มีประเด็นที่น่าสนใจว่ารัชกาลที่ ๖ ทรงริเริ่มการสร้างเมืองจำลองเพื่อเหตุผลใด หลักฐานชี้ชัดว่าทรงสร้างขึ้นและดูแลในระหว่างที่ยังทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นพระบรมโอรสสาธิราชก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ และทรงสร้างเมืองจำลองขึ้นครั้งแรกที่บริเวณพระที่นั่งอนันตสมาคมเดิมและได้ย้ายมาอยู่บริเวณวังพญาไททีหลัง พระราชดำริโครงการดุสิตธานีถือว่าเป็นความคิดริเริ่มเพื่อเตรียมการให้สยามเตรียมตัวจัดระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยเป็นของตนเอง และเพื่อเป็นการปลูกฝังลัทธิการปกครองตามแบบประชาธิปไตยให้กับประชาราษฎร์ ได้ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ ผู้ว่าราชการจังหวัด สมุหเทศาภิบาล และนายอำเภอเข้าไปฝึกอบรมการปกครองตามระบอบดังกล่าวที่ดุสิตธานีด้วย
...สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ..เสด็จออกไปศึกษาในทวีปยุโรปนั้นทรงมีพระชนม์ ๑๓ พรรษาเท่านั้น ก่อนออกเดินทางเพียง ๓๘ วัน ฝรั่งเศสก็นำเรือรบเข้ามาบุกรุกประเทศไทยเมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ การกระทำของฝรั่งเศสเป็นผลที่ทำให้ไทยเจ็บแค้นมาก สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ แม้จะทรงพระเยาว์เช่นนั้น ก็ย่อมตระหนักพระทัยดีว่าอะไรเป็นอะไร ...
จากข้อเขียนนี้สรุปให้เห็นว่า ทรงเห็นภัยจากต่างชาติด้วยประสบการณ์ตรงของพระองค์เอง หลังจากทรงใช้เวลาศึกษาอยู่ที่อังกฤษจนเสด็จนิวัติพระนครในพระชนม์ ๒๒ พรรษา เพื่อทรงทำหน้าที่องค์มหามกุฎฯสืบสันตติวงศ์ต่อจากเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่ในยุโรป ทรงสร้างดุสิตธานีขึ้นครั้งแรกที่บริเวณพระที่นั่งอนันตสมาคมเดิมและย้ายมาสู่บริเวณวังพญาไทภายหลังเนื่องจากสถานที่เดิมคับแคบเกินไป
เมืองดุสิตธานี เป็นพระราชประสงค์ที่จะทรงฝึกฝนอบรมเสนาอำมาตย์ราชบริพาร นับแต่เสนาบดีลงมาให้ซาบซึ้งในพระบรมราโชบาย และวิธีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย จึงมีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ไปสมัครเป็นทวยนาครด้วยมาก...
"...เรื่องการตั้งเมืองดุสิตธานีนั้น เป็นการปลุกคนไทยขึ้นให้รู้จักแนวทางของประชาธิปไตย เพราะทรงทราบดีว่า การที่ประเทศสยามจะยึดการปกครองอย่างสมบูรณาญาสิทธิราชอย่างแบบของเก่า จะคงอยู่ต่อไปหาได้ไม่ จำต้องให้เรียนรู้เอาไว้เพื่อความเจริญในอนาคต..."
เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ? ทั้งที่พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราช เมื่อมีพระราชดำริหรือพระราชประสงค์ในสิ่งใดประการใด เพียงตรัสออกไปก็ย่อมสำเร็จได้ดังพระราชประสงค์
...การปฏิรูปการปกครองนับว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะไม่เพียงแต่เปลี่ยนแปลงวิถีทางการงาน แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงความรู้สึกในจิตใจด้วยทีเดียว พระองค์จึงได้ทรงทำเป็นการทดลองขึ้นก่อนเพื่อเป็นการหยั่งดูถึงความคิดจิตใจของบุคคลทั้งหลายด้วย
นี่คือข้อสรุปจากหนังสือที่สะท้อนให้เห็นความละเอียดรอบคอบของรัชกาลที่๖อย่างยิ่ง ที่ทรงได้เสียงสะท้อนจากความไม่เข้าใจในหลักการปกครอง และเสียงสะท้อนนั้นปรากฏเห็นชัดจากมหาดเล็กที่ได้รับใช้ใกล้ชิดนั่นเอง
นำสู่การปฏิบัติ
นายราม ณ กรุงเทพ ไม่มีพระราชอิสริยยศ เป็นหนึ่งในทวยนาคร แห่งนครดุสิตธานี นายรามหรือพระเจ้าอยู่หัวเองก็ทรงเข้าร่วมทะเบียนราษฎร์เป็นหนึ่งใน ทวยนาคร มีฐานเทียบเท่า ทวยนาคร คนหนึ่งในเมืองดุสิตธานี นี่คือความหมายที่แอบซ่อนอยู่ในการสร้างหลักความเสมอภาคอันเป็นหลักการสำคัญอันหนึ่งของลัทธิประชาธิปไตย การสร้างสมมุติบัญญัตินายรามขึ้นมาเท่ากับว่าทรงมีส่วนร่วมในวิถีประชาธิปไตยด้วยพระองค์เอง ทั้งที่ทรงสามารถกำหนดบทบาทอื่นด้วยการเป็นเพียงผู้กำกับละครโดยไม่ต้องเข้าร่วมก็ย่อมทรงทำได้ แต่กลับทรงเลือกลดพระราชฐานะลงมา "เล่นด้วย" ในสมมุติของนายรามราษฎรธรรมดาที่มีอาชีพเป็นทนายความที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ รับรู้บรรยากาศเมืองดุสิตธานีและแสดงทัศนะของความเป็นทวยนาครของดุสิตธานีไม่ต่างจากทวยนาครคนอื่นๆ นอกจากนี้แล้วยังทรงเข้าร่วมกระบวนการนำทางความคิดของสังคมประชาธิปไตยด้วยทรงเป็นหนึ่งใน "คอลัมนิสต์" ต้นแบบให้กับหนังสือพิมพ์ดุสิตสมัยอีกด้วยภายใต้ชื่อสามัญว่า "ราม รามจิตติ"
เมื่อทรงลงมือปฏิบัติเอง จึงทรงหยั่งถึงและประเมินความพร้อมของราษฎรถูกต้องและแม่นยำ ไม่ต่างกับงานวิจัยชิ้นหนึ่งนั่นเอง
ในรัชสมัยของพระองค์ เกิดการวางรากฐานการศึกษาอย่างกว้างขวางเพราะทรงให้ความสำคัญของการศึกษาอย่างยิ่งและได้ทรงริเริ่มก่อตั้งโรงเรียน สถานศึกษาขึ้นทั่วราชอาณาจักร เพื่อนำหลักการความเสมอภาคในขั้นตอนต่อไปมาให้ราษฎร การได้มาซึ่งการศึกษาจะทำให้ราษฎรมีเสรีภาพมากขึ้น เป็นเงาตามตัว
