Revolutionary Press Agency : Online Journal and News Agency for Peace
สำนักสื่อปฏิวัติ  : วารสารข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
8 มิ.ย. 2554 กองหน้าประชาชนรุ่นใหม่ อนุสรณ์ สมอ่อน ตอบคำถามคาใจทำไมต้องปฏิวัติประชาธิปไตย? 
ศาสนากับการพัฒนาทางสังคมและการเมือง
โดย เสรีภาพ ณ ชะเยือง 
 
 
        เราจะเห็นได้ว่า  ความผูกพันของประชาชนกับศาสนา  ได้มีส่วนทำให้เกิดพลังทางการเมืองที่สามารถต่อสู้รัฐบาลเผด็จการณ์ได้อย่างน่าพิศวง   เมื่อฝ่ายศาสนาและประชาชนได้ผนึกกำลังกันแล้ว  นับเป็นคู่ต่อสู้ที่ฝ่ายรัฐบาลคณาธิปไตยทุกประเทศต้องกลายเป็นฝ่ายทุลักทุเล  และพ่ายแพ้ในที่สุด
        ถ้าหากฝ่ายปกครองมีจุดด่างทางด้านศีลธรรมแม้เพียงน้อยนิด  การต่อสู้นั้นก็จะกลายเป็นการต่อสู้ระหว่างธรรมะกับอธรรม  ซึ่งเท่าที่ยกตัวอย่างมาแล้ว เช่น   ในอินเดียสมัยท่านมหาตมะคานธี  ในอิหร่าน  ในฟิลิปปินส์  ในพม่า  (ยุคกู้เอกราชและช่วงขับไล่  เส่งลวิน) และแม้แต่ในยุครัฐบาลของพลเอกสุจินดา ก็เห็นกันจะ ๆ แล้วว่า  ไม่มีในประเทศใดที่ฝ่ายปกครองเป็นฝ่ายชนะ
        ตัวอย่างจากการต่อสู้ที่กล่าวมา  น่าจะพอทำให้เราได้มองเห็นอานุภาพอันลึกล้ำ  ของพลังการต่อสู้ที่แฝงอยุ่ในกระบวนการศาสนาแล้ว  ที่ว่าลึกล้ำพิสดารนั้นก็เพราะว่าเป็นพลังที่ไม่ต้องมีศาสตราวุธใดๆ เป็นเครื่องมือในการต่อสู้  แต่ก็สามารถสยบคู่ต่อสู้  ที่มีอาวุธยุทโธปกรณ์เหนือกว่าอย่างมากมายได้  
        เป็นธรรมดาอยู่เอง  สิ่งใดที่มีพลัง  ก็อาจจะถูกนำไปใช้ในทางที่ถูกและผิดได้  ดังนั้นฝ่ายปกครองที่ฉลาด  ก็สามารถที่จะใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือ เพื่อถือโอกาสทำประโยชน์ให้แก่ตนได้เช่นกัน  ดูง่าย ๆ ตอนที่ ซอ  หม่อง  พยายามใช้มติสภาสงฆ์มาตัดทอนกำลังของพรรคฝ่ายค้าน (ช่างคล้ายกับเหตุการณ์ตอนที่มีการพยายามนำเอางานสัปดาห์พระพุทธศาสนา มาสลายการชุมนุมขับไล่พลเอกสุจิดา  เมื่อเดือนพฤษภาคม  2535   จริง ๆ) และตอนที่เนวิน  ร่วมกับสถาบันสงฆ์ทำการปฏิวัติและอ้างศาสนามากดขี่ประชาชนไว้ได้ถึง  26  ปี  เรื่องนี้  จึงน่าที่ทุกฝ่ายจะต้องตื่นตัวอยู่เสมอ  และไม่ยอมให้ศาสนาถูกใช้เป็นเครื่องมือในทางชั่วร้ายเช่นนี้  
 
ด้วยเหตุที่ศาสนามีพลังทางการเมืองแฝงอยู่เช่นนี้   เหตุไฉนเมื่อเราพยายามพัฒนาสังคมและประเทศชาติ  เราจึงทอดทิ้งศาสนาหันไปมุ่งแต่ทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจ เช่นนั้น?
