Revolutionary Press Agency : Online Journal and News Agency for Peace
สำนักสื่อปฏิวัติ  : วารสารข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
8 มิ.ย. 2554 กองหน้าประชาชนรุ่นใหม่ อนุสรณ์ สมอ่อน ตอบคำถามคาใจทำไมต้องปฏิวัติประชาธิปไตย? 
พระพุทธศาสนาแนวคิดเพื่อพัฒนาสังคมและการเมือง
ดร.บี อาร์ อัมเบดการ์
ถอดความโดย
พระดร.สมชัย กุสลจิตฺโต พระราชปัญญาเมธี
  
  
คำนำจากผู้ถอดความ
 
 
             หนังสือเล่มนี้แม้จะไม่ใหญ่โตและมีจำนวนหน้าไม่มากนัก  แต่ก็บรรจุไว้ซึ่งเนื้อหาที่มากด้วยทัศนะทางการเมือง  สังคม และชีวิตแห่งวีรบุรุษชาวอินเดียร่วมสมัยที่ยิ่งใหญ่ท่านหนึ่ง  ซึ่งมีสติปัญญาสุขุมลุ่มลึก  เป็นนักปราชญ์อัจฉริยะ ผู้มีวิญญาณแห่งการปฏิวัติผลักดันให้ต่อสู้เพื่อคนยากจนเข็ญใจไร้ศักดิ์ศรี และถูกเหยียบย่ำอย่างหนักหน่วง  ท่านเป็นทั้งการศาสนา  นักการเมืองและนักปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่สถานะที่สูงส่งดีงาม ท่านที่ว่านี้จะเป็นใครอื่นไปไม่ได้  นอกจากดร.บี.อาร์.อัมเบดการ์ (Dr.B.R. Ambedkar) อดีตรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมและรัฐมนตรีแรงงานของรัฐบาลอินเดีย  ในสมัยรัฐบาลชุดแรกของนายกรัฐมนตรียวาหรลาล  เนห์รู  แต่เพราะระบบการเมืองและสังคมนิยมอินเดียได้เล่นตลกเบียดเบียนเอาเกือบปางตาย  ท่านเลยจำใจต้องหันหน้ากลับมาต่อสู้อย่างหัวชนฝา ด้วยวิถีทางแห่งพระพุทธเจ้า ดังนั้นเนื้อความต่อไปนี้ ข้าพเจ้าได้บรรจงถอดความและเรียบเรียงขึ้นจากผลงานการพูดและเขียนของดร.บี.อาร์.อัมเบดการ์ รัฐบุรษอัจฉริยะแห่งยุคปัจจุบัน ผู้หมุนกงล้อแห่งพระธรรมให้กลับคืนสู่อินเดียอีกครั้งหนึ่ง โดยการนำชาวอินเดียจำนวนหลายแสนคนเข้าสู่พิธีสมาทานนับถือพระพุทธศาสนา กระทั่งตัวเองต้องกลายเป็นผู้นำชาวพุทธจำนวนหลายสิบล้านคนในอินเดียปัจจุบัน
             ผลงานชิ้นนี้ ท่านดี.ซี. อะเฮอร์ (D.C. Ahir) ได้รวบรวมพิมพ์ขึ้นในชื่อว่า “Dr. Ambedkar on Buddhism" ข้าพเจ้า(พระราชปัญญาเมธี สมชัย กุสลจิตฺโต)ได้แปลและเรียบเรียงด้วยกุศลเจตนามุ่งหวังอุทิศผลงานชิ้นนี้ร่วมเฉลิมฉลองในมงคลวาระครบรอบหนึ่งศตวรรษนับแต่ชาตกาล (๑๔ เมษายน ๒๔๓๔- ๑๔ เมษายน ๒๕๓๕ ) ของดร.อัมเบดการ์ รัฐบุรุษ อภิชาตบุตรแห่งภารตประเทศ และผู้นำชาวพุทธที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคกึ่งพุทธกาลนี้
             ทั้งนี้สืบเนื่องจากข้าพเจ้าได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาเพิ่มเติมในอินเดียเป็นเวลา ๖-๗ ปี (พ.ศ.๒๕๒๔-๒๕๓๒)และสบโอกาสให้ได้อ่านงานเขียนและบทพูด  รวมทั้งได้สดับตรับฟังเรื่องราวเกี่ยวกับตัวดร.อัมเบดการ์ มาพอสมควร โดยส่วนตัวแล้ว ข้าพเจ้าก็รู้สึกชื่นชมยินดีและซาบซึ้งตรึงใจในวิถีชีวิตส่วนตัวและการเสียสละต่อสู้เพื่อพหูชนคนชั้น (วรรณะ) เดียวกับท่าน ตลอดจนความรู้ประสบการณ์ ความสามารถและวาทะคมคายลึกซึ้งของท่านมาก