เมื่อทรงขึ้นครองราชย์ได้ทรงมีพระราชภารกิจอย่างหนึ่ง ทรงเร่งรัดให้มีการศึกษาภาคบังคับเรียนเพิ่มขึ้นจากชั้น ม.๖ เป็นชั้นม.๘ เพื่อเตรียมความพร้อมนักเรียนให้พอเพียงต่อความรู้ระดับมหาวิทยาลัย พระองค์ทรงรอนานอยู่ถึง ๕ ปี จึงสามารถเปิดจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยขึ้นเป็นหมาวิทยาลัยแห่งแรกในปี ๒๔๕๘ นอกจากนั้นได้ใช้ประกาศพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับแก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินให้เป็นพลเมืองที่มีการศึกษาทั่วประเทศ ได้ทรงก่อตั้งโรงเรียนขึ้นทั่วราชอาณาจักร โดยใช้วัดเป็นศูนย์กลาง ที่เรียกว่าโรงเรียนวัดในปัจจุบัน ด้วยวิธีการนำระบบคุณธรรมของพุทธศาสนาไปใส่ไว้ในระบบการศึกษา คือที่มาของโครงการ บวร อันประกอบด้วย บ้าน วัด และโรงเรียน ที่กำลังนำมาปัดฝุ่นทำกันใหม่ในขณะนี้นั่นเอง

กลุ่มปราสาทราชวัง |
" ดุสิตธานี เป็นเมืองจำลองเล็กๆ สร้างขึ้นแห่งแรกในพระราชวังดุสิต ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีเนื้อที่ประมาณ ๒ ไร่ครึ่ง มีลักษณะเกือบจะเป็นรูปสี่เหลี่ยม ทางด้านใต้ติดพระที่นั่งอุดร ทางด้านเหนือติดอ่างหยกเฉพาะบ้านทั้งหมดมีจำนวนประมาณสามร้อยกว่าหลัง ถ้านับตัวอาคารด้วยก็ประมาณ ๑,๐๐๐ หลัง ประกอบด้วยปราสาทราชวัง วัด สถานที่ราชการ โรงทหาร โรงเรียน โรงพยาบาล ตลาด ร้านค้า ธนาคาร โรงละคร โรงภาพยนตร์ สโมสรบริษัท สำนักงาน ที่ขาดไปคือมหาวิทยาลัย ปั๊มน้ำมัน และสถานโบว์ลิ่ง เท่านั้น อาคารเหล่านี้มีขนาดย่อส่วนเท่ากับ หนึ่งในยี่สิบส่วนของของจริง คือมีขนาดโตกว่าศาลพระภูมิเพียงเล็กน้อย สร้างขึ้นด้วยฝีมือประณีต ทาสีและฉลุสลักลวดลายอย่างวิจิตร มีไฟฟ้าติดสว่างทุกบ้าน มีถนนเชื่อมเหมือนของจริง ปลูกต้นไม้เล็กๆ ร่มรื่นทั้งสองข้างทาง
|
รูปธรรมการพัฒนาการเมืองไทยโดยสถาบันพระมหากษัตริย์
บันทึกประวัติศาสตร์มักเขียนถึงดุสิตธานีเมืองประชาธิปไตยในแง่ของเมืองจำลองในอุดมคติที่ต้อง ฝันให้ถึง นอกจากจะเป็นเมืองในอุดมคติ มีความนำสมัยและสวยงามราวเมืองฟ้าเมืองสวรรค์ ยังมีระบบสาธารณรูปโภคพร้อมเพรียง แม้ข้าราชบริพารเดิมในอดีตที่ไม่เข้าใจในเรื่องการปกครองแบบเสรีภาพใหม่เอี่ยมถอดด้ามที่ทรงพยายามจะปลูกฝังให้แก่ราษฎรโดยเริ่มจากข้าราชบริพารใกล้ชิด อาทิมหาดเล็กหลวงทั้งหลาย ยังมีการแอบกล่าวหาว่าพระเจ้าอยู่หัวสร้างเมืองตุ๊กตาขึ้นมาทำเล่นเพื่อความเพลิดเพลิน หารู้ไม่ว่านั่นคือขั้นตอนการลงมือปฏิบัติในภาคสนาม เป็นการเตรียมการสร้างบ้านแปงเมืองขนานใหญ่เพื่อสานต่อพระราชบิดาในการเปลี่ยนแปลงสยามประเทศ อันเป็นพระราชภารกิจอีกขั้นตอนหนึ่งหลังจากการเลิกทาสโดยพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ ๕
