Revolutionary Press Agency : Online Journal and News Agency for Peace
สำนักสื่อปฏิวัติ  : วารสารข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
8 มิ.ย. 2554 กองหน้าประชาชนรุ่นใหม่ อนุสรณ์ สมอ่อน ตอบคำถามคาใจทำไมต้องปฏิวัติประชาธิปไตย? 
ไทยไตรยางคธรรม ตอน ๒
บทความพิเศษเรื่อง...   
 
สำนักสื่อปฏิวัติ - Revolutionary Press Agency (RPA)
เขียนโดย นางแก้ว โพส  ๑๓ ธ.ค.๒๕๕๒: ๐๒.๐๐ น.
เผยแพร่ครั้งแรก ๒๕ พ.ค.๒๕๔๙ 
 
“   ธรรมนูญชีวิต VS การร่างรัฐธรรมนูญที่ไร้ชีวิต – 75 ปีแห่งสัญญาจองจำการยื้อแย่งอำนาจ (ตอน 2)”  
 
              
 
               ปรากฏการณ์ประชาพิจารณ์หลอกลวง
              
               ขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติได้เคยชี้แจงว่าขบวนการเผด็จการในประเทศไทยมีสองกลุ่มและได้ทำการ
อธิบายถึงเภทภัยอันเกิดจากสองกลุ่มนี้เป็นระยะ ๆ   ครั้งนี้ประชาชนจึงพึงทำความเข้าใจว่าขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญภัยต่อเนื่องจาก 2 ขบวนการ 
1  ขบวนการลัทธิรัฐธรรมนูญนิยม อันเป็นเผด็จการรัฐสภาสืบทอดผ่านมรดกคณะราษฎร
2  ขบวนการคอมมิวนิสต์ 
                
               ขณะนี้นักวิชาการและนักเคลื่อนไหวสายคอมมิวนิสต์กำลังใช้แนวทางรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือเพื่อ
ทำลายรัฐบาลปัจจุบันและใช้นักวิชาการสายรัฐธรรมนูญนิยมเป็นแนวร่วมมุมกลับ    ด้วยการกำหนดยุทธศาสตร์การร่างรัฐธรรมนูญคู่ขนานกับรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ตามทฤษฎีการดวลอำนาจ (Dual Power)    มีการโจมตีข้อด้อยต่างๆ ของการร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้  นำโดยองค์การจัดตั้งเช่นครป.   ปรากฏการณ์การเร่งตรวจสอบโดยองค์การจัดตั้งอุปโลกต่างๆ ผุดขึ้นมาเป็นระลอกๆ   ราวหม้อดินถ่วงน้ำเปิด   การเรียกร้องหาสิทธิมนุษยชนโดยนักวิชาการสายคอมมิวนิสต์อย่างอ.ใจ อึ้งภากรณ์  เคลื่อนไหวดาหน้า อย่างเป็นระบบ  พยายามปิดล้อมในทุกวิถีทางให้การร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้พังลง

             มีการตั้งประเด็นถามถึงรูปแบบการเลือกตั้งว่าจะกระทำได้เร็วขนาดไหน เพียงไร สอดรับกับความพยายามแทรกแซงการเมืองไทยโดยอเมริกันที่เสนอเงื่อนเวลา 4 เดือนสำหรับการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้ทันกับการเลือกตั้ง

             เมื่อมีการเรียกร้องการมีส่วนร่วมของประชาชนมากเข้าๆ  การสนองตอบของนักรัฐธรรมนูญนิยมผู้ไม่รู้จักหลักการประชาธิปไตยดีพอคือ   การเร่งกำหนด”รูปแบบ” การทำประชาพิจารณ์เพื่อบอกว่านี่คือขั้นตอนของประชาธิปไตยแบบที่ประชาชนมีส่วนร่วม   แท้จริงแล้วการทำประชาพิจารณ์ควรเป็นหน้าที่ของพรรคการเมืองในการกำหนดได้มาซึ่งข้อมูลเพื่อนำมาประมวลเป็นหลักวิชาเพื่อนำมาเสนอต่อสภาที่ในการกำหนดนโยบาย   แต่เป็นเพราะพรรคการเมืองในประเทศไทยเป็นพรรคการเมืองในประเทศไทยขาดนักวิชาการประจำพรรค   จึงเกิดกลายเป็นช่องทางให้เกิดมหกรรม “เร่ง” ทำประชาพิจารณ์ขึ้นด้วยการใช้งบประมาณแผ่นดินเดินสายออกต่างจังหวัด  

