Revolutionary Press Agency : Online Journal and News Agency for Peace
สำนักสื่อปฏิวัติ  : วารสารข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
8 มิ.ย. 2554 กองหน้าประชาชนรุ่นใหม่ อนุสรณ์ สมอ่อน ตอบคำถามคาใจทำไมต้องปฏิวัติประชาธิปไตย? 
 
การสร้างความสามัคคีแห่งชาติ 
โดย พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ
 
 

 

 
            ปัญหาความสามัคคี คือ อุปสรรคขัดขวางเบื้องต้นที่สุดของการแก้ไขปัญหาชาติทั้งปวง  ด้วยเป็นที่ปรากฎอย่างชัดแจ้งแล้วว่า ปัญหาความสามัคคีแห่งชาติเป็นปัญหาเผชิญหน้า และปัญหาความขัดแย้งรูปธรรมสูงสุด คือ สงคราม (War) กล่าวคือ การพัฒนาประเทศชาติไม่อาจจะดำเนินไปได้เลย ถ้ายังไม่แก้ปัญหาความขัดแย้ง หรือ สงคราม 

            ดังนั้น การแก้ปัญหาชาติเพื่อพัฒนาประเทศ ต้องแก้ปัญหาเบื้องต้นที่สุดให้ตกไป คือ แก้ปัญหาความสามัคคีให้ตกไป ดั่งเช่น ถ้าไฟไหม้บ้านจะพัฒนาบ้านไม่ได้ หากไม่ดับไฟเสียก่อน ท่ามกลางสงครามขัดแย้งต่อสู้กัน ทำลายกัน การสร้างสรรค์พัฒนาจะประสพความล้มเหลวลงในท้ายที่สุด เช่นเดียวกับ การปฏิบัติธรรม ถ้าจิตใจไม่สงบ มีสติและสมาธิ ก็จะไม่สามารถพัฒนาจิตให้เกิดปัญญา หลุดพ้นจากกิเลสตัณหาได้อย่างสิ้นเชิง การปฏิบัติธรรมจึงเริ่มต้นจาก สมถะกัมมัฏฐาน...สู่...วิปัสสนากัมมัฏฐาน เป็นลำดับ คนสติแตก คือ คนบ้า เกิดจากความขัดแย้งภายในความคิดอย่างรุนแรง นั่นเอง

            ณ ปัจจุบันนี้ ชาติบ้านเมืองของเรามีปัญหาเรื่องความสามัคคีที่ยังแก้ไม่ตกและยิ่งนับวันจะรุนแรงขึ้นเป็นลำดับมีสภาพ “กลียุค” ตามพระราชดำรัสในสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถและโดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชดำรัสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ชาติล่มจมเพราะไม่สามัคคี ดังนั้น จึงต้องรีบรับใส่เกล้าฯ สร้างความสามัคคีเพื่อให้ออกจากกลียุค รอดพ้นจากความล่มจมของชาติ อันเป็นภารกิจแห่งชาติที่สำคัญ และเร่งด่วนที่สุด ก่อนสิ่งอื่นใดทั้งสิ้น

            ความแตกสามัคคีในอดีตของชาติไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น เป็นเหตุให้เสียกรุงแก่พม่าข้าศึก ในขณะเดียวกันการกู้กรุงศรีอยุธยาทั้ง 2 ครั้ง ต้องสร้างความสามัคคี จึงกอบกู้ชาติได้สำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกอบกู้กรุงศรีอยุธยาของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่ต้องรวบรวมคนไทยที่แตกเป็นหลายก๊ก หลายฝ่าย หลายชุมนุม ด้วยวิธีเจรจาชักชวน และคิดค้นวิธีทำสงคราม จนสามารถสร้างความสามัคคี และทำสงครามกอบกู้ชาติได้สำเร็จ จึงทำสงครามกู้ชาติชนะพม่าข้าศึกอย่างรวดเร็ว ในท้ายที่สุด

            ชาวบ้านบางระจัน เป็นตัวอย่างของความสามัคคี ที่สามารถรบกับกองทัพพม่าที่ใหญ่โตมหึมา ถึง 7 ครั้ง 7 ครา สร้างประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ของชนชาติไทยไว้เป็นแบบอย่าง ตลอดกาล  ดังนั้น ความแตกสามัคคี คือ เงื่อนไขของความพ่ายแพ้ แต่ความสามัคคี คือ เงื่อนไขของชัยชนะ แม้นเรามีทุกอย่างพร้อมแล้วแต่ขาดความสามัคคีก็ไม่มีทางได้รับชัยชนะ ถ้าพิจารณาในด้านนี้ ความสามัคคี คือ เงื่อนไขชี้ขาดแห่งชัยชนะ