             จำได้ว่าคราวหนึ่งขณะที่ข้าพเจ้าศึกษาเพิ่มเติมอยู่ที่มหาวิทยาลัยมัทราส (University of Madras) รัฐเชนไน อินเดียใต้ มีโอกาสได้อ่านข้อความสุนทรพจน์หลังการแสดงตนเป็นพุทธมามกะ (๑๔ ตุลาคม ๒๔๙๙)  ณ บริเวณที่เรียกว่า “ทิกษาภูมิ” ใจกลางเมืองนาคปูร์ของดร.อัมเบดการ์ ข้าพเจ้าถึงกับน้ำตาซึมเลยทีเดียว หากโอกาสอำนวยในอนาคต น่าจะหาทางแปลและเรียบเรียงผลงานดังกล่าว  เพื่อเผยแพร่ให้พี่น้องชาวพุทธร่วมชาติได้รู้ได้ศึกษาความคิดของท่านกันมากขึ้น
             อาจกล่าวได้ว่า เพราะเหตุที่ข้าพเจ้าได้ศึกษาผลงานของดร.อัมเบดการ์ นักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ท่านหนึ่งของอินเดียมาบ้างนี่เอง  จึงทำให้ข้าพเจ้าเข้าใจแง่มุมสำคัญๆของพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวข้องกับสังคมอินเดียสมัยพุทธกาลหรือก่อนหน้านั้นเพิ่มมากขึ้น  ทั้งเรื่องสตรีในอินเดีย เรื่องศาสนาพราหมณ์และการชนชั้นวรรณะอย่างรุนแรงที่กลายเป็นลักษณะเฉพาะของคนเชื้อชาติอินเดียมาจนถึงปัจจุบัน
             ว่ากันตามจริงแล้ว ในด้านความรู้ความสามารถและอุปการคุณที่ดร.อัมเบดการ์มีต่อสังคมประเทศอินเดียนั้น  ในทัศนะของข้าพเจ้า ดร.อัมเบดการ์มิได้เป็นสองรองใครเลยแม้กระทั่งมหาตมะ คานธี แต่นี่ท่านคานธีได้รับยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งชาติอินเดีย  ก็คงเป็นเพราะท่านโดดเด่นในด้านการใช้วิธีอหิงสาเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษได้สำเร็จ  ส่วนดร.อัมเบดการ์นี้เป็นดั่งวิศวกรหรือสถาปนิกที่รับช่วงมาออกแบบสร้างชาติอินเดียทันทีที่อังกฤษยอมปล่อยให้อินเดียเป็นเอกราช  โดยดร.อัมเบดการ์  ได้รับการยอมรับให้เป็นประธานยกร่างรัฐธรรมนูญปกครองอินเดียฉบับแรก  ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดียวของอินเดียที่ยังใช้อยู่ในปัจจุบัน จึงมีการสร้างอนุสาวรีย์ของดร.อัมเบดการ์ในท่ายืนมือขวาถือหนังสือ(รัฐธรรมนูญ) ปรากฏเด่นเป็นสง่าอยู่หน้าโลกสภา (รัฐสภา) ของอินเดียปัจจุบัน (ไม่เหมือนกับรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย  ที่พวกเราเก่ง ยกร่างกันแต่ละฉบับแล้วฉบับเล่า เขียนกันได้หลายฉบับมาก ปัจจุบันเป็นฉบับที่ ๑๖ แล้ว แต่ละฉบับใช้ได้ไม่นาน ก็ฉีกทิ้ง แล้วก็ยกร่างกันใหม่ วนเวียนกันอยู่อย่างนี้) จึงอาจกล่าวได้ว่าอินเดียเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็ว่าได้  และนับแต่ได้เอกราชมา อินเดียไม่เคยมีการปฏิวัติรัฐประหารเลย  แม้กระทั่งการเลือกตั้ง ก็ไม่ปรากฏว่ามีการซื้อสิทธิ์ขายเสียงกันรุนแรงร้ายเหลือเหมือนประเทศไทยที่รักของเรา