               จากข้อด้อยเช่นนี้เองนักวิชาการกลุ่มนี้จึงยังไม่รู้ตัวว่ากำลังตกเป็นแนวร่วมมุมกลับของคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยที่หวังจะเห็นการพังพินาศของการร่างรัฐธรรมนูญและรัฐบาลชุดปัจจุบัน

              ปรากฏการณ์การทำประชาพิจารณ์โดยรูปแบบและไร้เนื้อหา  จึงกลายเป็นการตบตาประชาชนอีกครั้ง  ไม่ต่างจากการตบตาว่าประชาธิปไตยคือการกำหนดรูปแบบการเลือกตั้งฉันใดฉันนั้น 

              ในทัศนะของขบวนการประชาธิปไตยซึ่งมิได้ถือรัฐธรรมนูญเป็นสรณะ  ไม่ถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่เพราะได้นำเสนอไปทุกครั้งแล้วว่าลัทธิรัฐธรรมนูญมิใช่ลัทธิประชาธิปไตย   ร่างกี่ครั้งๆ ก็นำสู่หายนะ  และครั้งนี้จะเป็นการพังอย่างไม่เป็นท่า หากไม่สร้างประชาธิปไตยตามหลักวิชาและนโยบายให้สำเร็จ 

               ธรรมนูญชีวิต VS รัฐธรรมนูญที่ไร้ชีวิต
               
              อุดมการณ์การมีชีวิตอยู่ร่วมกันของคนในสังคมสูงสุดก็คือความมั่นคงแห่งชีวิต  ความมั่นคงสูงสุดของมนุษย์คือความมั่นคงทางจิตวิญญาณที่สูงกว่าความมั่นคงทางอารมณ์และความรู้สึก  ความมั่นคงทางอารมณ์และความรู้สึกสูงกว่าความมั่นคงทางกายภาพที่เกิดจากการได้ครอบครองปัจจัยสี่ทั้งหลาย    ส่วนวัฒนธรรมไทยนั้นพัฒนามาจากหลักธรรมและหล่อหลอมด้วยพุทธศาสนาอันเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่สามารถปฏิเสธได้   วัฒนธรรมดั้งเดิมจึงเป็นตัวกำหนดสังคมไทยที่เป็นสังคมแห่งจิตวิญญาณ

               แล้วเจตนารมณ์ของการร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน  เข้าถึงความมั่นคงระดับใดในวิถีชีวิตมนุษย์ ?  สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรม วิถีชีวิตและประวัติศาสตร์ไทยหรือไม่อย่างไร ?

               การเลือกมีชีวิตอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์ในสังคมใดๆ  จำเป็นต้องมีข้อตกลงร่วมกัน   เป็นเรื่องของสามัญสำนึกของมนุษย์ในการปรับประยุกต์วิถีชีวิตตนให้สอดคล้องกับผู้ที่จะมาใช้ชีวิตด้วยกัน   เฉกเช่นการตกลงมีชีวิตคู่ของสามีภรรยา  การปฏิบัติต่อกันและกติกาโดยรวมเป็นการกำหนดขึ้นระหว่างคนสองคน    ในครอบครัวหนึ่งๆ ขยายสู่ระดับหมู่บ้าน ระดับชุมชน สู่ระดับประเทศตามจำนวนสมาชิกในสังคมนั้นๆ    ข้อตกลงเหล่านี้เราเรียกว่า “ธรรมนูญชีวิต”  คือร่วมใช้ธรรมนูญแห่งชีวิตร่วมกัน      ธรรมนูญชีวิตจึงเป็นการกำหนดรูปแบบความสัมพันธ์และกติกาในการอยู่ร่วมชีวิตกันนั่นเอง

              ”.... คนสมบูรณ์แบบ หรือมนุษย์โดยสมบูรณ์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นสมาชิกที่ดีมีคุณค่าอย่างแท้จริงของมนุษยชาติ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นคนเต็มคน ผู้สามารถนำหมู่ชนและสังคมไปสู่สันติสุขและความสวัสดี....”