            พลังก้าวหน้าทั้งมวลทั่วโลกจะต้องสามัคคีกัน ไม่ว่าจะเป็นพลังประชาธิปไตย หรือ พลังสังคมนิยม หรือ ชาตินิยม จึงจะมีพลังมวลมหาประชาชนอันกว้างใหญ่ไพศาล สามารถต่อสู้ผลักดันการเปลี่ยนแปลงได้สำเร็จ ถ้าปราศจากพลังผลักดันของมวลมหาประชาชนอันกว้างใหญ่ไพศาล จะไม่บังเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ไปในทิศทางที่ก้าวหน้าที่สุด นอกจากนั้น พลังมวลชนยังเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็ก คอยปกป้องภาระกิจการเปลี่ยนแปลงมิให้ถูกทำลาย และ คอยพิทักษ์ปกป้องประเทศชาติ ไว้ตลอดไป

            ความสามัคคีจะเกิดขึ้นได้จริง และกลายเป็นพลังมวลชนอันทรงพลังสูงสุดได้ จะต้องมีเงื่อนไขเป็นเหตุ เป็นปัจจัย เงื่อนไขปัจจัยที่ดีที่สุด คือ การเมือง เงื่อนไขการเมืองที่สามัคคีมวลชนที่ก้าวหน้าได้นับแสนนับล้าน คือ การกอบกู้ชาติบ้านเมืองและการโค่นล้มระบอบเผด็จการสร้างประชาธิปไตย ส่วนคอมมิวนิสต์นั้นมีได้ในช่วงประวัติศาสตร์หนึ่งเท่านั้น กลับล่มสลายลงในเวลาต่อมาในปัจจุบัน ไม่เหมือนกับพลังประชาธิปไตยที่ชนะเผด็จการได้ทุกรูปแบบ

            ประเทศไทยในยุคประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ไม่มีเงื่อนไขเอกราช เพราะไม่ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศนักล่าอาณานิคมตะวันตก จึงเหลือแค่เพียงเงื่อนไขเดียว คือ ปัญหาประชาธิปไตย เป็นเงื่อนไขแห่งความสามัคคี ที่จะก่อให้เกิดมวลชนประชาธิปไตยที่กว้างใหญ่ไพศาล ที่เป็นพลังแห่งสันติอหิงสา 

            การรวมตัวของม็อบที่เกิดจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม และพฤษภาทมิฬ เกิดขึ้นจากเงื่อนไขประชาธิปไตยแต่ไม่สามารถยกเลิกเผด็จการสร้างประชาธิปไตยได้สำเร็จ เพราะถูกครอบโดยลัทธิรัฐธรรมนูญ มิได้มีการนำทางความคิดด้วยลัทธิประชาธิปไตย ถึงแม้ว่าจะมีเจตนารมณ์ประชาธิป ไตย แต่พอเปลี่ยนเป็นรูปธรรมกลายเป็นมีข้อเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ดังนั้น เจตนารมณ์ขัดแย้งกับข้อเรียกร้อง จึงได้แต่รัฐธรรมนูญ ไม่ได้ประชาธิปไตย ซึ่งเป็นไปตามสัจธรรมว่า “เรียกร้องสิ่งใด ย่อมได้สิ่งนั่น” กล่าวคือ เรียกร้องรัฐธรรมนูญก็ได้รัฐธรรมนูญ เรียกร้องประชาธิปไตยย่อมได้ประชาธิปไตย จึงชี้ขาดที่ข้อเรียกร้อง ไม่ใช่ชี้ขาดที่เจตนารมณ์ กล่าวคือ ชี้ขาดที่รูปธรรมไม่ใช่ชี้ขาดที่นามธรรม

            การรัฐประหารของรสช. กับ คมช. มีเจตนารมณ์ประชาธิปไตยแต่กลับใช้อำนาจที่ยึดมาได้นั่นไปสร้างรัฐธรรมนูญ ไม่สร้างประชาธิปไตย จึงประสพความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหา เพราะ เจตนารมณ์ขัดกับนโยบาย กล่าวคือมีเจตนารมณ์ประชาธิปไตย แต่มีนโยบายสร้างรัฐธรรมนูญ

