Revolutionary Press Agency : Online Journal and News Agency for Peace
สำนักสื่อปฏิวัติ  : วารสารข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
8 มิ.ย. 2554 กองหน้าประชาชนรุ่นใหม่ อนุสรณ์ สมอ่อน ตอบคำถามคาใจทำไมต้องปฏิวัติประชาธิปไตย? 
 
คำบรรยายพิเศษ
เรื่อง "ประวัติศาสตร์การเมืองไทย"ต่อที่ประชุมของวิทยากร กอ.รมน. ลูกเสือชาวบ้าน กองกำลังสุรศักดิ์มนตรี
กองกำลังสุรนารี 19 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กองทัพภาคที่ 2
โดย
พระอาจารย์ ถวิล สุทธจิตโต
เลขาฯเจ้าคณะตำบลถาวร อ.เฉลิมพระเกียรติ
วัดนิคมเขต ต.ถาวร อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์
วันที่ 3 กันยายน  พ.ศ. 2552
ณ โรงแรมราชพฤกษ์แกรนด์โฮเต็ล อ.เมือง จ.นครราชสีมา

 
 

 

 
               เจริญพร ท่านวิทยากรและท่านผู้รักชาติรักประชาธิปไตยใฝ่ในโมกษธรรมทุกท่าน
 
               อาตมภาพขอขอบคุณกองทัพภาคที่ 2 และท่านผู้เกี่ยวข้องทุกท่านที่ได้นิมนต์อาตมภาพให้มาบรรยายพิเศษเรื่อง “ประวัติศาสตร์การเมืองไทย” ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของชาติและประชาชนที่ต้องการจะรู้ประวัติศาสตร์แห่งชาติตน เพื่อกำหนดอนาคตของตนเองในปัจจุบันให้ถูกต้องเพื่อความเจริญรุ่งเรืองและความมั่นคงของชาติอันประกอบด้วยองค์คุณเอกภาพ 3 ประการคือ สถาบันชาติ สถาบันศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์

               สถานการณ์ของชาติวิกฤตที่สุดในโลก ล่มจมตามพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและกลียุคตามพระราชดำรัสในสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เหตุเพราะความรู้ในประวัติศาสตร์ แห่งชาติตนของเราคนไทยทั้งมวลยังไม่ถูกต้องตรงกับความจริง จึงตกอยู่ในสถานการณ์วิกฤตที่สุดในโลก  ล่มจมและกลียุคดังเช่นสถานการณ์ในอดีตจนถึงปัจจุบัน   จึงกล่าวได้ว่า “คนไม่รู้จักประวัติศาสตร์แห่งชาติตนคือคนไม่มีชาติ” และ “ไม่รู้จักประวัติศาสตร์แห่งชาติตนก็แก้ปัญหาปัจจุบันไม่ได้และสร้างอนาคตของชาติไม่สำเร็จ” นั่นเอง เสมือนหนึ่ง “คนไม่มีสติบรรลุธรรมไม่ได้อย่างสิ้นเชิง”

               วันนี้เป็นการประชุมวิทยากรกอ.รมน. ลูกเสือชาวบ้าน กองทัพภาคที่ 2 และกองกำลังสุรศักดิ์มนตรี กองกำลังสุรนารี เป็นต้น ล้วนแล้วแต่เป็นหน่วยงานที่รักษาความมั่นคงแห่งชาติทั้งสิ้นอันเป็นความเป็นความตายของประเทศชาติ และตามหลักนิติธรรม (Rule of Law) กำหนดไว้เป็น กฎหมายสูงสุด (Supreme Law) เหนือกว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายหลัก (Principle Law) และกฎหมายสามัญ (Common Law) ตามหลักนิติธรรมว่า “ความมั่นคงแห่งชาติเป็นกฎหมายสูงสุด...กฎหมายใดขัดต่อหลักนิติธรรมย่อมเป็นโมฆะ แม้แต่กฎหมายรัฐธรรมนูญ” ดังนั้น การประชุมวันนี้จึงเป็นการประชุมที่ว่าด้วยภารกิจสูงสุดของชาติ คือ รักษาความมั่นคงของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชน

                 คำว่า “วิทยากร” มีความหมายว่า “ผู้ให้วิทยาการ” หรือเป็นผู้ให้ความรู้ วิทยาหรือความรู้มีทั้งความรู้ขั้น “วิทยาศาสตร์”  “Science” และความรู้ขั้น “ศิลปศาสตร์” (Art)

                 ความรู้ขั้นวิทยาศาสตร์ คือ รู้กฎเกณฑ์ของสิ่งต่างๆ และความรู้ขั้นศิลปะศาสตร์ คือ การนำเอาวิทยาศาสตร์ไปใช้ให้สำเร็จอย่างชำนาญและช่ำชองแม่นยำ
 
                 ยุทธศาสตร์ (Strategy) คือความรู้ขั้นศิลปศาสตร์ในการต่อสู้ทำสงครามให้ประสพชัยชนะ จึงเรียกว่า “ศิลปศาสตร์แห่งสงคราม” (Art of War)
     
                 วิทยากรของกอ.รมน. ลูกเสือชาวบ้าน และกองทัพแห่งชาติทุกหน่วย มีหน้าที่ภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือ “รักษาความมั่นคงแห่งชาติ” การรักษาความมั่นคงแห่งชาตินั้น จะต้องมีความรู้ทั้งขั้นวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์  เมื่อสรุปเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน คือ ต้องรู้ทั้ง “ การเมือง” และ “การทหาร” และรู้วิชา คือรู้ภาพสะท้อนความสัมพันธ์ภายในของการเมืองกับการทหาร  นั่นคือ “ การทหารขึ้นต่อการเมือง” กล่าวในด้านยุทธศาสตร์ว่า “ยุทธศาสตร์การทหารขึ้นต่อยุทธศาสตร์การเมือง”

                 การเมืองของชาติคือเอกราชและประชาธิปไตย กองทัพมีภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์ในการรักษาเอกราชและประชาธิปไตยอันจะทำให้เกิดความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวคือ การทำให้เอกราชสมบูรณ์หรืออธิปไตยของชาติเข้มแข็ง  และทำให้มีประชาธิปไตยที่แท้จริง  จะก่อให้เกิดการรักษาความมั่นคงแห่งชาติไว้ได้สำเร็จ

                  เอกราชของชาติ คือ ความมีสถาบันชาติ สถาบันพระศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์
  
                ในยุคประวัติศาสตร์สมัยใหม่ (Modern History) นั้น ภัยภายในที่ทำลายความมั่นคงแห่งชาติ คือ ระบอบเผด็จการ แต่ระบอบประชาธิปไตยคือ อาวุธในการต่อสู้เอาชนะความมั่นคงแห่งชาติ หรือรักษาความมั่นคงแห่งชาติ นั่นเอง ดังคำฎีกาที่คณะเจ้านายและขุนนางนำโดยกรมพระนเรศวรฤทธิ์ ที่ถวายต่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ร.5 เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2428 ว่า...

                  “ความซึ่งข้าพระพุทธเจ้าจะได้กราบบังคมทูลพระกรุณาต่อไปนี้มีอยู่ 3 ข้อเป็นประธาน

                 1. คือภัยอันตรายซึ่งจะมีมาถึงกรุงสยามได้ด้วยความปกครองของกรุงสยามดังเช่น มีอยู่ในปัจจุบันนี้จะเป็นไปได้ด้วยเหตุต่างๆดังเช่น มีตัวอย่างของชาติที่มีอำนาจใหญ่ได้ประพฤติต่อชาติซึ่งหาอำนาจป้องกันมิได้
                 2. การที่จะรักษาบ้านเมืองให้พ้นภัยอันตรายที่จะเกิดขึ้นได้ด้วยการปกครองของบ้านเมืองอย่างที่มีอยู่ในปัตยุบันนี้  โดยทางยุติธรรม ฤาอยุติธรรมของศัตรูก็มี  ต้องอาศัยความเปลี่ยนแปลงในทางทะนุบำรุงรักษาบ้านเมืองตามทางญี่ปุ่นที่ได้เดินทางยุโรปมาแล้ว แลซึ่งประเทศทั้งปวงที่มีศิวิไลซ์นับกันว่าเป็นทางอันเดียวที่จะรักษาบ้านเมืองไว้ได้
                 3. คือ ที่จะจัดการตามข้อ 2 ให้สำเร็จได้จริงนั้นอาจเป็นไปได้อย่างเดียวแต่จะตั้งพระราชหฤทัยว่าสรรพสิ่งทั้งปวงต้องจัดให้เป็นไปโดยจริงอย่างอุกฤษฎ์ทุกสิ่งทุกประการไม่ว่างเว้น...”
                 สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงร.5 ทรงมีพระราชหัตถเลขาตอบว่าสรุปความว่าพระองค์เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง  และพระองค์ทรงเล็งเห็นอยู่ก่อนแล้วที่จะยกเลิกระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชและสร้างระบอบประชาธิปไตย ดังตอนหนึ่งว่า...             
 
                 “ในข้อความบรรดาที่ได้กล่าวมาแล้วที่เป็นตัวใจความทุกประการนั้น เรายอมรับว่าเป็นจริงดังนี้...แต่เราขอแจ้งความแก่ท่านทั้งปวงให้ทราบพร้อมกันด้วยว่า ความน่ากลัวอันตรายอย่างใดซึ่งได้กล่าวมานั้น ไม่เป็นการที่จะแลเห็นขึ้นได้ใหม่ของเราเลย แต่เป็นการได้คิดเห็นอยู่แล้วทั้งสิ้น และการที่ควรจะทำนุบำรุงให้เจริญอย่างไรเล่า เรามีความปรารถนาแรงกล้าที่จะจัดการให้สำเร็จตลอดไปได้...และการซึ่งเราได้ขวนขวายตะเกียกตะกายอยู่ในการที่จะเปลี่ยนแปลงมาแต่ก่อนจนมีเหตุบ่อยๆเป็นพยานของเราที่จะยกขึ้นชี้ได้...”

                 และพระองค์ได้ทรงทำสำเร็จในขั้นตอนที่ 1ตามพระราชหัตถเลขา  การรักษาเอกราชของชาติไว้ได้ และนำพาชาติสยามขึ้นสู่ความเจริญศิวิไลซ์ (Modernization) ได้ทรงวางรากฐานประชาธิปไตยไว้ให้ตั้งแต่บัดนั้นมา
 
                 ประวัติศาสตร์ (History) มีความหมาย 2 อย่าง อย่างหนึ่งหมายความว่าขบวนการแห่งเหตุการณ์ อีกอย่างหนึ่งหมายความว่าบันทึกแห่งขบวนเหตุการณ์หรือวิชาว่าด้วยขบวนแห่งเหตุการณ์
                  ขบวนแห่งเหตุการณ์เป็นความเป็นจริงหรือความจริงแท้ (Reality) ซึ่งมันดำรงอยู่อย่างนั้นไม่เป็นอย่างอื่น ไม่มีใครจะมาเปลี่ยนแปลงได้ ทางพระท่านเรียกว่า “สภาวธรรม”

                  ส่วนบันทึกขบวนแห่งเหตุการณ์หรือวิชาว่าด้วยขบวนแห่งเหตุการณ์นั้น เป็นความจริงหรือสัจธรรม (Truth) ซึ่งมีได้ต่างๆ และเปลี่ยนแปลงได้ตามทิฎฐิหรือทฤษฎี (Theory) หรือตามข้อเท็จจริง (Fact) ที่รู้เห็นใหม่
 
                  ดังนั้นจะต้องพูดถึง “ความถูกต้องแห่งประวัติศาสตร์ชาติไทย” ซึ่งอาตมภาพจะได้กล่าวคำบรรยายพิเศษต่อที่ประชุมของท่านวิทยากรว่าด้วย “ประวัติศาสตร์การเมืองไทยถูกต้องตรงกันระหว่าง “ความจริงแท้” กับ “สัจธรรม” เพื่อบรรลุความมั่นคงของชาติอันมีองค์คุณเอกภาพ 3 ประการคือ สถาบันชาติ สถาบันศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์ และประชาธิปไตยของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ทรงเริ่มไว้โดยสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ร.5 ร.6 ร.7 ซึ่งกองทัพได้นำเอามาประยุกต์ขึ้นเป็น “นโยบาย 66/23 ”  ยุติสงครามการเมืองสร้างประชาธิปไตย รักษาความมั่นคงแห่งชาติและราชบัลลังก์ไว้ได้ในอดีตอย่างงดงามยิ่ง
                 นักประวัติศาสตร์แบ่งยุคประวัติศาสตร์ออกเป็น 3 ยุค คือยุคโบราณ (Ancient Age) ยุคกลาง (Middle Age) และยุคประวัติศาสตร์สมัยใหม่ (Modern History)

                 ในยุคโบราณนั้นคนไทยอาจจะเดินทางมาจากภูเขาอัลไต หรือจะเป็นชนพื้นเมืองอยู่แล้วก็มีมายาวนานนับพันๆปี  ซึ่งพี่น้องชาวไทยทุกคนก็ทราบกันดีอยู่แล้ว จึงไม่ขอกล่าว ณ ที่นี้

