Revolutionary Press Agency : Online Journal and News Agency for Peace
สำนักสื่อปฏิวัติ  : วารสารข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
8 มิ.ย. 2554 กองหน้าประชาชนรุ่นใหม่ อนุสรณ์ สมอ่อน ตอบคำถามคาใจทำไมต้องปฏิวัติประชาธิปไตย? 
นานาทัศนะปรัชญาพุทธศาสนา
บทความพิเศษ   
 
 

เขียนโดย จิตราภา โพส ๑๖ ส.ค.๒๕๕๒:๑๙.๒๐ น.
เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือแม่ชีสาร พ.ศ.๒๕๑๕ 
 
" จริยศาสตร์พระพุทธศาสนา ”   
 
  
         ฐานะของพระพุทธเจ้าในท่ามกลางนักคิดชาวอินเดีย ค่อนข้างคล้ายคลึงกับฐานะของโสเครตีสกับนักคิดชาวกรีก ก่อนสมัยโสเครตีสและพวกโซฟิสท์ ปรัชญากรีกส่วนใหญ่มุ่งแต่ปัญหานอกโลก สิ่งที่นักปรัชญากรีกสนใจ ก็คือปัญหาเกี่ยวกับบ่อเกิดจักรวาล กระบวนการก่อตัว ส่วนประกอบที่ทำให้เป็นโลกตามธรรมชาติ และเหตุของเคหวัตถุที่ปรากฎการณ์ต่างๆ พวกโซฟิสท์เป็นพวกแรกที่เหหันความสนใจปรัชญาเข้าสู่ปัญหาชีวิตมนุษย์  ปราชญ์พวกนี้ได้สอนเยาวชนกรีกถึงศิลป์แห่งการดำเนินชีวิตและการดำเนินกิจการสาธารณประโยชน์ คำสอนของพวกโซฟิสท์ได้ก่อให้เกิดความต้องการทางสังคมแนวใหม่ขึ้น คือถือว่า การแสวงหาความรู้ตามแนวเหตุผลอันถูกต้องเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของชีวิตทางสังคม 
 


        จึงกล่าวได้ว่า พวกโซฟิสท์เป็นกลุ่มนักปรัชญาผู้นำของนักปรัชญาสมัยหลัง ที่ได้หวนคำนึงถึงกิจการมนุษย์  เดิมปรัชญากรีกไม่ได้สนใจเรื่องของมนุษย์เท่าใดนัก โดยเฉพาะปัญหาด้านจริยธรรม จนกระทั่งถึงสมัยโสเครติส ท่านผู้นี้ได้เป็นผู้วางแบบปรัชญาว่าด้วยความประพฤติของมนุษย์ขึ้น เขากล่าวว่า สิ่งที่ควรสอนแก่คนทั่วๆไป ก็คือวิธีดำเนินชีวิตในฐานะเป็นพลเมืองของรัฐ ความรู้อย่างนี้จะมีความสำคัญอย่างยิ่ง ถ้าหากว่าพวกเขาไม่รู้ฐานะของความเป็นพลเมืองเป็นอย่างไรแล้ว จะหวังให้เขาเป็นพลเมืองที่ดีของรัฐนั้นหาได้ไม่ ใครก็ตามหากรู้ถึงประโยชน์ของตนอย่างแท้จริง ย่อมจะปฏิบัติให้สอดคล้องกันได้ถูกต้องเบื้องต้นให้ถึงประโยชน์ เมื่อรู้แล้วจะก่อให้เกิดการสร้างประโยชน์นั้นขึ้นมา ฉะนั้นความรู้จึงเป็นสิ่งที่มีค่า การที่โสเครตีสสอนว่าความรู้และการกระทำ หรือความรู้กับความดีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนี้ จึงเป็นการเปิดศักราชยุคใหม่แห่งประวัติศาสตร์จริยปรัชญาของกรีกโดยแท้
 


          โซฟิสท์เป็นชื่อเรียกกลุ่มอาจารย์ในนครรัฐ (City States) ของกรีกมีความชำนาญในวิชาต่างๆเช่น เรขาคณิต วาทศิลป์ ประพันธ์ และจรรยา รุ่งเรืองในระหว่างศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตศักราช บางคนมีชื่อเสียงในการโต้วาทะ กลุ่มอาจารย์พวกโซฟิสท์เหล่านี้ได้มีส่วนช่วยให้เกิดพัฒนาการ การศึกษาชั้นสูง สร้างโรงเรียนนักพูดขึ้นในกรุงเอเธนส์  โรงเรียนนี้มีอิทธิพลต่อวรรณคดีกรีกและโรมันเป็นอันมาก โสเครตีสจัดอยู่ในประเภทโซฟิสท์นี้ด้วยเหมือนกัน
 