            พรรคการเมืองตามกฎหมายในปัจจุบันมีเจตนารมณ์ประชาธิปไตย แต่มีนโยบายสร้างรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับคณะรัฐประหาร เลือกตั้งทั่วไปชนะมีเสียงข้างมาก ได้จัดตั้งเป็นรัฐบาลมีอำนาจแล้ว ทำเป็นแต่ร่างและแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มุ่งไปสู่การสร้างประชาธิปไตย จึงได้รัฐธรรมนูญ ไม่ได้ประชาธิปไตย เพราะ มีเจตนารมณ์ขัดกับนโยบาย
 รัฐบาลพิเศษหลังเหตุการณ์14ตุลาฯ และพฤษภาทมิฬ เช่นรัฐบาลสัญญาและรัฐบาลอานันท์ ซึ่งมีลักษณะเป็นรัฐบาลเฉพาะกาลโดยสถานการณ์ แต่เป็น “รัฐบาลรักษาการณ์โดยนโยบาย” คือ โดยสถานการณ์เป็นรัฐบาลสร้างประชาธิปไตย แต่โดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงเป็นรัฐบาลรักษาการณ์สร้างรัฐธรรมนูญ จึงประสพความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาชาติ เพราะรูปของรัฐบาลขัดกัน คือ “รัฐบาลเฉพาะกาลกับรัฐบาลรักษาการณ์”

            การเรียกร้องการปฏิรูปของเอ็นจีโอ(NGO) มีเจตนารมณ์ปฏิรูปประชาธิปไตย แต่เมื่อปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมกลายเป็นข้อเรียกร้องปฏิรูปรัฐธรรมนูญ จึงประสบความล้มเหลว เช่น รัฐธรรมนูญพ.ศ.2540 เพราะเจตนารมณ์ปฏิรูปประชาธิปไตยขัดกับข้อเรียกร้องปฏิรูปรัฐธรรมนูญ อีกทั้งยังไม่มีระบอบประชาธิปไตยให้ปฏิรูปหรือให้พัฒนา จึงกลายเป็นพัฒนาระบอบเก่าที่ดำรงอยู่ คือ ระบอบเผด็จการรัฐสภา เพราะเข้าใจผิดว่าเป็นระบอบประชาธิปไตย จึงทำให้ภารกิจเกิดความล้มเหลว การสร้างประชาธิปไตยหรือปฏิวัติประชาธิปไตยต้องใช้นโยบายเป็นเครื่องมือเท่านั้น ไม่ใช่ใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือ เช่นเดียวกับพระบรมราชโองการของ ร.5 ร.6 และ ร.7 ในอดีต จึงจะประสพความสำเร็จในการสร้างประชาธิปไตย  แก้ไขปัญหาชาติ

            ถึงอย่างไรก็ตาม ทั้งม็อบ คณะรัฐประหาร พรรคการเมือง รัฐบาลพิเศษ หรือ เอ็นจีโอ ที่มีการนำทางความคิดด้วยลัทธิประชาธิปไตย ละทิ้งการนำทางความคิดด้วยลัทธิรัฐธรรมนูญ จะประสพความสำเร็จในการปฏิบัติภารกิจทางประวัติศาสตร์ปฏิวัติประชาธิปไตย โดยม็อบ (MOB) จะยกระดับขึ้นเป็นมวลชน (Mass) อย่างเป็นไปเอง คณะรัฐประหารจะยกระดับขึ้นเป็นคณะปฏิวัติประชาธิปไตย พรรคการเมืองจะยกระดับจากรัฐบาลรักษาการณ์จากพรรคของ ส.ส. ขึ้นเป็นพรรคของมวลชน (Mass Party) รัฐบาลพิเศษจะเป็นรัฐบาลเฉพาะกาล เอ็นจีโอปฏิรูปของลัทธิรัฐธรรมนูญก็จะยกระดับขึ้นเป็นเอ็นจีโอปฏิวัติของลัทธิประชาธิปไตย