 
        ตามทฤษฎีถือว่า  ระบบการเมืองที่แยกจากศาสนาโดยเด็ดขาดนั้น  เป็นระบบที่ก้าวหน้ามีประสิทธิภาพ  แต่ในทางปฏิบัติเราก็ต้องดูก่อนว่า  ความก้าวหน้าทางการเมืองนั้นเกิดขึ้นจริงตามหลัก   3  ข้อที่ยกมาหรือไม่  รายได้เฉลี่ยต่อประชากรของประเทศ  (GNP/POP) ที่เพิ่มขึ้นไม่ใช่สิ่งที่จะบ่งว่า  ประเทศนั้นก้าวหน้า  เพราะผลเพิ่มทางเศรษฐกิจนั้นอาจจะยังประโยชน์ให้แก่คนเพียงไม่ถึงร้อยละ 10 ของประเทศ  ขณะที่อีกมากกว่าร้อยละ 90  ได้รับรายได้ที่แท้จริงต่ำลง
        ในประเทศที่ศาสนาแยกจากการเมืองโดยเด็ดขาด   รัฐบาลเป็นอิสระจากผู้นำศาสนาในการ
ออกกฎหมาย  น่าที่จะเน้นให้เกิดพัฒนาการใน 2 ข้อจาก 3 ข้อ  เป็นสำคัญนั่นคือ
  • พยายามทำให้ประชาชนมีความเท่าเทียมกันในการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการแบ่งปันผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
  • ปรับปรุงระบบเศรษฐกิจและสังคมให้สอดคล้องกับความจำเป็นและความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ
    หากนักธุรกิจ  ข้าราชการ  นักการเมือง  ผู้บริหารประเทศเป็นพวกห่างศาสนา สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร  ทำอย่างไรพวกเขาจะรู้จักพอ   ทำอย่างไรพวกเขาจะใจกว้างพอที่จะให้โอกาสประชาชนผู้ยากไร้   ให้ได้รับสิ่งที่ควรจะได้รับอย่างยุติธรรม  อะไรคือสิ่งที่จะมาติดเบรกความโลภไฮสปีดของพวกนี้ได้ นี่คือปัญหาที่หาคำตอบได้ยาก
        
        เราก็ได้ประจักษ์กันชัดแจ้งทุกวันนี้แล้วว่า เศรษฐีรวยอันดับหนึ่งของประเทศ หรือของโลก ไม่เคยรู้จักคำว่าพอ มันอะไรกันขนาดนั้น
        คุณภาพของ  ส.ส. นักการเมืองของเราส่วนใหญ่เวลานี้เป็นอย่างไรคงรู้กันดี  หากไม่มีศาสนาหรืออะไรมาทำให้จิตใจพวกนี้สะอาดขึ้น ไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งกี่ครั้ง  ร่างรัฐธรรมนูญกันกี่ฉบับ  เป้าหมายที่กล่าวมาก็เป็นได้เพียงแค่ความฝันเท่านั้น   
        การที่มีคนลงความเห็นว่า  ศาสนาไม่ได้ช่วยให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการเมือง  หรือไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมนั้น  พอจะพิจารณาได้ว่า  คงเป็นเพราะเปลือกนอกของศาสนา  ที่คนส่วนใหญ่ผู้มีสติปัญญายังไม่ถึงขั้น  ได้ต่อเดิมเสริมแต่งเข้าไป จนหลักการที่แท้จริงของศาสนา  ถูกบิดเบือนไปตามความหลงผิดของตน    
        ด้วยเหตุที่จิตใจของมนุษย์ส่วนใหญ่ยังอ่อนไหว ขลาดกลัว และสติปัญญาก็จำกัด  สิ่งที่มนุษย์ส่วนใหญ่ยึดถือ  จึงเป็นแค่พิธีกรรมเปลือกนอกของศาสนา  ที่สาวกผู้ทำหน้าที่สืบทอดศาสนาได้พยายามคิดขึ้นเพื่อดึงดูดมนุษย์ประเภทบัวใต้น้ำ  ผู้ซึ่งไม่สามารถทำความเข้าใจหลักการที่แท้จริงให้ยึดถือปฏิบัติ  จนกลายเป็นขนบธรรมเนียมประเพณี  ที่หากยึดถือปฎิบัติตามๆ กันไป ไม่จำเป็นต้องเข้าใจอะไรเลยก็ถือว่าเป็นคนดีได้   
        ที่น่าเป็นห่วงก็คือ  ยังมีผู้ที่เข้าใจผิดและขลาดกลัว ต่อการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติและสังคมเป็นจำนวนมาก  ได้แต่งเติมพิธีกรรมเข้าไปอีก  จนทำให้เปลือกของศาสนาส่วนมากกลายเป็นเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์   ความลี้ลับมหัศจรรย์  เรื่องต้องห้ามที่แตะไม่ได้  มีเวทย์มนต์คาถา  จิปาถะ  เพื่อให้เป็นที่พึ่งทางใจของคนประเภทที่ว่านี้    อันเป็นเรื่องที่งมงายไร้สาระและขัดต่อความเจริญก้าวหน้าของสังคมอย่างช่วยไม่ได้   
        สำหรับผู้ที่ศึกษาหลักการของศาสนาที่แท้จริงมาบ้าง  ก็จะพบว่า  หลักการของศาสนาที่แท้จริงในระดับสูงขึ้นนั้น  เป็นเรื่องของเหตุและผล  และมีประโยชน์ต่อสังคมมนุษย์อย่างที่สุด  และยังไม่มีเทคโนโลยีสาขาใด  ที่จะช่วยให้มนุษย์ได้รู้และเข้าใจ  ถึงความจำเป็นและเทคนิคในการปฏิบัติตัวต่าง ๆ ที่จะอยู่รวมกันเป็นสังคมอย่างสันติสุขได้ดีเท่าศาสนา   ศาสดาของศาสนาแต่ละท่านนั้น   เป็นผู้มีสติปัญญาและความคิดที่ล้ำหน้า จนเกินกว่าที่คนส่วนมากจะติดตามได้ทัน  หลักการต่าง ๆ ที่ได้ทรงตั้งขึ้นมานั้น มุ่งที่จะยกระดับศีลธรรมและคุณค่าของมนุษย์  ให้มีชีวิตอย่าง เป็นประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอย่างแท้จริง   
