Revolutionary Press Agency : Online Journal and News Agency for Peace
สำนักสื่อปฏิวัติ  : วารสารข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
8 มิ.ย. 2554 กองหน้าประชาชนรุ่นใหม่ อนุสรณ์ สมอ่อน ตอบคำถามคาใจทำไมต้องปฏิวัติประชาธิปไตย? 
Change Series นำสู่การปฏิวัติในทุกมิติ
บทความพิเศษ “ 
 
- ตอน ๒ -
สำนักสื่อปฏิวัติ - Revolutionary Press Agency (RPA)
เขียนโดย นางแก้ว โพส ๓๐ ส.ค.๒๕๕๒:๐๙.๐๐ น.
เผยแพร่ครั้งแรก ๑๗ มี.ค.๒๕๕๑ 
 
"การแก้เก้อของนักฉวยโอกาสระหว่างนักสู้ริมถนน(พธม.)และเสือนอนกินในสภาผู้ทรงเกียรติ(ปชป.)”   
 
  
           อภิสิทธิ์ชน...ตระบัดสัตย์  ?
 
            นายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นอีกคนหนึ่งที่มีภูมิหลังทางการศึกษาอยู่ในข่าย “เสาค้ำรัฐธรรมนูญ” มาก่อน  ในฐานะอดีตอาจารย์คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ดังนั้นการประกาศยอมรับข้อเสนอแนวทาง “ รัฐบาลแห่งชาติ” ที่ขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติได้นำเสนอต่อนายกฯอภิสิทธิ์ในช่วงก่อนการโค่นอำนาจรัฐบาลเก่าสำเร็จ  จึงเป็นเรื่องเกินความคาดหมาย แต่เมื่อเขาขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  เขากลับไม่เอ่ยถึงแนวทางนี้อีกเลย  เป็นความจริงที่ว่าการประกาศยอมรับแนวทางรัฐบาลแห่งชาติของเขาก่อนหน้านั้นเป็นเพราะต้องการเรียกคะแนนนิยมเพื่อให้ได้คะแนนเสียงจากประชาชนเพื่อก้าวสู่วงจรอำนาจ ผนวกกับความไม่เข้าใจถ่องแท้ว่ารัฐบาลแห่งชาติแท้จริงคืออะไรและแรงหนุนเสียงเดียวกันจากเลขาธิการพรรคนายสุเทพ เทือกสุบรรณร่วมรับรองแข็งขันจึงตกปากรับคำในช่วงนั้น
 
          ภาพลวงตาของการเป็นผู้มีสัมมาวาจา บุคลิกสุภาพคือเปลือกนอกที่อาจทำให้ผู้คนพอใจ แต่หากวัดระดับการเป็นผู้นำที่ผิดคำพูดแล้ว อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะในวันนี้ เริ่มต้นชีวิตผู้นำด้วยความพร่องของคุณสมบัติพื้นฐานที่ผู้นำพึงมี  ทว่าความเคยชินของคนไทยต่อการไม่รักษาคำพูดของผู้นำ ทำให้ไม่มีการทวงถามถึงการลั่นวาจาแบบนั้น  และดูจะตื่นเต้นหวือหวากับเปลือกนอกเมื่อเขาปรากฎตัวในเวทีสากลแทน  ประชาชนชาวไทยพอใจกับภาพลักษณ์ปัญญาชน คนหนุ่มในเวทีโลก  จนลืมมองหา “เนื้อแท้” ที่เป็นคุณสมบัติสำคัญที่ผู้นำพึงมีมากกว่าองค์ประกอบภายนอก นั่นคือ การถือสัจจะ ไม่พูดเพื่อแค่หาเสียงเฉพาะหน้า รักษาคำพูด มีวาจาศักดิ์สิทธิ์(สำเร็จประโยชน์) และที่สำคัญผู้นำต้องไม่ตระบัดสัตย์ วิธีการพูดอย่างทำอย่างเพื่อหาคะแนนเสียงเอาตัวรอดในระยะสั้นไม่คำนึงถึงวิธีการแบบเดิมๆเพื่อให้ได้รับการเลือกตั้ง น่าจะเป็นวิธีการของนักการเมืองรุ่นเก่า  และไม่น่าจะเกิดขึ้นกับสุภาพบุรุษลูกผู้ชายนักการเมืองรุ่นใหม่ นายกฯอภิสิทธิ์ไม่ควรเริ่มต้นภาวะผู้นำด้วยการทำลายความน่าเชื่อถือของตัวเขาเองลงแต่แรกแบบนี้ 
 
          ดังนั้นเมื่อพบกับคำถามรุกคืบเพื่อทวงคืนคำมั่นสัญญาในท่ามกลางปัญหาการแบ่งขั้วอำนาจในรัฐบาลที่
ขาดเสถียรภาพและสภาพวิกฤตของปัญหาภายในประเทศในทุกมิติ  นายกอภิสิทธิ์จำต้อง “แก้เก้อ” ด้วยการมอบหมายให้สถาบันพระปกเกล้าฯ ทำหน้าที่ศึกษา “การปฏิรูปการเมือง” 
 
          เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า นายกอภิสิทธิ์ มิได้ฟังเสียงประชาชนจริง ! เขากลับไปหาความคุ้นชินแบบเดิมๆ และเขาความจำสั้นขนาดจำไม่ได้ว่าตัวเขาเองประกาศยอมรับข้อเสนอ “รัฐบาลแห่งชาติ” หรือ “รัฐบาลเฉพาะกาล” ที่ขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติเสนอไป  นายกฯอภิสิทธิ์กำลังสำแดงความเป็นชนชั้นปกครอง คือชนชั้นอภิสิทธิ์ มีนักวิชาการสำเร็จรูปในระบบเรียกใช้ได้เมื่อ “จน” ต่อการตอบคำถามและการทวงคืนคำมั่นสัญญา   เมื่อมีปัญหาเขาก็ไม่ต่างจากผู้นำคนอื่นที่หันกลับไปใช้บริการของสถาบันฯชนชั้นเดียวกัน   ชื่อของนายกฯอภิสิทธิ์ มิได้มีความหมายว่าชนชั้นปกครองจะมีอภิสิทธิ์เหนือคนทั่วไปในการไม่รักษาคำพูดความเป็นอภิสิทธิ์ในความหมายที่แท้จริงคือเขาต้องมีคุณสมบัติดีเยี่ยมจนอยู่เหนือชนชั้นอื่นจึงมีสิทธิ์ที่เหนือกว่า จึงจะคู่ควรกับชนชั้นนั้นได้
 
 
          แปรปรวนในท่ามกลาง
 
         รัฐบาลประชาธิปัตย์ซึ่งมาจากพรรคการเมืองชนชั้นปกครองมีวิธีการ “แก้เก้อ” ต่างจากพันธมิตรฯ ที่ประกาศตั้งพรรคการเมืองใหม่  การโยนไม้ต่อให้สถาบันพระปกเกล้าทำให้เกิดคำถามอื่นตามมา  ถ้าหากโยนโจทย์นี้เมื่อหลายปีก่อนคงไม่มีคำถามตามมามากมายแต่จังหวะของการโยนคราวนี้เกิดขึ้นในช่วงที่ประชาชนเกิดวิกฤตศรัทธาต่อสถาบันทางการเมือง พรรคการเมืองและนักวิชาการอิงการเมืองทุกกลุ่ม   โดยเฉพาะสถาบันพระปกเกล้าฯ     
       
            ข้อเท็จจริงคือสถาบันพระปกเกล้าฯ ถูกสั่นคลอนอย่างหนักเมื่อถูกกล่าวโจมตีอย่างรุนแรงจากสนธิ ลิ้มทองกุลในช่วงขับไล่รัฐบาลทักษิณ  ข้อมูลสำคัญที่สนธินำมาแฉและเป็นประโยชน์มากที่สุดคือ การที่หลักสูตรวปอ.หรือวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรของสถาบันพระปกเกล้าได้กลายเป็นศูนย์รวมของเครือข่ายธุรกิจการเมืองของนักการเมือง นักธุรกิจและข้าราชการระดับสูง  มีการแฉรายชื่อบุคคลในแนวสนธิ   ผนวกกับคำอธิบายของขบวนการประชาธิปไตยเพื่อชี้ให้เห็น “ธาตุแท้” ที่สถาบันฯนี้ได้อำพรางตัวเองภายใต้แนวทาง “รัฐธรรมนูญนิยม” ซึ่งเป็นมรดกตกทอดทางความคิดของคณะราษฎรที่ทำการ “ขโมย” อำนาจมาจากสถาบันพระมหากษัตริย์  แต่อาจหาญใช้พระนามพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 มาเป็นชื่อสถาบันฯ  (อ่านเพิ่มเติม ความจริงของสถานการณ์ “กระบวนการเข้าถึงสัมมาทิฎฐิของพลังสันติเพื่อแก้ปัญหาทุกข์ของชาติด้วยการเข้าถึงความจริงหลายระดับ” 17พ.ย.2551  http://ndmt.multiply.com/journal/item/65/65)
 
