จัดการสาขา...ร้านอาหาร ที่ไม่มีใครสอน


        มีคนมากมาย ประสบความสำเร็จสูงสุดในการทำร้านอาหาร 1 แห่ง คิดว่าจะขยายเพิ่มขึ้นไปอีก 5 แห่ง หรือซัก 10 แห่ง  แต่กลับไปได้ไม่สวยนัก  เช่นเดียวกับกิจการร้านอาหารจำนวนมาก ล้มเหลวจากการทำแฟรนไชส์  หลังจากขายได้มาก 50-100 สาขา  แต่ออกปิดไปทั้งหมด เพราะจบด้วยการขาดความสามารถในการบริหารควบคุมร้านสาขา
 การจัดการร้านอาหารแบบหลายสาขาเป็นเรื่องที่ไม่มีใครสอนเป็นจริงเป็นจัง  แต่เรื่องนี้มีข้อแนะนำจากมืออาชีพ ถึงวิธีการบริหารจัดการ ร้านสาขาที่ถูกต้อง
จงทำร้านอาหารที่ถูกต้อง
ความสำเร็จของร้านแรก
     ความสำเร็จขั้นสูงของร้านอาหารที่เกิดขึ้นครั้งแรกมาจาก  แบบอย่างเฉพาะตัว บางร้านประสบความสำเร็จ  เพราะโปรดักส์ นำ  คืออร่อย  หรือบางร้านไม่อร่อย  แต่บริการประทับใจ  เช่นคิดแบบเจ้าของเป็นคนคิด คิดเงินเร็วมาก คิดออกเป็นสตางค์ “สามหมื่นครับ”เป็นลูกเล่นที่แปลกๆ หรือบางร้านเสิร์ฟอาหารจานร้อนออกมาทุกครั้งต้องเป่านกหวีดเตือนคนเดินชน  ทำให้ร้านคึกคัก ทำให้คนอื่นๆอยากสั่งบ้าง  หรือบางร้านมีเถ้าแก่มาเซอร์วิส ก็จะเป็นเอกลักษณ์  ร้านพวกนี้ก็ถูกก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาด้วย 2 ปัจจัยใหญ่  คือเรื่องของโปรดักส์ และเซอร์วิส

     และส่วนใหญ่แล้ว มักจะเป็นลูกค้าเฉพาะกลุ่ม ก็ต้องมีการจัดการแบบเฉพาะกลุ่ม ร้านในระดับ 1 สาขา   ถามว่าโลเคชั่น สำคัญมั้ย ก็มีเหมือนกันแต่ไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่มาก บางร้านอยู่ในที่จอดรถยาก ก็มีคนไปกิน ถามว่าการบริหารสำคัญมั้ย ก็สำคัญน้อย ส่วนเรื่องการควบคุมต้นทุนอาหารยิ่งไม่ต้องสน อาเฮียร้านอาหารไม่รู้หรอกว่าฟู้ดคอร์สเป็นอย่างไร  ขาดทุนไม่ว่าต้องการชื่อเสียง เต็มที่ก่อน ไม่ต้องบริหารหรอก เพราะถ้ามัวคิดนั่นคิดนี่ก็จะไปไม่รอด ขายอย่างเดียว เซอร์วิสให้ได้ก่อน ให้ลูกค้าพอใจก่อน เพราะนี่คือส่วนแรกที่ทำให้เติบโต  แต่ลึกๆ แล้วมันจะคอนโทรลด้วยตัวของมันเอง ที่อาจมีต้นทุนสูงแต่  ยังเหลือกำไรก็พออยู่ได้
ขายดีแล้ว จะไปร้านที่สองอย่างไร
     ทีนี้แหละยาก ปัญหาที่เจอจะคล้ายๆกัน  ทุกคนจะเป็นอย่างนี้ คือ  เริ่มต้นปุ๊บ ลุยแบบเดิมเลย อั๊วสำเร็จแล้วมาไม่สน ลุยเลย ลุยผิดลุยถูก  ผลที่ตามมา คือ ทำกำไรมาสิบที่ ขาดทุนสี่ที่ ทำให้เจ๊งไปเลย ก็มี เพราะว่าตอนเริ่มต้นทำกำไร มันเกิดจากความแปลกใหม่จริง  ทำเลใช่จริง กลุ่มลูกค้าใช่จริงๆ มันขาย ได้กำไรมหาศาล แต่ปัญหาก็ คือ การเปิดมาก เราจะหาทำเลแบบนี้ได้ทุกที่หรือไม่ ไม่มีทาง ร้านส่วนใหญ่จะกำไรน้อยลง และมักจะมีขาดทุนตามมาด้วย ทำให้ฉุดร้านอื่นแย่ได้เหมือนกัน 
     ปัญหาที่จะตามมาอีก คือ  การจัดการ เริ่มไม่ได้แล้ว จะถูกโกง พนักงานจะโกง จะเจอปัญหาเรื่องการลงทุน คนที่บริหารร้านก็เริ่มควบคุมไม่ได้  การมีร้านแห่งเดียว การจัดการยังไม่สำคัญ แต่ถ้ามีร้านมากขึ้น การจัดการจะกลายเป็นเรื่องอันดับหนึ่งที่มีความสำคัญที่สุดทันที
      คุณลองนึกดูว่า อย่างร้านโคคาอร่อยมั้ย ถ้าเทียบแล้วหลายแห่งอร่อยสู้โคคาไม่ได้ แต่ถามว่าได้เปรียบหรือไม่ ยังไม่ใช่  ขณะเดียวกันร้านเอ็มเค  เราจะเห็นว่ามีการจัดการที่เป็นเลิศ ดังนั้นการจัดการมันมีองค์ประกอบหลายอย่าง เซอร์วิส โปรโมชั่น กิมมิคเรื่องการตลาด เรื่องแบรนด์รอยัลตี้
 