        ตามทฤษฎีที่ได้กล่าวมาแล้ว เราน่าเชื่อได้ว่า  หลักศาสนาขั้นสูง  ไม่มีศาสนาใดที่จะขัดต่อความเจริญก้าวหน้าทางสังคม  การเมือง  และเศรษฐกิจ    ([6] , หน้า 48-50 )  การที่ศาสนายังมีปัญหาต่อความก้าวหน้าทางสังคม การเมือง  และเศรษฐกิจอยู่บ้างในบางประเทศ  ก็เพราะศาสนาในประเทศนั้นๆ ยังได้มีมีการปฏิรูป  ยังยึดถือเปลือกนอกของศาสนา  [7] [8] ที่ได้รับการคิดค้นขึ้น เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรม  และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคม ของมนุษย์ในยุคที่มนุษย์ยังโง่เขลาและป่าเถื่อนอยู่  ซึ่งไม่เหมาะกับยุคสมัยในสังคมปัจจุบัน   
        ถ้าเราตระหนักว่า  ศาสนานั้นคือการปฏิวัติทางสังคมอย่างหนึ่ง  ([5], หน้า253 หัวเรื่อง
Religion means Revolution)  ที่ได้เกิดขึ้นในยุคของศาสดาแต่ละท่าน เราก็ไม่ควรจะถือว่า  กฎเกณฑ์เรื่องพิธีกรรมและการปฏิบัติที่เป็นเปลือกนอกต่างๆ นั้น  เป็นสิ่งต้องห้ามดัดแปลงปรับปรุงไม่ได้   
        พิธีกรรมประเพณีทางศาสนานั้น  ได้รับการออกแบบขึ้นมาเพื่อดึงดูดความสนใจของคน  และควบคุมพฤติกรรมของคนในยุคหลังศาสดาของศาสนานั้นๆ เท่านั้น  เช่น ในศาสนาพุทธ  พิธีกรรมแทบทุกชนิด ตามที่เห็นอยู่ทุกวันนี้  ไม่มีในยุคพุทธกาล  [7 หน้า 7] ไม่มีแม้แต่พระพุทธรูป จนกระทั่งมีการนำเอาวัฒนธรรมยุโรปเข้าไปในอินเดีย    
        ดังนั้น  ถ้าหากมีการปรับปรุงพิธีกรรมเปลือกนอกเสียบ้าง  ให้เหมาะสมกับความฉลาดของมนุษย์แต่ละยุคสมัย  นอกจากศาสนาจะมีประโยชน์ทางด้านสร้างสำนึก และบทบาทางการเมืองเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโดยอ้อมแล้ว  หลักการศาสนาชั้นสูงซึ่งยังใช้ได้อยู่ทุกยุคทุกสมัย  ก็จะช่วยให้เกิดประโยชน์สุขแก่มวลมนุษย์  ทำให้การเบียดเบียนกดขี่ข่มเหงหมดไป  และทำให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม
        ถ้าจะวิเคราะห์กันได้ดีแล้ว  จุดประสงค์ของศาสนานั้นก็คือ  สร้างสังคมมนุษย์ที่มีสันติสุขโดยพร้อมหน้ากัน ดังเช่นที่นักการเมืองและนักปฏิวัติทุกวันนี้ร่ำร้องหานั่นเอง   
        ศาสนาจะยังผลให้สังคมเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง  เพราะได้เน้นหนักทางด้านการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจ  เน้นการกระตุ้นจากภายในซึ่งเป็นหางเสือในการกำหนดทิศทางของพฤติกรรมมนุษย์  และเน้นที่การปฏิวัติแนวคิดด้านคุณค่าของมนุษย์ 
        ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในยุคนี้  ไม่ว่าใครจะว่าดีหรือไม่ ก็คือ  ความเป็นอยู่และพฤติกรรมของชาวสำนักสันติอโศกพฤติกรรมของกลุ่มธรรมกาย  ที่เราเห็นอยู่และให้เป็นที่พิศวงกันมากในยุคคอมพิวเตอร์และสังคมข่าวสาร  ทำไมท่าที การพูดจา การดำรงชีวิตของเขาจึงเปลี่ยนไปได้   
        การที่จะหวังใช้ระบบการเมืองและเศรษฐกิจ  มาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมไปสู่ลักษณะที่ดีขึ้น  โดยไม่เน้นด้านการพัฒนาทางจิตใจด้วยนั้น   คงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าในสังคมระบอบประชาธิปไตยหรือสังคมนิยม  และยิ่งผู้ที่หวังว่า  ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์  เทคโนโลยี  ระบบกฎหมาย  จะช่วยให้สังคมมนุษย์ดีขึ้นนั้น  ถ้าทอดทิ้งการศึกษาทางศาสนาและศีลธรรมไปเสีย  น่าจะเป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง   