                 ในยุคสมัยกลาง ชนชาติไทยได้ก่อตั้งชาติยุคกลางยุคกรุงสุโขทัยซึ่งพระมหากษัตริย์ได้ทรงต่อสู้ก่อตั้งเป็นรัฐสมัยกลางสำเร็จ  ซึ่งเป็น “รัฐเจ้าครองนคร” หรือ รัฐฟิวดัล โดยสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ถูกสถาปนาขึ้นโดยมีหลักธรรมในพระพระพุทธศาสนาคือ “ทศพิธราชธรรม” เป็นหลักการของสถาบันฯ และได้ทรงนำเอาทศพิธราชธรรมสถาปนาขึ้นเป็น “หลักการปกครองของประเทศ” (Principle of Government) จึงเป็นการเมืองการปกครองที่ดีที่สุดตลอดมาจนถึงกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ ในยุคสมัยกลางคือ สุโขทัย –กรุงศรีอยุธยา ต้นกรุงรัตนโกสินทร์มีภัยจากพม่าข้าศึกแต่ก็สามารถต่อกอบกู้สู้เอาชนะได้อย่างรวดเร็ว  แม้จะเสียกรุง 2 ครั้งก็ตาม ภัยจากพม่าข้าศึกเป็นลัทธิแผ่กฤษฎานุภาพ (Expansionism) ซึ่งเป็นลัทธิในยุคกลาง

                  เมื่อโลกได้เปลี่ยนขึ้นสู่ยุคประวัติศาสตร์สมัยใหม่  ภัยด้านพม่าข้าศึกได้สิ้นสุดลงในตอนต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.3 สรุปว่า “ภัยอันตรายจากพม่าและเวียดนามนั้นหมดไปแล้วจะมีก็แต่ภัยจากตะวันตก” และเป็นจริงดังพระราชดำรัส คือภัยจากลัทธิล่าอาณานิคม ไทยต้องเสียดินแดนให้แก่นักล่าอาณานิคมฝรั่งเศส-อังกฤษ รวมเป็นเนื้อที่ 481,600 ตารางกิโลเมตร ถ้าไทยไม่ถูกนักล่าอาณานิคมโกงดินแดนของไทยไป ปัจจุบันไทยจะมีเนื้อที่ 994,600 ตารางกิโลเมตร อังกฤษและฝรั่งเศสเริ่มเข้ามาล่าเมืองขึ้นในแถบเอเชียตั้งแต่ พ.ศ. 2330 เป็นต้นมา และลัทธิล่าอาณานิคมได้สิ้นสุดลงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

                 การก่อกำเนิดของลัทธิล่าอาณานิคม (Colonialism) เป็นลัทธิที่เกิดขึ้นในยุคประวัติศาสตร์สมัยใหม่  เกิดจากช่องว่างการพัฒนาระหว่างประเทศยุโรปตะวันตกที่พัฒนาขึ้นแล้วด้วยลัทธิเสรีนิยมทางเศรษฐกิจและลัทธิประชาธิปไตยทางการเมือง  กับประเทศที่ยังไม่พัฒนาจากยุคสมัยกลางที่มีเศรษฐกิจแบบฟิวดัล ผลิตเพื่อกินเพื่อใช้และมีการเมืองแบบเจ้าครองนคร  ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชอันเกิดจากความขัดแย้งของยุคสมัย ของประวัติศาสตร์ คือระหว่าง “ยุคประวัติศาสตร์สมัยกลาง กับ ยุคประวัติศาสตร์สมัยใหม่” โดยลัทธิล่าอาณานิคมมีเหตุผลในการล่าอาณานิคมที่ว่าหลอกชาวโลก คือ “เพื่อช่วยปลดปล่อยประชาชนในชาติทั้งๆที่ถูกปกครองอย่างล้าหลังป่าเถื่อน ให้มีความเจริญศิวิไลซ์ทันสมัยไม่ป่าเถื่อน” แต่โดยแท้จริงแล้วประเทศนักล่าอาณานิคมต้องการเข้าไปยึดครองเพื่อแผ่อิทธิพลเพื่อระบายสินค้าอุตสาหกรรมในประเทศและกอบโกยวัตถุดิบทรัพย์สินเงินทองของมีค่าและกรรมกรพลังการผลิตการผลิตไปให้ประเทศตนเอง ประเทศนักล่าอาณานิคมจึงได้ชื่อว่า “จักรพรรดินิยม” คือผู้รุกรานยึดครองทางระบบทุนนิยม ซึ่งแตกต่างจาก “จักรวรรดินิยม” คือผู้รุกรานยึดครองทางดินแดน

                   พระพุทธเจ้าหลวงทรงต่อสู้เอาชนะการรุกรานยึดครองของนักล่าอาณานิคมด้วยวิธีเดียวเท่านั้นคือ “เปลี่ยนแปลงการปกครองให้เป็นแบบประชาธิปไตย” ตามวิธีของญี่ปุ่นซึ่งได้ทำตามแบบยุโรปมาแล้ว ซึ่งพระจักรพรรดิมัตซุฮิโตทรงกระทำสำเร็จมาแล้ว ไม่ใช่วิธีซึ่งประเทศอื่นๆ รวมทั้งญี่ปุ่นเคยใช้มาแล้วแต่ไม่ได้ผล เช่นวิธีต่อสู้ด้วยกำลังทหารวิธีใช้ความอ่อนหวาน วิธีทำสัญญาทางพระราชไมตรี วิธีอาศัยความคุ้มครองของกฎหมายระหว่างประเทศ เป็นต้น

                   สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นอเนกประการ ซึ่งแม้ว่าจะไม่สำเร็จโดยสมบูรณ์ก็มีบทบาทป้องกันภัยอันตรายของชาติจากการรุกรานของชาติล่าอาณานิคมสามารถรักษาเอกราชของชาติไว้ได้
 
                   พระราชกรณียกิจเหล่านั้น เช่น การสร้างระเบียบบริหารเป็น ส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ส่วนกลางจัดเป็นกระทรวง 12 กระทรวง ส่วนภาคภูมิจัดเป็นมณฑลจังหวัดและอำเภอ ในขณะเดียวกันก็ทรงเตรียมการที่จะทำการปกครองแบบประชาธิปไตย โดยทรงตั้งองคมนตรีสภาขึ้น  เพื่อฝึกฝนระบบรัฐสภา และทรงประกาศใช้พ.ร.บ.สุขาภิบาล ซึ่งเรียกในปัจจุบันว่า เทศบาล เพื่อฝึกฝนการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยให้แก่ประชาชน ทั้งนี้เป็นการนำเอาวิธีการของพระจักรพรรดิมัตสุฮิโตแห่งญี่ปุ่น ที่ได้สถาปนาการปกครองแบบประชาธิปไตยเป็นผลสำเร็จมาแล้วมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทย แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ด่วนเสด็จสวรรคตเสียกลางคัน พระราชกรณียกิจเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบประชาธิปไตยจึงค้างอยู่
 
                  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสืบทอดพระราชกรณียกิจต่อมาที่สำคัญคือ ทรงขยายเสรีภาพอันกว้างขวาง  โดยเฉพาะคือเสรีภาพของหนังสือพิมพ์ และฝึกฝนการปกครองแบบประชาธิปไตยให้แก่ประชาชน โดยทรงตั้งดุสิตธานีขึ้น
  
                  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งพระราชปณิธานที่จะสถาปนาการปกครองแบบประชาธิปไตยเจริญรอยพระยุคลบาทสมเด็จพระราชบิดาให้สำเร็จ  ดังข้อความตอนหนึ่งในพระราชบันทึกถึงรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2477 ว่า “ตั้งแต่ข้าพเจ้าได้สืบราชสมบัติจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ข้าพเจ้าก็ได้คิดการที่จะบันดาลให้การเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปโดยราบรื่นที่สุดที่จะเป็นไปได้” ทั้งนี้เพราะทรงเลื่อมใสศรัทธาในการเปลี่ยนแปลงโดยสันติวิธีของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงมีพระราชดำรัสไว้ว่า การเปลี่ยนแปลงของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ได้ทรงกระทำมาแล้วนั้น ไม่มีในประเทศใดที่จะเป็นไปได้โดยไม่มีการรบราฆ่าฟันแม้แต่ในญี่ปุ่น ก็ยังมีกบฎชัชสุมะ

                   สมเด็จพระปกเกล้าทรงรอบรู้อย่างถูกต้องและแจ่มแจ้งในการปกครองแบบประชาธิปไตย หรือ Democratic Government และระบอบประชาธิปไตย หรือ Democratic Regime จะเห็นได้จากพระราชบันทึกที่ทรงคัดค้านคณะราษฎรว่า “ ข้าพเจ้าสมัครใจจะสละอำนาจของข้าพเจ้าให้แก่ราษฎรทั่วไป แต่ไม่ยินยอมยกอำนาจของข้าพเจ้าให้แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดเว้นแต่จะรู้แน่ว่าเป็นความประสงค์ของประชาชนอันแท้จริงเช่นนั้น” และนี่คือระบอบประชาธิปไตย  ซึ่งหมายความว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน มิใช่เป็นของชนส่วนน้อย แต่ไม่ทรงเห็นด้วยกับคณะราษฎรที่มิได้ทำให้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนหรือราษฎรโดยทั่วไป  และพระราชบันทึกอีกตอนหนึ่งว่า “เมื่อพระยาพหลฯและคณะผู้ก่อการฯ ร้องขอให้ข้าพเจ้าคงอยู่ครองราชย์สมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญนั้น ข้าพเจ้าได้ยินดีรับรองก็เพราะเข้าใจและเชื่อมั่นว่า  คณะผู้ก่อการฯ ต้องการจะสถาปนาการปกครองแบบ “ประชาธิปไตย” หรือ Democratic Government ครั้นเมื่อข้าพเจ้ากลับขึ้นไปกรุงเทพแล้วและได้เห็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่หลวงประดิษฐ์ฯ ได้นำมาให้ข้าพเจ้าลงนาม ข้าพเจ้ารู้สึกทันทีว่า หลักการของผู้ก่อการฯ กับหลักการของข้าพเจ้านั้น ไม่พ้องกันเสียแล้ว”   ที่ว่าหลักการไม่พ้องกันนั้น หมายความว่า ระบอบของคณะราษฎรไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย และการปกครองของคณะราษฎรไม่ใช่การปกครองแบบประชาธิปไตย  แต่สมเด็จพระปกเกล้าทรงยึดถือระบอบประชาธิปไตย คือ อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน และทรงยึดถือการปกครองแบบประชาธิปไตย  ซึ่งตามหลักวิชาการประกอบด้วยหลักการปกครอง หรือ Principle of Government 5 ประการคือ 1.ระบอบประชาธิปไตย หรืออำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน 2. เสรีภาพบริบูรณ์ 3.ความเสมอภาค 4.หลักนิติธรรม 5.รัฐบาลจากการเลือกตั้ง ซึ่งนักวิชาการ เช่นดร.กมล ทองธรรมชาติ สามารถยืนยันเช่นนี้ได้ จากข้อเท็จจริงและหลักวิชาการจะเห็นได้ชัดเจนว่า หลักการของสมเด็จพระปกเกล้ากับคณะราษฎร ไม่พ้องกันเลย
 
                 ตามที่ได้กล่าวข้างต้นว่า  การเปลี่ยนแปลงการปกครองตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มานั้น เป็นวิธีการเดียวในการป้องกันภัยอันตรายของชาติหรือรักษาความมั่นคงแห่งชาติ จึงต้องเปลี่ยนแปลงอย่างถูกต้อง ไม่เพียงแต่สักว่าเปลี่ยนแปลง และการเปลี่ยนแปลงให้เป็นการปกครองแบบประชาธิปไตย  ซึ่งมีระบอบประชาธิปไตยเป็นข้อแรกของหลักการปกครองที่จะขาดเสียมิได้ถ้าผิดไปจากนี้  ก็จะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มิใช่เพื่อขจัดภัยอันตรายของชาติหรือรักษาความมั่นคงแห่งชาติ ฉะนั้นเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า การเปลี่ยนแปลงของสมเด็จพระปกเกล้ากับของคณะราษฎร มีหลักการไม่พ้องกัน เพราะเป็นหลักการที่สืบทอดหลักการของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเดินทางญี่ปุ่นที่ได้เดินทางยุโรปมาแล้ว  ส่วนหลักการของคณะราษฎรเป็นหลักการที่ไม่ถูกต้อง  เพราะขัดกับหลักการของสมเด็จพระปกเกล้า ตามที่พระองค์ท่านทรงมีพระราชวิจารณ์ไว้เป็นอันมาก ดังจะกล่าวต่อไป ซึ่งแสดงให้เห็นว่าหลักการในการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎรนั้น  มิใช่เป็นไปเพื่อขจัดอันตรายของชาติหรือมิใช่เป็นไปเพื่อความมั่นคงแห่งชาติ

               เพื่อความชัดเจนในประเด็นนี้ ขอนำเอาข้อเท็จจริงในการเปลี่ยนแปลงการปกครองของสมเด็จพระปกเกล้าและคณะราษฎรมาแสดงให้เห็นโดยย่อ ดังนี้
      
               หลักการสำคัญของสมเด็จพระปกเกล้ามี 2 ประการคือ 1 พระราชปณิธานที่จะทรงสละอำนาจให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป หรือทำให้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน 2 สถาปนาการปกครองแบบประชาธิปไตย หรือ Democratic Government