จัดการร้านสาขาอย่างไร
    ถ้าเราพูดเรื่องร้านสาขา  นั่นหมายถึง การเปลี่ยนการจัดการจากสองเป็นสี่เลย ที่เพิ่มมาคือ  เรื่องแมนเนจเม้นท์  ที่ต้องคุมคอร์ส เพราะมันไม่ใช่ คุณจะทำน้ำพริก สัมตำ ที่จะใส่เท่าไหร่ก็ได้ตามใจแม่ครัว  หมายความว่าคุณต้องคุมได้ สมมุติราเมนชามหนึ่ง บะหมี่ลวก เป็นต้นทุนกี่เปอร์เซ็นต์ ใส่เครื่องปรุงอะไรคุณต้องรู้หมด ในอาหาร 1 ชามนั้น  มีต้นทุนของอะไรเท่าไร  ค่าวัตถุดิบกี่เปอร์เซ็นต์  ค่าแรงกี่เปอร์เซ็นต์ ค่าเช่ากี่เปอร์เซ็นต์  เหลือกำไรต่อชามกี่เปอร์เซ็นต์  
     เรื่องการจัดการร้านสาขา  มันจะ ต้องบริหารหลายส่วน  เช่น เรื่องของไอที เรื่องการสร้างแรงจูงใจพนักงาน  การฝึกผู้จัดการร้าน  เราจะจัดลำดับอย่างไร จะแบ่งโครงสร้างในร้านและองค์กรอย่างไร มีระบบเลื่อนขั้นเป็นอย่างไร การอบรมพนักงานจะทำอย่างไร เหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้มีร้านสาขาอาจจะยังไม่รู้ และมักจะสิ้นสุดความฝันกัน เพราะขาดความเข้าใจเรื่องเหล่านี้
 
กองหน้า และกองหลัง
     การจัดการสาขาร้านอาหาร เมื่อมี 3-4 แห่งแล้วก็ควรจะแบ่งงานออกง่ายๆเป็น กองหน้า กองหลัง คือส่วนแบล็คออฟฟิศ เป็นส่วนสำนักงานสนับสนุนร้าน และส่วนฟ้อนท์ คือส่วนทำงานในร้าน
     ส่วนฟ้อนท์คือกลุ่มอยู่ในร้านต่างๆ คือในร้านก็มีโครงสร้างร้าน มีผู้จัดการ ผู้ช่วยผู้จัดการ มีกุ๊ก ส่วนเซอร์วิส  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละธุรกิจ อย่างโรตีบอย ก็จะมีสองส่วนง่ายๆ คือส่วนผลิตกับขาย เขาก็จะมีผู้จัดการ นอกจากผู้จัดการ ก็คือ กุ๊ก แคชเชียร์ แพ็กกิ้ง ทีนี้ถ้าร้านขายดี  คนก็ขายอย่างเดียว แพ็กก็แพ็กอย่างเดียว คนทำขนมก็ทำอย่างเดียว มีผู้จัดการร้าน  และแคชเชียร์
     ถ้าเป็นร้านอาหารใหญ่ๆ ก็จะแบ่งเป็นส่วนครัว  ส่วนแคชเชียร์ ส่วนเครื่องดื่ม ส่วนบริการ เสิร์ฟ ซึ่งก็จะแบ่งโซนและจำนวนโต๊ะที่ต้องดูแล และอาจะมีการหมุนเวียนกันในแต่ละโซน และมีผู้จัดการร้าน
     ส่วนแบล็คออฟฟิศ ก็คือฝ่ายสนับสนุน แบ่งหน้าที่ชัดเจน ส่วนใหญ่เถ้าแก่ไม่เข้าใจ ข้ามผิดข้ามถูก  ส่วนนี้จะมีหน้าที่รับพนักงาน ให้ความถูกความผิด ให้ทำคะแนน ทำเงินเดือน ประเมินผล เป็นต้น
    
    การจัดการแบบสาขา จะมีการแบ่งงานกันตามสายบังคับบัญชา  ต้องมีการจัดการแบบการสื่อสารที่มีแบบสองทาง จะต้องมีการส่งข้อมูลกัน มาร์เก็ตติ้ง ส่วนออฟฟิศเหมือนกันตาบอด ทำงานได้ระดับหนึ่ง ส่วนฟ้อนท์ออฟฟิศต้องส่งข้อมูล เช่น ราคาคู่แข่งขันเป็นอย่างไร ราคาร้านข้างๆ เป็นไรบ้าง ที่ห้างตอนนี้มีกิจกรรมอะไร เพราะออฟฟิศจะทำไม่ทัน แม้จะมีการตรวจเยี่ยมตลาดก็ทำไม่ทำ  ก็จะมาพูดคุยกัน และ ต้องมีการเน้นการสื่อสารโดยเอกสาร ไม่พูดปากเปล่าแล้ว ต้องมีใบสั่งซื้อ มีการลงบัญชี
     แต่สำหรับกิจการที่ยังไม่ได้ขยายสาขามากมายอาจมีอีกวิธีหนึ่งคือ  การจ้างบริษัทภายนอกมาเป็นส่วนสนับสนุน เช่น จ้างทำบัญชี มีคนคอยเก็บเอกสาร  หรือทำนองเดียวกันมาร์เก็ตติ้ง ให้บริษัทที่มีความชำนาญช่วยทำให้
 
ควบคุมงานด้วย paper work
    ข้อแนะนำหนึ่งที่จะทำให้การบริหารจัดการร้านสาขามีความเป็นไปได้ก็คือ  การควบคุมงานโดยเอกสารต่างๆที่ต้องทำ   เพราะการมีร้านสาขา  คือการใช้ระบบควบคุมโดยลดข้อจำกัดการพึ่งพาความสามารถของคนใดคนหนึ่ง  และจะทำเช่นนี้ได้ก็จะต้องมีเอกสารที่ใช้รวบรวมข้อมูลทุกด้าน เพื่อใช้ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล
     ซึ่งมีตั้งแต่ใบสั่งซื้อ  การทำเงินสดย่อย รายงานเงินสดเข้าประจำวัน ตารางควบคุมการสต็อกสินค้า รายงานการซื้อสินค้าประจำสัปดาห์ รายงานกะการเข้างาน  ผลตอบรับจากการทำโปรโมชั่น  ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ควรเป็นเซ็ทที่ควรรวบรวมเอาไว้ในคู่มือการดำเนินงาน  (Operation manual)   
 