        ทั้งนี้  ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นด้วยสติปัญญาของมนุษย์นั้น  ไม่มีคุณค่าที่แท้จริงในตัวของมันเอง  มนุษย์ต่างหากที่เป็นผู้กำเป้าหมายในการนำเทคโนโลยีที่คิดได้  ไปใช้ให้มีคุณค่าหรือมีโทษต่อมนุษย์ด้วยกันเอง  เราจะสร้างอุดมคติที่เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษย์และสัตว์ขึ้นได้อย่างไร  ถ้าไม่มีการพัฒนาทางจิตใจและคุณค่าของสิ่งต่างๆในทัศนะคติของมนุษย์ 
นักวิทยาศาสตร์เอกของโลก  อัลเบิร์ต  ไอสไตน์  (Albert   Einstein)  ได้กล่าวเอาไว้ว่า 
 
         “……..วิทยาศาสตร์ไม่สามารถสร้างเป้าหมายให้แก่มนุษย์ได้  และยิ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะอัดฉีดอุดมการณ์หรือเจตคติ  เข้าไปในจิตใจของมนุษย์  อย่างมาก  วิทยาศาสตร์เป็นได้ก็แค่ ปัจจัย ที่ช่วยให้มนุษย์บรรลุซึ่งเป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่งเท่านั้น  เป้าหมายเพื่อสังคมที่มีจรรยาอันสมบูรณ์  (Social-ethical  End)  นั้น  จะได้มาจากบุคลิกลักษณะของมนุษย์  ที่มีอุดมคติ  อันเต็มไปด้วยคุณธรรม และจรรยาอันสูงส่งเท่านั้น”  ไอสไตน์ กล่าวไว้อีกว่า 
      
         “ ด้วยเหตุนี้  ในเรื่องที่เกี่ยวกับปัญหาของมนุษยชาติ  เราต้องระวังไม่ประมาณคุณค่าของวิทยาศาสตร์และวิธีการทางวิทยาศาสตร์สูงเกินไป  และเราต้องไม่ถือว่าผู้เชี่ยวชาญด้านสังคม ทั้งหลายเท่านั้น  ทีมีสิทธิแสดงความคิดเห็นในเรื่องปัญหาต่าง ๆ ที่มีผลต่อการจัดระบบของสังคมมนุษย์ …..”  (Albert  Einstein,  Why  Socialism?  Monthly  Review, May, 1949)
       
        ด้วยเหตุที่ระบบการเมืองที่มีคุณค่านั้น   ก็ต้องมีความมุ่งหมายเพื่อสังคมที่มีสันติสุขของมนุษย์  อันเป็นเป้าหมายเดียวกับศาสนา  และในขณะเดียวกัน ศาสนาก็มีพลังยิ่งในการกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ การเมือง จึงยากที่จะตัดศาสนาออกไปอย่างเด็ดขาดได้ ถ้ายังต้องการรักษาเป้าหมายอันนี้อยู่    
        กระบวนการทางศาสนา   เป็นสิ่งมีอิทธิพลยิ่ง ที่จะสามารถสร้างอุดมคติ  อุดมการณ์  หรือเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์ภายในจิตใจของมนุษย์ได้ 
อาจกล่าวได้ว่า เป็นสิ่งเดียว ที่อาจสามารถต้านทานพลังมอมเมาของสื่อแบบ Multimedia ต่างๆ ที่แพร่หลายขยายอิทธิพลต่อวัยรุ่นของทุกชาติทุกศาสนาขณะนี้ได้ 
เมื่ออุดมการณ์และแนวคิดเปลี่ยน  มนุษย์ก็จะเปลี่ยนพฤติกรรมได้ง่ายดาย  ดูอย่างพวกที่เคยกินเนื้อสัตว์  ยังสามารถเปลี่ยนเป็นพวกมังสะวิรัติได้ คนที่เคยกินอยู่ฟุ่มเฟือยหรูหรา ก็เปลี่ยนเป็นมักน้อย กินอยู่แต่พอตัว 
        บางคนอาจแย้งว่า  ประเทศที่ปกครองในระบอบสังคมนิยม  หรือคอมมูนิสต์  นั้น  ไม่ต้องมีศาสนา  แต่เขาก็มีความเจริญก้าวหน้าทางการเมืองและเศรษฐกิจได้   ตัวอย่างเช่นจีนและโซเวียต รัสเซียในอดีต  เป็นต้น   
        เรื่องนี้ถ้ามองให้ลึกซึ้งอีกนิดก็พบว่า  ประเทศต่าง ๆ ที่ประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่ง ในระบอบอย่างนั้น  เขาได้เน้นการฝึกอบรม  สั่งสอน  เพื่อเปลี่ยนแปลงแนวความคิดของประชาชนให้ยึดมั่น และปฏิบัติตามหลักลัทธิมาร์กซ์อย่างเคร่งครัด  เช่นเดียวกับการชี้ชวนให้คนถือศีลห้าศีลแปด ให้ท่องบทสวดมนต์ หรือการที่ต้องทำละหมาดวันละหลายๆ ครั้ง อย่างนั้นแหละ   
        เขาอาจปฏิเสธศาสนา  แต่วิธีการทางปฏิบัติของเขานั้น  นอกจากใช้กำลังอาวุธปฏิวัติแล้ว  วิธีอื่น ๆ  เช่นการบังคับให้ท่องจำหลักการของลัทธิ  การบังคับให้พกสมุดพกคติพจน์ของเหมาเจ๋อตุง(The little Red Book)เพื่ออ่านและท่องจำ  การบังคับให้วิจารณ์ตนเอง คิดค้นกันไปมากมายอย่างไร  ก็กลับมาลงเอยด้วยการใช้วิธีการแบบเดียวกับที่นักสอนศาสนาเคยทำมานั่นเอง 
ถ้าเราวิเคราะห์สังคมจีนยุคก่อนเติ้ง  เสี่ยวผิง  มาเทียบกับวิธีทางศาสนา  เราก็จะเห็นว่า  เขามี  Little  Red  Book  เป็นคัมภีร์ไบเบิ้ล  มี  เหมา  เจ๋อ  ตง  มาร์กซ์- เลนินเป็นศาสดา   และทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการของศาสนาใหม่อีกศาสนาหนึ่ง  (ตามทฤษฎีที่กล่าวมาแต่ต้น   เราอาจมองว่าลัทธิมาร์กซ์เป็นศาสนาได้ในแง่ความเชื่อและการปฏิบัติ ที่เกี่ยวกับปัญหาที่ต้องการคำตอบขั้นสุดยอด  นั่นคือ  สังคมที่ดีที่สุดของมนุษย์)    