               ในหนังสือ ธรรมนูญชีวิต ท่านปยุตโตอธิบายการกำหนดระบบความสัมพันธ์ของคนในสังคมและกติกาการอยู่ร่วมกันของคนต่างชนิดกันอย่างชาญฉลาด  และอ้างถึงหนังสือเล่มนี้ในความหมายที่เรียบง่ายว่าเป็น “มาตรฐานชีวิตของชาวพุทธ”  ไว้อย่างแหลมคมสมกับตำแหน่งปราชญ์แห่งแผ่นดิน

                ในภาษานักปฏิวัติคำว่า “จัดตั้ง” เป็นคำที่ใช้กันทั่วไปในหมู่นักเคลื่อนไหวเพื่อเผยแพร่ลัทธิความเชื่อ  ไม่ว่าจะเป็น “ นักจัดตั้ง” แบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์หรือนักจัดตั้งแบบประชาธิปไตย     มีข้อเท็จจริงหนึ่งที่ทุกคนต้องยอมรับคือ “ การจัดตั้ง “ ของพระพุทธองค์นั้นมีมาก่อนใคร    การจัดตั้งของพระพุทธองค์เกิดขึ้นโดยธรรมชาติผ่านปัญจวัคคีย์และดำรงสืบทอดเป็นสถาบันสงฆ์จวบจนปัจจุบัน    และปฏิเสธไม่ได้ว่า “ ธรรมสภา” ของพระสงฆ์มีมาก่อนสภาสว.และ/หรือสภาสว.ที่นำรูปแบบมาจากตะวันตก 

                  ฟังดังนี้อาจทำให้เกิดหลายต่อหลายคำถามผุดขึ้นมา  ทำไม่ไม่ใช้วิธีการของปราชญ์ราชบัณฑิตในการทำความเข้าใจปัญหา ?  ทำไมนำเอานักกฎหมายมาออกแบบสังคม  ? ทำไมไม่ระดมหาปราชญ์ที่เข้าใจชีวิตมนุษย์มาร่วมกันกำหนด “มาตรฐาน” ของการมีชีวิตร่วมกัน?  ทำไมไม่ริเริ่มนำตัวแทนประชาชนมามีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ?

                  แท้จริงแล้วได้มีความพยายามจะทำดังนี้แล้วในรัชสมัยของรัชกาลที่ 7 ที่ทรงมีพระราชดำริให้มีการตั้งสภาปวงชนขึ้นเพื่อทำงานสานต่อกับสภาองคมนตรีแต่เป็นที่น่าเสียดายที่มาถูกขัดขวางเสียก่อน

                  ตลอดระยะเวลา 75 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยจึงตกอยู่ในสภาพศพที่ถูกมัดตราสังข์จิตวิญญาณถูกกักขังด้วยมนตร์สะกดของหมอผีชั้นดีไม่ยอมให้ได้ผุดได้เกิด    มิใช่ความเปรียบที่เกินจริงแต่อย่างใดแต่นี่คือภาพสะท้อนสภาพการขัดแย้งอย่างยิ่งที่ประเทศไทยมีกฎหมายรัฐธรรมนูญที่มีวิธีคิดแบบตะวันตกแบบไร้ชีวิตมาถึง 17 ฉบับ กฎหมายที่ใช้บังคับ คุ้มครอง และคุกคามประชาชนในประเทศไทยสวนทางกับวิวัฒนาการทางสังคมอย่างสิ้นเชิงอย่างไม่น่าให้อภัย   เพราะในข้อเท็จจริงสังคมต้องก้าวไปข้างหน้า กฎหมายย่อมต้องมาทีหลัง นั่นคือสัจธรรมคือกฎเกณฑ์ 

