Revolutionary Press Agency : Online Journal and News Agency for Peace
สำนักสื่อปฏิวัติ  : วารสารข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
8 มิ.ย. 2554 กองหน้าประชาชนรุ่นใหม่ อนุสรณ์ สมอ่อน ตอบคำถามคาใจทำไมต้องปฏิวัติประชาธิปไตย? 
 
"เปิดตำนานคนชุดขาว"ธรรมยาตราทวงคืนเขาพระวิหาร-มณฑลบูรพาสู่...ปัญหาอธิปไตยดินแดน
เขียนโดย ยอดมณี วัชรญาณ
บทที่ ๑
“ที่นี่แผ่นดินไทย”
             
 
 
   
                
                 ก่อนที่จะนำมาสู่ประเด็นข้อโต้แย้งเรื่องใครเป็นเจ้าของปราสาทเขาพระวิหารนั้น  ต้องทำความเข้าใจย้อนหลังไปก่อนว่าในอดีตประเทศไทยไม่เคยมีข้อตกลงหรือสัญญาอะไรกับประเทศกัมพูชาเลย  เพราะกัมพูชาเป็นประเทศราชของสยามมาอย่างต่อเนื่อง    ตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาเรื่อยมาจนถึงกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์  แต่ข้อตกลงที่มีกลับเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศฝรั่งเศส  นักล่าอาณานิคมในอดีต   และอีกข้อตกลงหนึ่งอนุสัญญาโตเกียว พศ.2484 หรือค.ศ. 1941  

                ในสมัยที่มีข้อตกลงกับฝรั่งเศสนั้น  ประเทศไทยเป็นเจ้าของ “มณฑลบูรพา”   ซึ่งกินอาณาเขตกว้างขวางเข้าไปในบางส่วนของกัมพูชาและลาวในปัจจุบัน  คำว่า “บูรพา” แปลว่า “ตะวันออก” หมายความว่าอาณาเขตของราชอาณาจักรสยามในส่วนภาคตะวันออก   ซึ่งมีพื้นที่รวมถึง  5 จังหวัดคือ จังหวัดพระตะบอง  จังหวัดพิบูลสงคราม  จังหวัดนครจำปาศักดิ์  และจังหวัดลานช้าง เป็นดินแดนของไทย   หลักฐานการปกครองมณฑลบูรพานั้นปรากฏชัดอยู่ในเอกสารหลายฉบับ สยามในอดีตได้ทำการปกครองมณฑลบูรพาเป็นระยะเวลาถึง 5 ปี หลังการเปลี่ยนแปลงเขตการปกครองเป็นจตุสดมภ์โดยพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5

               อย่างไรก็ดีประเด็นการโต้แย้งเรื่องการเป็นเจ้าของพื้นที่ที่ปรากฏเป็นข่าวในระยะแรกนั้น  เริ่มจากแง่มุมการเสนอให้จดทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกโดยรัฐบาลกัมพูชา  ในขณะนั้นการโต้แย้งของกลุ่มคัดค้านพุ่งประเด็นไปที่การเซ็นสัญญาในการลงบันทึก Joint Communique ร่วมกันกับกัมพูชาโดยมีรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศชื่อนพดล ปัทมะในระหว่างเดือนมิถุนายน 2551 นั้น ประชาชนคนไทยออกมาแสดงทัศนะคัดค้าน  ถึงความไม่ชอบมาพากล    และเกิดการประท้วงในกรุงเทพอย่างเป็นรูปธรรมในทันทีทันใดโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย   การแสดงการคัดค้านลุกลามถึงขั้นการเคลื่อนมวลชนไปร้องเรียนที่บริเวณหน้ากระทรวงฯเพื่อขับไล่รัฐมนตรีนพดลออกจากตำแหน่ง    ขณะนั้นความเข้มข้นของประเด็นคัดค้านจำกัดอยู่เพียงแค่ผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวร่วมกับกัมพูชาเท่านั้นโดยพิจารณาจากสภาพภูมิศาสตร์ นอกเหนือจากนั้นคือการนำเสนอเรื่องความไม่ชอบมาพากลของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตรในการตกลงกับกัมพูชาล่วงหน้าเรื่องการมีผลประโยชน์ชายแดนร่วมกับกัมพูชา จนนำสู่ข้อกล่าวหาอุกฉกรรจ์เรื่อง “ขายชาติ” ในที่สุด