        จุดอ่อนของศาสนาที่ไม่เน้นทางระบบเศรษฐกิจนั้น  ผู้เขียนเห็นด้วยกับอูนุที่ว่า  เป็นเพราะศาสนาเกิดขึ้นมาในยุคที่ระบบเศรษฐกิจไม่ก่อปัญหามาก   ทรัพยากรธรรมชาติยังเพียงพอต่อความต้องการของมนุษย์  ปัญหาสังคมเกิดขึ้นจากการขี้เกียจสันหลังยาว  ความโลภมาก  เห็นแก่ตัว  การเบียดเบียนซึ่งกันและกัน  มากกว่าการแก่งแย่งจำนวนทรัพยากรที่จำกัด  ดังนั้น  ศาสนาจึงไม่จำเป็นไปเน้นที่การจัดระบบเศรษฐกิจให้ดีที่สุด  แต่ไปแก้ที่กิเลสตัณหาก่อน   
        แต่อย่างไรก็ตาม  ถ้าหากศาสนาประสบผลสำเร็จในการเปลี่ยนคนทุกคนให้เป็นคนดีได้ 
ระบบเศรษฐกิจแบบใด ๆ  ก็ไม่น่าเป็นปัญหาเช่นกัน  ดังนั้น  ในขณะที่เราพบว่า  หลักศีลธรรมจรรยาในศาสนาขั้นสูงนั้น  เป็นประโยชน์ต่อสังคมของมนุษย์จริง  เราก็ควรพัฒนากันที่  วิธีการ   ที่จะอัดฉีดศีลธรรมจรรยาเหล่านี้เข้าไปในตัวมนุษย์  ซึ่งแน่ละ  วิธีการใช้กฎหมายขู่บังคับ  กักขัง  ทำโทษ  ก็ย่อมไม่มีทางสำเร็จเช่นกัน  เพราะทุกประเทศฯก็มีสิ่งเหล่านี้อยู่แล้วทั้งนั้น   
        อ่านถึงตอนนี้  อย่าพึ่งเข้าใจว่า  วิธีการอัดฉีดธรรม ที่ทำให้ห้องสมหวัง  ของพระธัมมชโย  แห่งวัดธรรมกาย  คือคำตอบ!   เพราะนั่นคือวิธีการทางจิตวิทยาอันหนึ่งเท่านั้น   
        เท่าที่มองเห็นขณะนี้  ไม่ว่าในโลกสังคมนิยมหรือเสรีนิยม  วิธีการที่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจได้ผลมากที่สุด  ก็ยังไม่มีวิธีใดดีไปกว่าวิธีที่ลอกเลียนมาจากที่เคยทำมาในกระบวนการทางศาสนา  นั่นคือ  พยายามที่จะปฏิวัติจิตใจ  ทัศนคติค่านิยม  และคุณค่าในตัวมนุษย์  โดยการสร้างความศรัทธาในบางสิ่งบางอย่างขึ้นมา   
        วิธีการสร้างศรัทธาที่ทำกันมาก็คือ  ให้การศึกษาอบรมให้รู้จักหลักการบางอย่าง  มีการตั้งปัญหา  ท้าทาย  และกระตุ้นความสามารถทางสติปัญญา  ประยุกต์เอาหลักจิตวิทยา  ความต้องการ  ความรู้สึกส่วนลึกขั้นพื้นฐานของมนุษย์มาใช้  ทั้งนี้เป็นการใช้ความรู้  และการศึกษาเกี่ยวกับตัวมนุษย์ไปควบคุมมนุษย์เอง  ซึ่งนับว่าเป็นการโจมตีที่ถูกเป้า   
        เมื่อคนๆ ใด มีสติปัญญาไม่มากพอ ที่จะโต้แย้งหลักการ หรืออธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ที่ผู้สอนยกมาให้เห็นได้ ก็มักจะลงเอยด้วยความเชื่อและการเปลี่ยนศรัทธาและวิถีชีวิตในที่สุด วิธีการเหล่านี้จะถูกเรียกว่าการสอนศาสนาหรือไม่ก็ตาม  แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความจำเป็นพอ ๆ กับการจัดระบบการเมืองและสังคม   
        ในประเทศไทยของเรา  สถาบันทางการเมืองและการศึกษาในขณะนี้นับว่าประสบผลสำเร็จน้อยมาก  เพราะขณะที่การศึกษาของเราเจริญขึ้น  ถึงระดับปริญญาโทปริญญาเอก  สถาบันการเมืองกลับพัฒนาเพียงน้อยนิด  และศีลธรรมจรรยาของผู้คนกลับเลวลง
        เท่าที่เป็นอยู่ขณะนี้  คนส่วนใหญ่ที่มีความรู้สูงและมีตำแหน่งหน้าที่ทางการเมืองหรือทางสังคมสูงขื้น กลับมีกิเลศความเห็นแก่ตัวมากขึ้น  เบียดเบียน   รู้จักเอารัดเอาเปรียบมากขึ้น  ศีลธรรมของคนในสังคมเสื่อมลงเป็นอันมาก
        มันเสื่อมลงพร้อม ๆ กับสถาบันทางศาสนาของเรา  ซึ่งเป็นศาสนาที่มีหลักการขั้นสูงที่ก้าวหน้ามาก  เป็นเหตุผลและเป็นวิทยาศาสตร์มากที่สุด   มีหลักการศีลธรรม  ทัศนคติที่เป็นสากลมากที่สุด  แต่กลับถูกคนส่วนใหญ่มองว่าล้าสมัย  นับว่าน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง   