                กฎหมายแม่สูงสุด (Supreme Law) และกฎหมายหลัก (Principle Law)  โดยมีกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นแกนนั้นจะต้องสามารถสถาปนาความมั่นคงแห่งชาติได้และความมั่นคงสูงสุดที่กฎหมายรัฐธรรมนูญจะบันดาลให้เกิดได้ก็คือความมั่นคงของมนุษย์ด้วยกัน  และความมั่นคงสูงสุดของมนุษย์ในฐานะปัจเจกก็คือความมั่นคงทางจิตวิญญาณนั่นเอง

                  บุคคลที่จะเข้าถึง “ กฎเกณฑ์”  แห่งจิตวิญญาณมนุษย์ได้ย่อมมิใช่ผู้ศึกษาภูมิปัญญาตะวันตกมา ย่อมต้องเป็นผู้รู้จักรากเหง้า และวัฒนธรรมเดิมของคนไทย   เหนืออื่นใดต้องเข้าใจว่าวัฒนธรรมไทยพัฒนามาจากจิตวิญญาณของคนไทย  และหากเป็นไปได้ผู้นำทางจิตวิญญาณที่เข้าใจธรรม เข้าถึงธรรม และพร้อมจะร่วมเข้ามากำหนดแนวทางและหลักการที่สมควรแก่เหตุของการสร้างประชาธิปไตยในประเทศไทย     
ประชาธิปไตยแบบไทยพัฒนามาจากจิตวิญญาณ
 
                 สังคมไทยเป็นสังคมที่มีพื้นฐานมาจากปรัชญาและศาสนาพุทธ  เป็นลักษณะพิเศษของสังคมจิตวิญญาณ 
 “ การยังประโยชน์ตน และยังประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อม ” ตามบทปัจฉิมโอวาทของพระบรมศาสดาในวันเสด็จปรินิพพาน คือประโยคมหาปัญญาของชาวพุทธและเป็นความเชื่อพื้นฐานของสังคมไทยมาโดยตลอด    สังคมไทยไม่ได้สอนหรือสั่งสมให้ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิ์ของปัจเจกชน (Individuality)  แต่ให้คำนึงถึงส่วนรวมด้วย   สังคมไทยจึงมีความยืดหยุ่นสูงและมีความขัดแย้งน้อยกว่า   คนไทยนั้นโดยพื้นฐานแล้วถ้าไม่ถึงขั้นถูกกลั่นแกล้งจนถึงที่สุดก็คงไม่ออกมาเรียกร้องหาสิทธิ์อะไร  เพราะไม่ใช่คุณสมบัติที่คนไทยถนัดนัก

                  นอกจากนี้ยังมีข้อได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์  วัฒนธรรมนี้เกิดขึ้นในประเทศอันอุดมถึงพร้อมด้วยโภคทรัพย์  มีทรัพยากรพรั่งพร้อม มิจำเป็นต้องแสวงหาวัตถุเพิ่มเพื่อนำมาซึ่งการปกป้องสิทธิและผลประโยชน์เฉกเช่นประเทศที่มีความ “ พร่อง “ ทั้งหลาย    ประชาชนจึงแสวงหาความสุขทางใจมากกว่าความสุขทางกาย และพัฒนาสูงสุดถึงขั้นแสวงหาอุดมการณ์สูงสุดของเผ่าพันธุ์มนุษย์มากกว่าการแสวงหาปัจจัยบริโภคพื้นฐาน    การพัฒนาสู่ระดับปัญญาสูงสุดของมนุษย์อันเป็นฐานรากต่อความมั่นคงของมนุษย์จึงเกิดขึ้นในดินแดนแถบนี้ มิใช่ในโลกตะวันตก

                  มรดกทางความคิดนี้สืบสานผ่านสถาบันสงฆ์มาโดยตลอด ดั่งคำปรารภของท่านพุทธทาสภิกขุ ปราชญ์แห่งยุคสมัยอีกท่านหนึ่ง ในหนังสือชื่อ อตัมมยตากับสันติภาพว่า...
 
