Revolutionary Press Agency : Online Journal and News Agency for Peace
สำนักสื่อปฏิวัติ  : วารสารข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
8 มิ.ย. 2554 กองหน้าประชาชนรุ่นใหม่ อนุสรณ์ สมอ่อน ตอบคำถามคาใจทำไมต้องปฏิวัติประชาธิปไตย? 
 
พระพุทธศาสนาแนวคิดเพื่อพัฒนาสังคมและการเมือง
ดร.บี อาร์ อัมเบดการ์
ถอดความโดย
พระดร.สมชัย กุสลจิตฺโต พระราชปัญญาเมธี
๕ มกราคม ๒๕๕๓ :๑๖.๑๕ น.
บทที่ 4
เปรียบเทียบความเหมือนและความต่าง
         (Comparison and Contrast)
             
 
 
 
 
   
             พระพุทธศาสนากับศาสนาพราหมณ์    
                 
             เมื่อแสดงสุนทรพจน์ในที่ประชุมสมาคมโรตารี่ ณ เมืองมัทราส(Madras)อินเดียตอนใต้ เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๗ ดร.อัมเบดการ์ได้พูดว่า (๓๒)

             ในประเทศอินเดียสมัยก่อน ได้เกิดการปะทะกันอย่างหนักระหว่างพระพุทธศาสนาซึ่งมีแนวการสอนปฏิวัติสังคม กับศาสนาพราหมณ์ซี่งพยายามต่อต้าน

            มีปัญหาหนึ่งที่ถกเถียงกันมากก็คือ ปัญหาว่า สัจธรรมที่แท้จริงคืออะไร ? ขณะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสยืนยันว่า สัจธรรมที่แท้จริงนั้นเป็นบางสิ่งที่อาจจะสัมผัสได้ด้วยอินทรีย์สัมผัสทั้ง ๑๐(๓๓) อินทรีย์ใดอินทรีย์หนึ่ง แต่พวกพราหมร์กลับกล่าวว่า สัจธรรมที่แท้จริง ได้แก่สิ่งที่พระเวทแสดงไว้

          
             แผนการณ์ล้มพระพุทธศาสนา
   
           ในช่วงเวลาอันเป็นรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช  ซึ่งเป็นพระนัดดาของพระเจ้าจันทรคุปต์  พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมากเรียกว่า  ขนาดเบียดเอาศาสนาพราหมณ์หลุดออกไปจากวงจร  เรื่องนี้เป็นชนวนกระตุ้นให้พวกพราหมณ์วางแผนปฏิวัติต่อต้านพระพุทธศาสนาเรื่อยมา จบลงด้วยการปลงชนม์เจ้าชายพฤหทารถ เมารยะ(โมริยะ) ผู้เป็นรัชทายาทสืบทอดราชบัลลังก์พระเจ้าอโศก  เมื่อจะวิจารณ์ประวัติศาสตร์ฉากนี้ดร.อัมเบดการ์พูดว่า (๓๔)   

            การปลงพระชนม์เจ้าชายพฤหทารถ เมารยะด้วยน้ำมือของปุษยมิตร โชคร้ายมากที่มักผ่านพวกเราไปอย่างไม่ค่อยได้ตั้งข้อสังเกตกันเท่าไรนัก ไม่ว่าในอัตราใดๆ เรื่องนี้ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควรเลย  นักประวัติศาสตร์ถือว่าเป็นเหตุการณ์สามัญระหว่างบุคคลสองคนซึ่งมีมูลเหตุมาจากการวิวาทในเรื่องส่วนตัวกัน  เมื่อมองดูผลที่ตามมาเหตุการณ์ครั้งนั้นนับเป็นจุดเปลี่ยนของยุคสมัย    ความสำคัญของมันคงจะไม่ดูกันเพียงแค่เป็นการเปลี่ยนราชวงศ์ คือราชวงศ์ศุงคะสืบอำนาจแทนราชวงศ์เมารยะเท่านั้น  แต่มันเป็นการปฏิวัติทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่เท่าๆกับการปฏิวัติในฝรั่งเศส ถึงแม้จะมองว่า มันจะไม่ยิ่งใหญ่ กว่า มันก็เป็นการปฏิวัติ การปฏิวัติเลือดซึ่งลงมือโดยพวกพราหมณ์ เพื่อกำจัดอำนาจของกษัตริย์ชาวพุทธ คือการลงมือสังหารเจ้าชายพฤหทารถโดยเงื้อมมือของพราหมณ์ปุศยมิตร

            พราหมณ์ที่ชนะพุทธครั้งนั้นมีความต้องการหลายสิ่งหลายอย่างแน่นอน ! รวมทั้งต้องการรื้อฟื้นระบบวรรณะ ๔ ขึ้นมาเป็นกฎเกณฑ์ของแผ่นดิน ความ(ไม่) สมเหตุสมผลนี้ได้ถูกชาวพุทธคัดค้านแล้ว  แม้การฆ่าสัตว์บูชายัญที่ชาวพุทธล้มล้างมาแต่ต้น พวกพราหมณ์ก็ต้องการนำกลับมาทำให้ถูกต้องตามกฎหมายของรัฐด้วย ยิ่งกว่านี้สิ่งที่พวกพราหมณ์ประสงค์มากกว่านี้คือ การใช้การปฏิวัติครั้งนั้นล้มล้างอำนาจการปกครองของกษัตริย์ชาวพุทธ ถือได้ว่าพวกเขาได้ละเมิดกฎสำคัญ ๒ ข้อตามหลักนิติ-ธรรมเนียมของแผ่นดิน  ซึ่งผู้คนทั่วไปยอมรับร่วมกันว่าศักดิ์สิทธิ์และไม่อาจล่วงละเมิดได้