        ได้มีการวิจัยเรื่องผลการสร้างความรับผิดชอบ  ทัศนคติ  สำนึกต่อสังคมที่ดีงามของมนุษย์  ปรากฏว่า  การศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย    ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งนี้ได้  ซึ่งส่อว่านิสัยใจคอสร้างได้ในวัยเด็กเท่านั้น  ดังนั้นการสร้างสังคมที่ดีงาม  จะหวังพึ่งมหาวิทยาลัยในขณะนี้  คงจะไม่ได้   ถ้าหากเราต้องการสร้างสังคมให้ดีขึ้นในระบอบประชาธิปไตย  และไม่สามารถปฏิรูประบบการศึกษา  ให้ทำหน้าที่สร้างอุดมการณ์และสำนึกต่อสังคมที่ดีงามของมนุษย์ได้  เราก็ควรจะหันมาพึ่งศาสนาดูบ้าง  ไม่ควรที่จะปล่อยสถาบันทางศาสนาให้เสื่อมลง  ล้าสมัยและไร้ความหมายในสายตาของบรรดาผู้ที่ได้รับการขนานนามว่า  ชนชั้นระดับปัญญาชนของชาติ      
       สถาบันศาสนาพุทธที่จะช่วยสร้างสังคมได้นั้น  จะต้องมีการปรับกรุงการแสดงธรรมและการเข้าถึงประชาชนเสียใหม่  มุ่งสอนหลักการศาสนาระดับสูงขึ้น  นั่นคือ  ในระดับที่ใช้เหตุใช้ผล  มุ่งให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางค่านิยมในสังคม  เหมือนเมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเคยทำมา   
       ค่านิยมประเภทเห่อยศฐาบรรดาศักดิ์  ยกตนข่มท่าน  อวดเบ่งบารมี  บูชาความมั่งมีหรูหราฟุ่มเฟือย  ชอบเอารัดเอาเปรียบ  กดขี่ข่มเหงผู้ที่มีโอกาสหรือสติปัญญาน้อยกว่า ฉวยโอกาสกอบโกยสะสมทรัพย์  จนเกินความจำเป็น  จะต้องได้รับการปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง   
       พระภิกษุจะต้องเลิกสอนหรือเผยแพร่เรื่องนอกศาสนา  เช่น  คาถาอาคม  ไสยศาสตร์  โหราศาสตร์  เลิกแจกเครื่องลางของขลัง  เลิกแข่งขันกันเพื่อหวังลาภสักการะและสมณศักดิ์ซึ่งเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้ามีศีลห้ามอยู่แล้ว   
       นอกจากนี้  สมควรที่จะต้องปรับปรุงการสอนทางศาสนาให้มีเป้าหมายที่แน่นอน  เพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรมและสันติสุข   ไม่ใช่เพื่อหลุดพ้น  หรือเข้าป่าเพื่อเอาตัวรอดเพียงคนเดียว ดังที่พระพุทธองค์เมื่อทรงตรัสรู้แล้ว ก็มิได้ทอดทิ้งงานการช่วยเหลือมนุษย์ไปหาที่สงบในป่าแต่เพียงลำพัง 
พระพุทธองค์กลับเดินจากป่าเข้าเมือง เข้าหาผู้คน เพื่อช่วยคนอื่นให้คลายทุกข์   
       งานสร้างสรรสังคมและค่านิยมใหม่พวกนี้  เป็นงานที่ไม่ใช่ของง่าย   แต่จำเป็นต้องเร่งรัดเพื่อพัฒนาความรู้และจิตใจให้ก้าวทันเทคโนโลยีด้วย  มิเช่นนั้น  การสอนวิชาความรู้ทางโลกด้านเดียวยิ่งสูงเท่าใด  ก็จะเป็นการทำให้ได้คนที่มีความรู้สูง ออกไปเป็นโจรกอบโกยกีดกันเพื่อนร่วมโลกผู้ด้อยโอกาสได้มากยิ่งขึ้นเท่านั้น
       เราจำเป็นต้องตอกย้ำ เชื่อมโยงเป้าหมายของวิชาการทางโลกและทางธรรมเข้าด้วยกันให้ได้  มิเช่นนั้น  เท่ากับว่าเรากำลัง สร้างนักทำลายธรรมชาติ  สร้างโจรที่เป็นพวกไฮเทคมากขึ้นทุกวัน จนวันหนึ่ง เราอาจจะมีโลกที่กลายเป็นนรกบนดิน 
       ถ้ามองตามสภาพความเป็นจริงแล้ว  พระภิกษุสามเณร นักบวชทุกศาสนา เป็นผู้ที่ไม่มีปัญหาที่จะต้องดิ้นรนเพื่อแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจของตัวเอง  และเวลาที่ใช้ในการสอนธรรมมะก็น้อยมาก  น่าจะทำงานนี้ได้ดีกว่าองค์กรการกุศลหรือองค์กรของรัฐใดๆ  นโยบายฟื้นฟูจริยะธรรมโดยการให้พระสงฆ์มีส่วนร่วมในการสอนในโรงเรียน หรือวิทยาลัยของพรรคการเมืองบางพรรคในอดีต  จึงน่าสนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง 
       หากสถาบันสงฆ์ยอมรับความจริงเช่นนี้แล้ว  การปรับปรุงระบบศาสนาเสียใหม่ร่วมกับพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ น่าจะเป็นสิ่งที่กระทำได้  การทำงานลักษณะนี้ไม่จำเป็นที่จะต้องก้าวก่ายการเมือง  ขอให้ทำอย่างจริงจังและปรับองค์กร  ปรับถ้อยคำภาษาศาสนาให้ทันโลก  ทันสมัย  รู้จักใช้สื่อยุคใหม่ให้เหมาะสม ก็น่าจะเกิดผลได้แล้ว 
       ถ้าไม่มองแค่ว่าหลักการที่นำมาเผยแพร่ถูกหรือผิด  ผลของการปรับวิธีการสอนทางศาสนามีให้เห็นอยู่แล้ว  คือวิธีการของธรรมกาย  และวิธีของสันติอโศก  ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า  เป็นปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้เรา ได้นักการเมืองที่เคยเป็นยอดนิยมผู้หนึ่งในกรุงเทพฯ 