             ถึงกระนั้น ในภาพรวม ก็ดูเหมือนคนไทยเราส่วนมากจะรู้จักแต่มหาตมะ คานธี ไม่ค่อยรู้จัก ดร.อัมเบดการ์กันเท่าไหร่นัก  ทั้งนี้อาจเป็นเพราะมหาตมะ คานธี เป็นคนวรรณะสูงหน่อย  คือวรรณะแพศย์ตามระบบชนชั้นของฮินดูและเป็นคนของพรรคคองเกรส  ซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาลปกครองอินเดียมาในยุคแรกๆก็ได้   จึงได้รับการส่งเสริมกันมากกว่า  แต่ดร.อัมเบดการ์มีพื้นฐานมาจากคนชั้นต่ำสุด คือวรรณะจัณฑาล ที่หันมาสมาทานนับถือพระพุทธศาสนา คัดค้านระบบวรรณะของฮินดู  ซ้ำยังมิใช่คนของพรรคแกนนำรัฐบาล  คือพรรคคองเกรสถึงจะเก่งจะดีแค่ไหน แต่เมื่อเป็นคนละพวกกัน จะยกย่องก็คงไม่เต็มปาก มันกระดากลิ้นอะไรทำนองนั้น
             เพราะเหตุนี้ ข้าพเจ้าจงเพียรพยายามแปลและเรียบเรียงเพื่อเข็นงานชิ้นนี้ออกสู่บรรณพิภพจนได้  จริงๆแล้ว ข้าพเจ้าได้ทยอยแปลและเรียบเรียงส่งไปตีพิมพ์ในนิตยสารรายเดือน “พุทธจักร” ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตั้งแต่ต้นปี ๒๕๓๔ ซึ่งเป็นปีครบรอบหนึ่งศตวรรษแห่งชาตกาลของ ดร.อัมเบดการ์บ้างแล้ว แต่ตีพิมพ์ไปยังไม่ทันจบ ก็มีเหตุให้สะดุดยุติลงเสียก่อน
             จากนั้นก็ทิ้งช่วงไปนานถึง ๑๒ ปี ข้าพเจ้าจึงได้รื้อฟื้นแปลและเรียบเรียงขึ้นมาอีกเมื่อต้นปี พ.ศ.๒๕๔๖ ซึ่งตรงนี้ต้องยกความดีให้รุ่นน้อง-รุ่นลูกศิษย์สองท่าน คือ คุณเจนยุทธ์ ปาระกุล จากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ที่เอาใจใส่กระตุ้นให้ข้าพเจ้าแปลให้จบ  รวมทั้งให้กำลังใจ ตรวจความเรียบร้อยจัดทำต้นฉบับ และพิสูจน์อักษร จนทำให้หนังสือเล่มนี้สำเร็จออกมาเป็นรูปเล่มดังที่ปรากฏอยู่ในมือของท่าน และ ดร.อภิญวัฒน์ โพธิ์สาน จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ช่วยอ่านต้นฉบับสำนวนแปลและให้ข้อคิดบางประการ
             ในขณะเดียวกัน ข้าพเจ้าก็ต้องการสนับสนุนและเป็นกำลังใจให้ครูอาจารย์และนักศึกษาทั่วไป ที่สนใจงานด้านนี้ได้ช่วยกันเขียน ช่วยกันแปลและเรียบเรียงผลงานของ ดร.อัมเบดการ์ และปราชญ์พุทธอื่นๆของอินเดียออกสู่บรรณพิภพให้มากขึ้น  ดังนั้น จึงขอแนะนำสั้นๆว่า หนังสือเรื่อง “พระพุทธศาสนาแนวคิดเพื่อพัฒนาสังคมและการเมือง” นี้ ชาวพุทธและนักศึกษาด้านพระพุทธศาสนา ทั้งภิกษุสามเณรและประชาชนทั่วไปควรอ่านเป็นอย่างยิ่ง  เพราะจะทำให้ทราบถึงอัจฉริยภาพทางปัญญาของมหาบุรุษลูกจัณฑาลที่สังคมอินเดียหยามเหยียดท่านนี้  ทั้งด้านพระพุทธศาสนา ศาสนาอื่นๆ และด้านสังคม  รวมถึงด้านความศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา 
             นิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยสงฆ์หรือในสถาบันอุดมศึกษาอื่นๆ ก็สามารถอ่านประกอบวิชาปรัชญาอินเดียร่วมสมัย ศาสนาเปรียบเทียบและศาสนาวิเคราะห์ ฯลฯได้ 
             ข้าพเจ้าในฐานะผู้แปลและเรียบเรียงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผลงานชิ้นนี้จะช่วยเสริมประสบการณ์แปลกใหม่และให้ทัศนะที่เป็นประโยชน์แก่ชาวพุทธไทยในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศนี้ตลอดจนจะเสริมสร้างขอบข่ายและมุมมองของนักการศึกษาพระพุทธศาสนาในเมืองไทยให้กว้างขวางก้าวไกลยิ่งขึ้น
  