            กฎข้อแรกก็คือ พราหมณ์ได้ทำบาป เพราะเขาหันมาจับอาวุธ(ประหัตประหารผู้อื่น) และ

            กฎข้อที่สองก็คือ พราหมณ์ได้ล่วงละเมิดในพระวรกายของกษัตริย์ซึ่งถือว่าศักดิ์สิทธิ์ (ใครแตะต้องมิได้) และการปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์ด้วย ซึ่งถือว่าเป็นบาปหนัก

            พวกพราหมณ์ผู้ได้ชัยชนะเหล่านั้นต้องการหาข้อความในคัมภีร์พระเวทอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งถือว่าเป็นข้ออ้างอิงที่ไม่รู้จักผิดพลาดมาสนับสนุนเชิงเหตุผลต่อการล่วงละเมิดนิติ-ธรรมเนียม
ปฏิบัติของตน

             ลักษณะเด่นของคัมภีร์มนูสมฤติไม่เพียงแต่ยืนยันว่า ระบบจตุรวรรณะเป็นกฎเกณฑ์ของแผ่นดิน และการฆ่าสัตว์บูชายัญเป็นเรื่องถูกต้องตามกฎกมายเท่านั้น แต่คัมภีร์นี้ไปไกลขนาดตราไว้ว่า เมื่อไรพวกพราหมณ์สามารถใช้ศาสตราวุธอย่างถูกต้อง และเมื่อไรพวกเขาสามารถสังหารกษัตริย์ได้อย่างไม่ผิดบทบัญญัติ ในกรณีนี้ มนูสมฤติได้พูดถึงสิ่งที่คัมภีร์สมฤติอื่นๆก่อนหน้านี้ไม่ได้พูดถึงมาก่อนเลย นี้เป็นข้อความที่เบี่ยงเบนสมบูรณ์แบบ เป็นเรื่องใหม่จริงๆ ทำไมมนูสมฤติจึงทำสิ่งนี้ ? คำตอบก็มีเพียงว่า เพื่อสนับสนุนการทำการปฏิวัติของปุษยมิตรให้เข้มแข็งขึ้นโดยการเสนอหลักเหตุผลทางปรัชญามาสนับสนุนปฏิสัมพันธ์กันระหว่างปุษยมิตรกับทฤษฎีใหม่ที่เสนอโดยมนู (สมฤติ) นั้น แสดงให้เห็นว่า มนูสมฤติเกิดขึ้นช่วงเวลาหลังจากปีพ.ศ.๗๒๘ (ค.ศ. ๑๘๕) ซึ่งเป็นเวลาไม่ห่างจากที่ท่านศาสตราจารย์บูห์เลอร์(Buhler) ได้ประมาณการไว้มากนัก
 
              
             พราหมณ์ฆ่าโค-กินเนื้อโค
 
 
            พวกพราหมณ์ได้บังคับให้เลิกการฆ่าโค อย่างไรเล่า พวกพราหมณ์จึงได้กลายมาเป็นผู้อนุรักษ์โค ? ทั้งนี้ก็เพื่อจะลดความสำคัญของภิกษุสงฆ์ลงให้ได้  ต่อกรณีนี้ ดร.อัมเบดการ์ได้ชี้แจงไว้อย่างแจ่มแจ้งเมื่ออภิปรายถึงทฤษฎีการเกิดขึ้นของพวกจัณฑาล ท่านได้พูดไว้ดังนี้

           การต่อสู้กันอย่างรุนแรงระหว่างพระพุทธศาสนากับศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเป็นข้อเท็จจริงที่พอมองเห็นได้ในประวัติศาสตร์ของอินเดีย ถ้าเรายังไม่เข้าใจความข้อนี้แล้วก็เป็นไปไม่ได้เลยที่จะอธิบายลักษณะเฉพาะของศาสนาฮินดูได้ชัดเจน น่าเสียดายที่นักประวัติศาสตร์อินเดียหลงประเด็นสำคัญของการต่อสู้กันระหว่างศาสนาทั้งสองนี้เกือบหมด พวกเขาทราบแต่เพียงว่า มีศาสนาพราหมณ์อยู่ก่อน(พระพุทธศาสนา) เท่านั้น ดูเหมือนพวกเขาจะมิได้ใส่ใจถึงประเด็นการต่อสู้ซึ่งพระพุทธศาสนาและศาสนาฮินดูต้องเผชิญหน้ากันเพื่อครอบครองความเป็นใหญ่ในอินเดีย การต่อสู้กันซึ่งกินเวลายาวนานถึง ๔๐๐ ปีนั้น ได้ทิ้งร่องรอยลึกๆหลายประการไว้ในศาสนา สังคมและการเมืองของอินเดียปัจจุบัน
 
 
 
 
 

 
๓๒    Dr.Ambedkar, Life and Mission by Dhanajaya Keer,Bombay 1954.p.350
๓๓   อินทรีย์ภายใน ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และอินทรีย์ภายนอก ๕ คือรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส :ผู้ถอดความ
๓๔   The Untouchable, Who were they ? By Dr.Ambedkar,p.147
 
  
 
               (อ่านต่อตอนหน้า)

 
 
 
 
  
                            
  
  
  
  (อ่านความเดิมตอนที่แล้ว)
  
  
  



Webboard is offline.