 การจัดการร้านสาขา ...หมายถึง
         เมื่อมีร้านจำนวนมากขึ้นมา หลังจากที่มีกองหน้า  และกองหลังแล้ว  มีงานที่ต้องสร้างขึ้นมาใหม่ เพื่อจัดระบบการบริหารหลายสาขา ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า ลักษณะของงานจะมี 4-5 ส่วนดังนี้
     1.มีการจัดองค์กร การที่มีสามขาเพิ่มขึ้นโครงสร้างขององค์กรจะต้องมีความชัดเจน โดย มี สายบังคับบัญชา เช่น โดยเริ่มตั้งแต่ พนักงานที่ยังขาดทักษะ มาพนักงานดาวเด่นของร้าน มาเป็นผู้ช่วยผู้จัดการ เป็นผู้จัดการ เป็นผู้จัดการเขต และผู้จัดการภาค และมาถึงระดับบริหาร เป็นต้น ซึ่งในแต่ละตำแหน่งจะมีการระบุหน้าที่ ความรับผิดชอบที่ชัดเจน ดังนั้นเถ้าแก่ที่เคยเข้ายุ่งในทุกเรื่อง ก็จะดูแลในบางส่วนที่จำเป็นเท่านั้น
     2.งานด้านการจัดการร้าน   ทำอย่างไรจึงจะทำให้ร้านที่บริหารโดยคนอื่นสามารถทำกำไรได้  ที่คือโจทย์ของเรื่องนี้  ซึ่งจะต้องควบคุมได้ด้วยการทำคู่มือในการดำเนินงาน  ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่จะให้ผู้จัดการดำเนินงานตามกติกา ที่ช่วยให้มีโอกาสในการทำกำไรได้ หลักใหญ่ของการ การควบคุมผลจะอยู่ที่ผลของการดำเนินงาน ด้วยการ  คุมคอร์สของร้าน เช่น กำหนดให้ต้นทุนอาหารของร้าน ไม่เกิน 40%  บางร้าน 39.8 บ้างร้าน 42.8 และจัดการสิ่งต่างๆในร้าน เพื่อให้ได้ตัวเลขบรรทัดสุดท้ายตามเป้า 
     ซึ่งจะทำให้วัดผลการดำเนินงานได้  คือ จะดูตัวเลขแบบรายตัว รายสาขา รายบริษัท  เพราะมาร์จิ้นแต่ละตัวไม่เท่ากัน ดังนั้นร้านอาหาร เวลาเราคำนวณคอร์สติ้ง เราไม่ได้บอกว่าต้นทุนตายตัว 40 เปอร์เซ็นต์นะ แต่จะดูว่า ต้นทุนต้วไหนสูง ตัวไหนต่ำ จะมีการชี้วัด ผลประกอบการของแต่ละร้านเปรียบเทียบกัน
     ผู้จัดการร้านคือ ผู้บริหารให้ร้านเป็นไปตามเป้าหมาย ดังนั้น หน้าที่ของผู้จัดการร้าน เป็นงานควบคุม อย่างเรื่องบัญชี เขาก็จะเป็นคนรวบรวมเอกสาร จัดการบริหารเงินสดย่อย ในเรื่องการตลาด เขาก็จะเป็นบอกให้พนักงานเก็บข้อมูล จัดตารางงานประจำวัน ซึ่งควรจะมีการกำหนดหน้าที่ของแต่ละคนในร้านที่ชัดเจน  นอกจากนี้แล้วควรกำหนด อำนาจของผู้จัดการให้ขอบเขตชัดเจน    เช่น ผู้จัดการร้านเป็นคนรับพนักงานได้เลย ตั้งแต่ สรรหา นำมาใช้ประโยชน์ ให้คุณให้โทษ ได้ครบวงจร  เป็นต้น 
     ส่วนเรื่องการทำการตลาดของร้าน การคิดมาร์เก็ตติ้งหลัก ๆ เรื่องพีอาร์ ถ้าเป็นแมสก็ส่วนกลางทำ แต่ถ้าเป็นระดับท้องถิ่นผู้จัดการร้านจะเป็นคนทำ
     3.ด้านการเงิน จะมีเรื่องบัญชี ที่สำคัญ ส่วนออฟฟิศต้องสนับสนุนส่วนหน้า ส่วนหน้า ก็จะมีบัญชีที่เป็นแคชเชียร์คนเดียว นอกนั้นส่วนใหญ่จะเป็นเซอร์วิสหมด ดังนั้นหน้าที่แคชเชียร์ต้องทำอะไรบ้าง ส่วนสำนักงานทำอะไร ระบบงานร้านสาขาควรจะกำหนดเอาไว้ ฝ่ายบัญชีใหญ่ต้องการรายงานเอกสารใดที่กลับมา ส่วนบัญชีกลางจะบริหารระบบนี้
     4.การตลาด  พอทำร้านไปเยอะๆ  เสน่ห์ของร้านจะหายไป และร้านบางแห่งก็ไม่ได้อยู่ในทำเลที่ดีนัก ดังนั้นการตลาดจึงต้องเข้ามาช่วย และก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้องค์กรเติบโตได้
     5.การพัฒนาธุรกิจ เมื่อธุรกิจเติบโตขึ้น ต้องมีคนที่คิด และคิดไม่หยุด คอยสร้างโครงการใหม่ๆตลอด  พวกนี้จะเป็นเหมือนหน่วยที่ขยายร้าน คอยหาทำเล ทำงานก่อสร้าง ทำอย่างไรถึงจะให้ร้านสวยด้วย  ดูแลซ่อมแซมร้าน เช่นดูว่าทำอย่างไรปลวกไม่กิน คงทน และมีโนว์ฮาว ทำไงถึงจะมีการซ่อมบำรุงอย่างต่อเนื่อง

     เช่นหลอดไฟขาด ก่อนขาดเราจะเปลี่ยนได้มั้ย หรือถึงเวลาปุ๊บแล้วเปลี่ยนได้เลย หรือแอร์ต้องล้างกี่วันล้างที ล้างใหญ่กี่เดือน หลอดไฟก็ต้องมีสต็อกไว้ นี่คือส่วนงาน ดิเวลอปเม้นท์  หรือ การวางระบบงานของร้าน  พวกขั้นตอนการทำงานต่างๆ  เช่น ร้านสุกี้ ลูกค้ามาถึงปุ๊บ จะแบ่งคนไปเติมน้ำจิ้ม ก่อนเลย หรือเสิร์ฟน้ำให้ก่อน เรียกว่าพัฒนามาตรฐานการปฏิบัติงาน สิ่งเหล่านี้ฝ่ายพัฒนาธุรกิจจะเป็นคนคิด

