Revolutionary Press Agency : Online Journal and News Agency for Peace
สำนักสื่อปฏิวัติ  : วารสารข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
8 มิ.ย. 2554 กองหน้าประชาชนรุ่นใหม่ อนุสรณ์ สมอ่อน ตอบคำถามคาใจทำไมต้องปฏิวัติประชาธิปไตย? 
ธรรมะประชาธิปไตย "กงล้อแห่งธรรมแก้กงกำการเมือง"
พระมหาบุญถึง ชุตินฺธโร
ผู้อำนวยการสถาบันธรรมะประชาธิปไตย
สำนักสื่อปฏิวัติ : Revolutionary Press Agency (RPA)
๒๗ ธ.ค. ๒๕๕๒
  
 
  
บทที่ ๖
พระพุทธศาสนากับการแก้วิกฤตการณ์ของโลก...
พระพุทธศาสนากับการแก้วิกฤตการเมืองและพัฒนาสันติภาพ
  
  
           ด้วยประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลกได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมชาวพุทธนานาชาติเนื่องในวันวิสาขบูชาโลก โดยมีพระสงฆ์ชาวพุทธและนักปราชญ์ ๘๐ ประเทศรวมกว่า ๕,๐๐๐ รูป/คน เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ณ ห้องประชุมใหญ่ พุทธมณฑลเมืองหลวงของพุทธศาสนาโลก จังหวัดนครปฐมในหัวข้อประชุมเรื่อง “พระพุทธศาสนากับการแก้วิกฤตการณ์ของโลก” ซึ่งแบ่งการประชุมออกเป็น ๖ หัวข้อคือ ๑.พระพุทธศาสนากับการแก้ปัญหาวิกฤตสิ่งแวดล้อม ๒.พระพุทธศาสนากับการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ๓.พระพุทธศาสนากับการแก้วิกฤตการเมืองและพัฒนาสันติภาพ ๔.สมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติกับการร่วมมือต้านการศึกษา ๕.โครงการร่วมมือการจัดทำพระไตรปิฎกฉบับสากลเพื่อแจกในโรงแรมทั่วโลก ๖.แหล่งข้อมูลและเครือข่ายทางอิเล็กทรอนิกศ์ทางพระพุทธศาสนา ตั้งแต่วันที่ ๔-๖ พฤษภาคม ๒๕๕๒

        สภาธรรมาธิปไตยแห่งชาติและองค์การต่างๆ เล็งเห็นวิสัยธรรมาทัศน์อันดีงามและสูงส่งกว้างขวางยิ่งของการจัดงานครั้งนี้ที่ประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลกที่กำลังจะมีบทบาทเป็นผู้นำระดับสากลในด้านศาสนาอันเป็นการนำทางจิตวิญญาณ (Spiritual Leading) อันเป็นการนำสูงสุดที่เป็นอนัตตา จึงเห็นความจำเป็นอันยิ่งยวดที่จะต้องช่วยให้ทำเจตนารมณ์อันสูงส่งนี้บรรลุความสำเร็จเพื่อให้เป็นไปตามอุดมการของพระพุทธศาสนาว่า “เพื่อประโยชน์สุขของมหาชนเพื่อความสุขของมหาชนและเพื่ออนุเคราะห์โลก” จึงขอเสนอต่อที่ประชุมครั้งนี้และต่อทุกฝ่ายทุกประเทศทั่วโลกดังต่อ ไปนี้

           ๑. ในหัวข้อ “เรื่องพระพุทธศาสนากับการแก้วิกฤตการณ์ของโลก” ที่มีหัวข้อย่อยรูปธรรมทั้ง ๖ หัวข้อนี้ ทุกหัวข้อรวมศูนย์อยู่ที่หัวขอที่ ๓ คือ “พระพุทธศาสนากับการแก้วิกฤตการเมืองและพัฒนาสันติภาพ” นั่นคือถ้าแก้วิกฤตการเมืองและสันติภาพโลกได้ก็จะมีเงื่อนไขให้สามารถไปแก้ปัญหาอื่นๆ ได้ทั้งสิ้น ดังนั้นสภาธรรมาธิปไตยแห่งชาติและองค์การต่างๆ จึงขอนำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาวิกฤตการเมืองและพัฒนาสันติภาพโลก ดังต่อไปนี้

