Revolutionary Press Agency : Online Journal and News Agency for Peace
สำนักสื่อปฏิวัติ  : วารสารข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
8 มิ.ย. 2554 กองหน้าประชาชนรุ่นใหม่ อนุสรณ์ สมอ่อน ตอบคำถามคาใจทำไมต้องปฏิวัติประชาธิปไตย? 
ธรรมะประชาธิปไตย "กงล้อแห่งธรรมแก้กงกำการเมือง"
พระมหาบุญถึง ชุตินฺธโร
ผู้อำนวยการสถาบันธรรมะประชาธิปไตย
สำนักสื่อปฏิวัติ : Revolutionary Press Agency (RPA)
๔ ก.ย.๒๕๕๒
  
  
  
บทที่๑
แก้รัฐธรรมนูญมิจฉาทิฏฐิด้วย สัมมาทิฏฐิแห่งพระพุทธศาสนา

 
  
  
              ในขณะที่ระบอบเผด็จการ ๒ ขั้ว คือ เผด็จการรัฐประหารกับเผด็จการรัฐสภาที่มีเผด็จการคอมมิวนิสต์กำลังทำแนวร่วมอยู่ได้ต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันอย่างรุนแรงแตกหักเอาเป็นเอาตาย ฝ่ายเผด็จการรัฐประหารใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือทำลายฝ่ายเผด็จการรัฐสภาโดยให้ประชาชนลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๕๐ ฝ่ายเผด็จการรัฐสภาใช้รัฐธรรมนูญเป็นเงื่อนไขเคลื่อนไหวขับไล่โค่นล้มเผด็จการรัฐประหารโดยให้ประชาชนลงประชามติล้มร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อล้ม คมช. ล้มสถาบันสำคัญของชาติและที่สำคัญได้ใช้เงื่อนไขที่ สสร. ไม่บัญญัติพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ มาเป็นเงื่อนไขรณรงค์ชักจูงพระภิกษุสงฆ์จำนวน ๔ แสนรูปและชาวพุทธ ๖๒ ล้านคนเข้าร่วมเป็นกำลังให้แก่ฝ่ายตนเพื่อเข้าขับไล่โค่นล้ม คมช.กองทัพแห่งชาติ สถาบันสำคัญของชาติและมีพระภิกษุและชาวพุทธบางส่วนเข้าร่วมการต่อสู้อย่างเป็นไปเองด้วยความรัก พระพุทธศาสนาอย่างบริสุทธิ์ใจ ทำให้สถานการณ์แตกแยกต่อสู้กันอย่างรุนแรงขึ้น อย่างรวดเร็วกำลังจะนำไปสู่การจลาจลนองเลือดมิคสัญญีกลียุคแผ่นดินลุกเป็นไฟคนไทยใกล้จะฆ่ากันเองเป็นสงครามกลางเมือง ประเทศชาติและประชาชนกำลังใกล้จะวิบัติหายนะล่มจม

              แต่เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๐ มหาบพิตรสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้ทรงมีพระราชเสาวนีย์ ณ ศาลาดุสิตดาลัย สวนจิตรดา พระราชทานแด่คณะรัฐมนตรี ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ นิสิต นักศึกษา พ่อค้า ประชาชน และผู้แทนมูลนิธิ สมาคม สโมสร องค์การต่างๆตอนหนึ่งว่า ...