ขยายร้านสาขา ฟังมืออาชีพ
อภิชาติ เธียรพิรากุล
 
     คุณอภิชาต เธียรพิรากุล เป็นมืออาชีพที่เชี่ยวชาญในการบริหารร้านสาขา  โดยผ่านการทำงานมาจาก ค่ายซีพี เชสเตอร์กริลล์  ร้านอินเตอร์สุกี้ นารายณ์พิซเซอเรีย และโออิชิ  ปัจจุบันเป็นมืออาชีพอิสระ  ที่รับปรึกษาในเรื่องการเปิดร้านอาหาร และการวางระบบร้านอาหารโดยตรง โดยมีประสบการณ์เปิดร้านอาหารระดับวีไอพี ให้กับโรงแรม.................... ที่ปอยเปต และที่ร้านVIP  ประเทศกัมพูชา และร้านอาหารญี่ปุ่นอากิโกะที่กรุงจาการ์ต้า อินโดนีเซีย  ศูนย์อาหารมาบุญครอง ศูนย์อาหารในหัวลำโพง  ศูนย์อาหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต

คุณอภิชาติได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการบริการจัดการร้านสาขา ที่น่าสนใจมากกว่า
คู่มือ เรื่องจำเป็นที่สุด
     เมื่อเรามีร้านแห่งที่ 2 ขึ้นมา เราควรทำอย่างไร  “เรื่องการย้ายคนจากร้านเก่ามาร้านใหม่ ผมว่าลืมไปได้เลย ถ้าเรามีคู่มือ  เราต้องคิดอย่างเดียวว่า ตอนนี้เรามีไบเบิ้ล(คู่มือการดำเนินงานร้าน) ว่า ถ้าเปิดร้านขึ้นมา  เปิดร้านต้องทำอย่างไร ปิดร้านต้องทำอย่างไร แต่ละชั่วโมงของการเปิดจะต้องทำงานอะไรบ้าง คู่มือนี้จะต้องมีคนอบรม ดังนั้นจะเปิดร้านกี่ร้านก็ช่าง เราไม่สน แต่ว่าเราต้องเตรียมคนมาเพื่อที่จะมาเปิดร้าน จะคนเก่าหรือคนใหม่เราก็ไม่สน สนแต่ว่า คุณทำตามไบเบิ้ลได้เปล่า ยิ่งร้านใหม่ยิ่งดีเลย มีตำแหน่งผู้จัดการหนึ่งคน เป็นกุ๊ก 5 คน เซอร์วิส 10 คน แล้วร้านใหม่ที่เราจะเปิด เราวางแผนไว้ ยอดขายเท่ากัน เราก็ต้องรับคนมา แล้วก็เอามาฝึกที่ร้านใหม่ และมีระบบตรวจสอบ ทำได้ก็ผ่าน ทำไม่ได้ก็ไม่ผ่าน แต่ถ้าพนักงานในร้าน เกิดผ่านหมด 30 คน แต่ ผู้จัดการไม่แข็ง จะทำยังไง ก็อาจจะผู้จัดการคนเก่าไปเปิดร้านใหม่ เอาคนใหม่ไว้ร้านเก่าก่อน แต่หลักใหญ่ๆ ก็คือทำตามไบเบิ้ล งั้นเก่าใหม่ไม่สำคัญแล้ว”

     ตัวคู่มือบอกอะไรบ้าง “หนึ่ง ก็คือ จะมีขั้นตอน ใน 1 วัน แต่ละชั่วโมงต้องทำอะไรบ้าง มีคู่มือการทำอาหาร  วัตถุดิบเข้ามา คุมยังไง ผลิตแล้ว ของเก็บได้กี่วัน อายุเท่าไหร่ และบางคนก็จะมีคู่มือความปลอดภัย เพิ่มมา แต่หลักใหญ่ๆก็จะมีสองส่วนแน่นอน คือการทำงานในร้านแต่ละช่วงเวลา และคู่มือการทำอาหาร”

มีร้านหลายสาขา การบริหารจะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง
     “ถ้าร้านเดียวหลักใหญ่ ๆ เราขายเซอร์วิส กับโปรดักส์  แต่พอเปิดแบบสาขา  โครงสร้างการจัดการแบบหลายสาขา เราเรียกว่า  จีเอ็มหรือผู้บริหาร ก็จะคุมงาน ห้าส่วนใหญ่ ที่บอกไว้ มาร์เก็ตติ้ง  เพอซัลแนล  ดิเวลลอปเม้นท์ เรื่องโอเปเรชั่น บัญชีและการเงิน 5 ตัวใหญ่ และการจัดการด้านไอทีก็อาจเพิ่มเติมเข้ามา หรือ ตัดสินใจสร้างส่วนโรงงานเพิ่มเติม
     แต่ในงานแต่ละส่วนก็อาจจะจับมารวมกันได้ เชนก็เอาดิเวลลอปเม้นท์ กับการตลาดมารวมกัน หาพื้นที่ด้วย ทำการตลาดด้วย อันนี้ขึ้นอยู่กับว่าเราจะจับมารวมกันยังไง จีเอ็มจะเป็นเป็นผู้จัดโครงสร้างงาน
     ส่วนการดูแลสาขา  ก็จะดู  ยอดขายที่ต้องรายงานทุกวัน ซึ่งอันนี้จะเป็นระบบอยู่แล้ว เช้ามาเปิดร้าน เสร็จปุ๊ป 11 โมงเคลียร์เงินเข้าแบงค์ ปิดร้านก็มา เช็คสต็อก เช็คเงิน เช็คกันถูกต้อง ส่วนกลางก็เช็คบัญชี เจ้าของหรือผู้บริหาร ก็จะตรวจว่าเงินเข้าแบงค์ทุกวันมั้ย เอ้าทำไมเงินไม่เข้า  มีความผิดนะ นี่มันจะมีกระบวนการของมัน”
     