           ๒. พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งอนัตตา ซึ่งแตกต่างจากศาสนาอื่นซึ่งเป็นศาสนาแห่งอัตตา คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นวิทยาศาสตร์และยังเหนือกว่าวิทยาศาสตร์อีกหลายชั้นอีกด้วย มีทั้งระดับโลกียธรรมและโลกุตรธรรมหรือทั้งสังขตธรรมและอสังขตธรรม ดังนั้น ศาสนาพุทธจึงถือดุลในศาสนาทั้งปวงดังเช่น ดวงอาทิตย์เป็นผู้ถือดุลในระบบสุริยะ (Solar System) กล่าวถึงที่สุด “สุญญตาคือผู้ถือดุลที่แท้จริง” ฉะนั้นศาสนาแห่งอนัตตาคือศาสนาพุทธจึงเป็นผู้ถือดุลอันเป็นศาสนาแห่งสากลจักรวาล (Cosmic Religion) ตามที่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์เอกของโลกได้รับรองไว้
 
           โลก ๓ ชนิดคือ โลกวิทยาศาสตร์ (Scientific World) โลกสังคม (Social World)โลกจิตวิญญาณ (Spiritual World) พระพุทธศาสนาเป็นสุดยอดของทั้ง ๓ โลก
ต่อด้านวิทยาศาสตร์นั้นนักวิชาการยุคใหม่ได้แบ่งออกเป็น “วิทยาศาสตร์ธรรมชาติหรือวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์” (Pure Science & Natural Science) และ “วิทยาศาสตร์สังคม” (Social Science) แต่โดยแท้จริงแล้วเมื่อนำเอาพุทธศาสนามาพิจารณาจะมีอีกด้านหนึ่งคือวิทยาศาสตร์ทางจิตวิญญาณ  (Spiritual Science) ดังคำรับรองของไอน์สไตน์ว่า  “If there is any religion that would cope with the scientific need it will be Buddhism.- ถ้าจะหาศาสนาที่มีความสอดคล้องกับหลักการทางวิทยาศาสตร์แล้วละก็ ศาสนานั้นก็คือพุทธศาสนา” และตามคำยืนยันของผู้นำทางความคิดระดับโลกในประเทศไทยคือนายประเสริฐ ทรัพย์สุนทรว่า “คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นวิทยาศาสตร์ที่เหนือกว่าวิทยาศาสตร์อีกหลายขั้นอีกด้วย” ดังนั้น ศาสนาพุทธจึงไม่ใช่ยาเสพติดแต่เป็นศาสนาที่ทำให้หลุดพ้นจากการเสพติดที่ร้ายแรงที่สุดคือกิเลสตัณหา มิใช่เป็นศาสนาจิตนิยมเพ้อฝันไม่เป็นวิทยาศาสตร์ดังที่บางลัทธิการเมืองโจมตี

          ๓. พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มีลักษณะประชาธิปไตยมากที่สุดกว่าทุกศาสนาคือศาสนาอนัตตาตรงข้ามกับอัตตาที่เป็นลักษณะเผด็จการ และศาสนาพุทธถือพระธรรมเป็นใหญ่คือธรรมาธิปไตยและถือสงฆ์เป็นใหญ่ ไม่ถือตนเป็นใหญ่หรือถือโลกเป็นใหญ่หรือถือบุคคลเป็นใหญ (อัตตาธิปไตยและโลกาธิปไตย) อุดมการของพระพุทธศาสนาคือ เพื่อประโยชน์ของมหาชน เพื่อเความสุขของมหาชน คือระบอบประชาธิปไตย ธรรม (Righteousness) ย่อมสอดคล้องกับผลประโยชน์ของประชาชนเสมอไป ระบอบปราธิปไตยคือระบอบที่ถือประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่ จึงเป็นระบอบที่เป็นธรรมหรือเป็นระบอบที่ถือธรรมเป็นใหญ่ ฉะนั้นประชาธิปไตยคือธรรมาธิปไตย