หากจะเรียกโครงการดุสิตธานีในภาษาปัจจุบัน ก็ต้องเรียกว่าเป็นโครงการนำร่องต้นแบบหรือ Pioneering Pilot Project เพื่อพัฒนาการปกครองต้นแบบให้ราษฎร (ทวยนาคร) รู้จักการปกครองตัวเองในรูปแบบบริหาร (นคราภิบาล) และรูปแบบสภาที่มีการลงคะแนนเสียงในระบบสภาเลือกสรร "เชษฐบุรุษ" เพื่อเข้ามาทำหน้าที่บริหาร
การทดลองการปกครองแบบดุสิตธานีนั้นแบ่งเป็น ๓ ช่วง ช่วงที่สองนคราภิบาลหรือMunicipality โดยแบ่งโครงสร้างการปกครองออกตามลักษณะการบริหาร ทรงโปรดเกล้าให้มีหนังสือพิมพ์ขึ้นในเขตนคราภิบาล มีแผนกคลัง แผนกตำรวจ ตั้งแบงค์ (สมัยนั้นยังไม่เรียกธนาคาร) เพื่อรับฝากเงิน ส่วนช่วงที่สามคือ การปกครองแบบสภา คือมีลักษณะเข้มข้นเหมือนการเปิดโรงเรียนแบบทัศนศึกษาให้ผู้ศึกษามีส่วนร่วมในการปกครองอย่างเต็มรูปแบบด้วยการลงคะแนนเลือกตั้ง
ดังปรากฏอยู่ในหนังสือว่า
เกี่ยวกับธรรมนูญการปกครองดุสิตธานีนั้น ในสารานุกรมกล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้คำว่า เสรีภาพ แทนคำ ประชาธิปไตย มีพระราชปรารภว่า การปกครองแบบเสรีภาพนั้น จะใช้การปกครองได้ก็ต่อเมื่อประชาชนมีการศึกษาเท่าเทียมกันแล้ว คำว่าประชาธิปไตย มีปรากฏเป็นชื่อถนนสายหนึ่งในดุสิตธานีที่วังพญาไท
เกี่ยวกับธรรมนูญการปกครองดุสิตธานีนั้น ในสารานุกรมกล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้คำว่า เสรีภาพ แทนคำ ประชาธิปไตย มีพระราชปรารภว่า การปกครองแบบเสรีภาพนั้น จะใช้การปกครองได้ก็ต่อเมื่อประชาชนมีการศึกษาเท่าเทียมกันแล้ว คำว่าประชาธิปไตย มีปรากฏเป็นชื่อถนนสายหนึ่งในดุสิตธานีที่วังพญาไท
|
ศาลารัฐบาลดุสิตธานี(เทียบเท่าทำเนียบรัฐบาลในปัจจุบัน)
|
ในส่วนของการสร้างสังคมประชาธิปไตย ได้ทรงสร้างหนังสือพิมพ์รายวันขึ้น ๒ ฉบับ คือ ดุสิตสมัย และดุสิตเรคอร์เดอร์ และหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ชื่อ ดุสิตสมิตขึ้นทีหลัง โดยมีสาเหตุปรากฏดังนี้คือ "...แต่ละฉบับเที่ยวหาข่าวอันเป็นสาระอะไรลงไม่ได้ ต่างก็หันเข็มไปเขียนโจมตีเรื่องส่วนตัวของพวกเดียวกันเอง ถึงตอนนี้คนอ่านก็พลอยสนุกและชอบใจ เพราะฟังเรื่องแปลกๆดี ส่วนองค์สมเด็จพระปรมาจารย์นั้นไม่พอพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง ได้พยายามสอนด้วยพระองค์เองว่า คนที่เขียนเรื่องอันไม่ก่อประโยชน์ต่อสาธารณะมาลงในหนังสือพิมพ์เชนนี้ เป็นวิธีที่เลวมาก และเป็นวิธีการของนักหนังสือพิมพ์ชาวตะวันตกเขาทำกันเมื่อเป็นเวลาผ่านมาตั้ง ๑๐๐ ปีแล้ว และเป็นการเลวร้ายเสียกว่าบัตรสนเท่ห์ เพราะบัตรสนเท่ห์รู้กันเฉพาะแต่ตัวผู้รับ คนอื่นไม่พลอยรู้ไปด้วย จึงทรงแนะนำให้นักหนังสือพิมพ์หันเข็มไปในทางแปลบทความบ้าง เรื่องน่ารู้บ้าง แต่พอนานวันเข้าไม่รู้จะหาอะไรมาเขียนก็หันมาเล่นงานกันอีกเช่นเคย คราวนี้ล้นเกล้าฯ ก็เลยออกหนังสือพิมพ์ดุสิตสมิตขึ้นมาบ้าง