          มิจำเป็นต้องพูดถึงความเป็น”สถาบัน” แค่พูดในระดับ “บุคคล” ดร.บวรศักดิ์ อุวรรโณเองในฐานะผู้อำนวยการสถาบันฯก็แทบจะหาที่ยืนบนเวทีปัญญาชนไม่ได้เมื่อปี 2549 ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นนักกฎหมายขายชาติเพราะขายจิตวิญญาณตัวเองให้กับรัฐบาลไทยรักไทย  และพาเอาชื่อเสียงของสถาบันพระปกเกล้าฯหมองไปพร้อมกัน  เกิดการชำระข้อมูลขุมข่ายธุรกิจวปอ.ออกมาเป็นระลอก  และส่งผลให้ดร.บวรศักดิ์ ต้องชำระล้างตัวเขาเอง ด้วยการลาออกและตัดสินใจอุปสมบทเพื่อ “ล้างกรรม” ก่อนที่จะวกกลับมาดำรงตำแหน่งเดิมใหม่  ความสง่างามของนักวิชาการ หมดสิ้น  ด่างพร้อยไปด้วยการ “เข้าพวก” กับการเมืองเผด็จการทั้งสิ้น  ไม่ว่าผู้ใดก็ตามที่เข้าไปมีส่วนในกลไกการปกครองช่วงเวลาดังกล่าวถูกนับว่า “คนทำงาน” ให้ระบอบเผด็จการไปด้วยกันถ้วนหน้า  การ  “กลับลำ” ปรับปรุงบทบาทของสถาบันพระปกเกล้าฯ เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานระหว่างการขับไล่อดีตนายกทักษิณ  แต่ก็ไม่ทันการที่จะสร้างภาพได้ทัน เพราะการเป็นสถาบันฯของชนชั้นปกครองมาช้านาน ทำให้สถาบันพระปกเกล้าฯขาดมิติเกี่ยวกับประชาชนอย่างสิ้นเชิง 
 
            การ “แก้เก้อ”  ของนายกฯอภิสิทธิ์ จึงเป็นการแก้เก้อที่ขาดความรอบคอบ หรือเขาคาดไม่ถึงว่าประสบการณ์การต่อสู้ของม็อบต่างๆในรอบหลายปีที่ผ่านมานี้ ทำให้ประชาชนมีพัฒนาการ และมีความทรงจำที่ดีเยี่ยมต่อตัวละครต่างๆที่ปรากฎขึ้นในแต่ละช่วงของการต่อสู้  นายกฯอภิสิทธิ์กำลังกลับไปใช้วิธีการที่เขารู้จักมักคุ้นแบบเดิมๆ ในฐานะของ”ผู้ปกครอง” ที่ยังต้องอิงสถาบันของชนชั้นปกครองด้วยกัน   ไม่ต่างจากความไม่เป็นมวยของคมช.หลังการรัฐประหารด้วยการโยนหน้าที่รับผิดชอบไปให้มีชัย ฤชุพันธ์ ฉันใดฉันนั้น  
 
            การเมืองพันธมิตรหรือแม้แต่วิทยุรัฐสภาเคยพูดถึง “เผด็จการรัฐสภา” เต็มปากเต็มคำไปแล้ว  ในทันทีที่ใครก็ตามยอมรับว่า “เผด็จการรัฐสภา” เขาได้ยอมรับแล้วว่าระบอบที่เป็นอยู่มิใช่ระบอบประชาธิปไตย   และพวกเขากำลังเรียกร้องถึงสิ่งที่เหนือไปกว่านั้น  หากแต่เขาไม่รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร เพราะพวกเขาไม่ได้ศึกษามา สิ่งที่ปรากฎชัดขึ้นในวันนี้คือ การปฏิเสธระบอบที่มีอยู่ไม่ว่าจะบัญญัติศัพท์นั้นว่าอะไรก็ตาม  นักกฎหมาย นักรัฐศาสตร์ ล้วนยอมจำนนต่อทฤษฎีใหม่ของ “การปฏิวัติประชาธิปไตย” ไปโดยที่ไม่รู้ตัว  
 
           และนี่คือสภาพการตั้งอยู่ท่ามกลางความแปรปรวนของเผด็จการรัฐสภาภายใต้ตัวละครเสาค้ำรัฐธรรมนูญที่รอเวลาที่จะพังครืนลงมาเท่านั้นเอง!
 
 
           ปฏิรูปหัวหมุน...ภายเรือวนในอ่าง
 
 
           นักทฤษฎีในขบวนการประชาธิไตยเฝ้ามองดูการเปลี่ยนแปลงของ ชนชั้นปัญญาชนสยาม  และเห็นว่าเริ่มเกิดการคลี่คลายทางปัญญาระดับหนึ่งเมื่อนักวิชาการ “เสาค้ำ” จากรั้วธรรมศาสตร์ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะทำงานของสถาบันพระปกเกล้าให้ข่าวสงวนท่าทีต่อการแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญเพื่อฉีกทิ้งแบบเดิม  เขาชี้แจงสื่อมวลชนว่า การกำหนดกรอบการศึกษาในครั้งนี้จะมีมิติที่กว้างขวางไปกว่าเดิม ไม่จำกัดอยู่เพียงแค่กฎหมายรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่จะศึกษาโครงสร้างการเมืองทั้งโครงสร้าง
 