          พระพุทธเจ้าทรงเป็นบุคคลแรกในโลกที่ค้นพบบทบาทอันสำคัญเป็นเอกของความเห็น (ทิฏฐิ:ภาษาบาลี, ทฤษฎี:ภาษาสันสกฤต, Theory:ภาษาอังกฤษ) ซึ่งทรงบัญญัติความเห็นถูกหรือสัมมาทิฏฐิไว้เป็นข้อแรกของทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) ผลดีหรือผลร้ายทั้งหลายในมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือประเทศชาติ มีต้นเหตุมาจากความเห็นถูกหรือความเห็นผิด ดังนั้นปัญหาแรกที่สุดของมนุษย์คือ ปัญหาความเห็น ปัญหาทฤษฎีปัญหาทิฏฐิ หรือ Theoretical Problem ดังเช่นข้อเท็จจริงพิสูจน์ให้เห็นอย่างแน่นอนว่า การปฏิบัติสู่โมกษธรรมนั้น ถ้าปราศจากความควบคุมโดยสัมมาทิฏฐิเสียแล้วไม่ว่าจะประกอบด้วยความเพียรแก่กล้าสักเพียงใด ก็จะล้มเหลวทั้งสิ้น พระพุทธเจ้าทรงละทิ้งทฤษฎีผิดของลัทธิพราหมณ์มาเป็นทฤษฎีถูกจึงบรรลุนิพพาน ฉะนั้น กล่าวตามภาษาวิชาการพระพุธเจ้าเป็นบุคคลแรกในโลกที่ทรงค้นพบความสำคัญอันเป็นเอกของทฤษฏี

          ในทางการเมือง ประเทศใดพัฒนาภายใต้ทฤษฎีที่ถูก จะบรรลุความไพบูลย์และประชาชนพ้นความยากจน บางประเทศพัฒนาภายใต้ทฤษฎีที่ผิด แม้จะมีความไพบูลย์แต่ยิ่งพัฒนายิ่งจน เช่นในด้านบุคคล เจ้าชายสิทธัตถะพัฒนาจิตใจภายใต้ทฤษฎีผิดของพราหมณ์อยู่ ๖ ปี เกือบสิ้นชีวิต ประเทศไทยพัฒนามากว่าครึ่งศตวรรษภายใต้ทฤษฎีที่ว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย” ซึ่งเป็นทฤษฎีที่ผิดเพราะกลับตาลปัตรกับความเป็นจริงตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. ๒๔๙๒ แต่ความเป็นจริงในการปกครองของประเทศคือ  “ระบอบเผด็จการรัฐสภา” ประเทศไทยจึงวิกฤตหายนะตลอดมาทั้งๆ ที่ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลกและมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ที่สุดทั้ง ๓ ด้าน คือ ทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรทางคุณธรรมและทรัพยากรทางวุฒิปัญญา

           พุทธอหิงสาธรรมซึ่งเป็นการต่อสู้แก้ปัญหาอย่างสันติวิธีตามหลักพุทธธรรมในประเทศไทยคือ การปฏิวัติสันติ (Peaceful Revolution) ของพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ ๕ รัชกาลที่ ๖ รัชการที่ ๗ และการปฏิวัติรุนแรง (Violent Revolution) ของคณะราษฎรและพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยโดยลัทธิรัฐธรรมนูญกับลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยฝ่ายปฏิวัติสันติตามหลักพุทธอหิงสาธรรมที่สืบต่อจาก รัชกาลที่ ๕ รัชกาลที่๖ รัชกาลที่ ๗ คือ กองทัพแห่งชาติ ขบวานการประชาธิปไตยแห่งชาติ ตามนโยบาย ๖๖/๒๓ สภาปฏิวัติแห่งชาติหรือสภาประชาธิปไตยแห่งชาติ กับฝ่ายปฏิวัติรุนแรงที่สืบทอดต่อจากคณะราษฎรและคอมมิวนิสต์ที่กำลังต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันอยู่ในขณะนี้ พระพุทธศาสนาจะแก้วิกฤตการเมืองและสร้างสันติภาพโลกถาวร ในประเทศไทยได้อย่างไรจึงจะนำโลกแก้วิกฤตการณ์โลกได้ในที่สุด

