Revolutionary Press Agency : Online Journal and News Agency for Peace
สำนักสื่อปฏิวัติ  : วารสารข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
8 มิ.ย. 2554 กองหน้าประชาชนรุ่นใหม่ อนุสรณ์ สมอ่อน ตอบคำถามคาใจทำไมต้องปฏิวัติประชาธิปไตย? 
ธรรมะประชาธิปไตย "กงล้อแห่งธรรมแก้กงกำการเมือง"
พระมหาบุญถึง ชุตินฺธโร
ผู้อำนวยการสถาบันธรรมะประชาธิปไตย
สำนักสื่อปฏิวัติ : Revolutionary Press Agency (RPA)
๒๓ พ.ย.๒๕๕๒
  
 
  
บทที่ ๕
กฎหมายเผด็จการจับสึกพระ   
  
 
 
               ตามที่นายประกอบ จิรกิตติ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์พร้อมด้วยคณะอีก ๒๔ คน ได้เคลื่อนไหวเตรียมเสนอร่างแก้ไข พรบ.พระสงฆ์ (ฉบับที่ ....) พ.ศ. ... โดยเฉพาะการแก้ไขมาตรา ๒๙ เพิ่มอำนาจให้นายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขตจับสึกพระภิกษุได้ อันเป็นการเพิ่มการกดขี่ทำลายและเผด็จการรุนแรงเลวร้ายยิ่งขึ้นต่อพระภิกษุสงฆ์ ตาม พรบ.คณะสงฆ์ฉบับเดิมที่ให้อำนาจเผด็จการแก่เจ้าพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการจับสึกพระภิกษุที่เพียงแต่ตั้งข้อกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญา ซึ่งผิดอย่างร้ายแรงหลักต่อหลักนิติธรรมซึ่งเป็นหลักการปกครองหลักหนึ่งของการปกครองแบบประชาธิปไตย คือ “ให้ถือว่าผู้ต้องหาเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อน”  และศาลสถิตยุติธรรมยังมิได้พิจารณาพิพากษาให้คดีถึงที่สุดตามหลักนิติธรรมทั้ง ๓ ศาล อันเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลและละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่สุด แม้จะกราบนิมนต์พระสงฆ์ฝ่ายปกครองไปทำการจับสึกพระภิกษุสงฆ์ก็ตาม 

              การเคลื่อนไหวของ สส.ฝ่ายรัฐบาลที่จะแก้ไข พรบ. คณะสงฆ์ เพิ่มอำนาจเผด็จการให้แก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง คือ นายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขตจับสึกพระสงฆ์ได้เพียงถูกกล่วหาใส่ร้ายป้ายสี เป็นการกระชับอำนาจเผด็จการให้รุนแรงเบ็ดเสร็จเด็ดขาดยิ่งขึ้น คือ การกระชับอำนาจอธิไตยให้เป็นของคนส่วนน้อยยิ่งขึ้น หรือเป็นการกระชับระบอบเผด็จการรัฐสภาให้แน่นหนาเบ็ดเสร็จยิ่งขึ้น และเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยของคนส่วนน้อยเข้าบั่นทอนลิดรอนกดขี่ทำลายเสรีภาพของบุคคลที่เป็นพระภิกษุสงฆ์รุนแรงยิ่งขึ้น