               การปฏิบัติหลักการข้อที่ 1 คือพระราชปณิธานที่จะทรงสละอำนาจให้แก่ประชาชนก็คือ ทรงตั้งสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราวขึ้น โดยคัดเลือกสมาชิกจากองคมนตรีสภามา 40 คน ตั้งขึ้นเป็นสภา  เรียกว่าสภากรรมการองคมนตรี ทำหน้าที่เป็นแกนของสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราว  แล้วจึงขยายจำนวนสมาชิกให้กว้างขวางออกไป ประกอบด้วยบุคคลในอาชีพและกิจการต่างๆซึ่งเมื่อรวมกับสมาชิกขององคมนตรีสภา 40 คนแล้ว ก็จะเป็นสภาที่มีลักษณะเป็นผู้แทนปวงชนอย่างกว้างขวางที่สุดในสมัยนั้น  นี่คือสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราว  ซึ่งสมเด็จพระปกเกล้าทรงตั้งขึ้น มีชื่อว่า “สภากรรมการองคมนตรี” ซึ่งเป็นสภาที่สมบูรณ์และมีข้อบังคับการประชุมโดยเรียบร้อย  ซึ่งคณะราษฎรได้นำไปใช้เป็นข้อบังคับการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราวของตน ดังปรากฏในมาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวของคณะราษฎรว่า “มาตรา 27 สภามีอำนาจตั้งระเบียบการปรึกษาหารือเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามธรรมนูญนี้” (ในขั้นแรกนี้ให้อนุโลมใช้ข้อบังคับสภากรรมการองคมนตรี เฉพาะที่ไม่ขัดกับธรรมนูญไปพลางก่อน)”

                 ในขณะเดียวกัน ก็ทรงขยายการปฏิบัติพระราชบัญญัติสุขาภิบาลให้กว้างขวางออกไป เพื่อฝึกซ้อมการเลือกตั้งให้แก่ประชาชน ให้เข้าใจการเลือกตั้งที่ถูกต้องของระบบรัฐสภา ซึ่งจะมีขึ้นต่อไปเมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้ว ในขณะนั้นพระองค์ท่านเสด็จประพาสสหรัฐอเมริกาเพื่อรักษาพระเนตร  ก็ได้ทรงถือโอกาสศึกษาวิธีการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกา  เพื่อทรงทราบว่าการเลือกตั้งที่แท้จริงในระบอบประชาธิปไตยนั้นเป็นอย่างไร และทรงให้สัมภาษณ์ที่สหรัฐอเมริกาว่า  เมื่อเสด็จกลับประเทศไทยแล้วจะทรงเปลี่ยนแปลงการปกครองให้เป็นแบบประชาธิปไตย  เหล่านี้เป็นโครงการพระราชดำริร่วมกับเจ้านายผู้ใหญ่และขุนนางผู้ใหญ่ ซึ่งเห็นพ้องกันว่า  การที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบประชาธิปไตยนั้น  ควรมีระยะผ่านหรือ transition period จึงจะได้รับผลดีตามต้องการ และระยะผ่านนั้นก็คือ ตั้งสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราวขึ้น และฝึกซ้อมการเลือกตั้งให้แก่ประชาชนโดยขยายการปฏิบัติพระราชบัญญัติสุขาภิบาลออกไปทั่วประเทศ เมื่อได้ปฏิบัติระยะผ่านได้ผลเป็นที่พอใจแล้ว จึงประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เพื่อโอนอำนาจส่วนใหญ่จากพระมหากษัตริย์ไปให้แก่สภากรรมการองคมนตรี  ซึ่งเท่ากับเป็นการโอนอำนาจให้แก่ประชาชน ทำให้พระราชปณิธานที่จะทรงสละอำนาจให้แก่ราษฎรทั่วไปปรากฏเป็นจริง  จากนั้นจึงดำเนินการเลือกตั้งทั่วไปตามรัฐธรรมนูญและเมื่อมีสภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งขึ้นแล้ว  ก็ยุบเลิกสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราว  ซึ่งเป็นสภาแต่งตั้ง ให้สภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งทำหน้าที่เป็นสภาผู้แทนราษฎรถาวรต่อไป  นี่คือโครงการพระราชดำริระยะผ่านไปสู่การปกครองแบบประชาธิปไตย โครงการนี้ปรากฏอยู่ในหนังสือ Thailand Official Yearbook 1964

                ทรงกำหนดว่าจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นวันฉลองพระนครครบ 150 ปี แต่มีการทักท้วงจากวงการระดับสูงบางวงการว่าควรพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญให้รอบคอบยิ่งขึ้น จึงทรงเลื่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญออกไปและทรงนำร่างรัฐธรรมนูญไปปรับปรุงในระหว่างเสด็จไปประทับ ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน
                ส่วนหลักการข้อที่ 2 คือคือการสถาปนาการปกครองแบบประชาธิปไตยนั้น ต่อเนื่องจากหลักการข้อที่ 1 คือ เมื่อทรงสละอำนาจให้ประชาชนปรากฏเป็นจริง ตามกระบวนการของระยะผ่านแล้ว  ซึ่งก็คือได้บังเกิดระบอบประชาธิปไตยขึ้นแล้ว  เงื่อนไขอื่นๆของการปกครองแบบประชาธิปไตยคือ เสรีภาพโดยบริบูรณ์ของบุคคล ความเสมอภาค หลักนิติธรรมและรัฐบาลจากการเลือกตั้งก็จะตามมาโดยง่าย ฉะนั้นเงื่อนไข 5 ประการของการปกครองแบบประชาธิปไตยนั้นจึงกล่าวว่าโดยย่อได้เป็น 2 ประการ  อำนาจอธิปไตยของปวงชน และเสรีภาพโดยบริบูรณ์ของบุคคล เมื่อมีเงื่อนไข 2 ประการนี้แล้วก็เรียกว่าการปกครองแบบประชาธิปไตย  ด้วยเหตุนี้เมื่อทรงกล่าวถึงการปกครองแบบประชาธิปไตย ในการที่ทรงให้ความร่วมมือแก่คณะราษฎร จึงตรัสว่า การที่ทรงเห็นชอบกับคำร้องขอของคณะราษฎรให้ทรงอยู่ครองราชย์สมบัติต่อไป เป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญนั้น ก็เพราะทรงเข้าใจและเชื่อมั่นว่าคณะราษฎรต้องการจะสถาปนาการปกครองแบบประชาธิปไตยตามแบบอย่างของประเทศอังกฤษและประเทศอื่นที่มีพระมหากษัตริย์ปกครองภายใต้อำนาจอันจำกัดโดยรัฐธรรมนูญ  และมีรัฐสภาซึ่งประชาชนเป็นผู้เลือกตั้งโดยแท้ ดังปรากฏในพระราชบันทึกฉบับเดียวกับที่อ้างถึงมาข้างต้น

                แต่เมื่อทรงทราบชัดถึงหลักการและการกระทำของคณะราษฎร  ก็ตรัสว่าคณะผู้ก่อการมิได้มีความประสงค์จะให้มีเสรีภาพในการเมืองโดยบริบูรณ์อันเนื่องมาจากคณะราษฎรมิได้ทำให้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน  ทั้งนี้ปรากฏในพระราชบันทึกถึงคณะรัฐมนตรีและสภาผู้แทนราษฎรฉบับเดียวกับที่อ้างถึงข้างต้น
 
                ส่วนหลักการของคณะราษฎร ซึ่งใช้ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองคือหลัก 6 ประการ ได้แก่ 1 หลักเอกราช คือ เอกราชทางการเมือง เอกราชทางศาล เอกราชทางเศรษฐกิจ 2 หลักการปลอดภัย คือทำให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลง 3 หลักเศรษฐกิจ คือการบำรุงความสุขสมบูรณ์ของประชาชน 4 หลักสิทธิเสมอภาค 5 หลักเสรีภาพ 6  หลักการศึกษาจะเห็นได้ว่าในหลัก 6 ประการนี้ไม่มีหลักอำนาจอธิปไตยเป็นของวงชน  ซึ่งเรียกว่าระบอบประชาธิปไตยซึ่งเป็นหลักที่จะขาดเสียมิได้ของการปกครองแบบประชาธิปไตย จริงอยู่ แม้ว่าในรัฐธรรมนูญชั่วคราวของคณะราษฎรจะมีบทบัญญัติว่า “ อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” แต่ต่อมาอีก 6 เดือนก็ยกเลิกไป  โดยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญถาวรว่า “ อำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวไทย” ซึ่งมิใช่ระบอบประชาธิปไตย เพราะระบอบประชาธิปไตยย่อมหมายความว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน  มิใช่อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชน สมเด็จพระปกเกล้าฯ จึงทรงวิจารณ์รัฐธรรมนูญของคณะราษฎรว่า เป็นการเขียนเพื่อตบตา เพื่อหลอกกันเล่นเท่านั้นเอง แท้จริงแล้วตามหลักการของคณะราษฎรนั้น อำนาจอธิปไตยมิได้เป็นของปวงชน  แต่เป็นของชนส่วนน้อย พระองค์ท่านจึงทรงคัดค้านว่า “ ข้าพเจ้าสมัครใจจะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิม ให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ไม่ยินยอมยกอำนาจของข้าพเจ้าให้แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด หรือคณะหนึ่งคณะใด...” อันเป็นพระราชหัตถเลขาที่เลื่องลือเป็นที่รู้กันทั่วไป และจารึกอยู่ ณ พระบรมราชานุสาวรีย์หน้ารัฐสภา
 
                 จากข้อเท็จจริงดังกล่าวมา สรุปได้ว่า ที่สมเด็จพระปกเกล้าทรงนับทึกไว้ว่า “หลักการของข้าพเจ้ากับหลักการของคณะผู้ก่อการไม่พ้องกัน” อยู่ในหลักสาระสำคัญ 3 ประการคือ
 
                1. สมเด็จพระปกเกล้าทรงมีพระราชปณิธานจะสละอำนาจให้แก่ประชาชนหรือทำให้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน หรือสถาปนาระบอบประชาธิปไตย เพราะระบอบประชาธิปไตย หมายความว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน นายพงศ์เพ็ญ ก็ยืนยัน แต่คณะผู้ก่อการฯหรือคณะราษฎรไม่ต้องการจะทำให้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน  หรือไม่ต้องการจะสถาปนาระบอบประชาธิปไตย

                2. สมเด็จพระปกเกล้าฯทรงมีพระราชประสงค์จะสถาปนาการปกครองแบบระบอบประชาธิปไตย หรือ Democratic Government อันประกอบด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนหรือระบอบประชาธิปไตย และบุคคลมีเสรีภาพในการเมืองโดยบริบูรณ์ แต่คณะผู้ก่อการฯหรือคณะราษฎรไม่ต้องการจะสถาปนาการปกครองแบบประชาธิปไตย เพราะนอกจากจะไม่ทำให้มีระบอบประชาธิปไตยหรืออำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนแล้ว ยังไม่ประสงค์จะให้มีเสรีภาพในการเมืองโดยบริบูรณ์อีกด้วย ตามที่ทรงวิจารณ์ไว้ในพระราชบันทึกที่ยกมาข้างต้น

                 3.สมเด็จพระปกเกล้าทรงมีพระราชประสงค์จะให้มีรัฐสภา ซึ่งประชาชนเป็นผู้เลือกตั้งโดยแท้ แต่รัฐสภาของคณะราษฎรนั้นประชาชนมิได้เลือกตั้งโดยแท้เพราะส่วนหนึ่งเลือกตั้ง แต่อีกส่วนหนึ่งไม่เลือกตั้ง แม้ส่วนที่เลือกตั้งก็ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม เช่นในระยะต่อมาเต็มไปด้วยการจำกัดเสรีภาพในการเลือกตั้ง เป็นต้น
 
                 โครงการพระราชดำริของสมเด็จพระปกเกล้า เพื่อสถาปนาการปกครองแบบประชาธิปไตย คือ ทรงตั้งสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราวขึ้น เรียกว่า สภากรรมการองคมนตรีและขยายการปฏิบัติพระราชบัญญัติสุขาภิบาลเพื่อฝึกซ้อมการเลือกตั้งที่ถูกต้องให้แก่ประชาชน แล้วจึงประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เพื่อโอนอำนาจส่วนใหญ่จากพระองค์ท่านให้แก่สภากรรมการองคมนตรี ซึ่งเป็นสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราว จากนั้นจึงดำเนินการเลือกตั้งทั่วไปตามรัฐธรรมนูญ และเมื่อมีสภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นแล้ว  ก็ยุบเลิกสภากรรมการองคมนตรี จึงเป็นสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราวและเป็นสภาแต่งตั้งนั่นเสีย ให้สภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎรถาวรต่อไป  นี่คือโครงการพระราชดำริในการโอนอำนาจให้ประชาชนตามพระราชปณิธานที่จะทรงสละอำนาจให้ประชาชน  ทำให้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนหรือทำให้มีระบอบประชาธิปไตยเพื่อสถาปนาการปกครองแบบประชาธิปไตย หรือ  Democratic Government ซึ่งประกอบด้วยหลักการปกครอง 5 ประการคือ 1) ระบอบประชาธิปไตย หรืออำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน 2) บุคคลมีเสรีภาพบริบูรณ์ 3) ความเสมอภาค 4) หลักนิติธรรม 5) รัฐบาลจากการเลือกตั้ง ซึ่งถ้าจะกล่าว โดยย่อก็ได้เป็น 2 ประการคือ 1) อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน 2) บุคคลมีเสรีภาพบริบูรณ์ ซึ่งเป็นหลักการที่สืบทอดมาจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และถูกต้องตามหลักวิชาการทุกประการ

