Revolutionary Press Agency : Online Journal and News Agency for Peace
สำนักสื่อปฏิวัติ  : วารสารข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
8 มิ.ย. 2554 กองหน้าประชาชนรุ่นใหม่ อนุสรณ์ สมอ่อน ตอบคำถามคาใจทำไมต้องปฏิวัติประชาธิปไตย? 
 
อุปสรรคความสำเร็จการปฏิวัติประชาธิปไตยในประเทศไทย ตอน ๑๑
 
เขียนโดย ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร โพส  ๑๖ กันยายน ๒๕๕๒ : ๑๓.๒๕ น.
 
ผู้นำที่แท้จริงของคณะราษฎร
  
 
 
                (ต่อจากตอนที่แล้ว)
 
              
 
                ย้อนไปพูดถึงแถลงการณ์ฉบับแรกของคณะราษฎร ถึงแม้พระยาพหลฯจะเป็นหัวหน้าคณะราษฎร หรือหลายคนเรียกท่านว่าเป็นผู้นำคณะราษฎร แต่ท่านก็ไม่ได้เป็นผู้ร่างแถลงการณ์นั้น   ผู้ร่างแถลงการณ์นั้นคืออาจารย์ปรีดี หมายความว่าหัวหน้าหรือผู้นำเป็นผู้อ่านแถลงการณ์ แต่ผู้นำที่แท้จริงเป็นผู้ร่างแถลงการณ์
 
                คำแถลงการณ์ฉบับแรกของคณะราษฎรนั้น  บรรจุนโยบายของคณะราษฎรไว้ด้วย คือหลัก 6 ประการ และใครก็รู้ว่าอาจารย์ปรีดีเป็นผู้กำหนดนโยบายนั้นของคณะราษฎร   และอาจารย์ปรีดีผู้กำหนดยุทธศาสตร์ของคณะคือ  ยุทธศาสตร์ Coupd’etat หรือยุทธศาสตร์รัฐประหาร ได้เชิญบรรดาเสนาบดีและปลัดทูลฉลองของทุกกระทรวง มาประชุม ณ พระที่นั่งอนันตสมาคมเวลา 16.00 น.  นายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา  หัวหน้าคณะราษฎรได้กล่าวเปิดประชุม  แล้วได้มอบให้หลวงประดิษฐมนูธรรม เป็นผู้กล่าวชี้แจงต่อที่ประชุมผู้แทนคณะราษฎร   หลวงประดิษฐมนูธรรมได้กล่าวชี้แจงถึงความประสงค์ที่คณะราษฎรได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนี้และชี้แจงกิจการต่างๆที่คณะราษฎรจะดำเนินการต่อไปในระยะแรกนี้ สรุปมีใจความสำคัญๆดังนี้

                1. คณะราษฎรได้ยึดอำนาจการปกครองประเทศไว้แล้ว
                2. มีผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารเป็นผู้ใช้อำนาจการปกครองประเทศชั่วคราว
                3. ได้เชิญอภิรัฐมนตรี พระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์และข้าราชการบางท่าน มาที่พระที่นั่งอนันตสมาคมพื่อประกันความปลอดภัยของคณะราษฎร
                4. ได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กลับจากพระราชวังไกลกังวล หัวหินมากรุงเทพฯ ทูลขอให้เป็นพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
                5. ได้เตรียมสร้างรัฐธรรมนูญการปกครองอาณาจักรไว้แล้ว  จะทูลเกล้าฯถวายเพ่อลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้เป็นหลักการปกครองประเทศต่อไป
               6. ต่อไปจะมีสภาผู้แทนราษฎรขึ้น สมาชิกของสภาจะต้องเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งจากราษฏร แต่ในขั้นต้น จะตั้งจากบุคคลที่ได้ร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งได้รับ  การศึกษา มีความรู้ในระบอบการปกครองนี้บ้าง และจะได้เชิญท่านผู้ใหญ่ในราชการและผู้ประกอบอาชีพอื่นที่เป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง มาร่วมเป็นสมาชิกสภาเป็นการชั่วคราว ชั่วระยะอันเร็ววัน

