Revolutionary Press Agency : Online Journal and News Agency for Peace
สำนักสื่อปฏิวัติ  : วารสารข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
8 มิ.ย. 2554 กองหน้าประชาชนรุ่นใหม่ อนุสรณ์ สมอ่อน ตอบคำถามคาใจทำไมต้องปฏิวัติประชาธิปไตย? 
Change Series นำสู่การปฏิวัติในทุกมิติ
บทความพิเศษ  
 
- ตอน ๔ -
สำนักสื่อปฏิวัติ - Revolutionary Press Agency (RPA)
เขียนโดย นางแก้ว โพส  ๖ ต.ค.๒๕๕๒: ๐๓.๔๕ น.
เผยแพร่ครั้งแรก ๑๕ เม.ย.๒๕๕๒ 
 
“  การขุดหลุมฝังแนวทางรุนแรง VS การเกิดใหม่ของแนวทางสันติวิธีในขบวนการประชาชน”  
 
  
              
 
             พายุฤดูร้อน ฝนตกหนักทุกเย็น น้ำท่วมฉับพลันในกรุงเทพ แผนดาวกระจายในเมืองหลวงของม็อบเสื้อแดงอุบัติขึ้นท่ามกลางการลงโทษของธรรมชาติ  เกิดขึ้นก่อนวันที่8เมษายนซึ่งเป็นวันดีเดย์และต่อเนื่องตลอดสัปดาห์ ท่ามกลางการปิดถนนหลายจุดบนท้องถนนในกรุงเทพโดยม็อบนปช.เสื้อแดง   การปิดถนนในหลายจุดของม็อบเสื้อแดงตั้งแต่วันที่ 9-10 เมษายนเกิดขึ้นพร้อมๆกับเสียงด่าทอ สาปแช่งของคนเมืองที่ต่างปฏิเสธวิธีการเคลื่อนไหวดังกล่าว  ข่าวโทรทัศน์รายงานสภาพความทุลักทุเลของการช่วยเหลือผู้ป่วยในโรงพยาบาลราชวิถีและปฏิกิริยาของทั้งคนป่วยและเจ้าหน้าที่ที่ต่างแสดงความสะเทือนใจต่อการกระทำ  ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนต่างแสดงความเห็นผ่านสื่อขอร้องให้คนไทยยุติความวุ่นวายลง การแสดงทัศนะของผู้คนแสดงความอดทนต่อสถานการณ์แบบใช้เหตุผลจนถึงที่สุด คนส่วนใหญ่ต่างเห็นพ้องต้องกันว่าการชุมนุมของม็อบเสื้อแดงก้าวล้ำคำว่า “เสรีภาพทางการเมือง” อย่างสงบสันติ  และน่าจะมีวาระซ่อนเร้นแอบแฝง
 
              การฝังประเทศชาติทั้งเป็นด้วยวิธีรุนแรง
 
              นักวิเคราะห์ในขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติชี้ชัดลงไปว่ากลุ่มเสื้อแดงกำลังสร้างเงื่อนไขหาเหตุ “ป่วนเมือง” เพื่อยั่วยุให้เกิดการปราบปรามจากอำนาจรัฐตามทฤษฎีกฎไดเลคติคของลัทธิคอมมิวนิสต์   คือการมีฝ่าย “กิริยา” และฝ่าย “ปฏิกิริยา”  แต่ก็กลับกลายเป็นการกำหนดยุทธวิธีที่ผิดพลาดแต่ต้นเนื่องจากการปิดถนนจุดแรกที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิก่อความเดือดร้อนให้คนจนในเมืองหลวงมากกว่าใคร  เพราะเป็นเส้นทางเดินรถประจำทางสายสำคัญ  การกำหนดยุทธวิธีผิดทำให้ม็อบเสื้อแดงเริ่มถูกโดดเดี่ยวจากประชาชนในทันทีทันใด  การออกมาแสดงจุดยืนของประชาชนขับไล่การปิดการจราจรที่ถนนสาธรที่บริเวณแยกถนนนราธิวาสราชนครินทร์  คือกรณีศึกษาที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนที่เกิดปรากฏการณ์ “ประชาชน” โห่ไล่ “ม็อบ”  สะท้อนให้เห็นชัดว่าประชาชนไม่เอาด้วยกับความรุนแรง

              เมื่อไม่ประสบความสำเร็จแกนนำเปลี่ยนแผนรุกไปพัทยาในที่ประชุมอาเซียนซึ่งกลายจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการเคลื่อนไหวก่อความไม่สงบ   เกิดตัวละครเพิ่มขึ้นจากการจัดฉากใหม่ของกลุ่มคนเสื้อน้ำเงินหลายร้อยนายนำโดยเนวิน ชิดชอบที่ว่ากันว่าระดมกำลังนายตำรวจมาจากอิสานใต้ ยกกำลังมาทั้งโรงพักที่มีการยืนยันกันว่าราคาค่าตัว3,000 บาทต่อหัว ตัวละครสีน้ำเงินน่าจะทำงานภายใต้เงื่อนไขใหม่  เป็นฝ่าย “ปฏิกิริยา” เร่งสุมไฟให้ร้อนเร็วขึ้นผ่านการรับรู้ของรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีชื่อสุเทพ เทือกสุบรรณ การปะทะระหว่างน้ำเงินกับแดงสร้างเงื่อนไขปลุกเร้าใหม่ให้เสื้อแดง “เดือด” เร็วขึ้น และเดือดร้อนจัดจนควันพวยพุ่งในทันทีที่ เกิดการลอบยิงคนขับแท็กซี่ม็อบเสื้อแดงสองนาย        
              
           ความอ่อนไหวของสถานการณ์ปรากฏตามคาดการณ์จากกรณีลอบยิงแท็กซี่เสื้อแดง การยกระดับการชุมนุมสู่ความรุนแรงเป็นไปตามคาด  ขยับขึ้นสู่การก่อการจลาจลย่อยหลังการปะทะกับม็อบสีน้ำเงินของเนวิน ชิดชอบ  และเป็นการจุดชนวนให้แม่ทัพน้อยอริสมันต์ พงษ์เรืองรองพาเสื้อแดงทั้งหมดบุกยึดโรงแรมและทำให้การประชุมอาเซียนพังลงอย่างไม่ไว้หน้ารัฐบาลอีกต่อไป และจบลงด้วยกองทัพแดงบุกยึดโรงแรมพร้อมการถ่ายทอดสดแบบทีวีพูลทุกสถานี แม่ทัพน้อยเสื้อแดงยืนแถลงข่าวอย่างองอาจจนเป็นเหตุให้การประชุมผู้นำอาเซียนต้องยุติลง

             การขุดหลุมฝังประเทศทั้งเป็นยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง เป็นสภาวะอนาธิปไตยไร้ขื่อแปอย่างถึงที่สุด  แกนนำม็อบได้เพิ่มดีกรีการชุมนุมและเปลี่ยนฝูงชนให้เป็นนักอนาธิปไตย Anarchist ไปสำเร็จเรียบร้อย  พัฒนาการจากการนำพาฝูงชนการอ้างสิทธิ เสรีภาพ ด้วยเงื่อนไขเฉพาะตน เฉพาะกลุ่ม กลายเป็นการเบียดเบียนไม่เคารพสิทธิผู้อื่น กำลังสะท้อนสภาวธรรมใหม่เฉกเช่นโลกตะวันตกกำลังเผชิญ  เมื่อเสรีภาพตามกิเลสเบ่งบาน สันติภาพในใจหดหาย จุดยืนของประเทศชาติขึ้นอยู่กับการขึ้นตรงกับกลุ่มก้อนของพวกตน  ทุกคนอ้างสิทธิที่พึงมีในการแสดงออก แต่เสรีภาพชั้นต่ำแบบนี้ พัฒนามาจากวิธีคิดต่อกรกับอำนาจรัฐเผด็จการ  และกำลังเป็นเงื่อนไขให้ฝ่ายซ้ายคอมมิวนิสต์ใช้ในการปลุกม็อบอีกครั้งทั่วแผ่นดิน

