Revolutionary Press Agency : Online Journal and News Agency for Peace
สำนักสื่อปฏิวัติ  : วารสารข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
8 มิ.ย. 2554 กองหน้าประชาชนรุ่นใหม่ อนุสรณ์ สมอ่อน ตอบคำถามคาใจทำไมต้องปฏิวัติประชาธิปไตย? 
ธรรมะประชาธิปไตย "กงล้อแห่งธรรมแก้กงกำการเมือง"
พระมหาบุญถึง ชุตินฺธโร
ผู้อำนวยการสถาบันธรรมะประชาธิปไตย
สำนักสื่อปฏิวัติ : Revolutionary Press Agency (RPA)
๑๖ ก.ย.๒๕๕๒
  
  
  
บทที่๒
ลัทธิรัฐธรรมนูญทำลายพระพุทธศาสนา
ขัดขวางการสร้างประชาธิปไตย จะแก้ไขกันอย่างไร?

  
  
               ด้วยสภาร่างรัฐธรรมนูญได้ทำการร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ ๑๘ จำนวน ๓๐๙ มาตรา โดยผ่านการรับร่างไปเรียบร้อยแล้วด้วยมีเสียงเห็นชอบจำนวน ๙๘ เสียง และจะนำไปให้ประชาชนลงประชามติทั่วประเทศวันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ เพื่อเลือกตั้งทั่วไปโดยเร็วที่สุด ท่ามกลางการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจกันระหว่างขบวนการเผด็จการรัฐสภากับขบวนการเผด็จการรัฐประหารที่มีขบวนการเผด็จการคอมมิวนิสต์เป็นผู้ทำแนวร่วมอยู่ สถานการณ์ของประเทศยิ่งทวีความขัดแย้งรุนแรงเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง ยิ่งร่างรัฐธรรมนูญยิ่งแตกแยก ขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติร่วมกับขบวนการศาสนาเพื่อมนุษยชาติ จึงขอแถลงการณ์เพื่อทราบความจริงของสถานการณ์และมาตรการแก้ไขดังต่อไปนี้

             ๑. เมื่อโลกได้ใช้ระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมในยุคประวัติศาสตร์สมัยใหม่ไปได้ระดับหนึ่งแล้วจึงเกิดขบวนการเสรีนิยมทางการเมืองขึ้น ๓ ขบวน คือ ขบวนการรัฐธรรมนูญ ขบวนการประชาธิปไตย และขบวนการชาตินิยม

             ขบวนการรัฐธรรมนูญ คือ ขบวนการที่ต้องการจะสร้างรัฐธรรมนูญโทยไม่ได้ทำการสร้างประชาธิปไตย ระบอบการปกครองจึงยังคงเป็นระบอบเก่า คือ ระบอบเผด็จการ อำนาจอธิปไตยยังคงเป็นของคนส่วนน้อย ขบวนการรัฐธรรมนูญจึงเป็นขบวนการเผด็จการ เมื่อสะท้อนขึ้นเป็นระบบความคิด คือ ลัทธิรัฐธรรมนูญ ลัทธิรัฐธรรมนูญจึงเป็นลัทธิเผด็จการ
 
              ลัทธิรัฐธรรมนูญในประเทศไทยเริ่มต้นขึ้นโดยคณะราษฎร เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ ด้วยการโค่นล้มระบอบสมบูรณรญาสิทธิราชที่สถาบันพระมหากษัตริย์ทรงสร้างระบอบประชาธิปไตยตามลัทธิประชาธิปไตย กล่าวคือ สร้างประชาธิปไตยในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช ลัทธิรัฐธรรมนูญครอบงำปกครองประเทศไทยมาเป็นเวลา ๗๕ ปี จนกระทั่งบัดนี้ สร้างความทรุดโทรมและความเสื่อมสูญวิบัติล่มจมให้แก่ชาติ ศาสนาพุทธ พระมหากษัตริย์ และประชาชน

              ๒. ทฤษฎีของลัทธิรัฐธรรมนูญประกอบด้วย ๖ ทฤษฎี
 
              ๒.๑ ทฤษฎีทางปรัชญา คือ ยึดถือเป็นหลักนิติรัฐมิใช่ ยึดถือหลักนิติธรรม หลักนิติรัฐ คือ
ปกครองโดยกฎหมาย (Rule by Law) แต่หลักนิติธรรม คือ ปกครองโดยธรรมหรือหลักกฎหมาย ซึ่งเป็นหลักการปกครองหลักหนึ่งของปกครองแบบประชาธิปไตย
 
