Revolutionary Press Agency : Online Journal and News Agency for Peace
สำนักสื่อปฏิวัติ  : วารสารข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
8 มิ.ย. 2554 กองหน้าประชาชนรุ่นใหม่ อนุสรณ์ สมอ่อน ตอบคำถามคาใจทำไมต้องปฏิวัติประชาธิปไตย? 
Change Series นำสู่การปฏิวัติในทุกมิติ
บทความพิเศษ  
 
- ตอน ๕ -
สำนักสื่อปฏิวัติ - Revolutionary Press Agency (RPA)
เขียนโดย นางแก้ว โพส  ๒ พ.ย.๒๕๕๒: ๐๓.๕๐ น.
เผยแพร่ครั้งแรก ๒๕ เม.ย.๒๕๕๒ 
 
“  การขุดหลุมฝังแนวทางรุนแรง VS การเกิดใหม่ของแนวทางสันติวิธีในขบวนการประชาชน”  
 
  
              
 
              การปราบม็อบเสื้อแดงเกิดขึ้นหลังสงกรานต์ท่ามกลางแสงแดดแผดเผา  ข่าวคราวความเคลื่อนไหวเพื่อหาข้อยุติ ความแตกแยกในสังคมยังไม่สำเร็จได้โดยง่าย ฉากความรุนแรงจากการสัประยุทธ์กันทำให้คนส่วนใหญ่พยายามทบทวนทำความเข้าใจว่าอะไรคือสาเหตุที่มา และคำตอบก็เริ่มชัดขึ้นจากทุกฝ่ายว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นคือปัญหาการแย่งชิงอำนาจของกลุ่มคนสองกลุ่มผ่านมวลชนเสื้อเหลืองและเสื้อแดงนั่นเอง   ไคลแม็กซ์ของเรื่องเพื่อหาคำตอบของการสร้างความรุนแรงในสังคมไทยเกิดขึ้นในทันทีที่เกิดการลอบยิงนายสนธิ ลิ้มทองกุลในรุ่งเช้าของวันที่ ๑๗ เมษายนที่กลายเป็นข่าวสะเทือนขวัญ  ประชาชนส่วนใหญ่ที่ใช้เหตุผลไม่คล้อยตามความสะใจของกลุ่มเสื้อแดง  บทวิเคราะห์ของทั้ง “ผู้กุมแนว” ทั้งเสื้อเหลืองเสื้อแดงต่างชี้ชัดลงไปเรื่องเดียวกันคือ การลอบประทุษร้ายถึงชีวิตเป็นผลมาจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองของผู้ถูกลอบทำร้ายเอง  ทว่าไม่มีผู้ใดชี้ชัดลงไปว่า ปัญหาทั้งหลายทั้งปวง ของการก่อความรุนแรง ทำร้ายทำลายชีวิตผู้อื่น มีที่มาจากเหตุอันเดียวกัน คือการแย่งชิงอำนาจของคณะบุคคลสองกลุ่มภายใต้องค์การจัดตั้งที่เรียกว่าพรรคการเมือง
 
               สภาวะอนาธิปไตย (Anarchy)คือปรากฏการณ์การปฏิวัติกระแสสูง
 
            นักทฤษฎีในขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติชี้ให้เห็นว่าสภาวะอนาธิปไตยเกิดขึ้นตั้งแต่การเคลื่อนไหวของม็อบเสื้อเหลืองในรัฐบาลก่อน นับแต่การปิดล้อมสนามบิน การถืออาวุธโดยการ์ดพันธมิตร การดักยิงกลางถนนหน้าปากซอยที่ถนนวิภาวดี  ทั้งหมดเป็นเส้นโค้งเชื่อมต่อเนื่องมายังม็อบเสื้อแดงข้ามปี และเป็นหลักฐานสำคัญชี้ให้เห็นสภาวะอนาธิปไตยของทั้งสองม็อบ  การถืออำนาจรัฐของรัฐบาลชุดปัจจุบันเต็มไปด้วยอุปสรรค  ไร้เสถียรภาพและอ่อนแอ ได้สะท้อนให้เห็นชัดว่าอำนาจอธิปไตยในมือของคนส่วนน้อยถึงกาลเสื่อมในที่สุดอันเป็นเหตุนำมาสู่การก่อม็อบนั่นเอง 

           อำนาจอันอ่อนแอของรัฐบาลทั้งสองรัฐบาลถึงแม้จะเกิดขึ้นต่างกรรมต่างวาระกันก็ตาม  แต่การ “ใส่เกียร์ว่าง” ของทั้งสองรัฐบาล ปล่อยให้ทั้งสองม็อบสำแดงบทบาทเต็มที่   ได้สะท้อนความจริงที่ว่าประเทศชาติต้องการการเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิงสู่สภาวะที่ดีกว่า การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้เองที่เรียกว่า “ปฏิวัติ”  หรือที่นักวิชาการฝ่ายปฏิวัติอธิบายว่านี่คือสภาวการณ์ “กระแสสูงของการปฏิวัติ” ตามทฤษฎีการปฏิวัติประชาธิปไตย  ปรากฏชัดเจนคือผู้ปกครองไม่สามารถปกครองได้อีกต่อไป ประชาชนไม่ยอมให้ปกครอง และขบวนการประชาชนเข้มแข็ง และที่สำคัญอำนาจอธิปไตยในมือคนส่วนน้อยเสื่อมลงถึงที่สุด  

          สภาวะอนาธิปไตยหมายถึงการไม่มีอธิปไตย และการไม่มีอธิปไตย คือสภาพไร้การปกครอง เป็นผลมาจากการปกครองในระบอบเผด็จการที่กระชับแน่นขึ้นตามกาลเวลา เกิดสภาพอ่อนแอสู่การพังสลายของโครงสร้างอำนาจที่บ่มเพาะ  “วัฒนธรรมการแย่งชิงอำนาจ” ของชนชั้นปกครองไทยในรอบ๗๖ ปีนับแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นต้นมา   และพัฒนาการสูงสุดสู่ประดิษฐกรรมใหม่ล้ำของการใช้  “โล่มนุษย์” เป็นเครื่องมือ ตามที่ได้กล่าวไว้ในตอนก่อนถึงความพ่ายแพ้ของคนใส่สูท (อ่านเพิ่มเติมบทความเหตุแห่งความพ่ายแพ้ตอน1ที่ลิงค์ http://ndmt.multiply.com/journal/item/103/103)  โดยมีรูปธรรมเห็นชัดคือ การขึ้นเวทีปราศรัยม็อบเสื้อแดงของสส.พรรคเพื่อไทย  และการขึ้นเวทีม็อบเสื้อเหลืองของสว.ฝ่ายซ้าย
 
        วัฒนธรรมม็อบเป็นวัฒนธรรมใหม่ที่สร้างแรงเสียดทานต่อสังคมมากถึงมากที่สุด  การปะทะกันระหว่างคนใส่เสื้อสีแดงและคนเสื้อเหลืองคล้ายเครื่องแบบยูนิฟอร์ม การใช้สีเชิงสัญลักษณ์ต่อตีกัน ไม่ใช่สิ่งที่จะสังคมจะยอมรับได้ง่ายๆและจะไม่ได้รับการยอมรับเชิดชูจากสังคม กลับจะทำให้คู่กรณีของทั้งสองสถาบันถูกโดดเดี่ยวจากสังคมไป    การชี้ให้เห็นว่าการเคลื่อนไหวของแกนนำทั้งสองสีเกิดขึ้นตามทฤษฎีปฏิวัติรุนแรงแบบคอมมิวนิสต์ที่แฝงตัวทำแนวร่วมอยู่กับทั้งกลุ่มเสื้อเหลืองและกลุ่มเสื้อแดงจึงเป็นภารกิจสำคัญที่ขบวนปฏิวัติสันติได้ทำการติดอาวุธทางปัญญาแก่สาธารณชนมาอย่างต่อเนื่อง 
    