              การรายงานข่าววนเวียนอยู่เพียงเรื่องการแบ่งเขตดินแดนที่ไม่ชัดเจนสำหรับการใช้ปราสาทพระวิหารในเชิงผลประโยชน์การท่องเที่ยวร่วมกัน   มีการถามหาเหตุผลว่าเพราะเหตุไรทางขึ้นจึงอยู่ฝั่งไทยและตัวปราสาทจึงอยู่ฝั่งกัมพูชา   มีการอธิบายว่าทำไมแผนที่ฝรั่งเศสที่ใช้การแบ่งเขตแดนนั้นมีข้อบกพร่อง   มีการตั้งประเด็นต่อว่าเป็นการจงใจให้การแบ่งเขตแดนนี้สร้างปมเงื่อนข้อขัดแย้งไว้เบื้องหลังก่อนฝรั่งเศสจะถอนตัวออกไปจากภูมิภาคนี้หลังการปลดปล่อยชาติเมืองขึ้นเป็นเอกราชของรัฐชาติสมัยใหม่ในดินแดนแถบนี้   แต่ยังไม่มีการอธิบายถึงปมเงื่อนทางการเมือง ทางประวัติศาสตร์ และการดำเนินนโยบายของชนชั้นปกครองแต่ละช่วงว่ามีจุดยืนและการแก้ปัญหาในอดีตต่างกรรมต่างวาระกันอย่างไรบ้าง

               คณะธรรมยาตรากลับมีคำอธิบายลึกขึ้นไปกว่านั้นว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ประเทศฝรั่งเศสที่อยู่ห่างไกลดินแดนแถบนี้ต้องข้ามมหาสมุทรมามีบทบาทในการทำหน้าที่ร่างแผนที่   ข้อตกลงที่ทำกันในสมัยก่อนอยู่บนพื้นฐานอะไร   ช่วงรอยต่อทางประวัติศาสตร์อันสำคัญของการ “จัดระเบียบโลก” ในแต่ละช่วงทศวรรษ   ส่งผลต่อเนื่องถึงปัญหาชายแดนไทยกัมพูชาจนถึงปัจจุบัน    ประเด็นสำคัญของการรุกทางการเมืองของชาติล่าอาณานิคมและอิทธิพลของชาติตะวันตกและลัทธิล่าอาณานิคมที่กระทำ “เหตุ” ไว้แต่เบื้องต้นและส่ง “ผล” มาถึงความสัมพันธ์ของประเทศเพื่อนบ้านสองประเทศที่มีภูมิหลังทางวัฒนธรรม ศาสนา และประวัติศาสตร์ร่วมกัน   โดยยังมิต้องพิจารณาถึงแง่มุมทางการเมืองแต่อย่างใด 
 
 
                เราเป็นเจ้าของอะไรบ้าง 
 
 
               นี่คือคำถามในแง่มุมทางการเมือง  ซึ่งต้องการมิติทางประวัติศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญมาเป็นผู้ร่วมชำระความให้คำตอบ ถึงแม้จะมีการหลงประเด็นกันถึงขั้นนำเอาผู้เชี่ยวชาญทางสังคมมานุษยวิทยา  นักโบราณคดีที่พากันหลงประเด็นย้อนรอยประวัติศาสตร์เพื่อพิสูจน์กันถึงเรื่องชาติพันธุ์และอารยธรรมอันรุ่งเรืองระหว่างขแมร์และชาวสยามในอดีต