             ๒.๒ ทฎษฎีทางรัฐศาสตร์ คือ วงจรอุบาทว์ที่มีการรัฐประหารกับการเลือกตั้งแบบเผด็จการวิ่งวนอยู่รอบๆ แกนกลาง หรือนิวเคลียส (Nucleus) คือ “รัฐธรรมนูญ” มีรูปธรรม คือ รัฐประหาร ร่างรัฐธรรมนูญ เลือกตั้ง รัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ ร่างรัฐธรรมนูญ เลือกตั้ง
             ๒.๓ ทฤษฎีทางกฎหมาย คือ ยึดถือเป็นกฎหมายสูงสุด (Supreme Law) ทั้งๆ ที่โดยแท้จริงเป็นกฎหมายหลักหรือกฎหมายแม่บท (Principle Law)  เมื่อเห็นว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดจึงไม่เห็นว่าความมั่นคงแห่งชาติเป็นกฎหมายสูงสุดตามหลักนิติธรรม รัฐธรรมนูญจึงไม่ใช่กฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่เป็นความเห็นผิด ทฤษฎีผิดมิจฉาทิฏฐิ คือ เห็นผิดว่ากฎหมายหลักเป็นกฎหมายสูงสุด ความมั่นคงแห่งชาติต้องขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญ คือ รัฐธรรมนูญกลายเป็นเนื้อแท้ตัวจริงประเทศชาติและระบอบการปกครองกลายเป็นภาพสะท้อนของรัฐธรรมนูญ มีผลทำให้เห็นผิดว่า “ประเทศชาติและระบอบการปกครองทุกสิ่งทุกอย่างจะเป็นหรือตาย ขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญอย่างเดียวเท่านั้น” ซึ่งตรงข้ามกับหลักวิชา หรือ สัจธรรมความจริงแท้ (Truth & Reality) ว่า “รัฐธรรมนูญ คือ ภาพสะท้อนของประเทศชาติและระบอบการปกครองมิใช่เนื้อแท้ตัวจริง มิใช่หลักกฎหมายเป็นเพียงกฎหมายเท่านั้น”
 
             ๒.๔ ทฤษฎีทางประชาธิปไตย คือ เห็นผิดว่ารัฐธรรมนูญ คือ ประชาธิปไตย ผิดต่อหลักวิชาที่ถูกต้องเพราะรัฐธรรมนูญ คือ กฎหมาย (Law) ประชาธิปไตย คือ ระบอบการปกครอง (Regime) กฎหมายมาจากอำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นอำนาจของรัฐ กฎหมายจึงเป็นส่วนประกอบหนึ่งของรัฐมีหน้าที่รักษารัฐและระบอบการปกครอง แต่ประชาธิปไตยเป็นระบอบการเมืองมาจากนโยบาย นโยบายมาจากแนวทางความคิด แนวทางมาจากลัทธิที่ประกอบด้วยทฤษฎี รวมเรียกว่าอุดมการ (Ideology) ซึ่งต้องใช้ปกครองรัฐ ข้อเท็จจริงที่สะท้อนความเห็นผิดนี้ คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม สร้างอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญแต่กลับบิดเบือนตั้งชื่อว่า “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย” 
            เห็นผิดว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญจะทำให้ชาติเจริญ ผิดต่อหลักวิชาที่ถูกต้อง คือ ประชาธิปไตยต่างหากที่ทำให้ชาติเจริญ ดังหลักฐานทางประวัติศาสตร์ “หมุดทองเหลือง” ที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม สมาชิกปีกหนึ่งของคณะราษฎร ที่ฝังไว้ ณ ลานพระบรมรูปทรงม้าเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๓ มีข้อความว่า “ ณ ที่นี้ วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ” ส่วนหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่แสดงว่าประชาธิปไตยสร้างความเจริญให้แก่ชาติ คือ “พระบรมราโชบายแก้ไขการปกครองแผ่นดินสยามของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ ๕ และ พระบรมราโชบายสถาปนาการปกครองแบบประชาธิปไตยของสมเด็จพระปกเกล้าฯ รัชกาลที่ ๗” ซึ่งเป็นนโยบาย (Policy, Platform Program) ไม่ใช่กฎหมาย ดังข้อเท็จจริง ๔๐ ปี (พ.ศ.๒๔๓๕-พ.ศ.๒๔๗๕) ของการสร้างความเจริญให้แก่ชาติของพระมหากษัตริย์ ๓ รัชกาลในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชที่ทรงสร้างประชาธิปไตย และข้อเท็จจริง ๗๕ ปี (พ.ศ.๒๔๗๕-พ.ศ.๒๕๕๐) ของการสร้างรัฐธรรมนูญของคณะราษฎรและผู้สืบทอดโดยนักการเมืองพลเรือนและนักการเมืองทหารทำให้ชาติต้องทรุดโทรมหายนะวิบัติล่มจม
 