          คำถามต่อไปคือ...ในสถานการณ์ปัจจุบัน  คู่ขัดแย้งตรงข้ามคือใคร ระหว่างประชาชนกับประชาชนด้วยกัน หรือว่าคู่ขัดแย้งคือรัฐบาลกับประชาชน  แบ่งขั้วได้คือประชาชนเสื้อแดงกับรัฐบาลอภิสิทธิ์สู้กับประชาชนเสื้อเหลืองกับอดีตรัฐบาลไทยรักไทย   การปราบม็อบในครั้งนี้ดำเนินการโดยทหารซึ่งเป็นตัวแทนอำนาจรัฐมิใช่ตำรวจ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงตามบทวิเคราะห์ของสื่อต่างชาติว่า อำนาจที่แท้จริงยังคงอยู่กับกองทัพ และสะท้อนความอ่อนแอไร้เอกภาพของรัฐบาลอภิสิทธิ์   และหากการปราบม็อบครั้งนี้มีข้อบกพร่องผิดพลาด    ประชาชนจะไปเอาผิดกับใครได้อีกในเมื่อผู้ใช้อำนาจนั้นลงฑัณฑ์ต่อพวกเขาไม่ว่าจะเป็นทหารหรือตำรวจก็ต่างเป็นตัวแทนการใช้อำนาจของรัฐบาลทั้งคู่  ?  นักทฤษฎีในขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติชี้ให้เห็นว่าหากมีความผิดพลาดจากการปราบม็อบ รัฐบาลเท่านั้นที่ต้องแสดงความรับผิดชอบในฐานะผู้ใช้อำนาจรัฐสั่งการ
 
        ข้อเท็จจริงคือความต้องการของประเทศชาติคือประชาธิปไตย แต่ความต้องการของม็อบเป็นเพียงข้อเสนอของพรรคการเมืองสองพรรคที่ผลัดกันขึ้นมาครองอำนาจ  การขึ้นครองอำนาจของคนสองกลุ่มที่เป็นคนส่วนน้อยของสังคม จึงไม่สอดคล้องกับความต้องการของคนส่วนใหญ่ของประเทศ   กล่าวจนถึงที่สุดก็คือความต้องการของม็อบและแกนนำไม่สอดคล้องกับความต้องการของชาตินั่นเอง 
  
          ในสถานการณ์ขณะนี้เกิดความสับสนขึ้นแล้วในสังคม เกิดการจับขั้วคู่ตรงข้ามขึ้นหลายคู่ ไม่รู้แน่ชัดว่าใครอยู่ฝ่ายไหน มีบรรยากาศของความเป็นศัตรู พร้อมจะนำสู่สงครามกลางเมือง ตามทฤษฎีการทำแนวร่วมคอมมิวนิสต์ ท่ามกลางการปฏิเสธความรุนแรงของคนส่วนใหญ่ในประเทศ (อ่านเพิ่มเติมประเทศไทยภายใต้ยุทธวิธีแนวร่วม ประเทศไทยภายใต้ยุทธวิธีแนวร่วม http://ndmt.multiply.com/journal/item/19/19)
 
           กระแสสูงของปฏิวัติสันติในประเทศไทย สู่Change ในความเป็นสนธิ ลิ้มทองกุล
 
          นักทฤษฎีในขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติชี้ว่า การลอบยิงครั้งนี้มิได้หวังผลให้ถึงแก่ชีวิต แต่หวังให้เกิดการก่อผลสะเทือนเพื่อยุติเงื่อนไขบางอย่าง  ดังจะสังเกตได้จากการยิงรอบตัวถังรถ และมีเพียงสะเก็ดกระสุนเข้าถึงร่างกาย
 
         ประเด็นที่ต้องชี้ให้เห็นชัดก็คือการลอบยิงสนธิ ลิ้มทองกุล มีสาเหตุมาจากการที่เขาไปอยู่กับอำนาจรัฐคือรัฐบาลประชาธิปัตย์ในปัจจุบัน   ทั้งๆที่การเริ่มต้นของสนธินั้นเริ่มจากการเป็นผู้แทนประชาชนที่ออกมาท้าทายอำนาจรัฐจากรัฐบาลไทยรักไทย   แต่เขากลับมาจบลงด้วยการไปอิงอยู่กับอำนาจรัฐของรัฐบาลประชาธิปัตย์  และนำพาประชาชนบริสุทธิ์ตกไปสู่วงจรอุบาทว์ของวัฒนธรรมการแย่งชิงอำนาจในกลุ่มชนชั้นปกครองไทยโดยมีสมาชิกเสื้อเหลืองที่ศรัทธาต่อเขาเป็นอำนาจต่อรอง  แน่นอนว่าการต่อรองระหว่างแกนนำพันธมิตรเสื้อเหลืองของเขากับพรรคประชาธิปัตย์ย่อมเกิดขึ้นในช่วงหนึ่งของการขึ้นสู่อำนาจในท่ามกลางสภาวะอนาธิปไตย   นักวิเคราะห์ในขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติชี้ให้เห็นว่าการลอบฆ่าสนธิ ลิ้มทองกุลจึงเป็นปัญหาของระบอบเผด็จการ อันเนื่องมาจากการนำพาสมาชิกเสื้อเหลืองเข้าไปสู่เกมการแย่งชิงอำนาจของชนชั้นปกครองนั่นเอง 
 
          นักเคลื่อนไหวในแนวทางสันติได้พยายามสลายเงื่อนไขความรุนแรงด้วยการยื่นข้อเสนอให้ใช้แนวทางสันติในการเคลื่อนไหวแต่ก็ได้รับการปฏิเสธจากแกนนำหลักของพันธมิตรเสื้อเหลืองอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด   ถึงขนาดที่ครั้งหนึ่งบนเวทีพันธมิตรฯเอง สนธิได้ปลุกเร้าให้พันธมิตรเสื้อเหลืองลุกขึ้นสู้หรือแม้แต่พกอาวุธปืนเข้าต่อสู้ก็เคยเกิดขึ้นมาก่อน   นักทฤษฎีในขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติชี้ให้เห็นว่ากรณีลอบยิงสนธิ ลิ้มทองกุลจึงมิได้สะท้อนภาพการต่อรองกันระหว่างประชาชนกับอำนาจรัฐอีกต่อไป หากแต่เกิดจากอำนาจด้านอื่นที่เกิดขึ้นในสภาวะอนาธิปไตย อันเป็นผลมาจากการเคลื่อนไหวตามทฤษฎีแนวร่วมคอมมิวนิสต์   การเปิดประตูตอบรับให้อดีตพคท.ร่วมเป็นแกนนำพันธมิตรฯ ด้วยความมั่นใจว่า “คอมมิวนิสต์ทำอะไรเขาไม่ได้” เกิดจากการยินยอมของสนธิเอง ทั้งที่ข้อเท็จจริงเขามีตัวเลือกในแนวทางสันติรออยู่  แต่การเลือกปฏิเสธแนวทางสันติก็ส่งผลถึงเขาในปัจจุบัน  แน่นอนว่าผลจากการถูกลอบยิงถึงแม้จะไม่เสียชีวิต  ก็กลายเป็นเครื่องมือขยายผลของฝ่ายซ้ายที่เคลื่อนไหวทำแนวร่วมอยู่ในกลุ่มเสื้อเหลืองทั้งหมด   ทำให้คนเหล่านี้มีเงื่อนไขออกมาพูด และปรากฏตัวออกในสื่อต่างๆอีกครั้งหลังจากเงียบหายไป      
         
            นักวิเคราะห์ในขบวนปฏิวัติสันติชี้ให้เห็นว่าการขยายผลสู่ความรุนแรงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาหากผู้ถือดุลการนำเช่นสนธิ มีจิตใจไม่เข้มแข็ง  ไม่ปฏิบัติธรรม หรือคิดเพียงแค่การแก้แค้น หรืออาฆาตมาดร้ายเท่านั้น  ดังนั้น การเปลี่ยนสภาวะผู้นำจึงเป็นสิ่งสำคัญ  สนธิเองจึงต้องเปลี่ยนวิธีคิด และเปลี่ยนท่วงทำนองใหม่ ด้วย Change ขนานใหญ่ การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้มิใช่เพียงแค่มีความสำคัญต่อชีวิตตัวเขาเอง แต่อย่างน้อยก็มีผลต่อสมาชิกเสื้อเหลืองที่ติดตามเขาให้ดำรงอยู่ในสภาวะที่สงบสันติกว่านี้ได้ไม่มากก็น้อย
 
             อตัมยตาแบบท่านพุทธทาสต่อสหธรรมิก   
 
           “  อตัมมยตาช่วยเลื่อนชั้นของสันติภาพได้   สันติภาพของคนโง่ก็แบบหนึ่ง  สันติภาพของคนที่โง่น้อยหน่อยก็อีกแบบหนึ่ง  สันติภาพของคนที่ไม่โง่อีกแบบหนึ่ง  สันติภาพของคนฉลาดก็แบบหนึ่ง   สันติภาพของคนที่ฉลาดที่สุดก็อีกแบบหนึ่ง.....”
 