           ก่อนสมัยพระพุทธเจ้า ความรู้สึกนึกคิดของชาวอินเดียส่วนใหญ่หมกมุ่นอยู่แต่ในเรื่องศาสนาและปรัชญา สิ่งที่ชาวอินเดียในสมัยพระเวทสนใจก็คือ การทำตนให้เป็นที่ชอบใจของพระเจ้า ด้วยวิธีการสวดสรรเสริญและยัญญวิธี พระพุทธเจ้าได้ทรงรับเรื่องเทพเจ้าเข้ามาไว้ในระบบคำสอนของพระองค์เหมือนกัน  แต่ทรงปรับปรุงให้เป็นทวยเทพที่มีลักษณะเป็นมนุษย์มีศีลธรรม ทวยเทพเหล่านี้ได้ถูกสวมเครื่องประดับตกแต่งแบบมนุษย์ด้วยฝีพระหัตถ์ของพระพุทธเจ้า ปรากฎในวรรณคดีของพระพุทธศาสนาทั่วไปว่า ทวยเทพเหล่านี้เป็นทวยเทพที่ถือคุณงามความดี สำคัญกว่าตำแหน่งฐานะอันสูงส่ง และถือว่ามีฐานะต่ำกว่าพระพุทธเจ้าและผู้ที่เป็นมนุษย์แต่มีคุณธรรมสูง

         ชาวอินเดียที่นับถือศาสนาพราหมณ์ ถือว่าพิธีทางศาสนาเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตมนุษย์ด้วยพิธีกรรมนี้ เขาสามารถมีอำนาจเหนือปกครองทวยเทพ มนุษย์ สัตว์ และแม้กระทั่งสิ่งมีชีวิตได้ พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธทิพยือำนาจของทวยเทพเหล่านี้อย่างสิ้นเชิงและทรงปฏิเสธผลกรรมที่จะได้รับจากพิธีกรรมเหล่านั้นด้วย คำว่า "กมุม" เป็นภาษาบาลี ในภาษาสันสกฤตเป็น "กรฺมนฺ" ภาษาไทยเขียน "กรรมะ" ทั้งสองหมายถึงการกระทำ ในศาสนาพราหมณ์ หมายถึงการกระทำพิธีทางศาสนา ส่วนในพระพุทธศาสนาหมายถึงการกระทำดีและชั่ว หรือผลของการกระทำดีและผลของการกระทำชั่ว ด้วยเหตุนี้ระบบคำสอนของศาสนาทั้งสองจึงต่างกัน ในกรณีเทพเจ้าของศาสนาพราหมณ์ พิธีกรรมทางศาสนาเช่นการสวดสรรเสริญและยัญญวิธีเป็นเรื่องสำคัญ ส่วนในพระพุทธศาสนาเรื่องศีลธรรมเป็นเรื่องสำคัญ หลักหรือคำสอนเกี่ยวกับพิธีกรรมเป็นปัญญาของศาสนาพราหมณ์ ส่วนหลักเรื่องศีลธรรมเป็นปัญญาของพระพุทธศาสนา

         สมัยพระเวทเริ่มต้นเมื่อประมาณ 4000 ปี ก่อนคริสตศักราชคัมภีร์พระเวท เป็นบันทึกรุ่นแรกเกี่ยวกับศาสนาเทพเจ้า ข้อความในพระเวทนี้ พวกนักบวชคือฤาษีได้เล่าให้สานุศิษย์ฟังและจดจำกันต่อมา  ทั้งนี้เพราะการใช้อักษรศาสตร์ยังไม่แพร่หลาย มาเริ่มใช้กันสมัยหลังพุทธกาลเป็นต้นมา
 