           ๔. พระมหากษัตริย์ไทยโดยสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ ๕ ได้เริ่มนำพาประเทศชาติก้าวขึ้นสู่ยุคประวัติศาสตร์สมัยใหม่ (Modern History) ด้วยการทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาสู่ระบอบประชาธิปไตยอันเป็น “การปฏิวัติสันติ” ตามหลักพุทธอหิงสาธรรม ทรงนำเอาลัทธิประชาธิปไตยสากลมาประยุกต์เข้ากับลักษณะพิเศษของประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยแบบไทย (Thai Democracy) เริ่มด้วยมาตรการแรกของการสร้างประชาธิปไตยคือเปลี่ยนรัฐสมัยเก่า “รัฐเจ้าครองนคร” (Feudal State) มาเป็นรัฐสมัยใหม่ “รัฐประชาชาติ” (Nation State) เปลี่ยนรูปการปกครองแบบจตุสดมภ์มาเป็นกระทรวงทบวงกรม และจัดเป็นการปกครองส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น มีการยกเลิกระบบเจ้าศักดินา (Feudal Lord) เป็นเจ้าที่ดิน (Landlord) โดยปลดปล่อยชาวนาในสังกัดหรือเอกชน  (Serf) ให้เป็นเสรีชนคือ “การเลิกทาส” เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจแห่งชาติอันเป็นเศรษฐกิจเสรีนิยมที่มีอุตสาหกรรมเป็นหัวใจด้วยการยกเลิกระบบเจ้าที่ดินคือ “ปฏิรูปที่ดิน” (Land Reform) ทรงตั้งรัฐวิสาหกิจเป็นหลักนำและส่งเสริมวิสาหกิจเอกชนไทยโดยเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงแห่งชาติทางเศรษฐกิจ ทรงปฏิรูปในปฏิวัติ (Reform in Revolution) อย่างมีทฤษฎีที่ถูกต้องและใช้สันติวิธตามหลักพุทธอหิงสาธรรมไม่เสียเลือดเนื้อแม้แต่หยดเดียว เพียงประเทศเดียวในโลกที่ทรงปฏิวัติสันติแบบอหิงสาพุทธตามพุทธพจน์ว่า “อหิงสา ปรโมธมฺโม” แปลว่า “อหิงสาเป็นธรรมอันยิ่ง” รูปธรรมคือการปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ ประการ คือ มีสัมมาทิฏฐิก่อนสิ่งอื่นทั้งสิ้นนั่นเอง หรือต่อสู้เอาชนะการรุกรานยึดครองของประเทศนักล่าอาณานิคมด้วยสัมมาทิฏฐิและอหิงสาพุทธจึงประสบชัยชนะรักษาเอกราชของชาติไว้ได้ ดังพระราชหัตถเลขาของสมเด็จพระปกเกล้าฯ ที่ทรงใช้เมื่อพ.ศ. ๒๔๗๐ ว่า...

            “สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงมีพระปรีชารอบรู้ในรัฐประศาสน์ประเพณีการปกครองของไทยอย่างเก่าป็นอย่างดี และส่วนประเพณีการปกครองอย่างที่นิยมกันอยู่ในทวีปยุโรปได้ทรงศึกษาทราบหลักการโดยตลอด ... พระองค์ท่านมิได้นึกถึงสิ่งอื่นเลยนอกจากความสุขของประชาชนและความเจริญรุ่งเรืองของประเทศเป็นที่ตั้ง...การเปลี่ยนแปลงการปกครองแบบเดิมเป็นตั้งกระทรวงเป็น ๑๒ กระทรวงนี้ ต้องนับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง ซึ่งเรียกได้อย่างพูดกันธรรมดาว่า “พลิกแผ่นดิน” ถ้าจะเรียกตามภาษาอังกฤษก็ต้องเรียกว่า “เรโวลูชั่น” ...การเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงดังนี้ มีน้อยประเทศนักที่จะทำสำเร็จได้โดยปราศจากการจลาจล หรือจะว่าไม่มีเลยก็เกือบว่าได้ประเทศญี่ปุ่นได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างพลิกแผ่นดินเหมือนประเทศสยาม แต่หาดำเนินการได้โดยสงบราบคาบเหมือนประเทศสยามไม่ ยังมีการจลาจลในบ้านเมือง เช่น กบฏสัตสุมา เป็นต้น...การที่ประเทศสยามได้เปลี่ยนแปลงวิธีการปกครองอย่างเรโวลูชั่นได้โดยไม่ต้องมีใครเสียเลือดเนื้อแม้แต่หยดเดียวดังนี้ ต้องนับว่าเป็นมหัศจรรย์...การเปลี่ยนแปลงอย่างนี้รัฐบาลในประเทศสยามได้กระทำไปโดยราบคาบ เพราะเรโวลูชั่นของเรานั้นสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินเป็นผู้ทรงริเริ่ม ประกอบกับพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้ทรงมีพระปรีชาสามารถยิ่งกว่าผู้ใดหมดในเวลานั้น...พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงเล็งเห็นการภายหน้าอย่างชัดเจน และทรงทราบการที่ล่วงไปแล้วเป็นอย่างดี ได้ทรงพระราชดำริตริตรองโดยรอบคอบ ได้ทรงเลือกประเพณีการปกครองทั้งของไทยและของต่างประเทศประกอบกัน ด้วยพระปรีชาญาณอันยวดยิ่ง ได้ทรงจัดการเปลี่ยนแปลงวิธีการปกครองเป็นลำดับมาล้วนเหมาะสมกับเหตุการณ์และเหมาะสมกับเวลา ไม่ช้าเกินไปไม่เร็วเกินไป...”