          วรรคทองในหนังสือ “อตัมมยตากับสันติภาพ” ของท่านพุทธทาสได้แสดงธรรมไว้
 
          “ .....หัวใจของอตัมมยตา   ความสำคัญของอตัมมยตาและสมรรถนะของอตัมมยตา เราต้องรู้จักมันให้ดี เราจึงจะนำมาใช้ประโยชน์ให้สำเร็จ .......”  
          ท่านพุทธทาสกล่าวว่าอตัมมยตาคือมูลเหตุอันแท้จริงของสันติภาพ  อตัมมยตามีที่ใด  ก็มีสันติภาพที่นั่น  สันติภาพมีมูลเหตุมาจากการที่กิเลสไม่อาละวาด  ไม่รังควาน  เพราะอตัมมยตาคือการไม่เอาด้วยกับกิเลสนั่นเอง อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่าอตัมมยตามีในปัจเจกบุคคลแล้วเกิดสงบสันติในใจได้ฉันใด   อตัมมยตาที่มีในสังคมในประเทศชาติย่อมทำให้สังคมนั้นประเทศนั้นสงบสันติได้ฉันนั้น  สำหรับขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติ  รูปธรรมของสันติภาพถาวรแบบอตัมมยตาก็คือนโยบาย ๖๖/๒๓   ที่ได้รับการคิดค้นมาแล้วอย่างดีนั่นเอง   
 
            นักปฏิวัติสันติในขบวนปฏิวัติสันติชี้ให้เห็นว่า นับว่าเป็นโอกาสอันดี ที่สนธิ ลิ้มทองกุลในฐานะผู้นำจะได้นำปฏิวัติตัวเขาเอง เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส  ประกาศนโยบายความเป็นกลางแบบนโยบาย ๖๖/๒๓ ไม่เอาด้วยกับคอมมิวนิสต์ที่เป็นพาหะนำมาซึ่งความรุนแรงทุกรูปแบบ  ด้วยการนำแนวสันติไปสู่ประชาชนหรืออย่างน้อยต่อสมาชิกพันธมิตรเสื้อเหลืองที่ยังเชื่อในการนำของเขา   นักวิเคราะห์มองว่านี่คือทางออกที่ดีที่สุดสำหรับเขา  และจะเป็นการยุติเงื่อนไขความรุนแรงของทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายที่ใช้อำนาจจากปลายกระบอกปืน และฝ่ายแนวร่วมที่หวังขยายผลความรุนแรงต่อไป  สนธิ ลิ้มทองกุลสามารถพิสูจน์ตัวเอง ด้วยการสร้างสภาวธรรมใหม่ในตัวเขา  ด้วยการ “ ดับเหตุ ” ที่จะนำสู่ความรุนแรงด้วย “พุทธอหิงสาธรรม” และ “พ่อแม่ครูบาอาจารย์” ที่เขานับถือและอ้างถึงบนเวทีอยู่ตลอดเวลา   
             นักวิชาการปฏิวัติสันติในขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติชี้ให้เห็นว่า ไม่ว่าอำนาจจากปลายกระบอกปืนครั้งนี้จะมาจากใครหรือคณะบุคคลไหนก็ตาม  การก่อเหตุรุนแรงต่อสนธิ ลิ้มทองกุลดังกล่าวกำลังสร้างแรงเหวี่ยงอีกด้านหนึ่ง คือการปลุกสำนึกทางจริยธรรมคนไทย  ตอกย้ำชัดลงไปอีกว่า คนไทยส่วนใหญ่ของประเทศไม่เอาด้วยกับความรุนแรง  ทั้งบทวิเคราะห์ข่าวจากสื่อมวลชน คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ และรายงานพิเศษของสื่อโทรทัศน์ต่างชี้ชัดลงไปว่า  สมควรที่ทุกฝ่ายต้องยุติซึ่งความรุนแรงลงและนำสันติธรรมมาสู่ประเทศ  หากสนธิก้าวเข้าสู่การนำแบบสันติในครั้งนี้ได้จริง  เขาเองก็จะสลัดหลุดจากการทำแนวร่วมของฝ่ายซ้ายในกลุ่มเสื้อเหลือง  เท่ากับเขาได้ช่วยสลายเงื่อนไขการก่อกระแสความรุนแรงเพื่อนำสู่การปฏิวัติรุนแรงแบบคอมมิวนิสต์ให้ประเทศชาติได้อีกระดับหนึ่ง
 
             ข่าวการลอบยิงก่อผลสะเทือนอยู่เกือบหนึ่งสัปดาห์ และเป็นไปตามการวิเคราะห์ของนักทฤษฎีในฝ่ายปฏิวัติสันติว่า จะเกิดการหลอมรวมของมวลชนเสื้อเหลืองและเสื้อแดงอย่างเป็นไปเอง  ในขณะที่กลุ่มสันติต่างเรียกร้องให้สองสีรวมกันเพื่อสมานฉันท์รวมกันเพื่อยุติความรุนแรงและร่วมกันสร้างสันติ  แต่นักปลุกระดมจากสื่อวิทยุอินเตอร์เนตของฝ่ายซ้ายในกลุ่มเสื้อแดงแดงทำในสิ่งตรงข้าม  เขาเทความสนใจฉันท์มิตรให้กับสนธิและชี้ชัดว่าอำนาจมืดที่ลอบสังหารสนธิคือศัตรูตัวจริง และปลุกเร้าต่อให้ทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อแดงรวมตัวกัน เพื่อจับอาวุธสู่ “สงครามประชาชน” ร่วมต่อสู้กับ “อำนาจรัฐ” ตามทฤษฎีปฏิวัติคอมมิวนิสต์  
 
             ณ วันนี้แกนนำทั้งสองสีเสื้อร่ำร้องหาความเปลี่ยนแปลง  และแสดงความต้องการ “ประชาธิปไตย” แต่กลับไม่สามารถระบุได้ว่าพวกเขาต้องการประชาธิปไตยแบบไหน   “การเมืองใหม่” แบบเสื้อเหลืองและการสถาปนา “รัฐไทยใหม่ “ แบบเสื้อแดงจะมีรูปธรรมจับต้องเป็นอย่างไร     ในท่ามกลางการเรียกร้องประชาธิปไตยของทุกฝ่ายที่ไม่เข้าใจว่าจะเปลี่ยนได้อย่างไรในสถานการณ์ที่ปลายกระบอกปืนกำลังท้าทายการเคลื่อนไหวของพวกเขา   หากพวกเขาไม่ใช้สันติวิธี (เพราะไม่ได้ถูกฝึกมาให้ใช้ หรือเพราะใช้ไม่เป็น ) พวกเขามีทางเลือกเดียวคือการจับอาวุธขึ้นประหัตประหารเช่นนั้นหรือ? 
  