            นี่คือปรากฏการณ์สถานการณ์ปฏิวัติกระแสสูง ในกระแสต่ำการนำทางความคิด  อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากอาเพศ10 ประการในประเทศไทย ที่นักทฤษฎีในขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติเคยอธิบายไว้ในบทความชิ้นหนึ่งว่า 1 ในอาเพศดังกล่าวคือ การที่นักเคลื่อนไหวทำเป็นแต่ม็อบแต่ทำแม็ส(Mass) ไม่เป็น  ม็อบที่เคลื่อนไปตามถนนเกิดขึ้นท่ามกลางการปราศรัยปลุกเร้า ตามธรรมชาติของการนำเมื่อปลุกม็อบได้อารมณ์ร่วมเต็มที่ไม่สามารถเอาอารมณ์ม็อบลงได้และเมื่อแกนนำเองไม่สามารถนำทางความคิดได้ จึงต้องพาคนไปใช้กำลังแทน    เห็นภาพชัดว่าเส้นโค้งแห่งทางช้างเผือกเชื่อมจากเหลืองมาแดง ก่อกำเนิดจากการชุมนุมของม็อบพันธมิตรฯเสื้อเหลือง193วันมาสู่การชุมนุมของม็อบนปช.เสื้อแดง20 กว่าวันนั้น มีลักษณะที่พอเทียบเคียงกันได้ในเรื่อง “อารมณ์ร่วม” ของฝูงชน ที่จำต้องเคลื่อนไปตามจังหวะการเต้นชีพจรของม็อบ และอุบัติเหตุย่อมเกิดขึ้นได้หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เล่นเกมสกปรกส่งมือที่สาม มือที่สี่ หรือมือที่ห้าเข้ามาสร้างเงื่อนไข “น้ำผึ้งหยดเดียว”  สร้างสถานการณ์รุนแรงปลุกเร้าม็อบถึงจุดเดือดพร้อมทำลายคู่ตรงข้าม โดยที่ไม่สามารถยับยั้งได้
 
 
              เสรีภาพของนักอนาธิปไตย Anarchist VS อำนาจรัฐในมือคนส่วนน้อย
  
 
             การใช้ “เสรีภาพทางการเมือง” ของกลุ่มเสื้อแดงสะท้อนผ่านการนำของอดีตนักร้องนายอริสมัน พงษ์เรืองรองแม่ทัพน้อยนำบุกโรงแรมรอยัล คลิฟ  บีชระหว่างการประชุมอาเซียน จนเป็นเหตุให้การประชุมต้องยุติลงอย่างสิ้นเชิง  สภาพของคลื่นฝูงชนเสื้อแดงฝ่าประตูกระจกโรงแรมและบุกเข้ายึดพื้นที่พร้อมการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนโดยมีแผ่นป้ายประชุมอาเซียนเป็นฉากหลัง  ทำให้คนไทยทั้งประเทศรู้สึก “ใจหาย” นักวิเคราะห์ในขบวนฯตั้งข้อสังเกตว่าแผนการครั้งนี้อาจมีนายทหารระดับสูงร่วมวางหมากอยู่ด้วย  และก่อความเสียหายได้ผล ฉีกหน้ารัฐบาล ทำลายความมั่นคง ต่อหน้าประชาคมโลก ได้สมใจนักก่อการที่อยู่หลังฉาก 

            ความเสียหายครั้งนี้สำคัญมากกว่าหน้าตาของประเทศเพราะผู้นำในภูมิภาคหวังใช้เวทีนี้แก้ปัญหาเศรษฐกิจโลกที่กำลังรุมเร้า   ม็อบเสื้อแดงหวังเพียงแค่ทำลายการประชุม พาประชาชนเข้าไปในโรงแรม  ทว่ากลับสร้างความสะเทือนใจให้กับคนไทยทั้งประเทศ  ไม่ต่างกับการเห็นบ้านเมืองถูกเผาให้วอดวายไปต่อหน้าต่อตาผ่านการรายงานสดของสื่อทีวี  และเป็นไปได้สวยกับทฤษฎีป่วนเมืองสร้างเงื่อนไขให้เกิดการนองเลือดตามทฤษฎีปฏิวัติคอมมิวนิสต์  

            นักทฤษฎีในขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติวิเคราะห์ว่ากลุ่มม็อบเสื้อแดงเกิดจากจัดตั้งหลากหลายกลุ่มทั้งกลุ่มแนวร่วมอดีตพคท.ในป่า ที่ต่างรวมตัวกันภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน และยังยึดแนวทางรุนแรงในการเคลื่อนไหว  มีการออกจดหมายเวียนโดยอดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยคนสุดท้าย ในฐานะหนึ่งแกนนำระดมมวลชนจัดตั้งฝ่ายซ้ายเข้าร่วม  สามารถกล่าวโดยรวมได้ว่าม็อบเสื้อแดงมีลักษณะการรวมตัวเข้มข้นกว่าม็อบเสื้อเหลืองพันธมิตร   การ “เอาคืน” ของทักษิณคือ อาวุธของการเมืองฝ่ายซ้าย  และนายกอภิสิทธิ์เผชิญศึกหนักรุมเร้าเพราะรัฐบาลไทยกลายเป็นตัวตลกต่อเวทีนานาชาติ และที่สำคัญสะท้อนความอ่อนแอของรัฐบาลที่ไม่สามารถดำเนินการใดๆได้   นี่ไม่ใช่เกมเล่นตลกทำให้รัฐบาลขายขี้หน้าแต่เป็นเรื่องของการ “รักษาความเป็นชาติ” ในเวทีโลก ไม่สมควรที่จะใช้เป็นเงื่อนไขของการชุมนุมเรียกร้องปัญหาภายในของชาติตน
 
           เมื่อฝูงชนอ้างการใช้สิทธิเสรีภาพในการเคลื่อนไหว  คู่ตรงข้ามคือรัฐบาลประชาธิปัตย์โดยนายกอภิสิทธิ์ก็ใช้อาวุธคู่ตรงข้ามกัน คือ “อำนาจรัฐ” นายกอภิสิทธิ์แถลงออกทีวีสดจากพัทยาว่ารัฐบาลพร้อมใช้“มาตรการทางกฎหมาย”  ด้วยการประกาศจับอดีตนักร้อง หลังการปะทะกันระหว่างเสื้อแดงและเสื้อน้ำเงินไปแล้ว   เวทีเสื้อแดงประกาศสู้ไม่ถอยทันทีทั่วประเทศให้บุกศาลากลางทุกจังหวัด  และมวลชนเสื้อแดงพร้อมป่วนเมืองต่อด้วยการรุกบ้านนายกอภิสิทธิ์วันเดียวกัน 

             ประชาชนที่ไม่เคยใส่ใจกับการเมือง จำต้องถามหาเหตุผลจากภาพข่าวที่ปรากฏในทีวี และในท้ายสุดคนไทยรักสันติก็ต่างแสดงออกคล้ายๆกันว่า “ทำเกินไป” ม็อบเสื้อแดงกำลังถูกโดดเดี่ยวจากประชาชนอีกครั้งหนึ่ง  ประชาชนเริ่มมีอารมณ์ร่วมเห็นใจรัฐบาลโดยปริยาย  ดังนั้นปฏิกิริยาต่อเนื่องหลังเกิดเหตุในพัทยาที่ทำให้ประชาชนรุกให้รัฐบาลทำการปราบปรามม็อบเสื้อแดงจึงไม่ใช่เรื่องเกินความคาดเดา   ส่งผลให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ได้รับบทบาทพระเอกผู้ถูกรังแกและแกนนำม็อบดาวเทียมทักษิณคือดาวร้ายผู้บงการ    ม็อบเสื้อแดงเขียนบทต่อในรุ่งเช้าของอีกวันหนึ่งด้วยการไล่ล่านายกฯไปจนถึงกระทรวงมหาดไทยจนเกิดฉากใหม่ การไล่ทุบรถประจำตำแหน่งนายกฯจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ

             นักทฤษฎีในขบวนการประชาธิปไตยฟันธงว่านี่คือการจัดฉากครั้งสำคัญของรัฐบาลประชาธิปัตย์  มีสุเทพ เทือกสุบรรณเป็นผู้วางแผน ทำให้นายกพระเอกและรัฐบาลถูกรังแกต่อหน้ากล้องทีวีคล้ายเรียลลิตี้โชว์  ประชาชนผู้บริโภคข่าวจากสถานีเดียวกันเริ่มคล้อยตามรัฐบาลที่ประกาศก่อนหน้านั้นว่าจะใช้สถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีในการกระจายข่าวสาร  ในอีกความหมายหนึ่งคือต่อแต่นี้ไปรัฐจะมีสถานีดังกล่าวเป็นปากกระบอกเสียงต่อตีกลับ  และปิดโอกาสคู่ต่อสู้ด้วยการปิดวงจรสถานีดีสเตชั่นของกลุ่มเสื้อแดงไม่ให้โต้ตอบ  ด้วยวิธีการเฉกเช่นรัฐบาลเผด็จการอื่นๆ ที่เมื่อถึงเวลา เสรีภาพที่เคยได้ในยามปรกติจะถูกลิดรอนในทันทีที่อาจหาญท้าอำนาจรัฐ
 
             ปรากฏการณ์นี้สะท้อนอะไร ? และให้บทเรียนอะไรกับประเทศชาติ ?
 
