Revolutionary Press Agency : Online Journal and News Agency for Peace
สำนักสื่อปฏิวัติ  : วารสารข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
8 มิ.ย. 2554 กองหน้าประชาชนรุ่นใหม่ อนุสรณ์ สมอ่อน ตอบคำถามคาใจทำไมต้องปฏิวัติประชาธิปไตย? 
 
อุปสรรคความสำเร็จการปฏิวัติประชาธิปไตยในประเทศไทย ตอน ๑๖
 
เขียนโดย ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร โพส  ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ : ๐๒.๔๐ น.
 
คณะราษฎร-อุปสรรคของความสำเร็จของการปฏิวัติประชาธิปไตยในประเทศไทย
การปฏิวัติประชาชาติของคณะราษฎร (2)
ความเสมอภาคทางเศรษฐกิจระหว่างเศรษฐีกับคนจน
 
 
                     (ต่อจากตอนที่แล้ว)
 
                     
 
           นี่คือตัวอย่างของสนธิสัญญาใหม่ที่คณะราษฎรได้แก้ไขกับต่างประเทศ และในการแถลงเรื่องนี้ต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๐ อาจารย์ปรีดีในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้แถลงว่า “ ในประเทศของเขา เราได้ขอร้องที่จะได้ฐานะของคนไทยในประเทศของเขานั้น ได้รับสิทธิในฐานที่เขาได้รับอนุเคราะห์ยิ่งเท่าเทียมกับคนต่างด้าวของประเทศเหล่านั้นได้รับสิทธิในฐานที่เขาได้รับอนุเคราะห์ยิ่ง”

           การที่ต่างฝ่ายได้รับสิทธิในฐานที่ได้รับอนุเคราะห์ยิ่ง (ภาษาการทูต) เช่นนี้ตามตัวหนังสือย่อมแสดงความเสมอภาคทางเศรษฐกิจระหว่างเศรษฐีกับคนจน ก้คือให้โอกาสแก่เศรษฐีเอาเปรียบคนจน และคนจนเสียเปรียบเศรษฐี การปฏิบัติความเสมอภาคดังกล่าว ก็จะมีแต่คนอังกฤษ คนญี่ปุ่นเท่านั้นมาประกอบเศรษฐกิจในประเทศไทย  แต่ไม่มีคนไทยไปประกอบเศรษฐกิจในอังกฤษและในญี่ปุ่น ผลของการแก้ไขสนธิสัญญาดังกล่าว ก็คือไทยเสียเปรียบทางเศรษฐกิจต่อมหาอำนาจหหนักลงทุกทีดังที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน  แต่การแก้ไขสนธิสัญญาให้ดีขึ้นด้วยตัวหนังสือก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเสียเลย  และความจริงในขณะนั้นคณะราษฎรก็คงจะทำได้เพียงแค่นั้น และการแก้ไขสนธิสัญญาในด้านเศรษฐกิจก็ไม่ใช่ปัญหาเอกราชหรือปัญหาเมืองขึ้น ปัญหาเอกราชหรือปัญหาเมืองขึ้นอยู่ที่ด้านการเมือง คือเมื่อต่างประเทศหมดสิทธิถอนคดีไปจากประเทศไทยโดยสิ้นเชิง ประเทศไทยก็เป็นประเทศเอกราชสมบูรณ์ แม้ว่าทางเศรษฐกิจจะยังขึ้นต่อและเสียเปรียบต่างประเทศอยู่ก็ตาม

           ด้วยเหตุนี้ในการพูดถึงการปฏิวัติประชาชาติของคณะราษฎรในตอนก่อน ผมจึงพูดแต่ส่วนสำคัญเพียงส่วนเดียว  คือการทำให้ต่างประเทศสละสิทธิถอนคดีจากศาลไทย  ซึ่งเรื่องนี้ญี่ปุ่นทำเสร็จก่อนไทยตั้งแต่ประมาณ 100 ปีก่อนพร้อมกับทำให้อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนสำเร็จด้วย นี่คือต้นเหตุที่พอมาถึงวันนี้ ญี่ปุ่นก็ทิ้งไทยจนกู่ไม่ได้ยิน ทั้งๆที่สมัยพระนเรศวรญี่ปุ่นต้องมาขอซื้อปืนจากไทย  สมัยพระนารายณ์ไทยมีอาสาญี่ปุ่น และสมัยรัตนโกสินทร์นี่เองญี่ปุ่นยังต้องมาซื้อเรือกลไฟซึ่งไทยต่อเองไป 2 ลำ