            เห็นผิดว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญ คือ เครื่องมือสร้างประชาธิปไตยดังเช่นคำปรารภของร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ ว่า “โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ ได้บัญญัติให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ และกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญขึ้น มีหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับสำหรับเป็นแนวทางการปกครองของประเทศไทยในวันข้างหน้า” และเห็นผิดว่ารัฐธรรมนูญคือนโยบายสร้างประชาธิปไตย หรือ นโยบายปฏิรูปการเมือง ดังข้อเท็จจริงที่ร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อสร้างประชาธิปไตยตลอดมา ดังเช่น ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งผิดหลักวิชาอย่างร้ายแรง คือ เอานโยบายไปขึ้นต่อกฎหมาย เท่ากับเอาการเมืองไปขึ้นต่อรัฐธรรมนูญหรือเอาระบบการเมืองไปขึ้นต่อระบบราชการ ดังเช่น เอาหัวเดินต่างเท้า หรือ เอาเท้าคิดต่างหัว นั่นเอง โดยแท้จริงแล้วนโยบายทางการเมืองต่างหาก คือ เครื่องมือสร้างประชาธิปไตย หรือเป็นเครื่องมือสร้างความเจริญให้แก่ชาติ หรือเป็นเครื่องมือปฏิรูปการเมืองที่ถูกต้องตามหลักวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ คือ เครื่องมือรักษาระบอบ หรือ รักษาประชาธิปไตย ที่สร้างโดยนโยบายเสร็จเรียบร้อยแล้ว นโยบายจึงมาก่อนกฎหมาย เหมือนธรรมต้องมาก่อนวินัยนั่นเอง นี่คือหลักวิชา เพราะหลักวิชามาจากความเจริงแท้ (Reality) ที่เป็นสภาวะที่ดำรงอยู่จริง นอกความคิดของมนุษย์ เมื่อมนุษย์สามารถสะท้อนความจริงแท้ภายนอกเข้ามาสู่ความคิดภายในซึ่งเป็นสัจธรรม นำมาใช้เป็นหลักวิชาแก้ปัญหาต่างๆ ได้ ดังนั้น ผู้เคารพหลักวิชาคือนักประชาธิปไตย แต่ผู้ไม่เคารพหลักวิชาคือเผด็จการ ซึ่งเป็นไปตามอมตะวาจาของรัฐบุรุษ โจวเอินไหล ว่า “เผด็จการย่อมโง่เสมอ” ความโง่อันเป็นอวิชชา ทุวิชา มิจฉาทิฏฐิย่อมพาไปสู่ความวิบัติฉิบหายดังพุทธภาษิตว่า “สุวิชาโน ภวัง โหติ ทุวิชาโน ปราภโว : ผู้รู้ถูกเป็นผู้เจริญ ผู้รู้ผิดเป็นผู้ฉิบหาย” ถ้าเป็นผู้มีอำนาจจะไม่ฉิบหายเฉพาะตัวเท่านั้น จะพาชาติบ้านเมืองฉิบหายตามไปด้วย
 