                 แต่ในระหว่างทรงทบทวนร่างรัฐธรรมนูญ ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน เพื่อทรงประกาศใช้ตามโครงการพระราชดำริดังกล่าว ก็เกิดการยึดอำนาจของคณะราษฎร เลิกล้มโครงการพระราชดำริทั้งหมดเสีย การเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงเป็นไปตามหลักการที่ไม่ถูกต้องของคณะราษฎร กล่าวคือ ด้านหนึ่งมิได้ทำให้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน หรือมิได้ทำให้มีระบอบประชาธิปไตย อีกด้านหนึ่ง เมื่ออำนาจอธิปไตยมิได้เป็นของวงชน หรือไม่มีระบอบประชาธิปไตย ก็ไม่มีการสถาปนาการปกครองแบบประชาธิปไตย เพราะว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนหรือระบอบประชาธิปไตย คือหัวใจของการปกครองแบบประชาธิปไตย เมื่อไม่มีระบอบประชาธิปไตยก็ไม่สามารถจะมีการปกครองแบบประชาธิปไตยได้
                 ด้วยเหตุนี้ สมเด็จพระปกเกล้าจึงทรงคัดค้านการปกครองของคณะราษฎรอย่างรุนแรงที่สุดว่าไม่เป็นการปกครองแบบประชาธิปไตย ปรากฏอยู่ในพระราชหัตถเลขาแลพระราชบันทึกเป็นอันมากโดยเฉพาะในพระราชบันทึกถึงคณะรัฐบาล และสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2477 ที่อ้างถึงข้างต้น เช่น
 
                 “การปกครองที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้เป็นลัทธิเผด็จการทางอ้อมๆ ไม่ใช่ Democracy จริงๆเลย...ผลร้ายของการปกครองแบบ Absolute มิได้เสื่อมคลาย เป็นการผิดหลักผิดทางของลัทธิDemocracy โดยแท้ฯลฯ” และทรงวิจารณ์รัฐธรรมนูญของคณะราษฎรว่า นอกจากจะเป็นการเขียนเพื่อตบตาเพื่อหลอกกันเล่นดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังทรงบันทึกไว้ว่า “ต่อมาข้าพเจ้าก็ได้ยินคำติเตียนหลักการอันนั้นในรัฐธรรมนูญมากขึ้นทุกที และหลักการอันนี้เป็นเหตุให้มีคนไม่พอใจในคณะรัฐบาลเป็นอันมาก จนมีการเริ่มคือที่จะล้มรัฐบาลเสียโดยพลการเพื่อแก้ไขหลักการข้อนี้ ตั้งแต่ก่อนกระทำพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ และยังมีอยู่เนืองๆ ในกาลต่อมา หลักการข้อนี้คือ หลักการที่รัฐสภาซึ่งประชาชนมีได้เลือกตั้งโดยแท้

                ฉะนั้น  รัฐธรรมนูญซึ่งกระทำพิธีพระราชทานนั้น จึงเป็นรัฐธรรมนูญที่สมเด็จพระปกเกล้ามิได้ทรงเห็นชอบด้วย  เป็นรัฐธรรมนูญที่มีหลักการแตกต่างกับรัฐธรรมนูญซึ่งสมเด็จพระปกเกล้าทรงเตรียมการประกาศใช้ รัฐธรรมนูญของสมเด็จพระปกเกล้าทรงเตรียมการจะประกาศใช้ รัฐธรรมนูญของสมเด็จพระปกเกล้านั้น เป็นรัฐธรรมนูญที่ทำให้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน  แต่รัฐธรรมนูญของคณะราษฎรเป็นรัฐธรรมนูญที่บัญญัติให้อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนมิใช่เป็นของปวงชน  ซึ่งยังคงใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน นี่คือหลักการที่แตกต่างกันอย่างสำคัญที่สุด ระหว่างรัฐธรรมนูญของสมเด็จพระปกเกล้ากับรัฐธรรมนูญของคณะราษฎร ซึ่งสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

                จึงเป็นที่เข้าใจโดยชัดเจนว่า รัฐธรรมนูญที่สมเด็จพระปกเกล้าพระราชทานนั้น มิใช่รัฐธรรมนูญของพระองค์ท่าน ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญของการปกครองแบบประชาธิปไตยแต่เป็นรัฐธรรมนูญของคณะราษฎรซึ่งสมเด็จพระปกเกล้าทรงคัดค้านเพราะมิใช่เป็นรัฐธรรมนูญของการปกครองแบบประชาธิปไตย
 
                 อาจมีผู้สงสัยว่า เมื่อสมเด็จพระปกเกล้าไม่ทรงเห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญเหตุใดจึงพระราชทานให้เหตุผลปรากฏอยู่ในพระราชบันทึกฉบับที่อ้างถึงข้างต้นว่า “ข้าพเจ้ารู้สึกในขณะนั้นว่า ถ้าจะโต้เถียงกันต่อไป การร่างรัฐธรรมนูญก็จะชักช้า ไม่รู้จักแล้ว และอาจเป็นการแตกหักร้ายแรงเสียกว่าที่จะยอมรับให้การเป็นไปตามความประสงค์ของคณะผู้ก่อการจึงได้ยอมให้เป็นไปตามนั้น” และอีกตอนหนึ่ง “ข้าพเจ้าเห็นว่า เวลานั้นเป็นเวลาฉุกเฉิน และสมควรรักษาความสงบไว้ก่อนเพื่อหาโอกาสผ่อนผันภายหลัง”
 
                ในบรรดาพระราชวิจารณ์ต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎรที่ไม่ถูกต้องนั้น ที่สำคัญที่สุดและมีลักษณะเป็นคำพยากรณ์อย่างถูกต้อง คือพระราชวิจารณ์ที่ว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้น “ เป็นการเสียเวลาและเป็นการเสี่ยงภัยให้แก่ประเทศโดยใช่ที่ ในเวลาที่บ้านเมืองอยู่ในฐานะคับขันและยากจน” จากพระราชบันทึกฉบับเดียวกัน เพราะว่าเมื่อการปกครองไม่เป็นแบบประชาธิปไตยตามหลักวิชาการ ซึ่งสมเด็จพระปกเกล้าทรงกำหนดไว้ ก็ไม่สามารถพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศได้ ประเทศไทยยังคงตกอยู่ในความอ่อนแอเป็นเวลายาวนานที่คือเสียเวลา  และที่ว่าเป็นการเสี่ยงภัยให้แก่ประเทศโดยใช่ที่นั้นหมายถึงภัยอันตรายต่อชาติ ก็คือเกิดปัญหาความมั่นคงแห่งชาตินั่นเอง ซึ่งได้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรง   ถึงกับประเทศไทยเกือบจะสิ้นชาติสิ้นแผ่นดินถึง 2 ครั้ง

                ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ภัยอันตรายของชาติจากลัทธิล่าอาณานิคมได้ลดลง เพราะมีองค์การสหประชาชาติเข้ามาดูแลความมั่นคงและสันติภาพระหว่างประเทศแต่หลายประเทศได้เกิดปัญหาความมั่นคงแห่งชาติขึ้นใหม่ คือ ภัยจากลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งทำให้สิ้นชาติสิ้นแผ่นดิน ทำให้ประเทศเสรีนิยมกลายเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ เช่น จีนและอินโดจีน เป็นต้น
 
                พรรคคอมมิวนิสต์ แห่งประเทศหรือพคท. ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วตั้งแต่เสร็จสงครามโลกครั้งที่ 2 และได้เปิดการต่อสู้ด้วยอาวุธขึ้นเมื่อพ.ศ. 2508 และขยายขึ้นเป็นสงครามปฏิวัติของคอมมิวนิสต์เมื่อพ.ศ. 2512 ประจวบกับได้เกิดสงครามอินโดจีนขึ้นระหว่างสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรฝ่ายหนึ่งกับเวียดนาม ลาว และกัมพูชาอีกฝ่ายหนึ่ง ในสงครามนั้น

                ในยุคประวัติศาสตร์สมัยใหม่ (Modern history) นั้นจะมีลัทธิการเมืองใหญ่ๆอยู่ 3 ลัทธิ คือ ลัทธิเผด็จการ  ลัทธิประชาธิปไตย  ลัทธิคอมมิวนิสต์  โดยมีจุดยืนกว้างแคบต่างกัน คือ ลัทธิเผด็จการมีคนส่วนน้อยชนชั้นบนเป็นผู้ถืออำนาจเพื่อประโยชน์ของคนส่วนน้อย ลัทธิคอมมิวนิสต์ซึ่งเป็นลัทธิเผด็จการชนชั้นล่างบนพื้นฐานพันธมิตร กรรมกร – ชาวนา คนส่วนใหญ่ของประเทศ มีชนกรรมาชีพเป็นผู้ถืออำนาจ ลัทธิประชาธิปไตยเป็นลัทธิการเมืองของชนชั้นกลาง มีอำนาจเป็นของปวงชนคนทั้งหมด  เพื่อประโยชน์ของคนทั้งหมด  ดังนั้นเผด็จการจึงแพ้คอมมิวนิสต์  คอมมิวนิสต์จึงพ่ายแพ้ต่อประชาธิปไตย

                เมื่อมีภัยคอมมิวนิสต์ขึ้น กองทัพที่เคยต่อสู้กับคอมมิวนิสต์มา ด้วยนโยบายเผด็จการทำให้ “ยิ่งตียิ่งโต”  “ยิ่งสู้ยิ่งแพ้” เพราะกองทัพยอมรับนโยบายเผด็จการของพรรคการเมือง ในระบอบเผด็จการรัฐสภาจึงแพ้คอมมิวนิสต์  ต่อมาได้เปลี่ยนนโยบายหรือยุทธศาสตร์ประชาธิปไตยจึงพลิกกลับเอาชนะเป็นฝ่ายรุกทางการเมือง ต่อคอมมิวนิสต์และมีชัยชนะต่อคอมมิวนิสต์โดยได้สโลแกนในพระบรมราโชบายสมเด็จพระปกเกล้าคือ “ พระบรมราโชบายสถาปนาการปกครองแบบประชาธิปไตย ” ประยุกต์เข้ากับสถานการณ์สงครามกลางเมือง เรียกว่า “ นโยบายต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ ”  และในสถานการณ์สันติภาพ คือ  “ นโยบายสร้างประชาธิปไตย ”

               นโยบาย  66/23 และได้ออกคำสั่ง สร. ว่าด้วยนโยบายต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ โดยพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นผู้ลงนามในฐานะนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2523  ซึ่งเป็นรูปของ  “ นโยบายแห่งชาติ ” โดยมีกองทัพเป็นกลไกหลักในการปฏิบัติตามที่รัฐบาลได้กำหนดขึ้น ไม่ใช่นโยบายของกองทัพ แต่เป็นนโยบายแห่งชาติ ที่รัฐบาล กองทัพและทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตลอดไปจนกว่าจะบรรลุความสำเร็จ ซึ่งมีสองด้านของเหรียญ คือ ด้านนโยบาย คือ นโยบายแห่งชาติ  ด้านกฎหมาย คือ กฎหมายสูงสุด (National Policy- Supreme Law)

              ความคิด “เสรีนิยม”  แปรเป็นการเมือง คือ “ประชาธิปไตย”  แปรเป็นกฎหมาย  คือ กฎหมาย ประชาธิปไตย  เช่น นโยบาย  66/23

              ความคิด “อนุรักษ์นิยม”  แปรเป็นการเมือง คือ “เผด็จการ”  แปรเป็นกฎหมาย คือ กฎหมายเผด็จการ เช่น พ.ร.บ. ป้องกันการกระทำคอมมิวนิสต์ ได้เกิดการต่อสู้กันระหว่าง “นโยบาย  66/23 กับ พ.ร.บ. ป้องกันการกระทำคอมมิวนิสต์”  ฝ่ายประชาธิปไตย จึงชนะทั้งเผด็จการรัฐสภา และเผด็จการคอมมิวนิสต์

              นโยบาย  66/23 มีการรุกทางการเมือง (Political offensive) ด้วยการเสนอประชาธิปไตย 2 ขั้นตอน
              ขั้นตอนที่ 1 รุกทางการเมืองเพื่อเอาชนะสงครามกลางเมือง ด้วยการสร้างประชาธิปไตยระดับต่ำ โดยมาตรการขยายเสรีภาพบุคคลระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นขั้นยุติสงคราม
              ขั้นตอนที่ 2 รุกทางการเมืองอย่างต่อเนื่องเพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ ด้วยการสร้างประชาธิปไตยระดับสูง โดยมาตรการขยายเสรีภาพของบุคคล  ขยายอธิปไตยของปวงชน  บรรลุการปกครองแบบประชาธิปไตย  ซึ่งเป็นขั้นพัฒนาการ  (Developing)

             การพัฒนาจะดำเนินไปไม่ได้ ถ้าไม่ยุติสงครามก่อน ดังนั้นจะต้องยุติสงครามก่อนเป็นขั้นตอนแรก เมื่อยุติสงครามแล้ว จึงพัฒนาประเทศได้ คือ สร้างประชาธิปไตยให้สำเร็จ โดยเปลี่ยนสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เป็น “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย” เพื่อเป็นมวลชนประชาธิปไตย ช่วยผลักดันการสร้างประชาธิปไตยให้สำเร็จ ดังนี้ คือ

             ยุทธศาสตร์ขั้นตอนที่ 1 ว่าด้วย “ 2 วัตถุประสงค์  เพื่อยุติสถานการณ์สงครามปฏิวัติของคอมมิวนิสต์ อันมีความสำคัญและเป็นภัยต่อความมั่นคงอย่างที่สุดของประเทศให้เสร็จสิ้นไปโดยเร็ว”

             ยุทธศาสตร์ขั้นตอนที่ 2 ว่าด้วย “ 3 นโยบาย ต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ให้เสร็จสิ้นอย่างรวดเร็ว ด้วยการรุกทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง”

             เมื่อปฏิบัตินโยบาย  66/23  ขั้นตอนที่ 1 ยุติสงครามกลางเมืองได้อย่างงดงามแล้ว ด้วยการขยายเสรีภาพบุคคลระดับหนึ่ง เช่น งดใช้ พ.ร.บ. การกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ที่เป็นเผด็จการ เน้นการเจรจากันอย่างสันติ เพื่อร่วมกันสร้างประชาธิปไตย หรือ  “ปฏิวัติประชาธิปไตย”  โดยไม่ฆ่า ไม่ด่า  ไม่จับ