                 ขอให้เสนาบดีและปลัดทูลฉลองไปชี้แจงต่อข้าราชการในกระทรวง ให้ปฏิบัติราชการไปตามปกติ  สิ่งใดที่เป็นงานปกติก็ให้ปฏิบัติงานนั้นไปตามระเบียบที่เคยกระทำมา แต่ถ้าปัญหาใดเป็นปัญหานโยบาย ก็ให้ขอความเห็นชอบจากผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารก่อน

                 ก่อนเลิกประชุม หลวงประดิษฐมนูธรรม ได้กล่าวย้ำว่า สำหรับความสงบเรียบร้อยในประเทศนั้น ขอให้ปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รับผิดชอบสำหรับกรุงเทพฯนั้นให้กำชับตำรวจให้กวดขันดูแลโดยเคร่งครัด  ทางฝ่ายหัวเมืองก็กำชับให้รักษาความสงบอย่างเต็มที่  ส่วนด้านการต่างประเทศนั้น  ขอให้เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศรีบชี้แจงแก่ทูตทุกสถานทูตให้ทราบความประสงค์ของคณะราษฎรที่กระทำครั้งนี้ว่า  เป็นการเปลี่ยนแปลงกิจการภายในประเทศ คณะราษฎรจะไม่กระทำกิจการใดๆให้กระทบกระเทือนชีวิตและทรัพย์สินของคน(ใน) บังคับต่างประเทศเป็นอันขาด สัญญาทางพระราชไมตรีมีอยู่อย่างใดคงถือตามนั้นต่อไป ทั้งขอให้ระวังการแทรกแซงของต่างประเทศด้วย”   (จากบันทึกของนายประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์ อดีตเลขาธิการรัฐสภา)

                 จะเห็นได้ว่า ในการประชุมเสนาบดีและปลัดทูลฉลอง หัวหน้าหรือผู้นำของคณะราษฎรไม่ได้ว่าอะไรเลย นอกจากกล่าวเปิดประชุม อาจารย์ปรีดีว่าคนเดียว

                 และในเย็นวันที่ 26 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรเข้าเฝ้าสมเด็จพระปกเกล้า ณ วังสุโขทัย อาจารย์ปรีดีในฐานะผู้แทนคณะราษฎร ทูลเกล้าฯถวายร่างรัฐธรรมนูญเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้น อาจารย์ปรีดีร่างเอง
 
                 เมื่อเปิดสภาในวันที่ 28 มิถุนายน ที่ประชุมมอบให้อาจารย์ปรีดีเป็นเลขาธิการรัฐสภาคนแรก และการเลือกตั้งคณะกรรมการราษฎร อาจารย์ปรีดีก็เป็นผู้แนะนำให้ตั้งพระยามโนฯเป็นประธานคณะกรรมการราษฎร
 
                 คุณประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์ ซึ่งเป็นคนหนึ่งในบรรดาผู้สร้างรัฐสภาไทย เล่าให้ผมฟังว่า ท่านได้เห็นกับตาว่าทุกเรื่องอาจารย์ปรีดีเป็นคนทำทั้งนั้น คนอื่นทำอะไรไม่เป็นในเรื่องการสร้างระบบรัฐสภา
 
                 รวมความว่า ตั้งแต่ก่อตั้งคณะราษฎร กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ของคณะราษฎร การวางแผนร่างโครงการและการปฏิบัติต่างๆ ในการยกเลิกระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช และสถาปนาการปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญนั้น เป็นเรื่องของอาจารย์ปรีดี เป็นสำคัญที่สุด  และข้อเท็จจริงที่ผมยกมานี้เป็นส่วนน้อย ถ้าจะเอาให้หมดก็พูดไม่หวาดไหว ด้วยเหตุนี้ อาจารย์ปรีดีจึงได้ฉายาว่า “มันสมอง” ของคณะราษฎร

                 จากที่กล่าวมานี้ เราจะได้เห็นผู้นำคนสำคัญ  2 คนของคณะราษฎรคือพระยาพหลฯกับอาจารย์ปรีดี