              ในด้านสถาบันพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นสถาบันหลักสูงสุดของชาติ ๑ ใน ๓ สถาบันอันเป็นองคคุณเอกภาพแห่งชาติ สถาบันสงฆ์เป็น ๑ ในแก้ว ๓ ประการ ที่สถาปนาขึ้นเป็นพระพุทธศาสนา คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ดังนั้น การทำลายบั่นทอนลิดรอนกดขี่ละเมิดต่อพระภิกษุสงฆ์ก็คือการกระทำต่อสถาบันพระพุทธศาสนาและการกระทำต่อสถาบันพระพุทธศาสนาก็คือการกระทำต่อชาติไทยที่ประกอบด้วยชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ฉะนั้น ศาสนา พระมหากษัตริย์ และชาติ รวมเข้าเป็นชาติไทยอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งเป็นชาติสมัยใหม่ที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงและสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงสร้างขึ้น ซึ่งได้สะท้อนไว้ชัดเจนในธงไตรรงค์นั่นเอง ฉะนั้นจะแยกกันหรือบ่อนทำลายทั้ง ๓ สถาบันไม่ได้ การทำลายทั้ง ๓ สถาบัน คือการทำลายชาติอันเป็นการทำลายความมั่นคงของชาติ ตามหลักนิติธรรม (Rule of Law) กำหนดไว้ว่า “ความมั่นคงแห่งชาติเป็นกฎหมายสูงสุด” และกฎหมายใดขัดต่อหลักนิติธรรมย่อมเป็นโมฆะ แม้แต่รัฐธรรมนูญถ้าขัดต่อหลักนิติธรรมย่อมเป็นโมฆะ ดังนั้น การทำลายชาติ คือ การทำลายความมั่นคงของชาติ การทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ คือการทำลายความมั่นคงของชาติ การทำลายพระพุทธศาสนาคือการทำลายความมั่นคงของชาติ การทำลายสถาบันสงฆ์ คือการทำลายความมั่นคงของชาติ การจับสึกพระภิกษุสงฆ์ คือการทำลายความมั่นคงของชาติ หรือทำลายชาติ การจับสึกพระภิกษุ คือ การกระทำผิดต่อกฎหมายสูงสุด (Supreme Law) ฉะนั้น การเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไข พรบ.คณะสงฆ์ เพื่อจับสึกพระโดยนายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขตซึ่งเป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองของฆราวาสจึงเป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมายสูงสุดที่ร้ายแรงยิ่งกว่านั้น เป็นการทำลายพระธรรม พระวินัย และเป็นการแทรกแซงกิจการภายในคณะสงฆ์ของพระพุทธศาสนา อีกทั้งเป็นการทำลายวัฒนธรรมไทย คือ ยกเอาเพศคฤหัสถ์ปุถุชนผู้หนาด้วยกิเลสมาอยู่เหนือกว่าเพศบรรพชิตผู้เป็นอุดมเพศหรือเพศบริสุทธิ์สูงสุดอันเป็นการทำลายความเป็นสังคมไทยอันดีงานที่มีมายาวนานนั่นเอง

              โดยแท้จริงแล้วการเมืองระบอบเผด็จการรัฐสภาที่มีมาตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เป็นเวลา ๗๗ ปี ได้กดขี่กดทับบดบังไม่ให้ความบริสุทธิ์ผุดผ่องแห่งพระพุทธศาสนาได้สามารถมีบทบาทเผยโฉมแสดงออกมาได้เต็มดวงทั้งด้านบุคคลคือพระภิกษุสงฆ์และด้านหลักธรรม เช่น ห้ามพระภิกษุมีสิทธิเสรีภาพนำเอาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเข้าไปช่วยชาติด้านการเมืองการปกครองของประเทศ ทั้งตัดสิทธิ์เสรีภาพทางความคิด คือ เทศนาสั่งสอนอบรมต่อต้านการเมือง หรือ ห้ามคิด ห้ามศึกษา ห้ามพูด ตามมิจฉาทิฏฐิที่ว่า “ศาสนาไม่เกี่ยวกับการเมือง” ทั้งตัดสิทธิเสรีภาพทางการเมืองขั้นพื้นฐานของบุคคลที่เป็นพระสงฆ์ เช่น สิทธิในการปกครองประเทศ คือ สิทธิในการเลือกตั้ง การลงประชามติ ซึ่งขัดต่อหลักการประชาธิปไตยขั้นพื้นฐาน คือสิทธิมนุษยชน ที่ว่า “ เสรีภาพทางความคิดเป็นรากฐานของเสรีภาพทั้งปวง” และขัดต่อหลักการปกครองของการปกครองแบบประชาธิปไตย คือ อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน เสรีภาพของบุคคลบริบูรณ์ ความเสมอภาค (ทั้งความเสมอภาคทางกฎหมายคือปฏิบัติต่อโยมอย่างหนึ่ง แต่ปฏิบัติต่อพระสงฆ์อีกอย่างหนึ่งไม่มีความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย (Equality Before the Law) ทั้งทางโอกาสและทั้งในการออกเสียงลงคะแนน) หลักนิติธรรม ศาลเท่านั้นจะเป็นผู้ตัดสินพิพากษาจับสึกแต่ยังต้องถูกต้องกับพระธรรมและพระวินัย เป็นเงื่อนไขชี้ขาดอีกด้วย ไม่ใช่เจ้าพนักงานสอบสวนหรืออัยการหรือนายอำเภอ (ผู้อำนวยการเขต) หรือแม้กระทั่งพระฝ่ายปกครอง โดยเจ้าตัวจะต้องยินยอมถ้าไม่ผิดหรือต้องปราชิกร้ายแรงขาดจากความเป็นพระโดยอัตโนมัติทันที และการปกครองจากการเลือกตั้งกล่าวคือพระภิกษุไม่มีสิทธิ์ออกความคิด ออกเสียงลงคะแนนในการใช้อำนาจอธิปไตยออกกฎหมายปกครองประเทศ แต่ต้องอยู่ให้กฎหมายไม่ยกเว้นซ้ำร้ายยังถูกกฎหมายไม่ยกเว้นซ้ำร้ายยังถูกกฎหมายเผด็จการกดขี่และประหารชีวิตความเป็นพระภิกษุคือจับสึก ยิ่งกว่านี้การจับสึกพระนอกจากจะเป็นการทำลายเสรีภาพทางความคิดและสิทธิมนุษยชนแล้วยังเป็นการทำลายสิทธิเสรีภาพทางจิตวิญญาณที่จะบวชเป็นพระภิกษุเพื่อปฏิบัติธรรมสู่ความหลุดพ้นทางจิตวิญญาณบรรลุโมกษธรรม