อย่างไรก็ดีในหนังสือระบุไว้ว่าข้าราชการสมัยก่อนทำหน้าที่ซื่อสัตย์สุจริต และการทำหน้าที่ของสื่อยุคดุสิตสมิต ทำให้เกิดความเกรงกลัวว่าชื่อตนจะไปปรากฏอยู่ในหนังสือพิมพ์หากปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกควร สังคม เสรีภาพ เพื่อวางพื้นฐานสังคมประชาธิปไตยในสมัยล้นเกล้าฯรัลกาลที่๖ จึงดูล้ำสมัยแบบค่อยเป็นค่อยไป
บ้านใหญ่ |
บ้านน้อย
|
เป็นธรรมดาว่าสิ่งที่ก้าวหน้าอาจมีคนตามที่ไม่เข้าใจ แต่ถึงอย่างไรก็ดีก็ยังมีส่วนข้าราชการที่เข้าใจในแนวทางสมดังพระราชประสงค์ด้วยเช่นกัน ดังปรากฎอยู่ในหนังสือเป็นหลักฐานว่า ...พระยาราชนกุล (อวบ เปาโรหิต) ปลัดกระทรวงมหาดไทยในสมัยนั้น ซาบซึ้งในพระบรมราโชบายและพระราชดำริโดยถ่องแท้แล้ว ประกอบกับที่ได้ทรงมีพระราชปฏิสันฐาน และเพ็ดทูลเรื่องการปกครองบ้านเมืองอยู่บ่อยๆ ครั้งหนึ่งเมื่อมีโอกาส เป็นการเฉพาะได้กราบทูลขึ้นว่า กระทรวงมหาดไทยได้ซาบซึ้งถึงพระบรมราโชบายและวิธีการของดุสิตธานีแล้ว ถ้าต้องด้วยพระราชประสงค์ กระทรวงมหาดไทยจะรับสนองพระบรมราโชบายนำแบบอย่างของดุสิตธานีไปปฏิบัติในจังหวัดต่างๆ ตามที่เห็นสมควรและเหมาะสม เป็นอันดับไปจนกว่าจะทั่วถึง มีพระราชดำรัสตอบว่า นั่นน่ะซี ฉันต้องการให้การปกครองท้องที่มีการปรับปรุงกันเสียที จึงได้วางระเบียบไว้เพื่อให้เห็นเป็นตัวอย่าง
พระราชวังพญาไทกับดุสิตธานีริมคลองสามเสน |
วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม |
ความลึกซึ้งของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เริ่มต้นให้การศึกษาเรียนรู้ต่อมหาดเล็กส่วนพระองค์ได้เรียนูรู้ก่อน และได้เป็นองค์ผู้ให้กำเนิดทหารมหาดเล็กส่วนพระองค์ ที่มีการเฉลิมฉลองกันทุกปีในวันที่ ๑๑ พ.ย. ของทุกปี ความลึกซึ้งนี้กระจายขยายผลไปยังข้าราชการที่ปกครองอยู่ในจังหวัดต่างๆที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อนำแนวทางและวิธีการดุสิตธานีไปใช้ในการปกครองในจังหวัดของตน ดังปรากฎอยู่ในพระราชดำรัสวันเปิด "ศาลารัฐบาล" ดุสิตธานีดังนี้
"...วิธีการดำเนินการในธานีเล็กๆของเราเป็นเช่นไร ก็ตั้งใจว่าจะให้ประเทศสยามได้ทำเช่นเดียวกัน แต่จะให้เป็นการสำเร็จรวดเร็วทันใจดังธานีเล็กนี้ ก็ยังทำไปทีเดียวยังไม่ได้ โดยมีอุปสรรคบางอย่าง เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าขอให้ราชการทั้งหลายตลอดจนทวยนาคร จงตั้งใจกระทำกิจการของตนตามหน้าที่ให้สมกับธานีซึ่งได้จัดตั้งขึ้นนี้ ในไม่ช้าจะได้แลเห็นผลของประเทศสยามว่าจะเจริญไปได้เพียงไร.."