            นี่คือบทเรียนสำคัญของผู้อ้างว่าต้องการ “ประชาธิปไตย” ทุกคน ได้เรียนรู้ว่าในกรณีนี้เสรีภาพของบุคคลไม่สมดุลกับอำนาจอธิปไตยของปวงชน  เสรีภาพมากกลายเป็นอนาธิปไตย เสรีภาพน้อยเป็นเผด็จการ  เนื่องจากประชาชนเคลื่อนไหวอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการ คุ้นเคยอยู่แต่เพียงเสรีภาพน้อยๆ คนไม่รู้จักใช้เสรีภาพในสภาวะอนาธิปไตย เมื่อใช้อำนาจเกินขอบเขต จึงเกิดสภาพตามที่ปรากฎ 
             
           นักวิเคราะห์ในขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติกล่าวว่าความผิดพลาดของม็อบเสื้อแดงคือการไม่ยึดแนวทางสันติจริงแต่แรก  กิจกรรมปิดถนนกลายเป็นการป่วนเมือง จึงถูกปฏิเสธจากประชาชนและจะถูกโดดเดี่ยวจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศในที่สุดเพราะประชาชนไม่ต้องการความรุนแรง  ส่วนความผิดพลาดของรัฐบาลประชาธิปัตย์ในครั้งนี้คือเลือกใช้มาตรการทางกฎหมายเพียงอย่างเดียวซึ่งไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้องทั้งหมด  นักวิเคราะห์กล่าวว่ารัฐบาลควรใช้มาตรการทางการเมืองนำ และใช้มาตรการทางกฎหมายเป็นรอง  เขาชี้ให้เห็นว่านี่คือลักษณะของพรรคประชาธิปัตย์ที่นิยม “อ้างกฎหมาย” ภายใต้ท่วงทำนองสุขุมกลับซ่อนความรุนแรงแบบเผด็จการไว้เต็มที่  หากรัฐบาลใช้มาตรการการเมืองเป็นหลัก และมีมาตรการทางกฎหมายและมาตรการทางการทหารเป็นองค์ประกอบการแก้ปัญหาม็อบเสื้อแดงอาจนำไปสู่ “สภาวธรรมใหม่” ของประเทศชาติที่ดีกว่านี้ 
 
 
 
               คัมภีร์ประชาชน
 
              ดังที่กล่าวในตอนก่อนว่ารูปธรรมของเผด็จการคือม็อบ ม็อบคือปรากฏการณ์และเผด็จการคือธาตุแท้  ในตอนนี้มีคำอธิบายเพิ่มเติมขึ้นมาอีกคือ รูปธรรมของการใช้อำนาจอธิปไตยคือกฎหมาย  และรูปธรรมของเสรีภาพก็คือการเคลื่อนไหว  หรือกล่าวจนถึงที่สุดได้ว่า พระราชกำหนด(พรก.) ฉุกเฉินของรัฐบาลคือการใช้อำนาจรัฐบังคับมิให้เกิดการเคลื่อนไหวของนปช.เสื้อแดง  ทั้งสองอันคือองค์ประกอบ 2 ใน 5 หลักสำคัญของหลักการประชาธิปไตยทั้ง 5 คืออำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน  ความเสมอภาค  เสรีภาพบุคคลบริบูรณ์ หลักนิติธรรมและท้ายสุดการเลือกตั้ง    และการสร้างสังคมประชาธิปไตยจำเป็นต้องสร้างดุลยภาพของหลักการทั้ง 5 ให้เสมอกันให้ได้เสียก่อน จึงจะเรียกได้ว่าเป็น “ระบอบประชาธิปไตย” หากดุลยภาพไม่บังเกิด ก็ยังเท่ากับว่าระบอบที่มีอยู่ยังคงเป็นเผด็จการอยู่ (อ่านเพิ่มเติม.....)

            หลักความสัมพันธ์ของอำนาจอธิปไตยกับการใช้เสรีภาพบุคคลนั้นคือบาทฐานสำคัญของการสร้างประชาธิปไตยให้เกิด  ในรัฐเผด็จการ  การบังคับใช้ทางกฎหมายมีความเข้มข้นและมีลักษณะลิดรอนสิทธิเสรีภาพของบุคคลสูงกว่า   ในกรณีนี้อำนาจที่นายกอภิสิทธิ์ใช้แทนอาญาแผ่นดินในการปราบม็อบถือว่าเป็นอำนาจ (ละไว้ในฐานที่เข้าใจว่า) ที่เกิดจากการยอมรับของคนทั้งแผ่นดิน   เรียกว่า “อำนาจอธิปไตยของปวงชน” คือปวงชนเป็นใหญ่และปวงชนมอบอำนาจนั้นให้กับรัฐบาลเพื่อใช้อำนาจผ่านกลไกรัฐ  แต่เนื่องจากระบอบที่มีอยู่เป็นระบอบที่เกิดจากอำนาจอธิปไตยเป็นของคนส่วนน้อยหรือผู้ปกครองที่มิได้มีลักษณะเป็นตัวแทนของประชาชนจริงหรือระบอบเผด็จการรัฐสภา  ที่กำลังดำเนินถึงความเสื่อม ผุกร่อนและไร้ประสิทธิภาพอย่างถึงที่สุด  และนับว่าเป็นความโชคร้ายของคนหนุ่มเช่นนายกฯอภิสิทธิ์ที่ขึ้นมาปกครองในยามที่ความผุกร่อนของอธิปไตยตนส่วนน้อยกำลังเสื่อมเต็มที่   ขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติเสนอแนวทางการแก้ปัญหาให้ถูกต้องด้วยการทำให้อำนาจอธิปไตยของปวงชนมีความสมดุลกับเสรีภาพของบุคคล   และวิธีการสร้างความสมดุลนี้ทำได้ประการเดียวคือด้วยการ “ สร้างประชาธิปไตย” นั่นเอง
  
            รูปของอำนาจอธิปไตยปวงชนคือการใช้กฎหมายของรัฐบาล  ซึ่งกำลังสู้อยู่กับรูปการใช้เสรีภาพแบบสุดโต่งของกลุ่มเสื้อแดง  กำลังสะท้อนความไม่สมดุลของหลักการทั้ง 5  แต่เนื่องจากระบอบที่มีอยู่มิใช่ระบอบประชาธิปไตยแต่เป็นระบอบเผด็จการ การใช้เสรีภาพจึงล้นขอบ  ถ้าหากอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน การใช้เสรีภาพจะไม่เกินความพอดีขนาดนี้เนื่องจากมีระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงแล้ว   ดังนั้นวิกฤตประเทศไทยในครั้งนี้จึงเป็นวิกฤตปัญหา “ระบอบ” อย่างแท้จริง
 
 
           เมื่อเห็นตรงกันว่าปัญหาที่เผชิญอยู่ในประเทศไทยขณะนี้คือปัญหา “ระบอบ ” ไม่ใช่ปัญหา “บุคคล ” ไม่ใช่ปัญหานายกอภิสิทธิ์พูดภาษาอังกฤษเก่งกว่าทักษิณ หรือนายกอภิสิทธิ์หนุ่มกว่า มีภูมิหลังที่สมบูรณ์กว่า ไม่ใช่การแก้ปัญหาด้วยการเข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดระหว่างเหลืองหรือแดง แต่เป็นการชี้ให้เห็นหลักการแก้ปัญหาที่ “เหตุ” ของปัญหาเพื่อนำสู่การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง  การแก้ปัญหาครั้งนี้ ต้องแก้ที่ระบอบอย่างแท้จริง  คือทำด้วยวิธีการใดๆก็ได้ให้เป็นประชาธิปไตยแบบที่อำนาจอธิปไตยเป็นของคนส่วนใหญ่  เพื่อยุติปัญหาการแย่งชิงอำนาจของคนสองกลุ่มลงให้สำเร็จ
 
            นี่คือสิ่งที่ประชาชนคนไทยจำเป็นต้องเรียนรู้ ต่อแต่นี้ไป หากทุกฝ่ายยังร่ำร้องเรียกหาประชาธิปไตยกันอย่างไม่หยุดหย่อน  ประชาชนจำเป็นต้องมีคัมภีร์ประชาชนเป็นหลักคิดเพื่อเสริมความรู้กันต่อไป
 
 
             Red Shirt Rebel or Red Shirt Anarchist ?
 
