Revolutionary Press Agency : Online Journal and News Agency for Peace
สำนักสื่อปฏิวัติ  : วารสารข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
8 มิ.ย. 2554 กองหน้าประชาชนรุ่นใหม่ อนุสรณ์ สมอ่อน ตอบคำถามคาใจทำไมต้องปฏิวัติประชาธิปไตย? 
 
อุปสรรคความสำเร็จการปฏิวัติประชาธิปไตยในประเทศไทย ตอน ๑๓
 
เขียนโดย ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร โพส  ๖ ตุลาคม ๒๕๕๒ : ๒๓.๒๕ น.
 
คณะราษฎร-อุปสรรคของความสำเร็จของการปฏิวัติประชาธิปไตยในประเทศไทย
การปฏิวัติประชาชาติของคณะราษฎร (1)
 
 
                        
 
              ผมได้เห็นเหตุการณ์ที่ทหารต่างชาติเข้ามาอยู่เต็มเมืองในประเทศไทย 2 ครั้ง  ครั้งแรกทหารญี่ปุ่นเข้ามาเมื่อ พ.ศ.2484 ทหารญี่ปุ่นตัวเล็กกว่าทหารไทย คนไทยเรียกว่าไอ้เตี้ยบ้าง ไอ้ยุ่นบ้าง แต่เป็นทหารญี่ปุ่นชาติเดียว ไม่มีทหารชาติอื่นปน ครั้งที่ 2 ทหารแขกในบังคับบัญชาของนายทหารอังกฤษกับพลฯอังกฤษ เข้ามาเมื่อพ.ศ. 2488 ทหารแขกและทหารฝรั่งตัวโตกว่าทหารไทย  รวมกันเป็นทหารหลายชาติ ทหารแขกก็หลายชาติ โพกหัวก็มี ใส่หมวกก็มี ที่ตัวโตที่สุดคนไทยเรียกว่าทหารเนปาล

               ตอนที่ทหารญี่ปุ่นเข้ามา มีคนกล่าวกันว่า จอมพลป.พิบูลสงคราม “ขายชาติ” แต่ตอนที่ทหารแขกเข้ามาใครเป็นคน “ขายชาติ” ยังถกเถียงกันอยู่

              คำว่า “ขายชาติ” ผมไม่ได้ใช้ขึ้นเองนะครับ  แต่ผมได้ยินได้ฟังคนอื่นเขาพูดกัน ผมเองไม่ต้องการจะใช้คำว่า “ขายชาติ” ต่อคนไทยคนใดคนหนึ่งเลย แต่ถ้าการมีทหารต่างชาติอยู่เต็มบ้านเต็มเมืองในประเทศเรา เกิดจากการขายชาติของคนใดคนหนึ่งแล้ว ทหารญี่ปุ่นอยู่หรือทหารแขกอยู่ ก็ย่อมเป็นการขายชาติอย่างเดียวกัน ดังนี้จึงจะยุติธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหาว่าขายชาติ ถ้าถือว่าทหารญี่ปุ่นอยู่ขายชาติ แต่ทหารแขกอยู่ไม่ขายชาติ ก็ย่อมไม่ยุติธรรม