  
  
                                                                                 ด้วยเมตตาธรรม
                                                                               พระราชปัญญาเมธี
                                                                                สมชัย กุสลจิตฺโต
 
 
 
บทที่ ๑

จาริกบุญสู่พระพุทธศาสนา
(Pilgrimage to Buddhism)

 
                 มลพิษของระบบวรรณะ
 
            เพราะถือกำเนิดมาเป็นจัณฑาล อัมเบดการ์จึงได้รับการดูถูกเหยียดหยามและเผชิญความทุกข์ยากมากมายเฉกเช่นที่ชาวจัณฑาลทั้งหลาย  ในสมัยก่อนประสบพบเจอกัน ถึงกระนั้น ท่านก็ยังกระเสือกกระสนจนได้เข้าเรียนในโรงเรียนประถมศึกษาแห่งหนึ่ง ณที่โรงเรียนนั้นเอง อัมเบดการ์ ถูกเพื่อนนักเรียนและครูต่างวรรณะปฏิบัติต่อท่านด้วยความรังเกียจเดียดฉันท์ ตลอดจนถูกทำร้ายเสมอ  บ่อยครั้งเหลือเกินที่ท่านถูกทำร้ายไม่ให้ดื่มน้ำ  ทั้งนี้มิใช่ไม่มีน้ำดื่มในบริเวณโรงเรียนแต่เพราะเหตุที่ท่านเป็นจัณฑาล จึงไม่มีสิทธิ์จะได้ดื่มน้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะร่วมกับเด็กวรรณะอื่นๆ
                การปฏิบัติอย่างเหยียดหยามจากเพื่อนร่วมชั้นเรียนในโรงเรียนที่อัมเบดการ์ได้รับอีกประการหนึ่งซึ่งควรกล่าวถึง(ในที่นี้) ก็คือ ในวันหนึ่งขณะที่ครูประจำชั้นเรียกเด็กชายภิม (ชื่อเดิมของดร.อัมเบดการ์) ออกไปทำเลขคณิตบนกระดานดำหน้าชั้น ในบัดดลนั้นเองก็มีเสียงร้องอื้ออึงขึ้นทั้งชั้นเรียน สาเหตุก็คือพวกเด็กจากวรรณะฮินดูคนอื่นๆ ต่างตะโกนร้องคัดค้านไม่ให้เด็กชายภิมไปสัมผัสกระดานดำ ซึ่งจะเป็นเหตุให้กล่องใส่อาหารกลางวันของพวกเขาที่วางไว้บริเวณหลังกระดานดำพลอยแปดเปื้อนเป็นมลทินไปด้วย ผลสุดท้ายก็ต้องรีบเคลื่อนย้ายกล่องใส่อาหารทั้งหมดออกจากบริเวณนั้นก่อน  เด็กชายภิมจึงถูกเรียกให้เข้าไปทำเลขคณิตบนกระดานดำหน้าชั้นเรียนต่อ
                ความรังเกียจเดียดฉันท์เช่นว่านี้ได้ทำร้ายจิตใจของอัมเบดการ์อยู่ตลอดช่วงชีวิตท่าน เมื่อจะเรียกอดีตอันขมขื่นกลับคืนมา ท่านจึงได้เล่าเพิ่มเติมว่า “ขณะที่ข้าพเจ้าทำงานอยู่ในสำนักงานของท่านสมุห์บัญชีใหญ่เมืองบาโรด้านั้น เอกสารต่างๆถูกโยนใส่ข้าพเจ้าแทนการจับส่งให้ พรมปูพื้นตรงหน้าโต๊ะทำงานของข้าพเจ้าถูกม้วนกลับ เพื่อกันมิให้พวกฮินดูวรรณะสูงต้องมายืนบนพรมผืนเดียวกันกับข้าพเจ้า”
                อีกตัวอย่างหนึ่ง เกิดขึ้น ณ เมืองบาโรด้านั่นเอง กล่าวคือดร.อัมเบดการ์ไม่สามารถหาบ้านเช่าอยู่ได้ เพราะผู้คนที่นั่นไม่ยอมให้คนจัณฑาลได้เช่าซื้อที่อยู่อาศัยเพื่อตนเอง มีเรื่องเล่าต่ออีกว่าอัมเบดการ์ได้พยายามขอเช่าห้องพักอยู่แถวธรรมศาลาของพวกแขกปาร์ชีพื้นเมือง พอเพื่อนบ้านแถวนั้นรู้ว่าท่านเป็นจัณฑาลเท่านั้นก็พากันเฮโลมาขับไล่และทุบตีด้วยกระบองและแหลนหลาวอย่างรุนแรงจนท่านต้องปลอมตัวหลบหนีออกจากเมืองบาโรด้าไปได้อย่างหวุดหวิด
 