             หน้าที่ของขบวนปฏิวัติสันติในประเทศไทย
 
          จะเห็นว่าการชี้ให้เห็นว่าการต่อสู้ทางการเมืองขณะนี้มีเพียงเสื้อเหลืองและเสื้อแดงนั้นไม่ใช่ความจริงทั้งหมด เพราะโดยข้อเท็จจริงยังมีขบวนอีกขบวนหนึ่งคือขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติที่ถือแนวทางประชาธิปไตยพระปกเกล้ารัชกาลที่ ๗ เป็นหลักในการเคลื่อนไหว  ขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติเคลื่อนไหวในแนวทางปฏิวัติสันติ (Peaceful Revolution)ได้ทำการอธิบายถึงปัญหาของระบอบเผด็จการรัฐสภาภายใต้ลัทธิรัฐธรรมนูญอย่างต่อเนื่องจนเป็นที่เข้าใจในระดับหนึ่ง   ในขั้นตอนต่อไปคือการสร้างการนำใหม่ของฝ่ายสันติให้ปรากฏเป็นจริง  
           
            ในอดีตขบวนปฏิวัติเองได้ทำงานกับชนชั้นปกครองมาก่อน   การออกนโยบาย ๖๖/๒๓เพื่อต่อสู้กับภัยร้ายคอมมิวนิสต์เป็นหนึ่งในงานปฏิวัติขั้นแรกที่ขบวนปฏิวัติทำสำเร็จ   ในขณะนั้นคนเขียนนโยบายคืออาจารย์ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร  เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าการแก้ไขปัญหาวิกฤตชาติในปี ๒๕๒๓ สำเร็จได้ด้วยแนวทางสันติและเป็นความเชื่อพื้นฐานของนักทฤษฎีในขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติทุกคนว่าการแก้ปัญหาประเทศไทย  จะต้องยึดวิธีการสันติเท่านั้นจึงจะสอดคล้องกับความเป็นมาของชาติและวัฒนธรรมเดิมคือวัฒนธรรมแห่งจิตวิญญาณ 
 
             แนวทางปฏิวัติสันติของขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติมิใช่แนวทางเดียวกับสำนักสันติวิธีของสถาบันพระปกเกล้าที่เพิ่งกำหนดขึ้นมาใหม่  เพราะขบวนปฏิวัติสันติมีแนวทางปฏิวัติเป็น “ความมุ่งหมาย” และมีพุทธอหิงสาธรรมเป็น “มรรควิธี” (Methodology)  ส่วนสำนักสันติวิธีของสถาบันพระปกเกล้าฯเป็นเพียงวิธีการ (Means) ที่มิได้ระบุความมุ่งหมาย  การปฏิวัติสันติ (Peaceful Revolution) คือการเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิงด้วยสันติ  ส่วนขบวนอื่นที่เพิ่งกำหนดการใช้วิธีการสันติมิได้บอกว่าจะเอาวิธีการแบบนี้ไปใช้เพื่อการใด และเพื่อใคร ในระบอบไหน  

             การใช้สันติวิธีในระบอบเผด็จการ และการเคลื่อนไหวของกลุ่มริบบิ้นสีขาว ในท่ามกลางสถานการณ์อ่อนไหวแต่ละครั้ง จึงไม่สอดคล้องและได้รับการโจมตีจากนักเคลื่อนไหวภาคสนามมาโดยตลอด  ส่วนการเคลื่อนไหวของคณะธรรมยาตราสวมชุดปฏิบัติสีขาวซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของขบวนปฏิวัติสันติเพื่อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงอย่างสันติ จึงมิได้รับการต่อต้านจากประชาชน เพราะมีจุดมุ่งหมายชัดเจนของการนำสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิงของระบอบเผด็จการ   นักวิเคราะห์ในขบวนปฏิวัติสันติชี้ให้เห็นว่าการใช้สันติวิธีโดยขาดความมุ่งหมายมีสภาพไม่ต่างจากการกวาดฝุ่นไปไว้ใต้พรม เพราะขาดกระบวนการชำระล้างให้สะอาดหมดจดด้วยข้อเท็จจริงและความจริงหลายระดับ (อ่านเพิ่มเติมบทความความจริงของสถานการณ์ “กระบวนการเข้าถึงสัมมาทิฎฐิของพลังสันติเพื่อแก้ปัญหาทุกข์ของชาติด้วยการเข้าถึงความจริงหลายระดับ” (17 พ.ย.2551) http://ndmt.multiply.com/journal/item/65/65)  
 
             สันติวิธีในขบวนปฏิวัติสันติเป็นสันติวิธีที่ยึดหลัก “พุทธอหิงสาธรรม” ที่มีการปฏิบัติจริงในภาคสนามและผ่านบททดสอบมาหลายครั้งจากการเคลื่อนไหวในสถานการณ์ต่างๆ เช่นการเดินธรรมยาตราทวงคืนเขาพระวิหาร-มณฑลบูรพาที่ชายแดนไทย-กัมพูชา จนเป็นเหตุให้สามคนไทยถูกทหารกัมพูชาจับตัวไปเป็นต้น
 
           ในอดีตแนวปฏิวัติต้องเผชิญการพิสูจน์ให้ชนะคดี ๓ คดีในรอบสิบปีที่ถูกกล่าวหาว่าก่อความวุ่นวายทำลายความมั่นคงของชาติ  คือคดีสภาปฏิวัติในปี ๒๕๓๒  คดีนักศึกษาชุมนุมที่สนามหลวงในปี ๒๕๓๒ และคดีนักศึกษาเผาตัว ปี๒๕๓๓ ทั้ง ๓ คดีมีเนื้อหาเหมือนกันคือข้อเสนอโอนอำนาจให้ประชาชน  แต่กลับโดนข้อกล่าวหาว่าเป็นกลุ่มบ่อนทำลายความมั่นคงแบบพวกคอมมิวนิสต์   ขบวนปฏิวัติสันติในประเทศไทยจึงเป็นขบวนที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมีประสบการณ์การต่อสู้ในสนามมาอย่างโชกโชน  และผ่านบททดสอบ “สภาวธรรม” มาหลายครั้ง
           
             ลักษณะการทำงานของขบวนปฏิวัติสันติภายใต้ขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติเป็นการทำงานทางความคิด ติดอาวุธให้ทุกฝ่ายที่กำลังทำการเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อต่อต้าน คัดค้านและยุติความรุนแรงทุกรูปแบบของขบวนเผด็จการในประเทศไทยที่นิยมใช้การปราบปรามเป็นหลัก ทั้งขบวนเผด็จการรัฐสภาผ่านพรรคการเมืองทั้งสองพรรค และขบวนการคอมมิวนิสต์ที่ทำแนวร่วมแทรกอยู่กับขบวนเผด็จการทั้งคู่   ในอดีตขบวนปฏิวัติสันติหลีกเลี่ยงการใช้คำว่าปฏิวัติเพื่อหลีกเลี่ยงความเข้าใจที่สับสนของนักวิชาการไทยที่ไม่ได้ศึกษาทฤษฎีปฏิวัติเนื่องจากการถูกครอบงำด้วยลัทธิรัฐธรรมนูญมาช้านานหลายสิบปี   นักวิชาการไทยสาย “เสาค้ำรัฐธรรมนูญ” ให้จินตภาพคำ “ปฏิวัติ” (Revolution) ว่าคือความรุนแรงแบบ “รัฐประหาร” (Coup d’etat) ของทหารซึ่งเป็นการใช้ภาษาวิชาการผิด  แท้จริงแล้วปฏิวัติคือลักษณะของการเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิงและแตกต่างจากการเปลี่ยนแปลงแบบปฏิรูปตามที่ได้อธิบายในบทความในตอนก่อน 
          