                 “ ธรรมะเป็นปัจจัยที่ห้าของชีวิต แต่เราสนใจกันเพียงปัจจัยสี่ทางวัตถุ สำหรับร่างกาย  ชีวิตที่ขาดปัจจัยที่ห้านั้นเป็นชีวิตที่ตายแล้ว  และเป็นความสูญเสียยิ่งไปกว่าการตายทางร่างกายเพราะขาดปัจจัยสี่อย่างที่จะเปรียบกันไม่ได้เลย  ความมีชีวิตที่ปราศจากธรรมะนั้น  เป็นความทุกข์ของแต่ละคน  และจะทำอันตรายแก่กันและกัน  จนกระทั่งถึงระดับมิคสัญญีเป็นที่สุด”
                  
 

                   สัญญานิยม VS ปัญญานิยม....จะออกแบบสังคมอย่างไรหากไม่เข้าใจชีวิตตนเอง
 
                   เมื่อไม่รู้จุดมุ่งหมายของการมีชีวิต ไม่รู้จักชีวิตคนอื่นรอบตัวและไม่รู้ระบบความสัมพันธ์ของตัวเองต่อผู้อื่นเลย    จึงไม่รู้ว่าจะกำหนดบทบาทตนเองต่อผู้อื่นได้อย่างไร   

                   นี่คือบทเรียนของประเทศไทยต่อทางเลือก 2 วิถีระหว่าง “ สัญญานิยม ” หรือ “ ปัญญานิยม”  หากผู้ร่างรัฐธรรมนูญเปรียบเสมือนผู้ออกแบบสังคม  ร่างวิถีชีวิตให้คนทั้งประเทศ   ก็ต้องเป็นผู้รอบรู้ ไม่ใช้สัญญาเดิม   แต่ต้องใช้ปัญญาในการทำความเข้าใจปัญหาบ้านเมือง และต้องมีปัญญาอันเอกอุที่จะเข้าใจวิถีแห่งชีวิต    รัฐธรรมนูญฉบับนั้นจึงจะศักดิ์สิทธิ์ (สำเร็จประโยชน์) 

                  มิจำเป็นต้องอ้างความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายฉบับใดในโลก  หากผู้ออกแบบสังคมนั้นไม่รู้จักรากเหง้าแห่งปัญหาในสังคมตนเองเลย     รัฐธรรมนูญที่ถูกต้อง  จึงต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่มีชีวิต สามารถนำเอาวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมใส่ไว้ได้    หาใช่รัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายในกระดาษตามทฤษฎีอันแห้งแล้ง ไร้ชีวิตจิตวิญญาณไม่

                   การออกแบบสังคม คือการกำหนดรูปแบบความสัมพันธ์ที่ลงตัวและมีดุลยภาพ  คือการเข้าใจถึง “ ความจริงแท้ “ (Reality) ที่ปรากฏอยู่ในสภาวการณ์จริง  

                  1  ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน  ซึ่งพอทำความเข้าใจได้ 
                 2 ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับรัฐ   เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะจัดสรรรูปแบบความสัมพันธ์แบบพ่อกับลูก หรือแบบสมมุติเทพกับมนุษย์ ฯลฯ  หรือรัฐเผด็จการกับประชาชนชั้นกรรมาชีพแบบคอมมิวนิสต์ 
                  3  ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ  ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาตินั้นไม่ต้องจัดสรร
เพราะ ธรรมชาติไม่จีรัง มีคำตอบอยู่แล้วตามกฎเกณฑ์ธรรมชาติ
 
                  ในบรรดาความสัมพันธ์ทั้งหมด ความสัมพันธ์ข้อที่ 3 สำคัญที่สุด เพราะกฎเกณฑ์แห่งธรรมชาตินั้น คือกฎเกณฑ์แห่งธรรมนั่นเอง คือกฎเกณฑ์แห่งอนัตตา    ในการยกระดับประชาธิปไตยแบบไทยให้สูงส่งขึ้นนั้น จึงต้องทำให้รัฐนำกฎข้อที่ 3 ไปใส่ไว้ในการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างคนกับรัฐให้สอดคล้องเหมาะสมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
 