โลเคชั่น ควรเป็นอย่างไร
     “เรื่องโลเคชั่น เป็นปัญหาโลกแตก ทุกคนเจอหมด เพราะก่อนดังต้องไปขอพื้นที่จากห้าง   พอคุณดังแล้วมีแต่คนเอามาพื้นที่มาให้  ปรากฏว่าเที่ยวนี้ต้องวัดใจตัวเอง แล้วนะ เพราะว่าคุณไม่ได้เป็นคนไปหาพื้นที่แล้วนะ กลายเป็นว่ามีคนมาเอาพื้นที่มาให้แล้วนะ ดีบ้างไม่ดีบ้าง สุดท้าย คุณก็จำยอม ลงทุนเพิ่มไปอีก ทำให้ไปไม่รอดเหมือนกัน”
     “ เรื่องทำเลมันเป็นศาสตร์อย่งงหนึ่ง หลักใหญ่ๆ เลยไม่มีใครรู้ดีเท่ากับเรา ในเรื่องสินค้าเราเองจะขายทำเลไหนให้ถูจุด คือสินค้าแต่ละตัวมีคาร์เลคเตอร์ของมัน  ยิ่งการเปิดหลายแห่งจะเป็นตัวชี้ทำเลถูกผิด แต่มีหลักใหญ่อยู่ 7 ข้อ เรื่องของความสะดวกสบายในการเข้าถึง  อย่างเช่น ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น สอง ต้องเห็นชัดด้วย คือคนต้องถูกกระตุ้นอยู่ตลอดเวลา อันที่สามคือทราฟฟิก คือการสัญจรดี เพราะถ้ามองเห็นดี เข้าถึงง่าย แต่ไม่มีคนผ่าน อันนี้ก็ไปไม่รอด ประชากรก็อยู่ในส่วนทราฟฟิก  ทีนี้ 7 ข้อที่ว่า มันก็จะเป็นเรื่องที่ว่า เราจะเลือกทำเลยังไง แต่สำคัญรองมา คือเรื่องการทำสำรวจ  ลูกค้า กับคู่แข่ง  ก็ต้องดูว่าลูกค้าเราเป็นอย่างไร ตรงกับทฤษฎีที่เรากำหนดหรือไม่ และการที่ทำเลดีจริง แต่คู่แข่งเรียงเป็นแถวเลย ก็ต้องมาวัดปริมาณ ”
     เรื่องทำเลนอกห้างคุณอภิชาต แนะนำว่า “สินค้าอะไรต้องอยู่ห้าง และอะไรไม่จำเป็น   เช่น โออิชิ บุฟเฟ่ ก็ไม่ต้องเข้าห้าง  การที่จะอยู่นอกห้าง เรื่องแรกเราต้องแข็งแรงพอที่จะดึงคนมาที่เราได้  ต่างกับการที่ขายในห้าง ที่เขาหาคนมาให้เราแล้ว  เรื่องที่สองที่ต้องนึกถึง คือ ราคาค่าเช่า เช่น ถ้าเราเปิดฮั่วเซงเฮง เราได้คนเยอะ ขายได้อย่างนี้ เราเปิดในห้างดีกว่ามั้ย แต่บวกลบค่าเช่าในห้างคุ้มมั้ย และข้อที่สาม โลเคชั่น ห้างรอบกรุงเทพฯ กับห้างรอบนอก อย่างห้างเซ็นทรัล รอบใน จะขายดีในวันธรรมดา แต่ในห้างรอบนอกอย่าง เสรี  แฟชั่น ขายดีในวันหยุด ตรงนี้เราจะรับได้มั้ย ทั้งหมดนี้เราบอกว่าอยู่ในห้างดีหรือนอกห้างดี  สำหรับสูตรของผม ให้คนอื่นเปิดไปก่อน เป็นหน่วยกล้าตาย ผมทำมาเป็นสิบปี ผมก็จะเฝ้ารอ พอเขาเลิกไปปุ๊บผมก็ไปสวมแทนเลย” 

ควรสร้างโรงงานหรือไม่
     “จะเป็นอีกหน่วยธุรกิจหนึ่ง ซึ่งตรงนี้ก็หิน ไม่หมู พอขยายสาขาได้เยอะๆปุ๊บ แล้วไปสร้างโรงงาน ไปไม่รอดก็เยอะ โรงงานนี่ตัวดูดเลย คือเวลาสร้างโรงงานต้องสร้างให้ใหญ่กว่ากำลังผลิตในปัจจุบัน ปรากฏว่าจากที่เคยทำง่ายๆผลิตไปขายไป ที่เรียกว่า จัสอินไทม์  ทั่วไประบบมันจะเริ่มจากจัสอินไทม์ก่อน ทำแบบไม่รู้ตัว  พอเราขยายปุ๊บมักจะไปสร้างโรงงานแล้วทำโอเวอร์ พวกรายจ่ายเริ่มบานเลย ประกอบกับพอทำโรงงาน เสน่ห์ของอาหารก็จะเริ่มลด เพราะจะเป็นแบบโรงงาน ยอดขายอาจจะหายบางส่วนด้วย ข้อแนะนำก็คือว่า สร้างส่วนหนึ่ง จ้างเขาผลิตส่วนหนึ่ง  สร้างไว้เพื่อกันการความลับ สร้างไว้เพื่อสร้างอำนาจต่อรอง สร้างไว้เพื่อเป็นการลดต้นทุน แต่ส่วนหนึ่งจ้างเขาผลิตเถอะ  เราไม่ได้เก่งทุกอย่าง โรงงานที่รับผลิตก็มีเยอะ ไม่จำเป็น อย่างถ้าจะเอาอาหารก็มี  นารายณ์อินเตอร์ฟู้ดรับผลิต  ถ้าจะเอาแบบอิตาเลี่ยนหน่อย หรือพวกขนมปังก็ ก็ศุภกิจ รุ่งโรจน์ พิซซาทูเดย์ อย่างเนี้ย  เยอะแยะ  แล้วก็มีจิตรมาส เอสแอนด์พี”
      

จากร้านแห่งแรก สู่แฟรนไชส์ทั่วประเทศ
ศุภกิจ  รุ่งโรจน์
 


     คุณศุภกิจ รุ่งโรจน์ ใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ 10 ขวบ เขาจบการศึกษาจากสถาบันชั้นนำด้านอาหารมาโดยตรง จาก CIA ซึ่งเป็นสถาบันเดียวกับคุณหมึกแดงนั่นเอง เขากลับมาที่เมืองไทย เพื่อตามความฝันของตัวเอง
 “ชีวิตเหมือนกับพิมพ์เขียว แต่ละเดือนผมจะวางเป้าหมายในชีวิตของผมว่า จะทำอะไรบ้าง แล้วเดินไปตามทางที่ขีดไว้ ตัวผมเองก่อนมาทำร้านอาหาร ผมเคยทำอาหารในโรงแรมและร้านอาหารมาหลายแห่ง แห่งละหนึ่งปีบ้าง ปีครึ่งบ้าง เป็นการเพิ่มประสบประการณ์ได้เห็นอะไรใหม่ๆจากเจ้านาย ผมจะเลือกสมัครงานร้านอาหาร 5 ดาวก่อนในปีแรก เพราะผมจะรู้ถึงการทำร้านอาหารแบบที่สมบูรณ์ที่สุด  และแห่งที่สองผมจะทำงานร้านที่ระดับรองลงมาเรื่อย การได้ทำงานในร้านอาหารมาทุกระดับ ทำให้ผมได้เห็นในส่วนที่ดี และไม่ดี ที่เอามาปรับใช้กับธุรกิจของผมได้”