 
            โดยข้อเท็จจริงสถานการณ์ก่อนการปราบม็อบนั้นประเทศไทยตกอยู่สถานการณ์ “เกียร์ว่าง” ของสภาวการณ์ไร้การปกครอง  เนื่องจากผู้ปกครองไม่สามารถปกครองได้และประชาชนไม่ยอมให้ปกครอง ซึ่งสะท้อนอยู่ในปรากฎการณ์ม็อบเสื้อแดงที่รัฐบาลไม่สามารถจัดการใดๆได้  เท่ากับว่าเกิดสภาพ “ไม่มีรัฐบาล” ขึ้นจริง ดังนั้นไม่ว่าประชาชนจะดำเนินการอย่างไรก็จึงถือว่าไม่ผิด นี่คือลักษณะของอนาธิปไตยหรือ Anarchy หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือการมีรัฐบาลที่ปกครองไม่ได้ ก็เหมือนไม่มีนั่นเอง

             ดังนั้นรุ่งเช้าของวันที่ 13 เมษายนซึ่งเป็นวันปีใหม่ไทย รัฐบาลได้ใช้มาตรการทางทหารปราบม็อบที่บริเวณแยกสามเหลี่ยมดินแดงเป็นจุดแรก   กองเชียร์เสื้อเหลืองและฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับ “การก่อการสร้างความรุนแรง” ของกลุ่มเสื้อแดง  ต่างพอใจการปราบปรามและเห็นว่านี่คือความพ่ายแพ้ของเสื้อแดง  แต่สำหรับนักยุทธศาสตร์ยุทธวิธีในขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติกลับเห็นตรงข้าม  การมอบตัวของแกนนำวีระ มุสิกพงษ์ กำลังแสดง “ภาวะผู้นำ” ของเขา  และการให้จับกุมคือมาตรการการรุกทางการเมืองวิธีการหนึ่งเพื่อ “ปลุกม็อบแดง” ให้ทั่วแผ่นดินเพื่อเป็นการรุกฆาตอีกครั้งนั่นเอง
 
            นักวิเคราะห์ในขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติแสดงความมั่นใจว่ากระแสการก่อการจะปรากฏหลังจากนี้ต่อไป  และจะขยายผลจากในเมืองสู่นอกเมือง  จากเมืองหลวงสู่ต่างจังหวัด จากก่อการเล็กๆสู่กองโจร เพิ่มดีกรีความรุนแรงขึ้นตามลำดับ  จากเสื้อแดงผู้จงรักภักดีเป็นกบฏแผ่นดินอย่างถาวร   นักวิเคราะห์กล่าวว่าในแง่ของการลงทุนทักษิณได้กำไรเต็มที่จากการเคลื่อนไหวที่ผ่านมา เขาได้ใจคนที่รักและติดตามเขา และรู้ว่ากำลังมีมากเท่าไร พร้อมขยับสู้ได้ และได้กระชับการจัดตั้ง รวมศูนย์ใหม่ของกลุ่มคนเสื้อแดงที่จะต้องเหนียวแน่นขึ้นอย่างเป็นไปเอง
 
            ประเด็นสำคัญที่ต้องชี้ให้เห็นคือหากข้อกล่าวหาของเสื้อแดงหนักหนาสาหัสสากรรจ์ถึงขั้นเป็น “กบฏ” ก็จะทำให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรได้ประโยชน์ในการใช้กฎหมายลี้ภัยทางการเมืองอยู่ต่างประเทศต่อไป  การต้องข้อหาทางการเมืองย่อมมีศักดิ์ศรีภาคภูมิกว่าการต้องข้อหา “ปล้นแผ่นดิน” เป็นแน่  เป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองย่อมสะดวกง่ายดายกว่าการตกเป็นผู้ “ฉ้อราษฎร์บังหลวง” ซึ่งเป็นเหตุผลเฉพาะหน้า   การพาดหัวข่าวว่า “กบฏแดง” ของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการอย่างต่อเนื่องจึงเป็นสิ่งที่ฝ่ายแดงคาดหวังให้เกิด   แกนนำจัดตั้งเสื้อแดงสามารถเปิดเกมใหม่จากจลาจลย่อยสู่สงครามกลางเมืองหรือสงครามกองโจรต่อไป  และแน่นอนสีแดงของกองทัพแดง กำลังจะกลายเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้เปิดฉากสงครามในขั้นตอนที่2ต่อไป อย่างไม่ต้องคาดเดา
 
           เป็นไปตามคาด  การขยายผลต่อเนื่องเกิดทันทีทันใด ในวันเดียวกัน จากการปิดถนนของกลุ่มแท็กซี่ และรถสามล้อเครื่อง จำนวน 200 คัน พร้อมการชุมนุมย่อยของคนอีกประมาณ 300 คน ที่เริ่มจุดประกายการยกระดับต่อด้วย การปฏิเสธทหารคล้ายคลึงกับสถานการณ์พฤษภาทมิฬ  เกิดการกล่าวหา “ทหารฆ่าประชาชน”  เนื่องจากทหารได้กลายเป็นตัวแทนอำนาจรัฐที่จะต้องทำตามหน้าที่รักษาความมั่นคงแห่งรัฐด้วยการออกมาห้ำหั่นกับ “กองทัพแดง” ต่อไป
 
           แกนนำม็อบแดงประกาศว่าการถูกจับไม่ใช่การยอมแพ้  นี่ไม่ใช่การพ่ายแพ้ ขั้นตอนการต่อสู้ใหม่กำลังจะเกิดขึ้น  และเป็นไปได้ว่าการต่อสู้แบบขบวนการใต้ดินในที่ลับกำลังจะถูกนำมาใช้สู่ขั้นตอนสงครามกลางเมืองใหม่ 
 
             แก้ปัญหาที่ระบอบมิใช่ที่ภาพลักษณ์ผู้นำ
 
            หลังการปราบม็อบนับแต่เช้าของวันที่13 จนถึงวันต่อมา ในช่วงบ่ายของวันที่ 14 รัฐบาลประชาธิปัตย์ ก็เร่งกู้ภาพลักษณ์นายกฯด้วยการออกโพลจากสถาบันการศึกษาหนึ่ง ชี้นำสังคมต่อว่าภาพลักษณ์นายกฯมิได้เสียหาย   โดยมีสื่อช่วยกระจายข่าว  แต่ข้อเท็จจริงคือประชาชนไม่ได้สนใจว่าภาพลักษณ์นายกฯจะดูน่าเชื่อถือหรือถูกทำลายไปแล้วกับเหตุการณ์ทั้งหมด แต่ประชาชนใส่ใจกับความเสียหายทั้งหมดที่ประเทศชาติได้รับมากกว่าการให้ความสนใจหน้าตานายกฯและความอับอายระดับโลกจากการยุติการประชุมอาเซียนที่ผ่านมา  รัฐบาลควรออกมาแถลงการณ์เพื่อทำการปกป้องสถาบันฯเบื้องสูงว่าขณะนี้สถาบันฯทรงดำรงอยู่อย่างปลอดภัยและได้มีการถวายการอารักขาอย่างเข้มงวดมากกว่าการพูดถึงแต่ความปลอดภัยและภาพลักษณ์ของรัฐบาลเอง  
 