             อะไรคือปฐมเหตุที่นักการเมืองหรือ สส.ภายใต้ระบอบเผด็จการรัฐสภาจึงคิดออกกฎหมายกดขี่จำกัดสิทธิ์ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของพระภิกษุสงฆ์ต่างๆ และถึงขั้นจับสึกบังคับให้สิ้นจากความเป็นพระ เช่น สส.ประกอบ  จิรกิตติ และคณะอีก ๒๔ คน และนักการเมืองภายใต้ระบอบเผด็จการรัฐประหาร เช่น จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้ออก พรบ.คณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ ที่เป็นเผด็จการซึ่งก็ยังคงใช้บังคบจนกระทั่งบัดนี้

              เริ่มตั้งแต่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ คณะราษฎรได้ร่างรัฐธรรมนูญปิดกั้นพระพุทธศาสนาไม่ยินยอมให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติและไม่ยินยอมให้พระภิกษุมีสิทธิเสรีภาพทางความคิดและทางการเมือง เพราะพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่เป็นประชาธิปไตยที่สุดขัดต่อหลักการปกครองของคณะราษฎร คือ ลัทธิรัฐธรรมนูญที่เป็นมิจฉาทิฏฐิทางความคิดความเห็น และเป็นระบอบเผด็จการรัฐสภาและเผด็จการทุกชนิดทุกระบอบคือการปกครองตามอำเภอใจถือบุคคลถือกิเลสเป็นใหญ่แต่การปกครองระบอบประชาธิปไตยถือหลักการเป็นใหญ่ไม่ถือบุคคลเป็นใหญ่ เช่น พระพุทธศาสนาถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือ พระรัตนตรัย หรือ ธรรมาธิปไตยเป็นใหญ่ เมื่อกีดกันหรือแยกพระพุทธศาสนาออกจากการเมืองการปกครองจึงทำให้การเมืองการปกครองเต็มไปด้วยความเลวร้ายไร้ศีลธรรมเป็น “การเมืองเรื่องสกปรก” หรือ "การเมืองเรื่องเลวร้าย” ชาติบ้านเมืองจึงวิกฤตล่มจมวิบัติหายนะ ดังเช่นพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ว่า “เมืองใดไร้ธรรมอำไพ เมืองนั้นบรรลัยแน่เอย” ทั้งๆ ที่การเมืองคือคุณธรรม (Moral Principle)