            แม้ว่า คณะรัฐประหาร-พรรคของ ส.ส.-รัฐบาลพิเศษ และเอ็นจีโอ จะยังไม่มีการนำทางความคิดเป็นลัทธิประชาธิปไตยก็ตาม แต่สามารถสร้างประชาธิปไตยได้ ถ้าได้มีการผลักดันจากมวลชนประชาธิปไตยอันกว้างใหญ่ไพศาล เพราะพลังของมวลชนประชาธิปไตยมีลักษณะเป็น พลังมวลชนปฏิวัติ (Revolutionary Mass) คือ เป็น 2 ด้านของเหรียญ ด้านหนึ่งเป็น “พลังผลักดัน” (pressured) อีกด้านหนึ่งเป็น “พลังโค่นล้ม” (Abolish) กล่าวคือ ด้านหนึ่งเป็นพลังผลักดันผู้ปกครองให้ก้าวหน้าสร้างประชาธิปไตย  แต่ถ้าผู้ปกครองไม่ยอมทำตามเจตนารมณ์ประชาธิปไตยของประชาชน มวลชนประชาธิปไตยก็จะกลายเป็น พลังโค่นล้มผู้ปกครองที่ล้าหลังเพื่อสร้างประชาธิปไตย นั่นคือ ไม่ว่าผู้ปกครองจะยอมสร้างประชาธิปไตยหรือไม่ก็ตาม ถ้ามีมวลชนประชาธิปไตยที่เข้มแข็งทรงพลังแล้ว การสร้างประชาธิปไตยก็จะบรรลุความสำเร็จอย่างแน่นอน นั่นคือ มวลชนจะผลักดันผู้ปกครองที่มีอยู่ให้อยู่ต่อไปเพื่อสร้างประชาธิปไตยให้สำเร็จ แต่ถ้าผู้ปกครองมองไม่ยินยอม ปวงชนก็จะโค่นล้มผู้ปกครองเผด็จการที่ล้าหลังลง เพราะเป็นอุปสรรค แล้วสร้างการปกครองเฉพาะกาลขึ้น ตั้งรัฐบาล รัฐสภา เพื่อสร้างประชาธิปไตย ให้แล้วเสร็จ ต่อไป

            สาเหตุที่ม็อบ14ตุลาฯ และพฤษภาทมิฬ และเอ็นจีโอ ไม่สามารถผลักดันผู้ปกครองให้ก้าวหน้า สร้างประชาธิปไตยได้ หรือโค่นล้มผู้ปกครองเผด็จการเพื่อจัดทำการปกครองเฉพาะกาลสร้างประชาธิปไตย เพราะยังติดอยู่ในรูปของ ม็อบ (Mob) หรือฝูงชนที่ไม่มีการจัดตั้งทางความคิดและการจัดตั้งทางองค์การด้วยลัทธิประชาธิปไตย ยังไม่พัฒนายกระดับขึ้นสู่ มวลชน (Mass) เป็นมวลชนประชาธิปไตยที่มีการจัดตั้งทางความคิดและมีการจัดตั้งทางองค์การโดยลัทธิประชาธิปไตย ยังคงมีลักษณะเป็นม็อบที่ไร้การจัดตั้งแบบประชาธิปไตย ถึงจะมีรูปแบบการจัดตั้งอยู่บ้าง ก็มีลักษณะการจัดตั้งของมวลชนลัทธิรัฐธรรมนูญ คือ ผลักดันผู้ปกครองให้สร้างรัฐธรรมนูญ หรือโค่นล้มผู้ปกครองเพื่อสร้างรัฐธรรมนูญ เท่านั้น

            ม็อบ คือ ปรากฎการณ์ (Phenomenon) ทางสังคมของระบอบเผด็จการทุกรูปแบบ แต่ มวลชน (Mass) คือ ปรากฏการณ์ของระบอบประชาธิปไตย ม็อบเกิดจากระบอบเผด็จการและรักษาระบอบเผด็จการ แต่แม็ส (Mass) เกิดจากลัทธิประชาธิปไตยเพื่อยกเลิกกิจกรรมแบบเผด็จการสร้างระบอบประชาธิปไตย ม็อบจะโค่นล้มรัฐบาล แต่ไม่โค่นล้มระบอบเผด็จการ เพราะม็อบยังคงถูกครอบงำทางความคิดอยู่โดยลัทธิรัฐธรรมนูญ อันเป็นระบอบเผด็จการในทางรูปธรรม คือ ม็อบเปลี่ยนได้แต่รัฐบาล แต่ไม่เปลี่ยนระบบความคิด คือ เปลี่ยนแต่ปริมาณ แต่ไม่เปลี่ยนคุณภาพ

            แม็ส คือ ปรากฏการณ์ของลัทธิประชาธิปไตย หรือ การเคลื่อนไหวปฏิวัติประชาธิปไตย หรือเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงจากระบอบเก่าที่เป็นเผด็จการขึ้นสู่ระบอบใหม่ที่ก้าวหน้าเป็นประ ชาธิปไตย อันเป็นการเปลี่ยนแปลงจากขั้นปริมาณขึ้นสู่คุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงทางความคิด สำหรับประเทศไทย คือ การเปลี่ยนแปลงจากลัทธิรัฐธรรมนูญสู่ลัทธิประชาธิปไตยและเปลี่ยนจากลัทธิคอมมิวนิสต์สู่ลัทธิประชาธิปไตย เช่น ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยยกระดับขึ้นสู่นักประชาธิปไตย

