Revolutionary Press Agency : Online Journal and News Agency for Peace
สำนักสื่อปฏิวัติ  : วารสารข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
8 มิ.ย. 2554 กองหน้าประชาชนรุ่นใหม่ อนุสรณ์ สมอ่อน ตอบคำถามคาใจทำไมต้องปฏิวัติประชาธิปไตย? 
 
อุปสรรคความสำเร็จการปฏิวัติประชาธิปไตยในประเทศไทย ตอน ๑๕
 
เขียนโดย ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร โพส  ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ : ๒๒.๓๐ น.
 
คณะราษฎร-อุปสรรคของความสำเร็จของการปฏิวัติประชาธิปไตยในประเทศไทย
การปฏิวัติประชาชาติของคณะราษฎร (2)
ความเสมอภาคทางเศรษฐกิจระหว่างเศรษฐีกับคนจน
 
 
                     (ต่อจากตอนที่แล้ว)
 
   
                        
 
           ข้อเขียนของผม ไม่ใช่มุ่งติเตียนบุคคลใดหรือคณะบุคคลใด แต่มุ่งเสนอแนวทางปฏิวัติประชาธิปไตยที่ถูกต้องสำหรับประเทศไทย  การที่จะเข้าใจแนวทางที่ถูกต้องจำเป็นต้องรู้ความผิดความถูกของแนวทางต่างๆ ในการปฏิวัติประชาธิปไตย และจะรู้ความผิดความถูกดังกล่าวได้ ต้องนำเอาแนวทางนั้นๆ มาวิเคราะห์  การวิเคราะห์แนวทางเพื่อได้ข้อสรุปที่เป็นสัจธรรม  ไม่ใช่การติเตียนหรือโจมตีบุคคลหรือคณะบุคคล  ผมเคารพบุคคลทุกคนและคณะบุคคลทุกคณะ  แต่ต้องวิเคราะห์แนวทางของเขาเพราะว่าการทำปฏิวัติประชาธิปไตยตั้ง ๑๐๐ ปีก็ยังไม่เสร็จนั้น เป็นเรื่องร้ายแรงมาก ในประเทศเอกราชในตะวันออกไกลที่ถึงเวลาจะทำการปฏิวัติประชาธิปไตยรุ่นเดียวกันมี ๓ ประเทศ คือ ไทย จีน และญี่ปุ่น   

           จีนพยายามทำการปฏิวัติมาราว ๗๐ ปีไม่สำเร็จ คอมมิวนิสต์จึงเข้ามาทำให้ ซึ่งเมื่อสำเร็จเมื่อ ๓๓ ปีก่อนก็พาประเทศจีนไปสู่สังคมนิยม  ตามแบบฉบับของคอมมิวนิสต์ที่เข้ามาทำการปฏิวัติประชาธิปไตย  ญี่ปุ่นทำการปฏิวัติประชาธิปไตยสำเร็จเมื่อประมาณ ๑๐๐ ปีก่อน จึงรอดตัว และกลายเป็นมหาอำนาจไป เหลือแต่ไทยซึ่งผมไปอภิปรายที่หอประชุมใหญ่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตามคำเชิญเรื่อง” ประชาธิปไตยไทยผลงานของคณะราษฎร” เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๒๖ ไว้ตอนหนึ่งว่า

           “ขบวนการประชาธิปไตยในประเทศไทย เริ่มแสดงผลงานเมื่อพ.ศ. ๒๔๒๘ ภายหลังรัชกาลที่๕ เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบสันตติวงศ์ ๑๗ ปี และกำลังทรงทำการปฏิรูปประชาธิปไตยอย่างใหญ่โต  ผลงานของขบวนการประชาธิปไตยครั้งนั้นคือ คณะเจ้านายและขุนนาง มีพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนเรศร์วรฤทธิ์ทรงเป็นหัวหน้า ทำหนังสือลงวันที่ ๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๒๘ กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นหนังสือยาวประมาณ ๑๐ หน้าพิมพ์ เนื้อความสำคัญขอให้ยกเลิกระบอบประชาธิปไตย ดังข้อสรุปในตอนต้นว่า