              นักวิชาการในขบวนปฏิวัติสันติได้ทำบทวิเคราะห์อธิบายว่าการเปลี่ยนประเทศไทยในครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนตามแนวโน้มทางประวัติศาสตร์ที่บ่งชี้ให้เห็นชัดว่าประเทศชาติต้องการการเปลี่ยนแปลงถึงขั้นระบอบ เริ่มต้นแต่กบฏ รศ. ๑๓๐ ในสมัยพระมหาธีรราชเจ้ารัชกาลที่๖ เป็นกระแสเกิดขึ้นต่อเนื่องมาสู่คณะราษฎรในสมัยรัชกาลที่๗ จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาสู่ระบอบเผด็จการรัฐสภา  ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่สำเร็จลุล่วง  เพราะเป็นการเปลี่ยนจากระบอบเผด็จการของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงธรรม มาสู่ระบอบเผด็จการของคณะราษฎรที่ไร้ธรรม  และเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มิได้ใช้สันติวิธีเป็นที่ตั้ง  ลักษณะพิเศษของการเปลี่ยนแปลงโดยคณะราษฎรในทัศนะของนักปฏิวัติสันติคือ เป็นการเปลี่ยนที่ไม่สอดคล้องกับสังคมและรากเหง้าวัฒนธรรมเดิมของชาติ
   
               ส่วนแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงขั้นปฏิวัติในครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงตามครรลองซึ่งไปตามกฎเกณฑ์  เพราะถ้าหากไม่เปลี่ยนก็จะเกิดมิคสัญญี กลียุคนำสู่การประหัตประหารเอาชีวิต ดังที่เคยปรากฎมาก่อนในประวัติศาสตร์โลก
 
               ระยะเปลี่ยนผ่านอันยาวนาน
 
               นักทฤษฎีในขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติเคยกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยว่าจะต้องสูงส่งถึงขั้นเปลี่ยนแปลงทางจิตวิญญาณซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงขั้นสูงสุดที่เรียกว่า “มนุษยปฏิวัติ” (Human Revolution)  นั่นคือคำทำนายอนาคตของประเทศไว้ล่วงหน้าโดยพลตรี หลวงวิจิตรวาทการ  
     
             สภาวการณ์ในประเทศไทยขยับเข้าใกล้การเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิงหลายครั้ง  ถึงขั้นเปลี่ยนโครงสร้าง เปลี่ยนนโยบาย  แต่ในแต่ละครั้งก็มักเกิดเหตุที่ทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้สำเร็จ  เพราะเกิดจากความเข้าใจผิด  การไม่ยอมศึกษา  และท้ายที่สุด  การมีผู้ปกครองที่ไม่เข้าใจและเข้าไม่ถึง “สัจธรรม” ของการเปลี่ยนแปลง                    แท้จริงแล้วร่องรอยของการพยายามทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิงเคยเกิดขึ้นหลังจากนั้นครั้งหนึ่งในปี๒๕๒๓ โดยมีเหตุปัจจัยที่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงคือภัยร้ายคอมมิวนิสต์    ในยุคนั้นได้มีผู้เขียนนโยบายแห่งชาติขึ้นมาเพื่อทำการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยแบบ “ปฏิวัติ” อย่างสิ้นเชิงภายใต้นโยบาย ๖๖/๒๓ หรือคำสั่งนายกรัฐมนตรีฉบับที่ ๖๖ที่ออกในวันที่ ๒๓เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๓ ในระหว่างที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี  แต่นั่นก็เป็นการเปลี่ยนที่ไม่ครบสมบูรณ์เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงอย่างสันติจำต้องมีกระบวนการขั้นตอนการเปลี่ยนที่ใช้เวลา มิได้เกิดขึ้นได้โดยฉับพลันเหมือนการปฏิวัติรุนแรง นโยบายนี้จึงได้รับการปฏิบัติเพียงครึ่งเดียว และอีกครึ่งหนึ่งยังทิ้งค้างคามาจนถึงปัจจุบัน  เกิดสภาวะปฏิวัติครึ่งเดียวมาตลอดระยะเวลาเกือบสามสิบปีที่ผ่านมา  การปฏิวัติครึ่งเดียวคือการขุดหลุมฝังตัวเองและประเทศชาติ และเป็นสิ่งที่นักปฏิวัติไม่พึงกระทำ (อ่านเพิ่มเติม จลาจลหน้าบ้านป๋าเปรมเกี่ยวข้องอะไรกับนโยบาย๖๖/๒๓ กระทู้เก่าที่นำมาเล่าใหม่http://ndmt.multiply.com/journal/item/105/105)
 
                นักทฤษฎีในขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติชี้ให้เห็นว่านโยบาย ๖๖/๒๓ ขั้นตอนแรกได้รับการปฏิบัติเพราะทุกฝ่ายในขณะนั้นทั้งกองทัพ ทั้งสถาบันฯต่างกลัวภัยคอมมิวนิสต์มากกว่าการเข้าใจถึงคุณประโยชน์ของนโยบายอย่างถ่องแท้  ซึ่งเป็นการตกลงพร้อมใจกันทุกฝ่าย  แต่ในขั้นตอนที่สองนี่กลับแตกต่างอย่างสิ้นเชิงตรงที่ทุกฝ่ายต่างปฏิเสธนโยบายนี้  สาเหตุเป็นเพราะเข้าใจผิดว่านโยบาย ๖๖/๒๓ เป็นนโยบายคอมมิวนิสต์    
 
                ดังนั้นก่อนจะพากันเปลี่ยนอีกครั้งในคราวนี้  จะต้องชี้ชัดว่าจะเปลี่ยนไปเป็นอะไร  แบบไหน และใช้เวลาในการเปลี่ยนนานแค่ไหนกว่าการเปลี่ยนแบบนั้นจะเสร็จสิ้นสมบูรณ์  จะเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว  รุนแรง แบบปฏิวัติคอมมิวนิสต์   ที่พร้อมยอมเสียชีวิต  และเปลี่ยนโครงสร้างใหม่  ด้วยการโค่นล้มสถาบันสองสถาบันหลักลงคือ สถาบันพระมหากษัตริย์และสถาบันพุทธศาสนา  หรือต้องการเปลี่ยนอย่างสันติ  ไม่รุนแรง ดำรงไว้ซึ่งสองสถาบันหลักของชาติอย่างค่อยเป็นค่อยไป   เป็นการเปลี่ยนที่ถอนรากถอนโคนเช่นกันและยิ่งยงกว่าเพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงถึงขั้นจิตวิญญาณ  หากแต่ต้องใช้เวลา  และความอดทนอดกลั้นอย่างยิ่ง 
 
               ในวันนี้ยังต้องวิเคราะห์ให้ชัดลงไปอีกขั้นหนึ่งว่า  เพราะเห็นภัยล่วงหน้าจึงต้องเปลี่ยน  หรือเพราะจะพากันแพ้จึงยอมจำนนต่อการเปลี่ยน  และ/หรือเกิดจากความต้องการชนะจึงพากันเปลี่ยน   การนำสู่การเปลี่ยนที่ถูกต้องน่าจะต่างกันตรงที่ความเข้มข้นของการนำเปลี่ยนด้วยความ “กล้า” มิใช่ด้วยความ “กลัว” เส้นแบ่งอันเบาบางของการนำวัดกันที่ใจ   ตามคติพุทธที่ว่า “ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยใจ”  ลักษณะความกล้าที่จะชนะมากกว่าความกลัวที่จะแพ้ชี้ขาดความสามารถของผู้นำ  และคุณสมบัติของผู้กล้าแบบนี้ไม่ได้มีอยู่ในการนำของทุกคนหรือทุกคณะบุคคล  
                  