                  ความสัมพันธ์เหล่านี้ เกี่ยวโยง สืบเนื่องโดยมี หลักการอันเป็นความเข้าใจพื้นฐานเดียวกันภายใต้การนำของรัฐที่ทำหน้าที่เขียนกฎหมายบังคับใช้ให้ทำหน้าที่ถูกต้องสอดคล้องเป็นบรรทัดฐานร่วมกัน  มิสิทธิตามหลักประชาธิปไตยที่รัฐรับรอง  และไม่ขัดกับหลักการประชาธิปไตย
 
                  ดุลยภาพที่เกิดจากระบบความสัมพันธ์ที่สอดคล้องอันเกิดจากเสรีภาพพื้นฐาน
 
                  เมื่อยกระดับประชาธิปไตยแบบไทยให้สูงขึ้นด้วยกฎแห่งธรรมดังที่อธิบายข้างต้น  ก็มาสู่ขั้นตอนการกำหนดความสัมพันธ์ของ “อำนาจการปกครอง “ หรืออำนาจรัฐ (State Power) ที่ใช้ในการปกครองผ่านกลไกรัฐตามหลักนิติธรรม
 
                  มีคำถามต่อว่าการกำหนดหลักเสรีภาพบุคคล มีความขัดแย้งกับข้อบังคับใช้ตามกฎหมายต่างๆหรือไม่  

                 แน่นอนว่าเสรีภาพพื้นฐานของมนุษย์คือเสรีภาพที่ทำตามกิเลสของมนุษย์    ส่วนเสรีภาพที่รัฐจัดสรรให้นั้นสร้างความสมดุลให้กับผู้ถือครองในฐานะปัจเจกชนหรือไม่นั้นเป็นอีกประเด็นหนึ่ง    ดังนั้นประเด็นหลักจึงอยู่ที่ว่า
กฎหมายจะได้รับการออกแบบมาอย่างไรจึงจะทำให้เสรีภาพนั้นๆ ไม่ถูกลิดรอนไป   ตัวอย่างของสังคมอิสลาม กับสังคมตะวันตก  ความหย่อนตึงของ เสรีภาพของปัจเจกบุคคลย่อมมีไม่เท่ากันเพราะมีกฎวัฒนธรรมพื้นฐานต่างกัน  ตัวอย่างข้อขัดแย้งนี้เห็นได้ชัดในกรณีข้อขัดแย้งในประเทศฝรั่งเศสที่ทำให้หญิงมุสลิมออกมาประท้วงการห้ามใช้ผ้าคลุมศรีษะระกว่างประกอบอาชีพการงานหรือในบางสถานศึกษา    เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่ากฎหมายที่ใช้บังคับไม่ยอมรับกฎวัฒนธรรมของเชื้อชาติอื่น  

                   ประเทศไทยเองเสรีภาพตามหลักประชาธิปไตยปัจจุบันเป็นเสรีภาพที่มีเงื่อนไขไม่บริบูรณ์เพราะอำนาจรัฐใช้ผ่านคนส่วนน้อยของสังคม   เหตุเพราะอำนาจอธิปไตยเป็นของคนส่วนน้อยมิได้เป็นของคนส่วนใหญ่ในสังคม   การกำหนดกติกาต่างๆจึงเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของชนชั้นปกครองเฉพาะกลุ่ม และเป็นเหตุปัจจัยการขัดแย้งมิรู้จบของการร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้   เสรีภาพของคนรวยมีมากกว่าคนจนเพราะเป็นสังคมที่ทำให้คนรวยมีสิทธิพิเศษมากกว่า ในสังคมที่ใช้วัตถุนำ
                     ในคติพุทธเสรีภาพพื้นฐานตามกิเลสแบบตะวันตกมิใช่อุคมคติสูงสุด   แต่เป็นเสรีภาพทางจิตวิญญาณที่ปราศจากกิเลส    ดังวรรคทองของท่านพุทธทาสภิกขุที่แสดงธรรมเรื่องอตัมมยตาและสันติภาพไว้ว่า

                 ”..... เรามีเสรีภาพที่แท้จริง คือเสรีภาพภายใน ไม่ใช่เสรีภาพภายนอก  เสรีภาพภายในคือกิเลสไม่เบียดเบียน ไม่ย่ำยี ไม่ครอบงำเรา   เรามีเสรีภาพภายในจิต  ไม่เป็นทาสของกิเลส ไม่อยู่ภายใต้อำนาจของกิเลส จิตใจไม่เป็นทาสของกิเลสเรียกว่ามีเสรีภาพภายใน ”
 