            เห็นผิดว่ารัฐธรรมนูญ คือ ลัทธิประชาธิปไตย ทำให้เห็นผิดว่าการปกครองระบอบเผด็จการรัฐสภา และระบอบเผด็จการรัฐประหาร คือ การปกครองระบอบประชาธิปไตยตลอดระยะเวลา ๗๕ ปี ดังเช่น คำปรารภของร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.๒๕๕๐ ว่า “โดยที่การปกครองของประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้ดำเนินมาวัฒนามากว่าเจ็ดสิบห้าปี” อีกทั้งผิดพลาดร้ายแรงยิ่งกว่านั้น คือ ลดพระราชฐานะของพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นประมุขของรัฐของประเทศมาเป็นประมุขของระบอบการปกครองอันจะมีผลทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเป็นไปเองโดยไม่รู้ตัว ดังเช่นใน มาตรา ๗ ของร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ “ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” พระมหากษัตริย์เป็นประมุขของรัฐของประเทศ (Head of State) ไม่ใช่เป็นประมุขของระบอบการปกครอง (Head of Government)

            เมื่อเห็นผิดว่าเผด็จการเป็นประชาธิปไตย หรือเห็นกงจักรเป็นดอกบัวก็จะไม่ยกเลิกเผด็จการ กลับรักษาเผด็จการไว้และพัฒนาปฏิรูปต่อไป เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๕๐ “ยิ่งปฏิรูปยิ่งเผด็จการ” แต่ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๕๐ นี้ “ยิ่งพัฒนายิ่งหายนะ” เป็นอุปสรรคอย่างใหญ่หลวงและภัยร้ายแรงต่อการสร้างประชาธิปไตย ยกเลิกเผด็จการเพื่อพัฒนาประเทศจากประเทศด้อยพัฒนา (ทางการเมือง) ขึ้นสู่ประเทศกำลังพัฒนา มุ่งสู่ประเทศพัฒนาแล้วต่อไป

             ๒.๕ ทฤษฏีทางลัทธิ คือ ยึดถือเอารัฐธรรมนูญเป็นสรณะเป็นที่พึ่งหรือเป็นสิ่งสูงสุดและเป็นความเชื่อสูงสุด ไม่เชื่อทฤษฎีหรือสิ่งอื่นใดสูงกว่านี้อีกแล้ว อันเป็นการยึดถือขั้นอุดมการ หรือขั้นลัทธิ คือ ลัทธิรัฐธรรมนูญ ซึ่งตรงกับความจริงหรือรัฐธรรมนูญ คือ กฎหมายหลัก หรือกฎหมายแม่บท ดังข้อเขียนของนายปรีดี พนมยงค์ ผู้ให้กำเนิดลัทธิรัฐธรรมนูญ เรื่องประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญเบื้องต้นกับการร่างรับธรรมนูญ ในข้อ ๓ เรื่องการร่างรัฐธรรมนูญ ว่า “ ๓.๑ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่เป็นแม่บทสูงสุดของกฎหมายทั้งหลาย” แต่หลังจากนายปรีดี ถึงแก่อนิจกรรมไปแล้วมีนักวิชาการของลัทธิรัฐธรรมนูญแอบตัดคำว่า “แม่บท” ออกให้เหลือเพียง “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมาย-สูงสุด” จนเห็นผิดกันตลอดมาถึงขั้นมาเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๕๐ และร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๕๐ ทำให้เห็นผิดว่ากฎหมายหลักเป็นกฎหมายสูงสุด และพัฒนาความเห็นผิดสูงขึ้นไปอีกว่าจากกฎหมายสูงสุดกลายเป็นความเชื่อสูงสุดทางการเมือง คือ ลัทธิการเมือง ไม่ใช่กฎหมายอีกต่อไปแล้ว กล่าวคือจะทำอะไรทางการเมืองจะต้องขึ้นต่อรัฐธรรมนูญอย่างเดียวเด็ดขาดเบ็ดเสร็จ แม้จะสร้างประชาธิปไตยหรือพัฒนาการเมือง (ปฏิรูป) หรือนิรโทษกรรมคณะรัฐประหารก็ต้องขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญเท่านั้น

            ในทางพระพุทธศาสนา ลัทธิรัฐธรรมนูญเป็นมิจฉาทิฏฐิ หรือมิจฉาทฤษฎี หรือ ความเห็นผิด นอกจากนั้นแล้วยังมีการยึดมั่นในความเชื่อนี้ ถึงขั้นเป็น “ทิฏฐุปาทาน” คือ “ความยึดมั่นในทิฏฐิ หรือ ทฤษฎี คือ ความเห็น ลัทธิ ในความเชื่อนี้ หรือหลักคำสอนต่างๆ” (จากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ฉบับประมาลธรรม โดย พระธรรมปิฎก (ปอ.ปยุตโต) – สมณศักดิ์ขณะนั้น) ดังนั้น ลัทธิรัฐธรรมนูญที่เป็นมิจฉาทิฏฐิจะทำให้ผู้ถือลัทธินี้จึงเป็นพวก “อุปาทาน” ไม่ใช่พวก “สมาทาน” ลัทธิรัฐธรรมนูญจึงไม่ใช่สรณะ “พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และประชาธิปไตยในขั้นโลกียธรรม” ต่างหากคือสรณะที่แท้จริง

