Revolutionary Press Agency : Online Journal and News Agency for Peace
สำนักสื่อปฏิวัติ  : วารสารข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
8 มิ.ย. 2554 กองหน้าประชาชนรุ่นใหม่ อนุสรณ์ สมอ่อน ตอบคำถามคาใจทำไมต้องปฏิวัติประชาธิปไตย? 
Change Series นำสู่การปฏิวัติในทุกมิติ
บทความพิเศษ “ 
 
- ตอน ๑ -

เขียนโดย นางแก้ว โพส ๑๕ ส.ค.๒๕๕๒:๑๘.๕๐ น.
เผยแพร่ครั้งแรก ๘ มี.ค.๒๕๕๑ 
 
"การแก้เก้อของนักฉวยโอกาสระหว่างนักสู้ริมถนน(พธม.)และเสือนอนกินในสภาผู้ทรงเกียรติ(ปชป.)”   
 
  
         หลังการปกครองของรัฐบาลอภิสิทธิ์ไม่ถึงสามเดือน  ได้เกิดปรากฏการณ์ใหม่คือการแตกคอกันระหว่างพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ จนทำให้เกิดการบริภาษถึงรัฐบาลชุดปัจจุบันอย่างถึงพริกถึงขิงบนเวทีคอนเสิร์ตโคราชในต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา  สื่อผู้จัดการรายงานต่อว่าสนธิ ลิ้มทองกุลได้ทำการ “ทวงบุญคุณ” ว่ารัฐบาลประชาธิปัตย์เกิดขึ้นได้บนซากศพพี่น้องพันธมิตรฯ และกล่าวว่าสมาชิกพันธมิตรตายไป 10 บาดเจ็บนับร้อยแต่พันธมิตรกลับไม่ได้อะไร  

        หากมองปรากฏการณ์นี้แบบผิวเผินสมาชิกพันธมิตรฯเองก็ยังคงยอมรับก้มหน้าต่อชะตากรรมเห็นใจแกนนำต่อไป    แต่หากมองในสายตาของผู้คาดหวังในคุณสมบัติของผู้นำแล้วก็จะไร้ความเห็นใจเพราะการลำเลิกบุญคุณคราวนี้เท่ากับยอมรับอย่างเป็นทางการว่าที่ผ่านมาการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ มีพรรคประชาธิปัตย์อยู่เบื้องหลังทั้งๆที่พวกเขาปฏิเสธมาโดยตลอด    ประชาชนที่เข้าร่วมกับพันธมิตรช่วงหลังเกิดจากการหนุนของพรรคประชาธิปัตย์นอกจากจะไม่ใช่มวลชนประชาธิปไตยที่เป็นตัวแทนประชาชนทั้งประเทศแล้ว  ยังเป็นมวลชนของพรรคเผด็จการรัฐสภาที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทยคือพรรคประชาธิปัตย์ ที่ขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติได้เคยอธิบายไปในบทความก่อนหน้านี้ 

         ประเด็นคือทำไมต้องโกหก ?เพราะการโกหกคือการผิดศีล  คนถือธรรมเป็นใหญ่แบบที่สนธิอ้างบนเวทีไม่น่าจะทำให้เขาและแกนนำคนอื่นต้องโกหกประชาชน ยกเว้นว่าสังคมพันธมิตรฯมองเห็นการโกหกเป็นเรื่องเล็ก  และการสู้ไม่ต้องคำนึงถึงวิธีการ ขอให้ชนะเท่านั้น  และการถูกธรรมไม่สำคัญเท่ากับถูกใจตัวเอง 

       เป็นที่รู้กันในวงในว่าความเหนียวแน่นของพันธมิตรฯภาคใต้ก็คือฐานเสียงของประชาธิปัตย์  อันนี้หมายรวมถึงบทบาทของนักรบศรีวิชัยใส่ชุดดำทำหน้าที่การ์ดด้วย    คำว่า “ม็อบมีเส้น” สามารถยึดสนามบินสุวรรณภูมิได้จึงเป็นเรื่องจริง  ข้อเท็จจริงคือสาธารณชนไม่เคยเชื่อว่าประชาธิปัตย์ไม่เคยอยู่เบื้องหลังม็อบพันธมิตร  การแสดงทัศนะของมวลชนในเว็บไซท์ผู้จัดการออนไลน์ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นความขัดแย้งทางความคิดในจุดเริ่มต้นระหว่างการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์และการเป็นสมาชิกพันธมิตรฯ  กว่าจะเกิดการหลอมรวมกันได้ก็ใช้เวลา  และม็อบพันธมิตร 193 วันนั้นคือเวลาของการหลอมรวม 