                ความเป็นเจ้าของตีความแคบมาสู่การเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ (Nation State) มิใช่การครอบครองในยุคสมัยของเจ้าครองนคร(Feudal State)  ปัญหาก็คือคนไทยยังไม่รู้ว่า เราเป็นเจ้าของอะไรบ้าง   และทำไมจึงได้เป็น  และไม่อยากเชื่อว่าจะเป็นไปได้   ดังเช่นนักวิชาการสายโบราณคดี สังคมมานุษยวิทยาทั้งนักวิชาการไทยและต่างชาติ  พยายามคัดค้านและให้คนไทยยอมรับ “ ความพ่ายแพ้ ” ตั้งแต่ยังไม่เริ่มต้น  โดยอ้างเหตุผลแคบๆของการเป็นผู้เคารพในชาติพันธุ์    แต่มิติของปัญหานี้มิใช่แค่เพียงผิวเผินเช่นนั้น 

                ปัญหาการครอบครองเขาพระวิหาร คือปัญหา “เอกราช” และปัญหา “อธิปไตย”  ของรัฐชาติสมัยใหม่ในดินแดนแถบนี้  เมื่อเกิดการประกาศเอกราช ปลดแอกชาติของตนจากชาติล่าอาณานิคมแล้ว  ประเด็นอยู่ที่ว่าการปลดแอกตนเองของกัมพูชานั้น มีการวางล็อคของปัญหาทิ้งค้างไว้   ให้ประเทศเพื่อนบ้านทั้งสองพร้อมจะเดินสะดุดขากันเอง  จนเกิดเรื่องราวขั้นทำร้ายร่างกายกันจนได้

             สมมุติบัญญัติของการเป็นชาติพันธุ์ยุคเจ้าครองนครรบพุ่งกับเขมรในอดีต  เป็นคนละเรื่องกับกับสมมุติบัญญัติของการเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ที่ต้องเคารพกติกาสัญญาที่กระทำต่อกัน    จะเห็นว่าขบวนธรรมยาตรามิได้เคลื่อนไปเพราะเหตุผลเรื่องชาติพันธุ์หรือเพราะความต่างของภาษา  หากแต่เป็นการเคลื่อนเพื่อบอกให้คนไทย คนเขมรและคนทั้งโลกรับรู้ว่าปัญหาการเมืองระดับภูมิภาคในประเทศแถบนี้เป็นผลมาจากการไม่รักษากติกาสัญญาของชาติอาณานิคมในอดีต  การไม่เคารพกติกาสัญญาในอดีตโดยทำเป็นเพิกเฉยต่อข้อเท็จจริงบางเรื่อง เป็นเรื่อง “ขี้โกง” ที่นานาอารยะที่อ้างเรื่อง “สิทธิ” แบบถล่มทลายมาโดยตลอดจะเป็นหลักค้ำประกันว่า  กติกาโลก ภายใต้สหประชาชาตินั้นขลังเพียงไร และสอดคล้องกับการเกลี่ย “ความเป็นธรรม” ได้จริงหรือไม่  หรือเป็นเพียงแค่องค์กรอุปโลกน์ระดับโลกที่เป็นเพียงแค่ “เสือกระดาษ” เท่านั้น  กัมพูชาคือเครื่องมือแถลงต่อชาวโลกถึงการจัดระเบียบโลกผิดในอดีตที่ส่งผลถึงปัจจุบันนั่นเอง
 
             ก่อนที่จะตอบว่าเราเป็นเจ้าของอะไรบ้าง จะต้องตอบคำถามที่ว่า  เราเป็นชาติเอกราชใช่หรือไม่ และอธิปไตยดินแดนเรามีจริงหรือไม่เคยมี    เพื่อหลีกเลี่ยงการกระทบกระทั่งระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน  คำถามสองคำถามนี้จะต้องสะท้อนกลับไปยังคนเขมรและรัฐบาลกัมพูชาเช่นกัน      เพื่อทบทวนบทบาททั้งสองประเทศในฐานะเพื่อนบ้าน 
 
 

 
 
...สมมุติบัญญัติของการเป็นชาติพันธุ์ยุคเจ้าครองนครรบพุ่งกับเขมรในอดีต  เป็นคนละเรื่องกับกับสมมุติบัญญัติของการเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ที่ต้องเคารพกติกาสัญญาที่กระทำต่อกัน    จะเห็นว่าขบวนธรรมยาตรามิได้เคลื่อนไปเพราะเหตุผลเรื่องชาติพันธุ์หรือเพราะความต่างของภาษา....   