            สื่อมวลชนต่างพยายามสรรหา “ผู้รู้” จากนักวิชาการหลายสายแสดงทัศนะ ซ้ำซาก วนเวียนกันว่าถ้าเช่นนั้นแล้วทางออกประเทศไทยอยู่ที่ไหน   นักวิชาการเริ่มส่ายหัวกับข้อเสนอ “ยุบสภา” เพื่อเลือกตั้งใหม่ พวกเขาเพิ่งเห็นชัดว่ายุบสภาเลือกตั้ง ปกครอง รัฐประหาร เลือกตั้ง ยุบสภา คือวงจรอุบาทว์ ครบวงจรหนึ่งครั้ง  และไม่มีใครต้องการ “การกระทำซ้ำ” ในรอบที่นับไม่ถ้วนอีกต่อไป   ทว่านักวิชาการในระบบก็ยังมิได้เสนออะไรใหม่อยู่นั่นเอง
 
 
            มีเพียงขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติเท่านั้นที่ได้ชี้ให้เห็นการแก้ปัญหาที่ระบอบ ซึ่งเป็นปัญหา
“ โครงสร้างอำนาจ ” มาโดยตลอด และชี้ให้เห็นว่าสืบเนื่องจากโครงสร้างอำนาจบิดเบือน จึงทำให้เกิดสภาวะอนาธิปไตย (Anarchy) ที่มิใช่ประชาธิปไตยและไม่ใช่ปัญหาตัวบุคคล   ขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติจึงได้เสนอทางออกอย่างต่อเนื่องเรื่อง “รัฐบาลแห่งชาติ” หรือ “รัฐบาลเฉพาะกาล” ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาระบอบ ผ่าน “นโยบายแห่งชาติ 66/23” ซึ่งประกอบด้วย “นโยบายเร่งด่วนเฉพาะหน้า” เป็นมรรควิธี  ใช้หลักการ “การสร้างประชาธิปไตยระดับสูง” ตามหลักการประชาธิปไตย 5 หลักอย่างเป็นรูปธรรม 
 
            นโยบายเร่งด่วนเฉพาะหน้านั้นปรากฏอยู่ในนโยบาย 66/23 ซึ่งเป็นนโยบายปราบปรามคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยอย่างสันติวิธี  หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่านโยบายปราบมิจฉาทิฎฐิ หรือนโยบายแห่งชาติที่ออกมาเฉพาะกาลแก้ปัญหาวิกฤต หรือนโยบายปฏิวัตินำสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิงด้วยการเปลี่ยนระบอบปรับโครงสร้างอำนาจใหม่  หรือเป็นนโยบาย  “ปฏิวัติประชาธิปไตย” ด้วยการถ่ายโอนอำนาจจากมือคนส่วนน้อยมาสู่คนส่วนใหญ่ของประเทศหรือที่เรียกว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน” นั่นเอง
 
            อย่างไรก็ดีในอดีตนักทฤษฎีประสบอุปสรรคสำคัญในการเสนอแนวทางเนื่องจากนักวิชาการสายรัฐศาสตร์
ในประเทศไทยอธิบายโต้แย้งว่า อำนาจอธิปไตยของปวงชนไม่มีอยู่จริง พวกเขาใช้การแก้ปัญหาด้วยการแก้กฎหมายในรัฐธรรมนูญแทน  อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความเข้าใจผิดว่าระบอบที่มีอยู่เป็นระบอบประชาธิปไตย จนทำให้เกิดลัทธิบูชารัฐธรรมนูญขึ้นในประเทศไทย  ที่ไม่สามารถอธิบายได้ว่าปัญหาที่แท้จริงคือประเทศไทยไม่เคยมีระบอบประชาธิปไตย  มีแต่ระบอบเผด็จการสองรูประหว่างระบอบเผด็จการรัฐประหารของทหารและระบอบเผด็จการรัฐสภาของพลเรือนแต่เพียงเท่านั้น 
 
 
             การขุดหลุมฝังตัวเองของรัฐบาลประชาธิปัตย์
                 
            มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า “การถ่ายทอดสด” การบุกโรงแรมของกองทัพเสื้อแดง ต่อเนื่องยาวนานจนเกือบจะเหมือนการจัดฉาก  ภาพการทำลายการประชุมสะท้อนว่า ประเทศชาติหมดสิ้นแล้วซึ่ง “ สถาบันชาติ” จนไม่อาจไปยืนเคียงข้างชาติอื่นบนเวทีนานาชาติได้   กระนั้นประชาชนผู้รักชาติแสดงความเป็นห่วงชาติ  จึงแสดงความเป็นห่วงรัฐบาลซึ่งเป็นตัวแทนชาติในการจัดประชุม  แต่รัฐบาลมัวแต่ห่วงตัวรัฐบาลเองจึงไม่รักษาชาติ  ด้วยการปล่อยให้เกิดฉากกองทัพแดงบุกโรงแรม ทำลายการประชุมอาเซียนลงท่ามกลางการรายงานข่าวไปทั่วโลก   
    
           เพราะสิ่งที่รัฐบาลต้องการก็คือทำให้สถานการณ์การบุกโรงแรมของม็อบเสื้อแดงกลายเป็นการสร้างความชอบธรรมให้รัฐบาลในทันทีที่ประชาชน “เทใจให้” เพื่อดำเนินการปราบปรามม็อบแดงที่วางแผนไว้แต่แรกเท่านั้น !! 

           ภาพข่าวรุมทุบรถนายกอภิสิทธิ์ในวันที่11 เมษายนที่ชลบุรีคือการจัดฉากแรก ตามต่อด้วยฉากกระทรวงมหาดไทยทีหลัง  การใช้รถเบ๊นซ์กันกระสุนเคลื่อนไปมาราวกับล่อกลุ่มเสื้อแดงเหมือนการต้อนเข้ามาเพื่อสร้างฉากการทุบทำลายรถ  กระนั้นปรากฏการณ์เช่นนี้ก็ไม่สามารถตบตาสื่อมวลชนได้  ดังบทวิเคราะห์ในสกู๊ปหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับวันที่ 16 เมษายนว่ากระทรวงมหาดไทยได้รับแจ้งก่อนหน้ากว่าหนึ่งชั่วโมงให้สื่อมวลชนรับทราบและเป็นระยะเวลาพอเพียงต่อการเตรียมการของเสื้อแดง ซึ่งนับว่า “เป็นจุดล่อแหลม รอเป็นเป้านิ่ง”  ให้กับกลุ่มม็อบเสื้อแดงเสมือนว่าไม่เจตนา  การสะท้อนของสื่อมวลชนที่อยู่ในเหตุการณ์ภาคสนามยืนยันว่าฉากทุบทำลายรถคือการจัดฉากครั้งสำคัญเพื่อนำสู่การปราบปรามด้วยอาวุธนั่นเอง หรือเป็นการวางกับดัก วางค่ายกลไว้เรียบร้อยแล้ว 

             การขุดหลุมฝังชาติของประชาธิปัตย์ยิ่งลงระดับลึกยิ่งขึ้น  ทั้งๆที่ขบวนฯได้พยายามเสนอว่าการแก้ปัญหาอย่างสันติวิธีนั้นรัฐบาลควรให้โอกาสการขยายเสรีภาพมากกว่าที่เป็นอยู่   การประกาศพรก.ฉุกเฉินพร้อมกับการตัดสัญญาณดี สเตชั่นยิ่งก่อให้เกิดกระแสการต่อต้านยิ่งขึ้นไปอีก ไม่ต่างจากการเอาน้ำไปราดน้ำมันที่ไฟกำลังลุกโพลงให้โหมกระพือขึ้นอีก   และเมื่อเหตุการณ์ผ่านไปอย่างรวดเร็วหลังเหตุการณ์จลาจลย่อยรัฐบาลกลับไม่มีทีท่าว่ารัฐบาลจะแสดงจุดยืนปกป้องสถาบันอันเป็นที่เคารพเทิดทูน 
 