        คลื่นวิทยุคนรักประชาธิปไตย 92.25 ก็เป็นอีกหนึ่งในสื่อที่สะท้อนให้เห็นพัฒนาการของการสันดาประหว่างพันธมิตรและสมาชิกประชาธิปัตย์ชัดเจนในช่วงเวลาที่เปิดสายให้คนฟังโทรแสดงความเห็น  ที่คลื่นนี้ยังได้สะท้อนปัญหารูปธรรมชัดที่สุดเมื่อนักจัดรายการคลื่น 92.25 คนหนึ่งคือสมชาย มีเสน สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์อย่างเปิดเผย  จำต้องถอนตัวเองออกจากคลื่นนี้หลังจากมีเรื่องกระทบกระทั่งทางวจีกรรมกับอมร อมรรัตนานนท์ หนึ่งในนักเขียนและนักเคลื่อนไหวบนเวทีพันธมิตรฯเสื้อเหลือง  ผนวกกับการยัดเยียดความเป็นประชาธิปัตย์สู่คนฟังรายการในช่วงที่เจ้าของสถานีประชัย เลี่ยวไพรัตน์ตั้งพรรคประชาราชขึ้นมา  การอำลาจากของสมชาย มีเสนสะท้อนให้เห็นปัญหาจุดยืนของตนเองต่อ “ต้นสังกัด” และยังมองไม่เห็นชัดว่าข้อขัดแย้งแบบนี้เกิดจากจุดยืนที่มีต่อส่วนรวมและอุดมการณ์ที่ยึดถือชัดเจน   การอิงแอบพวกพ้องวงศ์วานว่านเครือที่ก่อตัวในรูปของผู้ปกป้องผลประโยชน์ร่วมกัน ไม่ว่าจะในนามของกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองใดๆหรือแม้แต่พรรคการเมือง  ยังไม่ได้สะท้อนให้เห็นความชัดเจนในอุดมการณ์และจุดยืนของบุคคลคนนั้นต่อสังคมและประเทศชาติได้จริง    
 
 
           ปัญหาจุดยืน
 
           ปรากฏการณ์ “การเข้าพวก” และความพอใจที่จะขึ้นอยู่กับพวกไหน มักจะขึ้นอยู่กับการกำหนดบทบาทของผู้นั้นหรือการได้รับบทบาทที่ “พวก” มอบให้ ปรากฏการณ์นี้เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับสตรีกร้าวอัญชลี ไพรีรักษ์ที่เคยเป็นหนึ่งในนักจัดรายการที่ “ย้ายค่าย” จากคลื่น 92.25ไปอยู่กับคลื่นวิทยุผู้จัดการ97.75 ในช่วงต้นๆ และการถูกประณามหลังการเข้ารับการเลือกตั้งในนามพรรคของวัฒนา อัศวเหมแถวปากน้ำสมุทรปราการ  กลายเป็นสส.สอบตกก่อนจะกลับมาเป็นพันธมิตรฯเสื้อเหลืองบนเวทีอีกครั้ง   ท่ามกลางเสียงคัดค้านและเห็นด้วยสลับกันไป

           ปัญหาจุดยืนแบบโยกย้ายเช่นนี้จะนำมาเปรียบกับการเปลี่ยนงานย้ายบริษัทฯ ไม่ได้  เพราะเป็นเรื่องของผู้เสียสละทำงานเพื่อส่วนรวมในอุดมการณ์ที่เขายึดถือ  จึงจะสมกับการได้รับการยกย่องว่าคนเหล่านี้คือวีรบุรุษหรือวีรสตรี   วีรบุรุษวีรสตรีแบบตกกระไดพลอยโจนเพราะสถานการณ์บังคับไม่น่าจะมีขึ้นได้ในโลกยุคดิจิตอล  ที่สังคมข่าวสารแพร่กระจายไปไกลอย่างรวดเร็วขนาดนี้   ยกเว้นว่า  สังคมไทยเต็มไปด้วยการตบตา ยกพวกถือหางเข้าข้างตามๆกันไป จนเวทีทุกเวทีคือที่ว่าง เปิดให้เกิด “นักฉวยโอกาส” ในทุกระดับ

            นี่คือเหตุผลสนับสนุนความเป็นไปในสังคมไทยที่ยังไม่เคยรู้จัก “วัฒนธรรมประชาธิปไตย” อย่างแท้จริง สะท้อนชัดเจนลงตรงประโยคที่ว่าประเทศไทยไม่เคยมีระบอบประชาธิปไตย   หากมีระบอบประชาธิปไตย ก็ต้องมี “สังคมประชาธิปไตย”  และต้องมี “วัฒนธรรมประชาธิปไตย” ที่ขึ้นอยู่กับ “หลักการ” ซึ่งพัฒนามาจาก “อุดมการณ์” มีจุดมุ่งหมายชัดเจน มีวิธีการที่ถูกต้องสอดคล้องกับหลักการ 