                ประชาชนในฐานะผู้ผลักดันสู่การเปลี่ยนแปลง    
  
              ในขบวนปฏิวัติทุกขบวนไม่ว่าจะเป็นปฏิวัติรุนแรงแบบคอมมิวนิสต์หรือปฏิวัติประชาธิปไตย ต่างเกิดจากการผลักดันของพลังประชาชนทั้งสิ้น  ในประเทศไทยก็เช่นกัน   โดยข้อเท็จจริงการปลุกประชาชนให้ตื่นขึ้นมาท้าทายอำนาจรัฐดำเนินการมาก่อนโดยขบวนคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย ผ่านจัดตั้งเกษตรกรรากหญ้า ชาวนาในอิสาน ลักษณะก้าวหน้าของกลุ่มเกษตรกรหัวก้าวหน้า มีพื้นฐานมาจากความคิดที่ต้องการเปลี่ยนไปสู่สภาพที่ดีกว่า ดังที่อธิบายในตอนก่อนถึงลักษณะเปลี่ยนที่สอดคล้องกับการปฏิวัติของกลุ่มซ้ายที่มีมากกว่ากลุ่มขวา  (อ่านเพิ่มเติม "เหตุแห่งความพ่ายแพ้-สู่การเปลี่ยนรูปการต่อสู้ของขบวนการประชาชน VS การดื้อแพ่งของชนชั้นปกครอง” - ตอนที่1
(29 มีนาคม 2552)  http://ndmt.multiply.com/journal/item/103/103) แต่การขับเคลื่อนพลังประชาชนของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก็มีข้อเสียอย่างยิ่งตรงที่การขับเคลื่อนตามทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคอมมิวนิสต์ ติดวิธีคิดทางชนชั้นและวิธีการรุนแรง ซึ่งเป็นข้อด้อยกล่าวคือใช้ชนชั้นล่างโค่นล้มชนชั้นบนด้วยวิธีการรุนแรง ดังจะเห็นได้จากการปลุกระดมมวลชนผ่านเว็บไซท์ในกลุ่มแดงให้ประชาชนออกมาจับอาวุธนำสู่สงครามประชาชนเป็นต้น   
           
               เนื่องจากวิธีคิด (Way of Thinking) และวิธีการ(Means) ของคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยไม่สอดคล้องกับลักษณะประจำชาติของคนไทย ที่ไม่นิยมความรุนแรงและรักสันติ  การใช้ชนชั้นล่าง โค่นล้มชนชั้นบนจึงเป็นการทำงานแนวร่วมที่ต้องใช้เวลา โดยมีสภาวการณ์ต่างๆทางการเมืองเป็นเงื่อนไขให้พวกเขาได้ปลุกเร้าต่อไป  ดังจะเห็นได้จากการที่ขบวนปฏิวัติสันติชี้ให้เห็นภัยของการทำแนวร่วมผ่านการจัดตั้งต่างๆ ผ่านงานวิชาการมาอย่างต่อเนื่อง
   
              ในขณะนี้เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่าทฤษฎีปฏิวัติคอมมิวนิสต์เป็นทฤษฎีผิดเพราะได้รับการปฏิเสธจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่ไม่เอาด้วยกับความรุนแรง  แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่สามารถทำความเข้าใจได้ถึงมูลเหตุความรุนแรงอันเป็นที่มาจากการทำแนวร่วมของขบวนการคอมมิวนิสต์ ที่มุ่งสร้างมวลชนเคลื่อนไหวสร้างแรงปะทะ (อ่านเพิ่มเติม “ความจริงของสถานการณ์ประเทศไทยภายใต้ยุทธวิธีแนวร่วมสู่ขั้นตอนการทำแนวร่วมมุมกลับชั้นสูงได้ผล  มหันตภัยครั้งใหม่ที่คนไทยไม่รู้เรื่อง”  http://ndmt.multiply.com/journal/item/49/49)
  
             พัฒนาการของขบวนการประชาชนเข้มแข็งทางปัญญาจึงเป็นสิ่งจำเป็น และการนำทฤษฎีที่ถูกต้องไปสู่ประชาชนเข้มแข็งคือภารกิจที่ขบวนปฏิวัติสันติดำเนินการอยู่ หรืออีกนัยหนึ่งการเคลื่อนไหวของพลังประชาชนจะต้องชี้นำด้วยทฤษฎีที่ถูก เป็นสัมมาทิฎฐิ การผลักดันของประชาชนด้วยพลังสัมมาทิฏฐิเท่านั้นจึงจะได้ประชาธิปไตย  มาตรการการผลักดันผู้ปกครองด้วยการชุมนุม เป็นหนึ่งในรูปธรรมของการแสดงประชามติ แบบประชาธิปไตย  มาตรการหยุดงานเป็นอีกมาตรการหนึ่งที่ดีที่สุดในระบบทุนนิยมนำสู่การหยุดงานทางการเมือง (Political Strike)  ซึ่งเป็นทฤษฎีที่เคยทำสำเร็จมาก่อนในยุโรป ระหว่างทุน กับกรรมกร  ซึ่งต่างจากการปิดจราจรริมถนนที่ไปละเมิดผู้อื่น เพราะกฎหมายแรงงานกรรมกรมีสิทธิ์ที่จะหยุดงานต่อรองกับนายจ้าง  กรรมกรไม่ได้ไปตัดน้ำตัดไฟ ไม่ปิดถนน แต่กรรมกรมีสิทธิเลือกที่จะ “หยุดการผลิต” ต่อรองกับนายทุนตามระบบเศรษฐกิจทุนนิยม  ซึ่งเป็นมาตรการกู้ชาติช่วยประชาชน ทำลายเผด็จการในประเทศที่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมแล้ว      
 
                  นักทฤษฎีในขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติชี้ให้เห็นว่า ถึงแม้จะได้มีความพยายามหยุดงานของสหภาพแรงงานการรถไฟภายใต้การนำของสมศักดิ์ โกไศยสุข ในช่วงม็อบเสื้อเหลืองแต่ก็กลายเป็นการหยุดงานที่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากไม่ได้หยุดให้ประชาชนทั้งประเทศได้ประโยชน์  เพราะข้อเสนอทางการเมืองต่ำเกินไปเนื่องจากเป็นการหยุดเพื่อโค่นล้มกลุ่มหนึ่งเพื่อประโยชน์ของอีกกลุ่มหนึ่ง
 
                สมาน ศรีงามนักทฤษฎีในขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติชี้ให้เห็นว่า ในขณะนี้การเคลื่อนไหวของประชาชนทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อแดง ก้าวเข้าสู่ภาวะ “การเคลื่อนไหวที่ไร้การนำ” เนื่องจากไม่มีการนำทางความคิดหลงเหลือให้เห็นอีก  และยังไม่ปรากฎมาตรการใหม่เพื่อผลักดันผู้ปกครองอย่างเป็นรูปธรรมของขบวนการประชาชนนอกเหนือจากสองมาตรการดังกล่าว
    
                  “ ลักษณะการนำทางความคิดไม่มี ทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อแดง  แม้การทำแนวร่วมเองก็ยังไม่สามารถนำทางความคิดได้ ที่เห็นว่าขัดแย้งกันอยู่นี่จึงเป็นการขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ทั้งสิ้น” สมาน ศรีงามกล่าว
 
                   นักทฤษฎีในขบวนฯได้ชี้ให้เห็นว่าแม้ฝ่ายซ้ายเองก็ไม่มีการนำเอาลัทธิคอมมิวนิสต์มาเผยแพร่ได้อีก ไม่มีการเผยแพร่ในระดับลัทธิ  ระดับทฤษฎี  ไม่มีสำนักคอมมิวนิสต์ใด เผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์อีกต่อไป   อำนาจทางปัญญาสูญหาย  และเหลืออยู่เพียงขบวนเดียวคือขบวนปฏิวัติสันติที่ทำหน้าที่อธิบายปรากฏการณ์ต่างๆอยู่  นักทฤษฎีกล่าวว่าในขบวนปฏิวัติสันติเองก็ศึกษาลัทธิคอมมิวนิสต์ด้วย อุดมคติคอมมิวนิสต์ไม่ได้เลวร้าย  แต่ปัญหาคือคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยเข้าไม่ถึงลัทธิของพวกเขาเอง  ทำให้ฝ่ายปฏิวัติสันติต้องทำหน้าที่อธิบายเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ที่ถูกต้อง ไม่เผยแพร่ในสิ่งที่ผิด  ในแง่หนึ่งก็เพื่อลดความรุนแรงจากฝ่ายขวาที่เข้าใจคอมมิวนิสต์ในทางที่ผิด
  