             เช้าของวันที่ 13 หลังการสลายม็อบในจุดแรก ก็เกิดการ “รุกต่อสถาบันฯ” ขึ้นในทันทีโดยนายสุชน ชาลีเครือ ที่ได้ทำการยื่นถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯเพื่อให้ทรงยุติความรุนแรงด้วยการแทรกแซงการทำงานทั้งๆที่ไม่เกี่ยวข้องกับพระองค์   พร้อมกันนั้นทักษิณ ชินวัตรยังรุกต่อด้วยการให้ข่าวในต่างประเทศต่ออีกว่า สถาบันฯเท่านั้นที่จะยุติความรุนแรงได้  ซึ่งนับว่าเป็นการรุกให้สถาบันฯโดยตรงอย่างรวดเร็ว  จะเห็นว่าไม่มีสื่อใดหยิบประเด็นการโจมตีพลเอกเปรมซึ่งเป็นมูลเหตุแรกมาวิเคราะห์ข่าวอีกต่อไป หน้าจอทีวีกลายเป็นพื้นที่แสดงวาทะของโฆษกรัฐบาลและโฆษกกองทัพบกชี้แจงข้อกล่าวหาที่เกิดจากม็อบเสื้อแดงตลอดทั้งวัน  ไม่มีการแถลงการณ์ใดๆแสดงความสุจริตใจของรัฐบาลในการปกป้องราชบัลลังก์ในสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวาน   รัฐบาลประชาธิปัตย์ได้พิสูจน์ตนเองแล้วว่าห่วงสถานภาพนายกฯมากกว่า สถาบันชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์
         
              การปกป้องตัวเองด้วยการเลือกเสนอข้อมูลบางอย่าง กลบฝังขอมูลบางอย่าง สะท้อนความเป็นเผด็จการในวิธีคิดและการดำเนินการของพรรคเผด็จการรัฐสภาที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย  การขุดหลุมฝังตัวเองด้วยวิถีเผด็จการยังดำเนินต่อไป ลึกยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

             ในขณะเดียวกันการออกมาแถลงการณ์ข่าวต่อเนื่องของนายกรัฐมนตรีสลับกับรองนายกฝ่ายความมั่นคงไปจนถึงโฆษกรัฐบาลว่าเกิดการคลี่คลายความตึงเครียดลงได้แล้ว  และรัฐกำลังจะนำประเทศสูภาวะปรกติได้ต่อแต่นี้ไปเป็นเพียงการเข้าใจเอาเองของรัฐ  ข้อเท็จจริงคือรัฐยังจำเป็นต้องประกาศขยายวันหยุดเพิ่มต่ออีกสองวันคือวันที่ 16-17เมษายน สะท้อนภาพชัดเจนว่าเหตุการณ์ยังไม่ปรกติพอ  และการประกาศสู้ไม่ถอยของกบฎแดงคือการเริ่มต้นขั้นตอนใหม่ของการประกาศสงครามขั้นต่อไปหลังสงกรานต์นั่นเอง
 
 
                อาเพศนักวิชาการ
 
               มีผู้กล่าวหาว่านักวิเคราะห์ในขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติอธิบายเอนเอียงไปทางม็อบเสื้อแดงมากจนเกินไปในเรื่องการใช้เสรีภาพ   ข้อเท็จจริงคือคำอธิบายของขบวนฯคือคำอธิบายตาม “หลักการ” หากแต่การนำไปพินิจพิจารณาพิเคราะห์ใคร่ครวญต่อการตัดสินใจของการเคลื่อนไหวของแต่ละกลุ่มนั้นเป็นเรื่องเฉพาะของกลุ่มบุคคลนั้นๆ     
     
             การประเมินว่ากลุ่มคนเสื้อแดงที่เข้าร่วมกับการชุมนุมครั้งนี้เป็นกลุ่มคนจากต่างจังหวัดเข้าทำนองคนชนบทล้อมเมืองเพื่อโค่นล้มการปกครองที่ชนชั้นกลางและคนในเมืองหลวงสร้างขึ้นมานั้น  เป็นการประเมินที่ผิดอย่างสิ้นเชิง  การเข้าร่วมกับกลุ่มเสื้อแดงนั้นมิได้มีเพียงมวลชนในชนบทเท่านั้นเนื่องจากการเข้าร่วมกระทำได้หลายวิธี  การวิเคราะห์โดยดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์นักสันติวิธีจากสถาบันพระปกเกล้าฯจึงเป็นการสะท้อนปรากฏการณ์ที่ผิดจากความเป็นจริง แท้จริงแล้วชนชั้นปัญญาชนเสื้อแดงที่ชื่นชมทักษิณ ชินวัตรและ “ทักษิโณมิค” นั้นมีอยู่จริง  และคนกลุ่มนี้ก็จัดอยู่ในกลุ่มชนชั้นกลาง  การวิเคราะห์ข่าวของนักสันติวิธีท่านนี้มีส่วนชี้นำสื่อต่างประเทศให้วิเคราะห์ข่าวออกมาคล้ายคลึงกันดังปรากฏอยู่ในบทวิเคราะห์ของสำนักข่าวเอเอฟพีเป็นต้น  สิ่งที่ดร.ชัยวัฒน์สะท้อนนั้น เป็นเพียงปรากฏการณ์  ไม่ใช่ธาตุแท้  เป็นกรณีศึกษาอาเพศหนึ่งในสิบประการของสังคมไทยตรงที่นักวิชาการสะท้อนได้แค่ปรากฏการณ์ไม่สามารถสะท้อนธาตุแท้จริงของปรากฏการณ์ได้ 

         แท้จริงแล้วทฤษฎีชนบทล้อมเมืองคือแนวคิดของการปฏิวัติรุนแรงแบบคอมมิวนิสต์ ที่มุ่งปฏิวัติผ่านชนชั้นกรรมาชีพ  ทว่าข้อเท็จจริงคือกรณีม็อบเสื้อแดงมิได้มีแค่ชนบทเท่านั้น  แต่มีกลุ่มชนชั้นกลางที่ต้องการ “ทักษิโณมิค” อีกจำนวนมากในสังคม และที่สำคัญกลุ่มชนชั้นกลางที่เอาใจช่วยแต่ยังไม่ได้เข้าร่วมก็ยังมีอยู่จำนวนไม่น้อย พร้อมๆกับการสนับสนุนด้านอื่นๆ   และเนื่องจากการสะท้อนของสื่อมวลชนเป็นการสะท้อนปรากฏการณ์ ศัพท์ที่ใช้จึงเป็นการสะท้อนแค่ปรากฏการณ์เช่น การจลาจล chaos  กบฏเสื้อแดง red shirt rebel มีขบวนการประชาธิปไตยเท่านั้นเรียกคนกลุ่มนี้ว่า “นักอนาธิปไตย” หรือ Anarchist ใน “สภาวะอนาธิปไตย” หรือ Anarchy ซึ่งเป็นการสะท้อน “ธาตุแท้ของปรากฏการณ์” ว่านี่คือปัญหาระบอบ   ดังนั้นกลุ่มเสื้อแดงจึงมิได้กบฏต่อใครหรือราชบัลลังก์ตามที่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการพยายามพาดหัวข่าว แต่เขาคือผู้ก่อการท่ามกลางสภาพไร้ประชาธิปไตยในประเทศไทย  หรือที่เรียกว่าสภาวะอนาธิปไตยนั่นเอง

              ทักษิณ ชินวัตรจึงมิได้เป็นหัวหน้ากบฏ เขาจึงไม่สามารถลี้ภัยทางการเมืองได้  และกลุ่มเสื้อแดงก็มิได้ก่อการกบฎแต่พวกเขาปฏิเสธการปกครองของรัฐบาลชุดปัจจุบัน คือปฏิเสธผู้ปกครอง  พวกเขาผิดพลาดก็ตรงที่ พวกเขาไม่รู้ว่าเสรีภาพที่ใช้อยู่ขณะนี้คือ “เสรีภาพของอนาธิปไตย” ไม่ใช่ “เสรีภาพของประชาธิปไตย”  พวกเขาจึงตกอยู่ในสถานการณ์ “ยุให้รำ” ทำผิดเพิ่มขึ้น โดยรัฐเผด็จการและถูกปราบปรามด้วยวิถีเผด็จการรุนแรงเช่นกัน
        