จากร้านเล็กๆ เป็นร้านสาขากว่า 47 แห่ง
      บริษัท พิซซ่าทูเดย์ จำกัด ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2543 โดยคุณศุภกิจ รุ่งโรจน์ นำธุรกิจขายพิซซ่ารูปแบบที่เป็น Kiosk แยกตัวออกจากแบรนด์เดิมที่คุณศุภกิจก่อตั้งขึ้นคือแบรนด์อัลเฟรโด เนื่องจากอัลเฟรโดเปลี่ยนไปมุ่งเจาะตลาดพิซซ่าแช่แข็งแทน จำนวนสาขาที่แยกตัวออกจากอัลเฟรโดมาตั้งชื่อใหม่เป็นพิซซ่าทูเดย์มีจำนวน 15 สาขา และได้ขยายสาขาเพิ่มเรื่อยมากับห้าง Discount Store ตามอัตราการเปิดของห้าง จนปัจจุบันมีสาขาทั้งสิ้น 47 สาขาสินค้าของร้านพิซซ่าทูเดย์ จะมีทั้งพิซซ่า ทวิสเตอร์ แซนวิช ขนมปังกระเทียม ไอศครีม สลัด รวมทั้งรายการสินค้าอื่นๆที่จะเพิ่มเติมแแล้วแต่ความเหมาะสม
 นอกจากกิจการร้านพิซซ่าแล้ว คุณศุจกิจ ยังมีธุรกิจอื่นอีก คือ  ชูการ์บัน  จำหน่ายอาหารทานเล่นยอดนิยมที่สามารถทานได้ทั้งวัน (Snacks) เช่น เครป ข้าวโพดคลุกเนย ขนมปังปิ้ง นมร้อน และที่ถือเป็นสูตรพิเศษเฉพาะของชูการ์บันคือ มัฟฟินเนื้อนุ่มหอมมันซึ่งมีให้เลือกหลายไส้ 
     ส่วนเบเกอรี่ทูเดย์ จำหน่ายผลิตภัณฑ์เบเกอรี่จำพวกขนมปังไส้ต่างๆ เค้ก คุกกี้ และจุดเด่นของร้านคือการสาธิตการผลิตขนมปังซอฟท์โรล ซึ่งมีให้ลูกค้าเลือกหลายรสชาติ

5 ขั้นในการเติบโต
  จากวันแรกที่เริ่มต้นธุรกิจจนประสบความสำเร็จมาถึงวันนี้ ศุภกิจให้ข้อคิดว่า “ในช่วงเริ่มต้นเรื่องเงินทุนเป็นเรื่องใหญ่ที่ผมต้องบริหารให้ดีที่สุด ถ้าวันนั้นเงินติดขัดธุรกิจก็ไปต่อไม่ได้”
 “ถามว่าการตลาดสำคัญไหม เริ่มต้นแรกๆการตลาดยังไม่สำคัญเท่าไหร่ แค่อาหารดี บริการดี การบอกปากต่อปากช่วยให้ธุรกิจของเราไปได้ดีกว่าการทำตลาดเสียอีก ช่วงเริ่มต้นความรู้ทางธุรกิจจึงมีความสำคัญมาก ขั้นที่ 2 ต้องเริ่มทำการตลาดสินค้าจึงจะขายได้ทำให้คนรู้จัก ช่วงนี้การเงินจึงมีความสำคัญตกลงไป มาถึงขั้นที่ 3 การตลาดยิ่งเข้ามามีบทบาทสำคัญ คือการทำให้สินค้าเป็นที่แพร่หลายในหมู่ผู้บริโภค ขั้นที่ 4 เป็นช่วงที่เรียกว่า การทำการตลาดอย่างสมบูรณ์ หมายความว่าช่วงนี้เราสามารถโอนถ่ายการผลิตให้กับโรงงาน  หน้าที่อย่างเดียวของคุณขณะนี้คือลุยตลาด เพราะแบรนด์ของคุณเริ่มเป็นที่รู้จักแล้ว ใครจะเป็นผู้ผลิตสินค้าเหล่านี้ก็ได้ ขอเพียงยังมีคุณภาพเหมือนเดิมเท่านั้น  และขั้นที่ 5 จะเป็นขั้นตอนที่หวนกลับไปจุดเดิม  หมายความว่าเวลานี้คุณต้องเริ่มธุรกิจใหม่ สร้างสินค้าใหม่ขึ้นเพื่อรองรับการเปลี่ยนของตลาด”
 
จับช่องว่างของตลาด
 “ทุกวันนี้ ใครเห็นหน้าผมก็จะคิดถึงพิซซ่าทันที เพราะผมอยู่ในธุรกิจนี้มานาน  คำถามสุดฮิตที่คนชอบถามก็คือ แล้วจะไปสู้กับยักษ์ใหญ่ได้หรือ และไม่ว่าจะถามกี่ครั้งคำตอบของผมก็เหมือนเดิม ช่องวางของธุรกิจพิซซ่าที่ผมพบก็คือ เวลาจะทานพิซซ่าต้องไปที่ร้าน หรือสั่งมาทานที่บ้าน คุณต้องจ่ายเงินเท่าไหร่ในการทานแต่ละครั้ง ผมเปิดร้านพิซซ่าแบบบูทขนาดเล็กในห้างไม่มีที่นั่ง มีแต่ซื้อกับไปทานที่บ้าน แต่ที่แตกต่างจากที่อื่นก็คือ ขายเป็นชิ้น ใน 1 ถาดแบ่งออกเป็น 8 ชิ้น เพียงชิ้นเดียวคุณก็ซื้อกับบ้านได้ พอกับความต้องการ”
     “ผมเชื่อว่าผมเป็นส่วนเติมเต็ม ช่องว่างในตลาดพิซซ่า เป็นทางเลือกของคนที่อยากทานพิซซ่า แต่ไม่ต้องการทานมากแบบอาหารหนัก เป็นทางเลือกให้คนที่ยังไม่มีประสบการณ์ลองทานดู ผมสังเกตว่ายอดขายสาขาที่อยู่ในต่างจังหวัดสูงว่าในกรุงเทพฯ”
     “ตอนเริ่มทำธุรกิจใหม่ๆ ผมใช้วิธีขยายแป้งพิซซ่าในอากาศ มาเป็นตัวดึงดูดลูกค้า เป็นการสาธิตวิธีผลิตสินค้าให้ชมกัน สามารถดึงดูดความสนใจลูกค้าได้มากทีเดียว”
 