              ปัญหาเขาพระวิหารนั้นเป็นปัญหาเอกราชของกัมพูชาในอดีตที่ส่งผลมาถึงปัญหาอธิปไตยดินแดนในปัจจุบันนี้ใช่หรือไม่ ?
 
              เช่นนี้แล้วก็จะได้คำตอบที่จำแนกแยกแยะความแตกต่างระหว่าง  ความเป็นชาติสยามและชาติเขมรออกจากกันได้ในช่วงกว่าศตวรรษที่ผ่านมาว่า   ข้อเท็จจริงคือประเทศไทยเป็นชาติเอกราชมาตลอด และเริ่มมีปัญหาอธิปไตยดินแดนกับชาติอาณานิคมอังกฤษและฝรั่งเศสในสมัยรัชกาลที่ 5  พระเจ้าแผ่นดินทรงแก้ปัญหาอธิปไตยดินแดนโดยการตัดพื้นที่บางส่วนให้กับฝรั่งเศสเพื่อคงความเป็นเอกราชไว้         ในแง่มุมนี้ไทยกับเขมรย่อมมีความต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะกัมพูชานั้นมีปัญหาเรื่องเอกราชมาโดยตลอด  อันเนื่องมาจากกัมพูชาอยู่ในฐานะประเทศราชของชาติสยาม  กัมพูชาจึงไม่รู้จักอธิปไตยดินแดนดีเท่าคนไทยรู้จัก ด้วยความเป็นเอกราชทีหลังหลังตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส   กัมพูชาเพิ่งมารู้จักอิสรภาพจากการได้รับการการปลดปล่อยให้มีเอกราชเมื่อประเทศไทยก้าวขึ้นสู่การเป็นรัฐชาติสมัยใหม่แล้วโดยพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5 พระมหากษัตริย์ที่เปลี่ยนแปลงกรุงสยามต่อสู้กับลัทธิล่าอาณานิคมอย่างถึงที่สุด
 
            ทันทีทันใดที่กัมพูชาได้รับอิสรภาพก้าวเข้าสู่ความเป็นเอกราช  ปัญหาการเมืองภายในนำประเทศตนเองสู่การปฏิวัติคอมมิวนิสต์และดำรงความเป็นกัมพูชาอยู่ในปัจจุบัน    จะว่าไปเป็นธรรมดาของชาติไม่เคยมีอิสรภาพมาก่อนเมื่อกลับมามีอิสรภาพอาจใช้อิสรภาพนั้นในทางที่ผิด  เพราะไม่คุ้นกับอิสรภาพนั้น  รัฐบาลกัมพูชาจึงสะท้อนปัญหาการเป็นประเทศเอกราชของประเทศตนเองผิดๆ และยังส่งผลให้จัดระบบความสัมพันธ์กับประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างประเทศไทยผิดๆ อีกด้วย     และเนื่องจากการปฏิวัติชาติกัมพูชาไปสู่ระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์อย่างเต็มตัว จึงทำให้รัฐชาติกัมพูชา มีชนชั้นปกครองที่พูดความจริงไม่ครบต่อประชาชนของตนเอง   นอกจากนี้แล้วรัฐบาลสมเด็จฮุนเซนยังใช้ประเด็นนี้เป็นเครื่องมือทางการเมืองภายในประเทศสำหรับสร้างฐานคะแนนให้ตนเองอย่างเป็นกโลบายอีกต่างหาก 
 
              ปัญหาเรื่องการใช้อิสรภาพจากเอกราชในทางที่ผิดเช่นนี้เองที่ทำให้รัฐบาลกัมพูชาชุดปัจจุบัน  กำลังสนุกกับการรุกประเทศไทยในยามที่บ้านเมืองง่อนแง่น รุมเร้าด้วยปัญหาการเมืองภายใน  จนถึงขั้นใช้เกมการปล่อยข่าวแบบบิดเบือนตลอดเวลา
 