             ๕. พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ ทรงสืบทอดพระราชกรณียกิจต่อมาภายใต้พระบรมราโชาบายของสมเด็จพระราชบิดา แต่พระราชกรณียกิจนี้ใหญ่หลวงยิ่งนัก เพราะพลังอนุรักษ์นิยมภายในประเทศไทยนั้นมหาศาลกว่าในญี่ปุ่นหลายเท่า ถ้าจะเป็นไปได้อย่างรวดเร็วก็แต่ด้วยพระราชอำนาจอันล้นพ้นและพระบารมีอันไพศาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเท่านั้น เมื่อเสด็จสวรรคตเสียแล้ว การที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วก็ยากนัก พระราชกรณียกิจสถาปนาการปกครองแบบประชาธิปไตยของสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงจำกัดอยู่เพียงการขยายผลพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระราชบิดาเท่านั้น ซึ่งประกอบด้วยพระราชกรณียกิจสำคัญ ๓ ประการ คือ...

            ๕.๑ ขยายเสรีภาพโดยเฉพาะคือเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอันเป็นรากฐานของเสรีภาพทั้งปวง ถึงกับตั้งหนังสือพิมพ์ของพระองค์เอง และทรงเป็นคอลัมนิสต์เอง ทรงใช้นามปากกาว่า “ศรีอยุธยา” และ “อัศวพาหุ” เป็นต้น ชาวยุโรปที่ได้เห็นเสรีภาพภายใต้การปกครองแบบสมบูณาญาสิทธิราชย์ในประเทศไทยแล้ว ได้ถวายสมัญญานามว่า Democratic King “พระมหากษัตริย์ประชาธิปไตย”
            ๕.๒ อบรมการปกครองแบบประชาธิปไตยแก่ประชาชน โดยทรงตั้งนครประชาธิปไตยตัวอย่างชื่อว่า “ดุสิตธานี”
            ๕.๓ ส่งเสริมลัทธิชาตินิยม (Nationalism) ด้วยการตั้งกองเสือป่าและด้วยทรงพระราชนิพนธ์ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองเป็นจำนวนมาก

           สมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นนักชาตินิยมฝ่ายประชาธิปไตยเพราะทรงสืบทอดสมเด็จพระราชบิดาที่ทรงปรารถนาจะสร้างประชาธิปไตย การส่งเสริมลัทธิชาตินิยมฝ่ายประชาธิปไตยเป็นการส่งเสริมภารกิจสถาปนาการปกครองแบบประชาธิปไตยอย่างสำคัญประการหนึ่ง การขยายเสรีภาพในรัชสมัยสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ ยังผลให้การเคลื่อนไหวทางการเมืองขยายตัวกว้างขวางอย่างไม่เคยมีมาก่อนทั้งลับทั้งเปิดเผย

           ๖. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗) ทรงพระราชดำริจะรื้อฟื้นบทบาทขององคมนตรีสภาของรัชกาลที่ ๕ เพื่อใช้เป็นสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราวในระยะผ่าน จากการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชไปสู่การปกครองแบบประชาธิปไตย “สภากรรมการองคมนตรี” ทำหน้าที่เป็นแกนของสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราว จากนั้นจึงขยายสมาชิกภาพของสภากรรมการองคมนตรีออกไปสู่บุคคลในอาชีพ และกิจการต่างๆ อย่างทั่วถึง เพื่อให้มีลักษณะผู้แทนปวงชน ที่แท้จริง และให้องคมนตรีสภาที่ขยายสมาชิกภาพแล้วนี้ทำหน้าที่เป็นสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราว ในขณะเดียวกันก็ใช้พระราชบัญญัติสุขาภิบาลเป็นเครื่องมือฝึกหัดการเลือกตั้งของประชาชน โดยแก้ไขเพิ่มเติมให้สมบูรณ์ภายหลังและเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นพระราชบัญญํติเทศบาล แต่อยู่ในระหว่างตรวจสอบและปฏิบัติตามขั้นตอนของการออกกฎหมาย ก็เกิดการยึดอำนาจเสียก่อนจึงออกมาเป็นกฎหมายในสมัยคณะราษฎร ทรงปฏิบัติเหล่านี้มาโดยลำดับ และเมื่อทรงพิจารณาเห็นว่าได้รับผลเพียงพอที่จะทรงสละอำนาจให้แก่ประชาชนแล้ว จึงทรงร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อประกาศใช้ในวันฉลองพระนครครบรอบ ๑๕๐ ปี คือวันที่ ๖ เมษายน ๒๔๗๕ เป็นมาตรการมอบอำนาจให้แก่สภาผู้แทนราษฎรชั่วคราวคือสภากรรมการองคมนตรี จากนั้นจึงจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปและเมื่อมีสภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งทั่วไปแล้ว จึงยุบเลิกสภากรรมการองคมนตรี ซึ่งเป็นสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราวให้สภาผู้แทนราษฎรจากการเลื่อตั้งทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎรถาวรต่อไป แต่กำหนดประกาศใช้รัฐธรรมนูญต้องเลื่อนไปเพื่อแก้ไขปรับปรุงให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นตามคำทักท้วงจากวงการชั้นสูงบางวงการ ในระหว่างนั้นก็ได้เกิดการยึดอำนาจโดยคณะทหารเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ซึ่งโดยสาระสำคัญแล้วก็เป็นอย่างเดียวกับพระราชภารกิจในการสถาปนาการปกครองแบบประชาธิปไตยองพระเจ้าวิลเลี่ยมที่ ๑ แห่งเยอรมนีและของพระจักรพรรดิมัตซูฮิโตญี่ปุ่น