            เลิกยึดมั่นถือมั่นทฤษฎีแห่งความขัดแย้งด้านเดียว จะต้องเปลี่ยนมายึดถือทฤษฎีแห่งความไม่ขัดแย้ง คือ จากทฤษฎีแห่งความขัดแย้งยกระดับขึ้นสู่ทฤษฎีแห่งความไม่ขัดแย้ง นั่นคือ จาก “อัตตา” ขึ้นสู่ “อนัตตา” เพราะธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา (สัพเพ ธัมมา อนัตตา) นี่คือ ความจริงแท้สูงสุด (Ultimate Reality)  เปลี่ยนจากปรัชญาของลัทธิอนุรักษ์นิยมที่คับแคบ มาเป็นปรัชญาของลัทธิประชาธิปไตย คือ เอกภาพของความแตกต่าง (Unity of Diversity) เปลี่ยนจากปรัญชาของลัทธิคอมมิวนิสต์ คือ เอกภาพของด้านตรงกันข้าม (Unity of opposite) มาเป็นปรัชญาของลัทธิประชาธิปไตย คือ เอกภาพของความแตกต่าง เปลี่ยนระบบย่อยของระบบรัฐสภาจาก ระบบมีฝ่ายค้าน มาสู่ระบบรัฐบาลแห่งชาติ คือ มีรัฐบาลผสม ทุกพรรคการเมืองเพื่อสร้างประชาธิปไตย  ละอัสมิมานะในจิตใจ เพราะเป็นอุปสรรคของความสามัคคีอย่างยิ่ง ดังคำกล่าวทางการเมืองว่า “ อันความสามัคคีก็ดีอยู่ แต่ตัวกูต้องเป็นใหญ่ ” หรือ เรียกว่า  ความคิดใหญ่  ความคิดดัง  หรือ  อยากใหญ่ อยากดัง นักต่อสู้ หรือ นักปฏิวัติ (Revolutionist) จะต้องละความคิดทั้ง 2 อย่างนี้อย่างสิ้นเชิง โดยการปฏิบัติโมษธรรม อันเป็นการแก้ปัญหาจุดยืน (Standpoint) ซึ่งมี 2 จุดยืน คือ เห็นแก่ตัวและเห็นแก่ส่วนรวม

             ความสามัคคีในทางพระพุทธศาสนา จะบังเกิดขึ้นได้ จะต้องมีศีลเสมอกัน และชี้ขาดที่มี “ทิฎฐิเสมอกัน” เรียกว่า ทิฎฐิสามัญญตา ท่านเจ้าประคุณพระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ประยุตโต) กล่าวไว้ว่า สังคมเป็นไปตามทิฎฐิ ความเห็นเสมอกัน หรือทิฎฐิเสมอกัน หรือ เรียกอย่างเป็นรูปธรรม คือ มีอุดมการณ์เดียวกัน อุดมการณ์ คือ ลัทธิ (Doctrine) ลัทธิประกอบขึ้นด้วยทฤษฎี 3 ด้าน คือ ทฤษฎีด้านปรัชญา ทฤษฏีทางรัฐศาสตร์ ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ คือ รู้ลัทธิประชาธิปไตย รู้ลัทธิคอมมิวนิสต์ รู้ลัทธิเผด็จการ อันเป็น 3 ลัทธิการเมืองใหม่ในโลกยุกประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ลัทธิการเมือง คือ วิธีคิด (Way of thinking) ซึ่งประกอบด้วย ทฤษฎี แนวทาง หลักนโยบาย นโยบาย มาตรการ วิธีการ ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี

             รูปธรรมความเห็นเสมอกัน จะต้องเริ่มด้วยการมีจุดยืนเดียวกัน คือ จุดยืนเห็นแก่ส่วนรวมและวิธีคิดประชาธิปไตยเดียวกัน กล่าวคือ มีจุดยืนประชาชน มีวิธีคิดประชาธิปไตย ที่ประกอบด้วย ทฤษฎีประชาธิปไตย แนวทางประชาธิปไตย หลักนโยบายประชาธิปไตย นโยบายประชาธิปไตย มาตรการ-วิธีการประชาธิปไตย ยุทธศาสตร์ – ยุทธวิธีประชาธิปไตย นั่นเอง