               แน่นอนว่าความเป็นเอกราชของชาติไทยสะท้อนข้อเท็จจริงว่า ไทยเป็นเจ้าของดินแดนแถบนี้มาก่อน  หลักฐานมีปรากฏชัดเจนถึงการปกครองมณฑลบูรพาของชาติไทยในสมัยก่อน**  ปัญหาเขาพระวิหารจึงสะท้อนปัญหาเอกราชกัมพูชาในอดีตที่ส่งผลถึงอธิปไตยดินแดนในปัจจุบัน  สำหรับประเทศไทยปัญหาเขาพระวิหารสะท้อนปัญหาการรักษาเอกราชของประเทศไทยที่ถูกละเมิดโดยฝรั่งเศสและส่งผลให้ถูกละเมิดอธิปไตยดินแดนจากกัมพูชาในปัจจุบัน โดยมีชาติที่สามคือฝรั่งเศสเป็นผู้ผูกปมเงื่อนไว้นั่นเอง!! 

               จุดยืนของคณะธรรมยาตราชุดขาว จึงแจ่มชัด ดังปรากฏอยู่ในวรรคแรกของบทความของขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติเรื่อง เขาพระวิหารเป็นของใคร? ในเมื่อเมื่อพระตะบอง พิบูลสงครามเป็นของไทย  มีใจความว่า
 
              “.....ตามที่รัฐบาลกัมพูชาได้ทำการรุกล้ำเข้ามาในเขตไทยอีก      โดย  เสนอให้องค์การยูเนสโกขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก    ต่อมา  วันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๕๑        กระทรวงกลาโหมของไทยได้แถลงโดยสรุปว่า “ ท่าทีของประเทศกัมพูชา  ยังคงยืนยันเจตนารมณ์ในการขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารให้ได้     โดยพยายามเชิญชวนให้ประเทศต่าง ๆ ร่วมให้ความเห็นชอบ  และมีการสร้างหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เป็นเท็จ        คือหลักฐานเรื่องเส้นแบ่งเขต แดน เพื่อสร้างประโยชน์ให้ฝ่ายกัมพูชา        นอกจากนี้ยังแสดงท่าทีข่มขู่ไทยว่าอาจจะเกิดความขัดแย้งขั้นแรงได้  หากไทยพยายามขัดขวางเรื่องนี้.....    จะทำให้ดินแดนปราสาทเขาพระวิหารได้รับการยอมรับว่าเป็นของประเทศกัมพูชาโดยปริยาย         อาจทำให้ไทยต้องเสียดินแดน     หากการขึ้นทะเบียนไม่สำเร็จก็อาจกระทบรุนแรงต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาได้       จึงเสนอให้จำเป็นต้องกำหนดท่าทีดังนี้

๑.  ให้มีการประท้วงกัมพูชาอย่างเป็นทางการ
๒. ประณามการกระทำของกัมพูชา
๓. ให้รัฐบาลให้ลำดับความเร่งด่วนเป็นวาระแห่งชาติเตรียมพร้อม เผชิญสถานการณ์รุนแรงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
….”
 

 

 
 