                    ลักษณะประชาชนนำเปลี่ยนในอดีต
                  
                   งานวิชาการของขบวนการปฏิวัติสันติในประเทศไทยระบุไว้ว่า  การผลักดันของประชาชนนำสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองสร้างจุดหักเหต่ออนาคตประเทศชาติอย่างมหันต์  ด้วยการวิเคราะห์เปรียบเทียบบทบาทของคณะราษฎรภายใต้การนำของอ.ปรีดี พนมยงค์ในสมัยรัชกาลที่๗ กับบทบาทของนักปฏิวัติประชาธิปไตยภายใต้การนำของกรมพระนเรศวรฤทธิ์ในสมัยรัชกาลที่๕ไว้ 
   
                  ในสมัยพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ ๕ พระองค์ทรงโต้ตอบกับ กลุ่มนักปฏิวัติประชาธิปไตยนำโดยกรมพระนเรศวรฤทธิ์ที่ได้ทำการทูลเกล้าถวายพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ ๕ ให้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบ absoluteเดิมให้เป็นระบอบประชาธิปไตย  ดังปรากฎอยู่ในพระราชบันทึกว่ามิได้เป็นพระมหากษัตริย์ดังเช่น “คางคกตกอยู่ในกะลาครอบ”   พระราชบันทึกนี้เป็นหลักฐานสำคัญชี้ให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นเจ้าของระบอบ มิได้เป็นการนำสู่การเปลี่ยนแปลงแต่ฝ่ายเดียว หากแต่มี “การผลักดัน” จากกลุ่มนักปฏิวัติประชาธิปไตยผู้มีคุณูปการต่อแผ่นดินภายใต้การนำของกรมพระนเรศวรฤทธิ์  กลุ่มปัญญาชนก้าวหน้าในสมัยรัชกาลที่๕ ประกอบด้วยคณะบุคคลภายใต้การนำของกรมพระนเรศวรฤทธิ์ได้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันพระเจ้าแผ่นดินให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่จนนำสู่การเลิกทาส และเปลี่ยนระบบการปกครองซึ่งนับว่าเป็นการเปลี่ยนแบบ “พลิกแผ่นดิน” โดยปราศจากการเสียเลือดเนื้อ
  
               นักทฤษฎีในขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติชี้ให้เห็นว่าบทบาทของกรมพระนเรศวรฤทธิ์แตกต่างจากบทบาทของคณะราษฎรก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี ๒๔๗๕ อย่างสิ้นเชิง  คณะราษฎรนำโดยดร.ปรีดี พนมยงค์ เสนอให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้ารัชกาลที่ ๗ เปลี่ยนแปลงการปกครองด้วยการ “โค่นล้ม” มิใช่ “ การผลักดัน” มีหลักฐานข้อมูลในฝ่ายปฏิวัติสันติระบุชี้ชัดว่าคณะราษฎรนำโดยอ.ปรีดี ประสงค์โค่นล้มสถาบันพระมหากษัตริย์แต่แรกเริ่ม และมีร่องรอยว่าต้องการสถาปนารัฐรีพับลิกขึ้นแทน อันเป็นเหตุให้เกิดปัญหาความแตกแยกในพรรคประชาธิปัตย์ภายหลังเมื่อมีผู้เห็นต่างและพยายามจะรักษาสถาบันฯไว้ เช่นกรณีกบฏบวรเดช เป็นต้น 
     
                นักทฤษฎีได้ชี้ให้เห็นว่ากรมพระนเรศฯนั้นทำหน้าที่ “ผลักดัน” แต่มิได้ “โค่นล้ม” เพื่อ “แย่งชิงอำนาจ” แบบที่คณะราษฎรลงมือกระทำ   ซึ่งเป็นบทบาทในฐานะประชาชน  ถึงแม้จะอยู่ในชนชั้นบนแต่กรมพระนเรศวรฤทธิ์ก็มีหน้าที่ดูแลแผ่นดิน “ต่างพระเนตรพระกรรณ” ของพระเจ้าแผ่นดิน จึงมีลักษณะสะท้อนปัญหาของประชาชน กล่าวคือเป็นตัวแทนของประชาชนในการเรียกร้องนั่นเอง    ขบวนปฏิวัติสันติในปัจจุบันก็เช่นเดียวกัน  ต่างเห็นความสำคัญในบทบาทของประชาชนและพลังที่จะร่วมกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้  แต่มิได้ประสงค์จะโค่นล้มสถาบันฯ ดังเช่นการเคลื่อนไหวตามทฤษฎีแนวร่วมคอมมิวนิสต์    ในความแตกต่างก็มีความคล้ายคลึงกัน ในการทำงานมวลชนและการชูประเด็นเรื่อง “พลังประชาชน” เคยทำให้กลุ่มขวาจัดในอดีตมองว่ากลุ่มปฏิวัติสันติก็คือคอมมิวนิสต์เหมือนๆกัน และได้ทำการต่อต้าน ปฏิเสธการมีบทบาทของขบวนสันติในประเทศไทยมาโดยตลอด  
    
                 อย่างไรก็ดีในอดีตนักปฏิวัติในขบวนฯเจ้าของนโยบาย ๖๖/๒๓ อ.ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ได้มีโอกาสทำงานทางความคิดกับผู้ปกครองมาตลอด อาทิ ในรัฐบาลอ.สัญญา ธรรมศักดิ์ และรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์และได้ข้อสรุปว่าการเปลี่ยนแปลงจากส่วนบนในกลุ่มชนชั้นปกครองฝ่ายเดียวมีความเป็นไปได้ยาก  ประสบอุปสรรคสำคัญเนื่องจาก การตบตาของลัทธิรัฐธรรมนูญที่ครอบงำ ปัญญาชนคนไทยไว้ได้หมด  จึงทำให้ฝ่ายปฏิวัติสันติหันมาเริ่มต้นทำงานทางความคิดร่วมกับประชาชนรากหญ้า และสหภาพแรงงานเช่นเดียวกับฝ่ายปฏิวัติคอมมิวนิสต์   ดังจะเห็นได้จากการจัดตั้งสมัชชาเกษตรกร กลุ่มต่างๆ  การขับเคี่ยว สัประยุทธ์กันระหว่างขบวนปฏิวัติสันติผ่านขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติ(ปัจจุบันคือคณะธรรมยาตราชุดขาว) กับขบวนปฏิวัติรุนแรงแบบคอมมิวนิสต์จึงเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ในทุกๆการเคลื่อนไหว  ผ่านขบวนการประชาชนต่างกลุ่ม
 
                 ในส่วนของงานวิชาการนั้น มีความแตกต่างกันในการทำงาน เนื่องจากการเผยแพร่ลัทธิความรุนแรงมิได้ทำโดยตรงแต่เป็นการทำผ่านแนวร่วม ที่มีลักษณะอำพรางซ่อนเร้น งานวิชาการฝ่ายซ้ายโดยตรงที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซท์ กลับมีข้อด้อยในโลกยุคสังคมข่าวสารไร้พรมแดน การเผยแพร่ลัทธิผ่านเว็บไซท์จึงกลายเป็นที่จับตาดูของสาธารณชนอาทิ เว็บไซท์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ในยุคของโลกข่าวสารไร้พรมแดนทำให้การเผยแพร่ข้อมูลของฝ่ายปฏิวัติสันติทำได้สะดวกขึ้นกว่าเดิม  เปิดโอกาสให้งานทางความคิดของฝ่ายปฏิวัติสันติ ปรากฏต่อสาธารณะเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

                  นักทฤษฎีในขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติกล่าวว่าการเรียนรู้จากประสบการณ์เดิมของอ.ประเสริฐเรื่องการเปลี่ยนความคิดผู้ปกครองเป็นไปได้ยาก  ดังนั้นขบวนปฏิวัติสันติในปัจจุบันจึงมีหน้าที่ในการสร้างมวลชนสันติที่จะทำหน้าที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยไม่จำเป็นต้องโค่นล้มผู้ปกครองลง  แต่มีหน้าที่ผลักดันผู้ปกครองให้ทำในสิ่งที่ถูก ซึ่งเป็นบทบาทที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมดั้งเดิมตามที่ผู้ศึกษาทดลองได้สรุปเค้าโครงเป็นทฤษฎีเคลื่อนไหวไว้แล้ว  การสร้างมวลชนสันติและการผลักดันผู้ปกครองจึงต้องทำไปพร้อมๆกันอย่างต่อเนื่อง การติดอาวุธทางปัญญา นำแนวทางที่ถูกต้อง สูงส่งไปมอบให้กับทุกฝ่ายตามเงื่อนไขและสถานการณ์ 
 