การเติบโตสู่ร้านสาขา
     การเปลี่ยนแปลงรูปแบบจากแผงลอยมาเป็นคีออสที่ทันสมัยก็เริ่มจากการที่ห้างให้การยอมรับและเชื่อถือในรูปแบบการขายของเรา ตอนนั้นมี Discount store  ยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งซึ่งกำลังบุกขยายสาขาในเมืองไทย มาเห็นรูปแบบร้านก็ชอบ จึงติดต่อให้ไปลงในห้างของทั้งที่เปิดแล้วและที่กำลังจะเปิดต่อไปทั้งหมด  นั่นเป็นที่มาของการขยายสาขา
     “ก่อนที่ผมจะขยายร้านอาหาร ผมรู้ดีว่าต้องมีอุปสรรคหลายอย่าง ต้องมีการเจรจาต่อรองเรื่องพื้นที่กับห้างสรรพสินค้า ต้องมีเงินจำนวนมากไว้ใช้หมุนเวียน ต้องสร้างทีมงานขึ้นมาใหม่ ต้องสร้างผู้จัดการใหม่ๆ เพื่อนำนโยบายไปถ่ายทอดให้กับพนักงานต่อไป
     จริงอยู่การทำธุรกิจมี 2 ด้าน ประสบความสำเร็จ และไม่ประสบความสำเร็จ แต่การทำธุรกิจของผม ผมเตรียมแผนรองรับความล้มเหลวไว้ล่วงหน้าเสมอ  หากเปิดให้บริการไประยะหนึ่งแล้วล้มเหลว ผมมีแผนสอง แผนสามรองรับอยู่ เพราะผมรู้ดีว่าคนประสบความล้มเหลวจากการทำธุรกิจ ส่วนหนึ่งมาจากความคิดที่ว่า ทำธุรกิจแล้วต้องประสบความสำเร็จ แต่ในความเป็นจริงจะมีสักกี่คน ในจำนวน 100 จะมีคนสอบผ่านไม่เกิน 20 คนแน่”
     “ผมทำธุรกิจมานาน ตั้งเป้าหมายในใจแล้วว่า ผมทำธุรกิจเพื่อประสบความสำเร็จ ไมใช่ความล้มเหลว แต่ผมต้องวางแผนการล้มเหลวไว้ตั้งแต่แรก และรู้ว่าจะแก้เกมส์อย่างไร ทุกวันนี้ผมทำตาแผนที่ผมวางไว้ ผมพยายามที่จะพัฒนาร้านอาหารของผมให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และขยายสาขาออกไป”

ปรับเปลี่ยนโครงสร้าง
  “การทำอะไรใหม่ๆ ต้องเริ่มจากการมีแนวคิดก่อนว่าจะทำอะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องรู้จริงเข้าใจจริง ถ้าเรามีความรู้ มีทักษะ แต่ไม่มีเงินทุน ก็ต้องรู้จักหาผู้ร่วมลงทุน และหลังจากที่ทำธุรกิจไประยะหนึ่งแล้ว เราก็ต้องหามืออาชีพเข้ามาเสริมทีม ต้องมีการวางแผนการจัดการที่ดี วางคนให้เหมาะสมกับงาน ดึงความสามารถของเขาออกมาใช้”
      การปรับเปลี่ยนโครงสร้างจากร้าน 1 แห่ง กลายเป็นร้านสาขาจำนวนมากนั้นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปก็คือ
     -โครงสร้างขององค์กรเป็น 3 ฝ่ายหลักๆ คือ
     1.ฝ่ายการตลาดซึ่งดูแลการขายสินค้าภายใต้แบรนด์ของเราซึ่งมี 3 แบรนด์ ผ่านช่องทางการขายในห้าง รวมถึงการดูแลและการขยายสาขาในรูปแบบแฟรนไชส์ และวางแผนงานด้านการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง
 2.ฝ่ายการเงิน ดูแลในเรื่องของงบประมาณด้านต่างๆของบริษัท วิเคราะห์และประเมินผลการดำเนินงาน รวมถึงคอยพิจารณาและทบทวนแผนการขยายและการลงทุนในอนาคต
 3.ฝ่ายปฏิบัติการ จะควบคุมดูแลในด้านการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพมาตรฐาน รวมไปถึงการพัฒนาบุคลากรในองค์กรให้มีความรู้ควบคู่กับมีจิตสำนึกรับผิดชอบ

ะบบงานในร้าน 
     ส่วนระบบงานในร้าน คีออสก็จะแบ่งเป็น 3 ระดับคือ
     1. คือผู้จัดการเขต หัวหน้าสาขา และพนักงาน โดยผู้จัดการเขตจะดูแลตั้งแต่ 5-10 สาขา ในทุกเรื่อง ตั้งแต่การสรรหาพนักงานเบื้องต้น (โดยปกติจะติดประกาศรับสมัครที่หน้าร้านเพื่อหาคนในพื้นที่ใกล้เคียง) ให้ความรู้และฝึกอบรมและคอยติดตามผลงานของร้าน และจะต้องเข้าประชุมเพื่อรายงานผลและรับนโยบายของบริษัทไปปฏิบัติต่อไป
 2.หัวหน้าสาขาจะดูแลในเรื่องการผลิตสินค้า การขาย การประมาณการสั่งของ การจัดเก็บวัตถุดิบ สต็อคสินค้าในร้าน และความสะอาดเรียบร้อยภายในร้าน
 3.พนักงานขาย จะทำหน้าที่ผลิตและขายสินค้า และเรียนรู้งานตามที่หัวหน้าสอน”
 นอกจากนี้มี่ส่วนการที่เปลี่ยนแปลงด้านอื่นๆอีก ที่สำคัญ ก็คือ
  -ส่วนงานด้านเอกสารสำคัญที่ร้านควรมีคือ ทุกสาขาจะรับเอกสารเป็นเล่มจากทางบริษัททุกเดือน เรียกว่าสมุดประจำร้าน ประกอบไปด้วยรายงานสต็อคสินค้า รายงานขาย รายการประมาณการสั่งของ รายงานการทำงาน รายงานการตรวจเยี่ยม รายงานการนำส่งค่าเช่า รายการค่าใช้จ่ายต่างๆ และรายงานการโอนเงินเข้าธนาคาร 
  -ระบบเทคโนโลยีที่จำเป็นในร้าน ปัจจุบันบริษัทใช้เครื่องคิดเงินในการบันทึกรายการขาย เพื่อนำมาตรวจสอบยอดเงินและสต็อคสินค้าคงเหลือ แต่มีข้อจำกัดคือการนำส่งข้อมูลกลับบริษัทมีความล่าช้า ทำให้อาจจะติดตามพฤติกรรมไม่พึงประสงค์บางประการได้ไม่ทันท่วงที
 บริษัทมีแผนที่จะลงทุนระบบ on line จากสาขาเข้าสู่ส่วนกลาง เพื่อการตรวจสอบควบคุมได้รวดเร็วและแม่นยำ
-การปรับปรุงการขนส่งรองรับร้านที่ขยายสาขานั้น บริษัทมีรถขนส่งของตัวเองที่บริการส่งสินค้าให้กับสาขาในกรุงเทพและปริมณฑล โดยของสดจะส่งกับรถตู้เย็นเพื่อรักษาคุณภาพสินค้า ส่วนของแห้งจะไปกับรถธรรมดา ส่วนสาขาต่างจังหวัดจะส่งทางเครื่องบินเป็นส่วนใหญ่