๗๗ ปีผ่านไป แนวทางสร้างประชาธิปไตยโดยพระมหากษัตริย์ไทย ยังคงอยู่แต่เกิดการพลัดหลงเข้าไปอยู่ในระบอบเผด็จการรัฐสภา จนดูเหมือนว่าการเมืองไทยได้หยุดพัฒนาไปแล้ว และชื่อดุสิตธานีถูกสงวนไว้ให้สิงสาราสัตว์ในสวนสัตว์เขาดินหรือสวนสัตว์ดุสิตอยู่ มิใช่เมืองฟ้าเมืองสวรรค์ของมนุษย์ผู้เจริญแต่อย่างใด เป็นที่น่าเสียดายว่า การวางรากฐานวิถีประชาธิปไตยโดยพระมหากษัตริย์ไทยได้เริ่มต้นอย่างละเอียดรอบคอบ สืบทอดต่อมายังการเตรียมการมอบรัฐธรรมนูญให้ประชาชนในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่๗ มิได้สำเร็จสมพระราชปณิธานเดิม เนื่องจากคณะราษฎรได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบเผด็จการรัฐสภาอย่างที่เป็นอยู่เสียก่อน ประชาชนชาวไทยจึงมิได้เห็นผลจากพระวิริยะอุตสาหะของพระมหากษัตริย์นักประชาธิปไตยทั้งสามพระองค์ที่มาสะดุดเสียกลางคัน
ในปีพ.ศ.ปัจจุบัน ขณะที่ การเมืองไทยกำลังตกขอบวิถี ในระบบเผด็จการรัฐสภา และดูราวกับว่าจะถอยหลังตกคลองหยุดการพัฒนาอย่างสิ้นเชิง การสะท้อนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์จากยุคหนึ่งไปสู่อีกยุคหนึ่งโดยไม่ศึกษาหันเหลียวหลังย้อนรอยดูวิวัฒนาการการเมืองไทยผ่านการปกครองแต่ละยุคสมัยคงจะเหลีกเลี่ยงไม่ได้ การเตรียมการของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่๖ กระทำในท่ามกลางการเมืองโลกและการติดต่อสื่อสารกับโลกตะวันตกนั้นนับว่าเป็นการประคองรัฐนาวาสยามผ่านวิกฤตลัทธิล่าอาณานิคมาอย่างรัดกุมที่สุดในพระบรมราชวินิจฉัยและเท่าที่เหตุการณืจะอำนวย
ดุสิตธานีจะสอดคล้องกับไทยไตรยางคธรรมหรือไม่ ? จะสมกับเป็นเมืองแห่งพระโพธิสัตว์เจ้าสมดั่งพระราชปรารถนาของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวหรือไม่ เป็นสิ่งที่น่าศึกษาเป็นพื้นฐานพัฒนาการสร้างประชาธิปไตยในแนวทางของพระมหากษัตริย์เป็นอย่างยิ่ง หลักฐานการมีส่วนร่วมของทวยราษฎรในโครงการดุสิตธานีเป็นประจักษ์พยานทางประวัติศาสตร์ที่น่าพิศวง และชวนทำความเข้าใจว่าพระมหากษัตริย์ไทยแต่ละรัชกาล ต่างทรงทำหน้าที่ของพระองค์ในการสร้างสังคมประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นอย่างละเอียดถี่ถ้วนโดยมีพื้นฐานความเข้าใจในโครงสร้างสังคมและรากเหง้าวัฒนธรรมชาวสยามอย่างถ่องแท้