               เมื่อการเมืองไม่มีธรรมะจึงทำให้นักการเมืองเต็มไปด้วยกิเลสตัณหา หนาแน่นจึงรักษาระบอบเผด็จการไว้โดยยึดกุมอำนาจไว้ในกำมือของพรรคพวกตน คนส่วนน้อยไม่กี่คน และใช้อำนาจในกำมือไปกดขี่ขูดรีดเอารัดเอาเปรียบประชาชน และโกงกินชาติบ้านเมืองจนหายนะวิกฤตล่มจมสังคมเน่าเฟะประชาชนอดยากยากจนไม่มีอนาคตมืดมนอนธกาลเป็นโรคจิตโรคประสาทเกิดปัญหาต่อสังคมและความวิกฤตเลวร้ายทั้งหลายจึงไหลบ่าเข้าสู่วัดวาอาราม เข้าไปบวชเพื่อเอาตัวรอดหรือหนีคดีความหนีสังคมที่อดอยากมือมิดหรือสังคมรับไม่ไหวแล้วจึงเอาเจ้าวัดหรือตัดหางปล่อยวัดผลักภาระและปัญหาให้แก่วัดแก่พระสงฆ์จนเกิดปัญหาขึ้นแก่คณะสงฆ์ไทย คือผลพวงอันเลวร้ายของระบอบเผด็จการทั้ง ๒ รูป ส่งพิษร้ายไปทุกส่วนของสังคมไม่เว้นแม้แต่ในวัดวาอาราม แล้วนักการเมืองซึ่งเป็นผู้ปกครองด้วยระบบเผด็จการกลับมาโทษพระภิกษุว่าไม่ช่วยแก้ปัญหาชาติและโทษพระภิกษุที่ปลอมบวชปรือหนีบวชเข้ามาอาศัยวัดวาอารามว่าชั่วร้ายจะต้องออกกฎหมายลงโทษอย่างรุนแรงจับสึกและจับติดคุกซึ่งไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอย่างถูกต้อง แต่เป็นการแก้ปัญหาที่ผลหรือปลายเหตุ โดยความจริงแล้วจะต้องแก้ที่นักการเมืองผู้ใช้อำนาจรัฐและแก้ที่ระบอบเผด็จการที่เป็นการปกครองของประเทศ นั่นคือ นักการเมืองผู้มีตัณหามากจะต้องปฏิบัติโมกษธรรมละตัณหา แล้วยกเลิกระบอบเผด็จการสร้างระบอบประชาธิปไตยโดยให้พระภิกษุสงฆ์สั่งสอนธรรมะให้นักการเมืองปฏิบัติธรรมละกิเลสวางตัณหาแล้วสั่งสอนให้นักการเมืองรู้ประชาธิปไตยสร้างประชาธิปไตยอันเป็นการเมืองที่มีธรรมะหรือมีคุณธรรม เมื่อการเมืองดีมีคุณธรรมก็จะทำให้เศรษฐกิจดี วัฒนธรรมดี สังคมดี ในท้ายที่สุดเป็นลูกโซ่ตามระบบสังคม เมื่อนั้นผู้คนในสังคมก็จะหลุดพ้นจากความยากจนทางเศรษฐกิจ หลุดพ้นจากการจำกัดตัดสิทธิ์กดขี่บั่นทอนลิดรอนเสรีภาพทางความคิดและการเมืองหลุดพ้นจากสังคม วัฒนธรรมที่อาเพศวิปริตฟอนเฟะ จะทำให้ความบริสุทธิ์ผุดผ่องของพระพุทธศาสนาแสดงบทบาทเผยโฉมออกมาได้เต็มดวง พระภิกษุและพระธรรมก็จะช่วยให้บ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง คือ “เรืองอำนาจแห่งธรรม” และผู้คนจะมีเงื่อนไขบรรลุโมกษธรรมได้มากมาย เพราะธรรมะกับประชาธิปไตยจะสนับสนุนส่งเสริมเกื้อหนุนซึ่งกันและกันอย่างดียิ่ง นี่คือ “การประสานโมกษธรรมเข้ากับการเมือง” ที่เป็นสัมมาทิฏฐินั่นเอง

              แต่การสร้างประชาธิปไตยยังไม่สามารถทำได้เพราะติดปัญหาความเห็นผิด (มิฉาทิฏฐิ) คือ นักการเมืองเข้าใจผิดว่า “ลัทธิรัฐธรรมนูญคือ ลัทธิประชาธิปไตย” ปรือ “รัฐธรรมนูญคือประชาธิปไตย” หรือ “รัฐธรรมนูญจะสร้างความเจริญให้แก่ชาติบ้านเมือง” หรือ “รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือสร้างประชาธิปไตย” หรือ “รัฐธรรมนูญคือ เครื่องมือปฏิรูปการเมือง” เพราะเกิดความเห็นผิดเหล่านี้จากการเปลี่ยนแปลงเมื่อ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ และการสร้างอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญแต่กลับวิปริตอาเพศตั้งชื่อว่า “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย” และการฝังหมุดทองเหลืองไว้ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า มีข้อความสรุปว่า “รัฐธรรมนูญจะทำให้ชาติเจริญ” การถอนความเห็นผิดหรือทิฏฐุปาทานเหล่านี้นักการเมืองจะต้องปฏิบัติโมกษธรรมเปลี่ยนมิจฉาทิฏฐิมาเป็นสัมมาทิฏฐิ แต่นักการเมืองจะต้องเชื่อฟังพระภิกษุสงฆ์จึงจะแก้ปัญหามิจฉาทิฏฐิและแก้ปัญหาประชาธิปไตยได้สำเร็จ นั่นคือเลิกโทษพระภิกษุสงฆ์เลิกคิดออกกฎหมายกดขี่และสึกพระภิกษุสงฆ์ แต่หันมาดูที่ตัวเองและดูที่ระบอบการปกครองจึงจะถูกต้อง ไม่ใช่คอยแต่เพ่งโทษพระสงฆ์หรือเพ่งโทษคนอื่น