           มองในแง่มุมนี้การกล่าวทวงบุญคุณพรรคประชาธิปัตย์ของสนธิ ลิ้มทองกุลจึงสะท้อนให้เห็นความล้าหลังของแกนนำพันธมิตรฯ   ตามข้อเท็จจริงที่ ว่า “การอุปถัมภ์” กันแต่แรกมิได้อยู่บนพื้นฐานของ “อุดมการณ์” และจุดยืนเพื่อส่วนรวมจริง  แต่เป็นการร่วมเพื่อเป้าหมายระยะสั้น ในที่นี้คือ การโค่นล้มพรรคพลังประชาชนหรือพรรคไทยรักไทยออกจากการเป็นรัฐบาล  ข้อผิดพลาดที่สำคัญที่สุดคือแกนนำพันธมิตรฯได้พาประชาชนบริสุทธิ์เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการแย่งชิงอำนาจกันระหว่างชนชั้นปกครองระหว่างขุมอำนาจเก่าของพรรคประชาธิปัตย์และขุมอำนาจใหม่ของพรรคไทยรักไทยหรือพลังประชาชน
 
           “ โค่นมันให้ได้ก่อน เสร็จแล้วค่อยว่ากันใหม่ ” นั่นคือความเชื่อของพันธมิตรฯส่วนใหญ่ การโค่นสำเร็จจริงด้วยการไม่คำนึงถึงวิธีการคือ”เหตุ”  และ “ผล” ของการคิดแบบนั้นคือสิ่งที่สนธิกำลังเรียกร้องหาความเห็นใจจากมวลชนอีกครั้ง  ด้วยการประกาศตั้งพรรคการเมืองและอ้างว่าตัวเขาเองจะนำสู่การเมืองใหม่ได้

            “ สภาพของพันธมิตรตอนนี้ก็คล้ายกับแมลงที่วิ่งไปชนสิ่งกีดขวาง พอชนฝั่งโน้นทีหันหัววิ่งมาอีกทางก็ยังชนอีก”   สมาน ศรีงามเลขาธิการทั่วไปขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติในฐานะผู้เคยเสนอเรื่องการถวายคืนพระราชอำนาจในหลวงแก่สนธิเมื่อปลายปี 2548  กล่าว

          ความอ่อนเดียงสาของฝ่ายซ้ายและความไร้ทฤษฎีในการเคลื่อนไหวของแกนนำพันธมิตรฯ ผนวกกับความล้มเหลวของอดีตนักเคลื่อนไหวอย่างพลตรีจำลอง ศรีเมืองที่มีประวัติเคยนำพาคนไปเสียชีวิตมาก่อนจึงดูเหมือนเป็นส่วนผสมที่ลงตัว  แต่ในข้อเท็จจริงมิได้เป็นเช่นนั้น  หลังการผลัดขั้วเปลี่ยนอำนาจ จากรัฐบาลพลังประชาชนมาเป็นรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์  การสนับสนุนพวกเดียวกันเข้าสู่วงจรอำนาจก็เกิดขึ้น ความเป็นเด็กเส้น เด็กปั้น มีผลงานของ “คนกลุ่มเดียวกัน”  นอกจากจะไม่ได้สะท้อนความเป็นวัฒนธรรมประชาธิปไตยแล้ว ยังล้าหลังแบบระบบอุปถัมภ์ดั้งเดิม ที่คิดว่าเมื่อพวกตนได้เป็นใหญ่ การช่วยเหลือเจือจานจะลงมาถึง “พวก” ที่เคยหนุนกันมาด้วย  วัฒนธรรมการเห็นแก่พวกเดียวกัน เป็นวัฒนธรรมล้าหลัง เป็นค่านิยมที่ต้องได้รับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพราะมิได้อยู่บนพื้นฐานของเหตุและผล    ดังนั้น การทรยศ หักหลัง ที่เกิดขึ้นพร้อมเสียงสาปแช่งก่นโคตรด่ากันภายหลัง จึงไม่ใช่เรื่องเกินความคาดหมาย  ระบบความสัมพันธ์แบบนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการนำประชาชนเข้าไปพัวพันกับการเมืองแบบเดิมๆ ด้วยวิธีคิดแบบเดิมๆ และไม่มีวันนำเข้าสู่การเมืองใหม่ได้จริง

         หากสังคมมีความเป็นประชาธิปไตยจริง ทุกการเคลื่อนไหวของสังคมจะต้องขึ้นอยู่กับหลักการ  สามารถสาวหาเหตุและผลได้   จะไม่มีคำว่า “ หนี้บุญคุณ” และจะไม่มีการร้องทวง “ลำเลิก” บุญคุณ เหตุเพราะทุกคนมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ทั้งในเสรีภาพความคิดอ่านการกระทำไร้ซึ่งการบงการทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง และจะไม่มีกรณีผู้ใหญ่เอื้อผู้น้อย  และ/หรือผู้น้อยต้องปิดปากเมื่อผู้ใหญ่ทำผิด ฯลฯ  ความขัดแย้งต่างๆในสังคมก็จะลดลง  มีผลต่อบุคลิกภาพโดยรวมของผู้คนในสังคม ที่สามารถสื่อสารกันด้วยความจริง มีความองอาจกล้าหาญในทุกการกระทำ