           กรณีหาคนถือหางเสือเรือเพื่อกำหนดทิศทางนั้นเคยเกิดขึ้นมาก่อนในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัยด้วยการมอบหมายให้สถาบันพระปกเกล้าฯทำหน้าที่เดียวกัน โดยมีหมอประเวศ วะสีเป็นประธานและมีดร.บวรศักดิ์ อุวรรโณเป็นเลขาฯ  ภายใต้ชื่อคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย   ปีนี้นายกฯอภิสิทธิ์ ได้ดำเนินตามรอยเดิมอดีตนายกฯชวน  ใช้ชื่อโครงการพัฒนาประชาธิปไตยและการเมืองการปกครองแทน   โดยหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า “ปฏิรูปการเมือง”    ในยุคของหมอประเวศอ.ประเสริฐ ทรัพย์สุนทรในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติได้ทำหน้าที่อธิบายให้เข้าใจหลักใหญ่ว่าหากปฏิรูปด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญต่อไปก็จะพังในปี 2536     สามปีหลังจากนั้นฝ่ายขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติยังได้มีโอกาสจัดประชุมโต๊ะกลมกับคณะปฏิรูปอธิบายเรื่องนี้กันอย่างแจ่มชัดต่อดร.บวรศักดิ์ อุวรรโณ  สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์  สุวิทย์ วัดหนูในปี 2539   โดยอ.สมาน ศรีงามและคณะ   สำหรับหมอประเวศนั้นใช้เวลากว่าทศวรรษกว่าหมอประเวศ ราษฎรอาวุโสจะยอมรับผ่านบทความชิ้นหนึ่งเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาว่าที่ผ่านมาเขา “ไม่รู้” ในสิ่งที่ทำเหตุเพราะเขาเป็นหมอ มิใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้ถึงแม้จะมีมิตรรักนักประชาธิปไตยท่านหนึ่งเคยเตือนไว้ก็ตาม 
 
           เวลาผ่านไป 16 ปี นับแต่ปี 2536 จนถึงปี 2552 เช่นกันที่ดร.บวรศักดิ์ กำลังจะได้รับเกียรติเข้าร่วม “การปฏิรูป” อีกครั้งหนึ่ง  แต่ท่าทีของดร.บวรศักดิ์คราวนี้เปลี่ยนไปจากเดิม  มิได้มีท่วงทำนองมั่นใจแบบเดิม ประกาศเจตนารมย์ให้ทุกฝ่ายเข้าร่วม  เพราะพวกเขาน่าจะเรียนรู้ที่จะไม่ดำเนินภารกิจ  “ ปฏิรูปหัวหมุน....พายเรือวนในอ่าง”  ได้อีกต่อไป           
 
           และนี่คือ CHANGE อีกรูปแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นกับ “นักวิชาการของชนชั้นปกครอง”  เริ่มเห็นแนวโน้มชัดว่านักวิชาการได้ “ กันตัวเอง ” ออกจากมุมอับทางความคิด  ในวันนี้นักวิชาการน่าจะสัมผัสได้บ้างว่าประชาชนเบื่อนักวิชาการพอๆกับเบื่อนักการเมือง นักเคลื่อนไหว ม็อบ ความขัดแย้งฯลฯ  และที่สำคัญนักวิชาการชนชั้นปกครองได้สัมผัสแล้วถึงพลังของประชาชน  ได้รู้ว่าการเคลื่อนไหวของประชาชนผู้ถูกปกครองเพื่อต่อรองกับผู้ปกครองนั้นมีกำลังมหาศาลเพียงไรจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา  พวกเขาไม่สามารถมีทัศนะแบบเดิม พูดคุยกันอยู่ในวงแคบๆอีกต่อไป  นักวิชาการของชนชั้นปกครองย่อมต้องฉลาดพอที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ว่าเขาปรามาสประชาชนไม่ได้ และที่สำคัญที่สุดพวกเขาฉลาดพอที่จะมีเรดาร์จับสัญญาณได้ว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศเกิดวิกฤตศรัทธาต่อ นักวิชาการสาย “เสาค้ำ” ที่ทำได้เพียงแค่ร่างกฎหมายและฉีกกฎหมายเท่านั้น    
 
           ข้อเท็จจริงลำดับพัฒนาการของการบัญญัติศัพท์ “ ปฏิรูป ” นั้นมาจากสื่อฝ่ายซ้ายที่พยายามลดทอนความน่าเชื่อถือของนโยบาย 66/23 ที่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาคอมมิวนิสต์ในขั้นตอนแรกผนวกกับ “ นักวิชาการเสาค้ำระบอบ ”  และผู้ที่ต้องทำหน้าที่โต้แย้งเรื่องนี้มากที่สุดคืออ.ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร เจ้าของผลงานนโยบาย 66/23 และข้อเสนอแก้ปัญหาชาติทุกปัญหาด้วยการปฏิวัติประชาธิปไตย  กลุ่มที่ออกมาวิจารณ์นโยบายนี้แย้งว่าเป็นการปฏิรูป ไม่ใช่ปฏิวัติคือกลุ่มที่มาจากสำนักฝ่ายซ้ายของอ.ผิน บัวอ่อน เช่น คำนูณ สิทธิสมานที่ใช้ฐานสื่อสำนักผู้จัดการเป็นกลไก 
 