              การหลงประเด็นของคนไทย
 
 
              การพูดความจริงไม่หมดเป็นอนันตริยกรรมต่อประเทศชาติ   ข้อโต้แย้งที่กระทรวงการต่างประเทศและคณะกรรมการมรดกโลก  มีประเด็นครอบคลุมแคบๆ อยู่เพียงเรื่องการเป็นเจ้าของตัวปราสาทและความคลุมเครือของการเป็นเจ้าของพื้นที่รายรอบตัวปราสาท   พื้นที่ในอาณาบริเวณปราสาทนั้นครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 4.6 ตารางกิโลเมตร  นำมาสู่ประเด็นพิพาทเรื่องเขตพื้นที่ทับซ้อนส่งผลให้เกิดการแย่งชิงผลประโยชน์กันอยู่ระหว่างไทยกับกัมพูชา ดังปรากฏอยู่ในเนื้อหาข่าว  พันธกิจที่ต้องทำร่วมกันระหว่างไทยกับกัมพูชาในเรื่องแผนการดำเนินการจัดการการบูรณปฏิสังขรณ์องค์ปราสาท  แต่กัมพูชาก็ชิงดำเนินการก่อนโดยมีสหรัฐ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น อิตาลี อินเดีย เกาหลีฯลฯ ให้ความช่วยเหลือเพื่อเป็นข้อมูลชี้แจงต่อคณะกรรมการมรดกโลก  และการที่ผู้แทนยูเนสโกประจำกรุงพนมเปญเห็นด้วยกัมพูชาที่อ้างสิทธิเหนือดินแดนบริเวณปราสาทพระวิหาร ตามการอ้างเพื่อขึ้นทะเบียนมรดกโลกโดยกัมพูชา
 
             ขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติเลือกนำเสนอเรื่องการทวงคืนมณฑลบูรพาตามอนุสัญญาโตเกียวค.ศ. 1941  จึงได้สรุปแต่ต้นว่ามิใช่เพียงแค่ตัวปราสาทพระวิหารและอาณาบริเวณรายรอบเป็นของไทยเท่านั้น  หากแต่จังหวัดพระตะบองและเสียมราฐอันเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของมณฑลบูรพาในอดีตก็เป็นของไทยด้วย      ประเด็นการถกเถียงกันเรื่องศาลโลกตัดสินในปี 2505 ว่าปราสาทเป็นของกัมพูชาเป็นอันตกไป   ข้อเท็จจริงคือข้อตกลงไทยฝรั่งเศส พ.ศ.๒๔๘๙(ค.ศ.๑๙๔๖)  ต้องถือเป็นโมฆะเพราะถึงแม้จะมีการนำเสนอประเด็นนี้รัฐสภาไทยก็จริง   แต่ก็มิได้มีการให้สัตยาบันเพื่อรับรองตามขั้นตอนของสภาอันทรงเกียรติ  เรื่องนี้เป็นเรื่องสะท้อนรูปแบบจารีตของสภาฯอันทรงเกียรติที่คนไทยสมัยนี้อาจไม่คุ้นกับธรรมเนียมที่ว่า  ทุกครั้งที่มีการเสนอประเด็นสำคัญในสภาจะต้องมีการลงสัตยาบันต่อสมาชิกทุกครั้งไป  หากไม่มีการลงสัตยาบันถือว่าญัตตินั้นยังไม่ได้การรับรอง  ซึ่งนับว่าเป็นกุศโลบายของ รัฐบาลปรีดี พนมยงค์ที่ไม่ยอมลงสัตยาบัน
 
             ส่วนการตัดสินของศาลโลกนั้นมิได้ถืออนุสัญญาโตเกียว พ.ศ.๒๔๘๔(ค.ศ.๑๙๔๑) เป็นหลักในการประกอบการพิจารณา   หากแต่ใช้กติกาสัญญาไทย-ฝรั่งเศส ที่สมบูรณ์เพียงฉบับเดียว        ผลบังคับของกติกาสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศสนั้นหากว่ากันตามกฎเกณฑ์แล้วย่อมมีผลบังคับใช้ มาจนถึงปัจจุบันเพราะรัฐสภาไทยได้ลงสัตยาบันรับรองอย่างถูกต้อง    มีผลให้มณฑลบูรพา   คือจังหวัดพระตะบองและจังหวัดพิบูลสงคราม ซึ่งเป็นดินแดนไทยของไทยอยู่ตลอดมา       เมื่อปราสาทพระวิหารอยู่ในดินแดนมณฑลบูรพาของไทยจึงเป็นของไทยตลอดมาเช่นเดียวกัน
 