         นี่คือกรณีศึกษาที่เป็นเหตุเป็นผล คือเมื่อเหตุผิด ผลจึงผิด เมื่อเหตุมิชอบ ผลจึงมิชอบ  เมื่อผิดตั้งแต่วิธีคิด ก็ย่อมผิดด้วยการกระทำ  ผิดด้วยวิธีการและอื่นๆตามมา นี่คือหลักธรรม ตามหลักอริยมรรคมีองค์แปด คือในการทำการสิ่งใดจะต้องมีทิฎฐิที่ชอบก่อน (สัมมามิฏฐิ) จึงจะนำไปสู่การปฏิบัติชอบ วาจาชอบ เพียรชอบฯลฯ ตามลำดับ   
 
 
          พันธมิตรแนวร่วมมุมกลับ
 
         การ “หักลำ” ของสนธิ ลิ้มทองกุลบนเวทีคอนเสิร์ตคราวนี้  ทำให้ข่าว บทความ คอลัมน์ต่างๆในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการที่เคยเขียนชื่นชม เยินยอพรรคประชาธิปัตย์ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมากลายเป็นบทความล้าหลังในทันที  เมื่อหัวขบวนหันไปทางไหนหางขบวนก็ต้องหันตามนั้น   และบทความที่ล้าหลังไม่สอดคล้องกับภาวะผู้นำของสนธิมากที่สุดตอนนี้คือ บทความเกี่ยวกับสงครามแย่งชิงมวลชนของสิริอัญญาหรือไพศาล พืชมงคล หนึ่งในผู้ร่วมเขียนแถลงการณ์ให้กับคมช.เมื่อครั้งทำรัฐประหาร 19 กันยายน ที่เพิ่งใช้ท่วงทำนองนุ่มๆเขียนชี้นำให้พี่น้องพันธมิตรฯ มาเป็นพลังมวลชนของพรรคประชาธิปัตย์กลายเป็นบทความตกอันดับ ล้าหลังและไร้จุดยืนที่สุดในรอบสัปดาห์

        คำถามคือหลังการหักลำคราวนี้ จะเกิดผลสะท้อนอะไรตามมาในกลุ่มคนเสื้อเหลือง นักวิชาการเสื้อเหลือง คอลัมนิสต์เสื้อเหลือง นักกฎหมายเสื้อเหลือง ฝ่ายซ้ายเสื้อเหลือง และสมาชิกประชาธิปัตย์ที่เป็นเสื้อเหลือง และที่สำคัญ “ชนชั้นกลางเสื้อเหลือง” ทั่วประเทศไทย ?
 
           ที่ผ่านมากลุ่มคนเสื้อเหลืองใช้หลักคิดอะไรในการดำรงอยู่ร่วมกัน ? อุดมการณ์อื่นใดที่ทำให้เขาเชื่อว่า เขากำลังต่อสู้เพื่อความถูกต้อง ?  คำตอบที่แคบลงมาจนทำให้เห็นเป้าหมายของนักวางหมากในกลุ่มเสื้อเหลืองชัดเจนที่สุดในขณะนี้คือ “สถาบันพระมหากษัตริย์” 
 
          ไม่น่าแปลกใจที่ช่วงหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา การหยิบประเด็นเรื่องการจาบจ้วงสถาบันฯถูกนำมาขยายผลอย่างต่อเนื่องในกลุ่มนำของพันธมิตรฯ เริ่มต้นที่สว.คำนูณ สิทธิสมาน สนธิ ลิ้มทองกุล ฯลฯ การหยิบคำวิจารณ์ไจ อึ้งภากรณ์จากคำพูดของราชนิกูลขึ้นหน้าหนึ่งในเว็บข่าวออนไลน์  เป็นอีกครั้งหนึ่งที่พวกเขาทำงานเป็นทีมด้วยการหยิบประเด็นเรื่องนี้ขึ้นมาเนื่องจากได้เคยทำให้พันธมิตรฯได้ทำแนวร่วมและขยายผลอย่างกว้างขวางมาโดยตลอด (อ่านเพิ่มเติม  ความจริงของสถานการณ์“การต่อสู้ระหว่างแนวทางสันติของขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติและแนวรุนแรงของแนวร่วมคอมมิวนิสต์ผ่านพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” 12 ตุลาคม 2551  http://ndmt.multiply.com/journal/item/51/51)
 