               “...ข้าพเจ้าคิดเองว่า พระพุทธศาสนานี้เป็นสิ่งที่ประเสริฐสุดสูงส่งแล้ว และได้รับการสนับสนุนมาโดยตลอด ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยจากคนไทยทั้งชาติ พระบวรพุทธศาสนาเป็นของที่สะอาดสูงสุด ทุกคนก็คิดว่าไม่อยากให้เข้าไปพัวพันกับคำว่าการเมือง ข้าพเจ้าพูดเช่นนั้นต่อหน้านักเรียนไทย ๔,๐๐๐ คน ควรเทิดทูนเอาไว้เหนือเกล้าว่าเป็นแสงสว่างในหัวใจของคนไทยทั้งหลาย การเมืองบางครั้งก็มีความผิดพลาด บางครั้งก็มัวหมองได้หลายเรื่อง เพราะฉะนั้นไม่ควรเอาพระบวรพุทธศาสนาไปไว้กับกฎหมายสูงสุดแห่งประเทศไทย คือ รัฐธรรมนูญ ควรจะทิ้งพระบวรพุทธศาสนาไว้เช่นนี้ ที่ถูกเทิดทูนโดยประชาชนทั้งชาติ พอข้าพเจ้าพูดจบเล่าเหตุผลจบ นักเรียนไทยก็ปรบมือดังสนั่นลั่นไปทั่วงาน ในเมืองไทยข้าพเจ้าได้ทราบว่า พระพุทธศานา เป็นศานาที่คนนับถือมากกว่า ๙๐ เปอร์เซ็นต์ คงจะไม่ให้ใครมาแตะได้ ข้าพเจ้าเข้าใจว่าการเมืองบางครั้งก็มีอะไรหลายอย่างไม่ค่อยตรงไปตรงมานัก เพราะฉะนั้นดีแล้วที่พระบวรพุทธศานาแยกไปเสียให้พ้นจากการเมืองจะดีกว่า ไม่ทราบทุกท่านในที่นี้เห็นด้วยอย่างเดียวกับข้าพเจ้าหรือเปล่า อันนี้ข้าพเจ้าถามนักเรียนไทย (รับสั่งถามเมื่อทุกคนปรบมือ) ขอบคุณมาก...” (จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันอาทิตย์ที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๐)

                รัฐสภาวนาราม สภาธรรมาธิปไตย ขบวนการศาสนาเพื่อมนุษยชาติและพันธมิตรสหธรรมิก ได้มีทัศนคติต่อพระราชเสาวนีย์ดังกลาวข้างต้น ดังต่อไปนี้

               นับเป็นคุณูปการสูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชนโดยเฉพาะพระภิกษุสงฆ์และชาวพุทธทั้งประเทศในสถานการณ์เร่งด่วนเฉพาะหน้านี้ พระราชเสาวนีย์สามารถยุติความแตกแยกการต่อสู้ที่รุนแรงระหว่างคนไทยด้วยกันเองที่ระบอบเผด็จการทั้ง ๒ ฝ่าย พยายามดึงพระภิกษุสงฆ์และชาวพุทธเข้าร่วมกันต่อสู้เป็นกำลังให้แก่ฝ่ายตน ทั้งฝ่ายสนับสนุนฝ่ายรับและฝ่ายล้มร่างรัฐธรรมนูญ ทรงนำพาประเทศชาติเจ้าสู่ความสามัคคีทางการเมืองและความสามัคคีแห่งชาติซึ่งสอดคล้องกับยุทธวิธี ๔ ไม่ยุทธศาสตร์ธรรมาธิปไตย คือ “ไม่รับ ไม่ล้ม ไม่เลิก ไม่แล้ว” ที่รัฐสภาวนาราม สภาธรรมาธิปไตยฯลฯ ได้เสนอต่อรัฐบาลและทุกฝ่ายไปแล้วนั้น

                ผลสะเทือนอันยิ่งใหญ่ทรงพลังของพระราชเสาวนีย์ดังกล่าว ทำลายยุทธวิธี ดึงพระภิกษุสงฆ์และชาวพุทธพลังบริสุทธิ์ทั่วประเทศเข้าร่วมเป็นกำลังเพื่อล้มร่างรัฐธรรมนูญ ล้ม คมช. ล้มกองทัพแห่งชาติ ล้มสถาบันสำคัญของชาติ ของเผด็จการรัฐสภาที่มีเผด็จการคอมมิวนิสต์ทำแนวร่วมขับเคลื่อนอยู่ข้างหลังอย่างสิ้นเชิง ดังเช่น พลังบริสุทธิ์ของพระภิกษุสงฆ์และชาวพุทธได้ประกาศยุติความเคลื่อนไหวทั้งสิ้นลงทันทีในวันรุ่งขึ้น เช่น พระเทพวิสุทธิกวี และ พลเอกธงชัย เกื้อสกุล เป็นต้น