             เมื่อแก้ปัญหามิจฉาทิฏฐิเสร็จแล้วโดยการช่วยเหลือของพระภิกษุนักการเมืองเริ่มลงมือสร้างประชาธิปไตย โดยแก้ปัญหาความสามัคคีก่อนอื่นทั้งสิ้นอันเป็นเงื่อนไขแรกของความสำเร็จของการแก้ปัญหาชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งแก้ปัญหาความสามัคคีทางการเมือง นั่นคือ ให้นักการเมืองทุกพรรคหันหน้ามาร่วมกันจัดตั้ง “รัฐบาลสามัคคีธรรมแห่งชาติ” (Government of Nation Unity) คือ จัดตั้งรัฐบาลผสมทุกพรรคการเมืองหรือรัฐบาลแห่งชาติ โดยปรับระบบรัฐสภาจาก “ระบบมีฝ่ายค้าน” มาสู่ “ระบบรัฐบาลแห่งชาติ” เพราะระบบมีฝ่ายค้านในสถานการณ์นี้ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการสร้างความสามัคคีทางการเมืองเพื่อสร้างประชาธิปไตยแก้ไขวิกฤติชาติ คือ ทำให้แบ่งพรรคเป็นฝักฝ่ายต่อสู้ทำลายโค่นล้มกันแตกสามัคคีกัน เพราะ “ระบบ” มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อบุคคล เช่น ถ้าใช้ระบบมีฝ่ายค้านก็จะสร้างความแตกแยกตามระบบ แต่ถ้าใช้ “ระบบรัฐบาลแห่งชาติ” อันเป็นระบบสามัคคีก็จะบังเกิดความสามัคคีตามระบบ เมื่อจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติด้านรูปแบบคือ “รัฐบาลผสมทุกพรรคการเมือง” แล้วจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติด้านเนื้อหาคือ “มีนโยบายสร้างประชาธิปไตย” แล้วให้มีสภาเฉพาะกาลหรือ “สภารู้รักสามัคคีแห่งชาติ” ที่มีผู้แทนเขตและผู้แทนสาขาอาชีพอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ จึงเกิดความสามัคคีแห่งชาติแล้วลงมือสร้างประชาธิปไตยให้แล้วเสร็จต่อไป

             แต่ถ้าพรรคการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติได้ ก็เหลือเพียงอีกทางเดียวคือทุกพรรคการเมืองโดยรัฐบาลถวายคืนอำนาจแด่พระมหากษัตริย์เพื่อทรงจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาล (Provisional Government) เพื่อสร้างประชาธิปไตย ทรงมอบอำนาจให้แก่ปวงชนชาวไทยเป็นการปกครองแบบประชาธิปไตยต่อไป
 
  
              ดังนั้น จึงขอให้ ฯพณฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้กรุณายุติการออกกฎหมายเผด็จการต่อพระภิกษุสงฆ์ดังกล่าวนี้ลงโดยทันที แล้วลงมือปฏิบัติโมกษธรรมเพื่อแก้ปัญหามิจฉาทิฏฐิมาเป็นสัมมาทิฏฐิแล้วลงมือตั้งรัฐบาลแห่งชาติปฏิบัตินโยบายสร้างประชาธิปไตยให้แล้วเสร็จโดยเร็วต่อไป แต่ถ้าทำไม่ได้ขอให้ถวายคืนอำนาจแด่พระมหากษัตริย์ เพื่อทรงสร้างประชาธิปไตยทรงจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลทรงมอบอำนาจให้แก่ปวงชนชาวไทยตามพระบรมราชวินิจฉัยอันเป็นเงื่อนไขชี้ขาดต่อไป
 
 
 
 
 

เรียบเรียงจาก หนังสือ ที่ พิเศษ/๒๕๕๒ สภาธรรมาธิปไตยแห่งชาติ รัฐสภาวนาราม สถาบันธรรมะประชาธิปไตย ขบวนการศาสนาเพื่อมนุษยชาติ คณะธรรมยาตรากอบกู้รักษาผืนแผ่นดินไทยในกรณีเขาพระวิหาร-มณฑลบูรพา ขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติ เรื่อง ขอให้ยุติการออกกฎหมายเผด็จการจับสึกพระและตั้งรัฐบาลแห่งชาติสามัคคีกันสร้างสรรค์ประชาธิปไตยหรือถวายคืนอำนาจในหลวงเพื่อทรงมอบให้ปวงชนสร้างประชาธิปไตย ถึง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ลงวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๒ 
 

                
 
 
 
  
 
 
 
 

  
 
 
 



Webboard is offline.