            คำนูณอธิบายโยงเรื่องการจาบจ้วงสถาบันและปรากฏการณ์ใจ อึ้งภากรณ์ว่าเป็นปัญหาความมั่นคง  แท้จริงความมั่นคงแห่งชาติมีต่อทั้งสามสถาบัน คือสถาบันชาติ สถาบันศาสนาและสถาบันพระมหากษัตริย์   กรณีกฎหมายขายชาติ 11ฉบับที่สนธิ ใช้จุดประเด็นในปลายปี 2548 ที่หอประชุมในสวนลุมพินีในวันนี้ไม่ได้รับการหยิบขึ้นมาพูดในปี 2552 ทั้งๆที่กรณีกฎหมายขายชาติก็จัดอยู่ในปัญหาความมั่นคงเช่นกัน คือปัญหาความมั่นคงของสถาบันชาติ  คราวนี้พวกเขาเลือกที่จะเงียบไม่พูดถึง และพอใจกับการหยิบเรื่องสถาบันฯมาว่าอย่างต่อเนื่อง   ในปี2549 ที่มีการเคลื่อนไหวเรื่องพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญเป็นประเด็นร้อนในรอบปี สื่อในเครือผู้จัดการทำหน้าที่ต่อต้านคัดค้านเรื่องนี้สุดตัว โดยมีนักวิชาการฐานันดรสว.ต้นสังกัดประชาธิปัตย์ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทองทำหน้าที่หัวหมู่ทะลวงแทงอยู่แนวหน้า   ทั้งที่ฝ่ายเคลื่อนไหวเรื่องนี้อธิบายว่าเป็นเรื่องของการรักษาความมั่นคงเช่นกัน คือความมั่นคงต่อสถาบันพระพุทธศาสนา  แท้จริงแล้วในสภาวะอนาธิปไตยไร้ขื่อแปในประเทศไทยทำให้เกิดปัญหาความมั่นคงต่อทั้งสามสถาบัน คือสถาบันชาติ สถาบันศาสนาและสถาบันพระมหากษัตริย์และเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมานานแล้ว  การดำรงอยู่ท่ามกลางความแปรปรวนของปัญหาความมั่นคงนี้มิได้เกิดขึ้นในทันทีที่ใจอึ้งภากรณ์เขียนบทความไร้เดียงสาจาบจ้วง  หากแต่มีพัฒนาการมาตลอดหลายสิบปีภายใต้การปกครองระบอบเผด็จการรัฐสภา คำอธิบายของคำนูณจึงขาดซึ่งมิติบางอย่างราวกับการเขียนพล็อตเรื่องสำหรับสร้างหนังการ์ตูน
 
            แน่ชัดที่สุดตามที่ขบวนการประชาธิปไตยเคยทำบทวิเคราะห์ไว้ว่า  การทำแนวร่วมของฝ่ายซ้ายในกลุ่มพันธมิตรพุ่งเป้าไปที่สถาบันพระประมุขแห่งรัฐอย่างไม่หยุดหย่อน  โดยพวกเขาเล่นบทปกป้อง  ในขณะที่ซ้ายที่ฝังตัวอยู่ในกลุ่มอื่นเล่นบทโจมตี   นี่คือสถานการณ์การเล่นซ้ายเล่นขวาของคอมมิวนิสต์ยุคปี 2000 ที่มีใจ อึ้งภากรณ์คอมมิวนิสต์ไร้เดียงสาเป็นคนโยนเผือกที่ยังไม่ได้ทอดใส่กระทะก่อนใคร  ในเมื่อเผือกยังไม่ร้อน จำเป็นต้องมีคนทำให้น้ำมันเดือด และคำนูณ สิทธิสมานจัดตั้งใหญ่ฝ่ายซ้ายคนสำคัญของสำนักผู้จัดการก็ใช้หัวโขนใหม่ในฐานะสว.ทำหน้าที่เปิดประเด็นนี้ก่อนใคร     การตกเป็นแนวร่วมมุมกลับของสนธิ ลิ้มทองกุล ทำให้มวลชนฝ่ายตาม(ติด) สนธิ ลิ้มทองกุล รวมทั้งแม่ยกพันธมิตรภริยานายพลทหาร รวมทั้งราชนิกูลขวาจัดที่อ่อนความรู้ทางการเมืองที่ต่างก็ตกเป็นแนวร่วมมุมกลับกันถ้วนทั่วเริ่มขยับเนื้อขยับตัว เพื่อแสดงบทบาททหารเสือผู้ปกป้องราชบัลลังก์กันอีกครั้งหลังการส่งสัญญาณครั้งใหม่ของสนธิ

          และถ้าหากการเมืองไทยไม่ถูกเสี้ยมโดยการเมืองฝ่ายซ้ายที่ทำแนวร่วมจัดตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการและหนุนให้นายทุนสื่ออย่างสนธิ ลิ้มทองกุล ท้าดวลกับนายทุนเทคโนโลยีสื่อสารอย่างอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตรเสียแล้ว  ผู้รู้วิชาปฏิวัติก็อาจไม่มีโอกาสได้อธิบายปรากฏการณ์และเหตุที่มาของการระดมมวลชนครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศไทย  โดยมีปัจจัยหนุนสำคัญของระบบเทคโนโลยีการสื่อสารทั้งโทรทัศน์ดาวเทียม หนังสือพิมพ์ วิทยุ อินเตอร์เนต ฯลฯในยุคสังคมข่าวสารดิจิตอลเป็นกลไก