           การโต้ตอบกับฝ่าย “ ปฏิรูป ” นั้นดำเนินมาตลอดระยะเวลา  หน้าหนังสือพิมพ์ผู้จัดการตั้งแต่ปี 2536 เป็นพื้นที่เปิดให้กับนักวิชาการสายปฏิรูปหลายคน และหนึ่งในนักวิชาการ “เสาค้ำระบอบเผด็จการ” คนสำคัญคือ ดร.ชัยอนันต์ สมุทธวณิชย์ ดร.ชัยอนันต์มีบทบาทสำคัญในการคัดค้านฝ่ายปฏิวัติประชาธิปไตย  เขาโต้แย้งว่า “ทหารประชาธิปไตย” ผู้ร่วมปฏิบัตินโยบาย 66/23  ไม่มีจริง  และอีกหลายบทความที่สะท้อนความเข้าไม่ถึงทฤษฎีปฏิวัติประชาธิปไตย  ภาพลักษณ์ดร.ชัยอนันต์คือนักวิชาการในระบบที่ใช้หน้าหนังสือพิมพ์ผู้จัดการชี้นำสังคม  แต่ในทัศนะของขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติเขาคือนักวิชาการของชนชั้นปกครอง มิใช่นักวิชาการของประชาชนและมีส่วนในการสร้างความสับสนให้กับสังคมไทยมาตลอดเช่นกัน  กรณีศึกษารูปธรรมของการเป็นนักวิชาการของชนชั้นปกครองครั้งสำคัญก็คือการ “เสวย” ตำแหน่ง MD ของการบินไทยในยุคของรัฐบาลทักษิณ   และเช่นเดียวกับดร.บวรศักดิ์ ที่ต้องลาออกเพื่อพิสูจน์ตัวเอง  แต่ก็สายเกินไปกว่าที่จะแก้ไขอได้ว่าเขาก็คือคนหนึ่งที่ได้ประโยชน์จากการเป็นนักวิชาการของชนชั้นปกครองมาโดยตลอด ไม่ต่างจากดร.บวรศักดิ์ (อ่านเพิ่มเติมบทความจากลิงค์ด้านล่าง)
 
           เป็นความจริงที่มิอาจปฏิเสธได้ที่นักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายอ่อนทฤษฎีทำการชี้นำนักคิดผิดเพี้ยน  การทำแนวร่วมของคำนูณมีผู้จัดการเป็นฐานสำคัญประสบความสำเร็จ  ผนวกกับนักวิชาการ  " เสาค้ำ ” ภาพลักษณ์ดี  ที่ในที่สุดกลายเป็น “ ค่ายปฏิรูป ” ที่เป็นฝ่าย counter ขบวนปฏิวัติมาโดยตลอด  ริ้วรอยของปฏิรูปปรากฎชัดในตัวคำนูณเองเมื่อเขาก้าวยกฐานะจากการเป็นสื่อสู่ประตูฐานันดรใหม่ในฐานะสว. นักฉวยโอกาสของสังคมก้าวเข้าสู่วิถีของชนชั้นปกครองไม่ต่างจากนักวิชาการเสาค้ำที่ “เข้าไม่ถึง” สัจธรรมของการเปลี่ยนแปลง บุคคลเหล่านี้ทำให้ศัพท์ “ ปฏิรูปการเมือง ”  กลายเป็นคำนิยมติดปากสื่อและนักจัดรายการที่ต่างพูดตามๆกันโดยไม่เข้าใจว่าที่ว่าปฏิรูปนั้น  ปฏิรูปอะไร
 