            ๒.๖ ทฤษฎีการร่างรัฐธรรมนูญ คือ เปลี่ยนมรรควิธีการร่างรัฐธรรมนูญผิดหลักวิชาของประชาธิปไตยสากลที่ถูกต้องตามลัทธิประชาธิปไตย มาเป็นมรรควิธีการร่างรัฐธรรมนูญผิดหลักวิชาตามลัทธิรัฐธรรมนูญ คือ ไม่ร่างตามหลักวิชาโดยผู้รู้แต่กลับร่างโดยผู้มีอวิชชาโดยประชามติแบบเผด็จการ เช่นเดียวกับการสร้างตึกจะต้องสร้างโดยหลักวิชาด้วยวิศวกร จะใช้อวิชชาหรือประชามติมาสร้างตึกไม่ได้ คือ ต้องถือธรรมธิปไตยไม่ใช่โลกาธิปไตย หรืออัตตาธิปไตย เพราะประชามตินั้นไม่ได้วัดที่จำนวนคน เราวัดที่การสะท้อนผลประโยชน์ของปวงชนเป็นสำคัญ คนคนเดียวมีหลักวิชาก็สะท้อนประชามติแบบประชาธิปไตยได้ แต่คนจำนวนมากที่ผิดหลักวิชาก็ไม่ใช่ประชามติ

             มรรควิธี วิธีคิดในการร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกต้องตามหลักวิชานั้นจะต้องร่างหรือสะท้อนภาพสิ่งที่ดำรงอยู่จริงก่อนแล้ว (Ontology Existence) คือ สะท้อนภาพระบอบการปกครองของรัฐและความเป็นชาติ ตามลักษณะและหน้าที่ของกฎหมายที่รักษาสถานการณ์โดยเฉพาะคือ กฎหมายหลักหรือกฎหมายรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่กฎหมายลูก หรือกฎหมายสูงสุด ไม่ใช่นโยบาย ดังเช่น ทารกในท้องแม่ถ้ายังไม่คลอดออกมาก็ยังไม่มีกฎหมายรับรองว่าเป็นคน คือ ต้องเกิดคนขึ้นก่อนจึงมีกฎหมายรักษาไว้ ไม่มีกฎหมายใดจะร่างก่อนสถานการณ์ “กฎหมายย่อมล้าหลังสถานการณ์เสมอไป” ดังคำกล่าวของนักปราชญ์ทางกฎหมายว่า “Social Change Law Change” ไม่ใช่เอากฎหมายไปเปลี่ยนสังคม แต่ต้องเอากฎหมายมารักษาสังคมที่เปลี่ยนมาแล้วไว้