              เมื่อทหารญี่ปุ่นอยู่ ร้ายแรงแก่คนไทยอย่างไร พูดไม่หวาดไหว ผมเองก็เห็นกับตามาเยอะแยะ เช่นขึ้นรถไฟคนไทยต้องยืนเบียดกันไปตลอดทาง ทั้งๆที่ ที่นั่งว่างทั้งโบกี้ แต่ทหารญี่ปุ่นยึดไว้คนละที่ บางคนนอนหลับปี๋ บางคนนั่งเฉยๆโดยมีที่ว่างอยู่ แต่ไม่ยอมให้คนไทยนั่ง ผมเคนโยนกล้วยให้เชลยศึกฝรั่งตัวแดงๆนุ่งกางเกงชั้นในตัวเดียวยืนอยู่ที่ชานชาลาสถานีรถไฟเป็นแถว  พอทหารญี่ปุ่นเห็นก็พุ่งเข้าไปตบหน้าเชลย และแย่งกล้วยหวีนั้นขว้างไปเสีย มีเหตุการณ์ครั้งหนึ่งสะเทือนไปทั่วประเทศ  คือพระรูปหนึ่งเข้ามาขอซื้อนาฬิกาข้อมือจากเชลยฝรั่งที่บ้านโป่ง  พอทหารญี่ปุ่นเห็นก็ปรี่เข้าไปตบหน้าพระ และจับตัวจะพาไปเข้าค่าย  ชาวบ้านโป่งซึ่งมุงดูอยู่ก็เข้าแย่งเอาตัวพระรูปนั้นไป  ตำรวจไทยและสารวัตรทหารไทยเข้าช่วยคนไทย เกิดยิงกับทหารญี่ปุ่นตายไปฝ่ายละหลายสิบศพ ตอนนั้นถ้าญี่ปุ่นไม่ยอมต่อฝ่ายไทย ไทยคงจะต้องทำสงครามกับญี่ปุ่นเป็นแน่ เพราะทหารและประชาชนทั่วประเทศไม่ยอมแน่แล้ว เมื่อเห็นฝ่าย(รัฐบาลจอมพลป.) เอาจริง ญี่ปุ่นจำยอมรับผิดและไม่ต้องรบกัน

              ส่วนทหารแขกก็ไม่เบากว่าทหารญี่ปุ่น บางกรณีร้ายกว่า โดยเฉพาะชอบฉุดคร่าข่มขืนผู้หญิงตามบ้านนอก มีเรื่องหนึ่งที่ผมทราบจากเพื่อนว่า ชาวบ้านดารารุมกันตีทหารแขกตายหลายคนเพราะไปฉุดคร่าลูกสาวชาวบ้าน และขอให้ถามคนที่เป็นทหารรุ่นนั้นดู  เขาจะบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าอยากยิงทหารแขกให้ตายหมด เพราะพวกนี้กักขฬะมากและเห็นไทยเป็นเมืองขึ้น  และแสดงอำนาจบาตรใหญ่โดยอ้างหน้าที่ปลดอาวุธทหารญี่ปุ่น  แต่ผู้บังคับบัญชาใจเย็นกว่า พลทหาร จึงห้ามไว้ มิฉะนั้นทหารแขกอาจถูกทหารไทยยิงตายเป็นเบือทีเดียว  ผมเองเกิดทะเลาะกับหัวหน้ากองฝึกหัดครูก็ด้วยทหารแขกนี่แหละ  ตอนนั้นผมย้ายจากร.ร.สวนกุหลาบไปอยู่ ร.ร.ฝึกหัดครูประถมพระนคร วังจันทรเกษมแล้ว ทำหน้าที่อาจารย์ผู้ปกครอง หัวหน้ากองคนนั้นเคยเข้าข้างอักษะเต็มตัว พอสัมพันธมิตรชนะ คงอยากจะประจบผู้ชนะ วันหนึ่งขณะนักเรียนกำลังนอนพักหลังอาหารกลางวัน หัวหน้ากองมาหาผม บอกว่าให้ปลุกนักเรียนและนำไปทำความสะอาดตึกที่วังสุนันทาเพื่อให้ทหารอังกฤษ (ที่แท้คือทหารแขก) เข้าพัก ผมบอกว่านักเรียนกำลังนอนไม่ควรปลุก   และจะเอานักเรียนฝึกหัดครุซึ่งเป็นนักเรียนโตๆแล้วไปทำความสะอาดตึกให้ทหารแขกไม่เหมาะ หัวหน้ากองโกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยง จึงเดินปรี่ไปสั่นกระดิ่งลั่นปลุกนักเรียนเอง  นักเรียนแตกตื่นออกกันมากลางสนาม  หัวหน้ากองจึงบอกกับผมว่า ให้สั่งนักเรียนเข้าแถวพาไปทำความสะอาดตึก  ผมบอกว่าไม่สั่ง (เพราะเกลียดทหารแขกพอๆกับเกลียดทหารญี่ปุ่นและรู้สึกว่าหัวหน้ากองทำไม่ถูก) ให้ท่านหัวหน้ากองสั่งเอง หัวหน้ากองยิ่งโกรธและตวาดเอากับผมว่า  คุณขัดคำสั่งผมรึ  ผมบอกว่าไม่ขัดคำสั่ง ขอให้เขียนคำสั่งมา ผมจะปฏิบัติตามเดี๋ยวนี้ หัวหน้ากองกระทืบเท้าเดินกลับไป  แล้วก็ไม่เห็นเขียนคำสั่งมาให้ผมเลย เรื่องนี้ทั้งนักเรียนและครูเชียร์ผมกันใหญ่ เพราะไม่ชอบหัวหน้ากองคนนั้นอยู่แล้วที่ชอบใช้อำนาจบาตรใหญ่เสมอ และนักเรียนก็ยิ่งชอบใจที่ไม่ต้องไปทำความสะอาดตึกให้ทหารแขกเพราะพวกเขาเกลียดทหารแขกเหมือนๆผม นี่คือเรื่องทหารแขกเข้ามาอยู่เมืองไทยที่ทำให้ผมต้องทะเลาะกับหัวหน้ากอง