           อย่างไรก็ดี การที่ผมพูดถึงการแก้ไขสนธิสัญญาทางเศรษฐกิจให้เกิด “ความเสมอภาค” ของคณะราษฎรตามที่กล่าวมานี้ โปรดอย่าเข้าใจว่าผมคัดค้านการแก้ไขสนธิสัญญาที่มหาอำนาจทำผูกมัดไทยมาแต่ก่อนผมสนับสนุนอย่างเต็มที่ในการแก้ไขสนธิสัญญาทางเศรษฐกิจให้เสมอภาค แต่ไม่ใช่เสมอภาคอย่างของคณะราษฎร และก็ไม่ใช่วิจารณ์คณะราษฎรในการทำสนธิสัญญาเสมอภาคทางเศรษฐกิจแบบนั้น เพราะผมรู้อยู่ว่าเมื่อคณะราษฎรทำการปฏิวัติประชาธิปไตยตามลำพังโดยไม่ร่วมมือกับประชาชน ก็ย่อมจะทำสนธิสัญญาเสมอภาคทางเซรษฐกิจได้เพียงแค่นั้น  ผมไม่ได้วิจารณ์คณะราษฎรในประเด็นนี้

           แต่ผมวิจารณ์คณะราษฎรในประเด็นที่ไปยกย่องเชิดชูสนธิสัญญา “เสมอภาค” แบบนั้นเสียลอยเลิศ ถือเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของการปฏิวัติ (หรือการอภิวัฒน์) และนำไปปลูกฝังให้คนรุนหลังยึดถือสืบต่อกันมาเป็นแบบอย่างที่ถูกต้อง ยังผลให้ผู้ปกครองประเทศรุ่นต่อๆมาจนถึงปัจจุบันมองเห็นความเสียเปรียบแก่ต่างประเทศเป็นความเสมอภาคกับต่างประเทศไป ผมวิจารณ์คณะราษฎรในการปลูกฝังความคิดที่ผิดพลาดเช่นนี้เท่านั้น  ไม่ใช่วิจารณ์การแก้ไขสนธิสัญญาของคณะรษษฎรในครั้งนั้น  เพราะผมไม่สามารถจะเรียกร้องให้คณะราษฎรทำในสิ่งที่เกินกำลังที่ตนจะทำได้ในครั้งนั้น

           ทั้งนี้ก็เพื่อให้คนรุ่นหลังได้พิจารณาว่าการที่คณะราษฎรยกย่องการแก้ไขสนธิสัญญา “เสมอภาค” ทางเศรษฐกิจเสียเลิศลอย และปลูกฝังกันมาเป็นเวลายาวนานนั้น  เป็นสิ่งที่ควรสลัดทิ้งเสีย ไม่ควรยึดถือเป็นแบบฉบับอีกต่อไป เพราะนั่นคือ อุปสรรคสำคัญประการหนึ่งของความสำเร็จของการปฏิวัติประชาธิปไตยในประเทศไทย

           นอกจากคำทักท้วงในเรื่องแก้ไขสนธิสัญญาแล้ว ยังมีคำทักท้วงอีกเรื่องหนึ่งคือตอนที่ผมเขียนไว้ว่าคนไทยต่อต้านญี่ปุ่นพร้อมเพรียงกันโดยไม่ได้นัดหมาย ผมไม่เห็นว่ามีคนไทยคนใดไม่ต่อต้านญี่ปุ่น และไม่เห็นว่าด้วยกับข้อกล่าวหาที่ว่าคนนั้นคนนี้เป็นควิสลิงเมืองไทย  เมืองไทยไม่มีควิสลิง มีแต่คนต่อต้านญี่ปุ่น (ควิสลิง คือผู้ทรยศชาวนอรเวย์สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นผู้ร่วมมือกับเยอรมัน และเป็นประธานาธิบดีของรัฐหุ่นเยอรมัน  หลังสงครามถูกประหารชีวิตฐานอาชญากรสงคราม) โดยเฉพาะประโยคที่ผมเขียนว่า “ คนไทยในคณะรัฐมนตรีที่ไม่เห็นด้วยกับการประกาศสงครามก็ต่อต้านญี่ปุ่น คนไทยในคณะรัฐมนตรีที่ประกาศสงครามก็ต่อต้านญี่ปุ่น” (แต่ประโยคหลังพิมพ์ตกทั้งประโยค แต่ก็อ่านรู้เรื่องจากข้อความประโยคต่อๆไป) พูดให้ชัดคือ ผมหมายความว่า จอมพลป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และหลวงวิจิตรวาทการรัฐมนตรีต่างประเทศ ผู้ดำเนินการโดยตรงในการประกาศสงครามกับอังกฤษและอเมริกาก็ต่อต้านญี่ปุ่นเหมือนกัน และผมอ้างว่า ผมพูดเช่นนี้ในฐานะเป็นคนวงในคนหนึ่งในการปกครองสมัยนั้น และสนิทสนมพิเศษกับนายกรัฐมนตรีต่างประเทศ (และกับท่านวรรณหรือกรมหมื่นนราธิปฯ อีกองค์หนึ่งด้วย) บางคนท้วงว่า ผมพูดอย่างนั้นเป็นการบิดเบือนประวัติศาสตร์ แต่ผมพูดจากเหตุการณ์ที่ผมได้ประสบด้วยตนเอง