                  การกำหนดดุลยภาพจึงต้องทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่าง “ อำนาจอธิปไตยปวงชน” และ “ เสรีภาพบุคคล” ให้ถ่องแท้เสียก่อน     เสรีภาพจะบริบูรณ์หรือไม่บริบูรณ์ขึ้นอยู่กับระดับความก้าวหน้าของคนในสังคม   หากผู้คนก้าวหน้าทางจิตวิญญาณมากกว่าความต้องการทางกิเลส   ความต้องการกฎหมายมาบังคับใช้ผ่านกลไกอำนาจรัฐย่อมน้อยลง  เพราะกติกาการกำหนดกฎหมายย่อมเปลี่ยนรูปแปลงร่างไปตามเจตคติของคนในสังคม   และดุลยภาพของสังคมในแต่ละสังคมก็จะเกิดขึ้นในระดับชั้นที่ต่างกันในแต่ละยุคสมัย   รัฐธรรมนูญที่จะร่างขึ้นมาจึงเป็นสิ่งที่มนุษย์ค้นพบ  (Discovery) สภาวะธรรมของสังคมจากการประมวลทางปัญญาแต่ไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมา (Creation) จากสัญญาโดยไม่รู้การเชื่อมโยงของสรรพสิ่ง

                 แน่นอนว่าหากมนุษย์ในสังคมนั้นๆค้นพบสิ่งที่สูงขึ้นกว่าเสรีภาพพื้นฐานตามกิเลสไปสู่การค้นพบเสรีภาพทางด้านจิตใจ สู่ความก้าวหน้าแบบใหม่   กฎหมายอาจมีความจำเป็นน้อยลงถึงน้อยที่สุดต่อการบังคับใช้   ทั้งนี้และทั้งนั้นขึ้นอยู่กับว่าสังคมนั้นพัฒนาไปทางวัตถุภายนอกหรือจิตใจภายใน      ซึ่งกล่าวโดยสรุปได้ว่าเสรีภาพของบุคคลจะบริบูรณ์หรือไม่อย่างไรขึ้นอยู่กับระดับความก้าวหน้าของคนในสังคมนั้นๆ นั่นเอง  ตัวอย่างเช่นเสรีภาพทางจิตวิญญาณของชาวทิเบต  ย่อมแตกต่างจากเสรีภาพของหญิงมุสลิมในประเทศฝรั่งเศสเป็นต้น
 
                         นักธรรม จะเข้าใจสภาวะที่ไม่จีรังยั่งยืนของสรรพสิ่งอันเป็นหลักอนัตตาแห่งธรรมฉันใด
                         นักวิทยาศาสตร์สังคม จึงจะเข้าใจกติกาตามกฎเกณฑ์นี้แล้วหยิบจับนำมาใช้ได้ฉันนั้น  
                         นักปฏิวัติสังคม จึงจะเข้าใจว่าจะเปลี่ยนแปลงสู่ระบอบใหม่อย่างไรตามกฎเกณฑ์แห่งธรรมนั้นๆ
                         แล้วนักกฎหมาย...เข้าใจความเชื่อมโยงของปรากฏการณ์ทางสังคมปัจจุบันเพียงไร ?
                         นักการเมืองประเทศไทยเล่า...(ละไว้ในฐานที่เข้าใจ)
 
                   พระบิดาของประชาธิปไตย สมเด็จพระปิยมหาราชทรงทำการปฏิวัติสันติสู่การพัฒนาประชาธิปไตยจากภายใน  เป็นการรื้อโครงสร้างสังคมใหม่   กำจัดระบบความสัมพันธ์จากนายทาสกับลูกทาส ต่างๆ มาสู่ระบบความสัมพันธ์ใหม่ในฐานะราษฎร ที่มีศักดิ์ศรีการเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน   สร้างเสรีภาพพื้นฐานของมนุษย์คือการมีศักดิ์และสิทธิ์และสถานภาพทางสังคมใหม่  ตามหลักเสรีภาพบุคคลและยกเลิกกฎหมายทาสอย่างสิ้นเชิง   เป็นการปรับฐานชีวิตราษฎรสู่ดุลยภาพครั้งแรกของประเทศไทย
     