             ความสัมพันธ์ระหว่างรูปแบบ (Form) กับเนื้อหา (Content) นั้นเนื้อหาชี้ขาดรูปแบบ หรือ รูปแบบขึ้นต่อเนื้อหา ไม่ใช่เนื้อหาขึ้นต่อรูปแบบ ดังเช่น ประชาธิปไตยขึ้นต่อรัฐธรรมนูญ หรือ รูปแบบกำหนดเนื้อหา เพราะยึดถือรูปแบบสำคัญสูงสุดเข้าไม่ถึงเนื้อใน สัมพันธภาพระหว่างเหตุ (Cause) และผล (Effect) เหตุมาก่อนเป็นปฐมภูมิ (Primary) ผลมาภายหลังเป็นทุติยภูมิ (Secondary) ประชาธิปไตยคือเหตุ รัฐธรรมนูญคือผล ดังนั้นประชาธิปไตยจึงมาก่อน รัฐธรรมนูญมาทีหลัง ดังเช่นประวัติศาสตร์การร่างรัฐธรรมนูญในประเทศประชาธิปไตยทั้งหลาย ต้องสร้างประชาธิปไตยก่อน แล้วจึงร่างรัฐธรรมนูญทีหลัง แต่ประเทศไทยเข้าใจผิดว่าสร้างประชาธิปไตยแล้วและเป็นประชาธิปไตยแล้วเลยร่างรัฐธรรมนูญกันขนานใหญ่มากมายตั้ง ๑๗-๑๘ ฉบับ ทั้งๆ ที่ความจริงยังเป็นเผด็จการอยู่ จึง “ร่ำรวยรัฐธรรมนูญ แต่ยากจนประชาธิปไตย” ที่สุดในโลก หรือ แม้จะเห็นว่าเป็นระบอบเผด็จการรัฐประหารจะสร้างประชาธิปไตยในขณะนี้ โดย คมช. ก็ยังใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือสร้างทำหน้าที่เป็น “แนวทาง” และ “นโยบาย” ร่างรัฐธรรมนูญแบบวิริสสมารามากขั้นหลายตอนซับซ้อนพิสดารพันลึก ทั้งการตั้งสมัชชาแห่งชาติ ๒,๐๐๐ คน แล้วเลือกเหลือ ๒๐๐ คน คมช.เลือกซ้ำอีกเหลือ ๑๐๐ คน ระดมความคิดคยวามเห็นกันขนานใหญ่ “ร่วมคิด ร่วมสร้าง ร่วมร่าง รัฐธรรมนูญ” ร่างเสร็จแล้วนำไปให้ประชาชนลงประชามติกลับมีพระภิกษุสงฆ์ประชาชนคัดค้านต่อต้าน “คว่ำบาตร” ขนานใหญ่อย่างหว้างขวางไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย “ยิ่งร่างรัฐธรรมนูญ ยิ่งแตกแยกมิคสัญญีกลียุค”

           ๓. การร่างรัฐธรรมนูญโดยไม่สร้างประชาธิปไตยจึงเป็นการร่างรัฐธรรมนูญภายใต้ระบอบเผด็จการที่กำลังต่อสู้กันระหว่างเผด็จการรัฐสภากับเผด็จการรัฐประหาร ประชาชนถูกดึงเข้าไปร่วมการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจกันเองของเผด็จการ ๒ พวก พวกหนึ่งดึงประชาชนไปร่วมร่างรัฐธรรมนูญร่วมรับรัฐธรรมนูญ ร่วมเลือกตั้งของตนเอง อีกพวกหนึ่งดึงประชาชนไปร่วมต่อต้านการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อขับไล่โค่นล้มเผด็จการรัฐประหารกล่าวถึงที่สุดแล้วเป็น การต่อสู้กันเองภายในขบวนการเผด็จการส่วนประชาชนนั้นจะไม่ได้ประโยชน์อะไรทั้งสิ้น ทั้ง ๒ ฝ่าย ต่างฝ่ายต่างอ้างว่าจะทำให้ประชาขนเป็นใหญ่ในแผ่นดินถ้าเข้าร่วมกับฝ่ายตน แต่โดยแท้จริงแล้ว “ประชาชนจะไม่เป็นใหญ่ แต่ประชาชนจะเป็นเหยื่อ”  ถ้าเข้าร่วมทั้งฝ่าย “รับหรือล้ม”  รัฐธรรมนูญ เพราะฝ่ายต่อต้านค้านค้านขับไล่โค่นล้มฯ ก็จะเอาระบอบเผด็จการรัฐสภากลับคืนมาอีก ฝ่ายผู้ถืออำนาจรัฐปัจจุบันก็จะร่างแต่รัฐธรรมนูญไม่สร้างประชาธิปไตย แม้จะมีรัฐธรรมนูญหรือมีการเลือกตั้งก็จะจบลงด้วยความเป็นระบอบเผด็จการที่หลอกว่าเป็นประชาธิปไตยเช่นเดิม แม้คมช. หรือ รัฐบาลจะมีเจตนาเพื่อให้มีประชาธิปไตยก็ตาม แต่สร้างประชาธิปไตยด้วยการร่างรัฐธรรมนูญนั้นไม่ได้ประชาธิปไตย แต่จะได้เผด็จการ ฝ่ายต่อต้านคัดค้านขับไล่โค่นล้มซึ่งไม่ยอม และยังเคลื่อนไหวได้เพราะเป็นเผด็จการไม่เป็นประชาธิปไตย ถ้าสร้างประชาธิปไตยให้แล้วเสร็จเสียก็จะไม่มีเงื้อนไขทำม็อบโค่นล้มอะไรได้ เพราะไม่มีเผด็จการให้โค่นล้ม แต่ถ้ายังคงเป็นเช่นสถานการณ์ปัจจุบันนี้ก็จะเข้าลักษณะ “ช้างเผด็จการชนกันประชาชนรากหญ้าแหลกลาญ” เป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยต่อไปไม่รู้จบ
 