 
                ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน
 
                อัมเบดการ์คงรู้สึกเจ็บปวดมากที่พวกฮินดูวรรณะสูงได้ปฏิบัติต่อท่านและพี่น้องจัณฑาลของท่านเยี่ยงสัตว์ดิรัจฉานเช่นนั้น  ความรู้สึกดังกล่าวได้สะท้อนไหวอยู่ในห้วงลึกของจิตใจ ท่านจึงได้ตั้งสัตย์ปฏิญาณแน่วแน่ที่จะช่วยปลดปล่อยพี่น้องจัณฑาลจำนวนนับล้านคนจากแอกคือความเป็นทาสทางสังคมนั้นให้ได้
             การต่อสู้เพื่อปลดปล่อยให้ชาวจัณฑาลสู่เสรีภาพครั้งสำคัญของดร.อัมเบดการ์ได้เริ่มขึ้น เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๔๗๐ ณ เมืองมหัท รัฐมหาราษฎร์ เหตุการณ์ครั้งนั้นได้ถูกบันทึกไว้ให้เป็นเรื่องสำคัญแห่งปีพอๆกันกับกรณีทัณฑิมาร์ชของมหาตมะ คานธี เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๗๓ ดังนั้นจึงควรจะพูดเรื่องนี้กันให้ละเอียดสักเล็กน้อย 
             ในการปฏิบัติตามมติของรัฐสภาเมืองบอมเบย์ เทศบาลเมืองมหัทได้ออกคำสั่งให้เปิดสระโชว์ดาร์ (Chowdar) ให้คนจัณฑาลเข้าไปใช้น้ำได้ แต่คนวรรณะฮินดูกลับไม่ยอมรับคำสั่งนั้น ดร.อัมเบดการ์นักต่อสู้เพื่ออิสรภาพและผู้ปลดปล่อยมหาชนชาวจัณฑาลที่ถูกเหยียดหยาม  จึงได้ตัดสินใจประกาศปกป้องสิทธิอันชอบธรรมของตน โดยยืนยันให้พวกจัณฑาลเข้าไปใช้น้ำในสระนั้นได้อย่างเสรี จากนั้นกลุ่มจัณฑาลทั้งชายและหญิงประมาณ 10,000 คน ได้ตอบสนองคำเรียกร้องของท่านโดยจับกลุ่มประชุมกันขึ้น ณ เมืองมหัท เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2470  
             วันถัดมา (วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2470) ตัวแทนของพวกจัณฑาลก็เริ่มตั้งขบวนเดินออกจากที่ประชุมมุ่งหน้าสู่สระโชว์ดาร์  เพื่อยืนยันสิทธิอันชอบธรรมดังกล่าว  ดร.อัมเบดการ์ออกเดินนำหน้าตามมาด้วยอาสาสมัครราว 10,000 คน เดินเป็นแถวเรียงสี่ผ่านถนนหลายสายในเมืองมหัทในลักษณะสงบเรียบร้อย แล้วมาหยุดที่สระโชว์ดาร์ ดร.อัมเบดการ์ จัณฑาลอัจฉริยะและมีคุณลักษณะสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นในแผ่นดินอินเดีย ได้ยืนยันสิทธิอันชอบธรรมของผู้ทุกข์เข็ญโดยแสดงการดื่มน้ำจากสระนั้น กลุ่มบริวารทั้ง 10,000คน ก็ได้ปฏิบัติเช่นเดียวกับท่าน นี่ช่างเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้เลย มหาชนผู้ที่ถูกตราบาปประทับไว้ว่า “จัณฑาล” ได้แสดงความกล้าหาญ โดยลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิอันชอบธรรมของตนในลักษณะที่งดงามปานนั้น แล้วขบวนก็ได้เดินย้อนกลับไปสู่สถานที่ประชุมครั้งแรกอย่างสงบ