             เมื่อสงครามกลางเมืองยุติลงโดยพื้นฐานแล้ว  ทางรัฐบาลโดยพลเอกเปรม  ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีได้ออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 65/25 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2525 แต่ยังขาดรูปธรรมสุดท้ายของการสร้างประชาธิปไตยที่แจ่มแจ้งเพียงพอ เช่น รัฐบาลแห่งชาติ หรือ รัฐบาลเฉพาะกาล และนโยบายสร้างประชาธิปไตย เมื่อประกาศ สร. 65/25 แล้ว ก็ปฏิบัติไม่ใครจะได้ จึงยังคงไม่ปฏิบัตินโยบาย  66/23ให้สำเร็จได้จนกระทั่ง บัดนี้

             ดังนั้น นโยบาย 66/23 และนโยบาย 65/25 มีความจำเป็นอย่างที่สุด ต่อสถานการณ์ชาติบ้านเมืองทั้งในอดีต  ปัจจุบัน  และอนาคต  เพราะตราบใดที่ยังไม่สร้างประชาธิปไตยให้แล้วเสร็จ ตราบนั้น นโยบาย 66/23 ก็ยังคงจำเป็นอย่างที่สุดต่อประเทศและประชาชนไม่ว่าจะอยู่ในเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น

             ก่อนอื่นต้องแก้ความเข้าใจผิดเสียก่อนที่ว่า “นโยบาย 66/23” เป็น “การเมืองนำการทหาร” ไม่ว่าจะเป็นด้านนโยบายหรือยุทธศาสตร์ เพราะความเข้าใจผิดนี้มีผลเสียหายหลายด้าน เช่น 

             1)  เข้าใจว่าที่ผ่านมา เราใช้นโยบายหรือยุทธศาสตร์การทหารนำการเมือง ซึ่งไม่มีในโลก ดังคำกล่าวว่า “ใช้เท้าคิดต่างหัว ให้หัวเดินต่างเท้า”  เราไม่เคยใช้การทหารนำการเมืองเลย
             2) เมื่อเข้าใจผิดว่าการทหารนำการเมือง ทำให้แก้ปัญหาแก้ไม่ตก จึงเปลี่ยนมาเป็น “ การเมืองนำการทหาร ” เท่านี้ก็แก้ปัญหาชาติได้แล้ว โดยการเมืองของไทยตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน คือ ระบอบเผด็จการรัฐสภา เห็นผิดว่าเป็นระบอบประชาธิปไตย จึงใช้การเมืองที่ดำรงอยู่นี้ไปแก้ปัญหาชาติ ก็จะประสบความล้มเหลว          

             3) ไม่นำไปสู่การสร้างประชาธิปไตย เป็นการรักษาระบอบเผด็จการรัฐสภาไว้

             เหตุที่เกิดความเข้าใจผิด เพราะตั้งแต่เปลี่ยนแปลง  24  มิถุนายน  2475  เป็นต้นมา ทหารปกครองประเทศเป็นส่วนมาก คณะทหารส่วนใหญ่เป็นคณะทหารหัวหน้าใหญ่ก็เป็นทหาร คือ พระยาพหลฯ  และหลวงพิบูลฯ  คณะรัฐประหาร พล.ท.ผิน พ.อ.เผ่า ก็เป็นทหาร คณะปฏิวัติ จอมพลสฤษดิ์ จอมพลถนอม  ก็เป็นทหารทั้งสิ้นฯลฯ  จากข้อเท็จจริงนี้ ใครพูดเชิงยุทธศาสตร์ว่า นี่คือ การเมืองนำการทหาร ก็ต้องเชื่อ

             คณะทหารเป็นพรรคการเมืองตามธรรมชาติ พระยาพหลฯเป็นหัวหน้าพรรค  “ หัวหน้าพรรคคือนักการเมือง ” เพราะพรรคการเมืองนั้นเมื่อมีใครมาเป็นหัวหน้าพรรคหรือเป็นกรรมการย่อมเป็นนักการเมือง ถึงจะเป็นทหารก็เป็น “ ทหารนักการเมือง ”  แต่จริงๆ จอมพล ป.  จอมพลสฤษดิ์  จอมพลถนอม  ฯลฯ  ซึ่งเป็นนักการเมืองทหารทั้งสิ้น  และก็เช่นเดียวกับหัวหน้าพรรค นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีที่เป็นนักการเมืองพ่อค้าบ้าง  นักการเมืองนักธุรกิจบ้าง นักการเมืองนายแบ็งค์บ้าง นักการเมืองเทคโนแครตบ้าง  ฯลฯ  ก็เป็นนักการเมืองด้วยกันทั้งนั้น

             พรรคที่ครองอำนาจ ย่อมจะควบคุมกองทัพ แม้แต่พรรคที่ไม่ได้ครองอำนาจ ก็มีส่วนควบคุมกองทัพ เพื่อให้กองทัพปฏิบัติตามนโยบายของพรรคให้ดีที่สุด คณะราษฎร หรือ พรรคราษฎร (People’s party) เมื่อได้อำนาจแล้ว ก็ควบคุมกองทัพอย่างเต็มที่ โดยให้หัวหน้าพรรค คือ พระยาพหลฯ เป็น ผบ.ทบ. และผู้นำของคณะราษฎรคนอื่นๆ ก็มีตำแหน่งผู้บัญชาการทหาร อีกหลายคน  พรรคอื่นๆ เช่น คณะรัฐประหาร คณะปฏิวัติ ฯลฯ ก็ทำเช่นเดียวกัน  เพื่อทำให้กองทัพปฏิบัติตามนโยบายของพรรคอย่างเต็มที่ การที่พรรคควบคุมกองทัพ และกองทัพปฏิบัติตามนโยบายพรรค นั่นแหละ คือ การเมืองนำการทหาร เพราะการเมืองอยู่ที่พรรค การทหารอยู่ที่กองทัพ

             ไม่ว่า คณะราษฎรครองอำนาจ หรือ คณะรัฐประหารครองอำนาจ หรือ คณะปฏิวัติครองอำนาจ ฯลฯ ไม่ว่าพระยาพหลฯ เป็นนายกฯ หรือจอมพล ป.เป็นนายกฯ  หรือจอมพลสฤษดิ์เป็นนายกฯ หรือจอมพลถนอมเป็นนายกฯ ฯลฯ ล้วนแต่พรรคควบคุมกองทัพทั้งสิ้น คือ ล้วนแต่กองทัพจะต้องปฏิบัติตามนโยบายของพรรคทั้งสิ้น  จึงล้วนแต่เป็น การเมืองนำการทหารไม่ใช่การทหารนำการเมือง ทั้งสิ้น

             มักเข้าใจกันว่า เมื่อคณะราษฎรครองอำนาจ พระยาพหลฯ เป็นนายกฯ  และจอมพล ป. เป็นนายกฯ จอมพลผินเป็นรองนายกฯ เมื่อคณะปฏิวัติครองอำนาจ จอมพลสฤษดิ์เป็นนายกฯ  จอมพลถนอมเป็นนายกฯ  ฯลฯ  เหล่านี้ คือ การทหารนำการเมือง  ก็เมื่อกองทัพอยู่ภายใต้ความควบคุมของพรรคเหล่านี้  โดยทางหัวหน้าพรรคและสมาชิกพรรค ซึ่งเป็นนายกฯบ้าง เป็นรัฐมนตรีบ้าง หรืออยู่ในตำแหน่งราชการต่างๆ  รวมทั้งตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบ้าง  และกองทัพต้องปฏิบัติตามนโยบายของพรรคเหล่านี้  สิ่งเหล่านี้ คือ การเมืองนำการทหาร  คอมมิวนิสต์ก็มีการเมืองนำการทหาร คือ กองทัพแดงขึ้นต่อนโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์จีน หลิวเปียวพยายามเสนอการทหารนำการเมือง ในฐานะรมว.กลาโหมจีน ก็พังไปในท้ายที่สุด 

             ดังนั้น ไม่ว่าลัทธิเผด็จการ ลัทธิประชาธิปไตย และลัทธิคอมมิวนิสต์ มีความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองกับการทหารเป็นอย่างเดียวกัน ทั้งสิ้น  คือ การเมืองนำการทหาร ไม่ว่ารูปรัฐบาลจะเป็นทหารหรือพลเรือนก็ตาม ใช่ว่า เมื่อรูปรัฐบาลเป็นทหารจะทำให้การทหารนำการเมืองไปเสีย ก็หาไม่

             เหล่านี้  คือ เครื่องแสดงให้เห็นว่า  66/33  นั้นไม่ใช่นโยบาย หรือยุทธศาสตร์  “การเมืองนำการทหาร” ในเมื่อการเมืองนำการทหารอยู่แล้ว  และการเมืองนำการทหารนั้นเป็น “ ความจริงแท้ ” (Reality) จะเป็นนโยบาย (Policy) หรือยุทธศาสตร์ (Strategy) ได้อย่างไร

             แล้ว  66/23  คืออะไร?
 
            นโยบาย  66/23 คือ การใช้มาตรการทางการเมืองเป็นหลัก โดยใช้มาตรการทางการใช้กำลัง  มาตรการทางการปราบปรามและมาตรการทางกฎหมาย เป็นส่วนประกอบ  ซึ่งก็เป็นการเมืองนำการทหารอยู่ในตัว นั่นเอง

             การทหารกับการเมือง เป็นของคู่กัน แยกออกจากกันไม่ได้ ดังกฎเกณฑ์ที่ว่า  “ การทหารอยู่ที่กองทัพ การเมืองอยู่ที่พรรค ” (พรรคในที่นี้ คือ พรรคตามธรรมชาติ  มิได้หมายถึง พรรคตามกฎหมายเท่านั้น)  แต่ทหารมีภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์ คือ รักษาความมั่นคงของชาติ รักษาเอกราชและอธิปไตย รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์  รักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐ  และเพื่อพัฒนาประเทศ  เป็นต้น

             การเมืองของชาติ คือ การเมืองของทหาร คือ รักษาเอกราชของชาติและสร้างประชาธิปไตย กล่าวคือ ภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์ของทหารทั้งปวงจะสำเร็จได้ ต้องขึ้นต่อการเมือง เช่น ใช้การเมืองรักษาความมั่นคงของชาติ คือ ใช้ประชาธิปไตยรักษาความมั่นคงของชาติ ดังนั้น ยุทธศาสตร์การทหารย่อมขึ้นต่อยุทธศาสตร์การเมือง ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์การเมืองของชาติ คือ เอกราชและประชาธิปไตย เพราะกองทัพเป็นของชาติหรือของประชาชน มิใช่เป็นของบุคคลหรือของเอกชน รัฐ (State) คือ ชุมชนที่เป็นการเมือง มีการจัดตั้ง ประกอบด้วย ดินแดน อธิปไตย กองทัพ รัฐบาล ประชาชน

             กองทัพเป็นกลไกหลักแห่งรัฐ  (Principle State Machine) กองทัพจึงเป็นกำลังซึ่งเป็นฐานของอำนาจ เมื่อใดที่ฝ่ายการเมือง คือ พรรคไม่บริหารราชการแผ่นดินเพื่อความมั่นคงของสถาบันสำคัญของชาติ ซึ่งถือเอาความมั่นคงแห่งชาติเป็นกฎหมายสูงสุด(Supreme Law) กองทัพซึ่งเป็นกำลังจริง จึงใช้กำลังเข้ายึดกุมอำนาจ หรือรัฐประหารจากพรรคการเมือง เพื่อรักษาความมั่นคงแห่งชาติ และถ้าประเทศยังไม่เป็นประชาธิปไตย กองทัพทำการรัฐประหารเพราะเป็นพรรคตามธรรมชาติต้องใช้อำนาจสร้างประชาธิปไตยยกเลิกเผด็จการ แต่คณะรัฐประหารของไทยใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือสร้างประชาธิปไตย โดยไม่ใช้นโยบายสร้างประชาธิปไตย จึงไม่ได้ประชาธิปไตยได้แต่รัฐธรรมนูญ แต่เมื่อกองทัพได้ใช้นโยบาย  66/23  เข้าต่อสู้เอาชนะคอมมิวนิสต์ ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ เพราะพรรคการเมืองที่เป็นพรรคของคนส่วนน้อย ที่เป็นเจ้าของระบอบเผด็จการรัฐสภาพ่ายแพ้ต่อคอมมิวนิสต์ จึงยุติการใช้นโยบายของพรรคคนส่วนน้อยที่เป็นนโยบายเผด็จการ หันมาใช้นโยบาย  66/23 ที่เป็นประชาธิปไตย ตามหลักยุทธศาสตร์ที่ว่า “ เผด็จการแพ้คอมมิวนิสต์ คอมมิวนิสต์แพ้ประชาธิปไตย ” กองทัพจึงสามารถยุติสงครามกลางเมืองลงได้อย่างงดงาม นำความมั่นคงแห่งชาติกลับมาได้อีกครั้งหนึ่ง นั่นคือ เปลี่ยนสถานการณ์ประเทศ จาก “ สถานการณ์สงคราม เป็นสถานการณ์สันติภาพ ” ตามนโยบาย 66/23 ขั้นตอนที่ 1 คือ สร้างประชาธิปไตยระดับต่ำ ด้วยการขยายเสรีภาพของบุคคลระดับหนึ่ง และมุ่งสู่ยุทธศาสตร์ขั้นตอนที่ 2 คือ สร้างประชาธิปไตยระดับสูง ด้วยการทำให้อธิปไตยเป็นของปวงชน บุคคลมีเสรีภาพบริบูรณ์ บรรลุการปกครองแบบประชาธิปไตยที่แท้จริงตามแนวทางพระมหากษัตริย์ ร. 5 ร.6 และ ร. 7  แต่ติดขัดอุปสรรคทางความคิด ที่ยังแก้ไม่ตก เป็นปัญหาที่สำคัญที่สุด จึงไม่สามารถปฏิบัตินโยบาย 66/23 ขั้นตอนที่ 2 ขั้นตอนสุดท้ายได้โดยกองทัพ  ต้องยกระดับขึ้นสู่รัฐบาล สร้างประชาธิปไตย โดยจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติหรือรัฐบาลเฉพาะกาล เพราะรัฐบาลประจำการธรรมดา ไม่เข้มแข็งเพียงพอ จะต้องมีรัฐบาลของการปกครองชนิดพิเศษ คือ  การปกครองเฉพาะกาล (Provisional Government)  เพื่อปฏิบัติภารกิจระยะเปลี่ยนผ่านประเทศไทย จากระบอบเผด็จการทุกรูปแบบไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ตามหลักวิชา โดยกองทัพเป็นกำลังหลัก ช่วยเป็นฐานของอำนาจที่ใช้สร้างประชาธิปไตย   ถ้าปราศจากการเป็นกำลังสนับสนุนของกองทัพให้แก่รัฐบาลสร้างประชาธิปไตยแล้ว  ย่อมไม่ประสบความสำเร็จอย่างสิ้นเชิง และกองทัพจะสามารถทำหน้าที่เป็นกำลังสนับสนุนอำนาจรัฐบาลให้สร้างประชาธิปไตยได้สำเร็จ จะต้องมีความรู้ประชาธิปไตยเป็นอย่างดี ดังนั้นจะต้องยกระดับจาก “ทหารประชาธิปไตย” “ขึ้นสู่” “กองทัพประชาธิปไตย” กล่าวคือ ทหารประชาธิปไตยปฏิบัตินโยบาย 66/23 ขั้นตอนที่ 1 กองทัพประชาธิปไตยปฏิบัตินโยบาย 66/23 ขั้นตอนที่ 2  เพราะทหารประชาธิปไตยยังเป็นเพียงบุคคลไม่กี่คน แต่กองทัพประชาธิปไตย หมายถึง สถาบันกองทัพทั้งหมด  เป็นไปตามกฎเกณฑ์สร้างประชาธิปไตยสากลทั่วโลก ที่ว่า  “ผู้สร้างประชาธิปไตยได้มี 3 สถาบัน คือ สถาบันพระมหากษัตริย์ สถาบันกองทัพ และสถาบันพรรคการเมือง