           ฉะนั้น ก่อนที่ผมจะพูดถึงการต่อต้านญี่ปุ่นของคณะราษฎรภายใต้การนำของรัฐบาลนายควงต่อจากฉบับที่ 88 ผมขอตอบข้อทักท้วงข้อนี้สักเล็กน้อย
 
           แต่เพื่อให้ปัญหานี้ชัดเจนยิ่งขึ้น ผมเห็นว่าจำเป็นจะต้องเล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างผมกับ จอมพลป. กับหลวงวิจิตรฯและกับท่านวรรณ ซึ่งเป็นเหตุให้ผมได้รู้ตื้นลึกหนาบางในปัญหาต่างๆของการเมืองจากท่านเหล่านั้นในสมัยนั้น
 
           ผมมีความสัมพันธ์กับจอมพลป.พิบูลสงครามเมื่อพ.ศ. 2478 ในขณะที่ท่านมียศเป็นนายพันเอก มีตำแหน่งการเมืองเป็นรัฐมนตรีกลาโหม ผมเรียนปี 2 อักษรศาสตร์และเป็นบรรณาธิการปีที่ 2 ของนิตยสาร “มหาวิทยาลัย” ของสจม. โดยมีเพื่อนคนหนึ่ง พาไปพบ เขาบอกว่าเป็นญาติฝ่ายท่านผู้หญิงละเอียด และว่าคุณหลวงฯ อยากพบผม ผมจึงไปพบที่บ้านในกรมปตอ. เป็นเรือนไม้ดูเหมือนจะมุงสังกะสี เดี๋ยวนี้รื้อเสียแล้วจำไม่ได้ ขณะนั้นท่านผู้หญิงยังสาว คุณจิรวัส คุณรัชนีบุล คุณประสงค์ยังเป็นเด็กๆ ผมก็เป็นเด็กเหมือนกัน แต่โตกว่าเพราะเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว รู้สึกว่าครอบครัวคุณหลวงฯให้ความเป็นกันเองแก่ผมอย่างมาก แล้วคุณหลวงฯก็บอกผมว่าคุณปรีดี (หรือท่านเรียกอะไรแน่ผมจำไม่ชัด) เขาตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฯ ท่านจึงต้องเข้ายึดจุฬาฯ ขอให้ผมร่วมมือ ผมรับปาก โดยไม่ได้นึกอะไรมากในด้านการเมือง รู้สึกแต่ว่าเมื่อผมร่วมมือกับคุณหลวงฯก็คงจะช่วยผมในเรื่องการงานของสจม. นี่คือจุดเริ่มต้นที่ผมกลายเป็นแขกประจำบ้านของหลวงพิบูลฯและรู้สึกว่าสนิทสนมกันมากจริงๆ มีอะไรคุยกันหมด

           แต่ทางอาจารย์ปรีดี ผมก็มีความสัมพันธ์อยู่บ้าง เช่นไปพบท่านที่บ้านสีลม ขอความรู้จากท่าน โดยเฉพาะในเรื่องการต่างประเทศ เพราะท่านเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศอยู่ เพื่อนำมาเขียนลง “มหาวิทยาลัย” บางครั้งผมก็ขอสัมภาษณ์ท่านเอามาลง “มหาวิทยาลัย” ก็มี แต่เป็นความสัมพันธ์เพียงรู้จักไม่สนิทสนมเหมือนหลวงพิบูลฯ