             เรื่องทหารญี่ปุ่นเข้ามาอยู่ในเมืองไทยก็ดี   เรื่องทหารแขกเข้ามาอยู่เมืองไทยก็ดี คือสภาพการณ์ที่ทำให้ประเทศไทยต้องทำการปฏิวัติประชาชาติ (National Revolution) และขณะนั้นประเทศไทยปกครองโดย “คณะราษฎร” หน้าที่ปฏิวัติประชาชาติจึงตกเป็นคณะราษฎรโดยเฉพาะด้วยเหตุที่คณะราษฎรถือว่าคณะตนเป็นคณะปฏิวัติประชาธิปไตยหรือคณะอภิวัฒน์ประชาธิปไตย  เราจึงมาดูกันว่าคณะราษฎรทำการปฏิวัติประชาชาติอย่างไร
 
                เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า คณะราษฎรนั้นตั้งขึ้นมาเพื่อจะทำการปฏิวัติประชาธิปไตย (Democratic Revolution) ซึ่งในระยะหลังๆ อาจารย์ปรีดีเรียกว่า “การอภิวัฒน์ประชาธิปไตย” ดังสุนทรพจน์ของท่านในงาน “กึ่งศตวรรษประชาธิปไตย” เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2525 ซึ่งท่านได้ให้หัวเรื่องสุนทรพจน์ของท่านว่า “คณะราษฎรกับการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิถุนายน”

                การปฏิวัติประชาธิปไตยหรือการอภิวัฒน์ประชาธิปไตยนั้น มี 2 ด้าน ด้านหนึ่งคือการสถาปนาอธิปไตยของประชาชน (Popular Sovereignty) อีกด้านหนึ่งคือการสถาปนาอธิปไตยของประชาชาติ (National Sovereignty)

                การสถาปนาอธิปไตยของประชาชนเรียกว่า การปฏิวัติประชาธิปไตย (Democratic Revolution)
   
               ประเทศเผด็จการที่มีอธิปไตยของประชาชาติแล้ว (เป็นเอกราชแล้ว) ไม่ต้องสถาปนาอธิปไตยของประชาชาติ จึงมีแต่การสถาปนาอธิปไตยของประชาชนด้านเดียว  มีแต่การปฏิวัติประชาธิปไตยในอังกฤษ ศตวรรษที่ 17 ภายใต้การนำของ โอลิเวอร์ ครอมเวล การปฏิวัติประชาธิปไตยในฝรั่งเศสศตวรรษที่ 16-19 ภายใต้การนำของเบสเบียร์ มาราต์ ตัวตอง เป็นต้น
      
              แต่ประเทศที่ยังไม่มีอธิปไตยของประชาชาติ (ยังไม่เป็นเอกราช)  ต้องสถาปนาอธิปไตยของประชาชาติคู่ขนานคู่ขนานไปกับการสถาปนาอธิปไตยของประชาชน เช่นการปฏิวัติประชาธิปไตยของงอเมริกาศตวรรษที่ 18 ภายใต้การนำของจอร์จ วอชิงตัน ยังผลให้ได้ประกาศอิสรภาพ (The Declaration of Independence) จากอังกฤษ ขณะเดียวกันก็กระชับอธิปไตยของประชาชนให้เข้มแข็งขึ้นด้วย การปฏิวัติประชาธิปไตยในอเมริกาจึงมี 2 ด้าน คือด้านปฏิวัติประชาชาติและด้านปฏิวัติประชาธิปไตย รวมกันเรียกว่า การปฏิวัติประชาธิปไตยประชาชาติ หรือการปฏิวัติประชาธิปไตยแห่งชาติ (National Democratic Revolution) แต่คนไทยมักเรียกผิดเป็นปฏิวัติประชาชาติประชาธิปไตยไป
    