         ไม่ว่าสนธิ ลิ้มทองกุลจะประกาศความเก่งกล้าในฐานะสื่อที่มีภูมิหลังของผู้ศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ในรั้วมหาวิทยาลัยอเมริกาอย่างไรก็ตาม   การพกพาความมั่นใจเต็มตัวมาด้วยทำให้เขาปฏิเสธแนวทางการถวายคืนพระราชอำนาจที่เสนอโดยขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติเมื่อครั้งสู้คนเดียวในนามเมืองไทยรายสัปดาห์   หลังจากการกล่าวนำถวายสัตย์ปฏิญาณเสียงก้องที่สวนลุมฯ เมื่อปลายปี 2548   สนธิเลือกที่จะร่วมหัวจมท้ายกับฝ่ายซ้ายนักฉวยโอกาสทั้งกระบิเมื่อต้นปี 2549 และยึดเอาแนวทางรัฐธรรมนูญในการเคลื่อนไหวมาตลอด  เขาพกพาความมั่นใจเต็มที่ผ่านฐานทัพสื่อที่เขามีไว้โจมตีทักษิณ ชินวัตรแบบทุ่มสุดตัว  เขาคือนายทุนแนวร่วมมุมกลับคนสำคัญที่ถูกใช้อย่างเต็มที่ผ่านการเดินหมากของฝ่ายซ้ายที่ฝังตัวอยู่ในเครือหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ
 
             คำว่า “แนวร่วม” United Front หรือ “สหแนวรบ” นี่เองที่ทำให้ประชาชนมองไม่ออกว่าการเมืองปัจจุบันมีฝ่ายซ้ายกุมสภาพอยู่  หลังการเคลื่อนไหวมวลชนอย่างเต็มที่  ตัวละครแนวร่วมของฝ่ายซ้ายดาหน้าปรากฎกายมือถือไมค์ไฟส่องหน้าเต็มไปหมดชนิดที่ยอมรับว่าเขาคืออดีตสหายและกล้าบอกว่าเขาคือดีตสหายที่ยอมรับบทบาทของสถาบันฯ   เรื่องนี้การเมืองฝ่ายซ้ายกำหนดบทบาทนายทุนสื่อสนธิ ลิ้มทองกุลเป็นผู้อธิบายบนเวทีพันธมิตรฯเพื่อให้มีน้ำหนักน่าเชื่อถือต่อประชาชนเสื้อเหลือง    สนธิ ลิ้มทองกุลแม้รู้ว่าเคลื่อนไหวอยู่กับฝ่ายซ้ายเขาก็ยังยืนยันว่าพวกซ้ายทำอะไรเขาไม่ได้    สำหรับฝ่ายปฏิวัติประชาธิปไตย  มองดูสนธิ เหมือนนายทุนที่ถูกจัดตั้งแล้วและกำลังใช้ธุรกิจที่เขาสร้างมาเป็นฐานแนวร่วมสำคัญฐานหนึ่ง    เมื่อเขาทำหน้าที่ซัดสาดใส่หนังสือพิมพ์มติชนที่เป็นพื้นที่เปิดให้คอลัมนิสต์ซ้ายประกาศตัวชัดเจนเขียนบทความปฏิเสธสถาบันฯ    สื่อจัดตั้งสำเร็จจนอยู่ตัวเช่นเครือมติชนมิได้สะทกสะท้านเพราะสนธิก็คือสื่อแนวร่วมเช่นกัน  หากแต่เป็น “แนวร่วมมุมกลับ” ที่ถูกใช้ประโยชน์ในทางกลับกัน 
  
          ขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติได้อธิบายไว้ในบทความเรื่องการทำแนวร่วมไปถึงวังในบทความชื่อ “ความจริงของสถานการณ์ “ประเทศไทยภายใต้ยุทธวิธีแนวร่วมสู่ขั้นตอนการทำแนวร่วมมุมกลับชั้นสูงได้ผล  มหันตภัยครั้งใหม่ที่คนไทยไม่รู้เรื่อง” ( http://ndmt.multiply.com/journal/item/49/49)   ว่าไม่เคยปรากฎมาก่อนในประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวในอดีตที่การทำแนวร่วมจะรุกคืบไปถึงสถาบันฯได้เท่าในช่วงนี้   ฐานสำคัญที่ช่วยให้การรุกคืบการทำแนวร่วมไต่ไปถึงวังได้เป็นผลสำเร็จจากการเคลื่อนไหว 193 วันที่ผ่านมามีสาเหตุมาจากนายทุนสื่อไร้เดียงสาอย่างสนธิที่พกความมั่นใจในตัวเองมาเต็มล้น กับแนวร่วมคอมมิวนิสต์ภาพลักษณ์สะอาด ผนวกกับนักเคลื่อนไหวมวลชนชั้นกรรมาชีพและอดีตสหายในป่าที่ต่างปีนป่ายทฤษฎีของตนเองแต่ไม่เคยเป็นผลสำเร็จ
 
              ธาตุแท้ 
 
             การทำแนวร่วมของพันธมิตรฯกับประชาธิปัตย์จะสำเร็จลงไม่ได้เลยหากไม่มีบทบาทของ “ผู้หลักผู้ใหญ่ และราชนิกูลอ่อนการเมือง” ในขบวน “ม็อบเด็กเส้น” ที่ผ่านมา   มิใช่สนธิเท่านั้นที่ถูกใช้เป็นหมากหนึ่งในฐานะ “ผู้นำ”  เพราะผู้อิงแอบใช้ประโยชน์จากการทำงานของสนธิ ลิ้มทองกุลมีหลายฝ่าย ทั้งกลุ่มธุรกิจ นายพลทหาร ฯลฯที่อิงกลุ่มอำนาจเก่าและขุมข่ายพรรคประชาธิปัตย์ 