               พระราชเสาวนีย์ดังกล่าวสะท้อนภาพของพระพุทธศาสนาได้อย่างถูกต้องชัดเจนยิ่งแสดงว่าสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชีนีนาถทรงเข้าถึงหลักธรรมจองพระพุทธศานาอย่างแท้จริงและลึกซึ้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งทศพิธราชธรรมหลักการอันสูงส่งของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ดังเช่นพระราชเสาวนีย์ ว่า “พระพุทธศาสนานี้เป็นสิ่งประเสริฐสูงส่ง...พระบวรพุทธศาสนาเป็นของที่สะอาดสูงสุด...พระบวรพุทธศานาเป็นสิ่งที่ล้ำค่าของชีวิตคนไทย ที่จะพึ่งพาเวลามีปัญหาเกิดอะไรขึ้นกับชีวิต พระบวรพุทธศาสนาเป็นแสงสว่าง...ควรเทิดทูนเอาไว้เหนือเกล้าว่าเป็นแสงสว่างในหัวใจของคนไทยทั้งหลาย...” เป็นต้น

                พระองค์ทรงชี้ให้คนทั้งโลกเห็นความสะอาดสูงส่งดีงามที่สุดของพระพุทธศานา และทรงเป็นแบบอย่างให้เห็นถึงความเป็นพุทธมามกะที่ดีงามยิ่ง อีกทั้งทรงช่วยเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปในต่างแดนทั่วโลก

                ด้วยพระราชเสาวนีย์ดังกล่าวมีผลทำให้ฝ่ายที่คิดโค่นล้มสถาบันศาสนาพุทธและสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่นเผด็จการรัฐสภา และเผด็จการคอมมิวนิสต์ต้องถูกทำลายลงและโดดเดี่ยวจากประชาชน ล้มเหลวพ่ายแพ้ไปในที่สุด

             พระราชเสาวนีย์ดังกล่าวเป็นพระราชเสาวนีย์ที่เป็นประชาธิปไตยอย่างยิ่งทั้งด้านระบอบและวิธีการทรงชี้ให้เห็นการเมืองในปัจจุบันของประเทศไทยไม่ดีไม่คู่ควรกับพระพุทธศาสนาอย่างสิ้นเชิง เช่น การเมืองบางครั้งผิดพลาด บางครั้งก็มัวหมองได้หลายเรื่อง การเมืองบางครั้งก็ไม่มีอะไรหลายอย่างไม่ค่อยครงไปตรงมานัก เพราะฉะนั้นดีแล้วที่พระบวรพุธศาสนาแยกออกไปเสียให้พ้นจากการเมืองจะดีกว่า นี่คือสภาวการณ์ของการเมืองระบอบเผด็จการไม่ว่าเผด็จการรัฐประหารในยุคปัจจุบัน หรือ เผด็จการรัฐสภาที่ถูกโค่นล้มลงเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ พระองค์ทรงไม่เห็นด้วยกับเผด็จการทุกรูปแบบที่นำเอาพระพุทธศาสนาไปเกี่ยวข้องรับใช้เพื่อรักษาอำนาจของตนเอง

                ลัทธิรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นมิจฉาทิฏฐิลัทธิเผด็จการที่เห็นผิดว่า “รัฐธรรมนูญ คือ เครื่องมือสร้างระบอบ” และ “รัฐธรรมนูญกฎหมายสูงสุด” ตามแบบอย่างคณะราษฎร ทั้งๆ ที่ตามหลักวิชา “รัฐธรรมนูญ คือ กฎหมายหลัก หรือ กฎหมายแม่บท” มีหน้าที่รักษาระบอบและรักษาชาติบ้านเมือง นโยบายต่างหากที่มีหน้าที่สร้างระบอบตามแบบอย่างของสมเด็จพระปกเกล้าฯ พระราชเสาวนีย์ดังกล่าวนั้นถูกต้องอย่างยิ่งว่า “เพราะฉะนั้นไม่ควรเอาพระบวรพุทธศานสาไปไว้กับกฎหมายสูงสุดแห่งประเทศไทย คือ รัฐธรรมนูญ” พระองค์ไม่ได้ทรงปฏิเสธ “ พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในกฎหมายหลักหรือกฎหมายแม่บท คือ รัฐธรรมนูญ” ที่ถูกหลักวิชาเป็นสัมมาทิฏฐิเป็นลัทธิประชาธิปไตยที่แท้จริงอันบริสุทธิ์สะอาดโปร่งใสที่พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๕ รัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๗ ทรงเริ่มสร้างขึ้นในประเทศไทยในอดีต