            ดังนั้น ปัญหาที่รัฐบาลไทยและนักวิชาการหยิบจับมาถกเกียงกันอยู่ระหว่างที่ถูกรัฐบาลฮุนเซนรุกตลอดเวลาจึงไม่ถูกต้อง กลับเป็นการหลงประเด็นตามการเดินเกมของกัมพูชา        โดยแท้จริงแล้วประเทศไทยมีข้อเสนอเปิดเกมรุกที่เหนือชั้นกว่า เพราะปัญหาที่แท้จริงของข้อขัดแย้งดังกล่าวคือ ปัญหามณฑลบูรพา ๕ จังหวัดที่ฝรั่งเศสยึดเอาไปจากแผ่นดินไทย  อันประกอบด้วยจังหวัดพระตะบอง  จังหวัดพิบูลสงคราม  จังหวัดนครจำปาศักดิ์  และจังหวัดลานช้าง เป็นดินแดนของไทย ตามกติการะหว่างไทย-ฝรั่งเศส   หากเทียบอาวุธกันแล้ว  ย่อมเป็นกติกาสัญญาที่เหนือชั้นกว่าอย่างยิ่ง หากรัฐบาลไทยชุดปัจจุบันจะมีความเข้มแข็ง ทำเพื่อผลประโยชน์ชาติจริง  มิใช่ผลประโยชน์ของคนกลุ่มน้อยบางกลุ่มโดยเฉพาะในกลุ่มชนชั้นปกครองด้วยกันเอง
 
             หากมองในแง่มุมเรื่องการโต้แย้งแค่ตัวปราสาทและความต้องการบรรจุไว้เป็นมรดกโลกนั้น  ปราสาทเขาพระวิหารจึงเป็นของไทยอย่างแท้จริง เพราะ จังหวัดพระตะบองและพิบูลสงครามเป็นของไทยนั่นเอง !   
 
              ทว่าในแง่มุมนั้นยังไม่เพียงพอ  หากนี่จะเป็นการ “สร้างบรรทัดฐาน” ใหม่ให้แก่ประเทศแถบอุษาคเนย์และเอเชียแปซิฟิกทั้งหมดที่ถูกประเทศล่าอาณานิคมเข้าครอบครองในอดีต     การเคลื่อนของคณะธรรมยาตราจึงเป็น “ภารกิจทางประวัติศาสตร์” เกิดจากการตกผลึกทางความคิดและยึดถือแนวทางการ “ชำระประวัติศาสตร์” ด้วยการเปิดเผยข้อเท็จจริงทั้งทางการเมืองโลก ทางประวัติศาสตร์ที่ชนชั้นปกครองในประเทศไทยไม่กล้าหยิบมาพูดถึง  และที่สำคัญไม่เคยมีสื่อใดหรือหลักสูตรในระบบการศึกษาประเทศไทยเคยนำมาถ่ายทอดให้คนไทยด้วยกันรับรู้มาก่อนเลยถึงเหตุที่มาของการสูญเสียดินแดนในอดีต
 
              ดังนั้น  การเริ่มต้นอธิบายถึงต้นสายปลายเหตุของคณะธรรมยาตราจึงเริ่มขึ้น  โดยใช้ระยะทางการเดินธรรมยาตรากว่า 100 กิโลเมตรเป็นเงื่อนไขสำคัญ   ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย  นำไปสู่การผจญกับม็อบชาวบ้าน  การเผชิญหน้าของกลุ่มผลประโยชน์ชายแดนอย่างคาดไม่ถึง การเอาตัวรอดจากความรุนแรงด้วยหลักการต่อสู้อหิงสาพุทธ***    นับว่าเป็นภารกิจแห่งชีวิตของคณะธรรมยาตราที่ได้ทำหน้าที่พุทธบุตรท่ามกลางความแตกแยกทางความคิดของคนในสังคม  แม้จะเสี่ยงกับการประทุษร้ายทั้งทางกายและทางวาจา การเดินครั้งนี้เป็นการผจญภัยที่แสนคุ้มในการพิสูจน์ธรรมะพระพุทธองค์ด้วยหลักอหิงสาที่สามารถเอาชนะความรุนแรงได้ในหลายครั้ง   ซึ่งจะบอกเล่าในตอนต่อไป 
   
 
 
  
 
          

 
 
 
 
  
                            
  



Webboard is offline.