            การทำแนวร่วมเพื่อปกป้องสถาบันฯเป็นเหตุผลหนึ่งและ “ได้ใจ” มหาประชาชนยิ่งกว่าเงื่อนไขใด  ข้อเสนอชั้นต่ำด้วยแถลงการณ์พันธมิตรฯเพื่อเพียงแค่ “พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ที่นายสุริยะใส กตะศิลาเด็กปั้นฝ่ายซ้ายเป็นผู้อ่านเสียงดังบนเวทีเป็นอันตกไป   เพราะการใช้เงื่อนไข “สถาบันฯ” มีน้ำหนักมากกว่า   แต่แน่นอนที่สุดว่าเหตุผลรองที่ซ่อนแอบอยู่กับการต่อรองผลประโยชน์ และการปกป้องธุรกิจจากกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ก็มีร่วมอยู่ด้วย    ด้วยเหตุนี้เขาจึงมั่นใจเกินร้อยเมื่ออ้างว่าพวกเขาคือทหารเสือพระราชา ทหารเสือพระราชินีที่ทำหน้าที่ปกป้องราชบัลลังก์แต่เพียงกลุ่มเดียว   นับว่าเป็นการ “กล่าวเกินจริง” เพราะผู้ที่ทำหน้าที่นำเสนอแนวทางการ “รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ให้มั่นคง” นั้นมีขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติ ทำมาก่อนและอย่างต่อเนื่องยาวนานมานับแต่การถือกำเนิดคณะราษฎร ซึ่งถือว่าก่อนการถือกำเนิดของพันธมิตรฯหนึ่งชั่วอายุขัยคน    หนังสือชื่อ “จะรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ให้มั่นคงได้อย่างไร ” เขียนโดยอ.ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร อธิบายไว้กระจ่างแจ้งว่าจะรักษาสถาบันให้มั่นคงสถาพรนั้นจำเป็นต้องสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นให้สำเร็จ  (อ่านเพิ่มเติมจากเว็บลิงค์ด้านล่าง)  มิเช่นนั้นภัยร้ายจากขบวนเผด็จการสองขบวนคือเผด็จการรัฐสภาภายใต้ลัทธิรัฐธรรมนูญที่ให้กำเนิดโดยคณะราษฎร กับเผด็จการคอมมิวนิสต์จะเป็นอันตรายต่อสถาบันนี้ และกัดกร่อนทำลายความมั่นคงแห่งชาติได้ในที่สุด   

            ที่ผ่านมาพันธมิตรอ้าง “การเมืองภาคประชาชน”  เพื่อ “ปกป้องพิทักษ์รัฐธรรมนูญ”  และจบลงที่ชุมนุม 193 วันในฐานะพสกนิกรผู้เก่งกล้าอาจองราวตำนานบู๊ลิ้มในฐานะทหารเสือผู้ “ปกป้องราชบัลลังก์”  และมีสัญญากับประชาชนว่าจะทำ “การเมืองใหม่” ให้เกิดขึ้น   แต่ไม่เคยมีรายละเอียดว่าเขาจะสร้างการเมืองใหม่โดยประชาชนเพื่อปกป้องเทิดทูนสถาบันฯได้สำเร็จโดยวิธีการไหน  ? การใช้ใจ อึ้งภากรณ์และกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาจุดไฟให้น้ำมันร้อนในครั้งนี้จึงเป็นเกมที่คาดเดาได้ง่ายๆ  การชง “คนของพวกเรา” ไปสู่วงจรอำนาจ  ไม่ได้ทำให้เกิดการเมืองใหม่ได้จริง ดังนั้นแกนนำพันธมิตรฯจึงต้องออกมา “แก้เก้อ” ด้วยการประกาศการตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาใหม่   โดยอ้างว่าพวกเขาจะนำสู่การเมืองใหม่ได้ด้วยการเมืองภาคประชาชนเหมือนเดิม 
 