             ในขณะเดียวกัน ก็มีข่าวลือแพร่สะพัดออกไปว่า ดร.อัมเบดการ์กับบริวารกำลังวางแผนบุก วัดวีเรศวร๒อีก  กลุ่มคนคลั่งศาสนาฮินดูซึ่งเพิ่งล้มเหลว ไม่อาจกีดกันพวกจัณฑาลจากการใช้น้ำในสระโชว์ดาร์เมื่อสักครู่นี้ได้ ก็พากันเกร่ไปรวมตัวกันที่ปะรำใหญ่ ณ เวลานั้น พวกจัณฑาลส่วนใหญ่ได้กลับไปแล้ว เหลืออยู่เพียงส่วนน้อยที่ยังสาละวนเก็บข้าวของกันอยู่ มีบางคนกำลังรับประทานอาหารอยู่ก่อนที่จะแยกย้ายกันกลับ  คนเหล่านั้นืออยู่เพียงปะรำใหญ่ รวมทั้งสตรีและเด็กไม่มีอาวุธใดๆเลย จึงถูกพวกวรรณะฮินดูทุบตีเอาอย่างไร้ความปรานี  หน่วยหน้าของฮินดูได้โจมตีจัณฑาลกลุ่มใหญ่ก่อนแล้ว  จึงตามไล่ตีจัณฑาลกลุ่มย่อมๆที่กำลังเดินทางกลับบ้านของตน แม้จะถูกทุบตีทำร้ายให้อับอายขนาดนั้น ดร.อัมเบดการ์ก็ยังเฝ้าเตือนบริวารของตนให้อยู่ในความสงบ อย่าทำการโต้ตอบใดๆ จากนั้นจึงเป็นอันจบการต่อสู้ครั้งสำคัญภาคแรกของกลุ่มคนผู้ซึ่งเกิดมาเป็นเหยื่อของความเหี้ยมโหดเพราะเหตุแห่งความเป็นจัณฑาล
           หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้นผ่านไปไม่นานนัก ก็มีข่าวแพร่สะพัดออกไปว่า พวกฮินดูหัวเก่าได้นัดกันมาทำพิธีชำระล้างมลทินของสระน้ำที่ดร.อัมเบดการ์และบริวารละเลงทิ้งไว้  ต่อมาเทศบาลเมื่อมหัทได้ทบทวนมติ  ไม่อนุญาตให้คนวรรณะต่ำใช้น้ำในสระโชว์ดาร์ อันนี้เป็นมูลเหตุสร้างความโกรธแค้นแก่กลุ่มจัณฑาลอย่างมาก เพราะมันท้าทายหลักการนับถือตนเองและเกียรติภูมิในฐานะเป็นมนุษย์เหมือนกัน ดังนั้นพวกจัณฑาลจึงตัดสินใจก่อกวนในเมืองมหัทอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเป็นการยืนยันสิทธิอันชอบธรรมของพวกตน  คือสิทธิแห่งความเป็นมนุษย์ที่จะใช้น้ำในสระสาธารณะแห่งนั้นได้อย่างเท่าเทียมกัน
              ในการนี้ พวกเขาได้เตรียมแผนการใช้ “พิธีสัตยาเคราะห์”๓ กันในเดือนธันวาคม ๒๔๗๐ และแล้วตอนเย็นของวันที่ ๒๕ ธันวาคมนั้นเอง ผู้เข้าร่วมพิธีสัตยาเคราะห์หลายพันคนก็ได้ทยอยกันมาถึงเมืองมหัทในท่ามกลางบรรยากาศที่ค่อนข้างจะสับสนการประชุมที่ ดร.อัมเบดการ์ได้พูดนั้น เรียกว่า “การเข้าสู่ศตวรรษแห่งความเสมอภาคกัน”กลุ่มจัณฑาลได้รวมกันเสนอแนวคิดในการแก้ปัญหาหลายเรื่อง ซึ่งล้วนแต่มุ่งยกสถานภาพกลุ่มคนที่ถูกเหยียบย่ำทั้งหลาย ทั้งทางสังคม ศาสนา และการเมืองการปกครอง
              ความน่าสนใจเกี่ยวกับ “มนูสมฤติ”คัมภีร์เก่าแก่ของศาสนาฮินดูมีอยู่ข้อหนึ่ง  คือการสนับสนุนหลักการไม่เสมอภาคกันและมี