          กองทัพ มีหน้าที่และภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์ ในการรักษาความมั่นคงแห่งชาติ อันประกอบด้วย สถาบันชาติ สถาบันศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามความหมายของชาติ (Nation) คือ มีดินแดนร่วมกัน มีการเมืองร่วมกัน มีเศรษฐกิจร่วมกัน มีภาษา-วัฒนธรรมร่วมกัน และในความมั่นคงแห่งชาติ มีความมั่นคงแห่งรัฐ (State) ประกอบอยู่ด้วยกัน คือ ดินแดน อธิปไตย กองทัพ รัฐบาล ประชาชน
 
          ดังที่กล่าวแล้วว่า  ยุทธศาสตร์ทางการทหารขึ้นต่อยุทธศาสตร์ทางการเมืองนั่นคือ การรักษาความมั่นคงของชาติ จะต้องรักษาด้วยการเมือง ในปัจจุบัน คือ ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งตรงข้ามกับระบอบเผด็จการทุกรูป ที่ล้วนทำลายความมั่นคงแห่งชาติทั้งสิ้น ดังนั้น กองทัพจะต้องนำการเมืองระบอบประชาธิปไตยหรือลัทธิประชาธิปไตยโดยที่ประยุกต์เป็นรูปธรรมแล้ว คือ นโยบายไปรักษาความมั่นคงแห่งชาติ โดยการสร้างประชาธิปไตย คือ เริ่มต้นด้วยการยกเลิกระบอบเผด็จการ แล้วสร้างระบอบประชาธิปไตย  รูปธรรม คือ “ ยกเลิกอำนาจอธิปไตยของคนส่วนน้อย  สร้างอำนาจอธิปไตยของปวงชน ”  โดยทำให้รัฐบาลมีนโยบายสะท้อนผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง และทำให้รัฐสภามีผู้แทน ที่มีลักษณะผู้แทนของปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริง อันเป็น “ มรรควิธีของการปกครอง ” (Method of Government) ของการปกครองแบบประชาธิปไตย ที่แท้จริง ซึ่งมีอยู่ในนโยบาย 66/23 ทั้งสิ้น นั่นเอง แต่ทหารส่วนใหญ่ยุคหลัง ยังไม่รู้ จึงทำให้กองทัพไม่มีบทบาทด้านประชาธิปไตย กลับถูกโจมตีว่าเป็นเผด็จการรัฐประหาร เสื่อมเสียสถาบัน เพราะที่ผ่านมาทำรัฐประหารแบบเผด็จการ ไม่ใด้ทำรัฐประหารแบบประชาธิปไตย กล่าวคือ ทำรัฐประหารเพื่อสร้างรัฐธรรมนูญโดยกฎหมาย ไม่ใช่ทำรัฐประหารเพื่อสร้างประชาธิปไตยโดยนโยบาย

          บทบาทของกองทัพ เป็นบทบาทชี้ขาดต่อการรักษาความมั่นคงของชาติ และความมั่นคงแห่งชาติ เกิดด้วยระบอบประชาธิปไตย และถูกทำลายด้วยระบอบเผด็จการทุกรูป ถ้าอยากจะหยุดภัยต่อความมั่นคงแห่งชาติ ต้องยกเลิกระบอบเผด็จการทุกรูป  ถ้าอยากจะสถาปนาความมั่นคงแห่งชาติ จะต้องสร้างระบอบประชาธิปไตยเท่านั้นมาตรการอื่นๆไม่มี นี่คือ ความสัมพันธ์ภายใน ระหว่างความมั่นคงแห่งชาติกับประชาธิปไตย ที่ยังมองไม่เห็น ความรู้ความสัมพันธ์ภายในนี้ คือ วิชา เพราะวิชา คือ  “ ภาพสะท้อนความสมพันธ์ภายในของสรรพสิ่งและปรากฏการณ์ ” ดังนั้น จะต้องพิจารณา ปัญหายุทธศาสตร์การทหารสัมพันธ์กับยุทธศาสตร์ทางการเมือง ตามความเป็นจริง หรือ ตามหลักวิชา อันมาจากความจริงแท้ (Reality) จะพิจารณาปัญหาอย่างเป็นเอกเทศ ระหว่างการทหารกับการเมืองไม่ได้ ฝ่ายเผด็จการพยายามที่จะแยกการทหารออกจากการเมือง เพื่อฝ่ายเผด็จการจะได้ผูกขาด ยึดกุมการเมืองไว้ในกำมือของตนเอง และพรรคพวก เท่านั้น และเพื่อทำลายกองทัพให้อ่อนแอ  เพราะถ้ากองทัพมีการเมืองของตนเองที่เป็นประชาธิปไตย กองทัพก็จะเข้มแข็ง ยืนอยู่ข้างประเทศชาติประชาชน ตรงข้ามกับฝ่ายเผด็จการ ทำให้เผด็จการดำรงอยู่ไม่ได้ เช่น หลอกให้เป็น  “ ทหารอาชีพ ” คือ มีอาชีพเป็นทหารอย่างเดียว แต่มิได้เป็น “ทหารมืออาชีพ” ที่รู้การเมืองเรื่องประชาธิปไตยอย่างดี เผด็จการจะเข้ามาครองงำ หรือใช้กองทัพเป็นเครื่องมือ เป็นเผด็จการต่อประชาชน หรือใช้ทหารให้รักษาอำนาจไว้ให้อยู่ในกำมือเผด็จการตลอดไป ซึ่งโดยแท้จริงแล้ว คำนิยามทหารที่ถูกต้อง คือ “ทหาร คือ ผู้ถืออาวุธที่ดำเนินงานทางการเมือง เพื่อรักษาความมั่นคงแห่งชาติ และพัฒนาประเทศ”  โดยจะสอดคล้องกับฝ่ายการเมือง คือ รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย ก็จะมีนโยบายประชาธิปไตย รัฐบาลที่มีนโยบายประชาธิปไตยจะบริหารราชแผ่นดินให้กลไกรัฐโดยเฉพาะกองทัพซึ่งเป็นกลไกหลักของรัฐบาลใช้นโยบายของรัฐบาล กองทัพก็สามารถปฏิบัตินโยบายของรัฐบาลได้ เพราะเป็นประชาธิปไตยซึ่งตรงกับการเมืองของประเทศ ที่กองทัพยึดถือปฏิบัติอยู่ คือ เอกราชและประชาธิปไตย แต่ถ้ารัฐบาลมีนโยบายเผด็จการ ตรงข้ามกับการเมืองของประเทศ ที่กองทัพรับผิดชอบอยู่ กองทัพก็จะปฏิเสธนโยบายของรัฐบาลนั้นเสีย  และผลักดันให้รัฐบาลยุตินโยบายเผด็จการ และเปลี่ยนเป็นนโยบายประชาธิปไตย ถ้ารัฐบาลไม่ยินยอม กองทัพก็จำเป็นจะต้องปฏิบัติการเมืองของประเทศ คือ รักษาเอกราชและสร้างหรือรักษาประชาธิปไตย ยกเลิกระบอบเผด็จการ ตามอำนาจที่กองทัพมีอยู่ ตามกฎหมายสูงสุด (Supreme  Law)  แห่งหลักนิติธรรม “ความมั่นคงแห่งชาติเป็นกฎหมายสูงสุด” ไม่ใช่กฎหมายรัฐธรรมนูญ  เพราะกฎหมายรัฐธรรมนูญ คือ กฎหมายหลัก (Principle Law) หรือ กฎหมายแม่บท (Fundamental Law) อ.ปรีดี  พนมยงค์ ผู้นำทางความคิด เจ้าลัทธิรัฐธรรมนูญ กล่าวไว้ว่า “รัฐธรรมนูญ คือ กฎหมายแม่บทสูงสุด” แต่ต่อมาคำว่า “แม่บท” ถูกตัดออกไปเหลือแต่ “รัฐธรรมนูญ คือ กฎหมายสูงสุด”  และใช้ผิดมาจนกระทั่งบัดนี้

            กองทัพ ต้องเป็นหลักของชาติบ้านเมือง  เพราะเป็นกลไกหลักของรัฐ  (Principle State Machine)  มีหน้าที่รักษาความมั่นคงแห่งชาติ และรักษาความมั่นคงแห่งรัฐ ความดำรงอยู่ของรัฐ (State) คือ สิ่งสำคัญสูงสุด เป็นกฎหมายสูงสุดอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ  ถ้ารัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินปกติ ไม่ไปทำลายความมั่นคงแห่งรัฐแล้ว กองทัพก็ต้องขึ้นต่อนโยบายของรัฐบาล ฟังคำสั่งของรัฐบาล แต่ถ้ารัฐบาลบริหารงานและไปกระทบความมั่นคงของรัฐที่กองทัพทำการรับผิดชอบอยู่ กองทัพก็จะพลิกกลับขึ้นมาเหนือรัฐบาลได้อย่างเป็นไปเอง เพราะมีหน้าที่ต่างกัน  “ ทหารรักษารัฐ รัฐบาลบริหารรัฐ ” นั่นคือ ทหารเป็นใหญ่ด้านการรักษาความมั่นคงของรัฐ แต่รัฐบาลเป็นใหญ่ด้านการบริหารของรัฐ กองทัพเปลี่ยนไม่ได้ต้องอยู่คู่กับรัฐตลอดไป  แต่รัฐบาลต้องผลัดเปลี่ยนไปตลอด ถ้ากองทัพเปลี่ยน รัฐก็ล่มสลาย ถ้ารัฐบาลไม่เปลี่ยน ก็เป็นเผด็จการ รัฐก็ล่มจม

            เหมาเจ๋อตุง  ผู้ก่อตั้งกองทัพแดง ได้กำหนดไว้ถูกต้องว่า “ อำนาจรัฐเกิดจากปลายกระบอกปืน ” และ “ ถ้ามีการเมืองถูก มีทหารคนเดียว เหมือนมีทหารทั้งกองทัพแต่ถ้ามีการเมืองผิด แม้มีทหารทั้งกองทัพ ก็เหมือนไม่มีทหารสักคน”

            กองทัพสหรัฐอเมริกา สนับสนุนรัฐบาลสร้างประชาธิปไตย รักษาความมั่นคงแห่งชาติตลอดมา จึงทำให้ชาติสหรัฐเป็นมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่  เพราะสหรัฐเป็นระบอบประชาธิปไตย กองทัพจึงไม่สามารถทำรัฐประหารได้ ทุกรัฐบาลที่ขึ้นมาบริหารระบอบประชาธิปไตย ก็จะมีนโยบายประชาธิปไตย คือ รักษาผลประโยชน์ของชาติและประชาชนของอเมริกา กองทัพก็จะปฏิบัติตามนโยบายประชาธิปไตยของรัฐบาล

           กองทัพไทย ซึ่งต้องยกระดับขึ้นเป็น “ กองทัพประชาธิปไตย” ดำเนินตามการเมืองของประเทศ คือ เอกราชและประชาธิปไตย ไม่ยอมรับนโยบายของรัฐบาลของระบอบเผด็จการ แต่ยอมรับนโยบายของรัฐบาลของระบอบประชาธิปไตย ร่วมสร้างประชาธิปไตยให้แล้วเสร็จ 