             ความขัดแย้งระหว่างคนเสื้อเหลืองกับคนเสื้อแดงนั้น ไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับประชาชน แต่เป็นความขัดแย้งภายในของพวกเผด็จการ กล่าวอย่างเป็นรูปธรรม คือ เผด็จการขัดแย้งกัน ประชาชนไม่ขัดแย้งกัน เพราะเครื่องแสดงถึงความขัดแย้งภายในระบอบเผด็จการ คือ ลัทธิรัฐธรรมนูญ โดยฝ่ายหนึ่งเอารัฐธรรมนูญ ปี 2540 และฝ่ายหนึ่งเอารัฐธรรมนูญ ปี 2550 พี่น้องเสื้อเหลือง เสื้อแดง เป็นประชาชนตัวจริง ทั้ง 2 ฝ่าย เพียงแต่เข้าใจผิดว่า ลัทธิรัฐธรรมนูญ คือ ลัทธิประชาธิปไตย จึงเข้าร่วมการเคลื่อนไหว โดยเสื้อเหลืองต่อสู้โค่นล้มระบอบเผด็จการรัฐสภาเพื่อประชาธิปไตยสร้างด้วยรัฐธรรมนูญ และเสื้อแดงต่อสู้โค่นล้มระบอบเผด็จการรัฐประหารเพื่อประชาธิปไตยสร้างด้วยรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกัน ซึ่งจบลงในข้อสรุป หรือ ข้อยุติเดียวกัน คือ ได้ประชาธิปไตยในแผ่นกระดาษ ไม่ได้ประชาธิปไตยในแผ่นดิน ส่วนการปกครองจริงของประเทศ คือ ระบอบเผด็จการรัฐสภา จึงดำรงอยู่ต่อไปไม่รู้จบ ปรากฏการณ์ม็อบเสื้อแดงและม๊อบเสื้อเหลือง คือ ปรากฏการณ์แห่งระบอบเผด็จการ ไม่ใช่ปรากฏการณ์ของประชาธิปไตย   ทั้งๆที่เจตนารมณ์อันเป็นธาตุแท้ของพี่น้องเสื้อแดงและเสื้อเหลือง คือ ประชาธิปไตย อันเดียวกัน

             ประเทศไทย ตกอยู่ในสถานการณ์ปฏิวัติกระแสสูง คือ ประชาชน ประเทศชาติ ต้องการประชาธิปไตยอย่างกระแสสูง จึงมีประชาชนออกมาเคลื่อนไหวเพื่อสร้างประชาธิปไตย โค่นล้มระบอบเผด็จการ ทั้งม็อบเสื้อแดงและม็อบเสื้อเหลืองอย่างไม่เคยมีมาก่อนในอดีต นี่คือ ภาพสะท้อนแสดงออกให้เห็นเป็นประจักษ์ว่า ภายใต้กระแสสูงสถานการณ์ปฏิวัติ ไม่ว่าฝ่ายใดจะเคลื่อนไหวก็ตกอยู่ภายใต้กระแสประชาธิปไตย อย่างเป็นไปเองทั้งสิ้น เช่น ม็อบเสื้อเหลืองและม็อบเสื้อแดง แม้จะถูกลัทธิรัฐธรรมนูญครอบงำก็ตาม ก็ยังแสดงออกถึงลักษณะและเจตนารมณ์ประชาธิปไตยอย่างเด่นชัดอยู่ตลอดเวลาจึงเป็นนักประชาธิปไตยโดยเจตนารมณ์แต่เป็นนักรัฐธรรมนูญโดยข้อเรียกร้อง ซึ่งไม่ยากที่จะทำให้ข้อเรียกร้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องตรงกันกับเจตนารมณ์ประชาธิปไตยอันเป็นธาตุแท้ เพราะจิตใจต้องการประชาธิปไตยอยู่แล้ว และไม่ต้องการเผด็จการไม่ว่ารูปแบบใดๆ เหลือเพียงแก้ปัญหาความเห็นให้ตกไปเท่านั้น ดังเช่น พระพุทธเจ้าบรรลุสภาวธรรม “นิพพาน” เพราะทรงแก้ปัญหาความเห็นได้สำเร็จนั่นเอง คือ เปลี่ยนความเห็นผิด เป็นความเห็นถูก