บางตอนอนุญาตให้พวกฮินดูวรรณะสูงลงโทษพวกศูทร(จัณฑาล) ที่บังอาจแอบฟังการสาธยายพระเวทหรือสาธยายเองอย่างรุนแรง พวกเขา(จัณฑาล) มีเพียงแต่ก่นโคตรสาปแช่งคัมภีร์นี้ด้วยปากเท่านั้น  หากแต่ยังลากเอาต้นฉบับไปเผาตรงหน้าปะรำพิธีอีกด้วย เมื่อได้ลงมือทำอย่างนั้นแล้ว ดร.อัมเบดการ์ได้ให้เหตุผลภายหลังว่าทำไปเพียงต้องการเรียกร้องความสนใจจากพวกวรรณะฮินดู
              อีกอย่างหนึ่ง ด้วยก้าวย่างดุเดือดถึงขั้นเผาคัมภีร์ฮินดูอย่างกล้าหาญนี้ ดร.อัมเบดการ์บอกว่าเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งที่จะชี้ให้เห็นบาปเก่าของจัณฑาลให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
              สัตยาเคราะห์ที่ ดร.อัมเบดการ์กับบริวารได้ทำลงไป ซึ่งจัดว่าสำคัญยิ่งอีกครั้งก็คือ ที่เมืองนาสิกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๒ วัตถุประสงค์ก็คือ ต้องการยืนยันสิทธิอันชอบธรรมที่จะเข้าไปในวัดฮินดู สถานที่เกิดเหตุคือวัดกลาราม เมืองนาสิก (รัฐมหาราษฎร์) เหตุการณ์ครั้งนั้นเริ่มเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ยืดยาวไปกว่าหนึ่งเดือน จนถึงวันที่ ๙ เมษายน ได้มีขบวนแห่รูปเคารพของพระรามเจ้า ซึ่งประดิษฐานอยู่บนรถยนต์แล้วขับเคลื่อนไปเรื่อยๆ พวกจัณฑาลที่ร่วมพิธีสัตยาเคราะห์บางคนได้เดินเฉียดเข้าไปใกล้รูปปฏิมานั้น พอพวกวรรณะฮินดูเหลือบมาเห็นจัณฑาลเข้าเท่านั้น ก็ถึงกับเดือดดาลเอามากๆ พากันฉวยเอากระบองและก้อนหินเข้าทุบตีขว้างปาใส่แบบไม่ยั้งมือ กลุ่มจัณฑาลมือเปล่ารวมทั้งดร.อัมเบดการ์ต่างก็ได้รับบาดเจ็บไปตามๆกัน
              ข้อนี้แสดงให้พวกเราเห็นความพยายามอย่างมากของดร.อัมเบดการ์ที่จะช่วยให้ประชาชนผู้ถูกกดขี่ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน
ภายใต้ร่มเงาศาสนาฮินดู  แต่ดูเหมือนว่าความพยายามของท่านไม่เกิดมรรคผลใดๆเลย เมื่อมาตรวจพบว่า ศาสนาฮินดูมีคำสอนเป็นเสมือนถั่วดินเปลือกแข็งที่ยากเกินกว่าจะขบให้แตก เพื่อกินเนื้อในได้เสียแล้ว ดร.อัมเบดการ์จึงได้เรียกประชุมใหญ่กลุ่มชนวรรณะเดียวกันอีกครั้ง ณ ตำบลเยียลา (Yeola) เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๔๗๓ เพื่อกำหนดแนวทางที่จะดำเนินการต่อไปในอนาคต ในขณะกล่าวปราศรัยแก่ที่ประชุมใหญ่ครั้งนั้น ดร.อัมเบดการ์ย้ำเตือนให้เห็นชะตากรรมของพวกจัณฑาลทุกแง่ทุกมุม รวมถึงความเสียสละที่พวกเขาได้ทำเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิมนุษยชนที่แท้ที่ควรได้ในฐานะสมาชิกของสังคมเดียวกันในกรอบของศาสนาฮินดู ท่านได้พูดต่อไปว่า
  