            การประกาศตั้งพรรคของพวกตน จึงเหมือนการหาโล่ห์กำบังอันใหม่  หากการถือโล่ห์คือการเดินหน้าบุกสู้ศัตรูแต่ขาดอาวุธทิ่มแทงทำลายศัตรู   การมีโล่ห์ก็เปล่าประโยชน์โดยสิ้นเชิง  เพราะเขาไม่มีวันฆ่าศัตรูได้สำเร็จ  ได้แต่ถือโล่ห์ฝ่าวงล้อมอาวุธออกไป  หากไม่มีการจ้วงแทงข้างหลัง  คงยังเอาตัวรอดหนีไปตายดาบหน้าได้สำเร็จ 
            วิธีคิดตั้งพรรคการเมืองเพื่อ “เข้าพวก” ปกป้องผลประโยชน์ตนปรากฎขึ้นมาก่อน เช่นพรรคประชาราช  พรรคมัชฌิมา   การตั้งพรรคพันธมิตรฯนั้นถึงแม้จะเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของพัฒนาการการรวมกลุ่มของประชาชนที่สอดคล้อง   ทว่าการตั้ง “องค์การพรรค” เป็นเรื่องที่มีระบบความคิดมากกว่านั้น  เนื่องจากพรรคมาจากความคิด  มาจากอุดมการณ์  แต่หากตั้งพรรคเพื่อเข้าพวก แสวงหา”แหวนแห่งอำนาจ” หรือแม้แต่ร่วมกันหาโล่ห์กำบังตัวเอง  ไม่ใช่เพียงแค่ฝ่ายปฏิวัติเช่นขบวนการประชาธิปไตยจะคัดค้านแล้ว  แม้มวลชนพันธมิตรด้วยกันก็ต้องร่วมคัดค้าน    หากแนวคิดริเริ่มตั้งพรรคนั้นเป็นไปเพื่อหาโล่ห์กำบังตามข้อสันนิษฐาน นั่นเท่ากับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเมืองของคน “ขี้กลัว” มิใช่วิถีของผู้กล้า เพราะการ “อิงแอบพวก”  “หาพวก” ไม่ใช่ความอาจหาญของผู้นำสู่การเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด  
 
             จุดเริ่มต้น CHANGE
 
           ในช่วงสามปีติดต่อกันขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติได้อธิบายต่อยอดหนังสือ “จะรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ให้มั่นคงได้อย่างไร” อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนว่าพรรคการเมืองที่รับมรดกตกทอดทางความคิดคณะราษฎรมามากที่สุดคือพรรคประชาธิปัตย์  และประสบความสำเร็จในการทำให้ปัญญาชนหลายกลุ่มยอมรับว่าประเทศไทยไม่เคยมีระบอบประชาธิปไตย  มีแต่เพียงระบอบเผด็จการรัฐสภา   คำว่า “เผด็จการรัฐสภา” ปรากฎดังขึ้นเรื่อยๆจนเกือบจะเหมือนทฤษฎีใหม่ที่ไม่เคยอยู่ในตำรารัฐศาสตร์ประเทศไทยมาก่อน       นักปราศรัยบนเวทีพันธมิตรฯ บางคนนำ “เผด็จการรัฐสภา” ไปปราศรัยบนเวทีพันธมิตรฯราวกับว่าเขาคิดค้นทฤษฎีนี้ขึ้นมาเอง    หลายคนเพียงแค่อยากแสดงตนว่าเขาเป็น “ผู้รู้” โดยไม่ต้องบอกที่มาของตำรา หนังสืออ้างอิง เพราะพวกเขาคือนักปราศรัย มีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่พูดน้อยกว่าผู้นำและไม่จำเป็นต้อง “เคารพวิชา” ของครูคนใด ในท่ามกลางม็อบ ดนตรี เสียงเพลง และสังคมใหม่ของพันธมิตรฯ เสียงปรบมือ โห่ร้องและการยอมรับ

              นอกจากนั้นวิชาการใหม่เรื่อง “เผด็จการรัฐสภา” ยังมิได้จำกัดตัวอยู่แค่บนเวทีพันธมิตร  หากแต่ไปอยู่ในบทพูดของนักจัดรายการวิทยุรัฐสภาอีกด้วย  และนี่คือการเริ่มต้น “Change” ทางความคิดในระดับหนึ่ง  อย่างไรก็ดีสำหรับชนชั้นนำทางความคิด  ผู้ถือกุมทฤษฎีและเชื่อมั่นว่าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยมาตลอด 76 ปีโดยเฉพาะในกลุ่มนักวิชาการรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์  ปรากฏการณ์นี้ทำให้พวกเขาไม่สามารถยอมรับได้ เพราะนั่นเท่ากับว่าเนื้อหาวิชาที่สอนกันอยู่ในระบบการศึกษาไทยนั้นใช้ไม่ได้  โครงสร้างทางความคิด เนื้อหาความรู้ที่พวกเขาเพียรร่ำเรียนมากลายเป็นวิชาที่ “ไร้คุณค่า” ต่อสังคมไทย  คุณค่าความเป็นนักวิชาการโดยอาชีพและความรู้ที่เขามีจะถูกลดบทบาทลง  และนั่นคืออุปสรรคของการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทย

            ภาษาวิชาการในขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติบัญญัติศัพท์เรียกคนกลุ่มนี้ของสังคมว่า “นักวิชาการเสาค้ำรัฐธรรมนูญ”  และกลุ่มเสาค้ำใหญ่ยักษ์ที่สุดรวมศูนย์อยู่ที่สถาบันของชนชั้นปกครองที่ชื่อว่า “สถาบันพระปกเกล้าฯ” 

 

 
 


 
   

 


         
 อ่านบทความที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้อง...
  
 
         
  
  
  
  
  
 



Webboard is offline.