       ๔. ลัทธิรัฐธรรมนูญเป็นแกนกลางหรือหัวใจหรือนิวเคลียส  (Nucleus) ของเผด็จการทั้ง ๒ ขั้ว ถ้ายังคงรักษาลัทธิรัฐธรรมนูญไว้ต่อไปก็จะยกเลิกวงจรอุบาทว์ทางการเมืองของไทยนี้ไม่ได้ ไม่ว่าจะต่อสู้กันใหญ่โตขนาดไหน หรือ ร่างรัฐธรรมนูญมามากมายแค่ไหนก็ตาม หรือ ประชาชนจะเข้าร่วมกับฝ่ายใดก็ตาม หรือไม่ร่วมกับฝ่ายใดก็ตาม ไปทางซ้ายก็เป็นเผด็จการรัฐสภา หันไปทางขวาก็เผป็นเผด็จการรัฐประหาร ประชาชนจึงอยู่ระหว่างเขาควาย (Dilemma) หรืออยู่ระหว่างเผด็จการ ๒ ขั้ว ๒ ฝ่าย ๒ รูป ๒ พวก

         ปัญหาของชาติในขณะนี้ไม่ใช่ปัญหารัฐธรรมนูญ หรือ ปัญหาเลือกตั้ง แต่เป็นปัญหาประชาธิปไตย จะต้องแก้ปัญหาประชาธิปไตยให้ตก คือ สร้างประชาธิปไตยให้แล้วเสร็จ ฉะนั้น ทั้ง ๒ ฝ่าย ทั้งฝ่ายรับและฝ่ายล้มร่างรัฐธรรมนูญก็ไม่ถูกทั้งคู่ ประชาชนจึงไม่เข้าร่วม แม้จะบังคับประชาชนรับหรือดึงประชาชนเข้าร่วมต่อต้านสักปานใดก็ตาม  ฉะนั้น ทางสายกลางที่ถูกต้อง คือ “สร้างประชาธิปไตย” ไม่ใช่ “ล้มหรือรับ” ร่างรัฐธรรมนูญ และไม่ใช่เลือกตั้งเร็วหรือเลือกตั้งช้า

         ๕. ขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติและขบวนการศาสนาเพื่อมนุษยชาติรวมทั้งพันธมิตร สหธรรมิก จึงขอเสนอต่อทุกฝ่ายทั้งฝ่ายรับและฝ่ายล้ม “ร่างรัฐธรรมนูญ” และโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเสนอต่อประชาชนรวมทั้งพระเจ้าพระสงฆ์และชาวพุทธ ขอให้เดินทางสายกลางหรือสายถูก คือ สร้างประชาธิปไตย ไม่เดินทางสายผิดหรือทางนรก หรือทางเผด็จการทั้ง ๒ ทางที่สุดโต่ง ดังมาตรการดังต่อไปนี้
         ๕.๑ ขอให้ประชาชนรวมทั้งพระเจ้าพระสงฆ์และชาวพุทธพิจารณาด้วยสัมมาทิฏฐิ มีวิชชา คือ ปัญญาอันชอบ ไม่เดินทางลัทธิรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะรับหรือจะล้มก็ตามยังเป็นการตกอยู่ในลัทธิรัฐธรรมนูญอยู่ดี เพราะไม่ใช่แนวทางลัทธิประชาธิปไตย “ประชาชนไม่เป็นใหญ่” แต่ “ประชาชนจะเป็นเหยื่อ” เพราะเป็นการต่อสู้กันภายในขบวนเผด็จการด้วยกันเอง ประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไรด้วยแม้แต่น้อยเช่นเดียวกับประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ๗๕ ปี ประชาชน และ พระจ้าพระสงฆ์ชาวพุทธต้องหันมาเดินตามแนวทางอันเป็นทางสายกลาง คือ “สร้างประชาธิปไตย” ตามแนวทางสมเด็จพระปกเกล้าฯ ที่ทรงสืบทอดมาจากสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง คือ พระบรมราโชบายสถาปนาการปกครองแบบประชาธิปไตยนโยบาย ๖๖/๒๓ หรือ นโยบายแห่งชาติ ที่ขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติและพันธมิตรทั้งสิ้นโดยเสนอมายาวนานแล้ว