               “ถึงเวลาแล้วที่พวกเราจะต้องตัดสินใจ มันจะไม่ดีกว่าหรือ หากพวกเราละทิ้งศาสนาฮินดูไปนับถือศาสนาอื่นที่จะให้สถานภาพทางสังคมที่เท่าเทียมกัน  มีฐานะที่มั่นคงปลอดภัยและปฏิบัติต่อพวกเราอย่างเป็นธรรม” 
 
             เมื่อพูดถึงตนเอง ดร.อัมเบดการ์ได้ย้ำว่า
 
             “ช่างโชคร้ายจริงๆ ที่ข้าพเจ้าเกิดมาเป็นฮินดู มันอยู่เหนืออำนาจการป้องกันของข้าพเจ้า แต่ข้าพเจ้าขอยืนยัน ณ ที่นี้ว่า ข้าพเจ้าจะไม่ขอตายในฐานะเป็นฮินดู”
             การเริ่มหันมาสนใจและเลื่อมใสศรัทธาพระพุทธศาสนาของดร.อัมเบดการ์นั้นอาจกล่าวย้อนไปว่า ครั้งแรกเริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๐ ขณะนั้นอัมเบดการ์มีอายุเพียง ๑๖ ปี เหตุการณ์สำคัญครั้งนั้นเกิดขึ้น ณ เมืองบอมเบย์ ๕ เมื่อคณะญาติมิตรและผู้ปรารถนาดีต่ออัมเบดการ์ได้ร่วมกันจัดงานเลี้ยงแสดงความยินดีในโอกาสที่ท่านสอบผ่านประโยคมัธยมศึกษาของรัฐบาล เพื่อแสดงความชื่นชมกับอัมเบดการ์ท่านกฤษณชิ อรชุน เกลุสการ์ นักเขียนนวนิยายภาษามาระฐีและนักสังคมสงเคราะห์ได้มอบหนังสือภาษามาระฐีเล่มหนึ่งชื่อ “พุทธจริต”(ชีวประวัติของพระพุทธเจ้า) เป็นของขวัญ แสดงออกถึงความรักและมุทิตาจิตในความสำเร็จของท่าน หนังสือเล่มเล็กๆ นี้ได้ปลุกวิญญาณของเด็กหนุ่มชื่ออัมเบดการ์ให้ตื่นขึ้น(จากภวังค์) ต่อจากนั้นท่านก็ยิ่งเพิ่มความรักและความศรัทธาในพระพุทธศาสนามากขึ้นๆถึงขนาดยอมลงทุนศึกษาค้นคว้าวรรณคดีพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้งในเวลาต่อมา
              ในช่วงที่ดร.อัมเบดการ์มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปแล้ว  ความรักปักใจและความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาในหัวใจท่านได้เบ่งบานอย่างเต็มที่ อุดมการณ์อันงดงามของพระพุทธศาสนาได้หล่อเลี้ยงหัวใจ เป็นแรงบันดาลใจในการต่อสู้ของท่านตลอดมา  ในปีพ.ศ.๒๔๗๘ เมื่อดร.อัมเบดการ์ประกาศความตั้งใจที่จะทิ้งศาสนาฮินดูไปนับถือศาสนาอื่น  นักการศาสนาตัวแทนทั้งของศาสนาซิกข์ มุสลิมและคริสต์ ต่างก็พยายามเกลี้ยกล่อมให้ท่านเลือกเข้ารีตศาสนาของตน ท่านเหล่านั้นได้เสนอเงินทองก้อนใหญ่และความสะดวกสบายอื่นๆแก่ดร.อัมเบดการ์และบริวาร แต่ในขั้นสุดท้าย ดร.อัมเบดการ์ได้ปฏิเสธข้อเสนอทั้งหมดอย่างสุภาพ


--------------------------------------------------------------------------------

๒ เพราะพวกจัณฑาลถูกห้ามมิให้ไปกราบไหว้บูชาพระเจ้าในวัดฮินดูของคนวรรณะสูงด้วย:ผู้ถอดความ

๓ กิจกรรมขอความเป็นธรรมด้วยความจริงโดยไม่รุนแรง ไม่เบียดเบียนทำร้ายกัน : ผู้ถอดความ

๔ “Unfortunately, I was born a Hindu. It was beyond my power to prevent that but I solemnly assure you that I will not die a Hindu.”

๕ ปัจจุบันรัฐบาลอินเดียเปลี่ยนชื่อมาเป็น “มุมไบ” : ผู้ถอดความ

  
  
 
(อ่านต่อตอนหน้า) 
  
 
 

 

ปฏิวัติสันติ

 
สมัคร ยกเลิก
 
 
Revolutionary Press Agency
Online Journal and News Agency for Peace  :  วารสารและข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
Copyright © 2024 www.rpathailand.com All Rights Reserved.
ทำเว็บ  ออกแบบเว็บ  Web Design  เว็บสำเร็จรูป  เว็บไซต์สำเร็จรูป