               การปฏิวัติประชาชาตินั้น ไม่ใช่ว่าจะทำแต่เฉพาะในประเทศเมืองขึ้นเท่านั้น ประเทศที่เป็นเอกราชแล้วแต่ยังไม่สมบูรณ์  ก็ต้องมีส่วนแห่งการปฏิวัติประชาชาติด้วย
    
              ประเทศไทยในขณะที่ทำการปฏิวัติประชาธิปไตยเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 นั้น  เป็นประเทศเอกราชแล้ว แต่ยังไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะคือต่างประเทศยังมีสิทธิถอนคดีจากศาลไทย โดยกำหนดไว้ในสนธิสัญญาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ว่าต่างประเทศจะหมดสิทธิถอนคดีจากศาลไทย  ภายหลังที่ประเทศไทยมีประมวลกฎหมายครบถ้วนเป็นเวลา 5 ปี ฉะนั้นหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะราษฎรจึงได้เร่งรัดร่างประมวลกฎหมายที่ยังเหลืออยู่และสามารถประกาศใช้ประมวลตลอดจนวิธีพิจารณาความครบถ้วน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2477 ซึ่งตามกำหนดในสนธิสัญญาประเทศต่างๆ จะหมดสิทธิถอนคดีจากศาลไทยในวันที่ 1 ตุลาคม 2482
   
             แต่รัฐบาลคณะราษฎร โดยอาจารย์ปรีดี ได้เจรจากับประเทศต่างๆ ขอให้เห็นใจไทยและสิทธิถอนคดีก่อนกำหนดในสนธิสัญญา ยังผลให้ประเทศต่างๆยอมสละสิทธิตามลำดับ และสละหมดทุกประเทศเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2481 หมายความว่าประเทศไทยมีเอกราชสมบูรณ์ ตั้งแต่วันนั้น(เอกราชหมายความถึงเอกราชทางการเมือง) นี่คือส่วนสำคัญของการปฏิวัติประชาชาติครั้งแรกของคระราษฎร
       
             แต่ในขณะที่คณะราษฎรทำการปฏิวัติประชาชาติเสร็จ คณะราษฎรก็ได้ทำลายการปฏิวัติประชาธิปไตยเสร็จไปแล้วเหมือนกัน คือหลังจากคณะราษฎรสถาปนาอำนาจอธิปไตยของประชาชาติขึ้นได้เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 แล้วไม่นาน คณะราษฎรก็ค่อยๆเปลี่ยนอำนาจอธิปไตยของประชาชน ไปเป็นอำนาจอธิปไตยของชนส่วนน้อย คือค่อยๆเปลี่ยนระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบเผด็จการ และได้เปลี่ยนระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบเผด็จการรัฐสภาอย่างเป็นทางการด้วยการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475
         
              โดยระบุในช่วงนี้คือ การปฏิวัติประชาธิปไตยหรือการอภิวัฒน์ประชาธิปไตยของคณะราษฎร ประสบความสำเร็จในด้านการปฏิวัติประชาชาติ  คือทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศเอกราชสมบูรณ์  แต่ประสบความล้มเหลวในด้านการปฏิวัติประชาธิปไตย  คือแทนที่จะสถาปนาระบอบประชาธิปไตย กลับกลายเป็นการเปลี่ยนระบอบเผด็จการสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบเผด็จการรัฐสภา  พร้อมกับค่อยๆเพิ่มลักษณะของระบอบเผด็จการทหารขึ้นเป็นสำคัญ  จนถึงเมื่อหลวงพิบูลสงครามขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทนพระยาพหลพยุหเสนาการปกครองของประเทศไทยก็เป็นระบอบเผด็จการรัฐสภาควบทหาร
 

 
 
 
 
 
 
 
 

              
 
 
 
               (อ่านต่อตอนหน้า)
 
 
 
 
 
             อ่านย้อนหลัง...
 
 
 
 
 
 
 



Webboard is offline.