การอบรม หัวใจบริหาร 
     นอกจากความเข้าใจลูกค้าภายนอกแล้ว คุณศุภกิจเน้นเรื่องการอบรมเป็นอย่างมาก “ลูกค้าภายในก็ไม่ควรทิ้ง คือพนักงานของเรานั่นเอง ที่ต้องมีการอบรมอย่างต่อเนื่อง ส่วนมากหลายที่อาจจะมีการอบรม 1-2 ครั้งต่อปีเท่านั้น  ผมมีการอบรมพนักงานของผมประจำทุกสัปดาห์  การอบรมพนักงานไม่ใช่แค่ให้พนักงานรู้หน้าที่ของตัวเอง แต่เราควรถ่ายทอดความคิดของเจ้าของธุรกิจให้พนักงานได้รับรู้และเข้าใจตรงกันด้วย  ให้พนักงานรู้ว่าเจ้าของธุรกิจมีวัฒนธรรมในการทำธุรกิจอย่างไร เข้าใจทิศทางและความคิดของเจ้าของธุรกิจ ถ่ายทอดให้พนักงานรู้สึกเป็นเจ้าของธุรกิจนั้นด้วย  การอบรมจะเป็นประตูการสื่อสารระหว่างผู้บริการกับพนักงานที่ดีที่สุด”

การรักษาคุณภาพของสินค้า 
     เมื่อมีสาขามากขึ้น ทำอย่างไรจะผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและมีมาตรฐานอันเดียวกัน “เราจึงมาคิดค้นการผลิตพิซซ่ากึ่งสำเร็จรูปหรือ Pre-baked pizza จากโรงงาน เพื่อคงคุณภาพของสินค้าทุกร้าน การผลิตสินค้าจากโรงงานได้ผลเป็นที่น่าพอใจ สินค้ามีมาตรฐาน มีความสม่ำเสมอทุกชิ้นทุกอัน ทำให้ลดการพึ่งพาความสามารถและทักษะของพนักงานขายลงมาก
 
แผนการบุกขยายสาขาแฟรนไชส์ 
     “พิซซ่าทูเดย์ ธุรกิจนี้เป็นตัวผมเองร้อยเปอร์เซ็นต์ ผมมีความตั้งใจที่จะให้ธุรกิจนี้กระจายไปทั่วประเทศเร็วขึ้น” ปัจจุบัน พิซซ่าทูเดย์ ได้มีการขายแฟรนไชส์ไปแล้วเป็นจำนวน 10 ราย
 แผนงานใน 5 ปี  ต่อไปของพิซซ่า ทูเดย์ มีแผนที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ ดังนั้นการขยายธุรกิจจะมีการขยายไปในทุกๆจังหวัด และจะมีการขาย master franchise ให้กับบุคคลที่มีความเหมาะสม และทางบริษัทมีนโยบายในการขยายสาขาให้ทั่วประเทศ
 โดยเป้าหมายในการขยายสาขาในปี 2008 จะครบ 200 สาขา และโตต่อเนื่องอย่างน้อยปีละ 15%
 ในรูปแบบการลงทุนได้เป็น 2 รูปแบบคือ
1. รูปแบบ kiosk งบประมาณการลงทุนอยู่ที่ประมาณ 1,500,000 บาท (ทำเลในโมเดิร์นเทรด เช่น โลตัส คาร์ฟู บิ๊กซี โดยพื้นที่ คีออส ประมาณ 15 ตารางเมตร)

2. รูปแบบ Stand alone ตามสถานที่อื่นๆ เช่น ปั๊มน้ำมัน โรงเรียน มหาวิทยาลัย ย่านชุมชน รถไฟฟ้า อาคารสำนักงาน งบออกแบบและตกแต่งจะอยู่ที่ประมาณ 1,300,000
 รูปแบบ เป็นการลงทุนนี้ ผู้ลงทุนจะสามารถประกอบธุรกิจได้อย่างทันที รวมทั้งให้การช่วยเหลือหาทำเลให้กับแฟรนไชส์ ในร้านค้าซูเปอร์สโตร์ต่างๆ และ ทางทีมงานบริษัท พิซซ่าทูเดย์ จะมีพนักงานอย่างน้อย 1 คนอยู่บริการในร้านของแฟรนไชส์ ตั้งแต่ร้านเปิดดำเนินการเป็นระยะเวลา 1 เดือน
 ซึ่งหากท่านใดสนใจ สามารถ   ติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หมายเลข 02-978-8445 ต่อ 195
 หรือ 081-350-6201 นอกเวลางาน และ เสาร์ อาทิตย์


     
     

     

 

รับสมัครงานด่วนหลายตำแหน่ง more...
 
26 ก.พ.-1 มี.ค. 52 พบกับงานซื้อ-ขายธุรกิจครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งปี 52 งานโอกาสธุรกิจ&แฟรนไชส์ ครั้งที่ 13....
 
แบบสอบถามแฟรนไชส์ซี่ (รับสิทธิ์สมัครสมาชิกนิตยสารฯ ฟรี!! 1 ปี)
ถ้าไม่สามารถอ่านเอกสารได้
ดาวน์โหลดโปรแกรมที่นี่....
            
 
 
 

บริการงานเว็บไซค์

 

 
 
- ditto world
- music palace
- pompadour
- blink
- สังขยา กาแฟ
- big move
- โจเอลลี่ โมอีส
- จันทร์สว่าง