           “ ความซึ่งข้าพระพุทธเจ้าจะได้กราบบังคมทูลพระกรุณาต่อไปนี้ มีอยู่สามข้อเป็นประธาน

๑. คือภัยอันตรายซึ่งจะมีมาถึงกรุงสยามได้ ด้วยความปกครองของกรุงสยามดังเช่นมีอยู่ในปัตยุบันนี้  จะเป็นไปได้ด้วยเหตุต่างๆ ดังมีตัวอย่างของชาติที่มีอำนาจใหญ่ ได้ประพฤติต่อชาติซึ่งหาอำนาจป้องกันตนเองมิได้
๒. คือการที่จะรักษาบ้านเมืองให้พ้นอันตรายที่จะเกิดขึ้นด้วยการปกครองของบ้านเมืองที่มีอยู่ในปัตยุบันนี้ โดยทางยุติธรรม ฤาอยุติธรรมของศัตรูก็ดี ต้องอาศัยความเปลี่ยนแปลงในทางทำนุบำรุงรักษาบ้านเมือง ตามทางที่ญี่ปุ่นได้เดินทางยุโรปมาแล้ว และซึ่งประเทศทั้งปวงที่มีศิวิไลซ์ นับกันว่าเป็นทางอันเดียวที่จะรักษาบ้านเมืองได้
๓. ที่จะจัดการตามข้อสองให้สำเร็จได้จริงนั้น อาจเป็นไปได้อย่างเดียวแต่จะต้องตั้งพระราชหฤทัยว่า สรรพสิ่งทั้งปวงต้องจัดให้เป็นไปโดยจริงอย่างอุกฤษฎ์ ทุกสิ่งทุกประการไม่ว่างเว้น”
 
 
          นี่คือการเรียกร้องให้เปลี่ยนการปกครองให้เป็นอย่างญี่ปุ่นที่ทำให้เป็นการปกครองอย่างยุโรปก็คือยกเลิกระบอบเผด็จการ สถาปนาระบอบประชาธิปไตย ก็คือ การปฏิวัติประชาธิปไตยนั่นเอง เพียงแต่ไม่ได้ใช้คำว่า “ปฏิวัติ” หากใช้คำว่า “สรรพสิ่งทั้งปวงต้องจัดให้เป็นไปโดยจริงอย่างอุกฤษฎ์สิ่งทุกประการไม่ว่างเว้น”

         ญี่ปุ่นทำการปฏิวัติประชาธิปไตยสำเร็จโดยพระจักรพรรดิมัตซูฮิโตทรงร่วมมือกับซามูไรรุ่นหนุ่ม ด้วยสันติวิธี ตรงกับสมัยรัชกาลที่๕ ของเรา ความสำเร็จของการปฏิวัติประชาธิปไตยของญี่ปุ่นปลุกความตื่นตัวของคนไทยอย่างมากให้เอาอย่าง  ดังเช่น คำกราบบังคมทูลของคณะเจ้านายและขุนนางที่กล่าวนี้ ซึ่งความจริงรัชกาลที่๕ ซึ่งทรงเป็นนักปฏิรูปประชาธิปไตยผู้ยิ่งใหญ่ ก็ทรงตั้งพระราชหฤทัยอยู่แล้วที่จะทำการปฏิวัติประชาธิปไตย หากเพียงจะทำการปฏิรูปประชาธิปไตยให้สำเร็จก่อน ดังพระราชหัตถเลขาตอบตอนหนึ่งว่า  “ในข้อความบรรดาที่กล่าวมาแล้ว  ที่เป็นตัวใจความสำคัญทุกอย่างนั้น เรายอมรับว่าเป็นจริงดังนั้น” และตอนสุดท้ายทรงตอบว่า “รวมความก็อย่างเดียวคือคอเวินเมนต์รีฟอมนี่แลเป็นต้นเหตุที่จัดการทั้งปวงได้สำเร็จตลอด ถ้าเรื่องนี้ไม่เป็นการเรียบร้อยแล้ว การอื่นๆยากนักที่จะตลอดไปได้ เพราะฉะนั้น เราขอให้ท่านทั้งปวงคิดการเรื่องนี้ตามที่รับมาว่าจะคิดนั้นเถิด” คอเวินเมนต์รีฟอม government reform ก็คือการปฏิรูปประชาธิปไตยที่ทรงกระทำอยู่อย่างใหญ่โตนั่นเอง) จึงเห็นได้ว่ารัชกาลที่๕ มิได้ทรงมีพระราชประสงค์ทางปฏิรูปประชาธิปไตยเท่านั้น แต่ทรงมีพระราชประสงค์ทางปฏิวัติประชาธิปไตย ถ้าพระองค์ไม่เสด็จสวรรคตเสียก่อน อาจทรงทำการปฏิวัติประชาธิปไตยสำเร็จอย่างญี่ปุ่น” นี่คือความตอนหนึ่งซึ่งผมอภิปรายที่จุฬาฯ
 