           ศัพท์ปฏิรูปถูกกำหนดไว้เพื่อเป็นแนวกั้นทางความคิดเท่านั้นจากการเมืองของชนชั้นปกครองและการกีดกันการมีบทบาทของฝ่ายประชาธิปไตยของนักทำแนวร่วมฝ่ายซ้าย  แต่เมื่อถึงวาระกรรมบรรจบ   พลังทางสังคมเคลื่อนไหว  สัจธรรมก็ปรากฎว่าปฏิรูปแก้ปัญหาอะไรไม่ได้  การยกมาตรากฎหมายรัฐธรรมนูญของพวกหัวหมอในรัฐสภา นอกรัฐสภากลายเป็นวิถีล้าหลัง  สังคมกำลังจะก้าวสู่พลังของการเปลี่ยนแปลง เป็นพลังทางความคิดที่สูงกว่าทำนบเขื่อนปฏิรูปที่คนเข้าไม่ถึงทฤษฎีพยายามจะลดทอนความน่าเชื่อถือ   ทำนบนี้กำลังจะแตกลงและคลื่นแห่งพลังมาใหม่ กำลังจะมาทดแทน   ตามสัจธรรมที่ว่าการเปลี่ยนแปลงต้องเปลี่ยนอย่างสิ้นเชิง  และไม่มีใครหยุดการเปลี่ยนแปลงอย่างนั้นได้เพราะมันคือกฎเกณฑ์  (อ่านเพิ่มเติมความจริงของสถานการณ์ “ การเคลื่อนพลังสันติสู่การถือดุลทางการเมืองโดยขบวนการประชาชนแห่งสัมมาทิฎฐิด้วยการปกครองเฉพาะกาล” ( 7 พ.ย.2551) http://ndmt.multiply.com/journal/item/63/63
 
 
            ปฏิรูปของชนชั้นปกครอง VS ปฏิวัติของประชาชน
 
 
           พัฒนาการความขัดแย้งของชนชั้นปกครองไทยมีมานาน  การผลัดเปลี่ยนระหว่างการทำรัฐประหารยึดอำนาจและการยุบสภาเลือกตั้งใหม่สู่ระบอบเผด็จการรัฐสภา  เขาเรียกความไม่สมบูรณ์และไร้เสถียรภาพแบบนี้ว่าประชาธิปไตยที่ต้องการการปฏิรูป บ้างก็อ้างว่าเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ แท้จริงปรากฏการณ์การผลัดขั้วอำนาจเกิดจากการแย่งอำนาจด้วยการอำพรางตนเองในสภาผ่านระบบเลือกตั้ง  เป็นเผด็จการรัฐสภาและสมควรเปลี่ยนไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงมานานแล้ว   แต่พวกเขาเองต่างหากที่ได้เพียรพยายามรักษาระบอบนี้  โดยใช้นักวิชาการ นักรัฐศาสตร์ นักกฎหมาย ภายใต้การบูชารัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการทำหน้าที่อธิบาย
 
           เมื่อเกิดปัญหาวิกฤตขึ้นกับประเทศไทยอันสืบเนื่องมาจากภัยของการปกครองที่ผิด  ทำให้เกิดการขัดแย้งทางผลประโยชน์  นำสู่การปลุกระดมเรียกร้องบอกกล่าวถึงความอยุติธรรม  จากนักธุรกิจนายทุนสื่อมายังประชาชนทั่วไป   กระนั้นพรรคชนชั้นปกครองเช่นประชาธิปัตย์ยังสามารถใช้ฐานของการเคลื่อนไหวมวลชนขึ้นมาเสวยอำนาจได้อีกครั้ง  แต่คราวนี้การขึ้นสู่อำนาจ มิได้ใช้กำลังพลทหารติดอาวุธ รถถังหุ้มเกราะแบบเดิม  แต่ใช้กำลังพลังประชาชนบริสุทธิ์ เป็นโล่ห์กำบังได้อย่างน่าละอาย  ทั้งๆที่ในอดีต โครงสร้างอำนาจเก่านี้ต่างปฏิเสธ “ การต่อสู้ริมถนน” เพราะดูแคลนการรวมตัวกันของประชาชน   ชนชั้นปกครองไทยคือ “ ตระกูลนักการเมือง ” สูญเสียพื้นที่ทางชนชั้นสลับขั้วกันไปมาหลายครั้งหลายครา  และข้อเท็จจริงคือตระกูลวงศ์เหล่านี้ยินยอมสันดาปกับ นักการเมือง สส.ต่างจังหวัดที่ไต่เต้าขึ้นมาจากฐานธุรกิจมาเฟียผิดศีลธรรมภายใต้โครงสร้างบริหารของ “ พรรคต้นสังกัด ” มาช้านาน  ทั้งพรรคเก่าแก่ที่สุดอย่างประชาธิปัตย์และพรรคไทยรักไทย    ภาพสวมกอดกันระหว่างนายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและนายเนวิน ชิดชอบ นอกจากจะเป็นภาพอัปยศอดสูที่สุดในรอบปีแล้วยังได้สะท้อนความอ่อนแอไร้ทางเลือกของพรรคเผด็จการรัฐสภาที่เก่าแก่ที่สุดอย่างประชาธิปัตย์อีกด้วย   ภาพสัญลักษณ์เช่นนั้น เป็นเสมือนลางร้ายบอกเหตุการ “ ถอยหลังเข้าคลอง ” ของการเมืองไทย ที่ไม่มีวี่แววว่า “ การเมืองใหม่ ” จะเกิดขึ้นได้   และไม่ว่าคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ผู้จัดการจะพยายามสาธยายให้นายกฯอภิสิทธิ์ดูดีอย่างไรก็ตามในช่วงสองเดือนแรกของการเถลิงรัฐบาลใหม่
 
           นักทฤษฎีในขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติกล่าวว่าโดยข้อเท็จจริงพรรคประชาธิปัตย์มีมาก่อนกำเนิดของนายกอภิสิทธิ์ และชนชั้นปกครองในพรรคนี้ทำการรัฐประหารโค่นล้มซึ่งกันและกันมาอย่างโชกโชน   เช่นการทำรัฐประหารระหว่างจอมพลป.พิบูลสงครามต่อรัฐบุรุษปรีดี พนมยงค์ในอดีต  ขั้วอำนาจสองขั้วส่งผลกระทบต่อสังคมไทยผ่านระบบการศึกษาเมื่อปรีดีใช้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทำหน้าที่บ่มเพาะความเป็นประชาชน และจอมพลป.พิบูลสงครามใช้จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยเป็นที่บ่มเพาะความจงรักภักดีต่อสถาบันฯ     แม้เผด็จการเก่าแก่ที่สุดในพรรคเดียวกัน ยังมีจุดยืนต่อการกำหนดท่าทีต่อสถาบันฯประมุขของประเทศได้ต่างกัน     ความแตกแยกแย่งชิงอำนาจของคนต่างพรรคย่อมมีดีกรีเข้มข้นกว่า   ปรากฏการณ์ “ ลิงแย่งแหวน ” จึงเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นประจำจนคนไทยลืมที่จะวิเคราะห์สาวหาเหตุของปรากฏการณ์นี้  จวบจนถึงวันที่ระบอบเผด็จการกระชับแน่นจนถึงที่สุดเกิดการแย่งชิง “แหวนแห่งอำนาจ” ระหว่างกลุ่มอำนาจเก่า(ทุนเก่า)และกลุ่มอำนาจใหม่(ทุนใหม่) จึงเกิดขึ้น
 
            ชนชั้นปกครองเอง ร่างกฎหมาย และบอกว่ามันมีข้อบกพร่อง ต้องเปลี่ยน ต้องฉีก แล้วร่างใหม่  นานวันเข้า  พวกเขาบอกว่าจะแก้ปัญหาการฉีกกฎหมายเป็นว่าเล่นได้  ด้วยการปฏิรูปการเมือง  และเขาก็นำสู่การปฏิรูปด้วยการแก้ปัญหาอีก   จนสามารถกล่าวได้เต็มปากณวันนี้ว่า แนวทางปฏิรูปมาจากชนชั้นปกครอง ที่บัญญัติศัพท์ขึ้นมาเพื่อชะลอการเปลี่ยนแปลงเพราะพวกเขากลัวที่จะเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน  พวกเขาประวิงเวลา สร้างเงื่อนไข หลอกลวงประชาชนมาโดยตลอด
 
           เป็นที่น่าเสียดายว่าชนชั้นกลางและปัญญาชนที่เข้าร่วมเคลื่อนไหวกับพันธมิตรฯมิได้รับแนวทางที่ถูกต้องและการปฏิบัติทฤษฎีที่สอดคล้องเชื่อมโยงกับ กฎเกณฑ์ของการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นทั้งระบบ  เพราะการทำแนวร่วมของคอมมิวนิสต์ที่แฝงตัวกุมสภาพการเมืองไทยอยู่   เห็นภาพซ้อนของวงกลมสามวงระหว่างเผด็จการรัฐสภาภายใต้ลัทธิรัฐธรรมนูญนิยมสองกลุ่มทาบซ้อนกันอยู่กับวงกลมอีกวงหนึ่งของเผด็จการฝ่ายซ้ายคอมมิวนิสต์ที่มุ่งหาเงื่อนไขทำการปฏิวัติรุนแรงด้วยการปลุกปั่นทั้งสีเหลืองและสีแดงเผชิญหน้ากันอยู่เป็นระยะๆ   วงกลมเผด็จการคอมมิวนิสต์นี้จะดำรงอยู่ไม่ได้เลยหากไม่มีวงกลมเผด็จการสองวงคานกันอยู่
 