         พระพุทธศาสนายอมรับเรื่องเทพเจ้า คล้ายเป็นประเภทของสัตว์ที่มีชีวิตอย่างหนึ่ง แต่มีสภาพแวดล้อมน่าจะเขียนว่า “แตกต่างจากมนุษย์” ต่างๆจากมนุษย์ และเทวดาเหล่านี้ก็มีดีมีชั่ว มีความเห็นถูกมีความเห็นผิด พระพุทธศาสนาชี้ไปที่ศีลธรรมว่าเป็นมาตรฐานสำคัญในการตัดสินว่า วิชชาจรณสมฺปนฺโน โส เสฎฺโฐ เทวมนุสฺเสสุ ผู้สมบูรณ์ด้วยความรู้และความประพฤติ เป็นผู้ประเสริฐสุดในเทวดาและมนุษย์ แสดงว่าพระพุทธศาสนาไม่ได้ตีราคาเทวดาสูงกว่าบุคคลดีๆทั้งหลายเลย
 
         พระพุทธศาสนาไม่ยกย่องระบบวรรณะ เพราะระบบวรรณะตั้งขึ้นเพื่อแบ่งแยกชาวอารยันจากชนเผ่าพื้นเมืองและเพื่อให้ชนชั้นวรรณพราหมณ์เหนือกว่าวรรณะอื่นๆ พระพุทธศาสนาสอนหลักเรื่องความเสมอภาคของมนุษยชน ไม่ถือความแตกต่างในเรื่องกำเนิดหรืออาชีพการงานเป็นสำคัญ แต่ถือว่าความแตกต่างกันในเรื่องความประพฤติเป็นสิ่งสำคัญมากกว่า เช่นในสังยุตตนิกาย พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนเราจะประเสริฐหรือไม่ประเสริฐด้วยความประพฤติ หาใช่ประเสริฐด้วยกำเนิดแต่อย่างใดไม่  นี่เป็นทรรศนะของพระพุทธศาสนาที่มีต่อระบบวรรณะ
 
        การบำเพ็ญตบะ หรือการทรมานตน ซึ่งได้รับการปฏิบัติทั่วไปในหมู่พราหมณ์และผู้นับถือศาสนาเช่นนั้น พระพุทธเจ้าไม่ทรงรับรองว่าเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้อง ในธัมมจักกัปวัตนสูตร พระธรรมเทศนาครั้งแรกที่ทรงแสดงแก่พระภิกษุปัญจวัคคีย์ ทรงตรัสคัดค้านว่าบำเพ็ญตบะ หรือที่เรียกว่า อัตตกิลมัตถานุโยค นั้นนำมาซึ่งทุกข์ ไม่ใช่ของประเสริฐ ไม่นำประโยชน์มาให้ ไม่ควรปฏิบัติตาม
 
        พราหมณ์ถือว่าการบำเพ็ญตบะมีความสำคัญเท่ากับพิธีกรรม พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีคุณค่าแต่อย่างใด แม้จะทรงแนะนำให้สาวกของพระองค์ดำเนินชีวิตแบบง่ายๆ และให้มีความสำรวมตนอย่างเคร่งครัดก็ตาม แต่ก็มิได้ทรงส่งเสริมการบำเพ็ญตบะอย่างที่ปฏิบัติกันในศาสนาพราหมณ์และเซน
 
       พระพุทธเจ้าทรงยกย่องความรู้ว่ามีความสำคัญอย่างสูง แต่ก็ทรงห้ามไม่ให้สาวกของพระองค์ใช้วิธีการเก็บความจริงหรือถกเถียงกันในทางปรัชญา คราวหนึ่ง พระมาลุงกยบุตรคิดว่าพระพุทธเจ้าไม่ทรงตอบปัญหาเรื่อง โลกเที่ยงหรือไม่เที่ยง โลกมีที่สุด หรือไม่มีที่สุด ชีวะกับสรีระ เป็นอันเดียวกันหรือเป็นคนละอัน สัตว์ (ตถาคต) ตายแล้วเกิดหรือไม่เกิด เป็นต้น ถ้าพระพุทธเจ้าทรงตอบก็จักประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป ถ้าไม่ทรงตอบจักสึก จึงเข้าไปเฝ้ากราบทูลพระพุทธเจ้าตามความคิดนั้น พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า การตอบปัญหาเหล่านี้เป็นเงื่อนไขในการให้เข้ามาบวชในศาสนานี้หรือไม่ ครั้นแล้วตรัสเปรียบกับบุคคลที่ถูกยิงด้วยลูกศรอาบยาพิษ ญาติพี่น้องหาหมอผ่าตัดลูศรมา ก็ไม่ยอมให้ผ่าเอาลูกศรออก จนกว่าจะรู้ว่าผู้ยิงเป็นใคร  เป็นกษัตริย์หรือ  หรือว่าเป็นพราหมณ์ เป็นแพทย์หรือ หรือว่าเป็นศูทร ชื่ออะไร โคตรไร สูงต่ำดำขาวอย่างไร อยู่บ้านไหน เมืองไหน ธนูที่ใช้ยิงนั้นเป็นธนูแล่ง (หน้าไม้) หรือเกาฑัณฑ์ (ไม่ใช่แล่ง) และรายละเอียดอื่นๆอีกยาวโดยไม่พยายามถอนลูกศรนั้นออกก็คงตายเปล่า แล้วตรัสสอนให้ทรงจำสิ่งที่ไม่ทรงตอบและทรงตอบทฤษฎีโลกเที่ยงและโลกไม่เที่ยงเป็นต้น ดังกล่าวข้างต้นนั้น ไม่ทรงตอบเพราะไม่มีประโยชน์ ส่วนเรื่องที่ทรงตอบคืออริยสัจ 4 เพราะมีประโยชน์เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์
 