           หลังจากคณะเจ้านายและขุนนาง ก็มีหลายกลุ่ม หลายคณะ หลายพรรค หลายบวนการ พยายามทำการปฏิวัติประชาธิปไตยก็ไม่เสร็จสักที จึงเห็นได้ว่า การที่บ้านเราต้องเผชิญปัญหาพื้นฐานอันร้ายแรงมากมายหลายเรื่องดังที่เห็นอยู่นี้  ก็เพราะเราทำการปฏิวัติประชาธิปไตยช้าที่สุดในโลก คือทำตั้ง ๑๐๐ ปีก็ยังไม่สำเร็จ เคราะห์ดีที่ความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติช่วยไว้ มิฉะนั้นพังไปนานแล้ว

           แต่จะช้าไปกว่านี้อีกไม่ได้แน่ ถึงกระนั้นมันก็ไม่สามารถเป็นไปเองได้ ต้องอาศัยการกระทำของผู้มีเตนาดีทั้งหลาย และจะกระทำสำเร็จได้ ต้องมีแนวทางปฏิวัติประชาธิปไตยที่ถูกต้อง และจะเกิดแนวทางที่ถูกต้องขึ้นได้ต้องวิเคราะห์แนวทางต่างๆ

           ฉะนั้นผมวิเคราะห์แนวทางต่างๆเพื่อได้มาซึ่งแนวทางที่ถูกต้องเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อตำหนิหรือโจมตีบุคคลใด กลุ่มใด คณะใด พรรคใด หรือขบวนการใด ในที่นี้ผมวิเคราะห์แนวทางของคณะราษฎร ไม่ใช่ตำหนิหรือโจมตีคณะราษฎร เพื่อให้รู้ว่าแนวทางของคณะราษฎรผิดอย่างไร เมื่อรู้แล้วว่าผิดก็จะได้ขว้างทิ้งเสีย ขจัดอุปสรรคออกไปเสีย และเปิดทางให้แก่ความสำเร็จของการปฏิวัติ

           เรื่องการปฏิวัติประชาชาติของคณะราษฎรที่ผมเขียนในตอนก่อน มีผู้ท้วงว่าผมพูดแต่เรื่องคณะราษฎรทำให้ประเทศต่างๆ ยอมสละสิทธิถอนคดีจากศาลไทยเพียงอย่างเดียว ไม่พูดถึงการแก้ไขสนธิสัญญาที่ทำให้ประเทศไทยมีความเสมอภาคกับต่างประเทศในเรื่องอื่นๆ การปฏิวัติประชาธิปไตยของคณะราษฎรนั้น คณะราษฎรทำมากกว่าการทำให้ต่างประเทศสละสิทธิถอนคดีจากศาลไทย