              พระพุทธศาสนาถูกลัทธิรัฐธรรมนูญที่เป็นมิจฉาทิฎฐิลัทธิเผด็จการขัดขวางทำลายมาโดยตลอด ตั้งแต่คณะราษฎรได้ใช้ลัทธิรัฐธรรมนูญปกครองประเทศในรัฐธรรมนูญทั้ง ๑๗ ฉบับ ไม่เคยรักษาส่งเสริมรับรองพระพุทธศาสนาในฐานะเป็นศาสนาประจำชาติ หรือเป็นส่วนหนึ่งของชาติที่สำคัญที่สุดใน ๓ สถาบันเลย แม้จะหลอกลวงว่าเป็นรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยของระบอบประชาธิปไตยก็ตาม แต่โดยแท้จริงแล้วไม่เคยมีรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยของระบอบประชาธิปไตยเลย มีเพียงแต่รัฐธรรมนูญของระบอบเผด็จการรัฐสภากับระบอบเผด็จการรรัฐประหารตลอดระยะเวลา ๗๕ ปี นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕

               ดังนั้น พระราชเสาวนีย์ดังกล่าวจึงถูกต้องอย่างยิ่งที่ว่าการเมืองและรัฐธรรมนูญที่เป็นอยู่ในประเทศไทย ไม่คู่ควรกับพระพุทธศาสนา เพราะเป็นการเมืองระบอบเผด็จการทั้ง ๒ แบบ และเป็นรัฐธรรมนูญเผด็จการ ซึ่งคือลัทธิรัฐธรรมนูญนั่นเอง ลัทธิรัฐธรรมนูญนี้คณะราษฎรได้ใช้เป็นเครื่องมือโค่นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่กำลังสร้างประชาธิปไตยเมื่อ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ และขัดขวางทำลายการสร้างประชาธิปไตย รักษาเผด็จการไว้ตลอดมา นี่คือ อุปสรรคขัดขวางพระพุทธศาสนา ดังพระราชเสาวนีย์ดังกล่าว  รัฐสภาวนาราม สภาธรรมธิปไตย ฯลฯ จึงได้เสนอยุทธวิธี ๔ ไม่ ไปสู่ยุทธศาสตร์ธรรมาธิปไตย คือ ไม่รับ ไม่ล้ม ไม่เลิก ไม่แล้ว หลังจากที่ได้ค้นพบสัจธรรมของลัทธิรัฐธรรมนูญ เมื่อ สสร.ได้ลงมติไม่รับรองญัตติพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ จึงได้ประกาศคว่ำบาตรต่อลัทธิรับธรรมนูญซึ่งเป็นอวิชชามิจฉาทิฏฐิ และได้ยกระดับขึ้นสู่การเคลื่อนไหวผลักดันยกเลิกอุปสรรคขัดขวางทำลายพระพุทธศาสนา คือ ลัทธิรัฐธรรมนูญแล้วสร้างประชาธิปไตย

               ยุทธวิธี ๔ ไม่ มีความหมายดังนี้ คือ

               ไม่รับ  :  ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ หมายถึงขั้นลึกซึ้งถึงต้นเหตุ คือ ไม่รับลัทธิรัฐธรรมนูญ
               ไม่ล้ม  :  ไม่ล้มร่างรัฐธรรมนูญ หมายถึง ขั้นลึกซึ่งถึงต้นเหตุ คือ ไม่ยอมรับลัทธิรัฐธรรมนูญจึงไม่เข้าไปเกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้น 
              ไม่เลิก :   ถ้าไม่เลิกลัทธิรัฐธรรมนูญทั้งหมดก็ไม่สามารถแก้ปัญหาชาติได้จะต้องเลิกลัทธิรัฐธรรมนูญทั้งหมด จึงจะมีระบอบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตย
ซึ่งเป็นการเมืองที่บริสุทธิ์สะอาดและโปร่งใส 
               ไม่แล้ว :  ไม่เลิกลัทธิรัฐธรรมนูญก็จะไม่แล้วเสร็จการสร้างประชาธิปไตยและมีรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับพระพุทธศาสนา

              รัฐสภาวนาราม สภาธรรมธิปไตย จึงไม่เคลื่อนไหวผลักดันให้บรรจุพระพุทธศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ เช่นเดิมอีกต่อไป แต่กำหนดยุทธวิธีและยุทธศาสตร์ใหม่ คือ ยุทธศาสตร์ยกเลิกลัทธิรัฐธรรมนูญ คือ ยกเลิกเผด็จการทุกรูปแบบสร้างประชาธิปไตยตามแนวทางประชาธิปไตยของพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ ๕ รัชกาลที่๖ และรัชกาลที่ ๗ ด้วยยุทธวิธี ๔ ไม่ อันเป็นการเลิกความเห็นผิดมิจฉาทิฏฐิ สร้างความเห็นถูกสัมมาทิฏฐิ ซึ่งเริ่มต้นด้วยยุทธศาสตร์ศีล ๕ คือ “กู้ชีพ กู้ชาติ ด้วยยุทธศาสตร์ ศึล ๕” เป็นต้น คือ เริ่มถือศึล ปฏิบัติธรรมได้มีความเห็นถูกสัมมาทิฏฐิ หรือมีดวงตาเห็นธรรม เมื่อเห็นถูกแล้วยุติการปฏิบัติตามลัทธิรัฐธรรมนูญทั้งสิ้นในขณะนี้และลงมือสร้างประชาธิปไตยทั้งระบอบและรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ก็จะมีเงื่อนไขให้สามารถแก้ปัญหาพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายหลักหรือกฎหมายแม่บทได้อย่างเป็นไปเองในท้ายที่สุด เพราะสามารถขจัดลัทธิรัฐธรรมนูญที่เป็นอุปสรรคขัดขวางอันเป็นการเมืองที่มัวหมองการเมืองที่ผิดพลาด การเมืองที่ไม่ตรงไปตรงมาลงได้สำเร็จ

              แต่ถ้าไม่เห็นถูกมีสัมมาทิฎฐิไม่สามารถยกเลิกลัทธิรัฐธรรมนูญ สร้างประชาธิปไตยที่เป็นธรรมาธิปไตยได้ แล้วยังจะนำเอาอำนาจที่ยึดมานั้นกลับไปคืนให้แก่เผด็จการรัฐสภาอีกโดยกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ลงประชามติ มีรัฐธรรมนูญ เลือกตั้งทั่วไป อาตมภาพและพระภิกษุสงฆ์พร้อมทั้งชาวพุทธขอเรียกร้องต่อทุกฝ่ายให้ถวายคืนอำนาจแด่พระมหากษัตริย์เพื่อทรงยกเลิกลัทธิรัฐธรรมนูญสร้างประชาธิปไตยตามแบบอย่างของสมเด็จพระปกเกล้าฯ รัชกาลที่ ๗ ที่ถูกขัดขวางทำลายลงโดยคณะราษฎรเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ เพราะสถาบันกองทัพและพรรคการเมืองสร้างประชาธิปไตยไม่ได้ จึงเหลือเพียงสถาบันพระมหากษัตริย์เท่านั้นที่มีบารมีเพียงพอ มีแนวทางประชาธิปไตยที่ถูกต้อง มีทศพิธราชธรรม และมีอำนาจสูงส่งสูงสุดทั้งทรงเป็นประมุขของประเทศ ทรงเป็นจอมทัพไทย ทรงเป็นศูนย์รวมศรัทธาร่วมใจของคนไทยทั้งชาติ ทรงมีพระปรีชาญาณอันยิ่งยวด 

            อาตมภาพขอเรียกร้องต่อทุกฝ่ายให้ช่วยกันรณรงค์ผลัดดันอย่างสันติอหิงสาให้ถวายคืนอำนาจแด่พระมหากษัตริย์ เพื่อทรงยกเลิกลัทธิรัฐธรรมนูญ สร้างประชาธิปไตย แล้วทรงมอบอำนาจอธิปไตยให้ปวงชนชาวไทยตามพระราชปณิธานของสมเด็จพระปกเกล้าฯ รัชกาลที่ ๗ เพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อันเป็นการถวายที่สูงส่งและยิ่งใหญ่ที่สุด
 
 
 
 
 

เรียบเรียงจากแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน รัฐสภาวนารามและพัธมิตรสหธรรมิก เรื่อง “พระราชเสาวนีย์ว่าด้วยพระพุทธศาสนากับรัฐธรรมนูญ” ณ รัฐสภาวนาราม ตรงข้ามอาคารรัฐสภา ถนนอู่ทองใน เขตดุสิต กรุงเทพฯ วันที่ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ โดย พระมหาบุญถึง ชุตินธโร ประธานรัฐกภาวนารามและพันธมิตรสหธรรมิก เจ้าอาวาสวัดตะล่อม กทม. 
 
 
               
    
  
 
 
 



Webboard is offline.