       เมื่อเป็นเช่นนี้  เหตุใดพระภิกษุสงฆ์ส่วนใหญ่จึงได้ปล่อยให้ทั้งสองสำนัก ก้าวนำไปแต่เพียงลำพัง  จนทำให้เราเห็นความเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคน  เฉพาะผู้ที่ศรัทธาในแนวทางของสองสำนักนี้เท่านั้น  ทำไมวัดส่วนใหญ่ทั่วประเทศ  จึงทำได้แค่รักษาขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีเป็นหลักเท่านั้น แต่การสอนธรรมะได้ผลน้อย 
       ตามหลักการแล้วพระสงฆ์ก็น่าจะเป็นผู้มีกิเลสน้อยกว่าคนธรรมดา  การมุ่งทำงานเพื่อสร้างสรรค์สังคมจึงน่ากระทำได้โดยไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน  ย่อมดีกว่านักการเมืองที่เต็มไปด้วยกิเลสทั้งหลาย  ถ้าหากทำได้  นักการเมืองพวกที่หากินโดยอ้างประโยชน์ของสังคมบังหน้า  คงจะไร้ความหมายไปเยอะ 
       การสร้างสรรค์พัฒนาสังคมไม่ใช่การนั่งอยู่ที่วัด   เพื่อคอยให้ชาวบ้านไปปรึกษาธรรมหรือไปทำบุญแล้วก็ให้ศีลให้พรเฉพาะในวันพระ  แต่ควรเป็นการเดินเข้าหาชาวบ้าน  ดังเช่นพระในสมัยพุทธกาล  การปรับปรุงสถาบันศาสนาในประเทศไทยนั้น  โดยทั่วไปมีความจำเป็นอยู่มากมายหลายประการ  ดังนี้  เพื่อความอยู่รอดของสถาบันศาสนาเอง ซึ่งนับวันที่จะเสื่อมสลาย  หมดความสำคัญในสายตาของชาวไทยรุ่นใหม่ผู้ได้รับการศึกษาสูงขึ้นทุกที
  • เพื่อตัดความงมงายหรือเปลือกนอกที่ไม่ใช่ศาสนาพุทธที่แท้จริงออกไป
  • เพื่อพัฒนาวิธีการเผยแพร่พระธรรมให้ได้ผลและเป็นที่ยอมรับล้ำสมัยเหมือนในสมัยพุทธกาล
  • เพื่อพัฒนาทฤษฎีหรือหลักการคำสั่งสอนที่ใช้ในศาสนาให้เหมาะกับกาลสมัย
  • เพื่อให้พระภิกษุสามารถเป็นผู้นำทางศีลธรรมจรรยาของประชาชนได้ต่อไป(ด้วยขาดการศึกษา ก้าวตามโลกไม่ทัน  ปัจจุบันเราคงจะเห็นแล้วว่าพระภิกษุส่วนหนึ่งถูกฆราวาสนำ  ดังจะเห็นพระภิกษุบางส่วนมุ่งแต่ทำอะไรตามความนิยมของชาวบ้านเป็นใหญ่  โดยไม่คำนึงถึงว่าผิดคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าหรือไม่  ตัวอย่างเช่นการใบ้หวย  การทำเสน่ห์  เป็นต้น)
  • เพื่อช่วยยกระดับจิตใจของเยาวชนรุ่นหลังให้เปลี่ยนไป ด้วยอุดามการณ์ที่เสียสละเพื่อส่วนรวม
  • เพื่อช่วยงานรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจและโครงสร้างของสังคม
  • เพื่อช่วยงานพัฒนาทางสุขอนามัยและความอยู่ดีกินดีของประชาชนในชนบท
    เคยปรากฏมาแล้วว่า  พระภิกษุเป็นผู้นำชาวบ้านในชนบทได้ดี  ในการก่อสร้างถนนหน
    ทาง  โรงเรียน  ตลอดจนสาธารณสถานอื่น ๆ งานนี้น่าจะส่งเสริมมากกว่าการเองเงินไปสร้างวัดให้ใหญ่โตมโหฬารเพื่อใช้งานแค่วันพระและไม่กี่ครั้ง
        หากเราสามารถทำให้การสอนและเผยแพร่ศาสนาพุทธมีเปลือกนอกที่น้อยลง  มีแก่นมากขึ้น  ปัญญาชนย่อมสนใจและสนับสนุน  เพราะเห็นเป็นเรื่องมีสาระมีคุณค่า  และเมื่อคนไทยส่วนใหญ่ยึดมั่นและแตกฉานในหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าจริง ๆ นักการเมืองชั้นเลว  หรือกลุ่มผู้มีโอกาสได้ครองอำนาจปกครองประเทศ  ก็คงจะขลาดกลัวไม่กล้าที่จะกระทำการอันใดผิดศีลธรรมอันดีงามมากมายจนเกินไป  เพราะรู้ตัวว่า  ถ้าได้สู้กับฝ่ายธรรมะเมื่อไรละก็  พวกเขาไม่มีวันชนะ แล้วพลังธรรมมะของศาสนา ไม่ว่าศาสนาใดๆ  และพลังทางการเมือที่เกิดจากการศึกษาในทางโลกและการกระตุ้นจากสถาบันทางการเมือง  ก็จะหันเหไปในทิศทางเดียวกันตลอดกาล  สังคมไทยจะมีแต่ความสมบูรณ์พูลสุข  ไม่ต้องแคร์ว่าเราจะได้เป็นนิคส์หรือแนค เป็นสังคมแห่งองค์ความรู้กับเขาหรือไม่  ส่วนวิธีการที่จะทำให้บรรลุความฝันที่ว่านี้  ขอยกให้ผู้เชี่ยวชาญทางธรรมลูกศิษย์พระพุทธเจ้าทั้งหลาย  รวมทั้งสาวกของศาสดาศาสนาอื่นๆ ให้ท่านได้โปรดไปค้นคว้าวิจัยและพัฒนากันเองเถิด
 
 
 
บรรณานุกรม
 
[1]  Susan  Budd,    Themes  and  issue  in  Modern  Sociology,  Sociologi  Sociologis and  Religion.   London: Collior  Macmilla  Publishers,  1973
[2]   Religion  and  Development  in  Asian  Societies.