                   และนี่คือระยะเปลี่ยนผ่าน(Transition Period) ครั้งสำคัญ จากการถ่ายโอนอำนาจจากผู้ปกครองมาสู่ประชาชน  เพื่อให้ประชาชนมีส่วนในการผลักดันแต่แรกเริ่ม และมีส่วนในการกำหนดบทบาทของตัวเองก่อนเพื่อสร้างสภาประชาชนที่เป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริงในแบบของพระปกเกล้ารัชกาลที่๗  เป็นสภาถ่ายโอนอำนาจที่เป็น “สภาปฏิวัติ” อย่างแท้จริง
 
                  รัฐบาลแห่งชาติสร้างสภาปฏิวัติ...สู่มติมหาชน
 
                  “ ถึงคราวชาติอับจน”  คือพาดหัวข่าวของบทนำในหนังสือพิมพ์มติชนฉบับวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๕๒ เนื้อความชี้ให้เห็นว่าการประชุมรัฐสภาเร่งขึ้นมาเพราะนายกฯต้องการใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญในการแก้ปัญหาวิกฤต  เพราะคนในประเทศไทยพูดกันไม่รู้เรื่อง นำพาคลื่นมวลชนมาต่อสู้กัน  โดยไม่ใช้ปัญญาใช้แต่อารมณ์     ในขณะเดียวกันก็เกิดปรากฏการณ์ใหม่ของการตอบรับรัฐบาลแห่งชาติ (National Government) หรือรัฐบาลเฉพาะกาล (Provisional Government) ของคนหลายกลุ่ม   รายงานข่าวการตอบรับรัฐบาลแห่งชาติเกิดขึ้นกระเซ็นกระสายจากสส.พรรคเพื่อไทยเป็นข่าวเล็กๆแต่เริ่มปรากฏเป็นข้อเสนอใหญ่โตจนกลายเป็นพาดหัวข่าวสำคัญ  ในทันทีที่นักวิชาการอาวุโสอ.เสน่ห์ จามริกได้ออกแถลงการณ์เพื่อสนับสุนนแนวคิดการตั้งรัฐบาลแห่งชาติปรากฎเป็นข่าวร้อนในวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๕๒   บทนำจากไทยรัฐหน้าหนึ่งในวันที่ ๒๑เมษายน ๒๕๕๒ ระบุชัดเจนว่าประเทศไทยสมควรใช้แนวทางรัฐบาลแห่งชาติแก้ปัญหาวิกฤต  เช่นเดียวกับข้อเสนอของคอลัมนิสต์ชื่อดังเปลว สีเงินที่เสนอชัดขึ้นไปอีกให้รัฐบาลปฏิบัตินโยบาย ๖๖/๒๓ ขั้นตอนสองอันเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลแห่งชาติ

                 นอกเหนือจากนักวิชาการ และสื่อมวลชนแล้ว ยังปรากฏการตอบรับจากสส.พรรคไทยรักไทย  กระแสรัฐบาลแห่งชาติกำลังขึ้นสูง  ถึงแม้การเสนอให้แก้กฎหมายรัฐธรรมนูญก็ยังปรากฏอยู่ประปรายในกลุ่มสว. อยู่บ้าง แต่นับว่าเป็นกระแสเก่าที่ต่างก็รู้อยู่ลึกๆในใจว่าการแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญแก้ปัญหาประเทศชาติไม่สำเร็จ
 
                  ถึงแม้ว่าจะมีความเข้าใจเรื่องรัฐบาลแห่งชาติคลาดเคลื่อนไปจากข้อเสนอที่แท้จริงที่นักทฤษฎีในขบวนการประชาธิปไตยได้เคยนำเสนอไป  ก็นับว่าเป็นการจุดประกายครั้งสำคัญยิ่งในภาวะ “ไร้การนำทางความคิด” ในปัจจุบัน  ที่ได้ชื่อว่ารัฐบาลแห่งชาติเนื่องจากเป็นรัฐบาลที่ดำเนินการแก้ปัญหาจากนโยบายชาติ  และปฏิเสธการแก้ปัญหาจากกฎหมายรัฐธรรมนูญ  พวกที่เริ่มคล้อยตามเริ่มแสดงความเห็นในเว็บไซท์ถึง “นายกคนกลาง” ในระบบวิธีคิดแบบเก่า   แท้จริงแล้วข้อเสนอเรื่องรัฐบาลแห่งชาติคือข้อเสนอเรื่อง “การปกครองเฉพาะกาล” ไม่ใช่เสนอตัวบุคคลหรือเสนอชื่อนายกฯ อย่างที่เคยทำกันมาในอดีต คำว่าการปกครองตรงกับภาอังกฤษว่า Government ซึ่งนำมาแปลเป็นไทยผิดความหมายว่า”รัฐบาล” จึงเรียกการปกครองว่าเป็นรัฐบาล  รัฐบาลเฉพาะกาลกับรัฐบาลแห่งชาติที่ขบวนปฏิวัติสันติเสนอไม่ได้มีความต่างจากกันเพียงแต่เป็นการประยุกต์ในสถานการณ์ที่ต่างกันให้ทุกฝ่ายเข้าใจตรงกัน

                คำแถลงการณ์ของอ.เสน่ห์ ชัดเจนเรื่องความไร้ประโยชน์ของการใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการแย่งชิงอำนาจ  สะท้อนให้เห็นว่านักวิชาการอาวุโสที่สัมพันธ์กับนักวิชาการฝ่ายซ้ายของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มองเห็นปัญหาจากจุดเดียวกันได้  เพราะมีลักษณะก้าวหน้ากว่านักวิชาการสาย “เสาค้ำรัฐธรรมนูญ” ในรัฐบาลประชาธิปัตย์   ในขณะที่นักวิชาการสายเสาค้ำกำลังล้าหลัง กลายพันธุ์ไปเป็น “นักวิชาการขายตัว” ให้ระบอบเผด็จการรัฐสภา และกลายเป็นปากกระบอกเสียงให้รัฐบาลประชาธิปัตย์อย่างสุดตัว  การประเดิมจัดรายการที่สถานีโทรทัศน์ เอ็นบีที ของดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง สะท้อนจุดยืนของนักวิชาการ “อิงแอบอำนาจรัฐ” จนถึงที่สุด  
              
             นักทฤษฎีในขบวนปฏิวัติสันติชี้ให้เห็นว่า แถลงการณ์ของอ.เสน่ห์ จึงมีคุณค่าต่อสังคม ในฐานะนักวิชาการอาวุโสที่เคารพต่อ “หลักวิชา”  ใช้เหตุผลและหลักการเป็นใหญ่  มีลักษณะของ “นักวิชาการแท้” ที่ชนะหรือแพ้ด้วยเหตุผล  ไม่ถือทิฎฐิเป็นใหญ่ ซึ่งเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของนักประชาธิปไตยพึงมี   ซึ่งสวนทางกับความล้าหลังของสส.และสว.ในสภาสูงและสภาล่างที่ยังยื่นข้อเสนอเดิมให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเงื่อนไขต่ออายุรัฐบาลนี้ต่อไป 

               ปรากฏการณ์การตอบรับรัฐบาลแห่งชาติจากคนหลายกลุ่ม กำลังส่งสัญญาณใหม่ให้กับการทำงานของขบวนปฏิวัติสันติในประเทศไทย  สอดคล้องกับเสียงของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่ปฏิเสธความรุนแรง  และปฏิเสธไม่ได้ว่า รัฐบาลแห่งชาติกำลังจะกลายเป็นมติมหาชนในที่สุด !

          
 
 
 
             
 
 
                     (อ่านต่อตอนหน้า)
 

 

 
 


 
   

 


         
 อ่านบทความที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้อง...
  
 
         
  
  
  
  
  
 



Webboard is offline.