         
                การหักล้าง
 
               การโค่นล้มซึ่งกันและกัน ของสองขั้วอำนาจ เป็นการโค่นล้มของเผด็จการสองกลุ่มและเป็นการโค่นล้มที่นำสู่ความรุนแรง   แต่การหักล้างทางความคิดเป็นหน้าที่ของขบวนการประชาธิปไตยและฝ่ายปฏิวัติสันติทั้งหมดต่อแนวทางรุนแรง  การหักล้างด้วยวิธีคิดย่อมแตกต่างจากการโค่นล้ม   ขบวนฯให้ “ธรรมาวุธ” ในการต่อสู้ของทุกฝ่าย  คำอธิบายต่อปรากฏการณ์ในครั้งนี้จึงเปรียบเสมือนการชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อเอาภาพลวงตาออกไป ให้ถ่องแท้ในความจริงหลายระดับ (อ่านเพิ่มเติมบทความ......)    การหักล้างทางความคิดเห็นมิใช่การถือหางเข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด  การหักล้างทางความคิดคืองานวิชาการที่ต้องสะท้อนภาพความสัมพันธ์ภายในให้ปรากฏต่อสายตาประชาชน และการหักล้างที่สำคัญที่สุดคือ การสะท้อนความจริงทุกระดับในเบื้องต้นด้วยการสะท้อนธาตุแท้ของแต่ละปรากฏการณ์
    
             ขบวนปฏิวัติสันติยื่นข้อเสนอให้ใช้สันติวิธีในการจัดการม็อบเสื้อแดง มีรูปธรรมคือให้ขยายเสรีภาพทางการเมือง แต่การแก้ปัญหาทางการเมืองของรัฐบาลอภิสิทธิ์มิได้เป็นเช่นนั้น  การใช้กำลังทหารติดอาวุธสะท้อนวิธีคิดว่า รัฐบาลไม่ประสงค์จะใช้แนวทางสันติ แต่ต้องการใช้อาวุธปราบปรามแทน  ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะอ้างว่านั่นคือมาตรการทางกฎหมายก็ตาม  
              “ อาวุธคือสัญลักษณ์ของความรุนแรง การใช้อาวุธ ไม่ว่าจะยิงขึ้นฟ้า หรือยิงพื้นที่ราบ คือการใช้ความรุนแรงทั้งสิ้น”
   สมาน ศรีงาม เลขาธิการทั่วไปขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติกล่าว 
 
                “ การแก้ปัญหาประเทศชาติด้วยวิธีรุนแรงคือการพังสลาย การแก้ปัญหาประเทศไทยต้องใช้สันติวิธีเท่านั้น ”สมาน ศรีงามกล่าวว่าในอดีตนโยบาย 66/23 ใช้วิธีการเจรจาและยุติการใช้อาวุธอย่างสิ้นเชิง  ไม่กระทำการแม้แต่จะนำอาวุธมาเพื่อข่มขู่ให้เกิดความกลัว  นักวิเคราะห์ในขบวนฯแสดงทัศนะว่าการใช้เสียงศาสตราวุธข่มขู่ ไม่ใช่วิธีการปราบม็อบแต่กลับเป็นการปลุกม็อบมากกว่า  และมีท่าทีไม่ต่างจากการถือแส้ฟาดลงบนพื้นก่อนลงมือหวดให้เจ็บนั่นเอง

                การสัประยุทธ์ในครั้งนี้ มีแกนนำม็อบเป็นนายทุนใหญ่ มีชัยชนะเป็นเดิมพัน มีมวลชนจัดตั้งฝ่ายซ้ายรากหญ้ารวมอยู่ในหลายจัดตั้ง  ในทันทีที่รัฐบาลทำการปราบปรามรัฐบาลก็ได้กลายเป็นทรราชย์ปราบประชาชนในทันทีเช่นกัน  เส้นแบ่งระหว่างรัฐบาลทรราชย์และรัฐบาลปรกติการมีเพียงเบาบาง  หากพิสูจน์ได้ว่ารัฐมีส่วนในการกระทำให้เกิดการตายของประชาชนคนไทยแม้เพียงคนเดียว  นายกฯอภิสิทธิ์ก็ได้ถือว่าเป็นนายกมือเปื้อนเลือดไปเรียบร้อยแล้ว  การพาดหัวข่าวสะใจต้องอารมณ์ของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการว่าแกนนำที่มอบตัวกลายเป็นกบฎในฐานะนักโทษการเมืองนั้นไม่ถือว่าถูกต้องเสียทีเดียว   เรื่องนี้นักทฤษฎีในขบวนการประชาธิปไตยแสดงทัศนะว่า
 
               “ในระบอบประชาธิปไตยไม่มีนักโทษ  นักโทษการเมืองคือสัญลักษณ์ของระบอบการเมืองเผด็จการเพราะนักโทษการเมืองคือคู่ต่อสู้กับผู้ใช้อำนาจของระบอบนั้น”   
 
                ในข้อเท็จจริงคือประชาชนต้องการเสรีภาพ ต้องการการเปลี่ยนแปลง  โดยมีรูปธรรมคือการที่ประชาชนได้ทำตามความต้องการของประชาชนเอง  โดยมีประชาชนเป็นผู้ผลักดัน  มีผู้แทนของประชาชน ใช้หลักการของประชาชน ประชาชนจึงต้องพึ่งตัวเอง เรียกร้องการปฏิวัติ  เนื่องจากประชาชนไม่มีอำนาจ  อำนาจรัฐอยู่ที่รัฐ  วิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้องของการเปลี่ยนแปลงระบอบจึงอยู่ที่ “การถ่ายโอนอำนาจ” ถ้าสามารถโอนอำนาจอธิปไตยจากสภาปัจจุบันมาสู่สภาที่ประกอบด้วยตัวแทนของประชาชน มีองค์การประชาชนรองรับ  ก็จะเกิดขั้นตอนใหม่ ที่ประชาชนปกครองตนเอง  ม็อบเสื้อแดงก็จะหลุดพ้นไปจากสภาพเสรีภาพเกินอธิปไตยในระบอบเผด็จการ ไปสู่เสรีภาพของบุคคลบริบูรณ์ภายใต้อำนาจอธิปไตยของปวงชน  ตามหลักการประชาธิปไตย 5 อย่างที่ถ่วงดุล ค้ำกันเอาไว้นั่นเอง
 
 
                 ดุลยภาพของเสรีภาพกับอำนาจอธิปไตยในระบอบประชาธิปไตย
 
 
                การปกครองคือการใช้อำนาจรัฐ และอำนาจรัฐคือ “อำนาจอธิปไตย” แต่เนื่องจากระบอบที่ประเทศไทยมีอยู่เป็นระบอบเผด็จการรัฐสภาที่อำนาจอธิปไตยเป็นของคนส่วนน้อย  การดำรงอยู่ของอำนาจของคนส่วนน้อยในรอบ 76 ปีกำลังถึงการเสื่อมอย่างถึงที่สุด  อุปมาดั่งรถยนต์เก่าที่เครื่องยนต์ไร้ประสิทธิภาพ  และรัฐบาลอภิสิทธิ์เข้ามาใช้อำนาจนี้ตอนที่เสื่อมแล้ว  ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงไม่สามารถจัดการกับม็อบนี้ได้ สะท้อนว่ารัฐบาลอ่อนแอไม่สามารถปกครองได้แล้ว  เท่ากับว่ามีรัฐบาลก็เหมือนไม่มี  หรืออีกนัยหนึ่งคือสภาวะอนาธิปไตยหรือAnarchy ที่แปลว่าความไม่มีรัฐบาลนั่นเอง    
 
              ตัวอย่างสภาวะอนาธิปไตยที่เห็นได้ชัด เช่นช่วงเปลี่ยนผ่านอำนาจระยะก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง  หรือช่วง14 ตุลาที่จอมพลถนอมหนีออกไปนอกประเทศ จนทำให้การปกครองขาดช่วง 
 
               นักทฤษฎีในขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติกล่าวว่าสถานการณ์ของประเทศไทยในช่วงก่อนการปราบม็อบก็มีลักษณะเป็นอนาธิปไตยเช่นกัน  เพราะรัฐบาลมิได้ดำเนินการใดๆกับปรากฏการณ์ม็อบ ด้วยการ “ใส่เกียร์ว่าง” นิ่งดูดาย   ที่เป็นเช่นนี้ เพราะเหตุว่า การเปลี่ยนแปลงจากโครงสร้างด้านบนคือชนชั้นปกครองไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงกับโครงสร้างด้านล่างของผู้ถูกปกครอง จึงเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรง  เมื่อประชาชนก้าวหน้าขึ้นกว่าเดิม ตามสังคมสื่อสารที่พัฒนาไม่หยุดยั้งไปตามระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีแบบใหม่  การเรียกร้องสู่การเปลี่ยนแปลงจึงเกิดขึ้นอย่างเป็นไปเอง  ไม่ต่างจากการปกครองเด็กต่างวัยที่ย่อมต้องให้เสรีภาพที่ต่างกัน การให้เสรีภาพเด็กเล็กกับเด็กโต ย่อมมีเงื่อนไขต่างกันตามสภาพการเจริญเติบโตของเด็ก  

              ดังที่กล่าวมาในตอนต้นของบทความว่าเรื่องลักษณะการใช้เสรีภาพบุคคลทางการเมืองมีความสัมพันธ์
กับ “ระบอบ” โดยตรง  ในระบอบที่ต่างกัน การใช้เสรีภาพย่อมต่างกัน  การใช้เสรีภาพทางการเมืองเป็นสมการผกผันกับการใช้อำนาจรัฐผ่านการใช้มาตรการทางกฎหมาย   การที่ผู้กุมอำนาจรัฐให้เสรีภาพบุคคล พอประมาณ คือการให้อำนาจอธิปไตยจากรัฐกลับคืนสู่มวลชนระดับหนึ่ง  หากปิดกั้นโอกาส โดยใช้วิธีการที่เรียกกันในภาษาของกลุ่มคนใส่สูทว่า “มาตรการทางกฎหมาย” มาบังคับใช้  ในบางสถานการณ์ก็เท่ากับเป็นเผด็จการลักษณะหนึ่ง  เผด็จการแบบเบาๆก็ให้แสดงออกระดับหนึ่งเผด็จการอย่างหนักแบบฟาสซิสต์ก็ตัดสิทธิ์การแสดงออก หากไม่เชื่อฟังก็จับกุมคุมขัง โดยไม่ต้องไต่สวน เป็นต้น

                การขยายเสรีภาพบุคคลทางการเมืองจึงเป็นการขยายอำนาจอธิปไตยไปด้วย  ถ้าหากอำนาจยังถูกจำกัดอยู่ในมือคนส่วนน้อย  การขยายเสรีภาพย่อมเป็นไปไม่ได้  สภาพที่ปรากฏคือรัฐบาลปัจจุบันมีอำนาจอธิปไตยที่อ่อนแอเพราะความเสื่อมตามกาลเวลา มิใช่อำนาจเบ็ดเสร็จที่เคยมี  ดังจะเห็นได้จากการขึ้นสู่การบริหารของรัฐบาลประชาธิปัตย์ที่ต้องแลกกับการเข้าร่วมใช้อำนาจกับเนวิน ชิดชอบ สะท้อนว่าอำนาจในมือคนส่วนน้อยครั้งนี้อ่อนแอและอยู่ในสภาพคลอนแคลนอย่างยิ่ง
 
               เมื่อถึงกาลเสื่อม สัจธรรมก็ปรากฏ เพราะสรรพสิ่งย่อมโน้มหาสัจธรรม แต่ผู้ปกครองกลับอยู่ห่างสัจธรรมไม่เข้าใจว่าระบอบที่มีอยู่เสื่อมโทรมลงเต็มที  ผู้ปกครองไม่รู้เรื่องการสร้างประชาธิปไตยเหมือนกัน จึงใช้วิธีการเดิม ส่วนประชาชนเองด้วยความไม่รู้ก็ใช้เสรีภาพแบบเดิม   แต่ในสภาพความเป็นจริงโครงสร้างอำนาจประชาชนเพิ่มขึ้นเพราะเกิดจากอำนาจการต่อรองที่มีมากขึ้นซึ่งสะสมเพิ่มพูนขึ้นจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองริมถนน  พัฒนาการของขบวนการประชาชนเข้มแข็งจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง  นักทฤษฎีของขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติชี้ให้เห็นว่าการออกมาต่อสู้ริมถนนเป็นการ exercise เสรีภาพของบุคคลทางการเมืองเพื่อนำมาสู่การใช้อำนาจอธิปไตยที่อยู่ในมือรัฐนั่นเอง
 
                การต่อสู้ของประชาชนจึงเป็นการสู้กับระบอบเผด็จการ และโดยข้อเท็จจริงผู้ปกครองในระบอบเผด็จการเก่าคร่ำคร่าจึงเปรียบเสมือนรถที่ไม่สามารถเร่งเครื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพทำให้ประชาชนลงมือขับไล่ระบอบเผด็จการทักษิณลง  เพราะไม่สอดคล้องกับสภาวะความต้องการของประเทศชาติ   รัฐบาลประชาธิปัตย์เองเมื่อขึ้นมาเป็นรัฐบาลได้พยายามใช้อำนาจรัฐเพื่อจัดการกับม็อบเสื้อแดงก็ไม่สามารถใช้อำนาจผ่านกฎหมายในสภาพปรกติ  จึงต้องไปใช้เครื่องมือใหม่คืออำนาจพิเศษแทน นั่นก็คือพรก.ฉุกเฉินนั่นเอง
 
                พรก.ฉุกเฉินสะท้อนว่ารัฐบาลปกครองไม่ได้ เพราะพรก.นั้นสามารถดำเนินการลัดขั้นตอนโดยไม่ต้องผ่านอำนาจศาล  จึงต้องใช้พรก.ฉุกเฉินแทนอำนาจปรกติ  เปรียบเสมือนรัฐบาลได้ใช้อำนาจพิเศษแทนอำนาจปรกติหรืออาจกล่าวได้ว่ามีอาวุธพิเศษที่ให้อำนาจมากกว่าเดิมในการจัดการ สามารถสั่งตรงเพื่อจัดการกับม็อบได้ทันท่วงที
 
               และนี่คือปรากฏการณ์ใหม่ของการใช้อำนาจอธิปไตยของคนส่วนน้อยมาทำลายเสรีภาพบุคคลของคนทั้งแผ่นดิน  จึงได้มีกลุ่มเรียกร้องรัฐบาลอภิสิทธิ์ยกเลิกพรก.นี้เสีย   แต่ก็กลับพบว่ารัฐบาลไม่ยินยอมเลิก และมีแนวโน้มว่าจะเริ่มเผด็จการหนักขึ้น  สะท้อนให้เห็นว่ารัฐอ่อนแอถึงขนาดว่าถ้าไม่มีพรก.ฉุกเฉินให้อำนาจพิเศษรัฐบาลนี้จะดำรงอยู่ไม่ได้  อุปมาดั่งรถเก่าไร้ประสิทธิภาพ ที่ต้องใช้กำลังเสริมเพิ่มขึ้น เมื่อสวมใส่อุปกรณ์พิเศษให้ทรงพลังแล้วกลับถอดออกไม่ได้  อำนาจแบบนี้จึงยังดำรงอยู่ต่อไป
 
                วิธีการเดียวที่จะแก้ปัญหานี้ได้ก็คือการโอนอำนาจจากคนส่วนน้อยไปสู่คนส่วนมากผ่านสภาของประชาชนส่วนใหญ่หรือ “สภาปวงชน” ในอดีตของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7

                 หากเปลี่ยนถ่ายโอนอำนาจสำเร็จ ก็เท่ากับว่าได้เปลี่ยนระบอบแล้ว คือเปลี่ยนอำนาจอธิปไตยของคนส่วนน้อยมาสู่อำนาจอธิปไตยของคนส่วนใหญ่  สภาดังกล่าวจึงมีลักษณะไม่ต่างจาก “สภาปฏิวัติ”  หรือกล่าวจนถึงที่สุดคือ สภาปฏิวัติคือรูปธรรมของอำนาจอธิปไตยของปวงชน นั่นเอง !!
 
 
             
 
 
                     (อ่านต่อตอนหน้า)
 

 

 
 


 
   

 


         
 อ่านบทความที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้อง...
  
 
         
  
  
  
  
  
 



Webboard is offline.