                   ปรับอินทรีย์ 5 สู่พละ 5 หลักการปฏิบัติประชาธิปไตยให้ปรากฏเป็นจริง
 
                  เมื่อเข้าใจหลักเสรีภาพทางจิตวิญญาณและกฎแห่งธรรมแล้ว  จึงจะค่อยปรับทำความเข้าใจเรื่อง พละ 5 เพื่อก้าวสู่การพัฒนาทางความคิดตามหลักการประชาธิปไตย 5 หลัก คือหลักอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน หลักเสรีภาพบุคคลบริบูรณ์  หลักความเสมอภาค  หลักนิติธรรมและท้ายสุดการเลือกตั้ง

                  อินทรีย์ทั้ง 5 นี้ อธิบายตามหลักพุทธธรรมว่าเป็นคุณสมบัติของผู้ถึงธรรมในระดับหนึ่ง     นับว่าเป็นบุคคลที่มีพละกำลังแก่กล้าพอ พร้อมที่จะก้าวไปสู่การลุธรรมในขั้นที่สูงขึ้น   หากเปรียบการพัฒนาสภาวธรรมของการปกครองดังอินทรีย์ 5  เพื่อผลักดันสู่การบรรลุธรรม  ในบรรดาหลักการทั้ง 5 ข้อนี้ข้อสำคัญที่ต้องมีก่อนอื่นใด คือ
 
                  1  อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ซึ่งเปรียบเหมือนสติเป็นจั่วอยู่ตรงกลาง
                  2.  หลักเสรีภาพบุคคลบริบูรณ์และหลักนิติธรรมอยู่คู่กัน ซ้ายขวาเปรียบดั่งปัญญาและศรัทธา
                  ปัญญามากไปทำให้ถือตน ศรัทธามากไปก็ลุ่มหลง  เสรีภาพของบุคคลมากไปก็ทำให้ละเมิดกฎ  กฎหมายมีข้อบังคับมากไปก็  ลิดรอนพลังสร้างสรรของประชาชน
                  3  หลักความเสมอภาคและการเลือกตั้งอยู่คู่กัน เปรียบเหมือนสมาธิกับวิริยะ
 
                 การเข้าใจซึ่งสัมพันธภาพของหลักการทั้ง 5 เป็นการเข้าใจพื้นฐานของหลักประชาธิปไตย  ด้วยการปรับอินทรีย์ทั้ง 5 ให้เสมอกัน เป็นการปรับฐานทางความคิดให้มั่นคงแข็งแรง  เกิดพลังที่จะบรรลุธรรม   เป็นขั้นตอนของการสร้างดุลยภาพสู่การพัฒนาอีกขั้นหนึ่ง    โดยต้องมีสติ หรืออำนาจอธิปไตยของปวงชนอยู่แกนกลางเป็นหลักแรก   หากไม่สามารถค้นหาสติพบ ก็เปรียบดั่งประชาชนไม่มีอำนาจ  ไม่มีที่มาและไม่มีที่ไป ไม่สามารถปรับฐานรากให้แข็งแรงมั่นคงเหมาะควรแก่การงานชั้นสูงต่อไปได้

                  แล้วรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างกันอยู่นี้จะไปอยู่ตรงไหน ?

                  จะเห็นว่าในขั้นตอนนี้  รัฐธรรมนูญไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด แต่จัดอยู่ในหลักนิติธรรม ที่สามารถกระจายแตกย่อยแผ่กิ่งก้านสาขาออกไปได้อีก เมื่อสติทำงานเต็มที่แล้ว  เมื่อเสรีภาพบุคคลค่อยๆเกิดขึ้นตามครรลอง

 

          
 
 
 
             
 
 
                     (อ่านต่อตอนหน้า)
 

 

 
 


 
   

 


         
 อ่านไทยไตรยางคธรรมตอน ๑...
  
 
         
  
  
  
  
  
 



Webboard is offline.