             ดังนั้น ม็อบเสื้อเหลืองกับม็อบเสื้อแดงเป็นเหมือน 2 ด้านของเหรียญเดียวกัน คือ เหลือง – แดง เป็น 2 ด้านของประชาธิปไตยเดียวกัน เป็นประชา ธิปไตยในเจตนารมณ์เพียงแต่ข้อเรียกร้องยังเป็นรัฐธรรมนูญ ซึ่งถ้าม็อบเสื้อเหลืองและม็อบเสื้อแดงรู้ว่า ลัทธิรัฐธรรมนูญไม่ใช่ลัทธิประชา ธิปไตยเมื่อใด เมื่อนั้นจะเกิดปรากฏการณ์ก้าวกระโดด จากลัทธิรัฐธรรมนูญไปสู่ลัทธิประชาธิปไตย อันเป็นการเปลี่ยนแปลงจากปริมาณ(Quantity)ขึ้นสู่ขั้นคุณภาพ(Quality) นั่นคือ การก้าวกระโดดจาก“ม็อบ” ขึ้นสู่ “แม็ส” หมายความว่า ความเป็นม็อบเสื้อเหลืองเสื้อแดงจะสลายตัวไป ยกระดับเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นมวลชนประชาธิปไตยที่ยิ่งใหญ่แท้จริง นี่คือ การยกระดับที่ก้าวหน้าเป็นเอกภาพ แก้ปัญหาความสามัคคีได้สำเร็จ สลายม็อบแตกแยก ดำเนินแม็สสามัคคี อันเป็นการเปลี่ยน แปลงความขัดแย้งในขบวนการเผด็จการที่แสดงออกในขบวนการประชาชน คือ ความขัดแย้งม็อบเสื้อแดงVSเสื้อเหลือง ยกระดับขึ้นสู่ความขัดแย้งที่ก้าวหน้า คือ ความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับระบอบเผด็จการรัฐสภา โดยสามัคคีประชาชนและผู้ปกครองที่ก้าวหน้าเพื่อยกเลิกระบอบ ไม่ใช่โค่นล้มรัฐบาลหรือบุคคล ที่เป็นเหตุแห่งความแตกสามัคคีแต่อย่างใด ตามความจริง สถานการณ์ของประเทศไทย คือ “ระบอบเลว  คนดี”

             หลังจากการเคลื่อนไหวม็อบมายาวนาน ทุ่มแทเสียสละเลือดเนื้อชีวิตมานับไม่ถ้วน แต่ไม่ประสพความสำเร็จในการสร้างประชาธิปไตยเสียที ทำให้ประชาชนสะสมประสบการณ์มากเพียง พอแล้ว ที่จะยกระดับการเคลื่อนไหวขึ้นสู่การเคลื่อนไหวทางความคิด อันเป็นการเคลื่อนไหวมวลชนให้เกิดขึ้นเติบโตกว้างใหญ่ไพศาล จะไม่กลับมาเคลื่อนไหวม็อบด้วยอารมณ์ร่วมที่ล้าหลังต่อสถานการณ์อีกต่อไป เพราะการเคลื่อนไหวม็อบทำให้แตกความสามัคคี  แต่การเคลื่อนไหวแม๊ส(มวลชน)เป็นเหตุทำให้เกิดความสามัคคีแห่งชาติ ฝ่ายใดเคลื่อนไหวม็อบย่อมล้าหลังสถานการณ์ แต่ฝ่ายใดเคลื่อนไหวมวลชนย่อมก้าวหน้านำสถานการณ์ สอดคล้องกับสถานการณ์ สามารถยึดกุมสถานการณ์ได้  ม็อบต่างๆนั้น ตกอยู่ในสภาพเมื่อมีโอกาสก็ขาดประสบการณ์ แต่เมื่อมีประสบการณ์ก็ขาดโอกาส เช่นผู้นำม็อบทั้งหลาย เช่นเดียวกับอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ กล่าวปัจฉิมพจน์ไว้ว่า “เมื่อข้าพเจ้ามีอำนาจ ข้าพเจ้าขาดประสบการณ์  เมื่อมีประสบการณ์ ก็ไม่มีอำนาจ”

             เราสามารถนำเอาสูตรแห่ง ทฤษฎีสัมพันธภาพ(Relativity Theory)ของอัลเบิร์ต  ไอร์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์เอกของโลก คือ E=Mc²  มาปรับเป็นสูตรพลังประชาธิปไตยอันกว้างใหญ่ไพศาล คือ

             E = Mc² คือ   E  =  Energy of Democracy  (พลังประชาธิปไตย)
             M  =  Masses  (มวลชน)
             C  =  Democracy  (ลัทธิประชาธิปไตย)