           ปีต่อมาผมเป็นนายกสจม. ตั้งใจจะทำอะไรให้มันใหม่ๆกว่านายกคนก่อนๆ หลวงพิบูลฯบอกว่าจะเอาอะไรให้บอก ฉะนั้นเรื่องที่ผมคิดทำขึ้นใหม่ๆสำหรับ สจม.ตลอดจนเรื่องเดิมที่จะทำให้ดีขึ้น จึงได้รับความช่วยเหลือจากคุณหลวงฯไม่อั้น บางครั้งผมจัดให้เลี้ยงน้ำชานิสิตทั้งมหาวิทยาลัยกลางสนาม ซึ่งตอนนั้นจำนวนนิสิตทั้งชายหญิงก็กว่า 2,000 คนแล้ว ผมได้รู้ในขณะนั้นเองว่า กระทรวงกลาโหมนี่มีเครื่องใช้ไม้สอยมโหฬารเหลือเกิน พอบอกว่าจะเลี้ยงน้ำชาทั้งมหาวิทยาลัยพรึ่บเดียวก็เต็มสนาม วัตถุอุปกรณ์ในการเลี้ยงน้ำชาพร้อมสรรพทุกอย่าง พล ท.ประยูร ภมรมนตรี ขณะเป็นร.ท.ดูเหมือนจะเป็นเลขาฯรัฐมนตรีกลาโหมหรืออะไรผมก็ไม่ได้สนใจ เป็นผู้มาจัดการดูแลให้อย่างเรียบร้อย ผมเองไม่ได้นึกอะไรนอกจากจะทำงานของสจม.ครึกครื้นและนิสิตได้สนุกกัน จึงไม่ได้มองว่าอิทธิพลของคุณหลวงค่อยๆคลุมจุฬาฯเข้ามาในขณะที่อาจารย์ปรีดียึดธรรมศาสตร์ไว้อย่างมั่นคง  แล้วต่อมาหลวงพิบูลฯได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการบดีจุฬาลงกรณ์หมาวิทยาลัยคู่กับอาจารย์ปรีดี ซึ่งเป็นผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง  ผมก็งงเหมือนกัน เพราะแต่ก่อนอธิการบดีจุฬาฯเป็นครูบาอาจารย์ทั้งนั้น จู่ๆกลายเป็นทหารจึงนึกขึ้นได้ว่า คุณหลวงได้บอกผมตั้งแต่แรกพบกันว่า ท่านจะต้องยึดจุฬาฯแข่งกับคุณปรีดีที่ธรรมศาสตร์ฯ

           พอสิ้นปี 2479 ผมเรียนจบออกจากจุฬาฯไปเป็นครูสวนกุหลาบ จึงหมดเรื่องในการติดต่อกับหลวงพิบูลฯ และผมก็ไม่ได้ไปพบท่านอีกเลย จนท่านเป็นนายกรัฐมนตรีย้ายจากบ้าน ปตอ. ไปอยู่วังสวนกุหลาบแล้วย้ายไปอยู่ทำเนียบสามัคคีชัย และเป็นผู้เผด็จการเต็มตัว

           หัวค่ำวันหนึ่ง พ.ศ. 2485 ผมนั่งฟังวิทยุอยู่ ได้ยินข่าวประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีตั้งผมเป็นกรรมการคนหนึ่งในคณะกรรมการชุดที่กล่าวข้างต้น  หมายความว่าจอมพลป.ตั้งผมในฐานเป็นคนเก่า จึงไม่ได้บอกผมก่อน ตอนบ่ายเกือบทุกวันผมต้องงดสอนที่สวนกุหลาบ ไปประชุมคณะกรรมการที่ทำเนียบ ซึ่งจอมพลป.เป็นประธานเอง เลี้ยงอาหารเหล้ายาบริบูรณ์ และจมื่นมานิดฯนำนักแสดงต่างๆ จากกรมศิลปากรมาแสดง ทำเนียบสามัคคีชัยดูคล้ายๆกับราชสำนักของรัชกาลที่ 6 ที่ได้ยินได้ฟังมา ผมเห็นสภาพเช่นนี้อยู่พักหนึ่งก็ไม่พอใจ แต่ก็ต้องมาประชุมทุกครั้งตามหน้าที่ และได้มีโอกาสฟังเรื่องต่างๆ จากจอมพลป.ทั้งในที่ประชุมและนอกที่ประชุม เพราะผมสนิทสนมกับท่านมาก่อน ต้องการรู้อะไรก็ถามท่าน ท่านเดินไปเดินมาหรือไม่ก็นอนเอกเขนกบนเก้าอี้โยกกับพวกเราจนดึกดื่นเสมอ คนนั้นแหละคือผู้นำในยุค “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย”
 
           แต่ถึงท่านจะเผด็จการอย่างไร เท่าที่ผมได้รู้ได้เห็นจากท่านเอง และจากกรณีแวดล้อมอื่นๆผมก็เห็นว่าจอมพลป.ต่อต้านญี่ปุ่นคนหนึ่งเหมือนกัน และท่านจะต่อต้านของท่านวิธีไหนอย่างใดก็แล้วแต่ ผมยังเห็นว่าจอมพลป.ไม่ใช่ควิสลิงเมืองไทย นี่ผมไม่ได้พูดด้วยอคติที่เคยสนิทสนมส่วนตัวมา ผมเชื่อว่าผมพูดด้วยการทำใจให้เป็นกลาง
 
             

 
  
       
             
 
 
 
 
 
 
 
 

              
 
 
 
               (อ่านต่อตอนหน้า)
 
 
 
 
 
             อ่านย้อนหลัง...
 
 
 
 
 
 
 



Webboard is offline.