Papers  presented  at  the  Seminar  on  “Relegion  and  Development  in Asian Societies” ,  orvanized  by  the  Friedrich-Naumann-Stiftung  in  association  with  The  Marga  Institute, at  the  Fatima  Retreat  House, rewella,  Kandy  a-16  December   1973 .   Colombo:  Marga  Publications,  1974.
2.1 Buddhism  as  Faactor  of  Political  Modernization:
The  case  of  Sri  Lanka.  By  Heinz  Bechert
2.2 Calling  for  A  Positive  Role  for  Bhikkus  in  the   
National  Leadership.  By  Ven.  Dr.  Havanpola  Ratanasara
2.3 Thai  Buddhism  and  National  Development
By  Sulak  Sivaraksa
2.4 Asian  Religious  Values  and  Development.
By  Joseph  J.  Spae,  Phd.
[3]   Donald  E.  Smith,  Religion,  Politics  and  Social  Change in  the  Third  World. New York:  The  Free  Press, 1971 
[4]   ,  ed., Religion  and  Political  Modernization  London:  Yale        University  Press,  Ltd. 1974.
[5] Emanule  Sarkisyanz,  Issues  in  the  Future  of  Asia,  
Buddhism  as  a  Political  Factor. 
[6]     Albert  Einstein,  Why  Socialism?  Monthly  Review,May, 1949
[7]   พุทธทาสภิขุ, “คู่มือมนุษย์”  กรุงเทพฯ สำนักหนังสือธรรมบูชา, กทม. 10200.
 พฤษภาคม  2531
[8] ----------------, คริสตธรรม-พุทธธรรม , หจก. การพิมพ์พระนคร , กรุงเทพฯ, 
จัดจำหน่ายโดย สำนักหนังสือธรรมบูชา,  2529
[9] ----------------, “แก่นพุทธศาสน์”ม สำนักพิมพ์อรุณวิทยา, กทม., 2529
[10] วิชัย  สุธีรชานนท์, “ศาสนาเปรียบเทียบ” ม เอกสารวิชาการ อันดับที่ 9/2524 , 
วิทยาลัยครูเทพสตรี ลพบุรีม หจก. การพิมพ์พระนคร , 2525
[11] แสง  จันทร์งาม, “ศาสนศาสตร์”, บริษัทโรงพิมพ์ไทยวัฒนพานิช, 2531
[12] Marx, Carl, Early Writings, Vintage Books, New York, June 1975.
[13] Lucian W. Pye, Aspect of Political Development, Boston: Little Brow, 1966,
pp. 45-47
[14] พระดุษฎี  เมธังกุโร , การพัฒนาสังคมในทัศนะของพุทธทาสภิกขุ  พร้อมด้วยการเห็นของ ส. สิวรักษณ์ ศ. เสน่ห์ จามรัก ศ.ประเวศ วะสี, รศ.เสรี พงศ์พิศ  ศ. ระวี  ภาวิโส, ดร. โสรีย์ 
โพธิแก้ว,  พิราบ  ธงไชย, และอุบาสิกา คุณรัญจวน   กำธร  คำแหง 
สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมล  คีมทอง, กรุงเทพฯ,  2532
[15] อาจารย์ไรน่าน  อรุณรังษี,  การปฏิวัติอิสลาม , วิธีทาง อนาคตแห่งประชาชาติ. ศูนย์วัฒนธรรม สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านประจำกรุงเทพฯ , ไม่ระบุวันเดือนปีที่พิมพ์
[16] ศ. ประเวศ วลี, สวนโมกข์ ธรรมกาย สันติอโศก, สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน, กรุงเทพฯ 10400, ไม่ระบุปีที่พิมพ์.

 

ปฏิวัติสันติ

 
สมัคร ยกเลิก
 
 
Revolutionary Press Agency
Online Journal and News Agency for Peace  :  วารสารและข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
Copyright © 2024 www.rpathailand.com All Rights Reserved.
ทำเว็บ  ออกแบบเว็บ  Web Design  เว็บสำเร็จรูป  เว็บไซต์สำเร็จรูป