           หากมวลชนเสื้อแดงสะท้อนความเป็นประชาชนที่แท้จริงที่ไม่ยอมรับการขึ้นมาของชนชั้นผู้ปกครอง แบบ “นักฉวยโอกาส” ของพรรคประชาธิปัตย์  และมวลชนเสื้อเหลืองสะท้อนความเป็นประชาชนจริงที่ไม่ยอมรับรัฐบาลเผด็จการฟาสซิสต์  “ไร้รากแห่งชาติ(นิยม)” ของพรรคไทยรักไทย  มองในแง่มุมนี้พวกเขาดำเนินมาสู่เส้นทางที่ถูกต้องแล้วทั้งสองฝ่าย   คือการปฏิเสธ   “ผู้ปกครอง” ในระบอบเผด็จการรัฐสภาทั้งคู่  ที่มิได้สร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติ  และแสดงออกชัดเจนถึงการปกป้องผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มของพวกเขาในฐานะ “ชนชั้นปกครอง”   การเมืองใหม่ที่เสื้อเหลืองต้องการคือประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน  มิใช่อยู่ในมือของผู้ปกครองในระบอบเผด็จการ  สรุปลงตรงประโยคที่ว่า ทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อแดงต้องการในสิ่งเดียวกัน คือประชาธิปไตยที่ถูกต้องและการแข็งขืน ไม่ยินยอมและดิ้นรนที่จะรวมตัวกันเพื่อยกพวกสู้นั้น เขากำลังสู้อยู่กับชนชั้นปกครองที่กระทำผิดต่อประชาชน ของทั้งสองฝ่าย  ศัตรูที่แท้จริงของพวกเขาคือชนชั้นปกครองที่อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวของพวกเขา  และใช้พวกเขาเป็นโล่ห์กำบังอำพรางอยู่อย่างน่าละอายต่างหาก
 
           หากเสื้อเหลืองและเสื้อแดงคือพลังประชาชนอันบริสุทธิ์ปราศจากการทำแนวร่วมของฝ่ายซ้าย การเคลื่อนไหวของพวกเขาก็คือการเคลื่อนไหวของประชาชนที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า  และการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ย่อมต้องก้าวข้ามสิ่งเก่าที่ล้าหลัง เลวร้าย  สู่การเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง   ลักษณะการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้เองที่เรียกว่า “การปฏิวัติ” 
 
           ปรากฏการณ์ปฏิเสธผู้ปกครอง ผู้ปกครองไม่สามารถปกครองต่อไปได้ เกิดจากการขาดเสถียรภาพของรัฐบาล  ส่งผลต่อความมั่นคงของรัฐ   ประเทศชาติอ่อนแอ  ประชาชนยากไร้ เกิดอาชญากรรมต่อชีวิตและทรัพย์สิน เกิดการรุกรานอธิปไตยของชาติประเทศเพื่อนบ้าน เศรษฐกิจถูกต่างชาติยึดครอง ฯลฯ   การดำรงอยู่ของปัญหาเหล่านี้กำลัง ปรากฎชัดขึ้น เกิดขึ้นและยังดำรงอยู่ในรัฐบาลประชาธิปัตย์ และไม่มีทีท่ารัฐบาลนี้จะแก้ไขปัญหาได้  เพราะปัญหาทุกปัญหารวมศูนย์อยู่ที่ปัญหาการเมืองการปกครอง  และปัญหาการเมืองการปกครองขณะนี้คือปัญหาของระบอบ  ปัญหาของระบอบเกิดจากโครงสร้างอำนาจที่ผิด  เพราะอำนาจอธิปไตยสูงสุดมิได้เป็นของคนส่วนใหญ่แต่เป็นของคนส่วนน้อยในประเทศ  คนส่วนน้อยดังกล่าวก็คือชนชั้นปกครองที่เป็นผู้สั่งร่างกฎหมายและฉีกกฎหมายสลับกันไปมา 
 
           ประชาชนจำเป็นต้องออกมาเคลื่อนไหวริมถนนก็เพราะว่าปฏิเสธการบริหารงานของชนชั้นปกครอง ไม่ต้องการอยู่ภายใต้อำนาจอธรรม  แต่สิ่งที่ประชาชนไม่เคยมีคืออำนาจ เพราะชนชั้นปกครองผลัดกันแย่งอำนาจ  มีสถาบันของชนชั้นปกครองและมีนักวิชาการของชนชั้นช่วยอธิบายหลบเลี่ยง
 
           ขบวนการประชาชนเป็นขบวนขับเคลื่อนพลังการเปลี่ยนแปลง  และการขับเคลื่อนอย่างสร้างสรรจะเกิดขึ้นได้ด้วยทฤษฎีที่ถูกต้องเท่านั้น คือวิถี “ปฏิวัติประชาธิปไตย” และข้อเท็จจริงที่แสนเจ็บปวดของชนชั้นปกครองณวันนี้ก็คือ พวกเขาไม่เคยมีมวลชนของตนเองโดยเฉาะอย่างยิ่งมวลชนที่มีลักษณะของประชาชนอย่างแท้จริง เพราะพวกเขาชนะได้ด้วยวิถีของ “เผด็จการ” มาโดยตลอดนั่นเอง!!
              
 
 
 
             (อ่านต่อตอนหน้า)
 

 

 
 


 
   

 


         
 อ่านบทความที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้อง...
  
 
         
  
  
  
  
  
 



Webboard is offline.