            ในตอนก่อน ผมพูดถึงการทำให้ประเทศต่างๆ สละสิทธิถอนคดีซึ่งผมกล่าวว่าเป็นส่วนสำคัญของการปฏิวัติประชาชาติครั้งแรกของคณะราษฎร  หมายความว่าผมพูดแต่เฉพาะส่วนสำคัญ ยังมีส่วนอื่นแต่ไม่สำคัญผมจึงไม่พูด จึงบอกชัดอยู่แล้วว่าคณะราษฎร คณะราษฎรไม่ได้ทำแต่ส่วนสำคัญเพียงส่วนเดียว  เหตุที่ผมพูดแต่เฉพาะส่วนสำคัญก็เพราะว่าประการหนึ่งการที่ประเทศต่างๆหมดสิทธิถอนคดีจากศาลไทย หมายความว่าประเทศไทยมีความเสมอภาคทางการเมืองโดยสมบูรณ์กับนานาประเทศ ซึ่งก็คือประเทศไทยมีเอกราชสมบูรณ์นั่นเอง  เพราะเอกราชย่อมหมายความถึงเอกราชทางการเมือง ที่แล้วมาเอกราชไม่สมบูรณ์ของประเทศไทยอยู่ที่จุดนี้ เมื่อแก้ไขจุดนี้แล้ว ประเทศไทยก็เป็นประเทศเอกราชสมบูรณ์  บทเพลง 24 มิถุนายนวรรคหนึ่งว่า “สำราญสำเริงบันเทิงเต็มที่เพราะชาติเรามีเอกราชสมบูรณ์” นั้นถูกแล้ว อีกประการหนึ่ง การแก้ไขสนธิสัญญาในเรื่องอื่นๆนั้น อยู่ในขอบเจตของปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งไม่ใช่ปัญหาเอกราชโดยตรง นอกจากนั้นความเสมอภาคที่เขียนไว้ในสนธิสัญญาแก้ไขใหม่ ก็เป็นความเสมอภาคในตัวหนังสือ ไม่ใช่ความเสมอภาคในความเป็นจริง  ตัวอย่างสนธิสัญญาใหม่กับอังกฤษมีข้อความตอนหนึ่งว่า

           “คนในบังคับอัครภาคีผู้ทำสัญญาแต่ละฝ่ายมีสิทธิ (ก.) ที่จะเข้ามา เดินทางและมีถิ่นฐานที่อยู่ในและออกไปจากอาณาเขตแห่งอัครภาคีผู้ทำสัญญา อีกฝ่ายหนึ่ง...(ข.) ประกอบการพาณิชย์ หัตถกรรม อุตสาหกรรม วิชาชีพและอาชีพ และค้าสินค้าได้ทุกชนิดที่ค้าขายได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ใช้ตัวแทนตามที่ตนเลือกสรรและโดยทั่วไป การทำการใดๆที่เกี่ยวเนื่องและจำเป็นแก่การค้า ”  และ “ รับมรดกครอบครองเช่าและยึดถือทรัพย์สินไม่ว่าสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ ที่ตนครอบครองอยู่โดยชอบด้วยกฎหมายนั้น โดยการขายแลกเปลี่ยนให้สมรส พินัยกรรม หรือวิธีอื่นใดตามเงื่อนไขอย่างเดียวกับที่ตั้งขึ้นหรือจะได้ตั้งขึ้นสำหรับในบังคับแห่งอัครภาคีผู้ทำสัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง”
 
            และสนธิสัญญากับญี่ปุ่นมีความตอนหนึ่งว่า
 
 
           “ คนญี่ปุ่นย่อมมีสิทธิเท่าเทียมกับคนในบังคับพื้นเมือง ในอันจะดำเนินการพาณิชย์และหัตถกรรมและสินค้าทุกชนิดที่ค้าได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่ากระทำด้วยตนเองหรือตัวแทน โดยลำพังหรือมีหุ้นส่วนกับคนต่างด้าวหรือคนในบังคับพื้นเมือง” และ “ จะได้รับอนุญาต” ให้เป็นเจ้าของ หรือเช่าและยึดถือโรงเรือน โรงหัตถกรรม คลังสินค้าและโรงร้านที่จำเป็น และเช่าที่ดินเพื่อเป็นประโยชน์แก่การเป็นถิ่นที่อยู่ การพาณิชย์การอุตสาหกรรม การศาสนา การกุศลและการอื่นๆที่ชอบด้วยกฎหมาย และเพื่อใช้เป็นสุสานอย่างเดียวกับคนในบังคับพื้นเมือง”
 
  
       
             
 
 
 
 
 
 
 
 

              
 
 
 
               (อ่านต่อตอนหน้า)
 
 
 
 
 
             อ่านย้อนหลัง...
 
 
 
 
 
 
 



Webboard is offline.