           การพัฒนากองทัพไทยให้เป็นทหารอาชีพและมีความพร้อมรบนั้น จะต้องพัฒนากองทัพให้เป็นประชาธิปไตย คือ ยกระดับจาก “ทหารประชาธิปไตย ” ตามนโยบาย 66/23 ขั้นตอนที่ 1ขึ้นสู่ “ กองทัพประชาธิปไตย ” เพื่อปฏิบัตินโยบาย 66/23 ขั้นตอนที่ 2 คือ สร้างประชาธิปไตยระดับสูง โดยทำการ “ปฏิรูปประชาธิปไตยกองทัพไทย”  (Royal Thai Armed Forced Democratic Reform) ที่เรียกว่า “ยุทธศาสตร์จิ๋วแต่แจ๋ว” นั่นเอง โดยรูปธรรม คือ “ลดด้านปริมาณเพิ่มด้านคุณภาพ” และ “ลดด้านความคิดใหญ่เผด็จการ สู่เพิ่มความคิดเสมอภาคประชาธิปไตย”

             “ความเป็นทหารมืออาชีพ” คือ เป็นทหารรักษาความมั่นคงแห่งชาติอย่างมืออาชีพ หรือ เป็นทหารทำการเมืองของชาติ คือ เอกราชและประชาธิปไตยอย่างมืออาชีพ คือ  มีความรู้อย่างลึกซึ้งและแหลมคมแจ่มชัดจัดเจน  มีการปฏิบัติให้สำเร็จในนโยบายอย่างช่ำชองชำนาญขั้นศิลปศาสตร์แห่งสงคราม อันเป็นยุทธศาสตร์ (Art of war ) ซึ่งแตกต่างจากคำว่า ทหารอาชีพ (Soldier Walk of  Life) ซึ่งหมายความว่า “ประกอบอาชีพเป็นทหาร” หรือ ทำมาหาเลี้ยงอาชีพด้วยการเป็นทหาร ต่างกันอย่างลิบลับกับ  “ทหารมืออาชีพ” (Professional Soldier) ที่ปฏิบัติหน้าที่และภารกิจอันสูงส่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยความรู้อย่างลึกซึ้ง เข้าถึงแจ่มชัด ปฏิบัติอย่างมีศิลปะขั้นสูง คือ ขั้นยุทธศาสตร์อันเป็นศิลปะศาสตร์แห่งสงคราม ที่จะต้องทำให้ชนะสถานเดียว แพ้ไม่ได้เป็นอันขาด  ดังนั้น จะต้องเลิกคิดเป็น “ทหารอาชีพ” หันมายกระดับขึ้นเป็น “ทหารมืออาชีพ” กันโดยเร็วที่สุดจะดีกว่า คือ “รุกทางการเมือง รบทางการทหาร  เอาชนะข้าศึก” ไม่ใช่รบเป็นอย่างเดียว แต่รุกทางการเมืองไม่เป็น คำตอบ คือ แพ้อย่างเดียว เพราะยุทธศาสตร์ทางการทหารขึ้นต่อยุทธศาสตร์ทางการเมือง กล่าวเป็นรูปธรรม คือ “รบให้ชนะ คือยุทธศาสตร์ทางทหาร เพื่อไปสู่รุกทางการเมืองให้ได้ประชาธิปไตย คือ ยุทธศาสตร์ทางการเมือง”  นั่นเอง
            ความเข้าใจผิด ต่อสถานการณ์ของประเทศชาติ เช่น สถานการณ์ประเทศเป็นสถานการณ์ของระบอบเผด็จการรัฐสภา  แต่เข้าใจผิดต่อสถานการณ์ว่าเป็นระบอบประชาธิปไตย  ความจริงเป็นระบอบเผด็จการรัฐสภา ไม่ใช่ประชาธิปไตย  จะต้องอธิบายว่าคอมมิวนิสต์คืออะไร  ประชาธิปไตยคืออะไร และเผด็จการคืออะไร  เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์และเผด็จการต่างๆ  นำไปสู่การสร้างประชาธิปไตย ให้สำเร็จ 

            การอธิบายเพื่อแยก “ รัฐธรรมนูญออกจากประชาธิปไตย ”  เหมือนกับการแยก  “ ตัณหาออกจากจิตใจ ”  ของพระพุทธเจ้า  ทำให้จิตใจมีพลังเจริญพัฒนาเป็นอิสระพ้นทุกข์  การอธิบายเพื่อแยกรัฐธรรมนูญออกจากประชาธิปไตย เพื่อทำให้ประชาธิปไตยมีพลังเกิดขึ้น หลุดพ้นจากการครอบงำจากมิจฉาทิฏฐิของลัทธิรัฐธรรมนูญ  คือ  ให้เกิดประชาธิปไตยก่อนแล้วจึงมีรัฐธรรมนูญมาเป็นส่วนประกอบของประชาธิปไตย  แต่ถ้าแยกรัฐธรรมนูญออกจากประชาธิปไตยไม่ได้  จะเกิดรัฐธรรมนูญก่อนส่วนประชาธิปไตยจะเป็นส่วนประกอบของรัฐธรรมนูญ  คือมีวิธีการประชาธิปไตยในรัฐสภา แต่เป็นเผด็จการในการปกครองประเทศ  “ รัฐธรรมนูญครอบงำประชาธิปไตย ” รัฐธรรมนูญหมายถึง ลัทธิ(Doctrine) ไม่ใช่กฎหมาย (Principle Law) ลัทธิรัฐธรรมนูญ คือ ลัทธิเผด็จการ นั่นคือ ลัทธิเผด็จการครอบงำประชาธิปไตย สรุปคือ เป็นเผด็จการ นั่นเอง

            การแยกรัฐธรรมนูญออกจากประชาธิปไตย  เช่นเดียวกับ อัลเบิร์ต  ไอน์สไตน์  นักวิทยาศาสตร์เอกของโลก ค้นพบทฤษฎีสัมพันธภาพ (Relativity Theory) “ E = MC2  ”  การเปลี่ยนสสาร  (Mass) ให้เป็นพลังงาน (Energy) คือ กระบวนการแยกพลังงานออกจากสสาร นั่นเอง  เพราะสสารครอบงำพลังงานอยู่  จึงแยกออกจากกันด้วยการเพิ่มพลังงานในรูปของประจุไฟฟ้าเข้าไปในนิวเคลียสของอะตอม  (Atom) จึงทำลายรูปของกระจุไฟฟ้าที่ครอบงำอยู่  พลังงานจึงถูกปลดปล่อยเกิดเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ (Fusion)  เกิดพลังงานอันมหาศาล  เช่นเดียวกับพลังประชาธิปไตยที่ถูกลัทธิรัฐธรรมนูญครอบงำไว้ยาวนานกว่า  77 ปี  สะสมพลังมายาวนานเกิดปรากฏให้เห็น  เช่น  เหตุการณ์ 14  ตุลา และ พฤษภาทมิฬ ฯลฯ   แต่ยังถูกครอบงำไว้ด้วยลัทธิรัฐธรรมนูญพลังประชาธิปไตยนี้จึงยังไม่เกิดเป็นพลังอันกว้างใหญ่ไพศาล ทำลายเผด็จการทุกชนิดลงได้  ประหนึ่งปลูกต้นไม้ไว้ในกระถาง  หรือเพาะต้นไม้ในขวด นั่นเอง  จึงกล่าวได้ว่า  “ ประชาธิปไตยไทยเหมือนเพาะต้นไม้ในขวด ”  หรือ ปลูกต้นไม้ในกระถาง  นั่นคือ สร้างประชาธิปไตยในรัฐธรรมนูญ  นั่นเอง

           สถาบันพระมหากษัตริย์มีความสำคัญต่อการดำรงความเป็นชาติ  และต่อด้านการเมือง  เศรษฐกิจ  และสังคมอย่างไรในสภาวะปัจจุบันและอนาคต
การตั้งคำถามดังกล่าว เป็นการตั้งคำถามที่ถูกต้อง  แต่ขาดไปในส่วนที่เป็นจุดเริ่มต้น  คือ  ประวัติศาสตร์ หรือ อดีตกาล  ถ้าไม่เข้าใจว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ในอดีต มีความสำคัญต่อการดำรงความเป็นชาติอย่างไร  ก็คงไม่รู้ปัจจุบันและอนาคตได้  เช่น  เราศึกษาประชาธิปไตยแต่เฉพาะหลังเหตุการณ์  24  มิถุนายน 2475  ลงมาจนถึงปัจจุบันเท่านั้น  เป็นเหตุให้เราไม่รู้จักประชาธิปไตย ยิ่งกว่านั้น มีความเข้าใจผิดมิจฉาทิฏฐิ  หรือมีทฤษฎีผิดต่อประชาธิปไตยชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ หรือเห็นกงจักรเป็นดอกบัว หรือเห็นเผด็จการรัฐสภาเป็นประชาธิปไตย เลยทีเดียว  ถ้าเราศึกษาประชาธิปไตยตั้งแต่  ก่อนพุทธศักราช 2475  ขึ้นไป ก็จะรู้ว่า  “ สถาบันพระมหากษัตริย์ 3 รัชกาล สร้างประชาธิปไตยอย่างถูกต้อง อย่างไรบ้าง ”  และจะรู้ถูกว่าระบอบการปกครองหลังพุทธศักราช 2475 นั้น ไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่เป็นเผด็จการรัฐสภา

           สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยนั้น  ได้ทรงเริ่มก่อตั้งชาติในระหว่างยุคประวัติศาสตร์สมัยโบราณกับยุคสมัยกลาง ในนามของอาณาจักรสุโขทัย  โดยทรงอัญเชิญ ทศพิธราชธรรมจากพระพุทธเจ้า มาเป็น  “ หลักการของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ”  จึงเป็นหลักการของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ดีงามสูงส่งที่สุดในโลก ตลอดมาและตลอดไป  และที่สำคัญยิ่งทรงนำเอาทศพิธราชธรรมมาสถาปนาขึ้นเป็น  “หลักการปกครอง”  ของประเทศ (Principle of Government)   จึงทำให้เราดำรงความเป็นชาติมาได้จนกระทั่งบัดนี้ ไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศนักล่าอาณานิคมใดๆ เลย ในยุคประวัติศาสตร์สมัยใหม่   อาจจะมีการถูกพม่าข้าศึกแผ่กฤษฎานุภาพเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา 2 ครั้ง   แต่ก็กู้คืนได้อย่างรวดเร็ว   มิได้สูญเสียให้แก่พม่าข้าศึกอย่างสมบูรณ์แต่อย่างใด ในยุคสมัยกลาง   สถาบันพระมหากษัตริย์ยังคงมีความสำคัญชี้ขาดต่อการดำรงความเป็นชาติ ตลอดมา
ในยุคประวัติศาสตร์สมัยใหม่  (Modern  History) โลกตะวันตกได้ก้าวขึ้นสู่ยุคประวัติศาสตร์สมัยใหม่  ด้วยการเปลี่ยนเป็นระบบเศรษฐกิจเสรีนิยม  และเปลี่ยนเป็นระบอบประชาธิปไตยในทางการเมือง  เมื่อประมาณ  150 – 300 ปี ที่ผ่านมา  จึงเกิดความเจริญรุ่งเรืองศิวิไลซ์ กลายเป็นประเทศมหาอำนาจ  บังเกิดเป็นกระแสโลก ผลักดันให้ทั้งโลกต้องเปลี่ยนประเทศจากชาติสมัยเก่าขึ้นสู่ชาติสมัยใหม่ (Nation)  ด้วยการยกเลิกระบบเศรษฐกิจฟิวดัลแบบเก่ามาเป็นระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมแบบใหม่  และยกเลิกระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ในทางวิชาการเรียกว่า
 
          “ ปฏิวัติประชาธิปไตย ”(Democratic Revolution)  หรือเรียกคำธรรมดาว่า “การสร้างประชาธิปไตย”  เพื่อให้เป็นสังคมประชาธิปไตยที่เจริญศิวิไลซ์ไม่ล้าหลังป่าเถื่อน  แต่ถ้าประเทศใดไม่เปลี่ยนแปลงให้ก้าวหน้าทันสมัยดังกล่าว   ก็จะถูกยึดเมืองโดยประเทศที่ล่าอาณานิคม ตกเป็นเมืองขึ้นสูญเสียอธิปไตยของชาติ
สถาบันพระมหากษัตริย์ โดยสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ร. 5  ทรงมีพระปรีชาญาณอันยิ่งยวด ทรงต่อสู้เอาชนะภัยจากลัทธิล่า อาณานิคมได้สำเร็จ โดยทรงสร้างประชาธิปไตยระดับฐานรากได้ในขั้นตอนที่ 1 เริ่มด้วยมาตรการแรกที่สุดของการสร้างประชาธิปไตย คือ ทรงเปลี่ยนประเทศจากรัฐฟิวดัลสมัยเก่ามาเป็นรัฐแห่งชาติสมัยใหม่   เปลี่ยนรูปการปกครองจากจตุสดมภ์มาเป็น กระทรวง ทบวง กรม  เปลี่ยนระบบเศรษฐกิจฟิวดัล ที่มีทาส  มาเป็นระบบเศรษฐกิจเสรีนิยม ที่มีเสรีชน ด้วยการเลิกทาส และตั้งอุตสาหกรรมโดยทรงตั้งรัฐวิสาหกิจเป็นหลักนำ และช่วยเหลือส่งเสริมวิสาหะกิจเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อความมั่นคงแห่งชาติ คือ ความเป็นอิสระทางเศรษฐกิจ พ้นจากการครอบงำของต่างชาติและต่างด้าว  และทรงปฏิรูปการศึกษาสมัยใหม่ ทั้งการทหาร  ทั้งพลเรือน และพุทธศาสนา  เช่น  โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ  (จปร.)  ทรงนำประเทศไทยขึ้นสู่ความทันสมัย  (Modernization) ทรงต่อสู้ระดับสากล ตามนโยบายต่างประเทศที่เป็นอิสระของไทย ที่มีมาแต่บรรพบุรุษ ตามลักษณะพิเศษประจำชนชาติไทยอันสูงส่ง 3 ประการ คือ รักความเป็นไทย  (Love of Independence) อหิงสา (Non – Violent)  รู้จักประสานประโยชน์ (Power of Assimilation) โดยเสด็จประพาสยุโรป 2 ครั้ง ฯลฯ  แต่ทรงเสด็จสวรรคตเสียกลางคัน ขณะที่กำลังทรงสร้างประชาธิปไตยขั้นตอนที่ 2 แม้จะทรงสร้างประชาธิปไตยได้ในขั้นที่ 1 ก็มีผลอันใหญ่หลวงสามารถรักษาเอกราชของชาติไว้ได้
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงสืบทอดพระราชกรณียกิจสร้างประชาธิปไตยทางความคิดโดย  “ส่งเสริมให้มีความคิดชาตินิยมประชาธิปไตย” ให้มีเสรีภาพทางความคิด ให้การศึกษาประชาธิปไตย เช่น ตั้งนครจำลองประชาธิปไตย “ดุสิตธานี” ฯลฯ

           พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสืบทอดพระราชกรณียกิจสร้างประชาธิปไตยขั้นตอนสุดท้าย โดยมี “พระบรมราโชบายสถาปนาการปกครองแบบประชาธิปไตย”  เป็นเครื่องมือรูปธรรม  ทรงเตรียมโอนอำนาจของพระองค์สู่ประชาชนผ่านสภากรรมการองคมนตรี ที่เป็นการปกครองเฉพาะกาล  (Provisional Government)  ทรงเตรียมพระราชทานรัฐธรรมนูญเพื่อรักษาอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย  ในโอกาสวันฉลองกรุงเทพฯครบ  150 ปี  แต่ถูกทักท้วงโดยคนบางวงการ  ด้วยความเป็นนักประชาธิปไตยจึงทรงรับฟังและทบทวนแผนการให้ละเอียดรอบคอบ ณ พระราชวังไกลกังวล  หัวหิน  แต่ได้เกิดเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 ขึ้นเสียก่อน  พระบรมราโชบายสถาปนาการปกครองแบบประชาธิปไตย ตามรูปธรรมของมาตรการดังกล่าว จึงไม่ได้รับการปฏิบัติให้แล้วเสร็จ มาจนกระทั่งบัดนี้

           ดังนั้น  ความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่มีผลต่อการดำรงอยู่ของชาติและด้านการเมือง  เศรษฐกิจ  และสังคม วัฒนธรรม  โดยการสร้างประชาธิปไตยนั้น  จึงมีบทบาทยิ่ง ทั้งในอดีตที่ผ่านมา  และในปัจจุบัน รวมทั้งอนาคต  ดังเช่น กองทัพได้รับใส่เกล้าฯ ในพระบรมราโชบายสถาปนาการปกครองแบบประชาธิปไตย ของ ร.7  มาประยุกต์เข้ากับสถานการณ์สงครามกลางเมืองกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เป็นนโยบาย 66/23 คือ เอาประชาธิปไตยเข้าต่อสู้เอาชนะเผด็จการคอมมิวนิสต์  และเผด็จการรัฐสภาที่เป็นแนวร่วม  สามารถยุติสงครามปฏิวัติลงได้ และนำพาคนไทยที่เข้าร่วมกับ พคท. มาเข้าร่วมพัฒนาชาติไทย ด้วยประชาธิปไตยระดับสูง คือ ขยายเสรีภาพของบุคคล  ขยายอธิปไตยของปวงชน  เพื่อบรรลุการปกครองแบบประชาธิปไตย  นี่คือ ความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์  

           กล่าวโดยสรุป คือ  ความดำรงอยู่ของชาติและความเจริญของชาติในทุกด้าน ขึ้นอยู่กับพระบรมราโชบายสถาปนาการปกครองแบบประชาธิปไตยของสถาบันพระมหากษัตริย์ ว่าจะได้รับการปฏิบัติให้ปรากฏเป็นจริงขึ้นเมื่อใด  ดังเช่น ข้อเสนอการสร้างประชาธิปไตย โดยการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติหรือรัฐบาลเฉพาะกาล  ในสถานการณ์ปัจจุบัน  นั่นเอง

           ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันที่สถาบันพระมหากษัตริย์ถูกแรงกระทบจากการเมือง  ท่านเห็นว่าจะดำรงความเป็นสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ได้อย่างไรในปัจจุบันและอนาคต

           ก่อนอื่น ต้องเห็นให้ถูกต้องเสียก่อนว่า  การเมืองที่เป็นแรงกระทบต่อ                สถาบันพระมหากษัตริย์  รวมทั้งสถาบันชาติและศาสนา และแม้กระทั่งประชาชน นั้น  คือ  “ การเมืองระบอบเผด็จการรัฐสภา ”  ไม่ใช่การเมืองประชาธิปไตย และที่เป็นเช่นนี้เพราะพระบรมราโชบายสถาปนาการปกครองแบบประชาธิปไตยไม่ได้รับการปฏิบัติให้ปรากฏเป็นจริง  หรือกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมคือ  นโยบาย  66/23  ไม่ได้มีการปฏิบัติให้แล้วเสร็จ นั่นเอง
            ความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ทั่วโลก หรือความล่มสลายนั้นขึ้นอยู่กับประชาธิปไตย  คือ  จากประสบการณ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยกันทั่วโลกในอดีต  
            
            1) ถ้าสถาบันพระมหากษัตริย์ทรงสร้างประชาธิปไตยให้กับประเทศชาติประชาชนก็จะทำให้เกิดความมั่นคงแก่สถาบันอย่างยิ่งยวดยาวนานตลอดไป    
            2) ถ้าสถาบันพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ข้างฝ่ายขบวนการประชาธิปไตยในชาตินั้นๆ ก็จะมีความมั่นคงสถิตย์สถาพรตลอดไป
             
            แต่สถาบันใดไม่นำสร้างประชาธิปไตยและไปสังกัดอยู่ในขบวนการเผด็จการ  ต่อสู้กับขบวนการประชาธิปไตย  เมื่อขบวนการเผด็จการถูกโค่นล้มลงก็จะเป็นไปพร้อมกับขบวนการเผด็จการ  และถ้าคอมมิวนิสต์ขึ้นปกครองประเทศก็จะยกเลิกสถาบันฯ หรือสถาบันสละราชบัลลังก์เพราะระบอบคอมมิวนิสต์ไม่สอดคล้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์โดยสิ้นเชิง

            สำหรับประเทศไทย  สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยเป็นผู้นำของขบวนการประชาธิปไตยในประเทศมาตลอด  เช่น  ร. 5 ร. 6 และ  ร. 7  มิใช่เพียงสังกัดพรรคประชาธิปไตยเท่านั้น  แต่ได้เกิดเหตุการณ์  24 มิถุนายน  2475  ขึ้น  จึงทำให้บทบาทผู้นำสร้างประชาธิปไตย ถูกทำให้ยุติลงไปโดยอัตโนมัติ  แต่พระมหากษัตริย์ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญก็ยังคงความเป็นประชาธิปไตยตลอดมา ในฐานะประมุขแห่งรัฐช่วยคานและต่อสู้กับขบวนการเผด็จการตลอดมา  และทรงเป็นประมุขของปวงชน  มิใช่เป็นประมุขของคนส่วนน้อยที่เป็นเผด็จการ  คือ ทรงอยู่ฝ่ายประชาชนเสมอ  ท่ามกลางความชัดแย้งในชาติ  สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันแห่งความยุติธรรมทางการเมืองตลอดมา  ดังเช่น  เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ  ทรงรับสั่งให้  พลเอกสุจินดา  และพลตรีจำลอง เข้าเฝ้าและทรงรับสั่งให้ร่วมกันแก้ปัญหาสามัคคีกัน เป็นต้น
             หลังเหตุการณ์  14  ตุลาคม  2516  ทรงมีพระบรมราชโองการให้รัฐบาลสัญญาฯสร้างประชาธิปไตยว่า  “จัดให้มีการปกครองแบบประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับประเทศชาติ”

            สถาบันพระมหากษัตริย์นั้น เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของชาติที่แยกออกจากกันไม่ได้ ถ้าแยกก็ไม่เป็นชาติ  เมื่อสถาบันพระมหากษัตริย์ คือชาติ  ประชาชนทุกคนมีหน้าที่พิทักษ์รักษาชาติ  การพิทักษ์รักษาชาติ อันหมายรวมถึงสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น โดยการสร้างประชาธิปไตยตามพระบรมราโชบายสถาปนาการปกครองแบบประชาธิปไตย  เมื่อสร้างประชาธิปไตยแล้วการเมืองเผด็จการรัฐสภาที่กระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็จะถูกยกเลิกไป  จะไม่มีแรงกระทบอีกต่อไป  จะมีแต่การเมืองที่ส่งเสริมพิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์  คือ  ประชาธิปไตย  กระผมจึงได้ใช้การเมืองประชาธิปไตยตามพระบรมราโชบายเข้าต่อสู้ปัญหาเพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของชาติตลอดมา  เช่น  นโยบาย  66/23 และในรูปของรัฐบาลแห่งชาติและรัฐบาลเฉพาะกาล นั่นเอง

            ในอดีต กรมพระยาดำรงราชานุภาพและศาสตราจารย์ยอร์จ เซย์เดย์  นักมานุษยวิทยาได้ค้นพบ ลักษณะประชาชนชาติไทยอันสูงส่ง  3 ประการ คือ  รักความเป็นไท  อหิงสา รู้จักประสานประโยชน์  แต่ยังมองเห็นเพิ่มเติมว่า น่าจะมีอีก 1 ลักษณะ คือ “ความจงรักภักดี”
 
             อะไรคือ ความจงรักภักดี  (Royalty)   ชาวพุทธทุกคนล้วนแต่มีความจงรักภักดีต่อ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์  ทั้งสิ้น  เช่นเดียวกับ ชาวมุสลิมมีความจงรักภักดีต่อพระอัลเลาะห์  และชาวคริสต์มีความจงรักภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า (GOD)

             ศาสนาต่างๆ  มีหลักธรรมที่เป็นคุณธรรมอย่างยิ่งที่สูงส่งดีงาม  มนุษย์จึงมีความจงรักภักดีต่อพระพุทธเจ้า อัลเลาะห์ พระผู้เป็นเจ้า ผู้มีพระธรรมอันดีสูงส่งที่สุด  กล่าวคือ  จงรักภักดีต่อพระธรรม นั่นเอง

             สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยมี “ทศพิธราชธรรม” จากพระพุทธศาสนาเป็นหลักการของสถาบัน  เมื่อสถาบันพระมหากษัตริย์ได้นำเอาทศพิธราชธรรมสถาปนาขึ้นเป็นหลักการปกครอง จึงยังประโยชน์และความสุขแก่มหาชน  เช่นเดียวกับอุดมการณ์ของพระพุทธศาสนา จึงบังเกิดความจงรักภักดีขึ้นเองในหมู่พสกนิกร  อาณาประชาราษฏร์  สถาบันพระมหากษัตริย์ประเทศอื่นจะไม่ได้มีลักษณะความจงรักภักดี เพราะสถาบันในประเทศนั้นๆ  ไม่มีหลักทศพิธราชธรรมเป็นหลักการของสถาบันฯ

            ดังนั้น  ความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย คือ  ความจงรักภักดีต่อ  “ทศพิธราชธรรม”  อันเป็นหลักการ หรือสถาบันพระมหากษัตริย์ ในด้านบุคคลก็เป็นส่วนหนึ่งของสถาบัน เป็นผู้ปฏิบัติหลักการของสถาบัน นั่นเอง

            พระพุทธเจ้าทรงเทศนาสั่งสอนมนุษย์ไว้ว่า  “ให้ถือเคารพปฏิบัติหลักธรรมเป็นการบูชาอันสูงสุด”  คือ ปฏิบัติบูชา ที่เหนือกว่าอามิสบูชา หรือการบูชาทั้งปวง  ดังนั้น  ถ้าเรามีความจงรักภักดีที่แท้จริงและดีที่สุด  คือ  การปฏิบัติตามหลักการของสถาบันพระมหากษัตริย์ในอดีตสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช  คือ ทศพิธราชธรรมประการเดียว  ต่อมาขึ้นสู่ยุคประวัติศาสตร์สมัยใหม่  สถาบันพระมหากษัตริย์ได้ประยุกต์หลักทศพิธราชธรรมเป็นหลักการปกครองแบบใหม่ คือ “ประชาธิปไตย”  ตามพระบรมราโชบายฯ

            ฉะนั้น  การแสดงความจงรักภักดีแบบบูชา คือ  การปฏิบัติพระบรมราโชบายสถาปนาการปกครองแบบประชาธิปไตยให้ปรากฏเป็นจริง คือ สร้างประชาธิปไตยอย่างสันติ  อันเป็นการปฏิวัติสันติ (Peaceful Revolution) ตามหลักพุทธอหิงสา ตามที่มาจากหลักทศพิธราชธรรม นั่นเอง  
 
 
 
 
 
 
 
            ขอเจริญพร
  

   โทรศัพท์มือถือ  08 92851694 
 
                                         
                                                                                                                                         

 
                  
   
 
     
          
               
 
 
 
 
  
 
          

 
 
 
 
  
                            
  
  
  
  
  



Webboard is offline.