           ๗. คณะราษฎรได้ทำการรัฐประหารรัฐบาลสมเด็จพระปกเกล้าฯ ที่กำลังสร้างประชาธิปไตยลงแต่สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้การต่อสู้อย่างสันติวิธีตามหลักพุทธอหิงสาธรรม ไม่ใช้กำลงเข้าปราบปรามคณะราษฎรตามคำกราบบังคมทูลของคณะทหาร และทรงช่วยคณะราษฎรจัดตั้งรัฐบาล อีกทั้งทรงห้ามมิให้ใช้กำลังเข้าโค่นล้มคณะร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ ทรงแนะนำตักเตือนคณะราษฎรตลอดมา ทรงต่อสู้โดยเอาราชบัลลังก์เป็นเดิมพันอันเป็นแบบอหิงสาพุทธจนกระทั่งสละราชมาบัติเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๔๗๗ ณ ประเทศอังกฤษนี่คือการใช้พุทธอหิงสาธรรมเข้าต่อสู้แก้ปัญหาตลอดมา อันเป็น “การใช้พุทธศาสนาแก้วิกฤตการเมืองไทยครั้งสำคัญในประวัตศาสตร์”

           คณะราษฎรได้สถาปนาการปกครองระบอบเผด็จการัฐสภาและระบอบเผด็จการรัฐประหารของลัทธิรัฐธรรมนูญขึ้นแทนโดยไม่มีเจตนา แต่มีเจตนาต้องการรัฐธรรมนูญ ต่อมาได้เกิดมิจฉาทิฏฐิว่า “ระบอบเผด็จการรัฐสภาคือระบอบประชาธิปไตย” เพราะการสร้างอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญแต่กลับตั้งชื่อว่าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและฝังหมุดทองเหลืองไว้ที่ลานพระบรมรูปทรงม้ามีข้องความว่า “ ณ ที่นี้ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เวาลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ” และการบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับพ.ศ. ๒๔๙๒ ในมาตรา ๒ ว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย...”

           ๘. พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้เปิดการต่อสู้ด้วยอาวุธเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘ “วันเสียงปืนแตก” และได้ยกระดับขึ้นเป็นสงครามกลางเมืองเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๕ เป็นต้นมา
รัฐบาลจอมพลถนอมได้ใช้แนวทางสันติแบบอหิงสาด้วยอันเป็นสัมมาทิฏฐิด้วยการออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ ๑๑๐/๒๕๑๒ ต่อสู้เอาชนะทฤษฎีโดมิโน่ซึ่งเป็นมิจฉาทิฏฐิของสหรัฐอเมริกาเพื่อต่อสู้เอาชนะการรุกรานของคอมมิวนิสต์อินโดจีน วางตัวเป็นกลางต่อสงครามกลางเมืองของประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ส่งทหารเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่นในขณะเดียวกันก็เริ่มสร้างประชาธิปไตยตามคำขวัญว่า “จะชนะคอมมิวนิสต์ต้องสร้างประชาธิปไตยให้สำเร็จ” หรือ “จะสร้างประชาธิปไตยให้สำเร็จ จะต้องชนะคอมมิวนิสต์” เช่น พรรคสหประชาไทยของจอมพลถนอม กิตติขจร  กองทัพแห่งชาติได้ออกนโยบาย ๖๖/๒๕๒๓ คือใช้สัมมาทิฏฐิของลัทธิประชาธิปไตยตามแนวทางพระปกเกล้าฯ ใช้อหิงสาพุทธสันติวิธีเข้าต่อสู้กับลัทธิคอมมิวนิสต์ที่ใช้ความรุนแรงก่อสงครามกลางเมือง กองทัพมีชัยชนะต่อสงครามกลางเมืองของคอมมิวนิสต์โดยการสร้างประชาธิปไตยระดับต่ำ แต่ไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยระดับสูงได้ คือยกเลิกระบอบเผด็จการรัฐสภาสร้างประชาธิปไตยชนะคอมมิวนิสต์ จึงยังคงมีระบอบเผด็จการรัฐสภาและเผด็จการรัฐประหารโดยมีขบวนการคอมมิวนิสต์เคลื่อนไหวอยู่ตลอดมา

           ขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติจึงได้จัดตั้งสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราวหรือการปกครองเฉพาะกาล (Provisional Government) ตามแบบอย่างของสภากรรมการองคมนตรีของรัชกาลที่ ๗ ในนาม “สภาปฏิวัติแห่งชาติ” หรือสภาประชาธิปไตยแห่งชาติอันประกอบด้วยผู้แทนเขตและผู้แทนอาชีพอย่างกว้างขวางและทั่วถึงทั้งประเทศอันแสดงถึงรูปธรรมของอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน (Sovereignty of the People) อันเป็นการปฏิวัติสันติตามแบบอย่างสมเด็จพระปกเกล้าฯ คือ เพื่อนำเอาการปฏิวัติสันติไปต่อสู้เอาชนะการปฏิวัติรุนแรงของคอมมิวนิสต์ โดยดำเนินการตามกฎหมายสูงสุด (Supreme Law) คือความมั่นคงแห่งชาติเป็นกฎหมายสูงสุดและตามความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญคือ มาตรา ๒ “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย” และมาตรา ๓ “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย” และนโยบาย ๖๖/๒๓ ขั้นตอนที่ ๒ โดยขอพระราชทานพระราชกฤษฎีกาการโอนอำนาจจากรัฐสภามาสู่สภาปฏิวัติแห่งชาติ แต่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ในฐานะประธานฯ ไม่นำร่างพระราชกฤษฎีกาขึ้นทูลเกล้าถวาย ตำรวจสันติบาลโดยรัฐบาลชาติชายได้จับกุมสภาปฏิวัติแห่งชาติไปเพื่อพิสูจน์ในขั้นศาล ปรากฏว่า “ศาลขั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตัดสินพิพากษายกฟ้อง” ไม่มีความผิดแต่ประการใดทั้งสิ้น

           ๙. เสนอตั้งรัฐบาลแห่งชาติหรือรัฐบาลสามัคคีธรรมแห่งชาติ (Government of National Unity) โดยให้ทุกพรรคการเมืองสามัคคีกันจัดตั้งรัฐบาลผสมทุกพรรคการเมือง โดยปรับระบบรัฐสภาจากระบบมีฝ่ายค้านที่เป็นอุปสรรคต่อความสามัคคีมาสู่ระบบรัฐบาลแห่งชาติอันเป็นระบบที่ก่อให้เกิดความสามัคคีทางการเมือง และความสามัคคีแห่งชาติอันเป็นรัฐบาลแห่งชาติด้านรูปแบบ (Form of National Government) แล้วมีนโยบายสร้างประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือทางการเมือง อันเป็นรัฐบาลแห่งชาติด้านเนื้อหา (Content of National Government) แล้วลงมือสร้างประชาธิปไตยให้แล้วเสร็จ แต่นักการเมืองไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติได้  การประสานโมกษธรรมเข้ากับการเมือง คือการนำพระพุทธศาสนาแก้ปัญหาวิกฤตชาติและพัฒนาสันติภาพ ด้วยการนำเอาโมกษธรรมมาประสานเข้ากับสถานการณ์ของประชาชนและประเทศชาติโดยนำเอาอริยสัจสี่ซึ่งเป็นโมกษธรรมมาประยุกต์เข้ากับปัญหาของประเทศชาติคือ..

