐธรรมนูญ เป็นการยกรัฐธรรมนูญให้สูงเท่าชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ ซึ่งไม่ตรงกับความจริง เพราะรัฐธรรมนูญที่ว่านี้หมายถึงรัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นเป็นกฎหมายภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง กฎหมายรัฐธรรมนูญนั้นจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกได้ หรือจะไม่มีเสียเลยก็ได้ (อย่างอังกฤษ) และรัฐธรรมนูญของบ้านเรามีคนฉีกทิ้งเสียบ่อยๆ ฉะนั้น รัฐธรรมนูญจึงมีฐานะแตกต่างอย่างมากมายกับชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์  ซึ่งดำรงอยู่อย่างมั่นคงตลอดไป  การยกรัฐธรรมนูญขึ้นสูงเท่าเทียมกับชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ จึงไม่ถูกต้องเลย และผู้กระทำเช่นนี้ก็คือคณะราษฎรซึ่งมีอาจารย์ปรีดีเป็นผู้นำ



(อ่านต่อตอนหน้า)

 

 

ปฏิวัติสันติ

 
สมัคร ยกเลิก
 
 
Revolutionary Press Agency
Online Journal and News Agency for Peace  :  วารสารและข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
Copyright © 2024 www.rpathailand.com All Rights Reserved.
ทำเว็บ  ออกแบบเว็บ  Web Design  เว็บสำเร็จรูป  เว็บไซต์สำเร็จรูป