        ๕.๒ ขอเสนอให้ คมช. และ รัฐบาลยุติการสร้างรัฐธรรมนูญลงไว้ชั่วคราวก่อน และรีบสร้างประชาธิปไตยด้วยนโยบาย ๖๖/๒๓ หรือนโยบายแห่งชาติให้แล้วเสร็จเสียก่อน แล้วจึงเดินหน้าสร้างรัฐธรรมนูญ ลงประชามติ และเลือกตั้งทั้วไปภายใต้การปกครองแบบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นโครงสร้างระบอบใหม่ต่อไป มิฉะนั้นถ้า คมช. และรัฐบาลยังเดินหน้าตามลัทธิรัฐธรรมนูญต่อไปก็จะเกิดมิคสัญญีกลียุคแผ่นดินลุกเป็นไฟเกิดสงครามกลางเมืองอาจนำไปสู่ความสิ้นชาติสิ้นแผ่นดินในที่สุดอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้แม้แต่น้อย
        ๕.๓ ขอเสนอให้กองทัพแห่งชาติซึ่งเป็นกำลังที่เป็นฐานให้แก่อำนาจทางการเมือง รักษาความมั่นคงแห่งชาติอันเป็นกฎหมายสูงสุด ปฏิบัตินโยบาย ๖๖/๒๕๒๓ ขั้นตอนที่ ๒ คือ สร้างประชาธิปไตยระดับสูง “สร้างอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน สร้างเสรีภาพของบุคคลบริบูรณ์ และกระจายทุนสู่มือของประชาชนทั่วประเทศ ฯลฯ” โดย กองทัพแห่งชาติผลักดัน คมช. และรัฐบาลให้ยุติ การสร้างรัฐธรรมนูญ หันมาสร้างประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุดก่อนจะสายเกินแก้ ช้าเกินกว่าจะกอบกู้อันเป็นการรักษาความมั่นคงแห่งชาติซึ่งเป็นการปฏิบัติกฎหมายสูงสุด ที่เป็นภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์ของกองทัพแห่งชาติ

       ๕.๔ ขอเสนอให้ฝ่ายต่อต้านคัดค้านขับไล่โค่นล้ม คมช. และรัฐบาล ละทิ้งการเคลื่อนไหวเพื่อนำเอาเผด็จการรัฐสภากลับมาอีก ยุติการเคลื่อนไหวขับไล่โค่นล้ม คมช. หรือ ล้มร่างรัฐธรรมนูญลงอย่างสิ้นเชิง แล้วหันมาร่วมกันเคลื่อนไหวผลักดันการสร้างประชาธิปไตย กับขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติ และพันธมิตรยกระดับม็อบ (Mob) ฝูงชนขั้นปฐมภูมิขึ้นสู่มวลชน (Mass) ประชาธิปไตยขั้นทุติยภูมิ โดยยกระดับอุดมการหรือวิธีคิดจากลัทธิรัฐธรรมนูญขึ้นสู่ลัทธิประชาธิปไตย อันเป็นการติดอาวุธทางความคิดใหม่นั่นเอง
 
 
 
 
 
เรียบเรียงจากแถลงการณ์ ขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติ ขบวนการศาสนาเพื่อมนุษยชาติ เรื่อง ลัทธิรัฐธรรมนูญทำลายพระพุทธศาสนา ขัดขวางการสร้างประชาธิปไตย จะแก้ไขกันอย่างไร?
วันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๐ ณ ห้องทับทิม โรงแรมรัตนโกสินทร์ ถนนราชดำเนิน สนามหลวง กรุงเทพฯ ตั้งแต่เวลา ๑๕.๐๐-๒๒.๐๐ น. โดย นายชิงชัย มงคลธรรม รักษาการประธานคณะกรรมการบริหารขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติ ในการประชุมอภิปรายของขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติ ขบวนการศาสนาเพื่อมนุษยชาติ และ พันธมิตร สหธรรมิก
 
 
 
 
 

  
 
 
 



Webboard is offline.