             กล่าวคือ เมื่อเราติดอาวุธทางปัญญาของลัทธิประชาธิปไตยให้มวลชนอย่างพอเพียงแล้วจะเกิดพลังประชาธิปไตยที่ยิ่งใหญ่ ดังเช่น พลังของปรมาณู ที่ต้องยกกำลัง 2 เพราะต้องทำลายความคิดของลัทธิรัฐธรรมนูญออก แล้วจึงสร้างความเห็นถูกของลัทธิประชาธิปไตยเข้าไปอย่างเป็นทวีคูณ จึงจะสำเร็จ

             การเปลี่ยนแปลงหรือการปฏิวัติสร้างประชาธิปไตยนั้น ถึงแม้นในอดีตพระมหากษัตริย์ทรงมีบทบาทอย่างยิ่งยวดตามหลักลักษณะกฎเกณฑ์ของประเทศเอกราชเอเชีย คือ พระมหากษัตริย์เป็นผู้สร้างประชาธิปไตยจึงจะสำเร็จและพระมหากษัตริย์ไทยก็ทรงทำสำเร็จมาระดับหนึ่งแล้ว แต่เกิดการเปลี่ยนแปลงเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 อันเป็นการเปลี่ยนแปลงโดยประชาชน แต่น่าเสียดายที่ประชาชนไม่มีการนำทางความคิดที่เป็นลัทธิประชาธิปไตย กลับกลายเป็นลัทธิรัฐธรรม นูญอันเป็นลัทธิเผด็จการ จึงเกิดความผิดพลาดมา 77 ปี ไม่ได้ประชาธิปไตยได้แต่รัฐธรรมนูญ กองทัพโดยคณะรัฐประหารชุดต่างๆมีโอกาสหลายครั้ง แต่ก็สร้างประชาธิปไตยไม่สำเร็จ เพราะถูกครอบงำด้วยลัทธิรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน พรรคการเมืองก็มีโอกาสปกครองประเทศหลายครั้งแต่ก็เป็นอย่างที่ อ.ปรีดี พนมยงค์ กล่าวไว้ว่า “เมื่อข้าพเจ้ามีอำนาจก็ขาดประสบการณ์ เมื่อมีประสบการณ์ก็ไม่มีอำนาจ” 

             ประชาชนในรูปของม็อบก็ลุกกันขึ้นมาสนใจในประชาธิปไตยหลายครั้งแต่ก็ถูกครอบงำด้วยลัทธิรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน และประชาชนส่วนหนึ่งโดยการนำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พ.ค.ท.) ก็ต่อสู้ด้วยอาวุธเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศ แต่แนวทางรุนแรงและแนวทางความคิดไม่สอดคล้องกับลักษณะพิเศษของสังคมไทย คือ ความเป็นไทย อหิงสา รู้จักประสานประโยชน์ จึงยุติการต่อสู้ตามแนวทางนั้นลง โดยเข้าร่วมกับกองทัพเพื่อสร้างประชาธิปไตยตามนโยบาย 66/23

             การเมืองเริ่มเปลี่ยนผ่านจากพระมหากษัตริย์มาสู่พรรคการเมืองมาสู่คณะรัฐประหารมาสู่ประชาชนในรูปม็อบและกำลังเปลี่ยนผ่านมาสู่มวลชนประชาธิปไตยอันเป็นขบวนการประชาชนที่เข้มแข็งที่สุด อันเป็นไปตามสัจธรรมการเมืองว่า ประชาชนเป็นผู้ทำปฏิวัติเปลี่ยนแปลงประเทศเปลี่ยนแปลงการปกครอง และสังคมการเมืองประเทศไทยกำลังจะเปลี่ยนแปลง ปรากฏเป็นจริงขึ้น เมื่อประชาชนสลัดทิ้งการเมืองเผด็จการลัทธิรัฐธรรมนูญ หันมาเป็นการเมืองประชาธิปไตยของประชาชนตามแนวทางพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 5, 6, 7 ที่ทรงมอบให้แก่ประชาชนไว้แล้วในอดีต ประชาชนจะเป็นผู้ทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงประเทศด้วยลัทธิประชาธิปไตย กำหนดอนาคตของประเทศด้วยประชาชนเองและวันนั้นกำลังจะมาถึงแล้ว คือ  วันแห่งประชาธิปไตย
                                         
                                                                                                                                          9-09-2009

 
                  
 
 
 
     
          
               
 
 
 
 
  
 
          

 
 
 
 
  
                            
  
  
  
  
  



Webboard is offline.