        จากข้อความของพระพุทธดำรัสที่ทรงตรัสสอน พระมาลุงกยบุตรนี้ ทำให้เห็นว่าสาวกในพระพุทธศาสนาเคยสนใจกับปัญหาเหล่านี้และปรัชญาอื่นๆกันมาแล้ว การที่ทรงสอนไม่ให้สนใจก็ดูเหมือนจะมีเหตุผลอยู่เหมือนกัน เพราะในสมัยนั้นประชาชนสนใจศึกษาปรัชญาและการโต้วาทะกันมาก จะเห็นได้จากข้อความในคัมภีร์อุปนิษัท ซึ่งเป็นวรรณคดียุคเดียวกัน พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ ไร้ประโยชน์ ” นั้นมิได้หมายความ ทรงถือความรู้ว่าเป็นสิ่งไร้ค่า ความจริงพระองค์ทรงยกย่องความรู้ไว้สูง ในแง่ที่ความรู้นั้นจะอำนวยผลในการปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ต่างหาก
 
        หวลกลับมาพูดถึงปัญหาที่ว่า ฐานะของพระพุทธเจ้ามีลักษณะคล้ายคลึงกับโสเครตีสอย่างไร ประการแรกพระพุทธเจ้าและโสเครตีสได้ตั้งจุดประสงค์ และความพยายามส่วนใหม่ไว้เพื่อประโยชน์แก่มนุษย์ เมธีต่างๆสมัยก่อนพากันสนใจเรื่องนอกโลก  ส่วนโสเครตีสกลับหันมาสนใจในเรื่องของมนุษย์  คำสอนที่มีชื่อเสียงของเขาคือ Koflw Sourseau หลักเรื่องความเป็นหนึ่งของความรู้และความมีประโยชน์ของความรู้ที่จะนำมาใช้กับชีวิต และการสอนเพื่อนร่วมประเทศให้รู้จักวิธีที่จะดำเนินชีวิตในฐานะเป็นพลเมืองดีของประเทศทั้งหมด ล้วนมีสัมผัสสัมพันธ์กับชีวิตจริง  โดยเฉพาะในแง่เกี่ยวกับธรรมจรรยา พระพุทธเจ้าก็เช่นกัน  ทรงปฏิเสธหลักคำสอนเดิมอันเกี่ยวกับตบะ และพิธีกรรมแล้วทรงสอนเน้นหนักไปในด้านธรรมจรรยา พระองค์ไม่ทรงเห็นด้วยเลยกับพิธีการตามหลักปรัชญาที่มีอยู่ในสมัยนั้นว่าจะเป็นทางทำให้หลุดพ้นจากทุกข์ ทรงแสดงว่าผู้ที่ดำเนินตามมรรคมีองค์ 8 ตามที่ได้ทรงตรัสไว้จะพ้นทุกข์ได้ จุดหมายอันหนึ่งคือการทำให้คนเป็นคนดีด้วยการสอนถึงประโยชน์อันล้ำเลิศของเขาและอีกอันหนึ่งคือสอนให้คนพ้นจากทุกข์ ด้วยการปฏิบัติตามวิธีการที่วางไว้ จุดมุ่งหมายทั้งสองนี่แลได้ประกอบกันขึ้นเป็นระบบ จริยศาสตร์ของพระพุทธศาสนา
    

 

 
 


 
   

 


         
 
  
 
         
  
  
  
  
  
 
 



Webboard is offline.