              ทุกข์  คือ  ความยากจนและความแตกสามัคคี
              สมุทัย คือ  ตัณหาของนักการเมือง
              นิโรธ คือ การละ วาง พ้น ไม่อาลัยในตัณหาของนักการเมือง
              มรรค  คือ เห็นถูก คิดถูก พูดถูก ทำถูก เลี้ยงชีพถูก เพียรถูก สติถูก สมาธิถูก

            นักการเมืองจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติไม่ได้เพราะมีมิจฉาทิฏฐิหรือมีตัณหา นั่นคือ ตัณหาของนักการเมืองคือเหตุแห่งทุกข์ของประชาชน จะต้องปฏิบัติโมกษธรรมเพื่อขจัดตัณหา มีสัมมาทิฏฐิ สร้างประชาธิปไตยด้วยการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ โดยพระภิกษุช่วยนักการเมืองให้ละตัณหามีสัมมาทิฏฐิรู้ประชาธิปไตย  ต่อมาพระภิกษุช่วยยกระดับม็อบ (ฝูงชน) ด้วยสัมมาทิฏฐิอหิงสาธรรมและประชาธิปไตยให้เป็นมวลชนธรรมะประชาธิปไตย เพื่อช่วยผลักดันนักการเมืองให้สร้างประชาธิปไตย จัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ

            ๑๐. เสนอตั้ง “การปกครองเฉพาะกาล” (Provisional Government) อันเป็นการสร้างประชาธิปไตยโดยสถาบันพระมหากษัตริย์ คือมีสภาประชาธิปไตยแห่งชาติ สภารู้รักสามัคคี สภาประชาภิวัฒน์ หรือสภาปฏิวัติแห่งชาติ สภาปรองดองแห่งชาติ เป็นต้น ตามแบบอย่างสภากรรมการองคมนตรีของพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗) ด้านรูปแบบ คือมีตัวแทนเขตและตัวแทนอาชีพอย่างครบถ้วนตามสัดส่วนทั่วประเทศ (Form of Provisional Government) และมีนโยบายสร้างประชาธิปไตยเป็นเนื้อหา (Content of Provisional Government) ของรัฐบาลเฉพาะกาล (Government of Provisional Government)ผลักดันนักการเมืองด้วยสัมมาทิฏฐิอหิงสาพุทธให้นักการเมืองถวายคืนอำนาจอธิปไตยแด่พระมหากษัตริย์เพื่อทรงมอบอำนาจอธิปไตยให้แก่ปวงชนชาวไทยทรงพระราชทานการปกครองเฉพาะกาล และ/ หรือรัฐบาลแห่งชาติ ตามแบบอย่างพระปกเกล้าที่ยังทรงมิได้ปฏิบัติให้แล้วเสร็จเพราะถูกขัดขวางแย่งชิงอำนาจมาโดยคณะราษฎรเมื่อ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕

            การปฏิวัติสันติวิธีตามหลักพุทธอหิงสาธรรมจะทำให้ได้ปฏิบัติโมกษธรรมในจิตใจ และได้ปฏิบัติปฏิวัติมีประชาธิปไตยในประเทศชาติ จะบังเกิดเป็น “มนุษยปฏิวัติ” จะแก้วิกฤตการเมืองหรือวิกฤตชาติได้อย่างทั่วด้านและจะบังเกิดเป็นสันติภาพโลกถาวรก่อผลสะเทือนจากประเทศไทยไปสู่สากลอันเป็นโลกาภิวัฒน์โดยพระพุทธศาสนา จะเป็นโลกแห่งอหิงสาพุทธะหรือโลกแห่งอริยะในโลกาภิวัฒน์โดยพระพุทธศาสนา จะเป็นโลกแห่งอหิงสาพุทธะหรือโลกแห่งอริยะในยุคหลังประวัติศาสตร์สมัยใหม่อย่างแท้จริง เมื่อนั้น ประเทศไทยจะนำโลกด้วยพระพุทธศาสนานั่นเอง
 
เรียบเรียงจากแถลงการณ์ สภาธรรมาธิปไตยแห่งชาติ รัฐสภาวนาราม สถาบันธรรมะประชาธิปไตย ขบวนการศาสนาเพื่อมนุษยชาติ เรื่อง “พระพุทธศาสนากับการแก้วิกฤตการณ์ของโลก...ว่าด้วยพระพุทธศาสนากับการแก้วิกฤตการเมืองและพัฒนาสันติภาพ” ลงวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๒
 
 
  
               
 
 

 

                
 
 
 
  
 
 
 
 

  
 
 
 



Webboard is offline.