                 ต่อมาเกิดผู้นำคนสำคัญขึ้นอีกคนหนึ่งของคณะราษฎร คือหลวงพิบูลสงครามซึ่งต่อมาเป็นจอมพลป.พิบูลสงครามนั้นโน้มเอียงไปในทางสร้างระบอบเผด็จการทหาร จึงเป็นผู้นำระดับต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับพระยาพหลฯและอาจารย์ปรีดี ผู้นำคนสำคัญของคณะราษฎรมีเพียง 3 คนนี้เท่านั้น นอกนั้นเป็นผู้นำที่ไม่สำคัญ อย่างเช่น พลโทประยูร พระยาทรงฯ ท่านก็เป็นผู้นำแต่ไม่สำคัญ
 
                 ทีนี้ลองเปรียบเทียบผู้นำสำคัญ 3 คนกันดู อาจารย์ปรีดีเป็นคนเดียวที่ใครๆยอมรับว่าเป็น “มันสมอง” ของคณะราษฎร พระยาพหลฯและหลวงพิบูลฯไม่เป็นที่ยอมรับว่าเป็นมันสมองของคณะราษฎร  และหลวงพิบูลอยู่ในระดับต่ำ เพราะโน้มเอียงทางสร้างระบอบเผด็จการทหารดังกล่าวแล้ว และเป็นผู้นำอยู่ได้เพียง 6 ปีเท่านั้น แต่อาจารย์ปรีดีเป็นผู้นำมาตลอดอายุของคณะราษฎร  คือตั้งแต่วันก่อตั้งคณะราษฎรเมื่อพ.ศ. 2470 จนถึงวันสิ้นสุดของคณะราษฎรเมื่อเสร็จสงครามโลกครั้งที่สอง หมายความว่าอาจารย์ปรีดีเป็นผู้นำคณะราษฎรจนหมดอายุของคณะราษฎรซึ่งเป็นเวลาเกือบ 20 ปี แต่เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้อาจารย์ปรีดีเป็นผู้นำที่เหนือกว่าผู้นำคนอื่นของคณะราษฎรคือ ความเป็นมันสมองของคณะรษษฎร    ความเป็นมันสมองหมายความถึงความเป็นผู้นำทางการเมืองนั่นเอง ความเป็นผู้นำของพระยาพหลฯแม้ว่าจะสำคัญเพียง  แต่ก็สำคัญในด้านความเป็นผู้นำทางทหาร ความเป็นผู้นำทางการเมืองและทางทหารนั้น ถ้าเป็นผู้นำทางการเมืองและทางทหารนั้น  ถ้าเป็นอย่างถูกต้องอยู่ในคนๆเดียวกันก็ดีที่สุด  แต่ถ้าแยกกันอยู่ในคนละคน  ผู้นำทางการเมืองย่อมสำคัญกว่าผู้นำทางทหาร  ผู้นำทางการเมือ เพราะความสำเร็จหรือความล้มเหลวของการปฏิวัติประชาธิปไตย  ชี้ขาดด้วยความเป็นผู้นำทางการเมืองว่าถูกหรือผิด
 
                 ฉะนั้น ผู้นำทางการเมืองของคณะปฏิวัติประชาธิปไตย ซึ่งจะเรียกว่ามันสมองหรืออะไรก็แล้วแต่ จึงเป็นผู้นำที่แท้จริงของคณะปฏิวัติประชาธิปไตย
 
                อาจารย์ปรีดีเป็นผู้นำทางการเมืองซึ่งได้ฉายาว่าเป็นมันสมองของคณะราษฎรตั้งแต่ต้นจนจบ ผมจึงเห็นว่าอาจารย์ปรีดีเป็นผู้นำที่แท้จริงของคณะราษฎร และเห็นว่าทรรศนะที่ว่าอาจารย์ปรีดีไม่ใช่ผู้นำที่แท้จริงของคณะราษฎรนั้นไม่ถูกต้อง
 
 
 
 
 
 
 

              
 
 
 
               (อ่านต่อตอนหน้า)
 
 
 
 
 
             อ่านย้อนหลัง...
 
 
 
 
 
 
 



Webboard is offline.